13 ปี Twilight Saga
‘Subculture’ ที่สะท้อนจิตวิญญาณของวัยรุ่นอเมริกัน

13 ปี Twilight Saga ‘Subculture’ ที่สะท้อนจิตวิญญาณของวัยรุ่นอเมริกัน

13 ปี Twilight Saga ‘Subculture’ ที่สะท้อนจิตวิญญาณของวัยรุ่นอเมริกัน

“และนี่คือความลับดำมืดอันน่าอับอายของฉัน ฉันชอบ Twilight ฉันอ่านเล่มแรกตอนอายุ 12 หรือ 13 และฉันก็รักมัน มาก แต่พอเมื่อถึงเวลาที่เล่มสามกับสี่ออกมา ฉันก็ได้เรียนรู้ว่าการชอบ Twilight มันไม่คูล มีแค่เด็กผู้หญิงโง่เง่าเท่านั้นที่อ่านนิยายรักเลี่ยนแบบนี้ ฉันก็เลยแกล้งทำเป็นว่าฉันอ่าน Twilight เอาขำ ๆ แล้วก็รวมหัวกับเพื่อนร่วมชั้นล้อเลียนเด็กผู้หญิงพวกนั้นที่อยากได้แฟนเป็นแวมไพร์สะท้อนแสงวิบวับ”

นั่นคือคำสารภาพของ ชาร์ล็อตต์ อาห์ลิน (Charlotte Ahlin) นักเขียน นักเขียนบทละครเวที และหนึ่งในทีมงานผู้ผลิตรายการ Hell’s Kitchen ที่สารภาพไว้ในบทความปี 2018 ที่ชื่อว่า ‘We Really Need To Have A Mature Talk About Why Everyone Hated 'Twilight' So Much’ ซึ่งเนื้อหาในบทความก็คือการสารภาพบาปความในใจแทนเหล่าเด็กสาวแห่งยุคกลาง 2000s ที่อาจไม่กล้าประกาศออกมาตรง ๆ ว่า… ‘ฉันอ่าน Twilight’

แวมไพร์ที่ส่องแสงประกายวิบวับ, เด็กสาวหน้าเดียวที่กระเสี้ยนสันต์เป็นแวมไพร์, มนุษย์หมาป่าที่ถอดเสื้อเซอร์วิสแฟน ๆ อยู่ตลอดเวลา, ลูกแวมไพร์หน้า Artificial ฯลฯ เหล่านี้คือตัวอย่างเพียงบางส่วนของภาพจำ ที่ผู้คนมีต่อ Twilight Saga จนก่อเกิดเป็น ‘มีม’ มากมายที่ถึงขนาดว่า แม้หนังภาคสุดท้ายอย่าง The Twilight Saga: Breaking Dawn, Part 2 จะฉายจบไปเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เราก็ยังเห็นมีม Twilight ถูกผลิตขึ้นมาใหม่ทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนแพลตฟอร์มยอดฮิตแห่งยุคอย่าง TikTok

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา TikTok ได้กลายเป็นพื้นที่เผยแผ่ Subculture ที่เรียกว่า Twilight โดยมีรายงานว่า จนถึงปี 2021 นี้ มีคนกดเข้าไปดูวิดีโอใน #twilight ถึง 10,000 ล้านวิว ส่วน #twilightmemes กวาดไปถึง 45 ล้านวิว และเหล่าคนทำคอนเทนต์ TikToker ที่มีมุกเด็ดเป็นการล้อเลียนฉากต่าง ๆ จากหนัง Twilight ก็ทำยอดคนติดตามได้เป็นล้าน ๆ ที่น่าจะดังสุด ๆ ก็คือ @brodywellmaker ที่โด่งดังจากการ Parody ล้อเลียนความหน้าตายอารมณ์เดียวและการกระพริบตาถี่ ๆ ของ คริสเตน สจ๊วร์ต ผู้รับบทเป็น เบลลา ซึ่งปัจจุบันเขาก็มีผู้ติดตามมากถึง 16.5 ล้านคน ส่วนดาว TikTok อีกคนที่กำลังมาแรงสุด ๆ ก็คือ @ladyyasmina1 ที่โด่งดังจากการ Parody ล้อเลียนการแสดงแข็งทื่อของผู้ที่รับบทเป็นตัวละครแวมไพร์ แจสเปอร์ และแม้แต่ค่ายหนังผู้ผลิต Twilight Saga ก็ยังลงมาร่วมสร้างคอนเทนต์ล้อเลียนหนังของตัวเองบน TikTok ด้วย ซึ่งก็มีคนเข้าไปกดหัวใจให้ถึง 10 ล้านครั้งแล้ว

