สำรวจปรัชญา ‘น้อยนิดมหาศาล’ ผ่านงานดีไซน์ของชาวสแกนดิเนเวียน
เชื่อว่าคนที่รักการไถ Pinterest เพื่อหาแรงบันดาลใจในการแต่งบ้านช่องห้องหับในช่วงนี้ ย่อมต้องรู้สึกได้ว่า เทรนด์การแต่งบ้านแบบโมเดิร์นมินิมอลที่เน้นความน้อยแต่โก้ เรียบแต่เท่ นั้นกำลัง ‘มา’ สุด ๆ ซึ่งหากใครที่แอดวานซ์ไปถึงบ้านฟอลบรรดาแอคเคานท์ร้านขายเฟอร์นิเจอร์วินเทจและเรโทร ก็จะเห็นสมรภูมิการแย่งกัน CF สินค้าสุดฮิตอย่างเก้าอี้ไม้สไตล์แสนเนียบ เก้าอี้โครงเหล็กที่ดูแสนซิมเปิล ไปจนถึงโคมไฟที่มีตัวโคมซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ดูแปลกตา เรียกว่าร้านไหนได้ของแนว ๆ นี้มา เราที่มาที่หลังแค่ไม่กี่นาทีก็จะเห็นว่าของชิ้นนั้นโดนจับจองไปแล้ว
หรือหากไม่ยังไม่เคยคุ้นชินกับบรรดาไอเทมที่เราว่ามานี้ คนที่ขยันแต่งบ้านอยู่ตลอดเวลา (วงการนี้เข้าแล้วออกยาก… หรืออาจไม่มีทางออกไปได้) ก็ย่อมต้องคุ้นเคยกับแบรนด์ IKEA ที่มีจุดเด่นเป็นบรรดาเฟอร์นิเจอร์และของแต่งบ้านสไตล์แสนเรียบง่าย แต่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และใช้ได้จริง...
ที่เรากล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะบอกว่า ดีไซน์แสนเรียบแบบน้อยแต่น้อยมหาศาล อันเป็นบรรดางานออกแบบและเฟอร์นิเจอร์ที่เรากล่าวไปข้างต้น และเป็นสิ่งที่เรากำลังจะต้องเห็นไปอีกนานนี้ ก็คือสัญญาณการกำลัง (กลับ) มาแรงแบบแซงทุกเทรนด์ดีไซน์ของสิ่งที่เรียกว่า Scandinavian Design เทรนด์การออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของใช้ในบ้านที่เคยรุ่งเรืองสุด ๆ ในช่วงยุค 50s - 60s และส่งผ่านแนวคิดในการออกแบบมาสู่ปรัชญาประจำแบรนด์ของแบรนด์แต่งบ้านสุดฮิตจากสวีดิชอย่าง IKEA อีกด้วย!
‘เรียบง่าย เนียบ สบายตา ใช้งานได้จริง’ คือคำที่ถูกใช้อธิบายคุณสมบัติของงานดีไซน์จากแถบสแกนดิเนเวียน ซึ่งนอกจากกลุ่มคำเหล่านี้แล้ว ในยุคที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดที่เรียกว่ายุคทองของ Scandinavian Design คำอธิบายงานดีไซน์จากกลุ่มประเทศทางยุโรปเหนือแห่งนี้ยังครอบคลุมไปถึง ‘ประชาธิปไตยในงานออกแบบ’ รวมไปถึง ‘การได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ’
แล้วที่มาที่ไปของงานออกแบบสไตล์สแกนดิเนเวียนเป็นอย่างไร? อะไรคือเฟอร์นิเจอร์สไตล์ประชาธิปไตย? แล้วใครบ้างที่เป็นตัวพ่อตัวแม่ของงานออกแบบแห่งยุคกลางศตวรรษที่ 20 นี้? GroundControl ขอเชิญทุกคนสวมเสื้อกันหนาวแล้วขึ้นเครื่องย้อนเวลาไปสำรวจสิ่งที่เรียกว่า Scandinavian Design ด้วยกันได้เลย!!
Scandinavian? Design?
