Antoine de Saint-Exupéry นักบินผู้มองการผจญภัยด้วยสายตาของนักกวี
ภาพงูเหลือมกลืนช้างแบบทึบ ภาพงูเหลือมกลืนช้างแบบโปร่ง ภาพแกะในกล่องไม้ ภาพต้นเบาบับใหญ่ยักษ์ผุดขึ้นรอบดาวดวงเล็ก และที่สำคัญที่สุด ภาพเด็กผู้ชายตัวน้อยผมบลอนด์ที่มีใบหน้าใสซื่อบริสุทธิ์…
เชื่อว่าหลายคนน่าจะเดากันได้ว่าลิสต์ภาพสุดไอคอนิกเหล่านี้คือภาพประกอบหนังสือนิทานคลาสสิคตลอดกาลเรื่อง The Little Prince ผลงานของนักบิน นักกวี และนักเขียนชาวฝรั่งเศส Antoine de Saint-Exupéry ซึ่งเป็นคนวาดภาพประกอบสุดน่ารักเหล่านี้เองด้วย แต่ใครจะรู้ว่าแรงบันดาลใจของหนังสือเล่มนี้มาจากประสบการณ์ชีวิตนักบินของเขาเอง หนึ่งในผู้บุกเบิกการบินไปรษณีย์ และฮีโร่ของประเทศฝรั่งเศส
ท่ามกลางความเสี่ยงของการบินในยุคบุกเบิกที่อันตรายถึงชีวิต แซงเตกกลับมองเห็นโอกาสที่จะได้ผจญและท่องโลกกว้าง แล้วถ่ายทอดเรื่องราวการผจญภัยผ่านสายตาของนักเขียนนักกวีลงบนหนังสือซึ่งยังคงเป็นที่พูดถึงอยู่มากมาย เขาหลงรักในชีวิตบนท้องฟ้าและการเขียนยิ่งกว่าอะไรดี ราวกับว่าทั้งสองอย่างได้ฝังอยู่ในสายเลือดเขาไปแล้ว แม้แต่ในบั้นปลายของชีวิตที่สภาพร่างกายไม่ดีเท่าเดิมแล้ว เขาก็ยังดื้อดึงที่จะรับภารกิจซึ่งกลายเป็นเที่ยวบินสุดท้าย ก่อนที่เขาจะสูญหายไป และไม่กลับมาอีกเลย
ด้วยความที่วันที่ 29 มิถุนายนของทุกปีไม่เพียงเป็นวันคล้ายวันเกิดของนักเขียนผู้มีใจรักในการบิน แต่ยังถูกยกให้เป็นวัน ‘Little Prince Day’ อีกด้วย GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปทำความรู้จักกับโลกทั้งสองใบ (โลกของการบินและการเขียน) ของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี และเส้นทาง 120 ของ ‘เจ้าชายน้อย’ ร่วมกัน
อ็องตวน เดอ แซงเตกซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry หรือ Antoine-Marie-Roger de Saint-Exupéry) เกิดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 1900 ที่เมือง Lyon ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวชนชั้นสูง แต่หลังจากที่พ่อของแซงเตกซึ่งมีฐานะเป็นไวเคานต์เสียชีวิตลงตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก สถานะทางการเงินของครอบครัวก็เริ่มสั่นคลอน แม่ของแซงเตก Marie de Fonscolombe จึงตัดสินใจพาลูก ๆ ย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติที่ปราสาททางตะวันออกของฝรั่งเศส และเป็นช่วงเวลานั้นเองที่ความหลงใหลในทั้งการบินและการเขียนเริ่มก่อขึ้นในใจของเขา
แซงเตกมีใจรักในการอ่านตั้งแต่เด็ก นักเขียนคนโปรดของเขาคือ Jules Verne และ Hans Christian Andersen เขาเริ่มแต่งกลอนเองจนดึกดื่นแล้วมักจะปลุกน้อง ๆ ให้ตื่นมาฟังงานเขียนของเขาในช่วงเช้ามืด จนกลายเป็นนิสัยประจำตัวของเขาไปแล้ว แม้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แซงเตกก็ยังชอบที่จะโทรไปหาเพื่อนตอนตีสามเพื่อเล่าถึงงานเขียนของตัวเองให้ฟัง
เมื่ออายุได้ 12 ปี แซงเตกก็ตกหลุมรักเป็นครั้งแรกในชีวิต และความรักครั้งแรกของเขาก็คือการโผบินไปบนอากาศ หลังได้ลองขึ้นบินเป็นครั้งแรกที่ฐานทัพอากาศ Ambérieu-en-Bugey
