เชื่อว่าถ้าพูดถึงมังงะญี่ปุ่นสักเรื่อง หนึ่งในดวงใจของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น One Piece มหากาพย์โจรสลัดโดยอาจารย์ ‘เออิจิโระ โอดะ’ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1997 และยังคงมีเรื่องราวให้เราเติบโตและติดตามเรื่อยมากว่า 24 ปีในปัจจุบัน

เชื่อว่าถ้าพูดถึงมังงะญี่ปุ่นสักเรื่อง หนึ่งในดวงใจของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น One Piece มหากาพย์โจรสลัดโดยอาจารย์ ‘เออิจิโระ โอดะ’ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1997 และยังคงมีเรื่องราวให้เราเติบโตและติดตามเรื่อยมากว่า 24 ปีในปัจจุบัน

‘เออิจิโระ โอดะ’ นักเขียนการ์ตูนผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อมหากาพย์โจรสลัด ‘One Piece’

เชื่อว่าถ้าพูดถึงมังงะญี่ปุ่นสักเรื่อง หนึ่งในดวงใจของใครหลายคนคงหนีไม่พ้น One Piece มหากาพย์โจรสลัดโดยอาจารย์ ‘เออิจิโระ โอดะ’ ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1997 และยังคงมีเรื่องราวให้เราเติบโตและติดตามเรื่อยมากว่า 24 ปีในปัจจุบัน

เนื่องในโอกาสที่ One Piece มียอดขายใกล้ทะลุครึ่งพันล้านเล่มอีกไม่นานและเนื่องในโอกาสที่อาจารย์โอดะมีอายุครบ 47 ปีเมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา GroundControl จึงขอชวนทุกคนลงลึกถึงเส้นทางการเป็นศิลปินของอาจารย์ว่ากว่าจะมีทุกวันนี้ได้ อาจารย์เติบโตและใช้ชีวิตยังไงบ้าง

ไม่ใช่แค่เรื่องราวที่สนุกสนานเท่านั้น แต่ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างในเรื่องและความมุมานะของอาจารย์โอดะ One Piece จึงครองใจผู้คนมาได้ยาวนานขนาดนี้

Dragon Ball และ Vicky the Viking คือแรงบันดาลใจสำคัญ

เออิจิโระ โอดะ หรืออาจารย์โอดะของเหล่าแฟนคลับเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1975 ณ เมืองคุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น อาจารย์เริ่มอ่านมังงะตั้งแต่อายุ 4 ขวบ โดยมังงะเรื่องแรกที่พอจะนึกออกคือ ‘ไคบูซึ ผีน้อยจอมกวน (Kaibutsu-kun, The Monster Kid)’ ของ ‘ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ’

มังงะเรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงานของอาจารย์มากที่สุดคือ ‘Dragon Ball’ ของ ‘อากิระ โทริยายามะ’ เพราะตั้งแต่อ่านบทที่ 2 อาจารย์ก็หลงใหลเรื่องราว ลายเส้น และโครงสร้างตัวละครที่มีกล้ามเนื้อชัดเจนจนมีผลต่อการสร้างงานต่อ ๆ มาอย่างมาก แต่นอกจากงานการ์ตูนของญี่ปุ่นเองแล้ว Vicky the Viking การ์ตูนลายเส้นยุโรปที่ฉายทางโทรทัศน์ซึ่งเล่าเรื่องราวของโจรสลัดก็ประทับใจอาจารย์ตลอดมา

ด้วยแรงบันดาลใจเหล่านี้ บวกกับการที่พ่อของอาจารย์ก็ชอบวาดภาพสีน้ำมัน และอาจารย์ก็คิดว่าการเป็นนักเขียนการ์ตูนนั้นเสมือนเป็นอาชีพสานฝันมากกว่าอาชีพจริง ๆ จัง ๆ ชวนเครียด อาจารย์โอดะจึงฝันอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนตั้งแต่ยังเด็ก เริ่มวาดการ์ตูนตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเป็นการ์ตูนที่จะถูกนำไปพัฒนาเป็น One Piece ในอนาคต และยังวาดอย่างจริงจังถึงขั้นลาออกจากชมรมฟุตบอลตอนอยู่ชั้นมัธยมปลาย

Wanted! ประตูสู่โลกมังงะ

ในปี 1992 ขณะที่อายุได้เพียง 17 ปี อาจารย์ได้ใช้เวลากว่า 4 เดือนเขียนการ์ตูนสั้นเรื่องแรกอย่าง 'Wanted!' เพื่อส่งเข้าประกวดใน Tezuka Awards เวทีประกวดมังงะซึ่งจัดโดยสำนักพิมพ์ Shueisha

ในการส่งประกวดครั้งนั้น อาจารย์กลัวว่าพ่อแม่จะไม่ให้ส่งผลงานเข้าร่วม อาจารย์จึงส่ง Wanted! เข้าแข่งขันในนามปากกาว่า
'Tsuki Himizu Kikondo' แต่สักพัก อาจารย์ก็ได้กลับมาใช้ชื่อจริงอย่างเต็มภาคภูมิในอุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะ Wanted! ได้รับรางวัล Second Class (準 入選) ในเวที Tezuka ครั้งที่ 44

