Agnès Varda: พลังหญิงแห่งวงการภาพยนตร์ ผู้เคียงข้างคนตัวเล็กในสังคม

Agnès Varda: พลังหญิงแห่งวงการภาพยนตร์ ผู้เคียงข้างคนตัวเล็กในสังคม

Agnès Varda: พลังหญิงแห่งวงการภาพยนตร์ ผู้เคียงข้างคนตัวเล็กในสังคม

“ฉันมักจะถูกดึงดูดโดยคนที่ไม่คุ้นเคย คนที่ไม่มีอำนาจ ฉันพบว่าพวกเขาน่าสนใจ เพราะในการถ่ายทำ คุณไม่ใช่แค่มอบพลังให้พวกเขา แต่ยังมอบศักดิ์ศรีให้กับคำพูดของพวกเขาด้วย” - Agnès Varda

ความตายหน้าตาเป็นอย่างไร? เรารักใครและใครรักเรา? โรงหนังอนุญาตให้เล่าเรื่องอะไรได้บ้าง?

คำถามมากมาย เติบโตขึ้นท่ามกลางความรุนแรงในสภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 เด็กหลายคนต้องพบเจอกับความเจ็บปวดที่พวกเขาไม่อาจเลี่ยงได้ เมื่อเด็กเหล่านี้โตขึ้น คำถามถึงชีวิตและประเด็นทางสังคมที่แตะตั้งแต่ระบบโครงสร้างใหญ่ ไปจนถึงหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างส่วนลึกในจิตใจ จึงกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนโดยอัตโนมัติในยุคใหม่ที่พวกเขาเรียกว่า ‘Post-Modern’

กระแสโลกที่เปลี่ยนไป บวกกับตัวตนที่ไม่ยึดติดกับความเชื่อใดความเชื่อหนึ่ง ส่งผลให้ตลอดระยะเวลาอันยาวนานบนเส้นทางสายภาพยนตร์ Agnès Varda ผู้กำกับชาวเบลเยียม ผู้ซึ่งได้รับขนานนามว่าเป็นแม่แห่งวงการภาพยนตร์ ยังคงเสนอมุมมองอันลึกซึ้ง และประสบการณ์ทางภาพยนตร์ที่แปลกใหม่ เปิดกว้างทางความคิดให้กับผู้คนมากมายเรื่อยมา

ในฐานะนักเขียน ศิลปิน ช่างภาพ และนักสร้างภาพยนตร์ ที่ปรากฏชื่ออยู่ในขบวนการคลื่นลูกใหม่แห่งฝรั่งเศส (French New Wave) วาร์ดาได้สร้างผลงานที่เป็นอิสระจากรูปแบบทางภาพยนตร์ ซึ่งรวมถึงการนำเอางานสารคดี มาทดลองละลายขอบเขตทางภาพยนตร์ จนพาให้ภาพยนตร์ก้าวสู่การเป็นผลงานศิลปะที่ไม่ใช่แค่สร้างความสดใหม่ แต่ยังเป็นหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญแก่สังคมในฐานะผู้กำกับหญิงที่สร้างสิทธิและเสียงให้กับผู้หญิงและคนกลุ่มรองในสังคม อย่างเข้าใจ และจริงใจ

The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้ GroundControl จึงขอพาทุกคนมาสำรวจเส้นทางของหนึ่งในนักเคลื่อนไหวทางสังคมการเมือง ที่ใช้รูปแบบทางภาพยนตร์เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการต่อสู่เพื่อผู้คนที่ถูกลบเลือนไปจากหน้าสังคมหลักกัน!

การเกิดและเติบโตมาในช่วงสงครามนั้น เป็นเรื่องที่น่าเศร้าและเจ็บปวด..

