“เสื่อมมนตร์ขลัง”, “ไร้ความน่าเชื่อถือ”, “งานปาหี่แห่งโลกภาพยนตร์” ฯลฯ คือหลากหลายความเห็นที่เรามักได้ยินกันในช่วงหลัง เมื่อพูดถึงงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง Academy Awards หรือ Oscar

“เสื่อมมนตร์ขลัง”, “ไร้ความน่าเชื่อถือ”, “งานปาหี่แห่งโลกภาพยนตร์” ฯลฯ คือหลากหลายความเห็นที่เรามักได้ยินกันในช่วงหลัง เมื่อพูดถึงงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง Academy Awards หรือ Oscar

History of Oscar ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของงานประกาศรางวัลที่ ‘ดราม่า’ ที่สุดในโลกภาพยนตร์

“ผู้คนชนะรางวัลออสการ์ แล้วหลังจากนั้นพวกเขาก็เหมือนหายตัวไปจากโลกนี้ ที่เป็นอย่างนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะความคาดหวังมหาศาลที่ติดตัวคุณไปทุกที่ และเป็นเงาลอยอยู่เหนือหัวคุณ ในวินาทีที่ฉันได้ออสการ์ ฉันก็รู้สึกได้ถึงความล่มสลายที่จะตามมาในวันรุ่งขึ้นทันที”
- Halle Berry
 

“เสื่อมมนตร์ขลัง”, “ไร้ความน่าเชื่อถือ”, “งานปาหี่แห่งโลกภาพยนตร์” ฯลฯ คือหลากหลายความเห็นที่เรามักได้ยินกันในช่วงหลัง เมื่อพูดถึงงานประกาศรางวัลภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง Academy Awards หรือ Oscar

หนึ่งในพี่น้องผู้กำกับตระกูลโคเอนย่าง อีธาน โคเอน (Fargo, No Country For Old Men) เคยบอกว่า เขาไม่สนในออสการ์อีกต่อไป และขอมุ่งหน้าสู่การคว้ารางวัลโนเบล, มาร์ติน สกอเซซี เคยบอกว่า คนเราไม่ควรทำหนังโดยตั้งเป้าเพื่อจะได้ออสการ์ ในขณะที่ในช่วงการตื่นตัวของกระแส #OscarSoWhite อันสืบเนื่องมาจาก #BlackLivesMatter คนในโลกภาพยนตร์หลายคนที่ออกมาวิจารณ์ว่านี่คืองานรางวัลของคนผิวขาว และเมื่อคณะกรรมการออสการ์ออกประกาศว่า ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป โปรดิวเซอร์ที่ส่งหนังเข้าชิงออสการ์จะต้องทำรายงานแจ้งเชื้อชาติ เพศ และสถานะทุพพลภาพของทีมงานและนักแสดง ซึ่งหากหนังเรื่องใดมีสัดส่วนความหลากหลายไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หนังเรื่องนั้นก็จะไม่ได้เข้ารับพิจารณาเพื่อชิงออสการ์ ซึ่งกฎดังกล่าวก็ทำให้คนในแวดวงภาพยนตร์ออกมาวิจารณ์ว่า ‘นี่มึงประชดกูใช่ปะ?’ ไปจนถึงการงงเป็นไก่ตาแตกว่าฉันแค่จะทำหนัง ทำไมฉันต้องเปิดเผยรสนิยมทางเพศและประวัติสุขภาพซึ่งเป็นเรื่องแสนจะส่วนตัวให้คนแปลกหน้ารับรู้ด้วย?

ไม่ว่าใครจะยี้หรือไม่เผาผีออสการ์ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเงาวับจับตาและสีทองประกายของรางวัลตุ๊กตาทองยังคงจับใจและยั่วยวนเหล่านักฝันแห่งโลกภาพยนตร์อีกมากมาย จนต่อให้ยอดผู้ชมที่ชมการถ่ายทอดสดจะน้อยลงทุกปี ๆ (ออสการ์ปี 2021 มีผู้ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกแค่ 9.85 ล้านคน น้อยกว่ายอดผู้ชมต่อตอนของซีรีส์ The Big Bang Theory เสียอีก) แต่ก็ยังมีนักแสดงและคนทำหนังอีกมากมายที่วาดฝันถึงการได้ใส่ชุดราตรีหรูหราไปปรากฏตัวบนพรมแดงในค่ำคืนแห่งมนตร์ขลังนี้