ในอดีต คำว่า สแกนดิเนเวีย ถูกใช้ครอบคลุมพื้นที่สามอาณาจักรแห่งยุโรปเหนือคือ เดนมาร์ก, นอร์เวย์ และสวีเดน แต่ในปัจจุบัน ฟินแลนด์และไอซ์แลนด์ ก็ถูกผนวกเข้ามาอยู่ภายใต้ร่มเงาของคำว่า สแกนดิเนเวีย ด้วย ด้วยเหตุนี้ Scandinavian Design จึงมีความหมายตรงตัวที่สื่อถึงงานออกแบบที่มาจากทั้ง 5 ประเทศแห่งยุโรปเหนือเหล่านี้นั่นเอง
คำว่า Scandinavian Design เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในช่วงยุค 1950s โดยมีต้นกำเนิดมาจากงานเอ็กซ์โปแสดงสินค้าที่จัดขึ้นในอเมริกาในช่วงยุค 1940s - 1950s โดยในช่วงนี้ก็เป็นครั้งแรกที่ชาวอเมริกันได้เบิกเนตรมูฟเม้นต์งานออกแบบยุคโมเดิร์นที่กำลังเกิดขึ้นในอีกซีกฟากหนึ่งของโลก และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวอเมริกันและประเทศอื่น ๆ ในฝั่งตะวันตกก็เกิดอาการ ‘คลั่ง’ สินค้าและงานดีไซน์จากประเทศแถบสแกนดิเนเวียเป็นอย่างมาก
ไวกิงและพืชพันธุ์แห่งสแกนดิเนเวียน
ก่อนจะไปดูกันต่อว่าหน้าตาของงานดีไซน์ฝั่งสแกนดิเนเวียนที่คนอเมริกันในยุคนั้นเขากรี๊ดกันสลบในยุคนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะขอเท้าความถึงที่มาที่ไปของบริบทที่ส่งอิทธิพลต่อรูปแบบของงานดีไซน์สไตล์สแกนดิเนเวียนกันก่อน
แม้ว่าชื่อเสียงของ Scandinavian Design จะมาพร้อมกับภาพจำเป็นบรรดาเฟอน์นิเจอร์สไตล์เรียบคลีนซึ่งเป็นที่โด่งดังในอเมริกาในช่วงยุค 1950s แต่ที่จริงแล้วคลื่นความเปลี่ยนแปลงของงานออกแบบสไตล์ยุโรปเหนือนั้นเริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ก่อนยุค 1900s อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กระแสนวศิลป์ หรือ Art Nouveau กำลังเบ่งบานในยุโรป และแน่นอนว่าประเทศในยุโรปเหนือโดยเฉพาะเดนมาร์ก, สวีเดน และฟินแลนด์ ก็ได้รับอิทธิพลจากมูฟเม้นต์ทางศิลปะที่เปิดศักราชใหม่ให้กับโลกศิลปะนี้เช่นกัน
Art Nouveau นั้นเป็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในโลกศิลปะที่เริ่มต้นขึ้นในกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ก่อนจะขยายไปยังศูนย์กลางของโลกศิลปะในตอนนั้นอย่างประเทศฝรั่งเศส แล้วจึงแพร่ขยายไปทั่วยุโรป โดยเป้าหมายของกลุ่มศิลปิน Art Nouveau ก็คือพยายามดันให้ภูมิปัญญางานช่าง งานฝีมือ และงานออกแบบต่าง ๆ ขึ้นมามีคุณค่าทัดเทียมกับบรรดางานศิลปะวิจิตรศิลป์ (Fine Art) ที่เน้นให้คุณค่าทางศิลปะกับงานประเภทงานจิตรกรรมและประติมากรรมเป็นหลัก ซึ่งกระแสความเปลี่ยนแปลงคลื่นลูกใหม่นี้ก็สอดคล้องกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวียนที่มีภูมิปัญญางานสร้างสรรค์ ปรัชญาวิถีชีวิต และเรื่องเล่าท้องถิ่นของตนเอง และที่สำคัญที่สุด ดินแดนทางตอนเหนือของยุโรปเหล่านี้ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรป่าไม้มากมายที่ทำให้ช่างและเหล่าศิลปินพื้นบ้านสามารถสร้างสรรค์อุปกรณ์ของใช้ภายในบ้านด้วยภูมิปัญญาที่ได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ รวมไปถึงแสดงอัตลักษณ์ทางกลุ่มชาติพันธุ์ของตนผ่านการเล่าเรื่องตำนานพื้นบ้านในงานออกแบบได้
