ครั้งหนึ่ง ตัวแม่เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต มารีนา อับราโมวิช เคยกล่าววลีในตำนานว่า “ศิลปะต้องงดงาม ศิลปินก็ต้องงดงามเช่นกัน” (“Art must be beautiful, the artist must be beautiful”)

ครั้งหนึ่ง ตัวแม่เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต มารีนา อับราโมวิช เคยกล่าววลีในตำนานว่า “ศิลปะต้องงดงาม ศิลปินก็ต้องงดงามเช่นกัน” (“Art must be beautiful, the artist must be beautiful”)

Abject Art ศิลปะแห่งความโสโครก อาจม และความน่ารังเกียจ

ครั้งหนึ่ง ตัวแม่เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต มารีนา อับราโมวิช เคยกล่าววลีในตำนานว่า “ศิลปะต้องงดงาม ศิลปินก็ต้องงดงามเช่นกัน” (“Art must be beautiful, the artist must be beautiful”)

ใครที่ติดตามผลงานของอับราโมวิชก็อาจตะขิดตะขวงใจว่า นิยามศิลปะในความหมายของอับราโมวิชนั้นช่างขัดกับผลงานการแสดงหลายชิ้นของเธอที่ชวนขนลุกและเบือนหน้าหนี เสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น Rhythm 0 (1974) ที่เธอสำรวจความรุนแรงในสังคมด้วยการเชื้อเชิญให้คนดูหยิบอุปกรณ์ที่เธอจัดเตรียมไว้มาทำอะไรกับร่างกายของเธอก็ได้ หรือใน Balkan Baroque (1997) ที่เธอใช้เวลา 6 วันไปกับการขัดเลือดออกจากกระดูกวัว 2,500 ชิ้น อันเป็นการสะท้อนความสิ้นหวังต่อภาพโลกที่ปราศจากการเข่นฆ่าและสงคราม

‘ความงาม’ ในความหมายของอับราโมวิชผู้สร้างสรรค์งานศิลปะอันน่าพรั่นสะพรึงคืออะไร? เลือดที่รินไหลออกมาจากบาดแผลที่เกิดจากคมมีดและหนามกุหลาบใน Rhythm 0 จะเป็นความงามได้อย่างไร? แล้วเราในฐานะผู้ชมจะมองภูเขากระดูกวัวเปื้อนเลือดให้เป็นความงามได้อย่างไร?

‘ความงามขึ้นอยู่กับสายตาของผู้ชม’ จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่เราสามารถมองเห็นความงดงามในเลือด กระดูก ซากศพ ความเน่าเปื่อย ความสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ และสารพันสิ่งชวนสำรอกที่มักถูกหยิบมาใช้เป็นซับเจกต์หลักในงานศิลปะร่วมสมัยได้ แค่เพียงลองเปิดใจมองสิ่งน่าขยะแขยงเหล่านั้นผ่านสายตาของ ‘Abject Art’ ศัพท์ศิลปะคำแรกในซีรีส์ Artเทอม อันว่าด้วยศิลปะแห่งความงดงามในความน่ารังเกียจ ที่ชวนผู้ชมเบิกตากว้างด้วยความพรั่นพรึง เพื่อไปสำรวจสิ่งที่ชวนเบือนหน้าหนี

Abjection คืออะไร

Abjection มีความหมายตรงตัวตามพจนานุกรมว่า ความต่ำช้าน่าสงสาร น่าปลงอนิจจัง น่าสังเวช กระทั่งในปี 1980 จูเลีย คริสเตวา นักปรัชญาและนักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้ใช้คำว่า Abjection ในการนำเสนอแนวคิดทางจิตวิทยาและภาษาศาสตร์ ซึ่งสำรวจลึกลงไปยังต้นตอที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์และขยะแขยง อันเป็นปฏิกิริยาที่คนทั่วไปมีต่อสิ่งสกปรกอันน่ารังเกียจต่าง ๆ แม้ว่าสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นจะมีที่มาจากร่างกายของตัวเราเอง เช่น เลือด อ้วก อสุจิ น้ำเหลือง บาดแผล เลือดประจำเดือน อุจจาระ ปัสสาวะ รวมไปถึงซากศพ ไวรัส หรือแบคทีเรียด้วย