ไม่ว่าใครจะรักหรือชังเจ้ารางวัลตุ๊กตาทองนี้อย่างไร แต่คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ในช่วงเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษ นี่คืออิเวนต์และค่ำคืนที่เปลี่ยนชีวิตของใครหลายคนไปตลอดกาล

คอลัมน์ History of ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงจะขอพาผู้อ่านย้อนกลับไปสำรวจประวัติศาสตร์ความเป็นมา รวมถึงเหตุการณ์ความวายป่วงต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นกับค่ำคืนของงานประกาศรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกภาพยนตร์นี้ด้วยกัน

ก่อนเป็นออสการ์

ย้อนกลับไปในยุค 1920s คือช่วงเวลาที่ประเทศในโลกตะวันตกเพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์สงครามโลกครั้งแรก การฟื้นตัวจากสงครามและความยากลำบากทำให้ผู้คนโหยหาและกระหายสิ่งบันเทิงเริงใจ ซึ่งสิ่งบันเทิงที่ครองใจผู้คนในบรรยากาศหลังสงครามก็คือภาพยนตร์ จนทำให้เมื่อถึงช่วงปลายยุค 1920s อุตสาหกรรมภาพยนตร์ก็กลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด และใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสี่ของสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดที่ว่าฮอลลีวูดยุคนั้นผลิตหนังกันปีละกว่า 500 เรื่อง จนมีหนังเข้าใหม่ให้คนดูไปรับชมกันในโรงทุกสัปดาห์

แม้จะเป็นยุคเฟื่องฟูของภาพยนตร์ แต่ด้วยความใหม่ของสื่อบันเทิงชนิดนี้ แรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงยังไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐหรือให้ความสำคัญเท่ากับอุตสาหกรรมชนิดอื่น กระทั่ง Academy of Motion Picture Arts and Sciences หรือสถาบันแห่งศิลปะวิทยาการภาพยนตร์ถูกก่อตั้งขึ้นในปี 1927 ด้วยความตั้งใจของ หลุยส์ บี. เมเยอร์ ผู้บริหาร Louis B. Mayer Pictures Cooperation (ที่ในเวลาต่อมาจะเป็นหนึ่งในค่ายหนังที่มารวมตัวกันเป็น Metro-Goldwyn-Mayer หรือ MGM) ที่จะรวมห้าแขนงอาชีพหลักในวงการภาพยนตร์คือ นักแสดง, ผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์, ช่างเทคนิค และมือเขียนบท เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเป็นสหภาพ ทำให้ภาพลักษณ์ของวงการภาพยนตร์มีความจริงจังทัดเทียมอุตสาหกรรมอื่น และที่สำคัญคือการทำหน้าที่ช่วยกระจายเทคโนโลยีและวิทยาการทำภาพยนตร์ให้ทั่วถึง รวมไปถึงการเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนทำหนังในยุคที่ยังมีการเซ็นเซอร์หนังอย่างเข้มข้นด้วย
 

ในเดือนมกราคม ปี 1927 เมเยอร์เป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียก 36 เจ้ายุทธจักรแห่งฮอลลีวูที่ประกอบด้วย นักแสดง, ผู้กำกับ, โปรดิวเซอร์ และคนเขียนบท มารวมตัวกัน เพื่อนำเสนอไอเดียเรื่องการจัดตั้งองค์กรของคนทำหนังอย่างเป็นทางการ จนนำไปสู่การจัดงานเลี้ยงระดมทุนที่ผู้เข้าร่วมงานทั้ง 200 คนจะต้องเขียนเช็กจำนวน 230 ดอลลาร์ เป็นค่าเข้างาน ซึ่งผู้ร่วมงานในวันนั้นล้วนเป็นตัวจริงในแวดวงภาพยนตร์ และในเวลาต่อมาก็ได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกออสการ์รุ่นบุกเบิก