Agnès Varda ใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กของเธออยู่กับครอบครัวในเมือง Ixelles ประเทศเบลเยียม โดยมีชื่อเดิมว่า Arlette Varda พ่อของวาร์ดาเป็นชาวกรีกในครอบครัวผู้ลี้ภัยจาก Asia Minor ส่วนแม่ของเธอเป็นชาวฝรั่งเศส หลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเปิดฉากขึ้นในปี 1939 เริ่มทวีความรุนแรง ครอบครัวของวาร์ดาจึงตัดสินใจย้ายที่อยู่จากเบลเยียม มายังเมือง Sète ประเทศฝรั่งเศส ความทรงจำนี้ กลายมาเป็นเรื่องที่ชวนให้วาร์ดาเจ็บปวดใจอย่างยิ่ง สำหรับเธอแล้ว เมืองใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ต่างเต็มไปด้วยบรรยากาศเทา ๆ ที่ปกคลุมด้วยความเศร้าอันไร้ชีวิตชีวา เธอแปลกแยกจากเพื่อนนักเรียนในชั้นอย่างเห็นได้ชัด และแน่นอนว่าความต่างของเธอในเวลานั้น ห่างไกลจากคำว่า ‘เฉิดฉาย’ โดยสิ้นเชิง

ความตั้งใจที่จะเป็นภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ ทำให้วาร์ดาตัดสินใจเข้าเรียนด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและการถ่ายภาพในสาขา École des Beaux-Arts ที่ École du Louvre วาร์ดาเริ่มหาเลี้ยงชีพจากการถ่ายภาพครอบครัว งานแต่งงานเล็ก ๆ น้อย ๆ และถ่ายภาพในโรงละคร

ความต้องการสร้างภาพถ่ายในฐานะงานศิลปะที่มีการจัดวางองค์ประกอบ ซึ่งแฝงด้วยสัญลักษณ์เชิงความหมาย ยังคงอยู่กับเธอเสมอมา จนกระทั่ง Jean Vilar นักแสดงและผู้สร้างภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเพื่อนของเธอได้เปิด Théâtre National Populaire และจ้างวาร์ดามาเป็นช่างภาพประจำตลอดระยะเวลากว่าสิบปี (ตั้งแต่ปี 1951) ทำให้วาร์ดาเริ่มมีชื่อเสียงและเติบโตในหน้าที่การงานจนเป็นที่รู้จักไปทั่วยุโรป

“ฉันไม่ได้ดูหนังมากนักเมื่อฉันยังเด็ก ฉันโง่และไร้เดียงสา บางทีฉันอาจจะไม่ได้ทำหนังถ้าฉันมีโอกาสดูหนังมากกว่านี้ ฉันเริ่มต้นจากการเป็นคนที่ปล่อยตัวเองอย่างอิสระ บ้าในบางครั้ง และไร้เดียงสาในบางที ในตอนนี้ ฉันได้ดูภาพยนตร์ที่ตราตรึงใจหลาย ๆ เรื่อง และฉันพยายามรักษาคุณภาพของภาพยนตร์ในระดับหนึ่งเอาไว้ ฉันไม่ทำงานโฆษณา ฉันไม่ทำหนังที่คนอื่นเตรียมไว้ให้ฉันล่วงหน้า ฉันไม่เลือกนักแสดงตามระบบดารา ฉันทำในสิ่งเล็ก ๆ ที่เป็นตัวของตัวเอง”

การถ่ายภาพนิ่งของวาร์ดา กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของเธอ แม้ว่าเธอจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน แต่สิ่งที่เธอเรียนรู้จากการถ่ายภาพไม่ว่าจะเป็นการวางกล้อง ฉาก ระยะ เลนส์ หรือแสง ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง La Pointe Courte (1955)

ในแง่หนึ่ง จุดเริ่มต้นของคลื่นลูกใหม่ในกระแสภาพยนตร์ French New Wave เอง อาจเกิดขึ้นพร้อมกับเส้นทางอาชีพของวาร์ดาด้วยเช่นกัน ขณะที่ทำงานเป็นช่างภาพ วาร์ดาเริ่มสนใจผลงานภาพยนตร์มากขึ้น แม้เธอจะเปิดเผยว่าตลอดระยะเวลา 25 ปีนับแต่เกิดมา เธอเคยดูหนังเพียงสิบเรื่อง (โดยประมาณ) เท่านั้น ดังนั้น การเกิดขึ้นของ La Pointe Courte จึงให้ความรู้สึกเหมือนการเขียนหนังสือเล่มแรก หลังจากที่บทร่างของภาพยนตร์เรื่องนี้สำเร็จ เธอก็รู้ตัวทันทีว่าอยากจะถ่ายทำบทนี้ขึ้นมาเป็นภาพ

La Pointe Courte (1955)

