Street คืออะไร? ทำไมต้อง Street? สรุปเรื่องราวในโลก Street Culture ตาม Timeline
จบลงไปแล้วสำหรับทริปเดินทอดน่องส่อง Street Culture ทั่วโลก โดยคณะทัวร์ Self-Quarentour ที่ไปส่องกันครบทุกแง่มุมในโลก Street Culture ทั้งเป็นประวัติศาสตร์ ศิลปะ ไปจนถึงงานแฟชั่นแสนเก๋ แต่บอกตามตรงว่าทัวร์ครั้งนี้เขาเดินกันยาว เดินกันหนัก จนบางจุด ลูกทัวร์อย่างเราก็เดินตามไม่ทัน หันมาอีกที อ้าว คุณพี่ไปประเทศไหนกันแล้วค้าาา
เพราะรู้ว่าอาจมีคนที่ตกขบวนลูกทัวร์เหมือนกัน วันนี้เราจึงขอแชร์เลคเชอร์ที่ได้จากวิชา Street Culture 101 ให้ลูกทัวร์ทุกคนได้มาเก็บตกเรื่องราวและไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้นในโลกของประวัติศาสตร์ศิลปะริมถนนโลกนี้กัน ไปดูกันเลย!
ที่ต้อง Street.. ก็เพราะมาจาก Street น่ะสิ
Street แปลตรง ๆ ตัวก็คือ ถนน นั่นล่ะ
เดี๋ยวๆ นั่นไม่ได้กวนจริงๆ นะ แต่สาเหตุที่เน้นคำว่า Street ก็เพราะต้นกำเนิดของวัฒนธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกของ Street Culture นั้นมาจากการปะทะสังสรรค์ของกลุ่มคนหลากชนชั้น หลายเชื้อชาติ ที่ต้องใช้พื้นที่ของถนนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การค้าขาย การขนส่ง การเดินทาง
โดยสตรีทที่เป็นต้นธารของความสตรีทที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ ก็มาจากถนนในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งจะให้จิ้มลงไปชัด ๆ ก็คือย่าน Bronx ในนิวยอร์กนั่นล่ะ เนื่องจาก Bronx นั้นเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นจากการที่มีคนจากหลากหลายชนชาติมาอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่เป็นคนผิวสีต่าง เช่น คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน คนละตินอเมริกา หรือคนชนชาติยุโรปนำไปสู่การเกิดรูปแบบศิลปะวัฒนธรรมใหม่แห่งยุค ไม่ว่าจะเป็นดนตรี Hip Hop, เพลง Rap, การเต้น Break Dance หรือศิลปะกราฟิตี
จุดเริ่มต้นของ Graffiti ย้อนกลับไปเป็นพันๆ ปี !
เราอาจจะคุ้นตา Graffiti ที่เป็นศิลปะการพ่นลวดลายบนกำแพงที่มาที่ไปจากวัฒนธรรมของกลุ่มคนชายขอบที่ใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนนในอเมริกา แต่ที่จริงแล้วการ Graffiti เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว โดยรากศัพท์ของ Graffiti มาจากคำภาษากรีก Graphein ที่แปลว่า การเขียน ในสมัยนู้นการเขียน Graffiti ก็คือการขูดขีดรูปวาด หรือการเขียนถ้อยคำต่าง ๆ ลงบนกำแพง เพื่อประกาศและเผยแพร่ความเชื่อของตน โดยอาจเป็นรูปเทพเจ้าที่นับถือ หรือถ้อยคำสอนทางศาสนาก็ได้ โดยตัวอย่างของ Graffiti ยุคแรก ๆ ของโลกก็เช่น ที่ Kom Ombo Temple ในประเทศอียิปต์, รูปวาดบนผนังเมืองปอมเปอี, หรือรูปภาพที่สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดแทนตัวพระเยซูยุคแรก ๆ ของโลกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
