Marie Bracquemond สตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ที่งานสุดปังแต่ไม่ได้รับการพูดถึง
เมื่อพูดถึงศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ ชื่อของ Vincent van Gogh, Claude Mone และ Edgar Degas มักปรากฏขึ้นในหัวของเรา ๆ เหล่าเสพศิลป์กันเสมอ ถ้าสังเกตกันดี ๆ ชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นชื่อของศิลปินชายทั้งสิ้นจนเราอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วศิลปินหญิงแห่งอิมเพรสชั่นนิสม์นั้นมีอยู่หรือเปล่า
เพราะความสงสัยนี้เองที่นำพาให้เราได้รู้ว่า Henri Focillon นักประวัติศาสตร์ศิลปะฝรั่งเศสได้ยกย่อง Marie Braquemond ให้เป็นหนึ่งใน ‘สามสตรีผู้ยิ่งใหญ่แห่งศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์’ ผู้ที่มีพรสวรรค์และพรแสวงไม่เป็นรองใคร แต่เพราะสามีของเธอไม่ใคร่ชอบใจศิลปะรูปแบบที่เธอหลงใหล เรื่องราวของเธอจึงหาอ่านได้จากเพียงบันทึกของลูกชาย และผลงานอันน่ายกย่องของเธอก็แทบไม่มีใครรู้จัก
GroundControl จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจชีวิตที่ถูกกีดกันทางด้านการงานและพาไปลงลึกถึงงานศิลป์ที่เธอรังสรรค์ว่างดงามควรค่าแก่การพูดถึงขนาดไหน ครั้งหน้าที่เอ่ยถึงศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ เราอาจจะได้ยินชื่อของเธอโผล่ขึ้นมาบ้าง
Marie Bracquemond หรือ Marie Anne Caroline Quivoron เกิดเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 1840 ที่ Argenton-en-Landunvez ในแคว้น Brittany ประเทศฝรั่งเศส แม้ครอบครัวของเธอจะย้ายที่อยู่ไปมาซึ่งทำให้เธอไม่ได้ฝึกฝนทักษะอย่างจริงจังมากเท่าศิลปินคนอื่น ๆ Bracquemond ก็ยังเป็นศิลปินที่เปี่ยมความสามารถด้วยสุนทรียรสและความเป็นศิลปินที่ฝังลึกในตัวเธอ
ในช่วงทศวรรษ 1850 หรืิอช่วงที่ Bracquemond เริ่มเข้าสู่วัยสาว เธอได้เข้าเรียนด้านการเพนต์กับจิตรกรสูงวัยอย่าง M. Auguste Vassor ก่อนจะส่งภาพวาดแม่ น้องสาวและ M. Auguste Vassor ไปยัง Salon เมื่อปี 1875 หรือนิทรรศการศิลปะอย่างเป็นทางการของ Académie des Beaux-Arts ในกรุงปารีส จนได้รับการยอมรับและทำให้เธอได้เข้าไปเรียนศิลปะอย่างเข้มข้นมากขึ้นกับ Jean-Auguste-Dominique Ingres ในสตูดิโอของเขา
แม้นักวิจารณ์อย่าง Philippe Burty จะกล่าวว่าเธอคือหนึ่งในลูกศิษย์ที่ฉลาดและมากความสามารถที่สุดในสตูดิโอของ Ingres แต่ด้วยความไม่เท่าเทียมกันทางเพศและชนชั้นที่สังคมกำหนด ประกอบกับตัว Ingres เองก็ไม่เชื่อในความสามารถด้านศิลปะของผู้หญิงว่าจะทัดเทียมผู้ชายได้ Bracquemond จึงได้รับมอบหมายให้วาดแต่เพียงภาพผลไม้ ดอกไม้ ทั้งยังไม่มีสิทธิวาดภาพนู้ด ผับบาร์ที่อุดมด้วยชีวิตอันรื่นเริงของหนุ่มสาวเช่นเดียวกับศิลปินชาย
“ฉันต้องการวาดภาพ ไม่ได้ต้องการวาดเพียงดอกไม้ แต่ต้องการสื่อสารความรู้สึกต่าง ๆ ที่ศิลปะสร้างแรงบันดาลใจให้ฉัน” เธอกล่าว
ผลงานขึ้นหิ้งของเธอในช่วงแรก ๆ จึงมักเป็นภาพวาดหญิงสาวแบบ Realism ที่วาดแบบสมจริง มี Loiuse น้องสาวต่างพ่อของเธอเป็นนางแบบ ภาพเหล่านี้ปรากฏอิทธิพลด้านการวาดปลายนิ้วอันละเอียดอ่อนและการจัดวางท่าทางของแบบของ Ingres ด้วย เช่น ภาพ Woman in the Garden (1877) ที่ Braquemond วาดภาพน้องสาวตัวเองที่กำลังนั่งอยู่ในสวนและจ้องมองมายังผู้ชม
