Raphael มาสเตอร์คนสุดท้ายแห่งยุค Renaissance

Raphael มาสเตอร์คนสุดท้ายแห่งยุค Renaissance

Raphael มาสเตอร์คนสุดท้ายแห่งยุค Renaissance

หากจะให้ไล่รายชื่อศิลปินคนสำคัญแห่งยุคสมัยฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ หรือ Renaissance Art ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดความสร้างสรรค์ของศิลปินในโลกศิลปะตะวันออกยุคหลังมากที่สุด ก็ย่อมต้องมีชื่อของ Raphael ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘มาสเตอร์’ ที่อายุน้อยที่สุดในหมู่ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค Renaissance Art เพราะแม้ว่าจะมีช่วงอายุแสนสั้น แต่ในช่วงระยะเวลา 2 ทศวรรษของการเป็นจิตรกร Raphael ได้ฝากผลงานสำคัญที่เปิดกระบวนการทางศิลปะ (Practice) ใหม่ ๆ ให้ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษาและเดินรอยตาม รวมทั้งการฝากผลงานภาพวาดจิตรกรรมไว้ในห้องสำคัญ ๆ ของกรุงวาติกันมากมาย

จากเด็กกำพร้าที่พ่อนำมาฝากไว้ให้อยู่ในการดูแลของศิลปินชั้นครู สู่การเป็นศิลปินหนุ่มที่ได้รับความไว้วางใจจากพระสันตปาปาให้สร้างสรรค์งานศิลปะแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก และการเป็นคู่แข่งเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้ศิลปินรุ่นพี่ร่วมยุคอย่าง Michaelangelo อิจฉาริษยาและโกรธเกรี้ยวจับใจ Raphael คือศิลปินอัจฉริยะแห่งยุคเรืองปัญญาที่เป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งโลกตะวันตกด้วยศิลปะแห่งการรักษาสมดุลย์ระหว่างสี รูปทรง และองค์ประกอบของภาพอันสมมาตร

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 6 เม.ย. นี้จะเป็นวันครบรอบ 588 ปีชาตกาล Raphael คอลัมน์ The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้ GroundControl จึงจะขอชวนทุกคนไปสำรวจชีวิตและผลงานของสุดยอดศิลปินผู้นี้ด้วยกัน!

เด็กกำพร้าแห่งอูร์บีโน

Raffaello Sanzio da Urbino เกิดที่เมืองอูร์บีโน เมืองเล็ก ๆ ในประเทศอิตาลี แต่มีความสำคัญในแง่ของการเป็นแหล่งศิลปะและวัฒนธรรม พ่อของเขาคือ Giovanni Santi ศิลปินผู้ได้รับการอุปถัมภ์จากชนชั้นสูง ด้วยเหตุนี้ Raffaello หรือ Raphael จึงเติบโตขึ้นมาโดยถูกปลูกฝังเรื่องศิลปะมาตั้งแต่เด็กเมื่ออายุได้ 8 ปี แม่ของ Raphael เสียชีวิต พ่อของเขาจึงได้นำเขาไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับ Pietro Perugino มาสเตอร์ศิลปินผู้มีความสำคัญในฐานะหนึ่งในผู้วางรากฐานศิลปะยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาตอนสูง (High High Renaissance) ซึ่งเป็นยุคสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดของศิลปะ Renaissance และว่ากันว่ายุคสมัยนี้ได้จบลงหลังการตายของลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขา… นั่นก็คือ Raphael

Raphael เป็นศิษย์หัวไวที่สูบวิชาจากอาจารย์อย่างกระหายและรวดเร็ว ว่ากันว่าเขาเป็นศิษย์ที่เก่งที่สุดที่ Perugino เคยสอนมา และได้กลายมาเป็นลูกมือคนสำคัญของอาจารย์อย่างรวดเร็ว จนถึงกับที่ในยุคนั้น ไม่มีใครสามารถแยกออกได้ว่างานชิ้นไหนเป็นของอาจารย์หรือลูกศิษย์ เพราะฝีมือของศิษย์ที่ตีเสมอชั้นอาจารย์ได้อย่างสูสี และในวัยเพียง 18 ปี Raphael ก็ได้รับการยอมรับให้เป็น ‘มาสเตอร์’ หรือศิลปินที่เรียนรู้กระบวนท่าวิชาศิลปะจนครบแล้ว

