ส่องสถาปัตยกรรม Art Deco สวย เรียบ โก้ แบบฉบับไปรษณีย์กลาง
80 ปี คือระยะเวลาที่อาคารไปรษณีย์กลาง ยืนหยัดเด่นตระหง่านใจกลางเจริญกรุงมาจนถึงวันนี้ อาคารแห่งนี้ไม่เพียงมีความสำคัญเมื่อครั้งอดีตในฐานะสัญลักษณ์ศูนย์กลางการสื่อสารสมัยใหม่ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ทว่าเบื้องหลังอิฐแต่ละก้อน เสาแต่ละต้น หรือประติมากรรมครุฑที่ประดับอยู่บนยอดมุขกลางของตึก ก็ยังบอกเล่าเรื่องราวและประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของไทย
หากใครไปยืนตรงลานด้านหน้าอาคาร แล้วแหงนหน้ามองดูสิ่งก่อสร้างอันโอ่อ่าตระการตาแห่งนี้ จะสามารถอ่านประวัติศาสตร์หรือชื่นชมเรื่องราวเบื้องหลังของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ได้อย่างไรบ้าง? เรารวบรวมเช็กพอยต์ให้ไปส่องสถาปัตยกรรมของไปรษณีย์กลางไว้ที่นี่แล้ว
## Art Deco นั้นโก้อย่างไร? ก่อนจะไปสำรวจอาคารไปรษณีย์กลางซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซด้านงานสถาปัตยกรรมของไทย เราอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักสุนทรียะทางศิลปะที่เรียกว่า Art Deco ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะที่ใช้ในการรังสรรค์ความงดงามของอาคารไปรษณีย์กลางกันก่อน Art Deco (แปลชื่อไทยคือ ‘อลังการศิลป์’) เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุคทศวรรษ 1920 ซึ่งมาแทนที่สไตล์สวยหวาน หยดย้อยชวนฝันของ Art Nouveau ที่เคยรุ่งเรือง โดยลักษณะเด่นของ Art Deco คือการใช้แนวบาศกนิยม หรือเหลี่ยมมุมลูกบาศก์ รูปทรงเรขาคณิต เส้นตัดตรงเนี้ยบกริบ ทำให้ดูแข็งแรง ขึงขัง โอ่อ่าอลังการ Art Deco ยังได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอียิปต์โบราณ ศิลปะแอสเทก และอเมริกากลางโบราณ รวมถึงการออกแบบเรือ รถไฟ และรถยนต์สมัยใหม่ ซึ่งนำมาใช้กับสถาปัตยกรรมและการออกแบบสมัยใหม่ ในช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างปี พ.ศ. 2470 – 2480 ประเทศไทยเริ่มก่อสร้างอาคารสูงเพื่อใช้เป็นสถานที่ราชการ รูปแบบสถาปัตยกรรมในยุคนั้นจึงหันมาเน้นแนวศิลปะที่แสดงให้เห็นความโอ่อ่าแข็งแรง เพื่อสะท้อนถึงความเข้มแข็งของประเทศชาติ หนึ่งในสไตล์ที่นิยมสร้างกันในยุคนั้นก็คือ Art Deco อันได้แก่ อาคารไปรษณีย์กลางทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรม และการตกแต่งภายใน
เบื้องหลังอาคารนี้มีความหมาย
นอกจากความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมและความสำคัญในฐานะศูนย์กลางระบบสื่อสารของประเทศในสมัยนั้น ใครเลยจะรู้ว่า แนวคิดในการก่อสร้างอาคารไปรษณีย์กลาง ยังแฝงไว้ซึ่งความหมายสำคัญได้อย่างน่าสนใจ
