พาทัวร์บ้าน Monet ที่ Giverny ผืนผ้าใบขนาดใหญ่ที่แต่งแต้มด้วยสีสันของชีวิต
Giverny เมืองเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ Seine ในแคว้น Normandy ของประเทศฝรั่งเศส ขึ้นชื่อในเรื่องของธรรมชาติที่ห่อหุ้มให้แสงสีของเมืองแลดูละมุนในทุกฤดูกาล บ้านสวนขนาดใหญ่สีสันสดใสที่ตัดกับสีของดอกไม้ใบหญ้าหลากพันธุ์ที่ส่งกลิ่นหอมฟุ้งทั่วพื้นที่ แค่มองจากภายนอกก็รับรู้ได้ว่าบ้านหลังนี้มีเสน่ห์ที่ไม่เหมือนบ้านทั่วไป เพราะที่นี่..คือบ้านของ โคลด โมเนต์ (Claude Monet) พ่อแห่งลัทธิประทับใจนั่นเอง
Giverny คือรักแรกพบของ โคลด โมเนต์ เลยก็ว่าได้ เขาตกหลุมรักที่นี่ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มองผ่านระหว่างทางนั่งรถไฟ และตั้งใจว่าจะต้องลงหลักปักฐานย้ายครอบครัวมาอยู่ที่แห่งนี้ ที่ซึ่งเขาจะสามารถแต่งแต้มสีสันลงผืนดินด้วยดอกไม้นานาชนิดตามพาเลตต์สีและแสงได้ตามใจชอบ ความประทับใจของโมเนต์ต่อบ้านสวนที่รักนี้ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านฝีแปลงอันโดดเด่นของเขา จนเกิดเป็นภาพวาดธรรมชาติสีสันมากมายสู่สายตาผู้ชื่นชอบงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลก เรียกว่าภาพของเขาคือหนึ่งในงานศิลปะที่เป็นไอคอนของยุคเลยก็ว่าได้
โมเนต์ตั้งใจเนรมิตพื้นที่แห่ง Giverny เพื่อสร้างงานศิลปะโดยเฉพาะ และเรื่องราวในภาพวาดของเขาจำนวนมากก็ได้เกิดขึ้นในที่แห่งนี้่เช่นกัน จนกลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูด Art Lovers จากทั่วโลกมากถึง 5 แสนคนต่อปี
หลังจากที่เราพาทุกคนทัวร์บ้านสวนสุดสะดุดตาของ โคลด โมเนต์ ใน Self-Quarantour ตอน Monet’s Giverny กันไปแล้ว GroundControl ขอพาทุกคนกลับมาสูดกลิ่นอายของธรรมชาติให้เต็มปอด เติมความอิ่มอกอิ่มใจในบ้านของเขา ที่ซึ่งรวบรวมพาเลตต์แสนละมุนอย่างกับอยู่ในความฝันกันอีกครั้ง พร้อมเก็บตกเรื่องราวในห้องต่าง ๆ ของบ้านหลังนี้ที่สะท้อนเส้นทางชีวิตของโมเนต์ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกไม้ดั่งภาพวาดของเขา
‘Le Salon-Atelier’ - The Salon Studio
