Street Art ศาสตร์และศิลป์แห่งความขบถ
และศิลปินพ่อ (ทุกสถาบัน) ที่ควรรู้จัก

Street Art ศาสตร์และศิลป์แห่งความขบถ และศิลปินพ่อ (ทุกสถาบัน) ที่ควรรู้จัก

Street Art ศาสตร์และศิลป์แห่งความขบถ และศิลปินพ่อ (ทุกสถาบัน) ที่ควรรู้จัก

ศิลปะแห่งการรุกรานพื้นที่สาธารณะ การแสดงออกถึงตัวตนด้วยการทิ้งชื่อไว้บนฝาผนัง ถ้อยคำปลุกใจห้าวหานพิพาทด่าความอยุติธรรมและผู้มีอำนาจในสังคม เหล่านี้คือพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในโลกของ Street Art สุนทรียศาสตร์แห่งการขบถที่มีต้นกำเนิดมาจากข้างถนน แต่กำลังรุกรานเข้ายึดครองตำแหน่งผู้กำหนดทิศทางแฟชั่น ดนตรี และศิลปะร่วมสมัยในโลกยุคปัจจุบัน

จากพื้นที่ข้างถนน สู่แกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ระดับโลก เส้นทางของ Street Art ทอดยาวจนเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะได้อย่างไร? เราอาจพบเจอคำตอบระหว่างที่ไปทำความรู้จักกับศิลปิน Street Art ตัวพ่อ (ทุกสถาบัน) เหล่านี้
 

Keith Haring
 


Keith Haring เติบโตในรัฐเพนซิลวาเนีย พร้อมกับความรักในการวาดรูป โดยมีพ่อซึ่งเป็นวิศวกรและนักเขียนการ์ตูนมือสมัครเล่นเป็นเพื่อนช่วยฝึกฝนฝีมือ และสั่งสมแรงบันดาลใจจากการ์ตูนของ Dr. Seuss, Charles Schulz, Walt Disney และคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนจาก Looney Tunes 

Haring ค้นพบที่ทางของตัวเองเมื่อเขาย้ายมานิวยอร์ก และเข้าเรียนใน School of Visual Arts ในใจกลางมหานครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกนี่เองที่ Haring ได้ทำความรู้จักกับโลกของกลุ่มศิลปินใต้ดิน เขาสนใจชุมชนคนศิลปะที่สร้างสรรค์ผลงานนอกพื้นที่มิวเซียมและแกลเลอรี โดยเฉพาะศิลปินที่ทำงานข้างถนนหรือพ่นกำแพงในสถานีรถไฟใต้ดิน ในช่วงนี้เองที่ Haring ได้รู้จักกับ Basquiat และเริ่มใช้เวลาตระเวณไปตามตามคลับใต้ดินต่าง ๆ ในนิวยอร์ก

นอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนศิลปินใต้ดินรอบตัวแล้ว Haring ยังได้แรงบันดาลใจจากงานของ Jean Dubuffet, Pierre Alechinsky, William Burroughs, Brion Gysin และสิ่งที่กระทบใจ Haring มากที่สุดก็คือข้อความใน Manifesto ของ Robert Henri ที่มีชื่อว่า The Art Spirit ที่มีใจความสำคัญว่าด้วยความเป็นเอกเทศน์และอิสระของศิลปิน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ Haring มุ่งมั่นนำเสนอจิตวิญญาณอันเสรีในงานศิลปะที่ไม่ยึดติดกับขนบความงามตามกรอบ รวมไปถึงการสร้างศิลปะที่ไม่ยึดติดกับพื้นที่มิวเซียมหรือแกลเลอรี ผลงานของ Haring จึงมุ่งนำเสนอจิตวิญญาณของความเยาว์วัยผ่านการใช้เส้นสายเรียบง่ายไม่ซับซ้อน นอกจากนี้เขายังตั้งใจที่จะทำงาน Public Art เพราะหลงใหลในความเป็นอิสระนอกพื้นที่แกลเลอรีด้วย

ในปี 1980 Haring ค้นพบพื้นที่ที่ทำให้เขาสร้างผลงานในฝัน นั่นก็คือกระดาษสีดำที่ถูกนำมาปิดบนกรอบโฆษณาที่ไม่ได้ใช้ในสถานีรถไฟใต้ดิน โดยทุกวัน Haring จะใช้ชอล์สีขาววาดลงไปบนกระดาษสีดำเหล่านั้น ซึ่งระหว่างปี 1980 - 1985 Haring สร้างสรรค์ภาพจากชอล์คสีขาวออกมานนับร้อย ๆ ภาพ บางวันก็มากถึง 40 ภาพในวันเดียว จนผลงานของเขากลายเป็นที่คุ้นตาของชาวนิวยอร์กที่สัญจรไปมา 