แต่ไม่ว่าความรู้สึกที่เรามีต่อซีรีส์เรื่องวุ่น ๆ ของวัยรุ่นกับแวมไพร์นี้จะเป็นไปในแนวขบขัน เหยียดหยัน หรือรักซีรีส์นี้จริง ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Twilight คือวรรณกรรมและหนังที่ส่งอิทธิพลต่อวัยรุ่นอเมริกันอย่างรุนแรง จนสิ่งที่น่าสนใจอาจไม่ใช่การตั้งคำถามว่าทำไมวัยรุ่นอเมริกันและวัยรุ่นทั่วโลกถึงหลงใหลคลั่งไคล้ซีรีส์นี้ ถึงขนาดที่ 10 ปีผ่านไป เราก็ยังพูดถึงมันกันอยู่ แต่เราอาจต้องตั้งคำถามว่า ปรากฏการณ์ ‘Twilight Mania’ ที่ก่อเกิดเป็นกระแสซับคัลเจอร์ของวัฒนธรรมร่วมสมัยนี้เป็นภาพสะท้อนหรือทำให้เราเห็นอะไรในสังคมอเมริกา รวมไปถึงสังคมโลกบ้าง?

ในวาระที่วันที่ 17 พฤศจิกายน ถือเป็นวันครบรอบ 13 ปีการเข้าฉายของหนัง Twilight ภาคแรก เราจึงอยากชวนทุกคน ทั้งที่รักและเหยียดวรรณกรรมเรื่องนี้ ไปสำรวจด้วยกันว่า Twilight สะท้อนตัวตนและสังคมของเราอย่างไรบ้าง?

เพราะไม่ว่าจะรักหรือเกลียด เราปฏิเสธกันไม่ได้หรอกว่านี่คือหนึ่งในวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงชีวิตของพวกเรา

เพราะเป็นวัยรุ่นมันเจ็บปวด

คนทั่วไปอาจคิดว่า เหล่าเด็กสาวที่อ่าน Twilight เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับตัวละครนางเอกอย่าง เบลลา สวอน ซึ่งก็จริง แต่ที่มากไปกว่านั้น เราไม่ได้อยากเป็นเบลลา สวอน เพราะตัวเบลลา สวอน …แต่เราอยากเป็นเบลลา สวอน ที่จะได้เป็นสมาชิกครอบครัวแวมไพร์คัลเลนต่างหาก หรือกล่าวโดยง่ายว่า แท้ที่จริงแล้วผู้อ่านที่อ่าน Twilight อาจไม่ได้อยากเป็นเบลลา แต่เราอยากเป็นแวมไพร์ในครอบครัวคัลเลนต่างหาก

ในวิทยานิพนธ์ชื่อ ‘จาก แรกรัตติกาล สู่ รุ่งอรุโณทัย: ความวิตกกังวล ความฝัน ความปรารถนาในวรรณกรรมวัยรุ่นแนวเรื่องเล่าผีดูดเลือดของสเตเฟนี เมเยอร์’ ผู้เขียน ธรรมธัช ศรีวันทนียกุล ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวละครแวมไพร์ใน Twilight ของเมเยอร์นั้นมีความแตกต่างไปจากภาพจำแวมไพร์แบบเดิม ๆ โดยไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นปีศาจร้ายกระหายเลือดที่อยู่ในปราสาทมืด ๆ แต่ถูกปรับให้เป็นกลุ่มวัยรุ่นไม่มีวันแก่ที่มีฐานะดี ขับรถหรูมาโรงเรียน ซึ่งก็เป็นภาพที่ไม่ว่าเด็กวัยรุ่นคนไหนก็อยากเป็นกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม แวมไพร์คัลเลนยังมี ‘จุดบกพร่อง’ ที่ทำให้คนอ่านรู้สึกเข้าถึงได้ เพราะถึงแม้จะสามารถใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันได้เหมือนคนธรรมดา แต่ลูก ๆ บ้านคัลเลนต่างก็มีความแปลกแยกและเก็บตัวจากสังคมที่โรงเรียน เพราะต้องปกปิดสถานะการเป็นแวมไพร์ของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ สมาชิกครอบครัวคัลเลนจึงเป็นภาพแทนของรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากมาตรฐานของสังคม ซึ่งก็เชื่อมโยงกับผู้อ่านวัยรุ่นที่ต่างก็ต้องเผชิญกับความรู้สึกไม่ ‘ฟิตอิน’ กับกฎเกณฑ์ในสังคม

