จาก ศาลาเฉลิมไทย ถึง โรงหนังสกาลา
รวมของหายที่ Lost ไปเลยไม่เคย Found ในบ้านเรา

จาก ศาลาเฉลิมไทย ถึง โรงหนังสกาลา รวมของหายที่ Lost ไปเลยไม่เคย Found ในบ้านเรา

จาก ศาลาเฉลิมไทย ถึง โรงหนังสกาลา รวมของหายที่ Lost ไปเลยไม่เคย Found ในบ้านเรา

‘อยู่ดี ๆ ก็หาย’ น่าจะเป็นคำนิยามชะตากรรมเหตุการณ์การทุบโรงภาพยนตร์สกาลาที่เกิดขึ้นเมื่อวานได้ดีที่สุด เพราะแม้ว่าโรงภาพยนตร์สกาลาจะปิดม่านการฉายไปตั้งแน่เดือนมิถุนายน และคนรักสกาลาต่างก็อาลัยกับการปิดฉากตำนานโรงภาพยนตร์นอกห้างใจกลางย่านสยามสแควร์ที่ยืนหยัดมานานกว่า 50 ปีแห่งนี้ แต่ก่อนบ่ายโมงเจ็ดนาทีของเมื่อวานนี้ ไม่มีใครคิดว่าสกาจะ ‘หาย’ ไปจริง ๆ

โดยก่อนหน้านี้ก็มีการยืนยันจากฝั่งผู้เช่ากรรมสิทธิ์ต่อจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วว่า สกาลาจะยังคงอยู่ เพื่อเป็นแลนด์มาร์คของย่านสยามสแควร์ที่สะท้อนประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมไทยยุคสมัยใหม่ต่อไป เพียงแต่จะปรับการใช้ฟังก์ชันของพื้นที่ไปเป็นรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่โรงภาพยนตร์เท่านั้น ไม่มีใครคิดว่าโรงภาพยนตร์สกาลาที่ต่อให้ได้ถูกให้ค่าความสำคัญในฐานะโบราณสถาน แต่ก็ยังมีโครงสร้างและศิลปะแบบอาร์ตเดโคผสมกับความเป็น ‘Movie Palace’ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ยังมีคุณค่าในด้านความงดงามจากยุคเก่าก่อนนี้จะถูกใครทำลายได้ลง

เหนือสิ่งอื่นใด มากไปกว่าการทำลายสถานที่ที่เป็นมรดกความทรงจำของผู้คนและยังเป็นสถานที่ซึ่งสะท้อนประวัติศาสตร์มวลชนและวิถีชีวิตของผู้คน (ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ราชสำนักซึ่งถูกให้ค่าว่าเป็นกระแสประวัติศาสตร์หลักในสังคมไทย) การทุบโรงภาพยนตร์สกาลาครั้งนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาการจัดการสถานที่ประวัติศาสตร์ของภาครัฐ โดยเฉพาะการนิยามความหมายเกี่ยวกับโบราณสถานที่ควรจะได้รับการดูแลจากภาครัฐ ซึ่งในที่นี้คือกรมศิลปากร อ้างอิงจากจากข่าว ‘กรมศิลปากรสรุปการพิจารณา ไม่รับโรงภาพยนตร์สกาลาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน’ เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่แล้ว ด้วยเหตุผลว่า เนื่องจากรูปแบบสถาปัตยกรรมของโรงภาพยนตร์สกาลาถือเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มีลักษณะภายนอกและโครงสร้างหลักของอาคารตามแบบสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco ที่เน้นการใช้รูปทรงเรขาคณิตมาผสมผสาน’ ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาของการให้คำนิยามเกี่ยวกับโบราณสถานที่ไม่ได้ให้คุณค่าในด้านความทรงจำหรือประวัติศาสตร์ชุมชน แต่เน้นที่โครงสร้างสถาปัจยกรรมภายนอกที่จะต้องคงคววามเป็น ‘ไทย’ ในแบบที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น

‘อ้างอิงจากนิยามคำว่าโบราณสถานตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) ระบุไว้ว่า โบราณสถานหมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยอายุหรือลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย

ดังนั้นในประเด็นความสำคัญด้านอายุ หลักฐานเกี่ยวกับประวัติ และลักษณะแห่งการก่อสร้าง พบว่า โรงภาพยนตร์สกาลาไม่มีความสำคัญทางด้านอายุและประวัติการก่อสร้าง แม้ลักษณะแห่งการก่อสร้างอาจมีประโยชน์ทางศิลปะ โรงภาพยนตร์สกาลาจึงยังไม่ถือว่าเป็นโบราณสถาน ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจที่กรมศิลปากรจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535)