เก้าปีต่อมาเขาก็ได้สานฝันตัวเองระหว่างเข้ารับราชการทหารที่กองทัพอากาศเป็นนักบินทหารอากาศ และในช่วงนี้เองที่แซงเตกได้พบกับความรักแห่งชีวิตเป็นครั้งที่สอง เมื่อเขาได้พบรักกับหญิงสาวคนหนึ่ง จนถึงกับยอมตัดสินใจละทิ้งอาชีพนักบิน แล้วออกมาทำอาชีพอื่นเพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกับเธอ
ถึงความฝันนี้จะไม่ได้ไปต่อ แต่การเขียนซึ่งเป็นอีกหนึ่งความหลงใหลของเขาก็เริ่มจะประสบความสำเร็จ แซงเตกเขียนเรื่องสั้น L’Aviator (L’Aviateur) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นแรกของเขาในช่วงนี้ ก่อนจะได้รับการตีพิมพ์ในปี 1926 โดยเนื้อเรื่องบอกเล่าถึงประสบการณ์การเป็นนักบินของเขาเมื่อครั้งยังเข้ารับราชการทหารนั่นเอง
Southern Mail (1929)
หลังกลับมาเป็นนักบินอย่างเต็มตัว แซงเตกก็ย้ายไปประจำการที่ลานบินที่เวสเทิร์นซาฮาร่า เขาตกหลุมรักความเวิ้งว้างและความเงียบของที่นี่ถึงขั้นเขียนเรื่องราวเก็บไว้เป็นกึ่งอัตชีวประวัติในนวนิยายสั้นเรื่องแรกที่มีความยาวไม่ถึงร้อยหน้าเรื่อง Southern Mail (Courrier sud) ซึ่งว่าด้วยความโดดเดี่ยวของผู้เป็นนักบินและเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวัง
นวนิยายสั้นเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ Bernis นักบินไปรษณีย์ที่พบรักกับ Geneviève หญิงสาวที่แต่งงานและมีลูกแล้ว แต่ถูกสามีทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ จนในที่สุดเธอก็ออกมาอยู่กับ Bernis แต่ไม่นานความสัมพันธ์นี้ก็ต้องจบลง เพราะเขาไม่สามารถปรับตัวกับการใช้ชีวิตบนพื้นดินได้ ด้วยความที่ทั้งชีวิตนักบินของเขามีแต่ท้องฟ้า ก้อนเมฆ พระอาทิตย์ยามเดินทางเท่านั้น เมื่อทำภารกิจเสร็จกลับมายังสถานีพื้นดินไม่นานก็ต้องบินออกไปใหม่เพื่อทำภารกิจต่อไป นักบินจึงเปรียบเสมือนผู้ร่อนเร่ไปบนท้องฟ้า การที่จะต้องมาใช้ชีวิตบนพื้นดินอย่างถาวรคงจะเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขา
จุดจบของเรื่องราวความรักนี้ช่างคล้ายกับความสัมพันธ์ของแซงเตกและคนรักของเขา แซงเตกเองก็เคยล้มเลิกเป็นนักบินเพราะผู้หญิงที่รักเช่นเดียวกับ Bernis แต่แล้วทั้งคู่ก็ไปกันไม่รอดเพราะเข้ากันไม่ได้ และแซงเตกก็ตัดสินใจกลับไปหาความโดดเดี่ยวยามโผบินบนท้องฟ้าซึ่งเป็นเกือบทั้งชีวิตของเขาเช่นเดียวกับตัวละครหลักในเรื่องนี้
เรื่องราวอันแสนขมขื่นนี้จบลงด้วยการสูญหายไปของ Bernis ในทะเลทรายซาฮาร่า หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับสถานการณ์คล้ายคลึงนี้ในเรื่อง The Little Prince ฉากเริ่มเรื่องที่ตัวละครนักบินประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกในทะเลทรายซาฮาร่าเหมือนกัน อาจกล่าวได้ว่าแซงเตกคงจะประทับใจและชื่นชอบสถานที่อันเปล่าเปลี่ยวนี้เป็นพิเศษ
Night Flight (1931)
แซงเตกเขียนนวนิยายเรื่องที่สองขึ้นระหว่างย้ายไปประจำการชั่วคราวที่อาร์เจนตินาเพื่อดูแลการติดตั้งระบบการบินไปรษณีย์ หลังจาก Night Flight (Vol de nuit) ได้รับการตีพิมพ์เมื่อเขากลับมาปารีสในปี 1931 นวนิยายเรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจในทันทีและได้คว้ารางวัลวรรณกรรม Prix Femina ไปอย่างไม่มีใครกังขา ซึ่งนวนิยายเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากจนถึงกับถูกนกไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดในปี 1933 ซึ่งนำแสดงโดย John Barrymore, Helen Hayes และ Clark Gable อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นงานเขียนแรกของแซงเตกที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามก็ว่าได้
เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ ของเขา นวนิยายเรื่องนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงของแซงเตกเพื่ออุทิศให้กับนักบินผู้บุกเบิกการบินไปรษณีย์ ผู้ที่อุทิศชีวิตของตัวเองให้กับอาชีพและหน้าที่ที่จะต้องนำสารไปส่งยังจุดหมายให้ได้ ไม่ว่าจะต้องเสี่ยงอันตรายแค่ไหนก็ตาม นอกจากนี้ แซงเตกยังได้แรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครในเรื่องนี้มาจากคนรู้จักของเขาเมื่อตอนทำงานที่อเมริกาใต้ด้วย
จากความชอบในการบินไปบนท้องฟ้ายามค่ำคืนของแซงเตก สู่ตัวละครนักบินไปรษณีย์กะดึก Fabien ที่บินจากปาตาโกเนีย ชิลี และปารากวัยสู่อาร์เจนตินาในช่วงยุคบุกเบิกของการบินพาณิชย์ เนื้อเรื่องว่าด้วยคืนหนึ่งที่ควรจะเป็นคืนแสนสงบเฉกเช่นเดียวกับคืนอื่น ๆ แต่ในการเดินทางเหนือเทือกเขาแอนดีสค่ำคืนนั้นกลับเกิดพายุโหมกระหน่ำขึ้นจากทุกทิศทาง Fabien จึงบินขึ้นไปเหนือพายุเพื่อหาแสงสว่าง เมื่อหลุดออกจากความมืดได้ บรรยากาศรอบข้างก็เปลี่ยนไปเหมือนเขาได้หลุดมาอยู่ยังอีกโลกอันแสนสงบที่ถูกซ่อนเอาไว้ มันสวยงามเกินจะบรรยายจนเขาลืมความหวาดกลัวไปเสียหมด
แม้ว่าการเดินทางของ Fabien ในเรื่องนี้จะพบจุดจบอันน่าเศร้าเหมือนที่ Bernis ประสบพบเจอใน Southern Mail แต่ถึงอย่างนั้น สำหรับหัวหน้าของ Fabien ความเสี่ยงของนักบินกะดึกย่อมเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการพัฒนาระบบการบินไปรษณีย์ให้ดีกว่าที่อื่น การส่งไปรษณีย์ไปยังจุดหมายปลายทางให้ได้อย่างลุล่วงจึงย่อมสำคัญกว่าชีวิตนักบินคนหนึ่ง ตัวละคร Fabien จึงเป็นเหมือนตัวละครที่ทำหน้าที่สะท้อนความมุ่งมั่นแน่วแน่ในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จของเหล่านักบิน ซึ่งก็เป็นปณิธานของตัวผู้เขียนเองด้วย
Wind, Sand and Stars (1939)
ไม่ว่าอาชีพนักเขียนของแซงเตกจะประสบความสำเร็จมากเพียงใด และไม่ว่าเขาจะบาดเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์เครื่องบินตกมากแค่ไหนก็ตาม ความโหยหาที่จะบินขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกครั้งของเขาก็ไม่เคยจางหายไปเลย
ด้วยชอบในความท้าทาย ในปี 1935 แซงเตกจึงพยายามทำลายสถิติความเร็วการบินจากปารีสไปยังโฮจิมินห์ซิตี้ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเครื่องบินของเขาตกลงที่ทะเลทรายซาฮาร่าเสียก่อน จนทำให้แซงเตกและ André Prévost นักบินผู้ช่วยของเขาต้องระหกระเหินไปในทะเลทรายอันเคว้งคว้างว่างเปล่านี้ถึง 3-4 วัน ซี่งในช่วงที่ทั้งคู่เริ่มขาดน้ำและอ่อนแรงเต็มที พวกเขาก็ได้รับการช่วยเหลือจากชาว Bedouin ชาวอาหรับที่ร่อนเร่ไปตามทะเลทราย