สมาชิกครอบครัวคัลเลนยังเป็นภาพสะท้อนความลำบากของการเป็นวัยรุ่นที่ต้องพยายามปรับตัวให้เข้ากับกรอบเกณฑ์ของสังคมให้ได้ ทั้งสังคมที่โรงเรียนและสังคมข้างนอก (เหมือนกับที่วัยรุ่นในครอบครัวคัลเลนต้องเข้าเรียนมัธยมปลายซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อไม่ให้ดูเป็นที่ผิดสังเกต) ซึ่งการที่ครอบครัวคัลเลนสามารถต่อรองกับกฏเกณฑ์และสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติโดยไม่ถูกเปิดโปง ก็อาจทำให้ผู้อ่านวัยรุ่นรู้สึกมีความหวังว่าตัวเองก็จะต้องผ่านช่วงเวลานี้ไปได้เช่นกัน

นอกจากการเป็นภาพฝันของวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวเข้ากับกฏเกณฑ์ของสังคมแล้ว เหล่าเด็ก ๆ แวมไพร์ในครอบครัวคัลเลนยังเป็นภาพสะท้อนความกังวลจากการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งเป็นสภาวะที่วัยรุ่นทุกคนต้องเคยเผชิญ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากเด็กไปเป็นคนหนุ่มสาวนั้นไม่ได้ก่อความเปลี่ยนแปลงในลักษณะภายนอกเท่านั้น แต่สภาพจิตใจภายในก็ได้รับผลกระทบด้วย ช่วงเวลาของการก้าวเข้าสู่การวัยรุ่นคือการเผชิญหน้ากับความต้องการที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน นั่นก็คือความต้องการทางเพศ ด้วยเหตุนี้การกระทำของตัวละครต่าง ๆ ในเรื่องจึงเป็นภาพสะท้อนความรู้สึกว้าวุ่นจากการเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ของวัยรุ่นได้อย่างดี เช่น การที่ เอ็ดเวิร์ด พยายามฆ่าตัวตายด้วยการหาเรื่องให้พวกโวลตูรีสังหารตัวเอง เพราะไม่อาจทนรับความผิดหวังจากการเข้าใจผิดว่าตนเป็นต้นเหตุที่ทำให้เบลลาฆ่าตัวตาย, การที่ เจค็อบ อาสาออกไปต่อสู้กับแวมไพร์เกิดใหม่ซึ่งมีความกระหายเลือดรุนแรง หลังจากที่อกหักเมื่อได้รู้ว่าเบลลาจะแต่งงานกับเอ็ดเวิร์ด แม้กระทั่งในภาค Breaking Dawn Part 1 ที่เอ็ดเวิร์ดและเบลลาได้มีความสัมพันธ์ทางกายกันเป็นครั้งแรก แล้วต้องเผชิญกับการตั้งครรภ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งเกือบนำมาสู่ความตายของเบลลา ฯลฯ การกระทำของตัวละครเหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพความกังวลของเหล่าวัยรุ่นที่ต้องจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และร่างกายของตนเอง รวมไปถึงการจัดการกับประสบการณ์ทางเพศครั้งแรกด้วย

เพราะอยากเป็นคนที่ถูก ‘รัก’

ถ้าพูดถึงภาพจำของแวมไพร์ยุคก่อน ๆ อย่างแวมไพร์ต้นตำรับของ บราม สโตเกอร์ เราก็คงติดภาพของท่านเคานต์ผู้ลึกลับที่สามารถสะกดจิตหญิงสาวให้มาเป็นเหยื่อฝังเขี้ยวที่ลำคอได้ ซึ่งตลอดมา การฝังเขี้ยวที่ลำคอของหญิงสาวมักถูกตีความในทางจิตวิเคราะห์ว่าเป็นสัญลักษณ์แทนความปรารถนาทางเพศ โดยเฉพาะความปราศนาของเพศหญิงที่จะถูก ‘สอดใส่’ หรือถูกครอบครอง โดยที่คมเขี้ยวของแวมไพร์ก็คือสัญลักษณ์ขององคชาตนั่นเอง