“ฉันเป็นช่างภาพ และฉันต้องการอะไรมากกว่านี้”

ในกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์ช่วงแรกเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เนื่องจากวงการภาพยนตร์ในฝรั่งเศสช่วงเวลานั้น ไม่เปิดพื้นที่ให้นักสร้างหนังอิสระมากเท่าไรนักเมื่อเทียบกับวงการงานเขียนนวนิยายหรือวรรณกรรม ดังนั้น ผลงานภาพยนตร์ของวาร์ดา จึงเต็มไปด้วยส่วนผสมที่ไม่เป็นไปตามท่ามาตรฐานของภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

ดูเหมือนว่าความกระหายใคร่รู้ จะเป็นหนึ่งในสมบัติส่วนตัวของวาร์ดา ที่เธอพกติดตัวไปมาอยู่ทุกที่ เธอจึงก้าวข้ามขั้นการเป็นช่างภาพด้วยการพาตัวเองไปดูหนัง อย่างที่เอ่ยไว้ข้างต้นว่าวาร์ดาไม่เคยเรียนด้านภาพยนตร์มาก่อน แถมยังเคยดูภาพยนตร์น้อยมาก เพราะที่บ้านของเธอไม่ได้สนใจภาพยนตร์เป็นทุนเดิม แต่การได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในโรงละครและพิพิธภัณฑ์บ่อยครั้ง ทำให้เธอเริ่มมองเห็นแนวคิดที่ต่างไปจากเดิม วาร์ดาเริ่มเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้บนโต๊ะในลานบ้านของเธอ โดยใช้วิธีเขียนแบบเดียวกับการเขียนบทกวีที่เธอแอบซ่อนไว้ในลิ้นชัก

La Pointe Courte ย่านซึ่งตั้งอยู่ใน Sète ของฝรั่งเศส เป็นสถานที่ที่วาร์ดาและครอบครัวของเธอเคยอาศัยอยู่ในช่วงสงครามด้วยฐานะผู้ลี้ภัย เธอกลับมาที่นี่ในทุกฤดูร้อน ในปี 1954 ขณะที่อยู่ใน La Pointe Courte สองวัน เธอก็สังเกตได้ว่ามีคนหลงเหลืออยู่ ณ ที่แห่งนี้ไม่มากนักเมื่อเทียบกับอดีต

André Lubrano เป็นเพื่อนในวัยเด็กที่ดีกับวาร์ดาเสมอมา และใช่ เธอเคยถ่ายภาพเขาเอาไว้ วาร์ดาจำช่วงเวลาอันแสนธรรมดาที่เธอมีต่อลูบราโนได้เป็นอย่างดี สำหรับเธอแล้ว เขาเป็นคนที่แข็งแรงที่สุดที่ปรากฏอยู่ในหนังของเธอเมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงที่วาร์ดาได้เห็นในที่ซึ่งเธอเติบโตมา กลายมาเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการริเริ่มผลงานชิ้นใหม่หลังจากเก็บเกี่ยววัตถุดิบมาตลอดช่วงชีวิต