ทะลุประตูหลักแล้วเลี้ยวซ้าย ห้องรับแขกส่วนตัวของโมเนต์ห้องนี้เต็มไปด้วยผลงานศิลปะมากมาย และยังทำหน้าที่เป็นหนึ่งในสตูดิโอการวาดภาพของโมเนต์อีกด้วย ในอดีตนั้นห้อง Salon นี้ (ไม่ได้หมายความว่าห้องทำผมนะ!) เคยเป็นที่รวบรวมผลงานของโมเนต์ที่เพื่อน ๆ หรือเหล่าลูกค้าคนใกล้ชิด จะสามารถเข้ามาดูและเลือกสรรงานที่ตัวเองชื่นชอบ หรือหากไม่มีมิตรสหายมาเยี่ยม ตัวโมเนต์เองก็มักจะใช้เวลาในห้องนี้ปลีกวิเวกทำการวาดภาพเก็บรายละเอียดจากที่บันทึกมาจากข้างนอกให้เรียบร้อย
แต่ที่เห็นภาพเยอะขนาดนี้ ทุกวันนี้มันไม่ใช่ของจริงนะจ๊ะแต่เป็นภาพจำลองแบบก๊อปเกรดเอมาเพื่อสร้างบรรยากาศที่ใกล้เคียงกับในอดีตสมัยโมเนต์ ส่วนภาพจริงกว่า 2500 ภาพนั้นก็ได้ถูกกระจายตัวไปพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก
ซึ่งห้องนี้ก็สะท้อนการเจริญเติบโตของโมเนต์ได้เป็นอย่างดี ที่ถึงแม้ว่าหากเราดูภาพวาดและพาเลตต์สีของโมเนต์ อาจจะดูสดใสและมีลายเซ็นที่ชัดเจนเป็นเอกลักษณ์ แต่ตัวเขาเองก็เคยตกอยู่ในความสับสน และล้มลุกคลุกคลานเพื่อความฝันที่จะเป็นศิลปินเช่นกัน
โมเนต์เริ่มฉายแววความเป็นอัจฉริยะด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แต่จุดเปลี่ยนจริง ๆ คือหลังจากที่เขาในวัย 17 ปี ได้เจอกับ Eugene Boudin ศิลปินวาดภาพภูมิทัศน์ ที่ส่องทางให้เขาได้วิชาการจับแสงเงาและโทนสีภาพ ของวิวทิวทัศร์ธรรมชาติ จุดประกายให้โมเนต์วัยหนุ่มเริ่มวาดภาพกลางแจ้ง และหลงใหลในธรรมชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทว่างานแบบที่เขาชอบวาด กลับไม่ตรงกับแบบที่เหล่าอะคาเดมีต้องการ โมเนต์จึงจำใจต้องเปลี่ยนแนวทางมาวาดภาพตามค่านิยมทางศิลปะของคนในสังคมยุคนั้น เพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับ เขาวาดภาพเทพกรีกบ้าง วาดภาพตามแบบศิลปินดังในอดีตบ้าง แต่ถึงแม้ว่าโมเนต์จะฝืนเปลี่ยนตัวเองขนาดนี้ เขาก็ยังไม่ได้รับการยอมรับอยู่ดี
และโมเนต์ในวัย 28 ปี ที่แบกรับทั้งความฝันของตัวเองและภาระครอบครัว ตัดสินใจปลิดชีพด้วยการกระโดดแม่น้ำ Seine..
ทว่า.. เมื่อร่างกายได้ปะทะกับแม่น้ำ Seine ก็กลับทำให้โมเนต์หลุดจากภวังค์ความผิดหวัง และจุดประกายเป้าหมายใหม่ ให้เขาเริ่มต้นสร้างสรรค์งานศิลปะในแบบของตัวเอง และในที่สุดก็ได้เบนเข็มทิศชีวิตพบกับเพื่อนร่วมแนวคิดมากมายอย่าง Pierre-Auguste Renoir, Camille Pissarro, Paul Cézanne และ Edgar Degas เกิดเป็นกลุ่มศิลปินหัวสมัยใหม่ที่มาพร้อมความตั้งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงกฎและข้อจำกัดของศิลปะแบบดั้งเดิม