ในขณะที่ Abjection เป็นคำที่อธิบายถึงปรากฏการณ์ ‘ความรู้สึก’ สังเวชและเดียดฉันท์ คริสเตวาได้นำเสนอคำว่า The Abject (ดิ แอ็บเจกต์) เพื่อใช้เรียกวัตถุที่นำมาและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกขยะแขยงน่ารังเกียจ ซึ่งในที่นี้ก็คือบรรดาสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้น คริสเตวาอธิบายลักษณะของ ดิ แอ็บเจกต์ ไว้ในงานเขียนที่ชื่อว่า Powers of Horror: An Essay on Abjection เธอกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ ดิ แอ็บเจกต์ เหล่านี้กระตุ้นความรู้สึกสยดสยองและขยะแขยงในตัวเรา ก็เพราะวัตถุหรือสสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยู่ ‘ก้ำกึ่ง’ ระหว่างภายนอกกับภายในตัวของเรา และลักษณะของตัวมันเองก็ยังก้ำกึ่งระหว่างความมีรูปร่างกับไร้รูปร่าง (Form และ Formless) 

สถานะความก้ำกึ่งของ ดิ แอ็บเจกต์ ที่ไม่สามารถจัดอยู่ในรูปหรือตำแหน่งใดได้อย่างชัดเจนนี้ ผลักให้ตัวเราที่ดำรงอยู่ในโลกแห่งสัญญะและความหมายกลับเข้าไปเผชิญกับโลกก่อนสัญญะและความหมาย อันเป็นสภาวะที่เราเคยเผชิญเมื่อยังเป็นเด็กทารกซึ่งยังไม่รู้ภาษา ซึ่งความรู้สึกตื่นตระหนกเมื่อเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ ก็มาจากความพรั่นพรึงเมื่อเราถูกผลักออกจากโลกที่คุ้นเคยและสามารถทำความเข้าใจได้อย่างเป็นระบบ ไปสู่โลกแห่งความไร้ระเบียบที่มีแต่สัญชาตญาณความต้องการอันดิบเถื่อนของมนุษย์ เช่น หิว ง่วง รำคาญ ฯลฯ ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นขั้นตอนของพัฒนาการเมื่อเรายังเป็นทารกที่ยังไม่เข้าสู่ระบบสังคม และยังไม่ได้พัฒนา ‘ตัวตน’ (Identity) นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ คริสเตวาจึงสรุปว่า ความรู้สึกรังเกียจหรือพรั่นพรึงเมื่อเราเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ นั้น หาได้มาจากความสกปรกหรือเหตุผลด้านสุขภาพอนามัย แต่เพราะ ดิ แอ็บเจกต์ เหล่านั้นเป็นสิ่งที่ ‘รบกวน’ ระบบและความหมายต่าง ๆ รวมไปถึงความหมายของตัวตนของเราด้วย ‘ศพ’ จึงเป็นตัวอย่างของ ดิ แอ็บเจกต์ ที่สมบูรณ์ที่สุดตามทัศนะของคริสเตวา เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับศพ เส้นแบ่งระหว่างความเป็นตัวเรากับศพจะมลายหายไป ทำให้ภาพของตัวเรากับศพซ้อนทับกัน ส่งผลให้ตัวเราตระหนักถึงสภาวะการเป็นเพียงแค่ ‘สสาร’ (Materiality) ของตัวเอง (จะเรียกว่า ‘ปลงสังขาร’ ก็อาจจะได้)

คริสเตวาอธิบายว่า ในเชิงจิตสำนึกเรื่องตัวตน การเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ นับเป็นประสบการณ์บาดแผล (Trauma) เพราะเมื่อเราเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ เรากำลังเผชิญหน้ากับการสูญสลายของความหมายเรื่องตัวตน เพราะเส้นแบ่งระหว่างการเป็นผู้กระทำ (Subject) และผู้ถูกกระทำ (Object) หรือ ตัวเรา (Self) กับผู้อื่น (Other) ได้สูญสลายหายไป

Abject ในโลกศิลปะ

ด้วยความที่เป้าหมายของแนวคิดเรื่อง Abjection คือการมุ่งสำรวจ ‘ความเป็นอื่น’ ที่ลื่นไหลอยู่นอกเหนือไปจากความหมาย สถานะ นิยาม รวมไปถึงเส้นแบ่งต่าง ๆ แนวคิดนี้จึงถูกนำไปใช้ในการศึกษาเรื่องคนชายขอบ ชนกลุ่มน้อย ไปจนถึงการศึกษาเรื่องสตรีนิยมและขบวนการ LGBTQ+ หรือความเป็นเควียร์ (ที่ลื่นไหลอยู่ระหว่างกรอบเรื่องเพศสภาพขั้วตรงข้าม ไม่เป็นทั้งชายและหญิง หรือเป็นทั้งชายและหญิง)

