Wong Kar-Wai กับนิยามความ ‘เหงา’ ในเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง
แสงสีของไฟในยามค่ำคืน ที่ส่องผ่านหมอกควันคละคลุ้งในฉากหลังของตึกรามบ้านช่องแบบเก่า กลายมาเป็น ‘ความหว่อง’ นิยามศัพท์ใหม่ซึ่งใช้เพื่ออธิบายบรรยากาศท่ามกลางสภาวะอันไม่มั่นคงที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวบนโลกภาพยนตร์ของ หว่องกาไว (Wong Kar-Wai) ผู้กำกับชาวจีน-ฮ่องกงที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการหนังในปัจจุบัน
ฉากหลังของฮ่องกง เกาะเล็ก ๆ ที่เปี่ยมด้วยความขัดแย้ง เติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้อพยพที่ทวีคูณขึ้นในทุกปี หว่องเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และประสบการณ์ชีวิตที่เขาเผชิญเช่นเดียวกับชาวจีนมากมาย เข้ากับความรู้สึกที่ฝังรากลึกอยู่ภายในตัวของเขาเอง การถามหาอัตลักษณ์ที่ผสมผสานกันระหว่างความเป็นตะวันออกและตะวันตก พบได้ในบริบทของความรัก ความเหงา และความแปลกแยกซึ่งแพร่กระจายไปในทุกตัวเอกของเขา ความสับสนในอดีตและปัจจุบัน เชื่อมโยงกับความทรงจำ ความปรารถนา เวลา พื้นที่ และสภาพแวดล้อมภายนอก ถูกหลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว สิ่งนี้เป็นไปเพื่อสะท้อนสถานะอันซับซ้อนที่ถูกจำกัดภายใต้กรอบทางวัฒนธรรม
ศิลปะในงานของหว่องมีความสำคัญอย่างมากต่อวงการภาพยนตร์ระดับนานาชาติ เพราะภาพยนตร์ของเขาได้สร้างแนวทางอันแปลกใหม่ที่หลอมรวมเอาวัฒนธรรมในโลกตะวันออกและตะวันตกเข้ากับสภาพสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว การมุ่งเน้นไปที่รายละเอียดมากกว่าความสมบูรณ์แบบ สร้างบรรยากาศที่แตกต่างออกไปผ่านสีของแสงจนเกิดเป็นอารมณ์ที่มองเห็นได้ ทำให้ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับชาวเอเชียที่โด่งดังไปทั่วโลก อีกทั้งผลงานของเขา ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เด็กรุ่นใหม่ ก้าวเข้ามาสู่เส้นทางในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อีกด้วย
เราขอพาทุกคนมาสำรวจสุนทรียะแบบหว่อง ๆ ที่ส่งผ่านตรอกซอกซอย ท่วงทำนองของเวลา และสภาวะทางอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในบนเกาะฮ่องกง ที่ซึ่งวัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออก ผสมผสานกันอย่างยุ่งเหยิง พร้อมซึมซับกับความรู้สึกภายในจิตใจ เพื่อค้นหาตัวตนผ่านงานของ ‘หว่องกาไว’
Wong Kar-Wai หรือ Wang Jai-Wei เกิดและเติบโตในเซี่ยงไฮ้ ปี 1958 จนอายุได้ 5 ขวบ พ่อและแม่ก็ได้ย้ายถิ่นฐานมายังเกาะฮ่องกงเช่นเดียวกับชาวจีนมากมายที่ต้องการหนีจากสภาวะทางการเมืองในบ้านเกิดของตัวเอง ขณะที่พี่ทั้งสองของเขาอพยพตามมาไม่ทัน เหตุการณ์นี้ส่งผลให้คนในครอบครัวขาดการติดต่อกันนานถึง 10 ปี หว่องมีโอกาสได้พูดคุยกับพี่ ๆ ผ่านทางจดหมาย โดยมีหัวข้อส่วนใหญ่เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นกันเรื่องนิยาย เนื่องจากพี่ของเขาไม่สามารถเข้าถึงนิยายได้อย่างอิสระเท่ากับหว่อง การใช้ชีวิตแบบลูกคนเดียว ทำให้วัยเด็กของหว่องเต็มไปด้วยความโดดเดี่ยว งานอดิเรกเดียวที่เขามีคือการชมภาพยนตร์ เขาถ่ายทอดผลงานด้วยธีมหลักที่เป็นผลจากประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง
ความสนใจด้านการถ่ายภาพของหว่องเริ่มปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงที่เขาเข้าเรียนด้านการออกแบบกราฟิกในโรงเรียนสารพัดช่าง เขามีช่างภาพในดวงใจอย่าง Robert Frank, Henri Cartier-Bresson และ Richard Avedon เป็นเหมือนแรงบันดาลใจสำคัญที่จุดประกายความฝันให้เขาแต่นั้นมา หลังจบการศึกษา หว่องได้มีโอกาสฝึกงานในตำแหน่งผู้ช่วยฝ่ายการผลิตละครที่สถานีโทรทัศน์ TVB ซึ่งนำพาเขามาพบกับ Patrick Tam ผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ (New Wave) ที่มีบทบาทอย่างมากต่อวงการภาพยนตร์ฮ่องกง สองปีหลังจากนั้น เขาก็ได้เริ่มต้นอาชีพในสายงานเขียนบท ความสามารถของหว่องเผยให้เห็นเด่นชัดจากภาพยนตร์ดังของแพทริคอย่าง Final Victory (1987) จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในเทศกาลหนังฮ่องกง สร้างชื่อเสียงเขาได้เป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงแต่นั้นมา
ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 ที่พลเมืองฮ่องกงต่างต้องเผชิญหน้ากับความสับสนต่ออนาคตของตัวเอง ซึ่งเป็นผลจากข้อตกลงในการส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีน (Sino-British Joint Declaration) ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับตัวตนและรากเหง้าของตัวเอง ภาพลักษณ์ของฮ่องกงที่เกิดจากการหลอมรวมทางวัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน กลายมาเป็นแนวคิดหลักให้แก่นักทำหนังหัวก้าวหน้ามากมายรวมถึงแพทริคและหว่องด้วยเช่นกัน
ประเด็นเรื่องความแปลกแยกและช่วงเวลาอันคลาดเคลื่อนในหนังของแพทริค ส่งต่อมายังหว่องในฐานะผู้กำกับแนวหน้าสาย Second New Wave หว่องผสมผสานสภาวะภายในจิตใจเข้ากับสุนทรียะอันโดดเด่นอย่างนุ่มลึกและแยบยล เขาเริ่มทำงานนอกกรอบความคิดแบบเก่า การเป็นนักเขียนในช่วง Post-Modern ทำให้เขามองเห็นถึง ‘ช่วงเวลา’ ที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์เข้ากับเรื่องส่วนตัว ความรัก ความเหงา และความแปลกแยก กลมกลืนไปกับตัวเอกในภาพยนตร์อย่างแยกกันไม่ขาดท่ามความตึงเครียดระหว่างอดีตและปัจจุบัน เกิดเป็นภาพยนตร์ที่อยู่เหนือขอบเขตทางศิลปะและกาลเวลา
As Tears Go By (1988)
เดิมที ภาพยนตร์เรื่องนี้คือหนึ่งในโปรเจคไตรภาคของแพทริค แทม แต่หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้านเขียนบทมาอย่างช่ำชอง หว่องก็ได้รับโอกาสให้กำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของเขาในที่สุด การแจ้งเกิดในช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ในฮ่องกงเติบโตถึงขีดสุด ส่งผลให้หว่องได้มีโอกาสร่วมงานกับ หลิวเต๋อหัว (Andy Lau), แจ็คกี้ จาง (Jacky Cheung) และ จางม่านอวี้ (Maggie Cheung) นักแสดงดาวรุ่งมากความสามารถที่จะกลายมาเป็นนักแสดงคู่บุญของเขาในเวลาต่อมา
As Tears Go By (1988) คือภาพยนตร์แอ็คชั่นดราม่า ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากได้แรงบันดาลใจจาก Mean Streets (1973) ของผู้กำกับในตำนานอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) บอกเล่าเรื่องราวความรักและความสัมพันธ์ฉันเครือญาติในกลุ่มแก๊งสเตอร์ยุค 80s