ไม่นานหลังจากนั้น มังงะอีกเรื่องของอาจารย์อย่าง ‘ของขวัญในอนาคตของพระเจ้า (God's Gift for the Future)’ ยังได้รับรางวัล Hop☆Step Awards สำหรับศิลปินหน้าใหม่และได้ตีพิมพ์ใน Shonen Jump Original ในเดือนตุลาคม 1993 และในปีต่อมา ‘ปีศาจราตรี (Ikki Yako)’ ซึ่งตีพิมพ์ใน Shonen Jump Spring Special ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในเวทีเดียวกัน

เส้นทางการเป็นนักเขียนการ์ตูนมืออาชีพ

ด้วยความมุมานะและความจริงจังที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนให้ได้ ในช่วงปี 1994-1997 อาจารย์โอดะจึงลาออกจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Kyushu Tokai เพื่อมาเป็นผู้ช่วยนักเขียนการ์ตูน

งานแรกที่ช่วยให้อาจารย์ได้ฉายแววความเก่งกาจคือการเป็นผู้ช่วยเขียนการ์ตูนเรื่อง 'Midoriyama Police Gang' ของ ‘ชิโนบุ ไคตานิ’ ซึ่งแม้จะได้ช่วยอยู่ไม่กี่ตอนแต่ก็ทำให้อาจารย์ได้เข้าใจกระบวนการการทำมังงะเรื่องหนึ่ง ๆ ได้อย่างดี

หลังจากนั้น อาจารย์จึงได้เป็นผู้ช่วยในเรื่อง ‘ทาร์จังจ้าวป่า (Jungle King Tar-chan)’ และ ‘กัปปะ โหด ๆ ฮา ๆ (Mizu no Tomodachi Kappaman)’ ของ ‘มาซายะ โทคุฮิโระ’ ซึ่งถือเป็น 2 เรื่องที่อาจารย์ได้ร่วมพัฒนามากและยาวนานที่สุด

ในเวลาเดียวกันนี้เองที่อาจารย์ได้เขียนโครงร่างมังงะของตัวเองขึ้นหลายฉบับแต่ก็ถูกปฏิเสธไปหลายรอบ แต่เพราะความไม่ยอมแพ้ที่สั่งสมในตัวอาจารย์ตั้งแต่เด็กนี่แหละที่ทำให้ในที่สุด 'Monsters' ก็ได้ตีพิมพ์ในปี 1994 ใน Shonen Jump Autumn Special

หลังจากเป็นผู้ช่วยของอาจารย์โทคุฮิโระ ใน 'กัปปะ โหด ๆ ฮา ๆ' อยู่นาน กลางปี 1996 อาจารย์ก็ได้เป็นผู้ช่วยของ ‘โนบุฮิโระ วาสึกิ’ เพื่อเขียน ‘ซามูไรพเนจร (Rurouni Kenshin)’ ขึ้น เพราะอาจารย์วาสึกิเปิดให้ผู้ช่วยได้ช่วยสร้างสรรค์และพัฒนามังงะแต่ละเรื่องมากกว่านักเขียนการ์ตูนคนไหน ๆ อาจารย์โอดะจึงมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ตัวละคร 'Honjō Kamatari' อย่างมาก แต่ถึงจะได้รับคำชมและได้ร่วมทำงานใกล้ชิด โครงร่างมังงะของอาจารย์โอดะก็ยังไม่เคยได้รับการยอมรับจากอาจารย์วาสึกิเลยสักครั้ง

จาก Romance Dawn สู่มหากาพย์ One Piece ที่มียอดขายมากกว่า 500 ล้านเล่ม

ช่วงที่อาจารย์โอดะเป็นผู้ช่วยให้อาจารย์วาสึกิ อาจารย์โอดะได้หยิบเรื่องราวเกี่ยวกับโจรสลัดที่คิดขึ้นตั้งแต่ชั้นมัธยมมาพัฒนาเป็นมังงะเรื่อง 'Romance Dawn' จนได้ตีพิมพ์ใน Akamaru Jump ซึ่งตัวเอกสำคัญคือ 'Monkey D. Luffy' ที่จะพัฒนามาเป็นตัวเอกในมหากาพย์มังงะอย่าง One Piece ที่เราหลงรักในไม่กี่ปีต่อมา

แม้ Romance Dawn ตอนแรกจะได้รับผลตอบรับที่ดีจนอาจารย์โอดะมีโอกาสได้ตีพิมพ์ Romance Dawn ตอนที่ 2 ใน Shonen Jump Summer Special สำนักพิมพ์ก็ยังไม่มั่นใจว่าเรื่องราวโจรสลัดจะได้รับผลตอบรับที่ดีหากพัฒนาไปเป็นซีรีส์ขนาดยาว แต่ด้วยความช่วยเหลือจากบรรณาธิการคนใหม่อย่าง ‘ทากาโนริ อะซาดะ’ ในเดือนพฤษภาคม 1997 อาจารย์โอดะจึงลาออกจากการเป็นผู้ช่วยของอาจารย์วาสึกิเพื่อมาทำงานเป็นนักเขียนการ์ตูนเต็มตัว และ One Piece ตอนแรกอย่าง ‘รุ่งสางของการผจญภัย’ ก็ได้ตีพิมพ์ลง Shonen Jump รายสัปดาห์ในวันที่ 22 กรกฎาคม 1997 ในที่สุด