และการรวมตัวของเหล่าศิลปินไฟแรงครั้งนี้ ก็ได้ทำให้เกิดการแสดงงานศิลปะกลุ่มครั้งสำคัญระดับประวัติศาสตร์ The Anonymous Society of Artists, Painters, Sculptors, Engravers, etc. เพื่อแสดงจุดยืนสร้างความแตกต่างจากศิลปะแบบอะคาเดมีที่มีกฏเกณฑ์แน่นหนารัดตัวไปหมด ที่งานนี้เองที่โมเนต์ได้จัดแสดงภาพ ‘Impression, Sunrise’ สร้างความฮือฮากลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์ของเหล่าผู้ชมและนักวิจารณ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคำวิจารณ์ของ Louis Leroy ที่พูดเหน็บแนมภาพกับชื่อภาพ โมเนต์และผองเพื่อนก็ตอบโต้สุขุมแต่เฉียบสุด ๆ ด้วยการใช้ชื่อ ‘ความประทับใจ’ (Impressionism) เป็นชื่อเรียกลัทธิทางศิลปะรูปแบบใหม่ของพวกเขาซะเลย ในเมื่อภาพเหล่านี้ก็คือการบันทึกความประทับใจในแบบของแต่ละคนจริง ๆ ซะด้วย
ในช่วงแรก ภาพวาดแนวใหม่แบบ Impressionism อาจจะไม่ถูกจริตสายอาร์ตซักเท่าไหร่ ทำให้ศิลปินหลากหลายคนรวมไปถึงโมเนต์ก็อยู่ในภาวะลำบากยากเข็ญ แต่ก็เริ่มได้รับเสียงตอนรับที่ดีขึ้นจากภาพวาดสถานีรถไฟ Saint-Lazare (The Gare Saint-Lazare: Arrival of a Train) เพราะภาพชิ้นนี้คือเปรียบเหมือนตัวแทนของการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนสังคมยุโรปไปตลอดกาล งานของเขาเตะตากลุ่มคนชนชั้นกลางเข้าอย่างจัง จากเรื่องราวในภาพวาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของคนทั่ว ๆ ไป ทำให้โมเนต์เริ่มเป็นที่ยอมรับจากนั้นเป็นต้นมา และยังได้รับแรงสนับสนุนจาก Paul Durand-Ruel นักสะสมศิลปะชื่อดังและองค์อุปถัมป์แห่งวงการ Impressionism ผู้ซึ่งนำผลงานของเขาข้ามน้ำข้ามทะเลสู่สายตาตลาดชาวอเมริกานั่นเอง
‘La chambre du peintre’ - Monet’s Bedroom
ห้องสีชมพูอ่อน ตัดกับเฟอร์นิเจอร์สีขาวละมุนและสีโทนเหลือง นี่คือห้องนอนของชายผู้เปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ห้องนอนของโมเนต์เต็มไปด้วยภาพวาดมากมาย แต่ภาพเหล่านั้นไม่ได้เป็นของเขาเอง หากเป็นภาพผลงานของเหล่าเพื่อนศิลปินที่เขารัก และวิวจากหน้าต่างนี้ก็สวยงามไม่แพ้กับในบ้าน เพราะเพียงมองออกไป ก็จะเจอกับวิวสวนดอกไม้ที่เขาตั้งใจปลูกอย่างพิถีพิถัน โดยในทุก ๆ วันโมเนต์จะตื่นเวลาประมาณตีสี่ครึ่ง เพื่อดูวี่แววของอากาศประจำวัน หากวันนั้นมีแดดก็จะได้ออกไปวาดรูปข้างนอก แต่ถ้าฟ้าหม่นแพลนวาดรูปก็ต้องพับไป
