เทวดาที่เพิ่งสร้าง : พระสยามเทวาธิราชที่ไม่ใช่ผีประจำตระกูล แต่เป็นผีมรดกแนวคิดรัฐชาติในยุคล่าอาณานิคม

เทวดาที่เพิ่งสร้าง : พระสยามเทวาธิราชที่ไม่ใช่ผีประจำตระกูล แต่เป็นผีมรดกแนวคิดรัฐชาติในยุคล่าอาณานิคม

เทวดาที่เพิ่งสร้าง : พระสยามเทวาธิราชที่ไม่ใช่ผีประจำตระกูล แต่เป็นผีมรดกแนวคิดรัฐชาติในยุคล่าอาณานิคม

พระสยามเทวาธิราชเป็นชื่อที่ทุกคนคงรู้จักกันเป็นอย่างดีในฐานะเทวดาผู้ปกป้องคุ้มครองสยามประเทศให้รอดพ้นจากอันตรายใด ๆ แต่พระสยามเทวาธิราชคู่บ้านคู่เมืองของเรานี้มีมาตั้งแต่เมื่อไร? ตั้งแต่แผ่นดินไหน? ตั้งแต่แรกสร้างบ้านแปลนเมืองเลยหรือไม่? คำตอบคือ ไม่ใช่ เรื่องราวของพระสยามเทวาธิราชนั้นมีพื้นเรื่องเล่าอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยความคลุมเครือของประวัติที่มา ทำให้เกิดการสันนิษฐานประวัติการสร้างที่หลากหลาย หากแต่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ต่างก็เห็นตรงกันว่า พระสยามเทวาธิราชน่าจะเริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 ไม่เก่าไปกว่านี้ ด้วยเหตุนี้เอง พระสยามเทวาธิราชจึงเป็น ‘เทวดาอุบัติใหม่’ ในยุคที่สยามกำลังเข้าสู่สมัยใหม่

“พระสยามเทวาธิราช เทวดาผู้กำเนิดจากการเมือง” หนึ่งในแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับพระสยามเทวาธิราชที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากเรื่องราวอภินิหารหรือความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ก็คือสถานะของพระสยามเทวาธิราชในแง่ของการเมือง เพราะประวัติที่มาที่ไปฉบับคลาสสิกของเทวดาองค์นี้ก็ถูกผูกโยงกับการเมืองมาตั้งแต่ต้น ม.จ.พูลพิศมัย ดิศกุล เล่าถึงที่มาที่ไปของพระสยามฯ ไว้ซึ่งย้อนกลับไปได้ไกลถึงสมัยสุโขทัยอยุธยาทีเดียว โดยกล่าวในแง่ที่ว่า ประเทศสยามนี้ผ่านการรุกรานมาครั้งแล้วครั้งเล่าก็พ้นภัยมาได้ก็ด้วยมีอำนาจบารมีของเทวดาช่วยคุ้มครอง ดังที่ได้บรรยายไว้ว่า “เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้วจึงทรงพระราชดำริว่าเมืองไทยเรานี้มีเหตุการณ์หวิด ๆ จะต้องเสียอิสรภาพมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นได้เสมอมา ชะเอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้นไว้สักการบูชาแล้วโปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ นายช่างเอก ทรงปั้นรูปเทพพระองค์นั้น เป็นรูปแทรงต้นยืนถือพระขรรค์ ในพระหัตถ์ขวา ขนาด 8 นิ้วฟุตงดงามได้สัดส่วน แล้วหล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ทรงถวายพระนามว่าพระสยามเทวาธิราช” ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘การเมือง’ นี่แหละที่ผลักดันให้เกิดการสร้างพระสยามเทวาธิราชขึ้น ในบทความของ ชลภูมิ บรรหาร เรื่อง ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการใช้ศิลปวัฒนธรรมสร้างความทันสมัย’ ชี้ให้เห็นถึงเบื้องหลังแนวคิดการสร้างพระสยามในแง่ของการสร้างชาติได้ชัดเจน โดยรัชกาลที่ 4 นั้นได้ทรงสร้างเทวดาประจำรัฐชาติสยามขึ้นมาเพื่อดึงสิ่งที่เป็นนามธรรม (รัฐชาติ) ให้กลายมาเป็นรูปธรรม หรือก็คือการสร้างบุคลาธิษฐานให้กับความเป็นชาติท่ามกลางลัทธิล่าอาณานิคมและการพัฒนาชาติไปสู่ยุคสมัยใหม่ แนวคิดเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะมีแนวคิดที่คล้ายกันคือผีบ้านผีเมือง แต่ก็ไม่ใช่ผีชาติอยู่ดี เพราะแต่ละเมืองก็จะมีผีของเมืองแต่ละเมืองไป แต่พระสยามฯ นี้กลับเป็นผีของชาติที่รวมเมืองทุกเมืองในชาติไว้ พระสยามฯ จึงเป็นส่วนผสมของแนวความเชื่อดั้งเดิมกับแนวคิดชาตินิยมสมัยใหม่ กลายมาเป็นเทวดาประจำชาติ และแม้ว่าความเชื่อนี้จะคล้าย ๆ ความเชื่อดั้งเดิมของไทย แต่เชื่อหรือไม่ว่ามันคือแนวคิดที่นำเข้ามาจากอังกฤษ!