La Pointe Courte เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างคู่สามีภรรยาที่แต่งงานแล้ว (นำแสดงโดย Silvia Monfort และ Philippe Noiret) ซึ่งผสมปนเปอยู่กับภาพฟุตเทจสารคดีการดิ้นรนในแต่ละวันของชาวบ้านที่นี่ การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้รับอิทธิพลจากหนังสือ The Wild Palms ของ Faulkner โครงสร้างภายใน ซึ่งสลับไปมาระหว่างเนื้อเรื่องสองเรื่องที่แตกต่างและไม่เคยวนมาปะติดปะต่อกัน ทำให้ตัวบทสร้างความรู้สึกไม่สงบ และกระตุ้นความคิดที่ซับซ้อนในการอ่าน “เราต้องเชื่อในการซึมซับของตัวบท” เธอกล่าว สำหรับวาร์ดาแล้ว ชั้นของสมองคนเราสามารถทำงานโดยแยกแยะและหลอมรวมเรื่องราวได้อย่างน่าอัศจรรย์ ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่าแนวคิดที่เดินทางเป็นเส้นขนาน จะสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ เธอดำเนินตามแนวทางนี้อย่างตั้งมั่นด้วยความเชื่อที่ว่า ถ้ามีคนกล้าสร้างเส้นเรื่องแบบนี้ในวรรณกรรม วิธีการนี้ก็ต้องเกิดขึ้นในภาพยนตร์ได้ด้วยเช่นกัน . วาร์ดาเล่าว่าการถ่ายทำวันแรกของภาพยนตร์ เธอกระตือรือร้นมากจนกลายเป็นความรั้นที่อยากจะถ่ายทำซีนที่ยากก่อน ดังนั้น เธอจึงเริ่มด้วยฉากที่กล้องไหลเข้าไปในบ้านของคนยากจนในเมือง ขณะที่พวกเขากินข้าวอยู่บนโต๊ะ กล้องเคลื่อนผ่านพวกเขาไปยังห้องถัดไป โดยมีเด็กที่ป่วยนอนอยู่บนเตียงซึ่งทำจากกล่อง จากนั้นกล้องจะเดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ออกไปทางด้านหลังบ้าน แม้ว่า Carlo Vilardebó ผู้ช่วยของเธอ จะค้านเรื่องนี้ แต่ในที่สุด พวกเขาก็จบงานอย่างสวยงาม วาร์ดาเผยว่าเธอมีความสุขมากกับการเริ่มต้นถ่ายทำฉากดังกล่าว เมื่อถ่ายทำเสร็จ สิ่งที่เธอบอกกับตัวเองก็คือ “ตอนนี้ฉันเป็นนักสร้างหนังแล้ว!”

La Pointe Courte (1955) ได้รับการยกย่องจากเหล่านักวิจารณ์ใน Cahiers du Cinéma วารสารชื่อดัง เป็นอย่างมาก โดย André Bazin หนึ่งในผู้ก่อตั้ง เปิดเผยว่างานของวาร์ดา มีสไตล์ที่เป็นอิสระโดยแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้ ทำให้เกิดความประทับใจที่หาได้ยากมากในภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการเผยถึงความต้องการของผู้เขียนโดยปราศจากความผูกพันธ์อื่น ส่วน François Truffaut ผู้กำกับซึ่งเป็นหัวแรงหลักในขบวนการ French New Wave เองก็ได้กล่าวชื่นชมว่าภาพยนตร์ของวาร์ดาเรื่องนี้ เป็นงานทดลองที่มีทั้งความทะเยอทะยาน ซื่อสัตย์ และฉลาดในตัวเอง จนนักวิจารณ์หลายฝ่ายยกให้ภาพยนตร์ของเธอ เป็นจุดเริ่มต้นของกระแสคลื่นลูกใหม่ในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ของผู้กำกับคนอื่น ๆ ในขบวนการเดียวกัน วาร์ดาแตกต่างจากผู้ร่วมขบวนการในฝั่ง Cahiers du Cinéma อย่างชัดเจน ผลงานของเธอมีมุมมองที่สดใหม่ เฉพาะเจาะจง เป็นเอกลักษณ์ และไม่อิงตามวิถีการสร้างภาพยนตร์ไม่ว่าจะกับภาพยนตร์กระแสหลัก หรือรูปแบบการทำงานของ French New Wave ที่เกี่ยวข้องกับแบบแผนทางสติปัญญาในภาพยนตร์ เธอได้พัฒนาแนวความคิดของตัวเองในเรื่อง Cinécriture ซึ่งวาร์ดาให้คำอธิบายว่า เป็นกระบวนการของการเขียน Ciné ในความหมายที่กว้างที่สุด ซึ่งรวมถึงรูปแบบการตัดต่อ การบรรยายด้วยเสียง การเลือกสถานที่ ฤดูกาล ทีมงาน แสง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และภาษา

ขบวนการภาพยนตร์ฝั่งซ้าย (Rive Gauche) ซึ่งร่วมด้วย Chris Marker, Alain Resnais, Marguerite Duras, Alain Robbe-Grillet, Jean Cayrol และ Henri Colpi มีรูปแบบการทำงานในเชิงทดลองที่แตกต่างจาก Cahiers du Cinéma อย่างยากจะอธิบายเป็นคำพูดได้ เนื่องจาก สมาชิกของกลุ่มนี้ มีพื้นฐานด้านการสร้างภาพยนตร์สารคดี การวางแนวทางการเมืองฝ่ายซ้าย และความสนใจในการทดลองเล่นแร่กับภาพยนตร์ในฐานะผลงานศิลปะ ทำให้วาร์ดาและผู้สร้างภาพยนตร์ฝั่งซ้ายคนอื่น ๆ สร้างสรรค์รูปแบบผลงานที่ผสานเอาประเด็นทางสังคมในงานสารคดี เข้ากับแนวทางการทดลอง รวมถึงการทำงานร่วมกันกับสมาชิกคนอื่น ๆ จนเกิดเป็นภาพยนตร์ที่สร้างรสชาติของความรู้สึกที่หลากหลายให้ผู้ชม

