Picasso ในแอนิเมชั่น ‘Soul’

Picasso ในแอนิเมชั่น ‘Soul’

Picasso ในแอนิเมชั่น ‘Soul’

Pete Doctor ผู้กำกับแอนิเมชั่น Soul เคยเผยแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบตัวละครในแอนิเมชั่นที่ว่าด้วยเรื่องราวของโลกหลังความตาย โดยหนึ่งในโจทย์ที่ทีมผู้สร้างต้องทำการบ้านอย่างหนักก็คือการออกแบบตัวละคร Counselors หรือผู้ที่คอยควบคุมให้ The Great Before หรือเหล่าวิญญาณอยู่ในความเรียบร้อย ซึ่งโจทย์หินของการออกแบบ Counselors ก็คือการถ่ายทอดสตอรี่ของตัวละครที่อธิบายตัวเองว่าเป็น ‘จักรวาลในรูปแบบที่ลดทอนตัวเองลงมาให้อยู่ในรูปที่มนุษย์รับรู้ได้’ ทีมผู้สร้างจึงตกลงที่จะนำเสนอ Counselors ด้วย ‘ลายเส้นที่มีชีวิต’ (Living Line) ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่แค่ลายเส้นธรรมดา แต่เป็นลายเส้นที่มีความหมายในตัวเองที่จะส่งสารบางอย่างให้ผู้ชม ซึ่งพอพูดถึงลายเส้นที่มีชีวิต ทีมงานจึงไปศึกษาลายเส้นของศิลปินดังในอดีต หนึ่งในศิลปินที่ทีมงานยึดเป็นเรฟหลักก็คือ Pablo Picasso โดยดึงเอาแรงบันดาลใจมาจากบรรดาภาพพอร์เทรตสไตล์ Cubism มาออกแบบเป็นใบหน้าของเหล่า Counselors ที่ดูผิดจากธรรมชาติดังที่เห็นในหนัง

Cubism หรือศิลปะบาศกนิยมเป็นรูปแบบทางศิลปะที่ Picasso ร่วมกับเพื่อนศิลปิน Georges Braque สร้างสรรค์ขึ้นมาในช่วงปี 1907-1917 Picasso โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างสุนทรียศาสตร์ที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคโมเดิร์น ศิลปะบาศกนิยมจึงถูกนำเสนอผ่านลายเส้นและการสลายรูปฟอร์มธรรมชาติให้อยู่ในรูปสมมาตร เพื่อเป็นการโต้ตอบขนบทางศิลปะดั้งเดิมที่เน้นการถ่ายทอดความสมจริงดังที่ตาเห็น อีกทั้ง Picasso ยังได้แรงบันดาลใจมาจากหน้ากากของชนเผ่าแอฟริกันที่ไม่ได้นำเสนอรูปหน้ามนุษย์ตามแบบธรรมชาติ แต่กลับถ่ายทอดสีสันของมนุษย์ออกมาได้อย่างงดงาม

Picasso มองว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบธรรมชาติดังตาเห็น ศิลปะไม่จำเป็นต้องดำเนินตามกรอบศิลปะดั้งเดิมที่มีกฎเกณฑ์ทั้งในเรื่องของเทคนิค, มุมมอง, สี, การจัดองค์ประกอบ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในฟอร์มแบบ 2 มิติเท่านั้น Cubism จึงเป็นการทดลองหาหนทางในการสร้างมิติบนผ้าใบ

Cubism ยังถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนนำเสนอวิธีการมองโลกในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม Picasso มองว่า เราไม่ได้รับรู้และมองเห็นวัตถุใดวัตถุหนึ่งจากมุมมองเพียงด้านเดียว แต่เรารับรู้สิ่งนั้นจากมุมและด้านที่ขยับเปลี่ยนแปลงไป ด้วยเหตุนี้ Cubism จึงเป็นการนำเสนอวิธีการต่าง ๆ ในการมองวัตถุ มากกว่าจะนำเสนอว่าศิลปินมองเห็นอะไร