ก่อนจะมาเป็น “ไปรษณีย์กลาง” เส้นทางประวัติศาสตร์สื่อสารชาติ
เมื่อพูดถึง “อาคารไปรษณีย์กลาง” แห่งบางรัก เราทุกคนอาจมีภาพจำเกี่ยวกับตึกแสนโก้โอ่อ่าแห่งนี้แตกต่างกัน บางคนอาจจดจำที่นี่ในฐานะจุดถ่ายรูปรับปริญญายอดฮิต บางคนจดจำในแง่ของการเป็นหมุดหมายหลักของงาน Bangkok Design Week ฝั่งเจริญกรุง
ไม่ว่าเราจะมีความทรงจำเกี่ยวกับอาคารแห่งนี้อย่างไร ทุกความทรงจำก็ล้วนมีส่วนสำคัญในการประกอบสร้างเรื่องราวของอาคารไปรษณีย์แห่งนี้ ตลอด 80 ปีที่ผ่านมา แต่ก่อนจะมาเป็นอาคารในภาพจำของเราแบบทุกวันนี้ สถานที่แห่งนี้ก็มีความทรงจำของตัวเอง โดยเฉพาะในวันคืนยุครุ่งเรือง ที่นี่คือหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การสื่อสารของไทย การส่งไปรษณีย์หรือแม้กระทั่งโทรเลขที่เชื่อมโยงคนจากทุกแห่งหนในประเทศไทยให้ได้ใกล้กันมากขึ้น
ไปรษณีย์เพื่อการทูตและสัมพันธไมตรี
เรื่องราวของไปรษณีย์เริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา เมื่อประเทศเจ้าอาณานิคมต่าง ๆ เริ่มแผ่อำนาจเข้าสู่ดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง รัชกาลที่ 4 ก็ได้ใช้การติดต่อสื่อสารด้วยจดหมายกับพระสหายและผู้นำประเทศทางตะวันตก ก่อเกิดสัมพันธไมตรีกับหลายประเทศ อย่างการมีพระราชสาส์นไปยังประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และการส่งราชทูตไทยไปเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการแด่จักรพรรดินโปเลียนท่ี 3 แห่งประเทศฝรั่งเศส
สำหรับผู้ที่ต้องการส่งจดหมายไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะใช้บริการของกงสุลอังกฤษ โดยมีตึกยามภายในสถานกงสุลฯบริเวณด้านฝั่งแม่น้ําเจ้าพระยาเป็นที่ทําการไปรษณีย์ ซึ่งเปิดให้บริการต้ังแต่อังกฤษจัดตั้งสถานกงสุลของตนขึ้นในกรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ. 2399 โดยส่งไปกับเรือสินค้าที่ไปยังไปรษณีย์ที่สิงคโปร์ ซี่งขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษที่เรียกว่า Straits Settlements ก่อนจะคัดแยกจดหมายเพื่อส่งต่อไปยังจุดหมายปลายทาง
นอกจากนี้แล้วยังมีบริการฝากส่งไปรษณียภัณฑ์โดยบริษัทเอกชนที่เป็นตัวแทนเรือเดินสมุทร ซึ่งมีหลายบริษัทด้วยกัน เช่น บริษัท E.Larmache, Bonneville, Markwald, Borneo เป็นต้น
หอนิเพทพิทยา ห้องแล็บไปรษณีย์แห่งสยาม
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสสิงคโปร์ และปัตตาเวีย ใน พ.ศ. 2413 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรตึกสําหรับส่งหนังสือเมล์และกิจการไปรษณีย์เป็นคร้ังแรกด้วย ต่อมาปี พ.ศ. 2418 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ และเจ้านายอีก 10 พระองค์ จึงได้ทรงร่วมกันออกหนังสือพิมพ์รายวันขึ้นเป็นภาษาไทยว่า “ข่าวราชการ” เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับแรกของคนไทย โดยมีสำนักงานอยู่ที่หอนิเพทพิทยา ในพระบรมมหาราชวัง
การออกหนังสือพิมพ์รายวันตอนนั้นนับเป็นครั้งแรกที่มีการทดลองใช้ระบบนำส่งหนังสือหรือจดหมายที่มีการเสียค่าส่งผ่าน “ตั๋วแสตมป์” ที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง สำหรับผนึกเป็นค่าฝากส่งหนังสือ COURT หรือหนังสือข่าวราชการส่งแก่สมาชิกที่บอกรับ และมีคำเรียกผู้นําส่งหนังสือว่า โปศตแมน (Postman) หรือบุรุษไปรษณีย์ในกาลต่อมา