Haring จัดแสดงผลงานเดี่ยว One Man Show ที่ Tony Shafrazi Gallery ในปี 1982 ซึ่งภาพดูเดิลรูปคนในสไตล์การ์ตูนของเขาได้กลายเป็นลายเซ็นของเขาตั้งแต่นั้นมา และแม้ว่าเขาจะมีชื่อเสียงและได้รับการว่าจ้างไปออกแบบงานอื่น ๆ เช่น แบ็คดรอป ภาพบิลบอร์ด หรืออาร์ตวอลต่าง ๆ บนกำแพงในคลับ แต่ความตั้งใจของ Haring ยังคงเป็นการสร้างผลงานที่คนทั่วไปสามารถรับชมได้มากที่สุด นั่นก็คือในพื้นที่สาธารณะและบนท้องถนนนั่นเอง

หลังจากที่ Haring ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ HIV ในปี 1988 เขาจึงได้ตั้งมูลนิธิซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการสื่อสารให้ความรู้ถึงโรคที่เขาเป็น และใช้งานศิลปะในการถ่ายทอดความรู้เรื่อง HIV ไปสู่สาธารณชน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก ๆ 

Haring เสียชีวิตในปี 1990 ขณะที่อายุได้ 31 ปี
 

Jean-Michel Basquiat
 


Jean-Michel Basquiat ศิลปินเชื้อสายเปอโตริกันและเฮติ เริ่มสนใจศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งแม่ของเขาก็คอยสนับสนุนและผลักดันให้เขาศึกษาศิลปะด้วยการพาไปเยี่ยมชมแกลเลอรีและมิวเซียมต่าง ๆ อยู่เสมอ และจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถชนตอน 6 ขวบ ที่ทำให้เด็กชาย Basquiat แขนหักและต้องเข้ารับการรักษาตัว ระหว่างพักฟื้น แม่ของเขาได้นำตำรากายวิภาคศาสตร์คลาสสิก Gray’s Anatomy มาให้เขาอ่าน เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจอาการของตัวเองมากขึ้น Basquiat ก็เริ่มลุ่มหลงและสนใจในลายเส้นการวาดรูปฟอร์มร่างกายมนุษย์ และการใส่ตัวอักษรพาดทับลงไปบนภาพ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นลายเซ็นในงานของ Basquiat ในเวลาต่อมา

เมื่อเริ่มเข้าวัยรุ่น แม่ของ Basquiat เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ทำให้เขาหนีออกจากบ้านและเริ่มใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้าน หาเลี้ยงชีพด้วยการขายเสื้อยืดและโปสการ์ด แต่ชีวิตข้างถนนก็ทำให้ Basquiat ได้ร่วมกับเพื่อนฟอร์มกลุ่มศิลปินข้างถนนขึ้นมา โดยเขายังร่วมกับเพื่อนอีกคนคือ Al Diaz ตระเวณสร้างผลงานกราฟิติด้วยกันภายใต้ชื่อ SAMO (Same Old Shit) ซึ่งทำให้เขาเริ่มได้รับการสนใจจากสื่อ

 

แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Basquiat เริ่มต้นชีวิตในฐานะศิลปินจริง ๆ เกิดขึ้นเมื่อเขาได้พบกับ Andy Warhol เจ้าพ่อป็อปอาร์ตที่เล็งเห็นจิตวิญญาณศิลปินอันแสนขบถของ Basquiat และชวนให้เขามาทำงานร่วมกัน Basquiat ได้ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการที่มีชื่อว่า The Times Square Show ที่นอกจาก Basquiat แล้วยังมี Kenny Scharf, Jenny Holzer, Nan Goldin และ Keith Haring ร่วมแสดงผลงานด้วย การพ่นกราฟิตีบนผนังของ Basquiat ได้รีบเสียงชื่นชมล้นหลามจนทำให้มันได้รับการขนานนามว่า ‘The first radical art show of the ’80s’’

นับตั้งแต่นั้นมา Basquiat ก็สร้างสรรค์ผลงานมุ่งถ่ายทอดประสบการณ์ของการเป็นคนผิวสีที่ถูกเหยียดเชื้อชาติในสังคมอเมริกา ซึ่งหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ของ Basquiat คือดนตรี โดยเฉพาะดนตรีแจ๊ซและฮิปฮอปซึ่งเป็นดนตรีของคนผิวสี โดยเขายังเคยโปรดิวซ์เพลงฮิปฮอปที่มีชื่อว่า Beat Bop ด้วย