ความโกลาหลบนท้องถนนในยามค่ำคืนเดินคู่ขนานไปกับชีวิตประจำวันของเหล่าอันธพาลในเมืองเล็ก ๆ พร้อมกับเพลง Take My Breath Away ของเบอร์ลิน ที่ถูกแปลงมาเป็นภาษาจีนกวางตุ้ง ซึ่งสะท้อนสภาพสังคมและวัฒนธรรมในฮ่องกงขณะนั้นที่ผู้คนต่างพยายามหาทางออกให้กับชีวิตตัวเอง เพลงภาษาอังกฤษในเวอร์ชั่นกวางตุ้ง คือผลผลิตของความพยายามก้าวเข้าสู่สากลขณะที่ยังตัดกรอบความคิดแบบเดิมไม่ขาด บ่งบอกภาพลักษณ์ของสังคมครึ่ง ๆ กลาง ๆ ได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา
แม้ว่าลักษณะความเหงาปนสับสนในแบบของหว่อง ซึ่งมักถ่ายทอดผ่านเส้นเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อและหมอกควันคละคลุ้งตัดกับสีของแสงไฟสลัว จะไม่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเท่ากับภาพยนตร์เรื่องอื่น แต่แนวทางอันโดดเด่นของเขาก็ได้เริ่มปรากฏ โดยเฉพาะเทคนิคภาพ Motion Blur ซึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนกล้องอย่างรวดเร็วในฉากต่อสู้ รวมถึงเพลง Take My Breath Away ที่เป็นอีกหนึ่งคาแรคเตอร์ในภาพยนตร์ อาจกล่าวได้ว่าผลงานเรื่องแรกของหว่อง เป็นเหมือนแบบร่างชิ้นสำคัญที่กำลังจะก้าวไปสู่ต้นฉบับความหว่องอย่างแท้จริง และด้วยลายเซ็นต์ที่ชัดเจนตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกนี้เอง ทำให้ As Tears Go By ได้รับความนิยมอย่างมากในฮ่องกง และได้เข้าฉายในสัปดาห์นักวิจารณ์ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ปี 1989 จนสร้างชื่อเสียงให้แก่หว่องจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางตั้งแต่ผลงานชิ้นแรกเลยทีเดียว
Chungking Express (1994)
ความรู้สึกแปลกแยกซึ่งเป็นผลจากสังคมแออัดที่ผู้คนต่างเบียดเสียดกันวุ่นวายอย่างไร้ตัวตนท่ามกลางความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรมที่ผสมปนเปกันอย่างยุ่งเหยิงบนเกาะเล็ก ๆ แห่งความขัดแย้ง กลายมาเป็นฉากหลังสำคัญที่อยู่คู่กับภาพยนตร์ของหว่องเรื่อยมา ภูมิหลังในเซี่ยงไฮ้ของเขาที่คล้ายคลึงกับ วิลเลี่ยม ชาง (William Chang) เพื่อนนักออกแบบงานสร้างภาพยนตร์ที่ร่วมงานกับหว่องตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรก ทำให้เขาทั้งสองมองภาพอย่างเข้าใจซึ่งกันและกันโดยสัญชาตญาณ
หว่องกาไว เป็นที่รู้จักกันดีในการทำงานด้วยโครงสร้างอันหละหลวม เขาค้นพบแนวคิดในการสร้างงานที่เกิดขึ้นระหว่างการถ่ายทำ ความคิดเกี่ยวกับการเขียนบทเปลี่ยนไปในทันทีที่เขาเริ่มกำกับภาพยนตร์ เขาอธิบายว่า ในฐานะนักเขียน เขาต้องค้นหาว่างานของเขาจะเป็นไปในทิศทางใดก่อนที่จะสร้างสคริปต์ให้สมบูรณ์แบบที่สุด ขณะที่การกำกับ คือการทำงานกับปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุมตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้กำกับไม่สามารถวางแผนการถ่ายทำล่วงหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม เขาเริ่มละทิ้งตัวบท แล้วให้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าตอบสนองต่อฉากในภาพยนตร์ วิธีการนี้ส่งผลให้เขาสามารถขับเคลื่อนช่วงเวลาในภาพยนตร์ผ่านภาษาภาพและจับการแสดงอันยอดเยี่ยมได้อย่างน่าอัศจรรย์
หลังจากถ่ายทำมหากาพย์การต่อสู้ใน Ashes of Time (1994) หว่องก็เริ่มคิดถึงการสร้างภาพยนตร์ขนาดเล็กโดยหยิบจับไอเดียจากแนวคิดมากมายที่ยังไม่เคยได้รับการพัฒนาสู่จอภาพยนตร์ ในเวลานั้นเอง Chungking Express (1994) ก็เกิดขึ้นท่ามกลางแนวคิดที่พลั่งพลูออกมาอย่างเป็นอิสระผ่านเส้นเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อกัน
มีหลายคนตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่าง Chungking Express กับนวนิยายของ ฮารุกิ มุราคามิ นักเขียนนวนิยายผู้โดดเด่นด้านแบบฟอร์มการเล่าเรื่องที่ไม่เหมือนใคร หว่องเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจจากดนตรีจำนวนมากในหนังสือของมุราคามิ ประสบการณ์ร่วมและช่วงวัยของชีวิตที่ไล่เลี่ยกัน ส่งผลให้ผลงานของพวกเขาเชื่อมโยงถึงกัน แม้ว่าจะเกิดขึ้นในจักรวาลที่ต่างกันก็ตาม
‘ช่วงเวลาที่ผมใกล้เธอมากที่สุด ผมกับเธออยู่ห่างกันเพียง 0.01 ซม. แต่อีก 7 ชม. ต่อมาเธอก็ได้ตกหลุมรักชายอีกคนหนึ่ง’ - Cop 233
Chungking Express (1994) บอกเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของนายตำรวจ 233 (ทาเคชิ คาเนชิโระ) ที่หมกมุ่นอยู่กับการกินสับปะรดกระป๋อง ซึ่งเป็นของโปรดของคนรักเก่าตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน ด้วยความหวังว่าคนรักจะคืนกลับมา ‘เวลา’ คือตัวแปลสำคัญที่เช่ือมโลกของตำรวจคนดังกล่าวเข้ากับหญิงสาวผมบลอนปริศนา รวมถึงนำพาเขาให้พบกับพนักงานพาร์ทไทม์สาวเพียงชั่ววินาที ก่อนที่เธอจะตกหลุมรักนายตำรวจอีกคนหนึ่งเข้าอย่างจังจนเกิดเป็นความสัมพันธ์แปลก ๆ ที่ยากจะอธิบายได้
วัฒนธรรมป๊อบที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ส่งผลให้เพลง California Dreamin’ ของ The Mamas & The Papas ท่ีเล่นอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งหลังของภาพยนตร์ กลายเป็นสิ่งสะท้อนตัวตนและความฝันเพียงไม่กี่อย่างของพนักงานพาร์ทไทม์สาว (เฟย์ หว่อง) ฟังก์ชันเทปคาสเซ็ทตอบรับกับรูปแบบการกรอและหยุดเวลาชั่วคราวในภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี สองสิ่งนี้คือสัญลักษณ์แทนความก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ท่ามกลางเมืองเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ ความเหลื่อมล้ำ และการไร้ซึ่งตัวตน ผลักให้ผู้คนต้องพยายามดิ้นรนเพื่อรับมือกับความรู้สึกโดดเดี่ยว ถึงแม้จะมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นก็ตาม
แท้จริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้เกิดขึ้นจากการทำงานผ่านความทรงจำในสภาวะที่ตัวละครรู้สึกสูญเสียอะไรบางอย่างไป เขาอธิบายว่า เวลา เป็นส่วนหนึ่งกับความทรงจำที่มักจะมาในรูปแบบประโยคเช่น ‘เมื่อคืนฉันพบ…’ หรือ ‘เมื่อสามปีที่แล้วฉันเป็น…’ วันที่ที่ปรากฏในสับปะรดกระป๋อง จึงเป็นเหมือนวิธีการที่ตำรวจ 233 พยายามทำให้ตัวเองมีค่าสำหรับบางสิ่ง บทสนทนาสัพเพเหระที่ตัวละครพูดคุยกับตัวเอง คือวิธีที่พวกเขาแสดงออกเพื่อที่จะอยู่ในเมืองอันคับแคบแห่งนี้อย่างมีความสุขนั่นเอง
Happy Together (1997)
จุดสูงสุดในอาชีพของหว่อง เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วจนเกินไป ฮ่องกงกลายเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญของโลกที่เกิดการทับซ้อนกันทางวัฒนธรรมอย่างรุนแรงเรื่อยมา ตั้งแต่ช่วงตกอยู่ในอำนาจเจ้าอาณานิคม ไปจนถึงการก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน ความเป็นสากลไม่ได้สร้างค่านิยมในทางโรแมนติกแม้แต่น้อย ทางกลับกัน การจับภาพความคลาดเคลื่อนในชีวิตผู้คนท่ามกลางเมืองที่บิดเบี้ยวอันเป็นผลจากกระแสทุนนิยมในยุคโลกาภิวัตน์ คือภาพสะท้อนความจำเป็นที่ชาวฮ่องกงต้องดิ้นรนเพื่อเติบโตขึ้นมาบนเกาะเล็กอันไร้ที่ยืนแห่งนี้ หว่องยังคงคอนเซปต์ที่ปล่อยให้ตัวเองได้แสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์เหมือนเช่นเคยใน Happy Together (1997)
