ชวนดู Thailand Pavilion ตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน ความงดงามของ ‘ความเป็นไทย’ ที่กี่ปีผ่านไปก็ ‘ไม่เคยเปลี่ยน’
เวียนกลับมาบรรจบครบอีกปีแล้วสำหรับ World's Fair หรือที่หลายคนรู้จักกันดีในชื่อ World Expo มหกรรมการจัดแสดงอวดของดีของเด่นของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีตั้งแต่ด้านศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งแม้ว่างานมหกรรมอันแสนเก่าแก่นี้จะมีอายุกว่า 170 ปีเข้าไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีการจัดงานสเกลบิ๊กเบิ้มแบบนี้กันทุกปี เพราะภายหลังเขาก็มีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วว่าจะเวียนกลับมาจัดงาน World Expo ในทุก ๆ 5 ปีเท่านั้น โดยในปีนี้ก็เป็นคราวของนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่อาสามาทำหน้าที่เจ้าภาพใหญ่ของงานประจำปี 2020 (แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงเลื่อนมาจัดในปีนี้แทน) ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 มีนาคม ปีหน้านู่นเลย
แน่นอนว่า เมื่องานมหกรรมระดับนานาชาติที่มีความยิ่งใหญ่อลังการระดับน้อง ๆ โอลิมปิกและฟุตบอลโลกจะเกิดขึ้นทั้งที ประเทศน้อยใหญ่ต่างก็พากันทุ่มทุนสร้างพาวิลเลียนที่เป็นหน้าตาของประเทศกันแบบไม่ยั้ง เรียกได้ว่า เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ เพราะแท้จริงแล้ว ความสำคัญของงาน World Expo ไม่ได้อยู่เพียงแค่การเผยแพร่วัฒนธรรมหรือส่งต่อองค์ความรู้อย่างใดอย่างหนึ่งสู่ประชาคมโลกเท่านั้น แต่มันยังทำหน้าที่ประกาศศักดาว่าแต่ละประเทศมีศักยภาพและความพร้อมทางเศรษฐกิจและความคิดสร้างสรรค์มากน้อยแค่ไหน หากจะกล่าวว่ามันเป็นมหกรรมโชว์ของและแสดง ‘แบรนด์ดิ้ง’ ของแต่ละประเทศออกมาก็คงจะไม่ผิดนัก
และก็เป็นประจำทุก 5 ปีที่ประชาชนชาวไทยอย่างเราจะตั้งตารอชมผลงานการออกแบบพาวิลเลียนอันแสนงดงามจากภาษีประชาชน โดยก่อนที่งาน Expo 2020 จะเริ่มออกสตาร์ทอย่างเป็นทางการ ก็ได้มีการเปิดเผยภาพเรนเดอร์สามมิติและภาพระหว่างการก่อสร้าง Thailand Pavilion ที่น่าภาคภูมิใจนี้ออกมาสู่สายตาสาธารณชนอยู่เป็นระยะ ๆ พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูถึงการดำรงไว้ซึ่งความ ‘ไท๊ยไทย’ ที่ไม่อาจสลัดออกไปจากสายตาและการพิจารณาของเหล่าผู้มีอำนาจได้เลย แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจะมีตัวอย่างของพาวิลเลียนจากทั่วสารทิศที่หันมาถ่ายทอดและตีความคำว่า ‘ชาติ’ ใหม่ในแบบที่ทั้งสวยงามร่วมสมัย เต็มไปด้วยนวัตกรรมล้ำยุค และยังมีการตระหนักรู้ทางสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังด้วย โดยในท้ายที่สุด หน้าตาของชาติไทยในสายตาภาครัฐก็ยังคงหนีไม่พ้นภาพจำของศิลปวัฒนธรรมไทยแบบดั้งเดิมอย่าง ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และลายกนกอยู่วันยังค่ำ แม้จะยังมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในสังคมอีกมากที่รอถูกหยิบยกให้ไปบอกเล่าใหม่ในระดับสากล
แต่สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น เราจึงขอทำหน้าที่รวบรวมเอา Thailand Pavilion (หรือถ้าย้อนเวลากลับไปนานหน่อยก็คือ Siam Pavilion ชื่อเก่าของเราแต่ก่อนนั่นเอง) ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ตั้งแต่ปี 1889 จนถึงปัจจุบันมาให้ทุกคนได้รับชมและพิจารณากันเองว่า พาวิลเลียนของเราดำรงไว้ซึ่ง ‘ความเป็นไทย’ อันแสนงดงามมาแล้วกี่ปี พร้อมกันนี้ เรายังแอบคัดเลือกพาวิลเลียนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีความน่าสนใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพื่อให้เห็นภาพการเดินทางที่ไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่ของวงการสถาปัตยกรรมโลกที่ยังเหลือช่องว่างให้ได้ตีความอีกมาก
อ้างอิง: เมื่อ 100 ปีที่แล้ว สยามไปร่วมงาน Paris EXPO 1900, artsandculture.google.com, worldsfairphotos.com, Then and Now: Photos of the New York World's Fair Half a Century Later, EXPO 58, 15 Amazing Structures Originally Built for World's Fairs, The 10 Most Iconic World's Fair Structures That Are Still Standing