ออสการ์ครั้งแรกที่ยาวเพียงแค่ 15 นาที

“ผมค้นพบว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะจัดการกับพวกคนทำหนังก็คือการหาเหรียญตรามาแขวนคอพวกเขา …เมื่อมีถ้วยหรือรางวัลใด ๆ ก็ตาม พวกเขาจะยอมฆ่ากันเองเพื่อทำหนังอย่างที่ผมต้องการ และนั่นล่ะคือจุดเริ่มต้นของ Academy Award”

นั่นคือคำบอกเล่าจากปากของ หลุยส์ บี. เมเยอร์ ผู้ที่ในเวลาต่อมาจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ริเริ่มจัดงานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งแรกเมื่อปี 1927

งานมอบรางวัลออสการ์ครั้งแรก (ไม่ใช่ประกาศรางวัล เพราะทุกคนที่มาล้วนรู้ผลล่วงหน้ากันมาแล้ว) เกิดขึ้นในค่ำคืนของวันที่ 16 พฤษภาคม 1929 ณ โรงแรมรูสเวลต์ในลอสแองเจลิส ซึ่งบรรยากาศก็ไม่ต่างอะไรกับงานเลี้ยงมื้อค่ำที่จัดเพื่อประกาศการจัดตั้ง Academy Awards เมื่อปีก่อนหน้า มีผู้เข้าร่วมงาน 270 คน ไม่มีการถ่ายทอดสดทั้งทางวิทยุหรือโทรทัศน์ และส่วนของการมอบรางวัลนั้นกินเวลาแค่ 15 นาทีเท่านั้น

รางวัลที่แจกในงานออสการ์ครั้งแรกนี้ประกอบด้วย 12 สาขารางวัล (มีอีก 12 สาขาที่ส่งใบประกาศไปให้ถึงบ้านผู้ได้รับรางวัล) โดยผู้ได้รับรางวัลล้วนมาปรากฏตัวกันพร้อมหน้า ยกเว้นแค่ผู้ชนะรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมอย่าง เอมิล ยานนิงส์ จากหนังเรื่อง The Last Command และ The Way of All Flesh ซึ่งกว่าจะถึงวันงาน เขาได้เดินทางกลับไปยังเยอรมนีบ้านเกิด และเริ่มต้นอาชีพในฐานะนักแสดงคู่ขวัญกองทัพนาซี (ซึ่งทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เขาไม่สามารถหางานแสดงได้อีกเลย) 
 

ความพิเศษอีกประการหนึ่งของงานออสการ์ครั้งแรกก็คือการที่มันเป็นงานแรกและงานเดียวที่ออสการ์แบ่งรางวัลหนังยอดเยี่ยมออกเป็นสองประเภท คือประเภทหนังดราม่า ที่ 7th Heaven ของผู้กำกับ แฟรงก์ บอร์ซาจ ชนะไป และอีกประเภทหนึ่งคือประเภทหนังตลก ที่มอบให้กับ Two Arabian Knights ของ ลูอิส ไมล์สโตน นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลพิเศษให้กับสตูดิโอวอร์เนอร์บราเธอร์ส จากหนังเรื่อง The Jazz Singer และ ชาร์ลี แชปลิน จากการเขียนบท, โปรดิวซ์, แสดงนำ และกำกับในหนังเรื่อง The Circus ด้วย

ตุ๊กตาทองเวอร์ชั่นแรกสุดที่แจกในงานมอบรางวัลออสการ์ครั้งแรกถูกออกแบบโดย เซดริก กิบบอนส์ ประธานฝ่ายศิลป์ของสตูดิโอเอ็มจีเอ็มผู้ได้ชื่อว่าเป็นสไตลิสต์และฝ่ายศิลป์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในฮอลลีวูดยุคนั้น ด้วยความที่พ่อของเขาเป็นสถาปนิก กิบบอนส์จึงได้แรงบันดาลใจในการออกแบบฉากและองค์ประกอบในหนังด้วยวิถีทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะการนำสถาปัตยกรรมและศิลปะสไตล์อาร์ตเดโคที่กำลังรุ่งเรืองในยุคนั้นมาใช้ ซึ่งการออกแบบตุ๊กตาทองของเขาก็ได้แรงบันดาลใจมาจากสไตล์อาร์ตเดโคเช่นกัน