การเดินทางมายังบัวโนสไอเรสของคู่รักเกย์ ‘ไหล เยี่ยฟา’ (เหลียงเฉาเหว่ย) และ ‘โห เป่าหวัง’ (เลสลี จาง) ด้วยความหวังที่จะได้ไปน้ำตกอีกวาซูด้วยกัน กลับกลายเป็นฉากรักหวานอมขมกลืน เมื่อพวกเขาพยายามรักษาความสัมพันธ์ในวันที่ความรู้สึกเริ่มแตกสลายไปพร้อมวันเวลา ชีวิตของพวกเขาติดอยู่กับวัฏจักรในห้องนอนที่วนเวียนไม่สิ้นสุด
การเป็นคนชายขอบในเมืองต่างถิ่น ไม่ต่างจากภาพของผู้อพยพในฮ่องกงที่ตกอยู่กับความสับสนครั้งแล้วครั้งเล่า อาชีพนักทำหนังของเหล่าผู้กำกับหัวก้าวหน้าในฮ่องกง เบ่งบานท่ามกลางฉากหลังทางประวัติศาสตร์ที่ชวนให้กังวลใจไม่น้อย ฮ่องกงคือสถานที่พักพิงให้กับเหล่าผู้อพยพมาอย่างยาวนานตั้งแต่การเข้ามาของคลื่นชาวแผ่นดินใหญ่ในศตวรรษที่ 20 ไปจนถึงชาวฟิลิปปินส์ที่กลายมาเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดของฮ่องกงในปัจจุบัน ประเด็นเรื่องการพลัดถิ่นกลายมาเป็นหนึ่งหัวข้อสำคัญในภาพยนตร์เรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็น The Story of Woo Viet ของแอน ฮุย, Comrades: Almost a Love Story ของปีเตอร์ ชาน หรือแม้กระทั่งใน Happy Together เองก็เช่นกัน
โห และ ไหล คือกลุ่มคนชายขอบในสังคมกระแสหลัก ที่ได้สร้างโลกของตัวเองขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นของกันและกันซะทีเดียว พวกเขาแสวงหาการเชื่อมต่อกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น หรือสถานที่สังสรรค์ของชาวเกย์ในบัวโนสไอเรส เพื่อปลอบใจตัวเองในช่วงระยะสั้น ท่ามกลางการเหยียดเชื้อชาติที่เผยให้เห็นอย่างเด่นชัด
ในปัจจุบันที่การอพยพออกจากฮ่องกงล้วนเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง แต่กลุ่มผู้อพยพก่อนหน้ามักเป็นชาวชนบทหรือชนชั้นแรงงาน และไม่ใช่ผู้ย้ายถิ่นทุกคนที่จะเลือกอยู่ต่างประเทศอย่างถาวร แม้ว่า Happy Together จะใช้เวลาถ่ายทำเกือบทั้งหมดอยู่นอกฮ่องกง แต่หนังเรื่องนี้ก็จบลงด้วยการที่ไหลเดินทางกลับบ้านของเขา ความจริงแล้ว ชาวฮ่องกงจำนวนมากที่ไปจากฮ่องกงในช่วงทศวรรษ 1990 ได้กลับมายังเมืองที่เขาเติบโตมาในท้ายที่สุด การที่ไหลได้เจอกับเพื่อนร่วมงานชาวไต้หวันทำให้พบว่า ฮ่องกงแตกต่างจากไต้หวันอย่างชัดเจน ขณะที่ความรู้สึกอยากกลับบ้านของไหล เป็นเหมือนการคร่ำครวญอย่างไร้จุดหมาย ชาวไต้หวันแตกต่างออกไปเพราะพวกเขามีสถานที่ให้สามารถกลับไปได้ตลอดเวลา
Happy Together กลายมาเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญในช่วงเวลาที่ฮ่องกงกำลังอยู่ในสภาวะสับสนด้านทิศทางของตัวเองอย่างกลืนไม่เข้าคายไม่ออก แรงงานข้ามชาติในยุค 90s ตัดสินใจย้ายออกจากฮ่องกงไปหาลู่ทางในดินแดนต่างถิ่นโดยไม่ได้คำนึงถึงรัฐชาติใดเป็นพิเศษ พวกเขาเพียงแค่ต้องการที่จะอยู่เพื่อชีวิตของเขาเองเท่านั้น
ความโดดเด่นด้านภาพที่บอกเล่าเรื่องราวของเควียร์ชายขอบ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในโลกยุคหลัง บาดลึกถึงความรู้สึกผู้ชมทั่วโลก ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในขบวนการ New Queer Cinema จนได้รับกระแสวิจารณ์ในเชิงบวกมากมาย อีกทั้งยังได้รับเลือกให้จัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะการได้รับเลือกเข้าชิงรางวัลใหญ่อย่าง Palme d'or ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 1997