ความสนิทสนมของโมเนต์และเพื่อน ก่อตัวขึ้นผ่านเวลาและสิ่งที่พวกเขาเผชิญมาด้วยกัน เขามีวันนี้ได้เพราะได้รับโอกาสที่ดีจากเพื่อนมากมาย พูดได้ว่า เพื่อนคือหนึ่งในส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้โมเนต์กลับมาทำงานในแบบที่ตัวเองรักครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นหนึ่งในศิลปินที่มีชื่อเสียงมากที่สุดตลอดกาล แม้ในช่วงที่โมเนต์ลำบาก งานของเขาไม่เป็นที่สนใจเท่าคนอื่น เพื่อนอย่าง Manet ถึงกลับแกล้งปลอมตัวเพื่อซื้อภาพของเขาถึง 20 ภาพ เพื่อให้โมเนต์มีกำลังใจมากขึ้น นี่เป็นเหตุผลที่โมเนต์สนับสนุนงานหลายชิ้นของเพื่อนศิลปินเช่นเดียวกัน ทำให้ห้องของโมเนต์เต็มไปด้วยผลงานศิลปะมากมาย
และการที่โมเนต์นำภาพวาดเหล่านี้มารวมไว้ในห้องนอน เหมือนเป็นแกลเลอรี่ขนาดย่อมที่ส่วนตัวที่สุด ยิ่งย้ำให้เห็นว่าโมเนต์ให้ความสำคัญกับเพื่อนเป็นอันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ทุกเช้าที่โมเนต์ตื่นมา สิ่งที่เขาเห็นเป็นอันดับแรกก็คือ ผลงานศิลปะของเพื่อนศิลปินนั่นเอง
‘Le chambre d’Alice’ - Alice’s Bedroom
ความโดดเด่นในบ้านของโมเนต์คือสีสันของห้องที่ไม่ซ้ำกันเลยแม้แต่ห้องเดียว อย่างห้องของ Alice Hoschede ซึ่งเป็นภรรยาคนที่ 2 ของเขานี้ ถูกทาผนังด้วยสีเขียวพาสเทล ตัดกับประตูและหน้าต่างสีฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ไม้ภายในห้องได้อย่างลงตัว
ปัจจุบันรอบ ๆ ห้องนี้ถูกประดับด้วยภาพพิมพ์ญี่ปุ่นที่โมเนต์เก็บสะสมไว้อยู่จำนวนมาก มีภาพพ่อแม่แท้ ๆ ของโมเนต์ และรูปของอลิสในวันที่พวกเขาได้แต่งงานกัน
หากภาพวาดของโมเนต์เปรียบเป็นสีหวานซึ้งแบบพาสเทล เรื่องราวชีวิตรักของเขาก็คงจะแต่งแต้มด้วยสีเข้มปนเทา สะท้อนถึงความหวานขม ที่คั่นกลางด้วยรักแท้ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับมา
ในชีวิตของโมเนต์นั้นเขาแต่งงานทั้งหมด 2 ครั้งด้วยกัน และคนที่มาอยู่กับเขาที่ Giverny ก็คืออลิส ภรรยาคนที่สองของเขา ที่มีจุดเริ่มต้นจากความรักสุดซับซ้อนเกิดขึ้น เมื่อ Ernest Hoschedé สามีสุดร่ำรวยของอลิสเป็นหนึ่งในลูกค้าคนสำคัญของโมเนต์ และในวันที่เออร์เนสต์ต้องพบกับปัญหาการเงินครั้งใหญ่ โมเนต์ก็ได้ออกปากชวนครอบครัวของเออร์เนสต์มาอยู่ด้วนกันในบ้านชนบท แต่ด้วยความที่เออร์เนสต์มีความหลงรักในชีวิตเมืองเสียมากกว่า ทำให้หลาย ๆ ครั้งก็ต้องทิ้งให้ภรรยาและลูกอยู่กับครอบครัวของโมเนต์