ประเดิมการบอมครั้งแรก
“Kilroy Was Here”
Kilroy Was Here คือบรรพบุรุษของมีมและ Graffiti ประเภท ‘บาสมาเยือน’ ชิ้นแรกของโลก ที่มาที่ไปของ Kilroy Was Here มาจากอะไร? หรือใครเป็นคนเริ่ม? ไม่มีการบันทึกไว้แน่ชัด แต่นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของอเมริกาเขาสันนิษฐานกันว่า Kilroy Was Here น่าจะเริ่มปรากฏต่อสายตาสาธารณชนในช่วงปี 1393 แต่ป็อปปูลาร์และแพร่หลายสุด ๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา
แล้ว Kilroy มาจากไหน? เป็นชื่อใครกัน ส่วนนี้แหละที่ลึกลับและยังไม่มีใครรู้ความจริง มีแค่การเดาว่า Kilroy อาจจะมาจากชื่อจริงของ James J. Kilroy ผู้ทำหน้าที่ตรวจคุณภาพเรือรบที่ถูกนำส่งมาซ่อมที่ฐานทัพเรืออเมริกา โดยเมื่อซ่อมแซมเสร็จสิ้นเรียบร้อย คุณ James J. Kilroy เขาก็จะเขียนประโยค Kilroy Was Here ลงไปบนเรือ เพื่อยืนยันว่าเรือรำนี้กิลรอยตรวจแล้ว แต่นี่ก็เป็นแค่การคาดเดาเท่านั้นนะ
โดยก่อนที่ชาวโลกจะรู้ตัว พวกเขาก็ได้เห็น Kilroy Was Here ถูกพ่นไว้ทั่วสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทั่วทั้งอเมริกา เช่น ที่คบไฟของเทพีเสรีภาพในนิวยอร์ก, ประตูชัย Arc de Triomphe ในปารีส หรือแม้กระทั่งสะพาน Marco Polo ในจีน
1970s : ขอฝากชื่อไว้เป็นที่ระลึกในแบบ Hobo
วกกลับสู่วงการ Graffiti ในอเมริกากันบ้าง ผู้ที่ทำหน้าที่เผยแพร่และเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมการฝากชื่อไว้บนผนังก็คือเหล่าคนที่เรียกว่า Hobo ซึ่งเป็นกลุ่มคนพเนจรที่เลือกที่จะใช้ชีวิตด้วยการเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ ตามแต่ว่าที่ไหนจะมีงานให้พวกเขาทำ และพวกเขาก็เลือกที่จะไม่ลงหลักปักฐานหรือมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง โดยบ้านของพวกเขาก็คือบนรถไฟ หรือตามสถานีรถไฟต่าง ๆ นั่นเอง
Hobo ที่เป็นคนก่อเกิดวัฒนธรรมการฝากตัวตนไว้บนฝาหนังก็คือคุณ TAKI 183 ชาวกรีกพเนจรที่เริ่มฝากชื่อของตัวเองด้วยการใช้ปากกามาร์คเกอร์เขียนชื่อและ ‘แท็ก’ ของตัวเองไว้ตามที่ต่าง ๆ ทั่วกรุงนิวยอร์ก โดย TAKI 183 มาจากชื่อกรีกของเขา ‘Dimitraki’ ที่นำมาประกอบกับ 183 ซึ่งมาจากเลขถนนที่เขาอาศัยอยู่ในเวลานั้น ในช่วงต้นยุค 1970s คุณ TAKI 183 ฝากร่องรอยของชื่อตัวเองไว้ทั่วนิวยอร์กจนนักข่าวจาก New York Times ต้องออกมาตามหาตัว และรวบรวมผลงานของเขาไปตีพิมพ์ลงในนิตยสาร