In the Mood for Love (2000)
‘ฉันอยากสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับช่วงเวลานี้มาตลอด เพราะมันพิเศษมากในประวัติศาสตร์ของฮ่องกง’
บทกวีรักลึกซึ้งท่ามกลางความโดดเดี่ยวและความปรารถนาของผู้คนในฮ่องกง ถูกแปรมาเป็นเส้นทางที่ตัดกันอย่างฉุนเฉียวในความสัมพันธ์ลับ ๆ ที่รายล้อมด้วยความแออัดของบ้านเรือนในยุค 60s ถึงแม้เขาและเธอจะพบพานมาเจอกันในบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่แล้วทั้งสองต่างเชื่อมโยงกันผ่านจิตวิญญาณ
In the Mood for Love (2000) ภาพยนตร์เรื่องที่ 7 ของหว่อง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้วงการหนังเป็นอย่างมาก เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกออกแบบมาอย่างเรียบหรู ปรากฏแสงสีของดวงไฟและหมอกควันคละคลุ้ง สร้างความงดงามยากจะหาเปรียบได้ แต่ขณะที่ผู้ชมหลงใหลไปกับความงามด้านภาพ เรื่องราวความรักในความลับของเพื่อนบ้านสองคนที่ต่างมีคู่สมรสกันอยู่แล้ว ที่เกิดขึ้นในฉากหลังของปี 1960 ท่ามกลางอพาร์ตเมนต์อันคับแคบ ก็ชวนให้เศร้าอย่างสุดซึ้งราวกับจมดิ่งลงไปในกระแสน้ำแห่งความรู้สึก หว่องยังคงสำรวจธีมของความสันโดษและความปรารถนาของตัวละครที่สัมพันธ์กับบริบททางสังคมอย่างต่อเนื่องในภาพยนตร์ของเขา
13 ปีหลังจาก เหมา เจ๋อตง และพรรคคอมมิวนิสต์ ก้าวขึ้นสู่อำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่ขณะที่ฮ่องกงยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ผลกระทบทางการเมืองอันซับซ้อนในช่วงทศวรรษที่ 1960 นี้ ทำให้ฮ่องกงเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก อิทธิพลจากการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์ จุดชนวนให้เกิดสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา โดยมีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับการแข่งขันขยายอำนาจระหว่างเจ้าอาณานิคมโลก ความใกล้ชิดของฮ่องกงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้สภาพสังคมเชื่อมต่อกันเป็นโดมิโน และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมตอนท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ ถึงได้เกิดขึ้นในโบราณสถานอันเก่าแก่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง นครวัด นั่นเอง
ความปราถนาในการสำรวจรากเหง้าของตัวเองในฐานะที่เคยเป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ฝังรากลึกลงไปในตัวหว่องพร้อมกับความรู้สึกโดดเดี่ยวและความเป็นอื่น อันที่จริงแล้ว ชาวจีนจำนวนมากล้วนผูกพันกับบ้านเกิดของตัวเอง ขณะที่ความเลวร้ายจากเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งเกิดขึ้นหลังปี 1949 ส่งชาวจีนต้องย้ายถิ่นมายังฮ่องกง พวกเขาก็ยังมีความฝันที่จะกลับไปบ้านเกิดของตัวเองในวันใดวันหนึ่งเสมอ เช่นเดียวกับชุมชนจีนในหนัง ผู้คนที่มาจากเซี่ยงไฮ้ล้วนมีภาษาเป็นของตัวเอง พวกเขาไม่ได้ติดต่อกับชาวกวางตุ้งท้องถิ่น และมีวัฒนธรรมที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม หว่องเปิดเผยว่า เขาต้องการสร้างภาพยนตร์ที่สะท้อนภูมิหลังของเขา และสร้างอารมณ์ร่วมนั้นขึ้นมาใหม่