ผลงานชิ้นแรกของ Raphael ในฐานะมาสเตอร์ก็คือ Baronci Altarpiece ผลงานการวาดฉากประดับแท่นบูชา (Altarpiece) ที่โบสถ์ Saint Nicholas of Tolentino ในเมือง Città di Castello (ปัจจุบันภาพนี้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนไม่เหลือเค้าเดิม เหลือเพียงแบบสเก็ตช์ของศิลปินเท่านั้น) ก่อนที่เขาจะได้รับความไว้วางใจจากบรรดาโบสถ์อีกมากมายให้ไปวาดภาพทางศาสนาต่าง ๆ ก่อนที่ในปี 1502 เขาจะได้รับคำเชิญจากศิลปินรุ่นพี่ที่เคยเป็นลูกศิษย์ของ Peruginoให้ไปช่วยออกแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังในห้อง Piccolomini Library แห่งมหาวิหารซีเอนา ซึ่งปัจจุบันภาพสเก็ตช์แบบที่ Raphael วาดนั้นถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอศิลป์อุฟฟีซี ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี

มี Leonado da Vinci เป็นไอดอล

แม้ว่า Raphael จะใช้ชีวิตอย่างศิลปินพเนจร จากการที่เขามักเปลี่ยนที่ทำงานไปทั่วตอนเหนือของอิตาลีแบบไม่มีหลักแหล่งแน่ชัด แต่หนึ่งในหมุดหมายที่ Raphael มาเยือนบ่อยที่สุดก็คือนครฟลอเรนซ์ ที่ซึ่งเขาได้ซึมซับอิทธิพลจากมาสเตอร์คนสำคัญที่ฝากผลงานไว้ที่นี่มากมาย นั่นก็คือ Leonado da Vinci โดยในช่วงนี้ สุนทรียศาสตร์และเทคนิคของ Raphael ก็เริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบรรดาคนในภาพของเขาที่ดูมีมิติซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งต้นเหตุของแรงบันดาลใจก็มาจากกระแสธารทางศิลปะในกรุงฟลอเรนซ์ ณ ช่วงเวลานั้นที่ศิลปินต่างก็พากันศึกษากายวิภาคและรายละเอียดร่างกายของมนุษย์อย่างละเอียดละออและเอาจริงเอาจัง จน Raphael ก็ได้รับอิทธิพลและเริ่มศึกษาร่างกายมนุษย์ด้วยการฝึกวาดภาพนักรบโบราณต่อสู้กันในร่างเปลือย

ในช่วงนี้ Raphael ยังศึกษาผลงานของศิลปินรุ่นพี่อย่างหนัก เขาเริ่มวาดซีรีส์ภาพพอร์เทรตของหญิงสาวที่เลียนแบบองค์ประกอบภาพ Mona Lisa และยังศึกษาการสร้างองค์ประกอบแบบสามเหลี่ยมในผลงาน Holy Family ของ Da Vinci ด้วย

แม้ว่าจะเริ่มพัฒนาการสร้างองค์ประกอบภาพและภาพบุคคลไปในลักษณะเดียวกับสุนทรียะของ Da Vinci แต่ Raphael ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเขาที่ได้มาจากการร่ำเรียนศิลปะกับ Perugino นั่นก็คือการเน้นใช้สีโทนสว่างและสดใส ซึ่งเมื่อบวกกับการใช้องค์ประกอบแบบสมมาตรที่เรียนรู้มาจากการศึกษาผลงานของ Da Vinci ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวของ Raphael ที่ทำให้ผลงานของเขาแตกต่างไปจากมาสเตอร์รุ่นครูทั้งสอง

The School of Athens

ในปี 1508 Raphael ย้ายไปยังกรุงโรม ที่ที่จะเป็นสถานที่พำนักสุดท้ายในชีวิตของเขา และเป็นที่ที่เขาฝากผลงานชิ้นเอกไว้ให้โลกได้ชื่นชม