TAKI 183 อาจเป็นคนที่เริ่มต้นวัฒนธรรมการเขียน Graffiti ที่เป็นชื่อของตัวเองแล้วตามด้วย ‘แท็ก’ ประจำตัว แต่คนที่นำรูปแบบมาต่อยอด จนกลายเป็นศิลปะในที่สาธารณะก็คือ Tracy 168 ซึ่งยังคงวัฒนธรรมการพ่นชื่อของตัวเองบนฝาผนังไว้ แต่ได้เพิ่มลีลาและสไตล์เข้าไป จนเกิดเป็นรูปแบบ Graffiti แบบใหม่ที่เรียกว่า Wild Style คือการออกแบบ Tag ให้มีลักษณะพิเศษ ใช้รูปลูกศร เส้นโค้ง เข้ามาประกอบ ส่วนตัวอักษรก็ถูกปรับเปลี่ยนด้วยเส้นโค้ง หรือใช้องค์ประกอบแบบ 3 มิติ เข้ามาเพิ่ม จนคนทั่วไปก็แทบดูไม่ออกว่าเป็นตัวอักษรอะไร แต่ก็ทำให้เห็นสไตล์ส่วนตัวและความครีเอทีฟของศิลปินแต่ละคน
1980s: จากศิลปะใต้ดิน สู่ศิลปะ Mainstream
ในทศวรรษที่แล้ว ศาสตร์ของ Graffiti อาจเป็นเพียงการลักลอบทำลายทรัพย์สินสาธารณะด้วยศิลปะแห่งความขบถ แต่ในทศวรรษที่ 80s รุ่งอรุณของ Street Art ก็เริ่มมาเยือน เมื่อ 2 ศิลปินที่ทำงานอยู่ข้างถนนได้รับการสนับสนุนจากแมวมองให้ได้นำงานไปจัดแสดงในแกลเลอรี่ โดยแมวมองคนนั้นมีชื่อว่า Andy Warhol
ศิลปินคนแรกแห่งยุค 80s ที่ทำให้ Street Art ผลิบานในโลกศิลปะก็คือ Jean-Michel Basquiat ศิลปินเชื้อสายเปอโตริกันและเฮติ ที่เริ่มสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก Basquiat สนใจในลายเส้นการวาดรูปฟอร์มร่างกายมนุษย์ และการใส่ตัวอักษรพาดทับลงไปบนภาพ เขากับเพื่อนอีกคนหนึ่งร่วมกันตระเวนสร้างผลงาน Grafiti ด้วยกันภายใต้ชื่อ SAMO (Same Old Shit) จนไปเตะตา Andy Warhol เจ้าพ่อป็อปอาร์ตที่เล็งเห็นจิตวิญญาณศิลปินอันแสนขบถของ Basquiat และชวนให้เขามาทำงานร่วมกัน Basquiat ได้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการที่มีชื่อว่า The Times Square Show และนับตั้งแต่นั้นมา Basquiat ก็สร้างสรรค์ผลงานโดยมุ่งถ่ายทอดประสบการณ์ของการเป็นคนผิวสีที่ถูกเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกา
ในฝั่งของ Keith Haring นั้นเชิดชูเรื่องความเป็นอิสระของศิลปินเป็นอย่างมาก โดยเขามุ่งนำเสนอจิตวิญญาณอันเสรีในงานศิลปะที่ไม่ยึดติดกับขนบความงามตามกรอบ และการสร้างศิลปะในพื้นที่นอกมิวเซียมหรือแกลเลอรี่ ผลงานแรก ๆ ของเขาที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของชาวนิวยอร์กก็คือ ภาพวาดดูเดิลที่เกิดจากการใช้ชอล์กสีขาววาดลงไปบนกระดาษสีดำที่ใช้ปิดบนแผงโฆษณาในรถไฟใต้ดินที่ไม่ใช้แล้ว และแม้เมื่อกลายเป็นศิลปินดังแล้ว แต่พื้นที่ที่ Haring สบายใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่สุดก็คือ ในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ริมท้องถนน ซึ่งทำให้ผลงานของเขาเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปได้มากที่สุด
1990s: Banksy และ Street Art วิพากษ์สังคม
ศิลปะ Street Art กลายเป็นพื้นที่ของการสะท้อนมุมมองทางการเมือง และการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างสุดตัวในยุค 90s พร้อมกับการมาถึงของศิลปินนิรนามสุดฉาวผู้ใช้ชื่อในวงการว่า Banksy
