จากเพลงสรรเสริญในโบสถ์ สู่เพลงป๊อปยุคใหม่ที่ร้องกันทั่วบ้านทั่วเมือง
แม้ไทยแลนด์แดนเมืองร้อนที่เราอาศัยอยู่นั้นจะแทบไม่มีความข้องเกี่ยวกับเทศกาลคริสมาสต์เสียเท่าไหร่ โดยเฉพาะในแง่ของอากาศที่แม้กรมอุตุฯ จะประกาศว่าเข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการก็ยังมิวายร้อนจนไม่อยากออกไปไหน แต่เมื่อถึงเดือนธันวาคมทีไร หัวใจของพส.นส.ก็ร้องเพลงคริสมาสต์พร้อมจินตนาการว่ายืนอยู่ใต้ต้นสนที่หิมะกำลังโปรยปรายแล้ว
พูดก็พูดเถอะ ถ้าไม่ใช่ต้นสนที่โตในไทยไม่ได้ หรือซานตาคลอสในจินตนาการ ‘เพลงคริสมาสต์’ คือหนึ่งในสิ่งที่หลาย ๆ คนผูกพันกับเทศกาลนี้จนแยกไม่ขาด ประหนึ่งว่าหากคริสมาสต์นั้นไร้เสียงเพลง ปีนั้นก็คงจะกลายเป็นคริสมาสต์ที่เหงาหงอยน่าดู
กว่าจะมาถึง ‘All I Want For Christmas is You’ ของคุณแม่ Mariah Carry ในปี 1994 หรือเพลง ‘Santa Tell Me’ ในปี 2014 ของ Ariana Grande ‘ดนตรี’ กับ ‘คริสมาสต์’ นั้นผูกพันกันมาตั้งแต่ช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์?
วันนี้ GroundControl ขอชวนทุกคนเปิดเพลงคริสมาสต์ในดวงใจไปพลางและย้อนสำรวจเพลงคริสมาสต์ไปพลางกัน
Carol ต้นสายเพลงคริสมาสต์ที่เกิดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของฤดู
ก่อนจะเต้นระบำไปกับเพลงบรรเลงของคริสมาสต์สมัยเรา ขออธิบายให้เข้าใจกันคร่าว ๆ ว่าโดยรวมแล้วเพลงคริสมาสต์นั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ Carol ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคริสตศาสนาและมักใช้ร้องในโบสถ์เพื่อสรรเสริญพระเยซู ต่อมาคือเพลงคลาสสิกที่ประพันธ์ขึ้นโดยนักประพันธ์ดนตรี และแบบสุดท้ายคือเพลงคริสมาสต์ในสมัยเราที่เรียกว่า Modern Christmas Song บ้าง เรียกว่า Contemporary Christmas Song บ้าง
เพราะแบบนี้แหละ ถ้าจะเล่าถึงแก่นรากของเพลงคริสมาสต์ที่เปิดทั่วหัวระแหงในปัจจุบัน เราจึงต้องย้อนกลับไปที่เพลง Carol ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่คริสตศาสนาจะถือกำเนิด เพราะคนทั่วยุโรปในสมัยก่อนจะร้องเพลงและเต้นรำเพื่อเฉลิมฉลองให้แก่การเปลี่ยนผ่านของฤดูกาลต่าง ๆ โดยเฉพาะวันครีษมายันหรือ Winter Solstice อยู่แล้ว ซึ่งคำว่า Carol น่าจะมีที่มาจากภาษาฝรั่งเศสเก่าว่า carole ที่แปลว่า เต้นรำเป็นวงกลม ซึ่งน่าจะมีที่มาจากภาษาละตินยุคกลางคำว่า choraula ที่แปลว่า การเต้นรำกับเพลงที่เป่าด้วยฟลุต
เมื่อศาสนาคริสต์ถือกำเนิดขึ้น ชาวคริสต์ยุคแรก ๆ จึงดัดแปลงเพลง Carol ให้เข้ากับศาสนาของตน ว่ากันว่าเพลง Christmas Carol เพลงแรกคือ Angel's Hymn ในปี 129 ซึ่งเล่าถึงการปรากฏกายของเหล่านางฟ้าเทพเทวดาหลังการประสูติของพระเยซู เพราะบิชอปผู้มีนามว่า Telesphorus ยืนยันว่าจะต้องมีการร้องเพลงนี้ในโบสถ์ หลังจากนั้น จึงมีการแต่งเพลงออกมาอีกจำนวนหนึ่ง แต่เพราะเพลงส่วนใหญ่เป็นภาษาละติน การร้องเพลงเหล่านี้จึงได้รับความนิยมเพียงชั่วขณะหนึ่งท่านั้น