Raphael ได้รับการเชิญจากพระสันตปาปา Pope Julius II ให้มาวาดภาพจิตรกรรมเพดานในห้องหนังสือส่วนตัวของพระสันตปาปา ซึ่งจุดนี้เองที่ก่อไฟแค้นในใจของ Michaelangelo ผู้มองว่าศิลปินรุ่นน้องคนนี้แซงหน้าตนจากการที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบส่วนสำคัญตั้งแต่งานแรก ในขณะที่ตัวเองได้รับการเชิญจากคริสตจักรเป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ก็ยังได้รับมอบหมายให้วาดในส่วนที่สำคัญน้อยกว่าในที่ประทับส่วนพระองค์ของพระสันตปาปา นั่นก็คือเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน

และ ‘ห้องราฟาเอล’ (Raphael Rooms หรือ Stanze di Raffaello) ที่เป็นผลงานการออกแบบและวาดจิตรกรรมฝาผนังภายในห้องชุดที่ประทับของพระสันตะปาปา ก็กลายเป็นหนึ่งในผลงานไอคอนิกแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ

โดยในห้องเซนยาทูรา (Stanza della Segnatura) ก็คือห้องที่ประดับด้วยภาพ The School of Athens อันเป็นผลงานชิ้นเอกของ Raphael ที่นำเสนอหัวใจของความคิดปรัชญาตะวันตก อันเป็นกระแสความคิดที่ ‘เกิดใหม่’ ในยุคสมัยของการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ และเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินและนักคิดของยุคในการสร้างสรรค์งานต่าง ๆ โดยที่ปรากฏอยู่ตรงกลางของภาพก็คือ Plato และ Aristotle สองนักปรัชญากรีกโบราณผู้เป็นต้นธารของกระบวนคิดทั้งหมดแห่งโลกตะวันตก ห้อมล้อมด้วยบรรดานักปรัชญาและบุคคลสำคัญแห่งยุคกรีกโบราณอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Pythagoras, Archimedes, Aeschines, Heraclitus, Diogenes, Alexander the Great หรือ Parmenides

ความน่าสนใจของภาพนี้นอกจากจะเป็นการนำเสนอบุคคลผู้คิดค้นปรัชญากรีกโบราณอันเป็นหัวใจของแนวคิดยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการแล้ว Raphael ยังได้ใช้ภาพนี้ในการยกย่องเชิดชูไอดอลของเขาอย่าง Leonado da Vinci ด้วยการให้ Da Vinci เป็นต้นแบบในการวาดภาพ Plato เจ้าปรัชญากรีกผู้อยู่ตรงกลางของภาพ ในขณะเดียวกัน Raphael ยังได้ใส่ภาพของศิลปินรุ่นพี่ที่ ‘เหม็นขี้หน้า’ เขามากที่สุดอย่าง Michelangelo ในร่างของนักปรัชญาอย่าง Heraclitus ด้วย

Raphael Cartoons

ตลอดชีวิตหลังจากนั้น ผลงานของ Raphael แทบจะเป็นผลงานที่ได้รับมอบหมายจากคริสตจักร โดยเขาได้รับมอบหมายให้วาดภาพพอร์เทรตของพระสันตปาปา Julius II ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักของเขา รวมถึงพระสันตปาปาองค์ต่อมาอย่างพระสันตปาปา Leo X ด้วย

แต่หนึ่งในผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของ Raphael ในยุคหลังก็คือ Raphael Cartoons ซึ่งเป็นชุดผลงานภาพร่าง 7 ภาพสำหรับนำไปทอเป็นพรมผนังเพื่อแขวนในโบสถ์น้อยซิสทีน โดยภาพทั้งหมดถ่ายทอดฉากจากเรื่องราวชีวิตของ Saints Peter และ Saint Paul และในเวลาต่อมา พรมภาพชุดนี้ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในผลงานที่ทรงคุณค่าที่สุดของ Raphael ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่แสนซับซ้อน เริ่มจากการที่ Raphael และทีมจะต้องแยกกันไปวาดภาพสเก็ตช์ของส่วนประกอบต่าง ๆ ที่จะอยู่ในภาพใหญ่ลงบนกระดาษแผ่นเล็ก ๆ กว่า 200 ชิ้น จากนั้นจึงค่อยนำมาประกอบกันด้วยกาว เพื่อให้กลายเป็นภาพสเก็ตช์ขนาดเท่าของจริง (เนื่องจากในยุคนั้นไม่สามารถหากระดาษที่มีขนาดใหญ่พอที่จะวาดภาพสเก็ตช์ทั้งภาพลงไปได้) จากนั้น Raphael จะลงสี แล้วจึงค่อยส่งไปให้ช่างในเมือง Brussel เจาะรูตามเอาต์ไลน์ของภาพ แล้วจึงส่งต่อให้โรงทอนำไปทอเป็นผ้า ซึ่งช่างทอก็ต้องมีความชำนาญมากพอที่จะสามารถใช้เส้นด้ายในการสร้างสรรค์งานของ Raphael ขึ้นมาได้