หลังจาก Camille Monet ภรรยาคนแรกของโมเนต์เสียชีวิต อลิสก็เข้ามาดูแลลูกทั้งสองของโมเนต์ จากความใกล้ชิดนี้ก็เกิดเป็นความเม้าท์มอยว่าแสงสปาร์คได้เกิดขึ้นระหว่างอลิสและโมเนต์ จนหนังสือพิมพ์เรียกอลิซว่าเป็นภรรยาของโมเนต์แม้จะยังแต่งงานกับเออร์เนตส์อยู่ก็ตาม และหลังจากที่เออร์เนสต์เสียชีวิตลง อลิสก็แต่งงานกับโมเนต์จริง
เรื่องราวความรักซับซ้อนก็น่าจะจบลงตรงนี้ แต่ถึงแม้ในวันที่กามีร์จะเสียชีวิตไปแล้ว และโมเนต์กับอลิสก็มีสถานะเป็นสามี-ภรรยาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ภวังค์ของความซึมเศร้าจากความคิดถึงภรรยาเก่าที่จากไป เขายังคงวาดภาพกามีร์ด้วยความคิดถึงอยู่เสมอ ทำให้อลิสเกิดความหึงโมเนต์อย่างหนัก ขนาดที่ทำลายภาพถ่ายและจดหมายทั้งหมดที่กามีร์เคยเขียนถึงโมเนต์เลยทีเดียว
แต่ต่อให้ไร้ภาพถ่ายหรือจดหมายลายลักษณ์อักษรก็ไม่อาจลบความรู้สึกที่เขามีต่อกามีร์ได้ การจากไปของคนที่สำคัญที่สุดในชีวิต สร้างบาดแผลใหญ่ให้กับโมเนต์จนอาจพูดได้ว่า สิ่งที่พวกเขาเผชิญมาด้วยกันตลอดช่วงที่กามีร์ยังมีชีวิตอยู่ มีความหมายและกลายเป็นการผูกพันอย่างแน่นแฟ้น เพราะพวกเขาอยู่ด้วยกันในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด และฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ มาจนถึงวันที่โมเนต์ประสบความสำเร็จ โมเนต์ยังคงวาดภาพตามทางของตัวเอง แต่ภาพผู้หญิงที่เขาวาดในวันที่กามีร์จากไป ล้วนแต่มีใบหน้าที่เลือนราง และในช่วงหลังของโมเนต์ เขาก็หันไปวาดภาพทิวทัศน์ เก็บเกี่ยวความประทับใจที่เขามีต่อธรรมชาติรอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่สร้างความสุขให้เขาในทุกวัน
‘Le chambre de Blanche’ - Blanche’s Bedroom
ห้องนอนแสนน่ารักไม่แพ้ห้องอื่น ๆ ถูกประดับด้วยวอลเปเปอร์ลายดอกไม้หวานแหวว ตัดกับเตียงสีเหลือง ประตูสีฟ้า หน้าต่างสีชมพู และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ภายในมีรูปวาดของเด็กหญิงคนหนึ่ง และมีภาพถ่ายของโมเนต์อยู่ในห้องด้วย ห้องนี่คือห้องของ Blanche Hoschede-Monet ลูกเลี้ยงของโมเนต์ (ลูกติดของอลิส) ที่กลายมาเป็นลูกสะใภ้ของเขาในเวลาถัดมาอีกด้วย
แล้วทำไมกันนะ.. เธอคนนี้จากลูกทั้งหมดแปดคน ถึงมีห้องที่เป็นของตัวเอง?