(อ่านจดหมายชี้แจงจากกรมศิลปากรได้ที่ The Southeast Asia Movie Theater Project)

และไม่ใช่แค่กรณีของโรงภาพยนตร์สกาลาเท่านั้น ยังมีโบราณวัตถุและโบราณสถานอีกมากมายที่เกิดอาการ ‘อยู่ดี ๆ ก็หาย’ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานับประการ ทั้งที่จริง ๆ แล้วเหตุที่นำมาสู่ความ ‘หาย’ เหล่านี้สามารถยับยั้งไม่ให้เกิดได้ด้วยการขึ้นทะเบียนอนุรักษ์ตามกระบวนการของโบราณวัตถุและโบราณสถาน

แล้วมีสิ่งของหรือสถานที่อื่นใดอีกบ้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่กลับ ‘หาย’ ไปเพราะไม่ได้รับการให้ค่าความสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ หรือมากไปกว่านั้น ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหลักฐานที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ของไทย

…หรืออาจจะมากไปกว่านั้นคือ แม้กระทั่งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับของหรือสถานที่แห่งนั้นก็ยังถูกปฏิเสธว่าไม่ใช่ความจริง

มีสิ่งของหรือสถานที่ใดอีกบ้างที่หล่นหายไปเพราะไม่ถูกให้ค่าในทางประวัติศาสตร์ ไปดูกัน

ศาลาเฉลิมไทย

ศาลาเฉลิมไทยคือโรงมหรสพและในเวลาต่อมาถูกปรับปรุงให้เป็นโรงภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ที่มุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาไชย สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2483 แต่ด้วยผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 กว่าจะได้เปิดทำการเป็นครั้งแรกก็ล่วงเลยถึงปีพ.ศ. 2492

ศาลาเฉลิมไทยสร้างขึ้นตามความประสงค์ของ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินให้มีความศิวิไลซ์ทันสมัย ออกแบบโดย นายจิตรเสน อภัยวงศ์ สถาปนิกไทยที่จบการศึกษามาจากฝรั่งเศส โดยสร้างในรูปแบบของสถาปัตยกรรมยุคใหม่ (Modern Architecture)

งานมหรสพครั้งสุดท้ายที่จัดขึ้นที่ศาลาเฉลิมไทยคือ การแสดงละครเวที พันท้ายนรสิงห์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 ก่อนจะถูกรื้อถอนออกเพื่อสร้างเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ซึ่งเผยให้เห็นทัศนียภาพสง่างามของ โลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร เบื้องหลังได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเหตุผลในการรื้อถอนศาลาเฉลิมไทยก็เนื่องมาจากตำแหน่งของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดราชนัดดารามวรวิหาร และ โลหะปราสาท ทำให้เกิดการบดบังทัศนียภาพเบื้องหลัง คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จึงมีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย แม้จะมีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่ายก็ตาม

บทความ ‘วาทะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อทุบ “ศาลาเฉลิมไทย” มอง “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ต่ำทราม’ ของ silpa-mag.com ได้กล่าวถึงความคิดเห็นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ที่มีต่อการรื้อถอนศาลาเฉลิมไทย ซึ่งเคยได้รับการเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2532 ว่า

“…การสร้างศาลาเฉลิมไทย ณ ที่นั้น เป็นการปิดบังวัดราชนัดดาโดยสิ้นเชิง… แทนที่จะเห็นวัดราชนัดดาอันเป็นสิ่งสวยงามกลับแลเห็นโรงหนังเฉลิมไทยอันเป็นโรงมหรสพและมีสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ซึ่งต่ำทรามกว่าวัดราชนัดดาเป็นอย่างยิ่ง…

“คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่รับผิดชอบในการสร้างถนนราชดำเนินกลางขึ้นนั้น มิได้มีใจรักศิลปะหรือวัฒนธรรมไทยแต่อย่างใดเลย และออกจะไม่เห็นว่าพระพุทธศาสนาเป็นของสำคัญ และจำเป็นอีกด้วย จึงสามารถทำกับวัดราชนัดดาได้ถึงเพียงนี้… เมื่อโรงหนังเฉลิมไทยถูกทุบทิ้งไปแล้ว ภาพของวัดราชนัดดาและโลหะปราสาทก็จะปรากฏแจ่มแจ้ง… เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่ควรยินดีและเป็นที่น่าภูมิใจของคนในกรุงเทพมหานครทั้งหมด…