การก่อสร้างอาคารไปรษณีย์กลางเกิดขึ้นในยุคของ ‘การสร้างชาติ’ ให้มีความเจริญ เป็นอารยะ อันเป็นกระแสสังคมในช่วงเริ่มต้นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สถานที่สำคัญของชาติหลายแห่ง เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจดีย์วัดพระศรีมหาธาตุ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงอาคารไปรษณีย์กลางจึงมักแฝงสัญลักษณ์ที่สื่อถึงหลัก 6 ประการ อันได้แก่ เอกราช ปลอดภัย ความสุข เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ด้วยเหตุนี้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ และนายหมิว อภัยวงศ์ ผู้เป็นสถาปนิกจึงได้นำตัวเลขดังกล่าวมาออกแบบปีกทั้งสองข้างด้านหน้าของอาคารให้มีแนวเสาข้างละ 6 ต้นนั่นเอง
ตึกฝรั่งในเมืองร้อน
อาคารไปรษณีย์กลาง นับเป็นอาคารที่ได้ชื่อว่าทันสมัยมากที่สุดในยุคนั้น โดยออกแบบในแนว Art Deco ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของสถาปัตยกรรมตะวันตก ลักษณะอาคารออกแบบเป็นรูปตัวที (T) ในภาษาอังกฤษ โดยมีความสูง 5 ชั้น โครงสร้างอาคารเป็นระบบเสา-คาน คอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังอาคารก่อด้วยอิฐฉาบปูน ภายนอกเป็นหินล้างสีเทา เซาะร่องสลับเป็นลายอิฐ
ถึงจะรับรูปแบบตะวันตกมาใช้ในการออกแบบ แต่สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารก็ได้คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศสยามเมืองร้อนเป็นสำคัญ เพราะหากทำออกมาตามแบบอาคารฝรั่งเป๊ะ ๆ ก็อาจมีคนเป็นลมเป็นแล้งจนอาจทำให้ถูกครหาว่า ตึกฝรั่งแสนหรูหรา แต่พอเอาเข้าจริงแล้วก็ใช้งานไม่ได้
การวางผังของตัวอาคารจึงจัดวางตึกประธานด้านหน้า หรือหัวตัวที ซึ่งเป็นด้านยาวของอาคารที่มีทางเข้า-ออกหลักขนานไปกับถนนเจริญกรุง และจัดวางอาคารส่วนหลัง (หางตัวที) ให้ตั้งฉากกับถนน ทำให้ตึกประธานวางตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เปิดรับลมตามธรรมชาติ (ลมประจำทิศเหนือ-ใต้ และตะวันตกเฉียงใต้) ได้เต็มที่ ขณะที่อาคารหลังหันด้านแคบตามแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก ทำให้ด้านกว้างรับแสงแดดน้อยที่สุด
ครุฑของอาจารย์ฝรั่ง
ประติมากรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรมแนว Art Deco ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประติมากรรมครุฑยุดแตรงอนสององค์ ประดับบนมุมยอดมุขกลางของตัวอาคาร เป็นผลงานของลูกศิษย์แผนกช่างปั้น จากโรงเรียนศิลปากร (ภายหลังคือมหาวิทยาลัยศิลปากร) ภายใต้การกำกับดูแลของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ฝรั่งชาวอิตาเลียน ผู้วางรากฐานศิลปะสมัยใหม่ของไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร
ครุฑยุดแตรงอน หรืออีกนัยหนึ่งคือสัญลักษณ์ของกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นประติมากรรมปูนปั้นลอยตัวขนาดใหญ่ประมาณ 3 เท่าของคนจริง ในท่วงท่ากางปีกอย่างมีพละกำลัง ลำตัว ลำแขนและขา แสดงถึงความกำยำล่ำสัน ถูกต้องตามลักษณะกายวิภาคของศิลปะตะวันตกที่นิยมปั้นร่างกายของบุรุษเพศให้ดูมีพละกำลัง ท่วงท่าขึงขัง น่าเกรงขาม บึกบึนด้วยกล้ามเนื้อเป็นมัดแข็งแรง อีกทั้งปราศจากลวดลายประดับตกแต่งอย่างครุฑทั่วไป เพื่อให้เข้ากับอาคารไปรษณีย์กลางที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกนั่นเอง