ถึงแม้ว่าบลองช์จะเป็นลูกติดจากอลิส แต่เธอกับโมเนต์ก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันอย่างมาก เธอเป็นลูกเพียงคนเดียวที่ให้ความสนใจในศิลปะที่แทบจะถอดแบบจากโมเนต์ ทำให้บลองช์เป็นลูกศิษย์และครองตำแหน่งลูกมือติดตามโมเนต์ไปทุกที่อยู่เสมอ ในชีวิตแห่งการเป็นศิลปินของเธอ เราจะเห็นได้ว่าภาพวาดของเธอได้รับแรงบันดาลใจจากโมเนต์อย่างปฏิเสธไม่ได้ และมักจะมีมุมหรือวาด subject คล้าย ๆ กับโมเนต์ เพราะพวกเขานั้นมักจะออกไปวาดภาพด้วยกัน
และนอกจากนี้ บลองช์ยังแต่งงานกับลูกชายคนโตของโมเนต์ Jean Monet พ่วงสถานะเป็นลูกสะใภ้ในเวลาเดียวกัน ในช่วงบั้นปลายขีวิตของโมเนต์นั้น ก็ได้บลองช์คนนี้นี่แหละมาดูแลเขาและบ้านหลังนี้ในยามป่วยจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตโมเนต์
‘La salle a manger’ - Dining Room
โมเนต์ทาสีห้องทานอาหารของเขาด้วยโทนสีเหลืองสดใสตัดกับกรอบรูปสีดำและแจกันสีเขียว ต่างจากห้องทานอาหารในสมัยนั้นที่มักใช้โทนสีมืดทึบ (ถ้าเทียบกับสมัยนี้แล้ว เรียกได้ว่าห้องกินข้าวของเขาแทบจะเหมือนภาพที่หลุดออกมาจาก Pinterest เลยก็ว่าได้) ในสมัยยุครุ่งเรือง ห้องนี้คงเต็มไปด้วยเสียงของผู้คนอย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นจากครอบครัวของเขาที่รวมกับลูก ๆ ทั้งหมดก็จะประมาณ 12 คน หรือจะเป็นเหล่าเพื่อนฝูงที่แวะมาเยี่ยมเยียนอย่างไม่ขาดสาย โมเนต์เป็นคนที่เข้มงวดกับตารางชีวิตมาก ๆ เมื่อตื่นยามเช้าก็ต้องมาทานอาหารเช้า แว๊บออกไปทำงาน ก่อนจะกลับมาตอน 11.30น. เป๊ะ ๆ เพื่อมื้อเที่ยง หายไปทำงานอีกหน่อย แล้วปิดท้ายวันด้วยมื้อเย็นตอน 19.00น.
แต่นอกเหนือจากสีสันสะดุดตาแล้ว บนผนังยังประดับไปด้วยคอลเลกชันภาพพิมพ์ญี่ปุ่น (Japanese Wood Print) ที่เขาเก็บสะสมไว้เป็นจำนวนมาก
สำหรับชาวยุโรปแล้ว ศิลปะแบบญี่ปุ่นในยุคนั้นเรียกได้ว่าเป็นของแปลกใหม่ ในช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นปิดประเทศนานกว่า 200 ปีจากภาวะสงคราม ส่งผลอย่างมากในการพัฒนาเทคนิคทางศิลปะหลายแขนงจนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นภาพพิมพ์ไม้ ระบำคาบูกิ หรือแม้แต่กีฬาซูโม่ ทำให้เมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศอีกครั้ง สิ่งที่พวกเขาสั่งสมมา จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ฝั่งตะวันตกเป็นอย่างมาก