ผลงานของ Banksy มีเอกลักษณ์ในเรื่องการนำเสนอภาพที่อิมแพ็ค โดยใช้เทคนิค Stencil (การใช้บล็อกกั้นสี) เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น (และหลบหนีตำรวจได้เร็วขึ้น) บวกกับการใช้สโลแกนที่แสบสันต์ งานของ Banksy ไม่เคยห่างจากการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ทั้งเสียดสี ด่าสงคราม วิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม ไปจนถึงความมือถือสากปากถือศีลของชนชั้นนำ โดยเขามักจะใช้ภาพ หนู, ลิง, ตำรวจ, สมาชิกราชวงศ์ และเด็ก เป็นสัญลักษณ์ในการจิกกัดและส่งสารข้อความอันแสนเผ็ดร้อนไปถึงผู้ชม โดย ‘หนูท่อ’ ก็คือสัญลักษณ์ที่ Banksy ใช้ในการแทนตัวกลุ่มคนชนชั้นล่าง ผู้อาศัยอยู่ใต้ดิน และเคลื่อนที่ว่องไวในความมืด
ตัวอย่างผลงานเด่น ๆ ของเขา เช่น Napalm (2004) ที่เป็นภาพเด็กชายจากภาพถ่ายสงครามเวียดนามในปี 1972 อันโด่งดัง ขนาบข้างด้วย Mickey Mouse และ Ronald McDonald ที่กำลังยิ้มร่า, Love is in the Air (Flower Thrower) (2003) ที่เยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นภาพผู้ประท้วงกำลังเขวี้ยงช่อดอกไม้ หรือล่าสุดก็คือ Love is in the Bin (2019) สุดปัง เมื่อภาพ Girl with Balloon อันโด่งดังของเขาได้ทำการทำลายตัวเองทันทีที่มันถูกเคาะประมูลไปในราคา 1.3 ล้านเหรียญ
2000s : ถ้าไม่สังคมสุดตัว ก็ตัวเองสุดโต่ง
ความน่าสนใจของโลก Street Art ในยุค 2000s ก็คือจุดมุ่งหมายในการทำงานของเหล่าศิลปินที่มีความต่างกันสุดขั้ว ถ้าไม่มุ่งสะท้อนภาพสังคมแบบสุดตัว ก็จะมุ่งนำเสนอตัวตนของตนเองสุดขีด โดย 2 ศิลปินที่สามารถขึ้นมายืนเป็นตัวแทนของ Street Art ยุค 2000s ได้เป็นอย่างดีก็ต้องยกให้ JR และ Kaws
JR เป็นศิลปิน Street Art ที่มุ่งทำงานสะท้อนสังคมแบบสุดลิ่มทิ่มประตู โดยจุดเริ่มต้นในการสร้างผลงานมาจากความชอบในการถ่ายรูป และเริ่มใช้กล้องตามถ่ายเหล่าผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามท้องถนน โดยผลงานของ JR ที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนเป็นอย่างมากก็คือ ‘Portraits of a Generation’ ที่เขาปรินต์ภาพใบหน้าของเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเคหะแห่งชาติในไซส์ใหญ่เบิ้มไปแปะไว้ตามผนังตึกในกรุงปารีส เพื่อให้คนปารีสที่ผ่านไปมาได้มองใบหน้าของกลุ่มคนเหล่านี้ แล้วตั้งคำถามกับตัวเองเรื่องมุมมองและการดำรงอยู่ของพวกเขา ที่ชาวเมืองชนชั้นกลางอาจมองข้ามไป
ส่วนตัวแทนของศิลปินฝั่งที่นำเสนอตัวตนของตัวเองผ่านศิลปะก็คือ Kaws หรือชื่อจริง ไบรอัน ดอนเนลลี ที่ก้าวเข้าสู่โลก Graffiti ด้วยการพ่นแท็กประจำตัว 'KAWS' ลงบนกำแพงแถบละแวกบ้าน ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังชื่อแบรนด์ประจำตัวของเขาก็แค่ว่า เขาชอบรูปทรงของตัวอักษรทั้ง 4 ตัวที่นำมาประกอบกันเท่านั้นเอง