อีกจุดหนึ่งที่เราสามารถไปชมครุฑของอาจารย์ฝรั่งได้เช่นกัน ก็คือบริเวณประตูเหล็กขนาดใหญ่ด้านหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง เป็นงานประติมากรรมหล่อโลหะลวดลายเหล็กโปร่งประดับครุฑยุดแตรงอน ซึ่งมีด้วยกัน 3 คู่ที่มาพร้อมกับตัวอาคารตั้งแต่แรกเปิดทำการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2483
ประติมากรรมแสตมป์ยักษ์ สะท้อนเรื่องราวสี่แผ่นดิน
Bas-relief หรือ ประติมากรรมนูนต่ำ เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของงานประติมากรรมที่นิยมใช้เป็นส่วนประดับอาคารสิ่งก่อสร้างในสถาปัตยกรรมอียิปต์ กรีซ และอิตาลี แต่สำหรับสถาปัตยกรรมแนว Art Deco นั้นมีให้เห็นทั้งงานจิตรกรรม และประติมากรรม ซึ่งอย่างหลังคือทางเลือกของอาคารไปรษณีย์กลาง โดยเป็นประติมากรรมนูนต่ำรูปดวงตราไปรษณียากรขนาดใหญ่จำนวน 8 ชิ้นงาน ซึ่งล้วนเป็นผลงานของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และทีมลูกศิษย์แผนกช่างประณีตศิลปกรรมอีก 13 คน
ประติมากรรมดังกล่าวปั้นหล่อด้วยซีเมนต์ ซึ่งเป็นการสกัดตัวรูปภาพขึ้นมาให้สูงกว่าพื้นหลัง เพื่อทำให้เกิดมิติและมองเห็นได้จากหลายมุม โดยนำมาตกแต่งภายในห้องโถงของอาคารไปรษณีย์กลาง แต่ละดวงก็มีลักษณะเด่นและเรื่องราวที่แตกต่างกันไป เช่น ประติมากรรมดวงตราไปรษณียากรสมัยรัชกาลที่ 5 “ชุดวัดแจ้ง” ชนิดราคา 2 อัฐ เป็นภาพพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามและเจ้าเด็กผมจุก 2 คนกำลังอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ โดยมีที่มาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสวัดอรุณราชวราราม มีเด็ก ๆ ขึ้นจากน้ำมาถวายบังคม ภายหลังจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกถึงความทรงจำในครั้งนั้น
อีกดวงหนึ่งที่มีลักษณะโดดเด่น เป็นภาพครุฑกำลังเหินเวหา คือ ดวงตราไปรษณียากรสมัยรัชกาลที่ 6 จาก “ชุดอากาศไปรษณีย์ (ชุด ๑)” ชนิดราคา 2 สตางค์ เป็นภาพพระครุฑพ่าห์ พิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสที่กรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับรายงานจากกระทรวงกลาโหมว่า การทดลองบินรับ-ส่งไปรษณียภัณฑ์ ระหว่างกรุงเทพฯ กับจันทบุรี และนครราชสีมาได้ผลเป็นอย่างดี
ส่วนประติมากรรมภาพตราไปรษณียากรอีก 6 ดวง ได้ถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญในช่วง 4 รัชกาล อันได้แก่ ชุดโสฬศ หรือชุดแรกของสยาม ชุดพระบรมฉายาลักษณ์ ชนิดราคา 1 อัฐ และชุดพระบรมรูปทรงม้าในรัชกาลที่ 5 ชุดเวียนนา หรือชุดแรกของรัชกาลที่ 6 ชุดสมโภชพระนคร 150 ปี ในรัชกาลที่ 7 และชุดวันชาติในรัชกาลที่ 8 ยังไม่นับรวมประติมากรรมชิ้นที่ 9 ที่ภายหลังไปพบเจอในชั้นใต้ดิน ก่อนจะนำมาประดับไว้บริเวณโถงบันไดในช่วงของการปรับปรุงอาคาร ซี่งยังคงเก็บงำความลี้ลับถึงที่มาที่ไปมาจนถึงทุกวันนี้
ผลงานประติมากรรมทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้อาคารไปรษณีย์กลางได้กลายเป็นสถานที่รวบรวมผลงานด้านประติมากรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ไว้มากที่สุดแห่งหนึ่งเลยทีเดียว