เกร็ดความรู้จากภาพยนตร์ : ความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมระหว่างฮ่องกงและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ฉากตรอกซอกซอยในเรื่อง มีการถ่ายทำในแถบเจริญกรุงของไทยเราด้วย
In the Mood for Love ว่าด้วยเรื่องของ ‘ความลับ’ อย่างแท้จริง มีบางสิ่งเกิดขึ้นอย่างลับ ๆ เสมอในภาพยนตร์เรื่องนี้ อารมณ์ของหนังคือสิ่งที่ขับเคลื่อนตัวละครสองคนให้มาพบกัน สิ่งที่อยู่หน้ากล้องคือสิ่งที่หว่องเลือกสรรมาให้ผู้ชมราวกับเรากลายมาเป็นเพื่อนบ้านคนหนึ่งที่ตามสังเกตเรื่องราวความรักของคนสองคนนี้ ในการสร้างภาพยนตร์ เขาพยายามแสดงองค์ประกอบในเรื่องอย่างซ้ำ ๆ เช่น การเล่นเพลงเดิม มุมกล้องในฉากหลังของสถานที่แบบเดิม นาฬิกาวางอยู่ในตำแหน่งเดิมเสมอ ทางเดินและบันไดก็เช่นกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อดึงดูดความสนใจให้ผู้ชมเข้าถึงสภาวะทางอารมณ์ของตัวละครให้ได้มากที่สุด
ในตอนแรก หว่องมีความคิดว่าการทำหนังที่มีตัวละครเพียง 2 คน มันน่าจะเป็นเรื่องง่ายเมื่อเทียบกับงานที่ผ่านมา แต่เขากลับคิดผิด เพราะยิ่งตัวละครในเรื่องน้อยเพียงใด รายละเอียดในภาพยนตร์ก็จะมากตามไปด้วยเช่นกัน ขณะภาพยนตร์ก่อนหน้าของเขา สามารถพึ่งพา คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจได้ สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ เขาจำเป็นต้องควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเองเนื่องจากดอยล์มีภาระนอกเหนือจากงานของเขา หว่องเปิดเผยว่า การทำงานกับผู้กำกับภาพคนใหม่อย่าง มาร์ค ลี ปิง-ปิง ทำให้เขาไม่สามารถวางตัวเหมือนคนขี้เกียจได้อีกต่อไป ส่งผลให้ In the Mood for Love ถ่ายทอดสไตล์ออกมาได้อย่างชัดเจน ทุกส่ิงถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้ากับเนื้อหาของภาพยนตร์มากขึ้นกว่าภาพยนตร์เรื่องก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด
‘เมื่อคุณจะสร้างภาพยนตร์ คุณต้องเข้าใจว่ามีคนมากมายที่ทุกข์ทรมานไปกับคุณด้วย’
หว่องเปิดเผยว่า สำหรับหรับเขาแล้ว In the Mood for Love คือการทำงานที่ยากที่สุดในอาชีพนักสร้างหนัง หว่องติดอยู่กับการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้นานเกือบสองปี วิกฤตทางเศรษฐกิจในเอเชีย ทำให้การผลิตงานครั้งนี้หยุดลงชั่วคราว เนื่องจากนักลงทุนทุกคนต่างตกอยู่ในที่นั่งลำบาก หว่องจำเป็นต้องหาแรงสนับสนุนใหม่สำหรับภาพยนตร์อันเป็นที่รักของเขา ขณะที่การไม่มีบทสคริปต์ กลายมาเป็นปัญหาใหญ่สำหรับการทำงานกับผู้จัดจำหน่ายในยุโรป สิ่งเดียวที่ขับเคลื่อนงานชิ้นนี้คือความคิดว่าเขาจะสามารถสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้สำเร็จได้ หว่องตัดสินใจนำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าสู่เทศกาลหนังระดับโลกเมืองคานส์ เพราะที่นี่เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายของเขาและหนังเรื่องนี้ จนในที่สุด เขาก็ได้จัดฉาย In the Mood for Love รอบปฐมทัศน์ในคานส์ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในรางวัลใหญ่อย่าง Palme d'Or อีกครั้งด้วยเช่นกัน
My Blueberry Nights (2007)