“ความหมายของ Abjection ไม่ได้มาจากความสกปรกของตัวมัน แต่เพราะมันเป็นสิ่งที่รบกวนอัตลักษณ์ ระบบ และการจัดลำดับ มันไม่สนใจเรื่องขอบเขต สถานะ หรือกฎ เและพราะตัวมันเองนั้นเป็นสิ่งที่อยู่กึ่งกลาง ก้ำกึ่ง คลุมเครือ และประกอบขึ้นจากหลายสิ่งรวมกัน”

เมื่อนำแนวคิดเรื่อง Abjection ไปจับกับภาพสังคมขนาดใหญ่ ดิ แอ็บเจกต์ จึงไม่ใช่แค่อ้วก อุจจาระ เลือด หรือบาดแผล แต่เป็นสิ่งที่อยู่นอกกรอบสังคมและศีลธรรม ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สบายใจของคนในสังคม (รวมถึงทำให้อยากขจัดสิ่งเหล่านั้นออกไป) ตั้งแต่คนไร้บ้านซึ่งเป็นกลุ่มคนที่รบกวนภาพสังคมในอุดมคติ กลุ่มคนผิวสีต่าง ๆ ผู้หญิง ไปจนถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งไม่เพียงท้าทายต่อกรอบเรื่องค่านิยมทางเพศของสังคมรักเพศตรงข้าม (Heteronormativity - มุมมองที่ว่าความรักและการครองคู่ระหว่างคนต่างเพศป็นเรื่องปกติ นอกเหนือไปจากนั้นถือเป็นสิ่งที่แปลก) แต่ยังท้าทายต่อมุมมองด้านเพศที่เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ในตัวเราด้วย

ในโลกของศิลปะ Abject Art หรืองานศิลปะที่เล่นกับความขยะแขยงถูกศิลปินนำมาใช้เป็นหนทางในการท้าทายกรอบทางสังคมและศีลธรรม นำเสนอการพร่าเลือนของเส้นแบ่งต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมมองเห็นได้ เพื่อเปิดให้ผู้ชมเข้าไปสำรวจสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับและอยากขจัดออกไป Abject Art จึงมักเป็นงานที่เห็นได้ในศิลปินผู้เคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินเฟมินิสต์ ศิลปินกลุ่ม LGBTQ+ ไปจนถึงศิลปินกลุ่มผิวสีและคนกลุ่มน้อย

Abject Art ยังท้าทายต่อคำนิยามเรื่องความงามและสุนทรียะในแวดวงศิลปะด้วย ในปี 1993 พิพิธภัณฑ์ Whitney Museum of American Art ได้จัดนิทรรศการ ‘Abject Art’ นอกจากจะท้าทายกรอบทางศีลธรรมและค่านิยมในสังคมแล้ว จุดประสงค์ของนิทรรศการในครั้งนั้นยังเป็นไปเพื่อดึงศิลปะให้กลับมาอยู่ที่ ‘ร่างกาย’ ของมนุษย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ขบวนการเคลื่อนไหวในโลกศิลปะกระแสหลักล้วนเป็นเรื่องของการสำรวจ ‘ความคิด’ ไม่ว่าจะเป็น Minimalism, Conceptual art หรือ Postmodernism และแม้ว่าจะเป็นการสำรวจร่างกาย แต่การกลับมาสำรวจร่างกายในครั้งนี้ก็หาใช่การสำรวจร่างกายตามอุดมคติความงามจากยุคเรอเนซองส์ แต่เป็นการสำรวจร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ น่ารังเกียจ มีบาดแผล หรือ ร่างกายที่เป็น ดิ แอ็บเจกต์ ซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมอเมริกันในยุคนั้นที่มีกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันผิวดำออกมาเคลื่อนไหวใหรัฐบาลแก้ปัญหาความยากจนในคนผิวดำ รวมไปถึงปัญหาคนผิวดำล้นคุกที่ในช่วง 1970 - 2005 มีนักโทษคนผิวดำเพิ่มขึ้นถึง 700 เปอร์เซ็นต์