อย่างที่บอกว่า Ingres นั้นกดขี่ Braqumond เพียงเพราะเธอเป็นหญิงที่ทำงานศิลปะได้ดี ในที่สุด เธอจึงลาออกจากสตูดิโอแห่งนี้เพื่อไปสร้างสรรค์ผลงานของตัวเอง หนึ่งในนั้น คือผลงานที่ได้รับมอบหมายจากราชสำนักของจักรพรรดินียูจีนีให้วาดภาพนักเขียนชาวสเปนที่ถูกคุมขังในคุกตุรกี และงานเดียวกันนี้เองที่ทำให้เธอได้รับมอบหมายจาก Count de Nieuwerkerke หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ฝรั่งเศสให้ทำสำเนาภาพวาดที่จัดแสดงในลูฟว์
การทำงานที่ลูฟว์ทำให้เธอได้พบกับจิตรกรและช่างแกะสลักอย่าง Félix Bracquemond ซึ่งกลายเป็นสามีของเธอในเวลาต่อมา เขาสอนให้เธอออกแบบและเพนต์ลวดลายใหม่ ๆ บนเซรามิกให้กับ Haviland ที่เขาทำงานอยู่ ทั้งยังทำให้เธอมีโอกาสได้เพนต์แผ่นเซรามิกขนาดใหญ่ที่นำไปจัดแสดงในบูธงาน World’s Fair ปี 1878
นอกจากนั้น เธอยังได้ฝึกการร่างภาพขาว-ดำ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามีต้องการด้วย เช่น The Umbrellas (1882) ที่มีองค์ประกอบลงตัวสุด ๆ และเหมาะกับความเป็นภาพพิมพ์อย่างยิ่งจากลายเส้นทแยงของเธอ และการแบ่งสัดส่วนระหว่างสีขาว เทา และดำ
แม้ภาพสเก็ตช์ของเธอทั้ง 9 ภาพจะได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการครั้งที่สองของ Society of Painter-Etchers ที่ Galeries Durand-Ruel ในปี 1890 แต่หากอ้างอิงจากคำบอกกล่าวของลูกชายของเธอ เธอพบว่าด้วยภาพพิมพ์นั้นมีขนาดเล็กเกินไปและยังเป็นภาพพิมพ์ขาว-ดำ เธอผู้ซึ่งรักในการสร้างสรรค์ผลงานที่เต็มไปด้วยรายละเอียดในสเกลขนาดใหญ่และรักสีสันจึงไม่ได้แฮปปี้มากนัก
แต่ถึงเธอจะไม่ปลื้มการสเก็ตช์ภาพขาวดำเท่าไหร่ เธอก็นำแนวทางและเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้มาร่างภาพก่อนจะลงมือละเลงสีลงบนแคนวาสจริง ๆ ซึ่งต่างจากศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์คนอื่นที่มักจะไม่ร่างภาพไว้ล่วงหน้า เช่น ภาพที่มีอิทธิพลและได้รับความนิยมในศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์อย่างมากอย่าง Lady in White (1880)
และแล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ก็มาถึง จากแต่เดิมที่เธอวาดภาพแบบศิลปะแบบสมจริง เมื่อเธอได้พบ Claude Monet และ Edgar Degas ในปี 1880 ฝีแปรง การลงน้ำหนัก และการเลือกใช้สีสันกับเทคนิคแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ของเธอจึงค่อย ๆ เริ่มต้นขึ้น
ภาพวาด Loiuse อันสวยงามอย่างสมจริงซึ่งมองตรงมายังผู้ชมในภาพ Woman in the garden และ Lady in white ก็กลายเป็นภาพ Loiuse ที่ไม่แจ่มชัดสมจริงเท่าเก่าด้วยฝีแปรงแบบขนนกฟุ้งฝัน ทั้งสายตาของ Loiuse ก็กลับจ้องมองในหนังสือที่เธอกำลังถืออยู่ และกำลังนั่งอยู่ท่ามกลางชาอุ่น ๆ และของว่างยามบ่ายอันเป็นสไตล์แบบอิมเพรสชั่นนิสม์
ด้วยความสามารถอันเปี่ยมล้นและผลงานอิมเพรสชั่นนิสม์แสนเปี่ยมพลังนี้เองที่ทำให้ Bracquemond ได้ร่วมจัดแสดงภาพวาดของเธอในนิทรรศการอิมเพรสชั่นนิสม์ปี 1879 1880 และ 1886 ทั้งในปี 1881 ผลงาน 5 ชิ้นของเธอยังได้จัดแสดงในแกลลอรี่ Dudley ของ London