Kaws เริ่มต้นอาชีพศิลปินด้วยการไปเป็นแอนิเมเตอร์ฟรีแลนซ์ที่ Walt Disney Company และใช้เวลาว่างจากการทำงานตระเวณไปทั่วนิวยอร์ก และแอบไขบานประตูตู้กระจกโปสเตอร์โฆษณา แล้วนำภาพโปสเตอร์เหล่านั้นกลับไปบอมด้วยการพ่นคาแรกเตอร์รูปโครงกระดูกของเขาลงไป แล้วแอบนำกลับมาใส่ที่เดิม Kaws ป็อปสุด ๆในปี 1999 หลังจากที่เขาได้ไปร่วมออกแบบ Vinyl Art Toys กับบริษัทของญี่ปุ่น โดยผลงานสร้างชื่อของเขาที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็คือฟิกเกอร์รูป Mickey Mouse ที่ถูก X-Ray ครึ่งหนึ่ง หลังจากนั้น Kaws ก็กลายเป็นศิลปินที่เนื้อหอมสุด ๆ ในหมู่แบรนด์สตรีทแวร์ และได้ออกแบบอาร์ตทอยและสินค้าต่าง ๆ ให้กับแบรนด์มากมาย
Streetwear เมื่อเสื้อผ้าและกีฬามาเจอกัน
มาถึงจุดนี้แล้ว.. Street Culture เชื่อมโยงกับคนทั่วไปจนกลายเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักที่ยึดครองโลกมาถึงปัจจุบันได้อย่างไร? เราก็คงต้องพูดถึง Street Culture ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากที่สุด นั่นก็คือแฟชั่นในแบบ Streetwear ซึ่งเป็นสไตล์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจาก Sub Culture 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มคนเล่น Surfboard กับกลุ่มคนเล่น Skateboard นั่นเอง
ซึ่งแบรนด์ที่เป็นผู้วางรากฐานให้กับ Streetwear ก็คือ STUSSY โดยเริ่มต้นมาจากการเป็นแบรนด์ที่ผลิตเสื้อผ้าและกระดานโต้คลื่นสำหรับเหล่านักเล่น Surfboard ในช่วงยุค 80s แล้วได้พัฒนามาจับตลาดแฟชั่นกลุ่มวัยรุ่น เมื่อ Shawn Stussy ผู้ก่อตั้งแบรนด์ นำสนามสกุลของตัวเองที่เขียนลงบน Surfboard ในสไตล์ Graffiti มาแปะลงบนเสื้อยืด แล้วกลายเป็นไอเทมยอดนิยมที่ป็อปลามไปถึงกลุ่มคนนอกแวดวง Surfboard
อีกหนึ่งแบรนด์ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Supreme แบรนด์ที่มีความกวนเป็นจิตวิญญาณ ก่อตั้งโดย James Jebbia อดีตผู้จัดการร้าน Stussy ที่ผันตัวมาเปิดร้านของตัวเองในปี 1994 Supreme กลายเป็นแบรนด์ที่ฮิตสุด ๆ ในหมู่เด็ก Skateboard ก็เริ่มมาจากวีรกรรมการบอม (สมความสตรีทจริงๆ) กแจกสติกเกอร์โลโก้ Supreme ให้เหล่าเด็กสเก็ตเอาไปแปะในที่ต่างๆ ทับสติกเกอร์ของกลุ่มอื่น ๆ ด้วยการออกแบบง่ายๆ จากฟอนต์โหลดฟรี Futura Heavy Oblique ที่เอามาผสมกับสไตล์ Typo ในงานของเจ้าแม่ Propaganda Art อย่าง Barbara Kruger
Everything is Street มากกว่าแฟชั่นแต่มันคือไลฟ์สไตล์
เมื่อบรรดาศิลปิน Hip Hop ที่รุ่งเรืองกลายมาเป็นตัวพ่อตัวแม่ของยุคได้นำเอาแฟชั่น Street Wear ไปแนะนำให้คนทั่วไปรู้จักผ่านช่อง MTV นับตั้งแต่นั้นมา Streetwear ก็เป็นไอเทมสำคัญสำหรับเหล่าคนรุ่นใหม่จิตวิญญาณอิสระที่อยากแสดงจะแสดงจุดยืนความขบถ