มองความงดงามในความน่ารังเกียจ

แล้วเราจะมองซากศพ อุจจาระ อ้วก หรือเลือดประจำเดือนให้งดงามได้อย่างไร? จริงอยู่ว่า Abject Art ไม่ได้มีคุณค่าความงดงามในแง่ของการให้ภาพจรรโลงใจหรือทำให้เกิดความรุ่มรวยทางสายตา แต่ความงดงามของ Abject Art นั้นอยู่ใน ‘ประสบการณ์’ ที่ผู้ชมได้ถูก ‘กระตุ้น’ ให้ตื่นรู้และฉุกคิด ดังที่ ฮัล ฟอสเตอร์ นักวิจารณ์ศิลปะคนดังเคยให้ความเห็นไว้ในงานเขียนของเขาที่ชื่อว่า Obscene, Abject, Traumatic (1996) โดยเขากล่าวว่า กระบวนการทำงานศิลปะในยุคของศิลปะร่วมสมัยนั้นหาใช่การสร้างความงดงามจรรโลงใจเพื่อ ‘ปลอบประโลม’ แต่เพื่อ ‘กระตุ้นเร้า’ และทำให้เกิดความรู้สึกอาบเอิบด้วยความตระหนักรู้ ประหนึ่งความรู้สึก ‘Sublime’ นั่นเอง (อ่านเรื่อง Sublime เพิ่มเติมได้ที่ https://groundcontrolth.com/blogs/438) 

ความเฟื่องฟูของแนวคิดเรื่อง Abjection ในโลกศิลปะยุคปัจจุบัน ยังเป็นผลมาจากการที่ศิลปินเลือกใช้ความไม่น่าโสภาเหล่านี้เพื่อดึงผู้ชมให้ ‘หลุดพ้น’ จากกรอบค่านิยม รวมไปถึงการหลุดพ้นจากเขตปลอดภัยในโลกสมัยใหม่ที่มีรากฐานอยู่บนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ในโลกของ Abject Art ผู้ชมถูกกระตุ้นให้เผชิญหน้ากับความทุกข์ยาก ความเหลื่อมล้ำ ความเจ็บปวด โรคภัย และความตาย อันนำมาซึ่งความตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเราในอีกมุมมองหนึ่งที่ความเอิบอาบจากการจ้องมองสิ่งสวยงามไม่สามารถมอบให้เราได้ และอาจฉุดกระชากเราให้กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม

ต่อไปนี้คือตัวอย่างของ Abject Art งานศิลปะที่ชวนเรามองหาความงดงามในความน่าขย้อน

The Class (2005)
อารยา ราษฎร์จำเริญสุข

งานของ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข มักเป็นการสำรวจสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันของเส้นแบ่งที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็น ชีวิต/ความตาย, มนุษย์/สัตว์, ความจริง/เรื่องแต่ง ฯลฯ ซึ่งงานที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะโลกมากที่สุดคงหนีไม่พ้นซีรีส์วิดีโออาร์ตในช่วงระหว่าง 1990s-2000s ที่เธอทำงานกับร่างไร้ชีวิตหรือ ‘ศพ’ ทั้งการอ่านหนังสือให้ศพฟัง ไปจนถึงสอนหนังสือให้ศพ

ใน The Class (2005) อาจารย์อารยาเปิดคลาสสอนวิชาเรื่อง ‘ความตาย’ ต่อหน้าร่างไร้ชีวิต 6 ศพ ภาพของคนเป็นที่กำลังสอนคนตายเรื่องความตายในห้องดับจิตนั้นทั้งชวนขบขันในความตลกร้าย และในขณะเดียวกันก็ชวนให้คนดูรู้สึกกระอักกระอ่วนและพรั่นพรึง

คลาสสอนวิชาความตายให้กับคนตายนี้คือการเชื้อเชิญให้คนดูเข้ามาทำความเข้าใจความหมายของ การสูญเสียและความตาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเชื้อชาติหรืออยู่ในสถานะทางสังคมใดล้วนแล้วแต่ต้องเผชิญร่วมกัน ขณะที่ผู้ชมกำลังจ้องมองและฟังเลคเชอร์คลาสวิชาความตายที่มีนักเรียนเป็นคนที่ตายไปแล้ว พวกเขาก็ถูกผลักให้ไปยืนอยู่ตรงสุดแดนของเส้นแบ่งระหว่างความเป็นกับความตาย ตัวเรากับร่างไร้ชีวิต และครุ่นคิดถึงสถานะที่แทบไม่ต่างกันระหว่างกายเนื้อของเรา กับกายเนื้อที่กำลังเน่าเปื่อยอยู่ตรงหน้า