ความโด่งดังของหว่องยังคงอยู่คู่กับวงการภาพยนตร์เรื่อยมา ส่งผลให้เขามีโอกาสได้สร้างภาพยนตร์ภาษาอังกฤษเรื่องแรกในชื่อ My Blueberry Nights (2007) จนปรากฏสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก แม้ว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นในอเมริกา และนักแสดงหลักเป็นชาวต่างชาติทั้งหมด แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘หนังสั้น’ ในฉากหลังของเอเชียอย่าง In the Mood for Love (2001) และเพื่อทำให้ภาพยนตร์สอดคล้องกับบริบทอเมริกา My Blueberry Nights จึงถูกออกมาในรูปแบบของภาพยนตร์แนว Road Trip
หว่องตัดสินใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการสำรวจธีมหลักว่า ความรักที่ไม่สมหวัง ความไม่แน่นอนของชีวิต และความทรงจำ จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไร หากเรื่องราวทั้งหมดตั้งอยู่ในวัฒนธรรมและภูมิทัศน์ที่แตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าความลึกซึ้งทางอารมณ์ในภาพยนตร์ก่อนหน้า สะท้อนความเข้าใจของหว่องได้อย่างหมดจด ในขณะที่ My Blueberry Nights ดูจะมีนัยยะทางวัฒนธรรมที่เบาบางกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ พอสมควร
Blossoms Shanghai (2021)
หลังห่างหายจากการกำกับผลงานนานเกือบทศวรรษ ตั้งแต่ภาพยนตร์บู๊แอคชั่นในตำนาน The Grandmaster ออกฉายในปี 2013 หว่องกาไว กลับมาอย่างยิ่งใหญ่อีกครั้งในปี 2021 ด้วยผลงานซีรีส์เรื่องแรกอย่าง Blossoms Shanghai ที่เป็นเหมือนกับจดหมายรักถึงบ้านเกิดของเขา ซึ่งดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อดังของ Jin Yucheng อันว่าด้วยชีวิตประจำวันในเซี่ยงไฮ้ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
‘เวลาก็เหมือนสายน้ำ นำพาผู้คนและเหตุการณ์ต่าง ๆ ให้มาพบกัน แล้วกวาดล้างพวกเขาทั้งหมดออกไป’
ข้อความอันเศร้าโศกของ อาเปา ตัวละครเอกของเรื่อง ถูกเรียงร้อยอย่างไม่ปะติดปะต่อกันตามแบบฉบับหว่องกาไว พร้อมกับเพลงฮิตในปี 1961 ของ Chubby Checker อย่าง Let’s Twist Again ฉากหลังของเซี่ยงไฮ้และช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ ยังคงเป็นประเด็นที่ฝังรากลึกอยู่ในงาน สะท้อนตัวตนของเขาอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับโอกาสในการทำงานที่แตกต่างจากเดิมมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม หว่องมีบทบาทในฐานะผู้ควบคุมการผลิตและกำกับหนังตัวอย่างสำหรับซีรีส์เรื่องนี้ โดยอาจพ่วงถึงการกำกับซีรีส์ในบางตอนเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยันชัดเจนว่ามีกี่เรื่อง อีกทั้งวันออกฉายก็ยังไม่แน่ชัดแต่อย่างใด
นอกจากในปีนี้ จะมีการเปิดเผยถึงผลงานการกำกับครั้งใหม่ของหว่องผ่านจอทีวีแล้ว ‘One for the Road’ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับไทย บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (จากฉลาดเกมโกง) ที่อำนวยการสร้างโดย หว่องกาไว ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ Sundance ประจำปี 2021 ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าภายในปีนี้ เราจะได้ลุ้นไปกับผลงานของหว่องถึงสองเรื่องกันเลยทีเดียว
อ้างอิง : https://www.sensesofcinema.com/2002/great-directors/wong/ https://www2.bfi.org.uk/.../wong-kar-wai-chungking-express https://thequietus.com/.../29577-film-wong-kar-wai... https://www.indiewire.com/.../decade-wong-kar-wai-on-in.../