โมเนต์สนใจภาพพิมพ์ญี่ปุ่นจากการที่เขาพบกระดาษรูปภาพพิมพ์จากตอนที่เขาไปอัมสเตอร์ดัม และเมื่อกลับมาฝรั่งเศส เขาก็เริ่มสะสมภาพพิมพ์ญี่ปุ่นอย่างจริงจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาไม่เพียงแค่เก็บภาพพิมพ์ไว้เป็นคอลเลกชันส่วนตัวเท่านั้น แต่ยังศึกษาโทนสีและวิธีการจัดวางองค์ประกอบภาพ รวมไปถึงปรัชญาตะวันออก ซึ่งกลายมาเป็นแนวคิดหลักในงานของเขา นั่นคือการพาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ แล้วนำเสนอภาพธรรมชาติที่มองเห็นด้วยความรู้สึกส่วนตัว จนเกิดเป็นการนำเสนอ ‘ความประทับใจ’ ส่วนตัวในงานศิลปะของเขา
‘La Cuisine’ - Kitchen
เพียงหนึ่งก้าวออกจากห้องทานข้าว คุณก็จะพบกับอีกห้องที่มีโทนสีตัดกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนว๊าปสู่คนละโลก ห้องครัวแห่งนี้มีเอกลักษณ์แบบหนึ่งเดียวในโลก ด้วยโทนสีฟ้าที่คั่นด้วยกระเบื้องขาวน้ำเงินจากเมือง Rouen ตัดกันอย่างสิ้นเชิงจากห้องทานข้าว แต่สวยงามอย่างลงตัว เหมือนกับเป็นโลกที่หลุดมาจากสีพาเลตต์ของโมเนต์
โมเนต์อาจจะเคยบอกใครต่อใครว่าชีวิตนี้เขาเก่งอยู่เพียงแค่การวาดภาพและปลูกต้นไม้ แต่ความจริงแล้วหน้าที่เจ้าบ้านต้อนรับแขกเหรื่อเขาก็ทำได้ดีอย่างไม่มีตกหล่น ทุกการมาเยือนของแขกบ้านจะอบอวลไปด้วยอาหารหลากรส ที่เขาเองก็มีส่วนร่วมในการรังสรรค์ร่วมกับพ่อครัว ด้วยสารพัดเมนูท้องถิ่นแบบฟิวชั่น และวัตถุดิบออแกนิคที่มาจากสวนของเขาเอง การันตีความสดใหม่เคล้าไซเดอร์ชวนให้กรึ่ม ๆ ตลอดมื้ออาหาร
Clos Normand - Garden
สวนดอกไม้แห่งนี้เรียกได้ว่าเป็นผลงานศิลปะชิ้นสำคัญที่สุดในชีวิตของโมเนต์ ทีนี่เปรียบเหมือนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ ที่ศิลปินอย่างเขาจะแต่งแต้มได้อย่างใจ ในวันที่เขาได้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ เขาตั้งใจที่จะเนรมิตให้หน้าบ้านกลายเป็นสวนอันงดงามที่สุดดั่งใจฝัน มีซุ้มดอกไม้ขนาดใหญ่ทอดเป็นทางเดินต้อนรับผู้มาเยือน ประดับไปด้วยต้นไม้ดอกไม้นานาชนิดที่จะเปลี่ยนไปในแต่ละฤดูกาล เพื่อที่เขาจะได้ดื่มด่ำและรังสรรค์ผลงานศิลปะได้ในทุกวันทุกเวลา
สวน Clos Normand โมเนต์ถูกออกแบบมาต่างจากธรรมเนียมสวนของฝรั่งเศสที่มักจะเป็นเส้นตรง แต่เป็นการจัดสวนแบบอังกฤษ ที่มีความสะเปะสะปะไม่เป็นทางการ แต่ในความไม่เป็นทางการนี้ ก็ถูกออกแบบมาอย่างสวยงามราวกับสวนในเทพนิยาย
โมเนต์ออกแบบสวนของเขาอย่างประณีตเหมือนที่เขาวาดภาพอย่างวิจิตรบรรจง ทุกส่วนผสมที่เขาเลือก เขาคิดอย่างละเอียดในทุกขั้นตอนถึงขั้นว่าต้องเขียนกำชับกับคนสวนไว้เสมอว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง วันไหนต้องปลูกอะไร
และการดูแลสวนแห่งนี้ ก็ทำให้เกิดกิจกรรมครอบครัวที่ทุกคนในครอบครัวโมเนต์ได้ใช้เวลาร่วมกัน โดยโมเนต์เคยเล่าไว้ว่า ตัวเขานั้นก็ปลูกและพรวนดิน ส่วนลูก ๆ ทั้งสิบก็มีหน้าที่รดน้ำ และยังรวมไปถึงการออกไปนอนข้างในเรือนกระจก เพื่อช่วยกันดูอุณหภูมิภายในระหว่างยามค่ำคืนอีกด้วย