Menstruation Bathroom (1972)
Judy Chicago

ในปี 1972 ศิลปินเฟมินิสต์ตัวแม่ จูดี ชิคาโก ได้ร่วมมือกับศิลปินหญิงอีกหลายคน สร้างผลงานศิลปะจัดวางที่มีชื่อว่า Womanhouse ที่ในเวลาต่อมาจะได้ชื่อว่าเป็นการจัดแสดงศิลปะสาธารณะ (Public Art) ที่มีแก่นว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงเป็นครั้งแรก ภายใน Womanhouse เต็มไปด้วยผลงานศิลปะจัดวาง งานประติมากรรม การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต และงานศิลปะโดยศิลปินหญิงมากมาย โดยผลงานทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกันคือการประกาศการต่อต้านต่ออุดมการณ์ปิตาธิปไตยในยุคนั้นที่เข้มแข็งและทรงอำนาจสุด ๆ รวมไปถึงการสะท้อนภาพจำของผู้หญิงที่ถูกผูกติดกับความคาดหวังให้พวกเธอเป็นแค่แม่และเมีย ซึ่งเป็นการยึดโยงผู้หญิงเข้ากับพื้นที่ต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น ห้องครัว ห้องนอน ห้องซักรีด เป็นต้น

หนึ่งในงานที่ทรงพลังที่สุดในบ้านของสตรีก็คือผลงานของจูดี ชิคาโก ที่มีบริบทเบื้องหลังเป็นการวิพากษ์โลกศิลปะอันเป็นพื้นที่ที่ชายเป็นใหญ่ ชิคาโกได้สร้าง Menstruation Bathroom หรือ ‘ห้องประจำเดือน’ ที่เป็นห้องน้ำซึ่งเต็มไปด้วยผ้าอนามัยเปื้อนเลือดส่งกลิ่นคละคลุ้ง ชิคาโกสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อล้อเลียนและท้าทายกลุ่มศิลปินที่ถูกยกย่องว่าเป็นกลุ่มศิลปินก้าวหน้าจากการนำ ‘ขยะ’ หรือสิ่งของอื่น ๆ มาแปลงเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น มาร์เซล ดูชอมป์ ไปจนถึง อาร์มาน ศิลปินชาวฝรั่งเศสที่นำขยะมายัดใส่ไว้ในที่ครอบแก้ว แล้วนำไปตั้งไว้บนแท่นหรูหราประหนึ่งงานศิลปะล้ำค่า กลายเป็นผลงานศิลปะที่ชื่อว่า La Condition de la femme n°1 หรือ The Condition of the Woman ซึ่งสั่นสะเทือนแวดวงศิลปะในยุคนั้นด้วยการท้าทายคุณค่าของศิลปะด้วยความน่ารังเกียจและต่ำต้อย

แต่ที่จริงแล้ว การนำขยะหรือของเหลือใช้มาทำงานศิลปะก็เป็นสิ่งที่ศิลปินหญิงเคยทำกันมานานแล้ว แต่กลับไม่เคยได้รับการยกย่อง ด้วยเหตุนี้เอง ชิคาโกจึงตอกกลับแวดวงศิลปะที่ไม่เคยให้ค่าในงานของผู้หญิงด้วยการสร้างห้องประจำเดือนขึ้นมา และในขณะที่งาน La Condition de la femme n°1 ของอาร์มานมีการนำผ้าอนามัยมาใช้ประกอบ แต่เป็นผ้าอนามัยสะอาดเอี่ยมไม่เคยได้ใช้ ชิคาโกกลับนำผ้าอนามัยใช้แล้วที่ส่งกลิ่นจริง ๆ มาแขวนไว้เต็มห้อง เพื่อนำเสนอสถานะความเป็นผู้หญิงที่มักถูกละเลยจากโลกศิลปะอันเป็นพื้นที่ของผู้ชาย รวมไปถึงการเปิดโปงกระบวนการสร้างมลทินให้ผู้หญิงผ่านราคีของการมีประจำเดือน ซึ่งผลักให้ผู้หญิงกลายเป็นพลเมืองชั้นสองที่ถูกกีดกันออกจากพื้นที่สังคม เช่น ในยุคสมัยหนึ่งที่ผู้หญิงที่มีประจำเดือนต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือในบางวัฒนธรรมที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงมีประจำเดือนเข้าไปใช้พื้นที่ทางศาสนา เป็นต้น