แม้หนังสือพิมพ์รายวันข่าวราชการมีอันต้องยุติลงหลังจากนั้นไม่นาน แต่หอนิเพทพิทยาในพระบรมมหาราชวัง ก็ยังถูกบันทึกไว้ว่า เป็นห้องทดลองไปรษณีย์แห่งแรกของไทย เป็นหัวเชื้อตั้งต้นของกำเนิดกิจการไปรษณีย์สยามประเทศขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2426
ไปรสนียาคาร หมุดหมายสำคัญกิจการสื่อสารชาติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจการไปรษณีย์ที่จะเป็นส่วนสำคัญในการทำให้สยามมีความเจริญทัดเทียมประเทศตะวันตก จึงทรงตอบรับคำกราบบังคมทูลของ เจ้าหมื่นเสมอใจราช (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง ศิริวงศ์) ที่เสนอว่า สยามควรจัดตั้งกิจการไปรษณีย์ของตนเอง แล้วให้เจ้าหมื่นเสมอใจราชไปศึกษาดูงานกิจการไปรษณีย์ที่ประเทศจีนและญี่ปุ่น
เมื่อการเตรียมเปิดดําเนินกิจการไปรษณีย์มีความพร้อมแล้ว ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมไปรสนีย์ขึ้นเป็นการเปิดศักราชกิจการไปรษณีย์ของสยาม โดยมีที่ว่าการกรมฯ ตั้งอยู่ ณ ตึกใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือปากคลองโอ่งอ่าง เป็นอาคารที่สง่างามโดดเด่น
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมหลวงภาณุพันธุวงศ์วรเดช ดํารงตําแหน่งอธิบดีสําเร็จราชการกรมไปรสนีย์ และกรมโทรเลข (ซึ่งตั้งขึ้นในปีเดียวกัน) พระองค์แรก และมีประกาศเปิดการไปรษณีย์อย่างเป็นทางการขึ้นโดยใช้อาคารซึ่งเดิมเป็นของ พระปรีชากลการ (สําอาง อมาตยกุล) ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกที่นิยมในขณะนั้น เป็นสถานที่รับฝากและนําจ่ายไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพฯ และจัดให้มีร้านไปรษณีย์เพื่อจําหน่ายตราไปรษณียากร และติดตั้งตู้ทิ้งหนังสือสําหรับประชาชนด้วย
บริการโทรเลข เมื่อชาวสยามเริ่มส่งข้อความหากัน
ในช่วงแรก กิจการโทรเลขของสยามจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการส่งข่าวสารทางราชการเท่านั้น โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้สร้างทางสายโทรเลขสายแรกจากกรุงเทพมหานครไปปากน้ำ (หรือจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน) โดยวางสายเคเบิลโทรเลขใต้น้ำต่อออกไปนอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมระยะทาง 45 กิโลเมตร ก่อนที่จะขยายเส้นทางกรุงเทพฯ ถึงพระราชวังบางปะอิน และได้ขยายสายออกไปถึงกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
โทรเลขสายแรกของไทยที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2426 หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งกรมโทรเลขเพื่อรับงานต่อจากกรมกลาโหม จากนั้นได้มีการลากสายผ่านปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ ศรีโสภณ และคลองกำปงปลัก ในจังหวัดพระตะบอง (สมัยนั้นยังเป็นของสยามประเทศ) ไปเชื่อมต่อกับสายโทรเลขอินโดจีน ไซง่อน พร้อมเปิดให้บริการแก่ประชาชนชาวสยามเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2426
จากกรมไปรษณีย์โทรเลข สู่ไปรษณีย์โทรเลขกลาง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2441 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และการให้บริการแก่ประชาชน จึงมีการรวมกรมไปรสนีย์ กับกรมโทรเลขเข้าด้วยกันเป็น กรมไปรสนีย์แลโทรเลข (ชื่อก่อนเปลี่ยนมาเป็น กรมไปรษณีย์โทรเลขในรัชกาลที่ 6)