จุดเริ่มต้นอันกล้าหาญของวาร์ดา กลายมาเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะล้มเหลวทางการเงินก็ตาม เพราะในฐานะนักสร้างภาพยนตร์ผู้หญิง เธอเป็นคนแรก ๆ เลยก็ว่าได้ ที่ไม่ได้เริ่มไต่บันไดทางอาชีพจากการเป็นผู้ช่วยมาก่อน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าวาร์ดาจะถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมอุดมการคลื่นลูกใหม่ในฝรั่งเศส แต่ความจริงที่ว่าเธอเป็น ‘ผู้หญิง’ ก็ทำให้เธอไม่มีโอกาสเปร่งประกายเท่าผู้กำกับชายในกระแส French New Wave ช่วงเวลานั้น

และแม้ว่าวาร์ดาจะไม่เคยเคลมตัวเองว่าอยู่ในกระแสสังคมใด หรือบอกว่าภาพยนตร์ของเธอถือเป็นตัวแทนการเคลื่อนไหวสตรีนิยม (Feminist) แต่แน่นอนว่าในทางหนึ่ง การสร้างเรื่องราวโดยมีผู้หญิงเป็นตัวละครหลัก บวกกับการใส่เนื้อหาสังคม-การเมือง ปรัชญา เข้าไปในภาพยนตร์ร่วมกับสัมผัสทางศิลปะ ก็ได้ทำให้ภาพยนตร์ของเธอ กลายมาเป็นตัวแทนของผู้หญิงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

Le Bonheur (1965)

“ความสุข” คืออะไร? การมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ การได้รักใครสักคนอย่างไม่มีเงื่อนไข การมองภาพที่ชวนให้นึกถึงจิตรกรรมชิ้นเอกของศิลปินในตำนาน บทกวีหวานซึ้ง หรือการเดินในทุ่งหญ้าที่มีฉากหลังเป็นดอกทานตะวันสวยสดงดงาม สิ่งเหล่านี้เรียกว่าจะยังเรียกว่าความสุขได้หรือไม่ หากเบื้องลึกลงไปกว่านั้น มีความเจ็บปวดแฝงอยู่มากมาย

ดอกทานตะวันสีเหลืองสดใส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ บานสะพรั่งเต็มสวนสาธารณะใน Ile-de-France ทางตอนเหนือของปารีส ชวนให้นึกถึงภาพวาดของของ Vincent Van Gogh ศิลปิน Post-Impressionism ผู้โด่งดังอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น เพราะวาร์ดาเอง ได้เปิดเผยว่าเธอรับเอาแรงบันดาลใจมากมายจากเหล่าศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานสุดประทับใจ มาเป็นส่วนหนึ่งในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของเธอ

เมื่อมองภาพดังของเหล่าศิลปินผู้หลงใหลในธรรมชาติ หลายคนคงมีความสุขกับสิ่งที่เห็นตรงหน้าตามไปด้วย แต่แท้จริงแล้ว เบื้องหลังภาพวาดหลายต่อหลายภาพ ต่างแฝงไปด้วยความรู้สึกอันซับซ้อนที่ชวนหวานอมขมกลืนอยู่ไม่น้อย ดังนั้นภาพยนตร์เรื่อง Le Bonheur ซึ่งแปลว่า ความสุข จึงเป็นเหมือนกับภาพวาดของแวนโก๊ะ ที่ความเศร้าและหดหู่ใจถูกฉาบด้วยสีสันอันสดใสเพลินตา