Cleaning Event (aka Be Clean! aka Campaign to Promote Cleanliness and Order in the Metropolitan Area) (1964)

Hi-Red Center คือกลุ่มศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวญี่ปุ่นที่แอคทีฟในช่วงยุค 1970s โดยพวกเขาเป็นที่รู้จักจากการทำการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในที่สาธารณะ โดยทุกงานล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนภาพของสังคมญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเฉพาะสภาวะที่สังคมญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลก และการเปิดรับค่านิยมที่มีต้นแบบมาจากสภาพสังคมทุนนิยมอเมริกัน อันเป็นความพยายามในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจหลังแพ้สงคราม และเพื่อสร้างการยอมรับจากนานาประเทศซึ่งมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ในเวลานั้น

หนึ่งในผลงานในตำนานของกลุ่ม Hi-Red Center ก็คือผลงานที่ชื่อว่า Cleaning Event (Be Clean! & Campaign to Promote Cleanliness and Order in the Metropolitan Area) ที่เกิดขึ้นในเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 1964 โดยกลุ่ม Hi-Red Center ได้มารวมตัวกันในชุดเครื่องแบบเสื้อกราวน์แล็บสีขาวสะอาด เพื่อทำการ ‘บิ๊กคลีนนิง’ ในพื้นที่ย่านกินซาของกรุงโตเกียว

จุดมุ่งหมายของการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตชิ้นนี้คือการประชดเสียดสีนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องการจะนำเสนอภาพกรุงโตเกียวอันงดงาม สะอาด เรียบร้อย เพื่อต้อนรับการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนั้น เพื่อนำเสนอสภาพบ้านเมืองญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวสยายปีกจากการเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเบื้องหลังการทำบ้านเมืองให้สะอาดงามตา ก็คือการที่รัฐบาลไล่ฆ่าสุนัขจรจัด และขับไล่คนไร้บ้านออกจากพื้นที่สาธารณะ

ผลงานชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่การนำของสกปรกมาเล่น แต่มันคือการสะท้อนให้เห็นภาพของสังคมในฐานะร่างกายขนาดใหญ่ที่มีคนไร้บ้านเป็นสิ่งแปลกปลอมหรือสิ่งปฏิกูลที่ต้องกำจัดออกไป หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า คนไร้บ้านในที่นี้มีสถานะเป็น ดิ แอ็บเจกต์ ที่สร้างความรู้สึกขยะแขยงให้กับคนในสังคม จนต้องดำเนินการกำจัดออกไปให้พ้นสายตา

Cleaning Event จึงเปิดให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หาได้เสมอเท่ากันทุกชนชั้น และหากลองคิดดูดี ๆ ในบ้านเราที่เคยมีการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิงเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ก็อาจเป็นการสะท้อนภาพปรากฏการณ์ที่เกิดจากการเผชิญหน้ากับ ดิ แอ็บเจกต์ …เมื่อคนในสังคมกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนอีกกลุ่ม จนสามารถกำหนดให้คุณค่าของคนอีกกลุ่มเป็นเพียงสิ่งน่าขยะแขยงที่ต้องกำจัดขัดล้างออกไป เพื่อไม่ให้อยู่รกหูรกตา… หรืออยู่เป็นเสี้ยนหนามคอยย้ำเตือนให้อภิสิทธิ์ชนกลุ่มนั้นตระหนักถึงปัญหาสังคมที่พวกเขาไม่อยากจะมอง

อ้างอิง

https://olh.openlibhums.org/article/id/4666/
http://momus.ca/the-suffering-body-of-1993-whatever-happened-to-the-abject/
http://cmuir.cmu.ac.th/jspui/handle/6653943832/64905
Tan, C. A. L. (2013). The Kristevan aesthetic of the sublime: Lapses of meaning from the meaningless abject. In 6th DLSU Arts Congress, held at the De La Salle University, Manila, Philippines, February.