แต่ เอ็ดเวิร์ด คัลเลน เป็นแวมไพร์สมัยใหม่ที่ไม่ได้แค่ไล่ฝังเขี้ยวใส่คอสาว ๆ ใน Twilight ผู้เขียนสเตฟานี เมเยอร์ ได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแวมไพร์เอ็ดเวิร์ดไม่ใช่แวมไพร์หื่นกระหายที่เที่ยวไล่กัดคอชาวบ้านไปทั่ว แต่เอ็ดเวิร์ดผู้เป็นแวมไพร์มังสวิรัติ (ดื่มเลือดสัตว์เท่านั้น ไม่ดื่มเลือดมนุษย์) กลับต้องการแค่เลือดของเบลลาเพียงผู้เดียว ซึ่งการนำเสนอภาพลักษณ์ของเอ็ดเวิร์ดเช่นนี้ก็คล้ายกับจะเป็นภาพแทนของการรักเดียวใจเดียว และขับเน้นภาพของเบลลาให้มีสถานะเป็น ‘คนพิเศษ’ ที่เอ็ดเวิร์ดไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้หากปราศจากเธอ เช่นเดียวกับแวมไพร์คู่อื่น ๆ เช่น ชาร์ลิสกับเอตเม, อลิซกับแจสเปอร์, โรซาลินกับเอ็มเมตต์ ที่ต่างก็จับคู่และจะอยู่กับคู่ของตัวเองไปจนตลอดชีวิต ความสัมพันธ์ของแวมไพร์ยุคใหม่สไตล์สเตฟานี เมเยอร์ จึงเป็นเหมือนภาพแฟนตาซีของรูปแบบความสัมพันธ์ในอุดมคติที่เป็นการครองความรักความสัมพันธ์ที่ชื่อสัตย์มั่งคงต่อกัน เป็นความสัมพันธ์ที่เชื่อถือได้ และจะคงอยู่ไปตลอดกาล เพราะแวมไพร์มีชีวิตเป็นอมตะ

แต่ในชีวิตจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงของช่วงชีวิตวัยรุ่น เป็นไปได้ยากมากที่จะจินตนาการถึงความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งที่เชื่อถือได้และคงอยู่ไปตลอดกาลจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ภาพความสัมพันธ์ของเหล่าแวมไพร์ใน Twilight ที่ไม่เพียงครองคู่กันไปจนวันตาย แต่ยังยกคู่ของตัวเองให้เป็น ‘คนพิเศษ’ ถึงขั้นที่ว่าหากเกิดอะไรขึ้นกับคู่ของตน อีกคนหนึ่งก็สามารถก่อสงครามเพื่อปกป้องคู่ของตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในความสัมพันธ์ของวัยรุ่น ภาพความสัมพันธ์อันมั่นคงและศักดิ์สิทธิ์ใน Twilight จึงช่วยตอบสนองความคาดหวังและความต้องการที่จะมีความสัมพันธ์เช่นนั้นของผู้อ่านวัยรุ่น

รูปแบบความสัมพันธ์ที่ยกย่องและปกป้องคู่ของตนเองเหนือสิ่งอื่นใดใน Twilight ยังช่วยขจัดความกังวลเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนไปของวัยรุ่นหนุ่มสาวด้วย ใน Twilight เบลลาเป็นตัวละครที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง อ่อนแอ ซุ่มซ่าม และมีความแปลกแยกจากมนุษย์คนอื่น ๆ ในแง่ที่ว่าเลือดของเธอมีความพิเศษที่ดึงดูดแวมไพร์ในละแวกใกล้เคียงตลอดเวลา แต่กระนั้นเธอก็ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากเอ็ดเวิร์ดตลอดทั้งเรื่อง ซึ่งการดูแลของเอ็ดเวิร์ดก็เป็นเหมือนจะเป็นการปลอบประโลมเหล่าผู้อ่านวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางร่างกายและอารมณ์ เป็นภาพแฟนตาซีซึ่งตอบสนองความต้องการของวัยรุ่นที่จะได้รับการยอมรับในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