Basquiat มักใช้รูปมงกุฏเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว เขาอธิบายว่าซับเจคในงานของเขาประกอบด้วย Royalty, Heroism และ The Streets ซึ่งสัญลักษณ์มงกุฎที่มักปรากฏในงานของเขา ก็สามารถตีความได้ถึงการประกาศความเป็น King of the Street ของ Basquiat 

ในช่วงท้ายของชีวิต Basquiat ติดยาเสพติดอย่างหนัก แต่ก็ได้ Warhol พาไปเข้ารับการบำบัดจนอาการดีขึ้น แต่เมื่อ Warhol เสียชีวิตในปี 1987 Basquiat ก็กลับไปเสพสาเสพติดอย่างหนัก จนเขาเสียชีวิตลงในปี 1988 ด้วยวัยเพียง 27 ปี

Banksy
 


ข้อมูลส่วนตัวที่ศิลปินกราฟิตีชื่อดังแห่งยุคปัจจุบันคนนี้ยอมเปิดเผยต่อสาธารณะก็คือ เขาเกิดที่เมืองบริสทอล ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1974 และเริ่มทำงานกราฟิติในช่วง 1990s กับกลุ่มศิลปินกราฟิตีที่ใช้ชื่อว่า DryBreadZ โดยผลงานยุคแรก ๆ ของเขาจะเป็น Free Hand แต่เปลี่ยนมาใช้ Stencil (การใช้บล็อกกั้นสี) เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น และแน่นอน… หลบหนีตำรวจได้เร็วขึ้น

ผลงานของ Banksy มีเอกลักษณ์ในเรื่องการนำเสนอภาพที่อิมแพ็ค บวกกับการใช้สโลแกนที่แสบสันต์ งานของ Banksy ไม่เคยห่างจากการวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ทั้งเสียดสี ด่าสงคราม วิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยม ไปจนถึงความมือถือสากปากถือศีลของชนชั้นนำ โดยเขามักจะใช้ภาพ หนู, ลิง, ตำรวจ, สมาชิกราชวงศ์ และเด็ก เป็นสัญลักษณ์ในการจิกกัดและส่งสารข้อความอันแสนเผ็ดร้อนไปถึงผู้ชม ตัวอย่างผลงานเด่น ๆ ของเขา เช่น Napalm (2004) ที่เป็นภาพเด็กชายจากภาพถ่ายสงครามเวียดนามในปี 1972 อันโด่งดัง ขนาบข้างด้วย Mickey Mouse และ Ronald McDonald ที่กำลังยิ้มร่า, Love is in the Air (Flower Thrower) (2003) ที่เยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นภาพผู้ประท้วงกำลังเขวี้ยงช่อดอกไม้ หรือล่าสุดก็คือ Love is in the Bin (2019) สุดปัง เมื่อภาพ Girl with Balloon อันโด่งดังของเขาได้ทำการทำลายตัวเองทันทีที่มันถูกเคาะประมูลไปในราคา 1.3 ล้านเหรียญ 

 

งานของ Banksy ส่งอิทธิพลต่อศิลปินกราฟิตียุคหลังเป็นอย่างมาก จนทำให้เกิดกระแสที่เรียกว่า Banksy Effect ที่ศิลปินกราฟิตีพากันสร้างผลงานเสียดสีการเมืองและแฝงอารมณ์ขันร้ายลึก อันเป็นสุนทรียศาสตร์ความขบถในสไตล์ของ Banksy

 

JR
 


JR ศิลปินกราฟิตตีและช่างภาพชื่อดังชาวฝรั่งเศสมีความสนใจในศิลปะข้างถนนอย่างกราฟิตีตั้งแต่วัยรุ่น และเริ่มเริ่มหลงใหลการถ่ายภาพหลังจากการที่เขากับเพื่อนเจอกล้องตัวหนึ่งตกอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินที่ปารีส มุมมองในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อการทำงานกราฟิตีของเขา โดยเขาเริ่มใช้กล้องตามถ่ายเหล่าผู้คนที่ลักลอบที่สร้างสรรค์งานศิลปะบนฝาผนัง 

ผลงานของ JR ที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชนเป็นครั้งแรกก็คือ ‘Portraits of a Generation’ ที่เขาปรินต์ภาพใบหน้าของเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเคหะแห่งชาติในไซส์ใหญ่เบิ้มไปแปะไว้ตามผนังตึกในกรุงปารีส รวมถึงโปรเจกต์ถัดมาที่เขาเข้าไปเกาะติดและถ่ายภาพเหตุการณ์ประท้วงในกรุงปารีส แล้วปรินต์ภาพใบหน้าของผู้ชุมนุมขนาดใหญ่ไปแปะไว้ทั่วเมือง
 