แม้ว่า Raphael จะไม่มีโอกาสได้อยู่ทันเห็นผลงานชิ้นสุดท้ายถูกผลิตออกมาจนแล้วเสร็จ (Raphael เสียชีวิตในปี 1520 แต่ภาพพรมผนังชิ้นสุดท้ายถูกทอเสร็จในปี 1521) แต่ผลงานทั้ง 16 ชิ้นในภาพพรมชุดนี้ก็ถูกออกแบบ วาด และได้รับการเซ็นผ่านให้นำแบบไฟนอลไปผลิตต่อโดย Raphael ทั้งหมด ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพพันธ์ ปี 2020 ที่ผ่านมา วาติกันก็ได้นำภาพพรมผนังของ Raphael ที่อยู่ในครอบครองออกมาจากห้องกระจกนิรภัย แล้วนำมาแขวนจัดแสดงไว้ภายในโบสถ์น้อยซิสทีน เพื่อเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งการจัดแสดงครั้งล่าสุดนี้ก็นับเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปีที่ภาพพรมผนังของ Raphael ได้กลับคืนสู่ที่ที่มันเคยอยู่

After Raphael

Raphael เสียชีวิตในวันที่ 6 เม.ย. 1520 หรือในวันเกิดของเขาเอง เขาเสียชีวิตในวัย 37 ปี ด้วยโรคที่ไม่อาจระบุได้ แต่เชื่อกันว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการที่เขาระเริงสุขกับคู่รักของเขาในคืนก่อนวันเกิด ซึ่งนำมาสู่การล้มป่วยและอาการไข้ในเวลาต่อมา

หลังจากเสียชีวิต ชื่อเสียงและผลงานของ Raphael เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับมากขึ้นตามเวลาที่ผันแปรไป อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนจะรักผลงานของมาสเตอร์คนสุดท้ายแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการผู้นี้ เพราะในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็ได้เกิดการรวมกลุ่มของศิลปินอังกฤษที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มภราดรนิยมแบบก่อนราฟาเอล’ หรือ Pre-Raphaelite Brotherhood ขึ้น โดยศิลปินกลุ่มนี้มองว่า งานศิลปะของ Raphael โดยเฉพาะตั้งแต่งาน School of Athens เป็นต้นมา เรื่อยมาถึงยุคลัทธิแมนเนอริสม์ เป็นงานศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากการวาดแบบตามการสั่งสอนจากสถาบันศิลปะ ซึ่งเป็นงานศิลปะที่ไม่ได้สะท้อนแง่มุมสุนทรียะของมนุษย์อันแท้จริง กลุ่มนิยมยุคก่อน Raphael นี้จึงมุ่งเน้นที่จะสร้างผลงานซึ่งถ่ายทอดความงดงามของมนุษย์ โดยเฉพาะการเน้นรายละเอียดอันงดงามของร่างกายและอารมณ์ของมนุษย์

ถึงแม้ว่าจะมีทั้งคนชอบและต่อต้าน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า Raphael ก็คือหนึ่งในศิลปินผู้ส่งอิทธิพลให้โลกศิลปะตะวันตกอย่างข้ามยุคข้ามสมัยและแทบจะเป็นนิรันดร์ เพราะแม้ว่าจะเสียชีวิตไปหลายร้อยปีแล้ว แต่ผลงานของเขาก็ยังคงเป็นที่กล่าวถึง และถูกยกขึ้นมาศึกษาอยู่เรื่อยไป

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Raphael https://mymodernmet.com/raphael-sanzio-facts/ https://news.artnet.com/.../10-greatest-artworks-raphael...