แต่วันเวลาก็ล่วงเลยมาถึงยุคที่ Streetwear กลายเป็นเทรนด์ครองโลก จนบรรดาแบรนด์หรู Luxury ที่เคยอยู่กันคนละโลก ก็ต้านทานกระแสความฮิปและความฮิตของ Streetwear ไม่ไหว จนต้องจีบให้แบรนด์ Streetwear แห่งยุคมาช่วยคอลแลบฯ กับแบรนด์ ตัวอย่างเช่น Virgil Abloh ผู้ก่อตั้งแบรนด์สตรีทราคาแพงระยับอย่าง Off-White ที่ถูกจีบให้มารับตำแหน่ง Artistic Director ของแบรนด์สุดหรูอย่าง Louis Vuitton หรืออย่าง Dior ที่ก็ต้องจีบ Kaws ให้ช่วยเอาคาแรกเตอร์กะโหลกไขว้ของตัวเองมาคอลแลบฯ กับแบรนด์ของตัวเองหน่อย
หนึ่งในดีไซเนอร์ที่กำลังเนื้อหอมและโดนแย่งตัวกันสุดฤทธิ์ ก็คือ Sean Wotherspoon ดีไซเนอร์จากโลกสตรีทสุดเปรี้ยว ที่มีเอกลักษณ์การใช้สีสันสดใสหลากเฉด จับสีต่าง ๆ เหล่านั้นมาผสมกับดีไซน์กลิ่นอายวินเทจ ออกมาเป็นสินค้ามากมายที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
Sean Wotherspoon ไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นศิลปิน แต่พี่เขาเป็น Collector สายตาเฉียบคม ครอบครองไอเทมสาบสตรีทไว้มากมาย รวมรุ่นที่สายสตรีทมีอันต้องกรีดร้อง และด้วยความรู้แบบแฟนพันธุ์แท้สายสตรีท Sean จึงมาเปิดร้านขายสินค้าวินเทจที่ชื่อว่า Round Two เน้นสินค้าสตรีทวินเทจของผู้ชาย ขายดีจนต้องขยายถึง 4 สาขาทั่วอเมริกา
แต่ Sean มาดังระเบิดแบบใครก็หยุดไม่อยู่จริง ๆ หลังจากที่ดีไซน์ของเขาชนะโหวตจากบรรดาสนีกเกอร์เฮดทั่วโลก และได้รับเลือกให้ผลิตจริง กลายเป็นรองเท้า Nike Air Max 1/97 ที่ปัจจุบันราคาทะยานพุ่งยิ่งกว่าทองคำ โดยความโดดเด่นของ Nike รุ่นนี้ก็คือการเลือกใช้สีสันที่สดใส และใช้วัสดุหลักเป็น ผ้าลูกฟูก ซึ่งเป็นการที่เขาขอทริบิวต์ให้กับหมวก Nike ยุค 80s ที่เขาชื่นชอบ เปิดทางให้ Sean ได้ไปร่วมคอลแลบฯ กับอีกมากมายหลากหลายแบรนด์ ทั้ง Asics, Guess และ Louis Vuitton
ล่าสุด Sean Wotherspoon ก็ได้ข้ามสายจาก Streetwear มาท้าทายความสามารถของตัวเองด้วยการร่วมกับ Vespa ออกแบบ สกู๊ตเตอร์ลิมิเต็ด อิดิชั่น “เวสป้า พรีมาเวร่า ฌอน อทเธอร์สปูน (Vespa Primavera Sean Wotherspoon)” ซึ่งสะท้อนลายเซ็นอันโดดเด่นของ Sean แบบครบครัน ทั้งการคงเอกลักษณ์ความสวยคลาสสิคแบบ Vespa ไว้ แล้วเติมลูกเล่นด้วยสีสันยุค 80s ทั้งสีเหลือง สีแดง สีเขียวเข้ม สีฟ้าอมเขียว และสีน้ําตาล ซึ่งการผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างความคลาสสิกของแบรนด์ยานยนต์ที่เหล่านักซิ่งหลงรัก และลีลาการออกแบบสุดคูลของดีไซเนอร์สายสตรีทสุดรุ่งแห่งยุค ก็กลายเป็นสกู๊ตเตอร์สุดคูลสุดสวย แสนจะน่าสะสม และได้สร้างปรากฏการณ์ในประเทศเกาหลีด้วยการ Sold Out ภายใน 2 วัน!