ความประทับใจที่เกิดขึ้นระหว่างเดินอย่างไร้จุดหมายไปในสถานที่แห่งนี้และจากความช่วยเหลือจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างชาว Bedouin กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แซงเตกหยิบปากกาขึ้นมาเขียนหนังสือใหม่ถึงสองเล่ม ซึ่งก็คือเรื่อง Wind, Sand and Stars (Terres des hommes) และหนังสือคลาสสิคตลอดกาลอย่าง The Little Prince (Le Petit Prince)
หนังสือเรื่อง Wind, Sand and Stars ได้รับการตีพิมพ์ในปี 1939 และได้รับรางวัล Grand Prize for Novel Writing (Grand Prix du Roman) จาก Académie Française ราชบัณฑิตยสภาฝรั่งเศส และรางวัล National Book Award ที่สหรัฐอเมริกา
นวนิยายเล่มนี้เป็นบันทึกการเดินทางที่ซาฮาร่าของแซงเตกที่เมื่ออ่านจบแล้วทำให้เราอยากหันกลับมาจัดการเป้าหมายชีวิตเสียใหม่ เพราะระหว่างที่เล่าเรื่องไปนั้น เขาก็ตั้งคำถามถึงความหมายของชีวิตไปด้วย แซงเตกไม่ได้มองว่าอาชีพนักบินเป็นความเสี่ยงตาย แต่มันคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเขามีความหมายมากขึ้น ทำให้เขามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น อย่างที่เขาเคยเอ่ยไว้ในหนังสือบทที่ 2 หน้า 37 ว่า
“สิ่งที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งมีชีวิตต่อไปได้คือการก้าวไปข้างหน้า และก้าวต่อไปอีกก้าวหนึ่ง ถึงมันจะเป็นก้าวเดิมเสมอ แต่เราก็ต้องก้าวต่อไป”
Flight to Arras (1942)
ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สอง แซงเตกได้ทำภารกิจเพื่อชาติด้วยการลาดตระเวนบินไปยังเมืองนิวยอร์กเพื่อขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้ช่วยแทรกแซงทางการเมืองและขับไล่ทหารเยอรมันออกไปจากฝรั่งเศส ซึ่งในระหว่างที่ลี้ภัยสงครามอยู่ที่นั่น ท่ามกลางความตึงเครียดมากมาย เขาเขียนหนังสือขึ้นมาอีกสามเล่ม คือ Flight to Arras (Pilote de guerre), Letter to a Hostage (Lettre à un otage) และ The Little Prince (Le Petit Prince)
แซงเตกบันทึกประสบการณ์ชีวิตช่วงสงครามของเขาเอาไว้ในหนังสือ Flight to Arras ซึ่งบอกเล่าถึงภารกิจฝ่าวงล้อมสุดอันตรายที่อาจหมายถึงการเสียสละชีวิตของนักบิน แซงเตกหวนนึกไปถึงเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1940 ช่วง Battle of France ที่เขาได้รับมอบหมายภารกิจให้ตีฝ่าวงล้อมศัตรูไปยังเมือง Arras ย้อนกลับไปตอนนั้น แซงเตกเผชิญหน้ากับวินาทีเสี่ยงตาย ได้ยินเสียงเตือนจากหอบังคับการบินว่า "Captain de Saint-Exupéry and Lieutenant Dutertre report to the major!" เขาก็รู้แน่แก่ใจว่า นี่อาจเป็นภารกิจสุดท้าย และเขาอาจจะไม่รอดกลับมา
แต่ไม่ว่าจะเพราะโชคช่วยหรือปาฏิหาริย์มีจริง แซงเตกรอดชีวิตกลับมาได้อย่างปลอดภัย แต่เขาก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว สิ่งที่เขาเจอมาที่ Arras เปลี่ยนความคิดของแซงเตกอย่างสิ้นเชิง เขาแข็งแกร่งขึ้น และแทนที่จะขยาดจากการบิน เขากลับอยากที่จะบินขึ้นไปผจญภัยและเขียนบันทึกเหตุการณ์เหล่านี้อีกครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียกได้ว่าภารกิจในครั้งนั้นได้ปลุกจิตวิญญาณของนักผจญภัยในตัวเขาขึ้นมาอย่างแท้จริง
The Little Prince (1943)
“เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
