เมื่อโลกผลักให้เราต้องร้าย
ภาพสะท้อนจาก Squid Game ถึง Hellbound ในวันที่โลกความจริง ‘ไม่มี’ ความเป็นธรรม

เมื่อโลกผลักให้เราต้องร้าย ภาพสะท้อนจาก Squid Game ถึง Hellbound ในวันที่โลกความจริง ‘ไม่มี’ ความเป็นธรรม

เมื่อโลกผลักให้เราต้องร้าย ภาพสะท้อนจาก Squid Game ถึง Hellbound ในวันที่โลกความจริง ‘ไม่มี’ ความเป็นธรรม

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า Squid Game ซีรีส์ที่จำลองเกมในวัยเด็ก มาเป็นสนามปะลองที่เดิมพันด้วยชีวิต ได้ปลุกกระแสบนโลกออนไลน์จนดังไกลไปทั่วโลก มาถึงวันนี้ Netflix เว็บสตรีมมิ่งลำดับต้น ๆ ก็ได้ปล่อยซีรีส์สัญชาติเกาหลีเรื่องใหม่ในชื่อ Hellbound ซึ่งได้ Yeon Sang-Ho ที่เคยฝากผลงานดังอย่าง Train to Busan มานั่งแท่นเป็นผู้กำกับให้กับซีรีส์เรื่องนี้ที่เพิ่งออกฉายไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ความน่าสนใจก็คือมีการเปรียบเทียบกันว่า Hellbound เปิดตัวเพียงวันเดียวก็ไต่ชาร์จขึ้นอันดับหนึ่งใน Netflix ได้สำเร็จ แม้ว่าจะมีการวิเคราะห์กันว่าความนิยมของ Hellbound จะมาไวไปไวกว่า Squid Game แต่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจว่า ‘ทำไม’ ซีรีส์ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำของสังคม ผ่านรสมือชาวเกาหลี ถึงได้โดนใจผู้ชมตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

Hellbound คือเรื่องราวที่าถูกดัดแปลงมาจากเว็บตูน ว่าด้วยชีวิตและความตาย บาปและการลงโทษ ที่หยิบเอานรกมาไว้บนดินให้เห็นกันชัด ๆ เมื่อทูตจากนรกออกมาเตือนเหล่าคนบาปถึงวาระสิ้นสุดอายุขัย ก่อนพวกเขาจะถูกอสูรรูปร่างเหมือนเถ้าถ่าน เผาไหม้ให้ร่างกายพวกเขาแหลกเป็นจุณ ผลของความวิตกกังวล ทำให้ผู้คนหันไปศรัทธาในลัทธิความเชื่อที่ชื่อ The New Truth ซึ่งวางทีท่าคอยให้คำปรึกษากับผู้คน จนชวนให้ผู้ชมสงสัยว่าเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวข้องกันอย่างไร และกำลังจะนำพาเราไปสู่สิ่งไหน

ทั้ง Hellbound และ Squid Game มีความเชื่อมโยงอย่างกราย ๆ ผ่านเรื่องราวชีวิตผู้คนในปัจจุบันที่แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่โลกใบนี้กลับถดถอยสู่ยุค Dystopia เข้าไปทุกวัน 'ความเหลื่อมล้ำ' คือประเด็นหลักของซีรีส์ทั้งสองเรื่อง และเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างระดับสากลที่แทรกซึมอยู่ในทุกสังคม แม้ว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับโลกของภาพยนตร์และซีรีส์ แต่คงปฏิเสธได้ยากว่าเมื่อเราเห็นความไม่ยุติธรรมของสังคม และได้ยินคำคม ๆ ผ่านตัวละครในเรื่อง เราก็เกิดอินไปได้ง่าย ๆ เพราะสิ่งที่ว่านั้นช่างตรงกับชีวิตของเราเหลือเกิน

คล้ายกับว่าซีรีส์ทั้งสองเรื่อง คือการปะทะกันระหว่างอำนาจทางสังคมการเมือง และอำนาจอื่น ๆ ที่ใหญ่ไม่แพ้กัน อย่างใน Squid Game คือการที่ตัวละครต้องต่อสู้เพื่อให้ตัวเองได้เงินก้อนโตมาอัพเกรดฐานะความเป็นอยู่ ขณะที่ Hellbound เป็นเรื่องของสังคมที่ไม่มีความยุติธรรมมากพอ จนผลักให้ผู้คนต้องตกอยู่กับความรู้สึกผิดบาป

สภาวะ ‘ตกอับ’ เหล่านี้ มักเกิดขึ้นกับคนตัวเล็ก ๆ ในสังคมที่ไม่มีสิทธิเลือกเส้นทางของตัวเองโดยแท้จริง เมื่อถึงเวลา พวกเขาจะถูกยื่นด้วยข้อเสนอที่ยากจะปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือการลงโทษจากทูตนรก สิ่งเหล่านี้กำลังพาคนตัวเล็กไปเผชิญหน้ากับกลุ่มคนมีอำนาจที่คลุมตัวเองด้วยหน้ากากปริศนา แม้แต่อนาคตก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม

ต่อยอดไปถึงอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ที่เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็วจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่งผลให้ความสนใจของผู้คนภายนอกที่มีต่อประเทศเกาหลีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่ขณะกระแส Squid Game กำลังมาแรง สังคมโลกก็ได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งของเกาหลีด้วยเช่นกัน เมื่อเหล่าสหภาพแรงงานมีการนัดรวมตัวประท้วง เนื่องจากพวกเขามองว่าตัวเองมีสภาพไม่ต่างจากตัวละครในซีรีส์เกมปลาหมึก สิ่งนี้ทำให้เห็นว่าการผลักดันอุตสาหกรรมหนึ่งให้เติบโตจนสร้างรายได้เข้าประเทศได้เป็นกอบเป็นกำนั้นคือสิ่งที่น่าชื่นชม และทำให้เห็นว่าเกาหลีพัฒนาจุดแข็งของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าสังคมในความเป็นจริงนั้น มีรายละเอียดยิบย่อยที่ลงรากลึกกว่านั้นมาก จึงเป็นเรื่องน่าคิดต่อว่า หรือการสร้างสื่อเหล่านี้ จะเป็นอีกหนึ่งทางที่ประชาชนกำลังช่วยประชาชนกันเอง ‘ส่งเสียง’ ผลักดันความเหลื่อมล้ำในสังคมให้เข้าไปอยู่ในสปอตไลท์ที่คนทั้งโลกเห็น เพื่อให้โครงสร้างอำนาจใหญ่ที่แข็งแกร่งนั้น เกิดการเปลี่ยนแปลง

รับชม Hellbound และ Squid Game ได้ทาง Netflix

อ้างอิง : 'Hellbound' vs 'Squid Game': What global chart says about two Korean dramas , South Korean workers channel "Squid Game" to protest their real-life economic woes, 'Hellbound' fans claim it's 'better than Squid Game', Hellbound (2021) summary and ending explained