การได้รับอิทธิพลจากกระแสศิลปะ Art Nouveau ทำให้อัตลักษณ์ในงานออกแบบของกลุ่มประเทศสแกนดิเวียในช่วงก่อนยุค 1900s แข็งแกร่งมาก ศิลปินและช่างฝีมือในแต่ละประเทศล้วนทำงานเพื่อสะท้อนเรื่องเล่าพื้นเพของตน โดยเฉพาะศิลปินในประเทศนอร์เวย์ที่ดึงเอาเรื่องราวเทพนิยายพื้นบ้านและตำนานไวกิงอันเป็นบรรพบุรุษของพวกเขามาถ่ายทอดลงในงานออกแบบของตน
และการมาถึงของงาน Stockholm Exhibition of Arts and Industries ที่เกิดขึ้นในปี 1897 ก็คือการเปิดตัวงานดีไซน์สไตล์สแกนดิเนเวียนสู่สายตาชาวโลก โดยดาวเด่นของงานที่เป็นดังจุดเริ่มต้นของงานออกแบบสไตล์โมเดิร์นในแบบสแกนดิเนเวียนในครั้งนั้นก็คือผลงานการออกแบบแจกันกระเบื้องที่ Alf Wallander และ Nils Erik Lundstršm ออกแบบให้กับโรงงานผลิตเครื่องกระเบื้องชื่อดังสัญชาติสวีดิชอย่าง Ršrstrand โดยจุดเด่นของแจกันชิ้นนี้ก็คือลวดลายดอกไม้สีเหลืองแบบนูนต่ำที่ประดับอยู่รอบตัวแจกัน อันเป็นการนำดอกไม้พื้นถิ่นของภูมิภาคสแกนดิเนเวียนมาถ่ายทอดไว้ในงานออกแบบที่กลายมาเป็นความภาคภูมิใจของชาวสแกนดิเนเวียน
น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้น้อยนิดมหาศาล และประชาธิปไตยในงานออกแบบ
แต่หากจะมีสิ่งใดที่นิยามความเป็น Scandinavian Design ที่ทำให้งานช่างและงานออกแบบในแถบนี้แตกต่างออกไปจากมูฟเมนต์ Art Nouveau ในที่อื่น ๆ ซึ่งเน้นความชดช้อยและการประดิษฐ์ประดอยเพื่อสร้างความงดงามเพลินตา สิ่งนั้นก็คงจะเป็นการลดทอนสิ่งฟุ่มเฟือยไร้ความจำเป็นออกไปจากการออกแบบ ซึ่งบริบทสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ความมัธยัสถ์ในงานออกแบบของประเทศแถบสแกนดิเนเวียก็คือผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียได้เข้าสู่ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยสังคมนิยม (Social Democracy) ซึ่งส่งอิทธิพลสำคัญให้นักออกแบบชาวสแกนดิเนเวียนทั้งหลายคิดหาทางออกแบบข้าวของเครื่องใช้ที่ไม่เพียงให้ประโยชน์ทางสายตา แต่ยังเน้นความคุมค่าและใช้งานได้จริง ที่สำคัญก็คือ การเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนทั่วไปก็สามารถเอื้อมถึงและครอบครองได้ ไม่ได้สวยและแพงเนื่องด้วยการประดับประดาเน้นความหรูหราฟุ่มเฟือยจนมีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของได้ การออกแบบโดยเน้นประโยชน์ใช้สอยและมุ่งให้ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของนี้จึงทำให้ Scandinavian Design ในยุคนั้นถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Decmocratic Design หรือประชาธิปไตยในงานออกแบบ ที่หลีกเลี่ยงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรูหราฟุ่มเฟือยที่ใช้เป็นเครื่องแสดงออกทางฐานะ แต่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ว่าคนรวยหรือคนที่มีฐานะปานกลางก็สามารถครอบครองได้ และนั่นก็กลายมาเป็นหัวใจของ Scandinavian Design ตลอดมา
ตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เมื่อพูดถึง Scandinavian Design คนทั่วไปจึงนึกถึงงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นหลัก ซึ่งที่ตามมากับภาพเฟอร์นิเจอร์สไตล์สแกนดิเนเวียนก็คือความเรียบง่าย มินิมอล และกลิ่นอายของธรรมชาติซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวนอร์ดิกที่อาศัยอยู่กับป่าไม้ธรรมชาติ
เพื่อให้เห็นภาพของเฟอร์นิเจอร์สแกนดิเนเวียนมากขึ้น ต่อไปนี้เราจะขอยกตัวอย่างผลดีไซเนอร์ตัวพ่อตัวแม่และผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบบ Scandinavian Design ของพวกเขาที่ได้กลายเป็นภาพจำของงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์แบบสแกนดิเนเวียนไปแล้ว
Alvar Aalto และเก้าอี้รูปตัว L
หากลองพิมพ์ชื่อ Alvar Aalto ลงในช่องค้นหาของ Google สิ่งที่จะปรากฏขึ้นมาในทันทีก็คือภาพสตูลไม้ขารูปตัว L และเก้าอี้ทรงดัดที่เราต่างคุ้นเคยและเห็นกันจนชินตาในปัจจุบัน แต่ที่จริงแล้วรูปทรงเก้าอี้แบบนี้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงยุค 1940s ซึ่งผู้ที่ให้กำเนิดนั้นก็คือสถาปนิกและนักออกแบบชาวฟินนิชผู้นี้นี่เอง
ที่จริงแล้ว Alvar Aalto ร่ำเรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และเขาก็มีผลงานการออกแบบงานสถาปัตย์สุดไอคอนิกมากมาย อย่างไรก็ตาม ผลงานที่กลายเป็นภาพจำของเขามากกว่ากลับกลายเป็นงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ซึ่งมีเอกลักษณ์เป็นการใช้เส้นโค้งและลวดลายไม้ที่ดูเป็นธรรมชาติ โดยความสนใจในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของเขาเริ่มขึ้นหลังจากที่เขาแต่งงานกับ Aino Marsio ดีไซเนอร์ผู้กลายมาเป็นทั้งคู่ชีวิตและเพื่อนร่วมงานกันในปี 1924 ซึงทั้งคู่ก็ได้ร่วมกันคิดค้นหาวิธีที่จะ ‘งอ’ ไม้เพื่อที่จะพลิกวิธีการประกอบสร้างเฟอร์นิเจอร์แบบเดิม ๆ ที่ต้องอาศัยตัวซัพพอร์ตอื่นเพื่อมาดามชิ้นส่วนเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญอย่าง ‘เก้าอี้’ ที่ตัวพนักพิงกับตัวที่นั่งไม่อาจชิ้นเดียวกันได้
ซึ่งผลลัพธ์ของเทคนิคการบิดไม้ให้เป็นรูปทรงโค้งของ Alvar Aalto ก็ออกมาเป็น Paimio Chair (1931-1932) เก้าอี้นั่งพักผ่อนรูปทรงโค้งที่โด่งดังที่สุดของเขา และยังเป็นเก้าอี้ที่พลิกโฉมหน้าการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของศตวรรษนั้นด้วย
นอกจากผลงานเก้าอี้ที่มาปฏิวัติวงการด้วยรูปทรงโค้งสวยงาม อันโดดเด่นออกมาจากเทรนด์การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในยุคนั้นที่นิยมใช้เส้นตรงตัดเรียบ Alvar Aalto ยังได้ใช้เทคนิคการงอไม้นี้ในการทำเก้าอี้ที่กลายมาเป็นรูปทรงของเก้าอี้ที่เราคุ้นตากันในปัจจุบันอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เก้าอี้ L-Leg stools (1932-1933). Y-Leg stools (1946-1947) หรือ Fan-leg stools (1954)