‘Le jardin d’eau’ - Water Lilies Garden
จากสวนดอกไม้บริเวณบ้าน โมเนต์ขยายแคสวาสของเขาด้วยการซื้อที่อีกฝั่งหนึ่งของลำธาร สานฝันความรักศิลปะญี่ปุ่นด้วยการสร้างสระบัวและสะพานไม้แบบญี่ปุ่น ช่วยขับเน้นให้สระบัวของเขาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ โมเนต์ยังได้นำเข้าสายพันธุ์ดอกบัวจากทั่วทุกมุมโลก เป็นจุดเริ่มต้นของชุดภาพที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุด อย่าง Water Lilies Series ที่ท่วมท้นไปด้วยความประทับใจของเขาถึงขั้นที่เขาวาดภาพดอกบัวที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาและทางแสงซ้ำไปมามากกว่า 250 ภาพ
เห็นจำนวนขนาดนี้ก็คงพอเดาได้ว่าที่แห่งนี้นั้นมีคุณค่าทางจิตใจให้กับโมเนต์มากแค่ไหน
แต่กว่าจะมาเป็นสระบัวสวยงามอย่างทุกวันนี้ โมเนต์ก็เจอสารพัดภารกิจงบงอกและดราม่าเพื่อนบ้าน เมื่อโมเนต์คัดเลือกดอกบัวซึ่งไม่ได้เป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น ทำให้เกิดการตื่นตระหนกต่อเพื่อนบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะกลัวพืชพันธุ์ดอกไม้ที่โมเนต์เอามาจะทำให้ระบบนิเวศในท้องถิ่นเสียหาย แต่โมเนต์จัดแจงเขียนจดหมายชี้แจงจุดประสงค์ของเขาให้เทศบาล จนได้รับอนุญาตให้ปลูกในที่สุด
ไม่พอแค่นั้น สระบัวขนาดใหญ่ของโมเนต์จำเป็นจะต้องมีน้ำมาก เขาเลยต้องลักลอบขุดเอาน้ำจากแม่น้ำเข้ามาที่บ่อบัว เกิดเป็นเรื่องตีกับเพื่อนบ้านขึ้นอีกครั้ง แต่ด้วยเส้นสายความใกล้ชิดกับ George Clemenceau ว่าที่นายกรัฐมนตรีของฝรั่งเศส จึงทำให้มีการไกล่เกลี่ยระหว่างสองฝ่าย และคลี่คลายไปในทางที่ดี
โมเนต์ได้รวมพันธุ์ดอกบัวจากทั้งอเมริกาใต้ และอียิปต์ เกิดเป็นอีกหนึ่งพาเลตต์สีหลากหลาย ไม่ว่าจะ เหลือง ขาว หรือชมพู ตัดกับพื้นน้ำอย่างสวยงาม แต่กว่าจะสวยกริบขนาดนี้ โมเนต์ก็ต้องสั่งให้คนสวนเอาสายบัวใส่กระถาง 30 ลิตรไปวางที่ก้นสระ และต้องคอยตัดวัชพืชทิ้ง คอยช้อนใบไม้แห้ง ไล่สัตว์น้ำที่จะมากินบัว หรือแม้กระทั้งเช็ดฝุ่นบนใบบัว ไม่ให้บัวสุดที่รักของเขาต้องหมองหม่น
ความประทับใจของโมเนต์ที่มีต่อสระบัวแห่งนี้ท้วมท้นตลอดระยะเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ แม้แต่ช่วงท้ายของชีวิตที่เขามีปัญหาด้านการมองเห็น เขาก็ยังคงตั้งใจเก็บกลิ่นอายของดอกบัวที่คุ้นเคยลงบนผืนผ้าใบ ตอกย้ำว่าบ้านสวนของเขาใน Giverny แห่งนี้เปรียบเหมือนชีวิตจิตใจของเขา
ตามดูรีรัน Self-Quarantour ตอน Monet’s Givernyได้ที่นี่
หรือถ้าใครอยากเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศบ้านสวนเหมือนได้ตามรอยโมเนต์ทุกฝีก้าว ก็สามารถเข้าไปได้ที่นี่