ตุ๊กตาทองเวอร์ชั่นต้นแบบมีความสูง 13 นิ้วครึ่ง ตั้งอยู่บนฐานรูปม้วนฟิล์มหนังที่มีช่อง 5 ช่อง สื่อความหมายถึงรางวัลออสการ์ห้าสาขาที่ถูกแจกในงานมอบรางวัลครั้งแรก ในตอนแรก ชื่ออย่างเป็นทางการของมันคือ Academy Award of Merit ก่อนที่จะถูกเรียกด้วยชื่อเล่นที่ถูกทำให้เป็นชื่อทางการว่า ออสการ์ ในปี 1939 ซึ่งไม่มีการบันทึกแน่ชัดว่าที่มาของชื่อนี้มาจากที่ใด แต่เรื่องที่โด่งดังที่สุดก็คือเรื่องราวของ มาร์กาเรต เฮอร์ริก บรรณารักษ์ประจำ Academy ที่ได้เห็นตุ๊กตาทองครั้งแรกแล้วร้องออกมาว่า หน้าตาเหมือนลุงออสการ์ของเธอไม่มีผิดเพี้ยน

ในช่วงแรก ๆ ตุ๊กตาทองก็ใช้หุ่นเงินนำมาชุบทองจริง ๆ แต่พอถึงยุค 1940s ซึ่งเป็นช่วงเวลาของสงครามโลกครั้งที่ 2 โลหะกลายเป็นวัสดุที่ขาดแคลนอย่างหนักเนื่องจากถูกนำไปใช้ในการสงครามหมด ยุคนี้ตุ๊กตาทองจึงกลายเป็นตุ๊กตาปูนปั้นทาสี แต่ก็มีสัญญาใจกันว่าเมื่อสงครามจบลงแล้ว ผู้ได้รางวัลสามารถนำเวอร์ชั่นปูนปั้นมาเปลี่ยนเป็นตุ๊กตาทองของจริงได้

ออสการ์ครั้งแรกที่ถูกถ่ายทอดสด

กว่าที่งานประกาศผลรางวัลออสการ์จะถูกถ่ายทอดสดออกอากาศทางโทรทัศน์ก็เมื่อล่วงเข้างานครั้งที่ 26 (ปี 1953) เข้าไปแล้ว (ก่อนหน้านั้นเป็นการออกอากาศทางวิทยุมาโดยตลอด) โดยมีผู้ชมเฝ้าหน้าจอรอดูถึง 34 ล้านคน พิสูจน์ว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการออสการ์ในปีนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จากที่ก่อนหน้านี้พวกเขาลังเลว่าจะเอางานประกาศรางวัลภาพยนตร์ไปฉายออกจอแก้ว ซึ่งเป็นคู่ปรับตัวร้ายที่กำลังมาแทนที่จอเงินหรือโรงหนังดีหรือไม่

นอกจากจะเป็นการถ่ายทอดสดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ งานประกาศรางวัลออสการ์ในค่ำคืนนั้นยังสร้างสถิติอีกมากมายที่เป็นที่น่าจดจำ โดยดาวเด่นในค่ำคืนนั้นก็คือหนังเรื่อง From Here to Eternity ที่กวาดออสการ์แปดตัวจนสามารถขึ้นมาตีเสมอหนังที่ได้รางวัลออสการ์มากที่สุดอย่าง Gone With the Wind (1939) ที่นั่งครองแชมป์มานานถึง 14 ปีได้

นอกจากนี้ นี่ยังเป็นปีแรกที่ ออร์เดรย์ เฮปเบิร์น สามารถคว้าออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงตัวแรกมาครองได้จากการรับบทเจ้าหญิงหนีเที่ยวใน Roman Holiday ซึ่งเบื้องหลังความสวยหยาดเยิ้มในภาพถ่ายคู่ออสการ์ตัวแรกและตัวเดียวในชีวิตก็คือความอลหม่านสุดขั้ว เนื่องจากในค่ำคืนเดียวกับการประกาศรางวัล เฮปเบิร์นติดขึ้นแสดงละครเวทีในบรอดเวย์ ด้วยเหตุนี้ ทันทีที่เธอลงจากเวที เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องรีบมาอารักขาและเปิดทางให้เธอบึ่งไปยังสถานที่จัดงานออสการ์ในนิวยอร์ก จนทันได้ยินชื่อของตัวเองถูกประกาศแบบเฉียดฉิว (ในปีนั้นการจัดงานออสการ์ถูกจัดขึ้นที่นิวยอร์กและฮอลลีวูด แล้วใช้การตัดต่อสลับกล้องช่วย)