Arne Jacobson และเก้าอี้รูปไข่
ในปี 1956 สถาปนิกชาวเดนิช Arne Jacobsen ได้รับมอบหมายให้ออกแบบโรงแรมSAS Royal Hotel แห่งกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งในที่สุดแล้วโรงแรมแห่งนี้ก็ได้กลายเป็นดังพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงานของ Jacobsen ที่ลงมือออกแบบทุกอย่างเองตั้งแต่ตัวตึกไปจนถึงบรรดาเฟอร์นิเจอร์ด้านใน โดยดาวเด่นที่แจ้งเกิดในการรับงานออกแบบครั้งนั้นก็คือ เก้าอี้รูปทรงไข่หรือ Egg Chair ที่ปฏิวัติวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ด้วยความล้ำและอารมณ์ขันแบบมีสไตล์
โดยในตอนที่ Jacobsen จะต้องออกแบบล็อบบีและบริเวณรีเซพชั่นของโรงแรม เขาก็ได้ตั้งโจทย์การออกแบบให้ตัวเองเป็นธีม ‘Modern Garden’ ที่เมื่อแรกก้าวเข้ามาในโรงแรม ผู้มาเยือนก็จะได้ความรู้สึกเหมือนกับเดินเข้ามาในสวนที่ประดับประดาด้วยงานออกแบบล้ำนำสมัย ซึ่งนั่นก็เป็นครั้งแรกที่เก้าอี้รูปทรงไข่ได้แจ้งเกิด และกลายเป็นดีไซน์ที่อยู่คู่ทุกยุคสมัย
Verner Panton และเก้าอี้รูปตัว S
Panton Chair คือผลงานการออกแบบของดีไซเนอร์ชาวเดนิช Verner Panton ที่ได้ชื่อว่าเป็นเก้าอี้พลาสติกทรงดัดตัวแรกของโลก และถือเป็นหนึ่งในผลงานออกแบบชิ้นสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ Danish Design
Panton เก้าอี้พลาสติกรูปตัว S สีสันสดใสนี้ในปี 1959 โดยงานออกแบบชิ้นนี้ก็เป็นผลลัพธ์จากความหลงใหลในคุณสมบัติของพลาสติกที่ Panton ซุ่มทดลองมาเป็นเวลานาน ซึ่งการใช้พลาสติกมาเป็นวัสดุในการผลิตเฟอร์นิเจอร์นั้นก็เป็นอะไรที่ใหม่และโดดเด่นมากในยุคที่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ยังวนเวียนอยู่กับไม้และเหล็ก
PH-lamp
และสำหรับงานดีไซน์สไตล์สแกนดิเนเวียนที่กำลังกลับมาบูมสุด ๆ ในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเจ้าโคมไฟที่มีเอกลักษณ์เป็นตัวบังแสงซ้อนกันหลายเลเยอร์ โดยเจ้าโคมไฟรูปร่างหน้าตาสุดเนี้ยบแต่เปี่ยมด้วยลูกเล่นนี้ก็มีชื่อว่า PH-lamp อันเป็นชื่อเรียกงานออกแบบโคมไฟใด ๆ ก็ตามที่มาจาก Poul Henningsen ดีไซเนอร์ชาวเดนิชคนสำคัยแห่งช่วงยุค 1930s
โดยเอกลักษณ์ของ PH-lamp ก็คือการใส่ตัวโค้มซ้อนกันหลายชั้นซึ่งทำให้แสงที่ออกมานั้นหาใช่แสงตรง ๆ จากหลอดไฟ แต่จะเป็นแสงที่สะท้อนกับตัวโคมแล้วค่อยถูกปล่อยออกมาให้ความสว่างในห้อง ซึ่งทำให้ได้แสงที่นวลสบายตามากกว่าแสงที่ส่องมาจากหลอดไฟโดยตรง
อ้างอิง: http://archive.artsmia.org/modernism/e_SM.html https://medium.com/.../the-pioneers-of-scandinavian... https://viesso.com/.../danish-furniture-and-the-history... https://www.designindex.org/.../scandinavian-design.html