JR เคยกล่าวว่า เขามุ่งมั่นที่จะนำเสนอผลงานของเขาในที่สาธารณะ เพราะสำหรับเขา พื้นที่สาธารณะคือพื้นที่ที่ศิลปะสามารถส่งไปถึงทุกคนได้ แม้กระทั่งคนที่ปกติแล้วไม่เดินเข้าพิพิธภัณฑ์ และตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา JR ก็มุ่งมั่นกับการดั้นด้นไปสร้างผลงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ของความขัดแย้งและสงคราม ซับเจคภาพของเขามักเป็นคนธรรมดาสามัญ เพื่อนำเสนอภาพชีวิตสามัญของคนธรรมดาในพื้นที่สาธารณะ เช่น ผนังตึก หลังคา สะพาน หรือรถไฟ

ปี 2017 ชื่อของ JR กลายเป็นที่รู้จักของคนดูหนังทั่วโลกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Faces Places ที่เขาชวน Agnès Varda ผู้กำกับหญิงขึ้นหิ้งของฝรั่งเศสผู้อุทิศภาพยนตร์ให้กับการสะท้อนภาพชีวิตของผู้หญิงและคนสามัญธรรมดา ร่วมกันออกเดินทางไปยังหมู่บ้านและชุมชนเล็ก ๆ ห่างไกลทั่วฝรั่งเศส เพื่อสำรวจใบหน้าของเหล่าผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่เหล่านั้น และนำใบหน้าของพวกเขามาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะบนกำแพงร่วมกัน

 

Kaws
 


Kaws หรือชื่อจริง ไบรอัน ดอนเนลลีเริ่มทำงานกราฟิตีในช่วงต้น 90s ด้วยการพ่นแท็กประจำตัว Kaws ลงบนกำแพงแถบละแวกบ้าน ซึ่งเหตุผลเบื้องหลังชื่อ Kaws ที่กลายมาเป็นแบรนด์ประจำตัวของเขาก็แค่ว่า เขาชอบรูปทรงของตัวอักษรทั้ง 4 ตัวที่นำมาประกอบกันเท่านั้นเอง

หลังเรียนจบจาก School of Visual Arts แห่งนิวยอร์ก Kaws ก็เริ่มต้นอาชีพศิลปินด้วยการไปเป็นแอนิเมเตอร์ฟรีแลนซ์ที่ Walt Disney Company ร่วมสร้างสรรค์ผลงานอย่าง 101 Dalmatians ซึ่งเวลาว่างจากการทำงาน Kaws จะตระเวณไปทั่วมหานครนิวยอร์ก แล้วใช้กุญแจที่เพื่อนของเขาให้มา แอบไขเปิดบานประตูของตู้กระจกสำหรับใส่โปสเตอร์โฆษณา นำภาพโปสเตอร์โฆษณาเหล่านั้นกลับไปวาดภาพแคแรกเตอร์ดัง ๆ ทับลงไป แล้วจึงนำกลับมาใส่ที่เดิม

ชื่อของ Kaws กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกในปี 1999 เมื่อเขาได้ไปร่วมออกแบบ Vinyl Art Toys กับบริษัทของญี่ปุ่น โดยผลงานสร้างชื่อของเขาที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่าก็คือฟิกเกอร์รูป Mickey Mouse ที่ถูก X-Ray ครึ่งหนึ่ง หลังจากนั้น Kaws ก็กลายเป็นศิลปินที่เนื้อหอมสุด ๆ ในหมู่แบรนด์สตรีทแวร์ และได้ออกแบบอาร์ตทอยและสินค้าต่าง ๆ ให้กับแบรนด์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Original Fake, Undercover, Kung Faux, Comme des Garcons, Vans และ Nike

นักวิจารณ์ศิลปะมักเปรียบเทียบ Kaws กับ Basquiat หรือ Haring เนื่องจากเริ่มต้นอาชีพมาจากการทำงาน Street Art เหมือนกัน แต่ความแตกต่างของ Kaws ก็คือ การเล่นกับกระแสบริโภคนิยม การจับแคแรกเตอร์หรือสินค้าที่กำลังอยู่ในกระแส เช่น The Simpsons, Mickey Mouse, the Smurfs, The Michelin Man หรือ SpongeBob มาดัดแปลงสร้างเป็นผลงานใหม่ งานของ Kaws ยังมีเอกลักษณ์โดดเด่นในแง่ของการท้าทายเส้นแบ่งระหว่าง High Art กับ Low Art รวมไปถึงการพร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่าง ศิลปะบริสุทธิ์กับศิลปะเชิงพานิชย์ด้วย