กระทั่งในปี 1223 ณ เมือง Greccio ประเทศอิตาลี นักบุญฟรานซิสแห่งอัสซีซีก็เข้ามาปฏิวัติวงการเพลงแห่งศาสนาเพราะเขาได้จัดแสดงละครเพลงเพื่อเล่าการประสูติของพระเยซูขึ้น แม้เนื้อร้องในบทละครเหล่านี้จะเต็มไปด้วยภาษาละติน แต่ก็มีเนื้อร้องบางส่วนที่คนทั่วไปเข้าใจได้ บทเพลงเพื่อการเฉลิมฉลองวันสำคัญวันนี้จึงเริ่มแพร่หลายไปยังฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี ฯลฯ
พลังของภาษา หนังสือ และการอพยพที่มีผลต่อเพลงคริสมาสต์
ในปี 1410 John Audelay นักบวชและกวีชาวอังกฤษก็ได้เขียนเพลง Carol ในภาษาอังกฤษขึ้นครั้งแรก ซึ่งมักจะร้องกันในบ้านและถนนหนทางมากกว่าในโบสถ์ เนื้อร้องที่ดูฟังยากจึงค่อย ๆ เข้าใจง่าย แต่ไม่นานนัก เมื่อรัฐสภารัมพ์มีอิทธิพลในอังกฤษช่วงปี 1640 การเฉลิมฉลองวันคริสมาสต์ทุกรูปแบบจึงกลายเป็นเรื่องต้องห้ามและบาป แต่เมื่อชาร์ลที่ 2 ได้กลับมาครองราชย์เมื่อปี 1660 การร้องเพลงเหล่านี้และการเฉลิมฉลองคริสมาสต์ต่าง ๆ ก็กลับมาอีกครั้ง
ในยุควิกตอเรียน เจ้าชายโรเบิร์ตแห่งเยอรมันได้อภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ พระองค์จึงทรงนำการเฉลิมฉลองคริสมาสต์แบบเยอรมัน เช่น การมอบการ์ด การแลกของขวัญ และการร้องเพลงคริสมาสต์มาด้วย บวกกับในปี 1833 William Sandys ก็ได้ตีพิมพ์ ‘Christmas Carols, ancient and modern’ ขึ้น บวกกับวงออเคสตราและคณะนักร้องประสานเสียงจำนวนมากก็มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลวันหยุด เพลง Carol จึงกลับมาเป็นที่นิยมในโบสถ์ คอนเสิร์ต และการร้องเพลงข้างถนนอีกครั้ง
เพลงดัง ๆ ในช่วงนี้คือเพลง Silent Night (1818) ซึ่งแต่งเนื้อร้องโดยนักบวชชาวออสเตรีย หรือเพลง Jingle Bells (1857) ซึ่งไม่ได้แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองคริสมาสต์ แต่แต่งขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลอง Thanksgiving มากกว่า
สรุปคร่าว ๆ คือเนื้อเพลงในช่วงแรกมักพูดถึงการผันผ่านของธรรมชาติ ก่อนพัฒนามาสัมพันธ์กับศาสนา และเมื่อผู้คนทั่วไปเข้าถึงเพลงได้มากขึ้น เนื้อหาก็เริ่มเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้คน คุณงามความดี และองค์ประกอบต่าง ๆ ของช่วงคริสมาสต์
หลังชาวเกาะอังกฤษย้ายถิ่นไปตั้งรกรากที่ทวีปอเมริกาเหนือ พวกเขาจึงนำวัฒนธรรมเพลง Carol ไปด้วย จนเพลง Carol เป็นส่วนหนึ่งของวันคริสมาสต์และวันหยุดเทศกาลไปโดยปริยาย
เพลงที่ช่วยชุบชูใจคนให้ผ่านพ้นห้วงเวลาทุกข์ยาก