Le Bonheur หนึ่งในภาพยนตร์ที่มีเส้นเรื่องเรียบง่ายที่สุดของวาร์ดา บอกเล่าเรื่องราวครอบครัวที่สมบูรณ์แบบตามบรรทัดของสังคม ซึ่งประกอบด้วยช่างไม้บุคลิกดี ที่อาศัยอยู่กับภรรยาผู้เพรียบพร้อม และลูกทั้งสอง ฉากในเรื่องเกิดขึ้นท่ามกลางความสวยงามชวนของปารีสที่แฝงอยู่ในทุกมุมของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้หลากสีในแจกัน ความเรียบร้อยสะอาดสะอ้านของบ้าน และอาชีพการตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นเหมือนงานรองของแม่บ้านสาว เมื่อมองจากมุมนี้แล้ว คงดูเหมือนว่าชีวิตครอบครัวนี้ราบรื่นไปด้วยดี แต่คำถามที่หลายคนอาจหลงลืมไปก็คือ ทำไมภาระงานบ้าน และการดูแลลูกจึงต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว

วาร์ดาพาผู้ชมตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ฉันครอบครัวอีกขั้น ด้วยการเพิ่มรักซ้อนซ่อนเงื่อน ซึ่งเกิดจากการที่ฝ่ายชายไปต้องตาต้องใจหญิงสาวนักไปรษณีย์คนหนึ่งให้ผู้ชมเริ่มเกิดความเคลือบแคลงใจ แม้ว่าเมื่อถอดแว่นทางจริยธรรมแบบไทย ๆ ออก ความสัมพันธ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้ คงเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ทั่วไปในภาพยนตร์ฝรั่งเศส แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การกระทำของฝ่ายชาย ที่ละเลยต่อความรู้สึกภรรยา ผู้ซึ่งให้เวลาทั้งหมดในชีวิตเธอแก่สามีและลูก สร้างความเจ็บปวดภายในให้กับหญิงสาวเป็นอย่างมาก และแม้ว่าเธอจะเอ่ยว่าการกระทำของสามีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เช่นเดียวกับภาพวาดของศิลปินลัทธิประทับใจ และดอกไม้ในสวน หญิงสาวผู้แสนดีต่างมีสิ่งที่เก็บงำอยู่ภายใน และพร้อมจะโรยราไปได้เสมอไม่ต่างกันแม้ว่าวาร์ดาจะไม่ได้แสดงท่าทีในการเรียกร้องสิทธิสตรีอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหมายความว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นไปเพื่อเผยแพร่อีกแง่มุมหนึ่งของชีวิตคู่เท่านั้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่ในภาพยนตร์ที่เปิดให้ผู้ชมได้ตีความอย่างเป็นอิสระนั้น กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยถึงบทบาทของผู้หญิงที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต

Vagabond (1985)

วาร์ดายังคงเดินทางในโลกของภาพยนตร์ เช่นเดียวกับผู้คนที่ออกเดินทางบนท้องถนนในโลกแห่งความเป็นจริง เธอเฝ้าสำรวจผู้คนที่สังคมอาจหลงลืมไป เพื่อทำความเข้าใจและเผยแพร่ชีวิตในแง่มุมใหม่สู่สายตาผู้ชม

Vagabond เป็นเรื่องราวของหญิงสาวไร้บ้านที่เดินทางตามลำพังอย่างไม่มีจุดหมาย แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะให้ความรู้สึกเหมือนการถ่ายสารคดี แต่ก็มีวิธีสร้างที่ไม่ใช่การตามชีวิตหญิงเร่ร่อนจริง ๆ ไปซะทีเดียว ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงโดยนักแสดงจริง อย่างไรก็ตาม ก่อนจะถ่ายทำ วาร์ดาใช้เวลามากกว่าหนึ่งเดือนในการทำความเข้าใจนักเดินทางเหล่านี้เลยทีเดียว