“กำเนิดพระบริเตนเทวาธิราช”

ย้อนกลับไปในเกาะอังกฤษยุคศตวรรษที่ 17 ภาพเทพธิดาแต่งกายแบบโรมันบนหน้าเหรียญกษาปน์กลายเป็นที่แพร่หลายพร้อม ๆ กับการสถาปนาประเทศบริเตน ซึ่งเป็นการรวมเอาดินแดนอังกฤษ เวลส์ สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์ เข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเทพธิดาอง์นี้มีชื่อว่า ‘บริเตนเนีย’ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางด้านรูปแบบมาจากเทพีโรมันแต่เดิมในสมัยโรมัน

‘บริเตนเนีย’ เป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะเหนือเกาะอังกฤษ เมื่อโรมันเสื่อมอำนาจลง บริเตนเนียก็ดูเหมือนจะเสื่อมถอยไปด้วย จนกระทั่งในศตวรรษที่ 17-18 เทพธิดาบริเตนเนียก็ถูกนำมาใช้เพื่อนิยามความหมายใหม่ และทวีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ของการรวมชาติอังกฤษให้เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้แนวความคิดแบบรัฐชาติและลัทธิชาตินิยมนั่นเอง ในสมัยพระนางเจ้าวิตอเรีย เทพธิดาบริเตนเนียเริ่มมีรูปลักษณ์ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเธอยังคงการแต่งกายแบบโรมัน แต่เพิ่มเติมตรีศูลในมือ พร้อมกับยืนอยู่เหนือท้องทะเล อันแสดงถึงความเป็นมหาอำนาจทางทะเลของอังกฤษ ข้างกายเธอมักปรากฏโล่ห์ที่มีลายธงชาติอังกฤษกับสิงโตที่เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ

ความสอดคล้องกันของเทพีบริเตนเนียกับพระสยามเทวาธิราชชัดเจนมากในสมัยรัชกาลที่ 5 จากการสร้างรูปพระสยามเทวาธิราชในลักษณะนั่งถือคทายาว มีโล่ห์ที่เป็นลายตราอาร์มสัญลักษณ์ชาติสยาม รูปแบบพระสยามเทวาธิราชเช่นนี้ยังปรากฏอยู่ในตราธนาคารแห่งประเทศไทยทุกวันนี้ โดยจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดการสร้างหรือว่าด้านรูปแบบ พระสยามเทวาธิราชนี้ก็เหมือนจะเป็นเทวดานำเข้าซะมากกว่าเทวดาที่เกิดจากความเชื่อดั้งเดิมในแถบอุษาคเนย์ล้วน ๆ

ความแตกต่างระหว่างพระสยามฯ กับบริเตนเนียคงมีอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า บริเตนเนีย เป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ไม่ได้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เท่านั้นเอง

นอกจากพระสยามเทวาธิราชและพระบริเตนเทวาธิราชแล้ว ยังปรากฎพระอินเดียเทวาธิราชอีกด้วย โดยในอินเดียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ในอินเดียก็มีการสร้างเทวดาประจำชาติอินเดียขึ้นมาองค์หนึ่ง ชื่อว่า ‘ภารตะมาตา’ หรือ ‘พระแม่แห่งอินเดีย’ โดยเธออยู่ในรูปของพระเทวีถือธงชาติอินเดีย ประทับบนสิงโต เบื้องหลังมีแผนที่ประเทศอินเดีย

การสร้างภารตะมาตาก็เหมือนกับเทวดาทั้งสองที่กล่าวมาแล้วคือการใช้แนวคิดรัฐชาติและลัทธิชาตินิยมมาสร้างนั้นเอง ทั้งพระสยามฯ และภารตะมาตาต่างก็รับอิทธิพลทางความคิดมาจากอังกฤษนั่นเอง

และจากที่ปรากฎเป็นปรากฎการณ์ในทวีตภพที่กล่าวว่าพระสยามฯ คือผีประจำตระกูลคงจะไม่จริงอย่างที่ว่ามา เพราะแนวคิดแท้จริงที่นำมาครอบงำคนไทยนั้นคือแนวคิดชาตินิยมต่างหาก แม้จะมีการสร้างรูปพระสยามที่เป็นหน้ารัชกาลที่ 4 ก็เป็นแนวความคิดหนึ่งในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชที่สมมติกษัตริย์ขึ้นเป็นตัวแทนของความเป็นชาติ การซ้อนทับกันระหว่างองค์กษัตริย์กับสัญลักษณ์ของชาติก็เกิดขึ้นในอังกฤษสมัยพระราชินีวิคตอเรียเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่พระสยามฯ จะมีหน้าตาเป็นกษัตริย์แห่งสยาม หากจะพูดถึงผีประจำตระกูลประจำราชวงศ์จริง ๆ แล้ว ควรจะเป็น ‘พระเชษฐบิดร’ ที่เชื่อกันว่าเป็นรูปแทนของพระเจ้าอู่ทองนั่นต่างหาก ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณแล้วและยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง: สารคดีของ ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล , พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการใช้ศิลปวัฒนธรรมสร้างความทันสมัย โดย ชลภูมิ บรรหาร , สัญลักษณ์พระสยามเทวาธิราช การวิเคราะห์และตีความหมายเชิงมานุษยวิทยา โดยวีระศักดิ์, Britannia โดย Timothy Edmonds, ข้อมูลเหรียญกษาปณ์ หนึ่งเซี่ยว จุลศักราช 1249 ในคอลเล็คชั่นของ Assumtion Museum โดย นายณรัณฐ์ อัครนิธิพิรกุล