ถ้าจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของเพลงคริสมาสต์อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วล่ะก็ เราต้องขอพาทุกคนขยับมาสู่ทศวรรศที่ 1930 เพราะเป็นช่วงที่เกิด The Great Depression หรือยุคเศรษฐกิจตกต่ำในยุโรป
ขณะที่คนกำลังหมองเศร้าจากภาวะข้าวยากหมากแพง เพลงเฉลิมฉลองก็กลับเฟื่องฟูเอา ๆ ด้วยเทคโนโลยีที่กว้างไกลมากยิ่งขึ้นอย่างการเกิดขึ้นของสถานีวิทยุ ในช่วงเวลานี้เองที่เพลงคริสมาสต์เริ่มมีเนื้อหาที่ตัดขาดจากศาสนา อย่างพระเยซู เทพเทวดา ความดีความงาม แต่หยิบยกเรื่องแต่งในศาสนามาผสมผสาน เช่น ซานต้าคลอส กวางเรนเดียร์ และเริ่มกลายเป็นเพลงอันแสนรื่นรมย์ที่ผู้คนจะเปิดในวันหยุด
ไม่ว่าจะเพลง Santa Claus is Comin’ to Town (1934) ที่ Eddie Cantor ไม่ได้เป็นผู้ประพันธ์และไม่ได้เป็นคนร้องเพลงนี้คนแรก แต่เพราะเขาร้องเพลงดังกล่าวผ่านทางสถานีวิทยุที่ผู้คนจะได้ยินอย่างทั่วถึง เนื้อร้องที่ว่า "You better watch out, better not cry, You better not cry, I'm telling you why, Santa Claus is coming to town" จึงจับใจคนได้มากกว่าจนเวอร์ชั่นของเขาดังเป็นพลุแตกชนิดที่ขายแผ่นเสียงหมดกว่า 3 หมื่น แผ่นภายใน 24 ชั่วโมง (แม่เจ้า)
ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาซ้ำ เพราะยังไม่ทันจะผ่านช่วงเศรษฐกิจตกต่ำไปได้เท่าไหร่ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นและทำให้จิตใจประชาชนยิ่งย่ำแย่ ผู้คนจึงโหยหาการได้ใช้ช่วงเวลาที่บ้านอันแสนอบอุ่นขึ้นกว่าเก่า จึงเป็นที่มาของเพลง White Christmas (1942) ที่โด่งดังอย่างมากจากหนังเรื่อง Holiday Inn
หรือเพลง I’ll Be Home for Christmas (1943) ที่ร้องโดยใช้มุมมองของทหารประจำการที่เขียนจดหมายบอกครอบครัวว่าไม่ว่าสงครามจะดำเนินไปเช่นไร เขาจะกลับไปพบทุกคนที่บ้าน ขอให้เตรียมของขวัญ หิมะโปรยปราย และมิสเซิลโทเอาไว้ให้เขา เพราะเนื้อเพลงที่จับใจผู้คนโดยเฉพาะชายหนุ่มที่ต้องจากบ้านอันอบอุ่นไป เพลงนี้จึงถูกผู้ฟังขอให้สถานีวิทยุกองทัพเปิดบ่อยที่สุด
เพลงคริสมาสต์ยุคใหม่นี้จึงไม่ได้ร้องในโบสถ์หรือร้องตามถนนโดยคณะนักร้องเช่นสมัยก่อนอีกต่อไป แต่เป็นการร้องโดยนักร้องดังผ่านรายการโทรทัศน์และสถานีวิทยุ ไม่ใช่การร้องเพื่อสรรเสริญคริสตศาสนาแต่เป็นการร้องเพื่อปลอบประโลมเพื่อนร่วมโลก
ร็อกแอนด์โรล War is over! และเพลงคริสมาสต์ที่แสนโรแมนติก
ในปี 1957 ซึ่งเป็นยุคแห่งเพลงร็อกแอนด์โรล เพลงที่ดังแห่งยุคสมัยจึงเป็นเพลงจากอัลบั้มคริสมาสต์ของ Elvis Presley ซึ่งเพลงที่ดังสุด ๆ ณ ตอนนั้นคือเพลง Blue Christmas ต่อมา ในปี 1971 John Lennon และ Yoko Ono ก็ได้แต่งเพลงคริสมาสต์อย่าง Happy Xmas (War is Over) (1971) เพื่อต่อต้านสงครามเวียดนามที่เกิดขึ้น ถือเป็นครั้งแรก ๆ ในยุคสมัยนั้นที่เพลงคริสมาสต์ไม่ได้ทำหน้าที่เพื่อปลอบประโลมคนเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง
แม้เพลง Baby It’s Cold Outside ในปี 1949 จะถือเป็นเพลงคริสมาสต์เพลงแรก ๆ ที่ว่าด้วยความรักโรแมนติก แต่คริสมาสต์และความรักเพิ่งจะมางอกงามจริง ๆ จัง ๆ ก็ปลายยุค 80 ในช่วงป๊อปร็อก เช่น เพลง Last Christmas (1984) อันโด่งดังและถูกนำมาร้องใหม่หลายเวอร์ชั่น และเพลง Jingle Bell Rock (1985) ที่เราคุ้นชินจากหนังเรื่อง Mean Girls
‘All I want for Christmas is you’ แห่งยุคป๊อปที่ฆ่ายังไงก็ไม่ตาย
เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยของนักร้องเพลงป๊อปในยุค 90 เราต้องขอเริ่มต้นที่คุณแม่ Mariah Carey เจ้าของเพลงในตำนานอย่าง All I want for christmas is you (1994) ที่ไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไปก็ยังไม่มีใครฆ่าเพลงนี้ได้ เรียกว่าเป็นเพลงคริสมาสต์ยุค 90 1 ใน 2 จาก 30 เพลงที่ถูกจัดแสดงมากที่สุดในปี 2015 ซึ่งรวบรวมโดย American Society of Composers, Authors and Publishers (ASCAP)
นอกจากนั้น ยังมีเพลงป๊อปใหม่ ๆ ที่เข้ามาครองใจผู้คนอีกมาก เช่น Santa Tell Me (2014) ของ Ariana Grande ถ้าขยับมาฝั่งเอเชียบ้าง คงไม่พูดถึง First Snow (2013) จากเคป๊อปอย่าง EXO ไปไม่ได้ รวมถึงยังมีเพลงจากอนิเมชั่นอย่าง Do You Want to Build a Snowman? (2013) ใน Frozen ที่เอาชนะใจเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างน่าประหลาด
แม้เพลงป๊อปจะมาแรงตามยุคสมัย แต่หากดูจากชาร์ตเพลงฮิตติดอันดับในประเทศต่าง ๆ รวมถึงจำนวนครั้งที่เราคนไทยเองได้ยินได้ฟังตามห้างสรรพสินค้า เพลงยุค 30-80 ยังคงเป็นเพลงที่ครองใจและติดหูเรากันมากที่สุด อาจเพราะความเก่านั้นชวนให้เราคิดถึงเรื่องราวในอดีตได้ดี หรืออาจจะเพราะเนื้อเพลงเก่า ๆ นั้นพูดถึงห้วงเวลาแห่งความสุขโดยรวมมากกว่าจะเป็นความสุขอันเกิดจากความรักของคน 2 คนเช่นยุคนี้ เพลงเก่าเหล่านี้จึงครองใจผู้คนได้ทุกเพศ ทุกวัย และทุกความสัมพันธ์
แต่ไม่ว่าจะเป็นเพลงคริสมาสต์ในยุคไหน เล่าความสัมพันธ์หรือความเชื่อความศรัทธาต่อใคร เสียงเพลงกับมนุษย์ไม่เคยแยกจากกัน ทั้งยังสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างแยกไม่ขาด จึงไม่แปลกใจที่เราจะยังคงได้ยินเพลงเก่า ๆ อยู่ทุกปี ขณะเดียวกัน ก็ได้รู้จักเพลงคริสมาสต์ยุคใหม่ ๆ ทุกรอบปีที่ผ่านไป
แล้ววันคริสมาสต์ปีนี้ พี่สาวน้องสาวมีเพลงคริสมาสต์ในดวงใจแล้วหรือยัง
อ้างอิง :
aineminogue millersmusic
churchcove whychristmas
classical-music wikipedia
classicfm thehistorypress
libertyparkmusic rd
soundstripe elle
holidayppy history.army.mill
insidehook bl.uk
finartamerica recollections