ในช่วงที่นายพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกําแพงเพชรอัครโยธิน ดํารงตําแหน่งเสนาบดี กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ได้มีพระดําริถึงความสําคัญของการเลือกทําเลที่ตั้งของที่ทําการไปรษณีย์โทรเลขว่า ควรอยู่ในที่ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยควรจะอยู่ในย่านธุรกิจการค้า มากกว่าที่จะคํานึงถึงความสะดวกของทางราชการ ทรงพิจารณาเห็นว่า ที่ตั้งของกรมไปรษณีย์โทรเลขอยู่บริเวณเดียวกับที่ทําการไปรษณีย์โทรเลขที่ 1 ณ ตึกไปรสนียคาร ปากคลองโอ่งอ่างนั้นคับแคบมาก และอยู่ในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์ และสะพานพระพุทธยอดฟ้า ทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่ได้
ในปี พ.ศ. 2468 จึงโปรดให้ย้ายที่ว่าการกรมไปรษณีย์โทรเลขมารวมกับที่ทําการไปรษณีย์โทรเลขที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ ณ อาคารศุลกสถาน โดยใช้พื้นที่เดิมของสถานทูตอังกฤษ ซึ่งได้ย้ายไปยังที่ตั้งใหม่ ณ ถนนเพลินจิต ทั้งนี้รัฐบาลอังกฤษได้ขายพื้นที่ดังกล่าวให้แก่ พระภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เมื่อ พ.ศ. 2465 ซึ่งได้ขายต่อให้แก่บริษัท แบงก์สยามกัมมาจลทุน จํากัด ก่อนจะยกให้แก่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติในปีเดียวกัน ที่ว่าการแห่งใหม่ใช้ชื่อว่า “สํานักงานไปรษณีย์โทรเลขกลาง” (General Post and Telegraph Office) ต่อมา ใน พ.ศ. 2473 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ที่ทําการไปรษณีย์กลาง” (General Post Office: GPO) โดยยังคงใช้อาคารสถานที่ของสถานทูตอังกฤษเก่าเป็นสํานักงาน
อาคารไปรษณีย์กลาง ปฐมบทศูนย์รวมสื่อสารทันสมัย
ไปรษณีย์กลาง นับเป็นที่ทําการสําคัญที่ทุกประเทศจะต้องมี เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เพราะเป็นศูนย์กลางรับฝากไปรษณียภัณฑ์ทุกประเภทที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้น ๆ ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วล้วนให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์ของที่ทำการไปรษณีย์กลาง โดยเฉพาะในแง่สถาปัตยกรรมที่จะมีต้องมีความโอ่อ่าสง่างาม เชิดหน้าชูตา เมื่อเริ่มย้ายสำนักงานไปรษณีย์โทรเลขมาไว้ที่ตึกสถานทูตอังกฤษเก่า จึงเริ่มมีแนวคิดสร้างอาคารใหม่ที่สวยงามและยิ่งใหญ่กว่าขึ้นมาแทนในบริเวณพื้นที่เดิม
ล่วงถึง พ.ศ. 2478 ได้มีการอนุมัติโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ของกรมไปรษณีย์โทรเลข และที่ทําการไปรษณีย์กลาง ซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกัน โดยใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปีเศษ และเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 “ที่ทำการไปรษณีย์กลาง” จึงได้เปิดทำการเป็นครั้งแรก
จากวันนั้นถึงวันนี้...กว่า 80 ปีที่อาคารไปรษณีย์กลางได้ก้าวผ่านมาหลายบทบาทหน้าที่ จากจุดเริ่มต้นของการเป็นศูนย์รวมระบบสื่อสารของประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันยังคงยืนตระหง่านในฐานะอาคารประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต มีเรื่องราวมากมายให้ค้นหาและเรียนรู้
GroundControl ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ชวนคุณไปรู้จักอาคารไปรษณีย์กลางในรูปแบบ Virtual Exhibition ร่วมกับไกด์ 'นักรบ มูลมานัส' ศิลปินคอลลาจนักสะสมแสตมป์ และเพจ ‘พื้นที่ให้เล่า’ เปิดประสบการณ์การเที่ยวรูปแบบใหม่ ให้เราได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด พร้อมเรื่องราวและเรื่องเล่าที่คุณอาจยังไม่เคยรู้