ในตอนสุดท้าย เมื่อเบลลาสามารถขจัด ‘ปัญหา’ ความกังวลใจเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ของเธอ เช่น การมีอายุที่เพิ่มขึ้น การไม่สวยงามตามอุดมคติ ความเชื่องช้า ฯลฯ ด้วยการเปลี่ยนเป็นแวมไพร์ผู้มีความสวยงามและศักยภาพเหนือมนุษย์ที่จะเป็นอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล การเปลี่ยนแปลงของเบลลาก็เหมือนเป็นการตอบสนองต่อความกังวลเกี่ยวกับร่างกายที่เปลี่ยนไปของผู้อ่านวัยรุ่นในที่สุด

เพราะอยากได้รับการยอมรับ

สุดท้ายแล้ว รูปแบบวรรณกรรมของ Twilight ที่เป็นวรรณกรรมแฟนตาซีเหนือจริง ยังเอื้อให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้กลับเป็นไปได้ เป็นเสมือนทางลัดสู่ภาพแฟนตาซีที่คนอ่านไม่สามารถประสบได้ในชีวิตจริง ซึ่งในที่นี้ก็คือการก้าวข้ามช่วงเวลาอันสับสนและเต็มไปด้วยความวิตกกังวลของการเป็นวัยรุ่น ไปสู่ช่วงเวลาที่ทุกอย่างในชีวิตมีความมั่นคงแล้ว เหมือนกับที่เบลลา ‘skip’ หรือก้าวข้ามช่วงเวลาของความไม่มั่นใจ ความรู้สึกเหมือนเป็นคนนอก และความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและอารมณ์ของตัวเอง ไปสู่การชีวิตการเป็นแวมไพร์ที่ทุกอย่างมั่นคงและหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นอายุ ความสวยงามที่จะไม่มีวันแปรผัน การได้ครอบครองความสัมพันธ์ในอุดมคติที่ยั่งยืน เชื่อถือได้ และเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้ตนมีสถานะเป็นคนพิเศษในสายตาของคู่ตัวเอง รวมไปถึงการได้เข้าไปเป็นสมาชิกของครอบครัวแวมไพร์ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการได้รับการยอมรับเข้าพวกนั่นเอง

Twilight จึงเป็นดัง ‘เครื่องมือ’ ในการเยียวยาจิตใจผู้อ่านวัยรุ่นที่ต้องเผชิญกับความวิตกกังวลจากความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน เรื่องราวความรักเหนือธรรมชาติใน Twilight จึงเป็นเสมือนการเติมเต็มปัญหาเรื่องตัวตนและความแปลกแยกของวัยรุ่น ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่คาดหวัง ตลอดจนความกังวลต่อการยอมรับจากสังคมของวัยรุ่น จึงไม่น่าแปลกใจที่ Twilight จะเป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น ณ ช่วงเวลานั้น

และบางที… การที่เราหันกลับมามองและหัวเราะกับความไร้สาระของนิยายและหนังชุดนี้ ก็อาจเป็นเพราะเราได้ก้าวข้ามช่วงเวลาแห่งความไม่มั่นใจและไม่แน่นอนของการเป็นวัยรุ่นมาแล้ว จนเราอาจจะลืมความรู้สึกว้าวุ่นของการตกอยู่ในช่วงเวลานั้นของชีวิตไป การหันกลับไปมองแล้วหัวเราะและล้อเลียน Twilight จึงอาจเป็นเหมือนกับการหันไปหัวเราะช่วงชีวิตการเป็นวัยรุ่นและความไร้สาระของตัวเอง เพียงแต่เราอาจลืมไปว่าสิ่งที่ดูไร้สาระในวันนี้ เคยเป็นปัญหาแท้จริงและยิ่งใหญ่หนักหนาของเราในวันนั้น

อ้างอิง: ศรีวันทนียกุล, ธรรมธัช. จาก แรกรัตติกาล สู่ รุ่งอรุโณทัย: ความวิตกกังวล ความฝัน ความปรารถนาในวรรณกรรมวัยรุ่นแนวเรื่องเล่าผีดูดเลือดของสเตเฟนี เมเยอร์. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. คณะอักษรศาสตร์, 2557.

TikTokers are reigniting the 'Twilight' fandom, with memes and trends based on the movie franchise going viral