วาร์ดามักจะขับรถไปตามถนนเพื่อรับเด็กหนุ่มสาวที่กำลังโบกรถอยู่ ติดรถมาด้วย เธอใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งเดือนในการค้นหาสถานที่ที่พวกเขานอน เธอเดินทางไปสถานีรถไฟในตอนกลางคืน แล้วอยู่ตรงนั้นถึงดึกดื่น แม้จะต้องทนหนาวก็ตามที วาร์ดาพบว่าเมื่อถึงเวลาตี 2 พวกเขาจะเริ่มคุยกันเพราะรู้สึกเบื่อ สิ่งหนึ่งที่เธอเรียนรู้จากการเฝ้าดูหนุ่มสาวนักเดินทางเหล่านี้อยู่ห่าง ๆ ก็คือ เธอทำได้เพียงแค่ดูและรับฟัง เพราะไม่มีใครสามารถช่วยพวกเขาได้ แม้แต่ตัววาร์ดาเองก็ตาม เพราะจิตใจของคนเรา ล้วนเต็มไปด้วยความซับซ้อนเกินรับรู้ได้ และสิ่งนี้เองที่ปลุกความสนใจวาร์ดาเข้าเต็ม ๆ

เธอเล่าว่า ครั้งหนึ่ง เธอชวนหญิงสาวนักเดินทางไปร้านอาหาร ทว่าชายในร้านกลับบอกว่าเธอสกปรกเกินกว่าจะเข้าร้านได้ เขาไม่ต้องการให้เธอนั่งในร้าน แม้ว่าเธอจะจ่ายเงินก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้วาร์ดารู้ว่า อุปสรรค์ที่แยกคนรวยออกจากคนจนคือ ‘กลิ่น’ และ ‘ความสกปรก’

ความเข้าใจที่เกิดขึ้น เป็นเช่นเดียวกับการทำลายกำแพงการรับรู้ พูดอย่างง่ายก็คือ การจะยอมรับกลิ่นเหม็น ๆ ของไวน์ ปัสสาวะ และอุจจาระที่ผสมปนเปกันเกินทนไหวได้ เราต้องลบคำว่าสกปรกออกจากสารระบบให้ได้ก่อน การที่หนุ่มสาวผู้ไม่แยแสโลก สามารถอยู่ในความโสมม (ตามความคิดของผู้คนในสังคม) ได้ ก็เพราะเขาเข้าใจว่าความสกปรกนั้น ไม่ใช่สิ่งสำคัญตั้งแต่แรกนั่นเองวาร์ดายังคงทำความเข้าใจกับกลุ่มคนที่อยู่นอกการยอมรับของสังคมตลอดช่วงเวลาก่อนการถ่ายทำ เธอเปิดเผยถึงแง่มุมใหม่อีกครั้งเมื่อเธอชวนหญิงสาวคนหนึ่งมาบ้านของตัวเอง วาร์ดาพบว่า แม้เธอจะเตรียมห้องนอนและห้องน้ำไว้ให้ แต่ในวันรุ่งขึ้น เธอก็พบว่าหญิงสาวไม่อาบน้ำเหมือนเดิม สิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพราะเธอสกปรกไปกว่าคนอื่น แต่เป็นเพราะ การอาบน้ำ ไม่ใช่ความต้องการพื้นฐานและวิถีปฏิบัติของคนกลุ่มนี้ ดังนั้น เมื่อภาพยนตร์ของวาร์ดาทำงานร่วมกับชีวิตผู้คนจริง ๆ ระบบค่านิยมทางสังคมที่เราคุ้นชินกัน จึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้กำลังพูดกับผู้ชมคือ ความสะอาดไม่ใช่ความสูงส่ง แต่เป็นเพียงหนึ่งในวิถีชีวิตของคนกลุ่มใหญ่ พวกเขาเพียงสร้างเส้นคัดกรองสถานะมาเพื่อแบ่งแยกคนเท่านั้น และ Vagabond กำลังตั้งคำถามถึงเรื่องนี้ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไม วาร์ดาจึงไม่เคยถ่ายทำภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับคนรวยและผู้มีอำนาจ เพราะสำหรับเธอ ภาพยนตร์เหล่านี้มีมากมายในสังคม ซึ่งในเมื่อชนชั้นนำไม่สนใจเธอ ก็ไม่มีเหตุผลเช่นกันที่วาร์ดาจะต้องทำหนังเพื่อคนเหล่านั้น

Documentary

ผลงานของวาร์ดา แตกต่างไปจากผู้กำกับคนอื่น ๆ ของ French New Wave โดยสิ้นเชิง เนื่องจากเธอเป็นที่รู้จักในแวดวงภาพยนตร์สารคดีและเรื่องสั้น ดั้งนั้น ภาพยนตร์ของเธอจึงไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่ในฝรั่งเศส แต่ยังถ่ายทำในสถานที่ต่าง ๆ จากหลายมุมโลกด้วยเช่นกัน