เอ็มวีพีประจำค่ำคืนนั้นอีกคนหนึ่งก็คือ วอลต์ ดิสนีย์ ที่ถูกขานชื่อให้ขึ้นไปรับรางวัลถึงสี่ครั้งในค่ำคืนเดียว โดยเขาได้รับรางงัลจาก The Alaskan Eskimo (หนังสารคดีสั้นยอดเยี่ยม), The Living Desert (หนังสารคดียอดเยี่ยม), Toot, Whistle, Plunk and Boom (อนิเมชั่นขนาดสั่นยอดเยี่ยม) และ Bear Country (สารคดีขนาดสั้น two-reel ยอดเยี่ยม) ซึ่งทำให้เจ้าพ่ออนิเมชั่นผู้นี้กลายเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลออสการ์มากที่สุดในคืนเดียว แบบที่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครโค่นได้

เรื่องวุ่น ๆ ของวัยรุ่น (เก๋า) ออสการ์

แม้ว่าความนิยมของออสการ์จะเริ่มเสื่อมลงในยุคหลัง จากข้อหาว่าเป็นงานปาหี่ที่ดราม่าไม่แพ้หนังที่เข้าชิง แต่จริง ๆ แล้วหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ออสการ์ตั้งแต่ปีแรก ๆ ก็จะพบว่า ความดราม่ากับออสการ์นั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยแยกขาดจากกัน และที่จริงเหล่าวัยรุ่นออสการ์เขาก็มีเรื่องดราม่ากันมาตั้งแต่สมัยเป็นงานแบบยังไม่ถ่ายทอดสดด้วยซ้ำ

เรามาเริ่มไล่ไปด้วยกัน
 

ออสการ์ที่ผิดฝาผิดตัว

ใครยังจำโมเมนต์ ‘จดหมายผิดซอง’ ในงานประกาศรางวัลออสการ์ปี 2017 ที่ La La Land ถูกประกาศให้เป็นหนังยอดเยี่ยมของค่ำคืนนั้นได้เพียงไม่กี่อึดใจ ก่อนที่จะมีการประกาศในภายหลังว่าผู้ชนะสาขาหนังยอดเยี่ยมที่แท้จริงคือ Moonlight ได้บ้าง? ที่จริงแล้วนั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดโมเมนต์ออสการ์ผิดฝาผิดตัว เพราะย้อนกลับไปในปี 1934 เหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อพิธีกร วิล โรเจอร์ ประกาศชื่อผู้คว้าออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่แทนที่จะเอ่ยชื่อเต็ม เจ้าตัวกลับร้องว่า “เฮ้ย! แฟรงก์! ขึ้นมารับรางวัลสิเพื่อน” โดยลืมไปว่าในปีนั้นมีผู้กำกับชื่อแฟรงก์เข้าชิงสองคน คือ แฟรงก์ แคปรา จาก Lady for a Day และ แฟรงก์ ลอยด์ จาก Cavalcade ซึ่งในภายหลัง แฟรงก์ แคปราผู้ดีใจเก้อได้รำลึกความหลังถึงเหตุการณ์นั้นว่า การเดินกลับไปนั่งที่หลังจากได้รู้ว่าตัวเองไม่ใช่ผู้ชนะนั้นเป็นเส้นทางการเดินที่ “ยาวนาน เศร้าสลด และหัวใจสลายที่สุด” (แต่ในปีถัดมาเขาก็ได้รางวัลในสาขานี้จาก It Happened One Night)