“ในยุค 50 ปี ที่แล้วมานี้ ได้มีการสร้างตึกรามที่น่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ในกรุงเทพมหานครอีกมากพอสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบทิ้งตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ…”

อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่บางเขน

อนุสาวรีย์ที่เคยตั้งอยู่กลางวงเวียนหลักสี่ ถูกเรียกอย่างลำลองว่า อนุสาวรีย์หลักสี่บ้าง หรืออนุสาวรีย์ปราบกบฏบ้าง จริง ๆ แล้วอนุสาวรีย์นี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เหตุที่มีชื่อเช่นนี้ก็เพราะอนุสาวรีย์แห่งนี้เป็นที่ฝักอัฐิของเหล่าทหารและตำรวจ 17 นายที่เสียชีวิตไปในการสู้รบกับคณะกู้บ้านกู้เมืองที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช เมื่อปี 2476 โดยมีสมรภูมิตั้งแต่บางซื่อ บางเขน และจุดสำคัญที่สุดคือหลักสี่นี่เอง

ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นมาจากความไม่พอใจของกลุ่มอำนาจเก่าและต้องการจะทวงคืนอำนาจนำ หากแต่ผลสุดท้ายคณะกู้บ้านกู้เมืองเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกเรียกว่า ‘กบฏบวรเดช’ ในการสู้รบครั้งนี้ทำให้ทหารและตำรวจที่ร่วมปราบกบฏเสียชีวิตทั้งสิ้น 17 คน จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์นี้คือเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีและเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในวันนั้นด้วย อนุสาวรีย์นี้จึงมีส่วนยอดที่เป็นรูปพานที่มีรัฐธรรมนูญอยู่ด้านบนเป็นสัญลักษณ์ และทุกวันที่ 14 ตุลาคมจะมีพิธีวางพวงมาลา จนกระทั่งถูกยกเลิกไปเมื่อคณะราษฎรหมดอำนาจลง อนุสาวรีย์แห่งนี้ก็ดูเหมือนจะถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

การเคลื่อนย้ายตำแหน่งอนุสาวรีย์เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2555 โดยกระทรวงคมนาคมได้ทำการขออนุญาตไปยังกรมศิลปากร และในปี พ.ศ. 2558 โดย รฟม. เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว และล่าสุดในปี 2561 ซึ่งกรมศิลปากรแจ้งว่าไม่มีผู้ใดมาขออนุญาตก่อนการเคลื่อนย้าย ซึ่งกรมศิลปากรได้ดำเนินการแจ้งความเนื่องจากเป็นโบราณสถานตาม พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุ

ปัจจุบันอนุสาวรีย์นี้ยังคงไม่ทราบว่าหายไปอยู่ที่ไหนและใครเป็นผู้ดำเนินการ นับเป็นอีกหนึ่งความลี้ลับพิศวงในประเทศไทยที่อยู่ดี ๆ อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นจากคอนกรีตสูง 4 เมตรจะหายไปอย่างไร้ร่องรอยและไร้การดำเนินคดีใด ๆ

หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ

"…เพื่อเป็นเครื่องป้องกันการหลงลืมและเปนอนุสสรณ์สืบต่อไปภายภาคหน้า ข้าพเจ้าได้ปรารภกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการที่จะจัดให้มีหมุดที่ระลึกนี้ ฉะนั้น ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึ่งได้จัดทำขึ้น หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญนี้ทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ และจะได้ประดิษฐานไว้ ณ จุดที่ข้าพเจ้าผู้ได้รับแต่งตั้งแลมอบหมายจากพวกพี่น้องผู้ร่วมก่อการณ์ทั้งหลายให้เปนผู้นำ และได้ยืนกล่าวประกาศอิสสระเสรีเพื่อปลุกใจเพื่อนร่วมตายทั้งหลาย…"

พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, 10 ธันวาคม 2479.

ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานที่ซึ่งพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคณะราษฎร อันเป็นหมุดหมายแรกของระบอบประชาธิปไตยไทย เมื่อพระยาพหลฯ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมณตรี ก็ได้มีความคิดที่จะมีสิ่งระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น จึงเกิดเป็น ‘หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ’ นี้ขึ้นในปี พ.ศ. 2479 กลางลานพระบรมรูปทรงม้า ณ จุดที่ท่านยืนอ่านประกาศเมื่อสี่ปีก่อน เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนใจในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หมุดของคณะราษฎรได้ทนแดดทนฝนเป็นเวลากว่า 81 ปีก่อนจะถูกทำให้หายไป แต่หมุดนี้เคยหายไปครั้งหนึ่งแล้วก่อนที่จะกลับมาได้ ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2503 ในรัฐบาลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำพิธีการถอนหมุดคณะราษฎรออกมาครั้งหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่าต้องการเปลี่ยนวันชาติจาก 24 มิถุนายน มาเป็นวันที่ 5 ธันวาคม อันเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 9 แสดงให้เห็นว่าเมื่อขบวนฝ่ายขวาของไทยประสบความสำเร็จในการได้มาซึ่งอำนาจนำแล้วก็ตั้งใจที่จะถอนเอาหนามยอกอกชิ้นนี้ออกไปอย่างทันทีทันใด เพราะการขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์นั้นถือได้ว่าเป็นการสิ้นสุดอำนาจของฝ่ายคณะราษฎรโดยสมบูรณ์

แต่ที่จริงแล้วหมุดนี้ก็ยังไม่ได้หายไปไหน เนื่องจาก นายประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเอาหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญไปเก็บไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ได้มีการนำกลับมาติดตั้งไว้ที่จุดเดิมในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร

ในปี พ.ศ. 2560 หมุดคณะราษฎรก็ได้หายไปอีกเป็นครั้งที่ 2 ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าหมุดหลักนี้ไปอยู่ที่ใด แน่นอนว่าการกระทำของผู้ถอนหมุดนี้ต้องการลบประวัติศาสตร์ของคณะราษฎรไป แต่ก็เหมือนเรื่องตลกที่ความต้องการจะให้ ‘ลืม’ นั้นกลับยิ่งทำให้มันเป็นที่ “จดจำ” มากยิ่งขึ้น

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดอุดรธานี

เมื่อพูดถึงอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญแล้วหลายคนคงนึกไปถึงอนุสาวรีย์สูงใหญ่ที่อยู่กลางถนนราชดำเนิน แต่อนุสาวรีย์ที่มีรูปร่างเช่นเดียวกันนี้เคยตั้งอยู่ที่จังหวัดอุดรธานีด้วยเช่นกัน

มรดกความทรงจำของราษฎรอีสานเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้สะท้อนผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญที่กระจายตัวอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งสร้างต่างกรรมต่างวาระกัน ความน่าสนใจของการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ คือมันถูกริเริ่มขึ้นมาในภาคอีสานก่อนจะมีการสร้างในกรุงเทพฯ ด้วยซ้ำไป โดยเริ่มหลังจากเหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดชเป็นต้นมา และสร้างในจังหวัดมหาสารคามเป็นที่แรก

ในส่วนของอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญของจังหวัดอุดรธานีนี้สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงรัฐธรรมนูญตามแบบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ โดยมีกึ่งกลางเป็นอนุสาวรีย์ที่มียอดเป็นพานรัฐธรรมนูญและมีปีกทั้ง 4 ด้านเหมือนกัน ความพิเศษของอนุสาวรีย์แห่งนี้คือมันสร้างขึ้นมาจากการตัดแต่งพุ่มไม้ให้เป็นรูปอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่หน้าสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อถอนและแทนที่ด้วยเสาธงชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ในภาคอีสานยังคงหลงเหลืออนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญอยู่ด้วยกันใน 6 จังหวัด คือ มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด ขอนแก่น, ชัยภูมิ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ส่วนที่รื้อไปแล้ว 3 แห่งคือ อุดรธานี, บุรีรัมย์ และนครราชสีมา โดยไม่ทราบว่าอนุสาวรีย์ทั้ง 3 จะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกครั้งหรือไม่.

อาคารศาลฎีกา (เก่า)

อาคารศาลฎีกาเป็นกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ที่ตั้งขนานอยู่กับท้องสนามหลวง สร้างขึ้นด้วยจุดมุ่งหมายของคณะราษฎรที่ต้องการจะทำการปฏิรูปประเทศให้ทันสมัย โดยตั้งใจสะท้อนไอเดียดังกล่าวผ่านการหารเลือกออกแบบด้วยสไตล์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยได้ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ มาเป็นผู้ออกแบบ

กลุ่มอาคารศาลฎีกาถูกสร้างขึ้นมาสืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลคืนอย่างสมบูรณ์ หลังสูญเสียไปนับตั้งแต่สนธิสัญญาเบาว์ริงสมัยร.4 ความคิดริเริ่มในการสร้างกลุ่มอาคารนี้มาจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อเป็นเกีรติแก่ประเทศชาติในขณะนั้น