เอกลักษณ์หนึ่งของงานศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์คือภาพวาดผู้คนธรรมดา ๆ ที่กำลังใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติและพื้นที่สาธารณะซึ่งเรียกว่า ‘en plein air’ แตกต่างจากงานศิลปะก่อนหน้านั้นที่มักวาดภาพเทพบ้าง วาดภาพคนชั้นสูงในอิริยาบถต่าง ๆ บ้าง
Bracquemond เองก็เป็นหนึ่งในศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์คนแรก ๆ ที่วาดภาพเช่นนี้แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเพศในยุคสมัยนั้น ในท้ายที่สุด ผลงานส่วนใหญ่ของ Bracquemond และศิลปินหญิงคนอื่น ๆ มักเกิดขึ้น ณ พื้นที่กลางแจ้งใน ‘สถานที่ส่วนตัว’ เช่น สวนของเธออย่าง Sèvres ที่เราเห็นในภาพอันโด่งดังของเธอนามว่า On the Terrace at Sèvres (1880)
นอกจากนั้น ศิลปินหญิงยังมักได้วาดภาพเพียงครอบครัวและคนรู้จักที่สนิทสนมเท่านั้น เราจึงได้เห็นภาพอันโด่งดังของเธอนามว่า Under the Lamp (1887) อันเป็นภาพของเพื่อนศิลปินอย่าง Alfred Sisley และภรรยาของเขาขณะนั่งรับประทานอาหารค่ำร่วมกับ Bracquemond
หากดูภาพของเธอช่วงก่อนปี 1886 เราจะเห็นว่าผลงานส่วนใหญ่นั้นรังสรรค์ขึ้นด้วยโทนสีหม่น ๆ เช่นเดียวกับที่เราเห็นในงานของเดอการ์และงานของโมเนต์ แต่เมื่อ Braquemond ได้รู้จักกับ Paul Gauguin ในปี 1886 ภาพวาดของเธอก็สดใสขึ้นเรื่อย ๆ
อย่างภาพลูกชายคนเดียวของเธออย่าง Pierre ในภาพนี้ เราจะเห็นว่าช่างแตกต่างกับภาพก่อนหน้าของเธออย่างมาก ทั้งภาพโดยรวมก็ดูสว่างขึ้น เฉดสีที่เธอใช้ก็ดูสดใสกว่าเก่า จากที่แบบของเธอจะนั่งอยู่ท่ามกลางแสงอาทิตย์ฟุ้งกระจาย Pierre ในภาพนี้กลับต้องแสงแดดเรืองรอง
อย่างที่บอกว่าเธอมักจะวาดภาพกลางแจ้งในสวนและที่พักอาศัยของเธอมากกว่าที่จะออกไปวาดภาพกลางแจ้งในที่สาธารณะเช่นศิลปินคนอื่น ทั้งเธอยังมักวาดภาพคนมากกว่าทิวทัศน์ด้วย เราจึงอยากนำภาพทิวทัศน์บางส่วนของเธอมาให้ชมซึ่งเป็นภาพในช่วงท้าย ๆ ในชีวิตการทำงานของเธอเช่นกัน
ดู ๆ แล้วผลงานของเธอนั้นควรค่าแก่การถูกพูดถึงและยกย่องมาก ๆ ใช่มั้ย แต่เพราะความจงเกลียดจงชังงานสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์ของ Félix เธอจึงไม่เป็นที่รู้จักมากเท่าที่ควร
เวลาแขกไปใครมาที่บ้าน เขามักจะนำภาพเหล่านั้นไปซ่อน ทั้งยังไม่เคยคอมเมนต์งานของเธอดี ๆ เลยด้วยซ้ำ ในช่วงปี 1890 เธอจึงแทบจะละทิ้งผลงานทั้งหมดและแทบจะหยุดการสร้างงานชิ้นต่อ ๆ ไป มีบ้างที่จะรับงานวาดภาพแบบส่วนตัวให้บางคน หนึ่งในภาพวาดชิ้นท้าย ๆ ที่เธอรังสรรค์ขึ้นคือ Pierre and His Aunt Louise in the Garden (1890)
ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าเธอจะละทิ้งความศรัทธาในอิมเพรสชั่นนิสม์ไปดื้อ ๆ เพราะในอัตชีวประวัติที่ปิแอร์เขียนขึ้นกล่าวว่าเธอยังคงปกป้องและยกย่องแนวคิดแบบอิมเพรสชั่นนิสม์อยู่เสมอ เช่นที่เธอกล่าวว่า
“ศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ไม่เพียงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นเท่านั้น แต่ยังสร้างแนวทางอันเป็นประโยชน์ในการมองสิ่งต่าง ๆ ราวกับว่าเมื่อหน้าต่างเปิดขึ้น แสงแดดและอากาศก็พัดเข้ามาในบ้านของคุณพร้อมกัน"
อ้างอิง
https://bit.ly/3qagrwZ
https://bit.ly/3Gji3dm
https://bit.ly/3F9jIB7
https://bit.ly/31KMp9P
https://bit.ly/3zKyDjT
https://bit.ly/3qcV0LK
https://bit.ly/3GjhMXS