แต่ถ้าคิดว่าการเรียกผิดตัวว่าเจ็บแล้ว ลองมาเจอการมอบให้ใครก็ไม่รู้ไปเลยดีกว่า! ย้อนกลับไปในงานประกาศรางวัลออสการ์ปี 1938 ชื่อของ อลิซ แบรดี ถูกประกาศให้เป็นผู้คว้ารางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจากหนังเรื่อง In Old Chicago แต่เมื่อถึงวันงาน แบรดีกลับป่วยนอนซมจนไม่สามารถไปร่วมงานได้ ทำให้ต้องมีตัวแทนขึ้นไปรับรางวัลแทน

แต่ความอิหยังวะก็คือ หลังจบงานนั่นล่ะ ทีมงานถึงมาเอ๊ะกันว่าผู้ชายที่ขึ้นไปรับรางวัลแทนแบรดีคือใครนะ ซึ่งพอควานหาตัวก็พบว่า ชายคนนั้นหาได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับกองถ่ายหรือตัวแบรดีเองทั้งสิ้น! และกว่าจะรู้ตัว ตุ๊กตาทองของแบรดีก็หายไปพร้อมกับสายลม ทิ้งไว้แต่ปริศนาที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า ชายคนนั้นคือใคร

ออสการ์ที่ปฏิเสธได้ (The Oscar You Can Refuse)

ไม่ใช่ทุกคนที่วาดฝันถึงตุ๊กตาทอง ในประวัติศาสตร์งานประกาศรางวัลออสการ์ มีหลายครั้งที่ผู้ชนะกลับปฏิเสธที่จะมารับรางวัลบนเวทีอันทรงเกียรติ อย่างในปี 1971 ที่ตัวเต็งสาขานำชายยอดเยี่ยมอย่าง จอร์จ ซี. สก็อตต์ จากหนังสงคราม Patton แสดงท่าทียี้ออสการ์ชัดเจน โดยประกาศว่านี่คือ “ตลาดขายเนื้อความยาวสองชั่วโมง” แต่เมื่อถึงวินาทีที่พิธีกรของค่ำคืนนั้นอย่าง โกลดี ฮอว์น เปิดซองรางวัลนำชายแล้วเห็นชื่อผู้ชนะฝ เขาก็ถึงกับอุทานออกมาว่า “พระเจ้าช่วย… จอร์จ ซี. สก็อตต์”

อีกหนึ่งคนไม่เอาออสการ์ในตำนานก็คือ มาร์ลอน แบรนโด แต่แทนที่จะไม่มาร่วมงาน เขากลับส่งตัวแทนเป็นนักแสดงและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกันพื้นเมือง ซาชีน ลิตเทิลฟีเธอร์ มาร่วมงานแทน และเมื่อถึงเวลาที่ชื่อของแบรนโดถูกประกาศให้ขึ้นไปรับรางวัลสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Godfather ลิตเทิลฟีเธอร์ในชุดพื้นถิ่นก็ขึ้นไปอ่านประกาศแสดงจุดยืนของแบรนโดผู้ต้องการเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับทีมงานในกองถ่ายที่เป็นชาวอินเดียนแดง “มาร์ลอน แบรนโด แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งที่เขาไม่อาจมารับรางวัลนี้ อันเนื่องมาจากการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อชาวอเมริกันพื้นเมืองที่อยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโทรทัศน์”

ออสการ์และสีผิว

ด้วยความที่เป็นรางวัลซึ่งมีอายุยาวนานเกือบศตวรรษ ออสการ์จึงผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านช่วงเวลายุคมืดที่สะท้อนอคติและมายาคติของสังคมในช่วงเวลานั้น ๆ จนมีใครเคยกล่าวไว้ว่า ออสการ์คืองานประกาศรางวัลที่สะท้อนภาพสังคมอเมริกันได้เจ็บแสบที่สุด

ย้อนกลับไปในงานออสการ์ปี 1940 เมื่อ แฮตตี แม็คแดเนียล สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นคนผิวดำคนแรกที่คว้ารางวัลออสการ์ จากบทบาทคนใช้ปากร้ายใจดีใน Gone With the Wind แต่ก่อนที่ชื่อของเธอจะถูกประกาศ แม็คแดเนียลต้องเผชิญกับการถูกปฏิบัติในฐานะพลเมืองชั้นสอง ด้วยความที่ยุคนั้นยังมีกฎการแบ่งแยกพื้นที่ระหว่างคนขาวและคนดำ  โปรดิวเซอร์หนังต้องไปดีลกับโรงแรมซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน เพื่อให้แม็กแดเนียลสามารถเข้ามาร่วมงานได้ แม้เมื่อเธอเข้ามาร่วมงานได้แล้ว เธอก็ยังถูกจัดให้นั่งโต๊ะแยกกับทีมงานและนักแสดงซึ่งเป็นเพื่อนของเธอ