ปัญหามากมายที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ได้มีแค่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ หรือชนชั้นทางสังคมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่เชื่อมโยงต่อกันเป็นโครงข่าย และประสบการณ์การทำงานตลอดชีวิตของวาร์ดายังคงตอกย้ำให้เธอเห็นถึงจุดเล็ก ๆ เหล่านี้ที่หลายคนมองข้ามไป เธอไม่ได้สนใจแค่เรื่องของสตรีและคนไร้บ้าน แต่ยังรวมถึงการสำรวจสังคมอื่นนอกฝรั่งเศส อย่างการเดินทางเพื่อสำรวจวัฒนธรรมและเรียนรู้ความแตกต่างทางความคิดในสารคดีการต่อสู้เพื่อสิทธิคนผิวสี

“ความทรงพลัง อยู่ได้ไม่นาน” ด้วยความคิดที่ว่ามา วาร์ดาจึงตัดสินใจถ่ายทำสารคดี Black Panthers (1968) เพื่อเป็นพยานต่อขบวนการในครั้งนี้ จำนวนคนของกลุ่ม Black Panthers เพิ่มขึ้นพร้อมกับการที่ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิในการศึกษา นั่นหมายความว่า ‘ผู้หญิง’ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวาทกรรมหลัก ในขณะที่ผู้หญิงสร้างทฤษฎีของพวกเขา ชุมชนคนผิวสีก็สร้างสิ่งนี้ขึ้นมาเช่นเดียวกัน ดังนั้น หน้าประวัติศาสตร์จึงเปลี่ยนไปพร้อมกับวันเวลา จากที่คนผิวขาวเป็นผู้เขียนแบบร่างทางสังคม กฎ และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับคนผิวสีมาโดยตลอด การเกิดขึ้นของ Black Panthers จึงสำคัญ เพราะพวกเขากำลังจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นมาเอง

ความจริงแล้ววาร์ดาได้สร้างภาพยนตร์เพื่อเป็นพยานแก่การต่อสู้ของกลุ่มคนที่ประท้วงเพื่อสิทธิของตัวเองเรื่อยมานับตั้งแต่การปฏิวัติในประเทศจีน (1957) มาจนถึง Salut les Cubains (1963) ที่ประเทศคิวบา แม้ภาพยนตร์ของเธอจะไม่ได้มีนัยยะเพื่อผลักดันความคิดเห็นทางการเมืองไปในทางใดทางหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นจริงเสมอคือ ภาพยนตร์ทุกเรื่อง มีผู้คนที่กำลังต่อสู้อยู่ในนั้น การที่เธอเป็นผู้หญิงซึ่งผ่านภาพของการประท้วงในหลากหลายบริบท จึงทำให้เธอรับรู้ได้ว่าในทุกการต่อสู้ ไม่ได้เป็นเรื่องของการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงร่างกายและชีวิต การเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ยืนอยู่ท่ามกลางผู้หญิงคนอื่น แสดงให้เห็นว่าเราต่างพยายามปกป้องกันและกัน จากความทุกข์ที่แต่ละคนเคยได้เจอ

ตลอดการทำงานของวาร์ดา เธอยังคงสำรวจความแตกต่างของผู้คนที่ต่อสู้กับชีวิตและความตายในทางของตัวเองด้วยความเคารพและจริงใจต่อผู้ที่เธอได้พบเจอไม่ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับปัญหาจากสภาพร่างกาย จิตใจ สังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือบริบททางการเมือง ทำให้ที่สุดแล้ว วาร์ดาถูกขนานนามว่าเป็นคุณแม่แห่งวงการภาพยนตร์ที่ไม่เคยแยแสต่อผู้มีอำนาจ และบอกเล่าเรื่องราวของเหล่าผู้คนที่ต่อสู้เพื่อตัวเอง ตลอดช่วงชีวิตของเธอ

In a Memory of Agnès Varda 1928 - 2019

อ้างอิง : https://www.sensesofcinema.com/2002/great-directors/varda/ https://egs.edu/biography/agnes-varda%E2%80%A0/ https://mubi.com/.../a-filmmaker-s-joy-an-interview-with... https://en.wikipedia.org/wiki/Agn%C3%A8s_Varda