“…ครั้นต่อมาในสมัยรัฐบาลปัจจุบันนี้ บ้านเมืองได้รับการปรับปรุงและทนุบำรุงให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น ประกอบด้วยประเทศไทยได้เอกราชทางการศาลสมบูรณ์แล้ว ท่านนายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ดำริเห็นสมควรที่จะให้มีที่ทำการกระทรวงและศาลใหม่ให้เป็นที่เทอดเกียรติประเทศชาติและสง่างามสมภาคภูมิกับที่เป็นที่สถิตย์แห่งความยุติธรรม…”

การออกแบบสถาปัตยกรรมหลังนี้สะท้อนแนวความคิดทางการเมืองของคณะราษฎรที่มีลักษณะต่อต้าน แข่งขัน และแย่งชิงความชอบธรรมกับกลุ่มอำนาจเก่า การเลือกใช้รูปแบบโมเดิร์นจึงสะท้อนถึงท่าทีดังกล่าวของคณะราษฎร นอกจากนี้การออกแบบให้มีเสา 6 ต้นบนทางเข้าหลักด้านหน้าของอาคารก็สะท้อนถึงหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรได้ประกาศเอาไว้ คือ เอกราช, ความปลอดภัย, เศรษฐกิจ, เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา อาคารศาลฎีกาในสมัยคณะราษฎรจึงไม่ใช่เป็นเพียงอาคารที่ทำการของศาลยุติธรรม แต่ยังสะท้อนไปถึงแนวความคิดทางการเมืองของกลุ่มคณะราษฎรที่แฝงอยู่ในนั้น…

ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณพสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เขียนหนังสือ ‘ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ กล่าวไว้ว่า “กลุ่มอาคารดังกล่าวไม่เพียงมีคุณค่าและความสำคัญในแง่สถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ความสำคัญและคุณค่าสูงสุดของกลุ่มอาคารแห่งนี้ คือ คุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็น กลุ่มอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานที่ระลึก ‘การได้เอกราชที่สมบูรณ์ทางการศาล’”. นอกจากนี้ ศ.ดร.ชาตรี ยังได้ให้ความเห็นถึงปัญหาเรื่องการให้คำนิยามโบราณสถานของภาครัฐที่ยังคงติดหล่มคุณค่าความเป็นไทยแบบโบราณ ทำให้กลุ่มอาคารที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ถูกด้อยค่าและตีตกจากการเป็นโบราณสถาน

“ทั้งหมดเกิดขึ้นจากเพดานความคิดที่ตื้นเขินของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรม ซึ่งยังคงขีดเส้นเพดานคุณค่าทางสถาปัตยกรรมหยุดไว้เพียงแค่ตึกอาคารที่สร้างขึ้นก่อน 2475 เท่านั้น และประเมินคุณค่าทางสถาปัตยกรรมด้วยลวดลายประดับประดาอาคาร อาคารใดสร้างขึ้นหลังจาก 2475 ไม่มีคุณค่าใด ๆ ทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม ยิ่งไร้ซึ่งลวดลายประดาประดับ ยิ่งไม่ต้องคิดให้เสียเวลาในการประเมินคุณค่าแต่อย่างใด

“กลุ่มอาคารสองฟากฝั่งถนนราชดำเนินกลาง และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่น่าตกใจว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มสถาปัตยกรรมดังกล่าวที่มีอย่างมากมาย โดยเฉพาะต่อประวัติศาสตร์การเมืองของไทย ยังไม่สามารถผลักดันจนทำให้เกิดการขึ้นทะเบียนกลุ่มอาคารดังกล่าวเป็นโบราณสถานได้จวบจนปัจจุบัน ในอนาคตข้างหน้า กรณีแบบที่เกิดขึ้นกับศาลาเฉลิมไทยคงไม่ไกลเกินความเป็นจริงมากนัก เมื่อไรหนอที่เพดานความคิดอันคับแคบดังกล่าวจะพังทลายลงเสียที”

อ้างอิง: กรมศิลปากรสรุปการพิจารณา ไม่รับโรงภาพยนตร์สกาลาขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน, ศิษย์เก่าโบราณคดีคาใจกรมศิลป์เมิน ‘สกาลา’ ถามตรงไหนไม่เข้าเกณฑ์โบราณสถาน, อาคารสมาคมคณะราษฎร ณ สวนสราญรมย์/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง, วาทะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อทุบ “ศาลาเฉลิมไทย” มอง “สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ต่ำทราม, elect.in.th