และเชื่อหรือไม่ว่ากว่าที่คนผิวดำจะได้รับออสการ์ตัวที่สองก็อีก 24 ปีถัดมา เมื่อ ซิดนีย์ พอยเทียร์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นคนดำคนแรกที่คว้าออสการ์สาขานำชายยอดเยี่ยมจากบทบาทใน Lilies in the Field และกว่าที่ออสการ์ตัวที่สองในสาขานี้จะเวียนมาถึงคนผิวดำอีกครั้ง พวกเขาก็ต้องรอไปอีก 38 ปี กระทั่ง เดนเซล วอชิงตัน คว้ามาได้จากบทบาทในหนัง Training Day (2001)

ถ้าการเป็นคนดำในฮอลลีวูดว่าน่าน้อยใจแล้ว ลองเป็น ‘ผู้หญิงผิวดำ’ ในฮอลลีวูดดูสิ เพราะกว่าที่ออสการ์จะมอบรางวัลนักแสดงนำหญิงให้นักแสดงหญิงผิวดำ ก็เมื่อออสการ์จัดมาเป็นปีที่ 73 แล้ว โดยผู้ที่สร้างประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ก็คือ ฮัลลี แบร์รี จากบทบาทใน Monster's Ball

“นี่คือช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวของฉันมาก นี่คือจุดเริ่มต้นของผู้หญิงผิวสีไร้หน้าไร้ชื่อทุกคน ที่กำลังจะได้รับโอกาส เพราะประตูได้เปิดให้คุณแล้วในค่ำคืนนี้”

แต่ความน่าเศร้าก็คือ หลังจากค่ำคืนนั้น ก็ยังไม่มีผู้หญิงผิวดำ (และผิวสีไหน ๆ) ที่ได้เดินผ่านประตูบานนั้นอีกครั้ง เพราะจนถึงทุกวันนี้ แบร์รีก็ยังคงยืนหนึ่งเป็นผู้หญิงผิวดำคนเดียวในประวัติศาสตร์ที่ชนะออสการ์สาขานำหญิง ซึ่งในปี 2016 เธอก็ได้กล่าวคำที่ทำให้สปีชเมื่อ 15 ปีที่แล้วของเธอกลายเป็นคำชวนเศร้าไปในทันที “การได้มาอยู่ตรงนี้เป็นเวลาเกือบ 15 ปี โดยที่ยังไม่มีผู้หญิงผิวสีคนไหนได้ก้าวผ่านประตูบานนั้นเข้ามาอีก มันทำให้ฉันใจสลาย ณ เวลานั้น ฉันคิดว่าช่วงเวลานั้นคือช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวฉันจริง ๆ แต่เมื่อลองมาคิดดูแล้ว บางทีมันอาจเป็นแค่ช่วงเวลาของฉันคนเดียวจริง ๆ”

ออสการ์ที่เป็น ‘ที่สุด’

มาว่าด้วยเรื่อง ‘ที่สุด’ ของออสการ์กันบ้าง แต่เราไม่ได้จะมาพูดถึงหนังที่คว้าออสการ์กลับบ้านไปได้เยอะที่สุด (Ben-Hur, Titanic และ The Lord of the Rings: The Return of the King ได้ไปเรื่องละ 11 ตัวเท่ากัน) แต่จะขอยกเหตุการณ์น่าประทับใจที่เราขอให้เป็น ‘ที่สุด’ ของออสการ์กัน