อาจจะเรียกว่าเกินความคาดหมายด้วยซ้ำไป เพราะหลังจากตีพิมพ์ได้เพียง 2 ปี บริษัท Toei Animation ก็นำ One Piece ไปพัฒนาเป็นแอนิเมชั่นที่เรานั่งดูกันตอนเด็ก ๆ ทั้ง One Piece แต่ละเล่มยังทำลายสถิติการตีพิมพ์ในญี่ปุ่นเสมอ เช่น ในเล่มที่ 56 นั้นมียอดตีพิมพ์สูงถึง 2.85 ล้านเล่ม ทั้งภายใน 8 ปีที่ One Piece ออกสู่สายตานักอ่านก็มียอดขาย 100 ล้านเล่มไปซะแล้ว แผนดั้งเดิมที่อาจารย์โอดะตั้งใจให้มังงะเรื่องนี้จบภายใน 5 ปี จึงต้องเปลี่ยนไป

ปัจจุบัน One Piece จึงเดินทางและเติบโตไปพร้อมกับผู้อ่านมานานกว่า 24 ปี และมียอดขายเกือบทะลุ 500 ล้านเล่มซึ่งกำลังจะทำลายสถิติของแบตแมนและแฮร์รี่ พอตเตอร์ไปได้ด้วยนะ (แฟน One Piece กรี๊ดสลบ)

ความสำเร็จที่แลกมาด้วย Work Life Balance อย่างอาจารย์โอดะ

ปัจจุบันมีการคาดการณ์ว่าอาจารย์โอดะมีรายได้จากการเขียน One Piece กว่า 200 ล้านดอลลาร์หรือ 6,000 กว่าล้านบาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนี้ก็ควรค่ากับการพลีกายถวายชีวิตให้มหากาพย์เรื่องนี้ของอาจารย์จริง ๆ เพราะอาจารย์มักจะเตรียมเรื่องล่วงหน้า 5 บท ซึ่งแต่ละบทนั้นใช้เวลา 3 วันสำหรับการเขียนบทและอีก 3 วันสำหรับงานภาพ

ในแต่ละวัน อาจารย์จะได้นอนเพียงสามชั่วโมงเท่านั้น เพราะอาจารย์นั้นเริ่มทำงานตั้งแต่ตี 5 จนถึงตี 2 ของอีกวัน ด้วยตารางงานแบบนี้เองที่ทำให้อาจารย์มีปัญหาสุขภาพรุมเร้า แต่ถึงอย่างนั้น ในปี 2013 ที่อาจารย์ล้มป่วยจนเข้าโรงพยาบาล อาจารย์ก็ยังหยุดพักเพียงแค่ 2 สัปดาห์เพราะไม่อยากให้แฟน ๆ ต้องรอ

นอกจาก One Piece จะประสบความสำเร็จเพราะรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจารย์โอดะใส่ใจ อีกสิ่งสำคัญที่หลายคนคงเห็นด้วยสุด ๆ คือการที่อาจารย์ออกแบบเรื่องราวให้ตัวละครได้เจอเหตุการณ์สุดประหลาด ทั้งหลายครั้งก็รุนแรงเข้มข้น แต่ก็จะแทรกอารมณ์ขันให้แฟนคลับได้หัวเราะและผูกพันกับตัวละครได้เสมอ ทั้งยังออกแบบให้ตัวละครแต่ละตัวมีเสียงหัวเราะที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ชนิดที่ถ้าเพียงได้ยินแต่ไม่ได้มองก็ยังนึกออกว่านี่คือเสียงหัวเราะของใคร

ตัวละครของอาจารย์ยังออกจะแปลกแหวกแนวและสุ่งโต่งในยุคแรกเริ่ม แต่เมื่อเวลาผ่านไป สไตล์ของอาจารย์ก็ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่นในช่วงแรก อาจารย์โอดะมักใช้เส้นหนา ๆ หลายเส้น แต่ต่อมาก็วาดตัวละครต่าง ๆ ด้วยเส้นที่บางลง ทั้งยังเพิ่มการแรเงาตัดขวางเข้ามาเสริม บางครั้งลูฟี่ก็ดูโตเป็นหนุ่มใหญ่ แต่บางครั้งก็ดูกลายเป็นเด็กชายคนหนึ่งไป บางครั้งช็อปเปอร์ดูน่ารักน่าชัง แต่บางครั้งก็ดูน่าเกรงขาม

ทั้งหมดนี้ค่อย ๆ พัฒนาและเติบโตไปพร้อมกับเรื่องราวที่เข้มข้นขึ้นตามช่วงวัยของเหล่าโจรสลัดอันเป็นที่รักของอาจารย์โอดะเองและแฟน One Piece ทั่วโลก

อ้างอิง :
looper
cbr
onepiece.fandom
wikipedia
peoplepill
comicbook
cbr