เริ่มที่โมเมนต์ ‘ช็อกที่สุด’ ในประวัติศาสตร์ออสการ์ ถึงขนาดที่คนในงานต้องอุทานอย่างเก็บทรงไม่อยู่ว่า ‘ตาเถร!’ ก็คือเหตุการณ์ในงานออสการ์ปี 1974 ระหว่างที่นักแสดงชาวอังกฤษ เดวิด นีเวน กำลังกล่าวเปิดเพื่อเชิญ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ ขึ้นมาประกาศรางวัลหนังยอดเยี่ยมประจำปีนั้น ในช่วงเวลาที่ทุกคนตั้งตารอที่สุดในงาน ก็ปรากฏแขกที่ไม่ได้รับเชิญอย่างศิลปินและนักเคลื่อนไหว โรเบิร์ต โอเปล วิ่งขึ้นมาบนเวทีในสภาพชุดวันเกิดตั้งแต่หัวจรดเท้า พร้อมชูสองนิ้วเป็นสัญลักษณ์ Peace Sign ใส่กล้อง!

แต่ท่ามกลางความตกตะลึงของแขกในงาน นีเวนก็แก้สถานการณ์ด้วยการพูดอย่างขบขันว่า “ไม่น่าอัศจรรย์ใจหรอกหรือ เมื่อคิดว่าเสียงหัวเราะเดียวในชีวิตที่ชายคนหนึ่งได้รับ ต้องแลกมาด้วยการแก้ผ้าโชว์ ‘จุดด้อย’ ของตัวเอง”

‘สั้นที่สุด’ (ที่ไม่ได้หมายถึงของลับของโอเปลแต่อย่างใด) คือสปีชการรับรางวัลเชิดชูเกียรติของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก ในงานออสการ์ปี 1968 ที่เจ้าตัวเดินขึ้นมารับรางวัลและกล่าวสปีชสุดทรงพลังว่า “ขอบคุณ” แล้วเดินจากไป ซึ่งก็น่าจะมาจากการที่ฮิตช์ค็อกเป็นผู้กำกับที่ไม่เคยชนะออสการ์เลยตลอดชีวิตการทำงานของเขา แต่ถ้าพูดได้ ฮิตช์ค็อกก็คงพูดว่า ‘แล้วผมต้องแคร์ -่าอะไรล่ะ’

‘ยาวที่สุด’ ตกเป็นของสปีชการรับรางวัลนำหญิงยอดเยี่ยมของ เกรียร์ การ์สัน ในปี 1943 ที่ขึ้นมารับรางวัลโดยเปิดสปีชว่า “ขอบคุณค่ะ ที่จริงแล้วสิ่งที่ฉันอยากจะพูดก็มีเท่านี้ แต่ในเมื่อนี่คือช่วงเวลาสูงสุดในชีวิต ฉันหวังว่าพวกคุณคงไม่ถือสาหากฉันอยากจะขยายความคำว่า ‘ขอบคุณ’ สักนิด” และคำว่า ‘นิดเดียว’ ของการ์สันก็คือการร่ายสปีชยาวห้านาที! (รวมทั้งหมดเป็นเจ็ดนาที) จนนำมาซึ่งกฎสปีช 45 วินาทีที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน

แต่กฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้น อย่างในปี 2020 เมื่อ Parasite สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นหนังจากเอเชียเรื่องแรกที่คว้ารางวัลหนังยอดเยี่ยม (พ่วงรางวัลใหญ่ทั้งผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทยอดเยี่ยม และหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม) เมื่อถึงเวลาสำคัญที่ทีมงานทุกคนควงแขนกันขึ้นมารับรางวัลที่นำความภาคภูมิใจไม่ใช่แค่คนเกาหลีเท่านั้น แต่รวมถึงคนเอเชียนทั้งหมด แน่นอนว่าเวลาเพียง 45 วินาทีย่อมไม่เพียงพอให้ทีม Parasite ได้แบ่งปันความภาคภูมิใจ เมื่อเสียงดนตรีเริ่มบรรเลง อันเป็นสัญญาณเตือนเวลาที่หมดลง เหล่าคนฮอลลีวูดที่นำทีมโดย ทอม แฮงก์ส และ ชาร์ลิซ เธอรอน ก็พากันตะโกนว่า “พูดเลย! พูดเลย! พูดเลย!” เพื่อยืดช่วงเวลาแห่งความภาคภูมิใจนี้ให้ได้แบ่งปันกันถ้วนหน้า

Robert Osborne. 85 Years of the Oscar: The Official History of the Academy Awards. Abbeville Press Publishers, 2013