ช่วงเวลาวัยเด็กสำหรับแซงเตกคือช่วงเวลาอันล้ำค่าที่เขามักจะหวนนึกถึงเสมอ ไม่ว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีความกล้าหาญชาญชัยอย่างไรก็ตาม แต่แซงเตกพบว่าในตัวเขายังมีพื้นที่ที่เก็บรักษาจินตนาการแบบเด็ก ๆ เอาไว้อยู่เสมอ ถึงขนาดที่มีครั้งหนึ่ง แซงเตกเคยแก้ตัวกับสำนักพิมพ์อเมริกันว่า สาเหตุที่เขาส่งต้นฉบับได้ช้า เพราะเมื่อคืนเทวดาผู้คุ้มครองของเขาโผล่มาคุยด้วยจนดึกดื่น
The Little Prince (Le Petit Prince) คือนิทานเด็กสำหรับผู้ใหญ่ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของนักบินคนหนึ่งที่เมื่อครั้งยังเด็ก เขาก็ยังคงมีจินตนาการและความคิดที่บริสุทธิ์แบบเด็ก แต่เมื่อเขาโตขึ้น สังคมรอบข้างก็หล่อหลอมให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ (grande personne) แบบที่เขาเคยไม่ชอบโดยไม่รู้ตัว
กระทั่งเมื่อวันหนึ่ง เครื่องบินของเขาประสบอุบัติเหตุตกลงในทะเลทรายซาฮาร่า เขาจึงได้พบกับ ‘เจ้าชายน้อย’ ซึ่งพอได้พูดคุยกันก็ได้รู้ว่า เด็กชายคนนี้มาจากดาวที่ชื่อว่า Asteroid B-612 และจู่ ๆ เขาก็ปรากฏตัวขึ้นมากลางทะเลทรายอันว่างเปล่า พร้อมกับขอให้คุณนักบินวาดรูปแกะให้ เมื่อได้ใช้เวลาร่วมกันและพูดคุยกับเจ้าชายตัวน้อยคนนี้ นักบินก็เริ่มเข้าใจในความหมายของชีวิตมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ (apprivoiser) ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมากมายมักจะหลงลืมไป เพราะมัวแต่สนใจเรื่องเงินหรือวัตถุภายนอก จนลืมใส่ใจกับความสัมพันธ์อันเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา จับต้องไม่ได้ แต่กลับเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งของที่เป็นแค่เปลือก (écorce) ที่มองเห็นได้จับต้องได้ เพราะ “สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
จากคำบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าชายน้อย ยังทำให้ทั้งตัวนักบินและผู้อ่านอย่างเราได้เรียนรู้ข้อคิดชีวิตอีกมากมาย ทั้งตัวอย่างของผู้ใหญ่ทั้งหกประเภทจากดาวเคราะห์ทั้งหกดวงที่เจ้าชายน้อยไปเยี่ยมเยือนมา ผู้ใหญ่เหล่านั้นล้วนคิดถึงแต่ตัวเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นพระราชา (le roi) ที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางและเอาแต่ออกคำสั่ง, ชายขี้เมา (le buveur) ที่กินเหล้าเพื่อลืมความอับอายที่ติดเหล้า กลายเป็นลูปที่ยากจะออกมาได้ หรือคนจุดโคมไฟ (la lumeur) ที่เอาแต่ทำตามคำสั่งโดยการจุดโคมโฟอย่างเดียวไปเรื่อย ๆ ชีวิตไม่มีความหมายและไม่ตั้งคำถามใด ๆ ต่อสิ่งที่ทำอยู่ เป็นต้น
ผู้อ่านยังเห็นถึงมุมมองของเจ้าชายน้อยต่อความรักที่เปลี่ยนไปหลังได้เรียนรู้จากสุนัขจิ้งจอก (le renard) ในตอนแรกเจ้าชายน้อยคิดว่าดอกกุหลาบ (la rose) ของตัวเองมีเพียงหนึ่งเดียวในจักรวาล เขาจึงรักในดอกกุหลาบดอกนั้น แต่เมื่อมายังโลกและเจอกับสวนดอกกุหลาบนับพัน เจ้าชายน้อยก็เริ่มสับสนในความรักของตนและเสียใจที่เคยคิดว่าดอกกุหลาบของตนนั้นพิเศษ แต่แท้จริงแล้วเป็นเพียงดอกกุหลาบธรรมดาดอกนึงเท่านั้น สุนัขจิ้งจอกจึงเตือนสติและสอนเจ้าชายน้อยว่า “Si on aime quelqu’un, ce n’est pas il est unique au monde mais si quelqu’un est unique au monde, c’est parce qu’on l’aime”
“การที่เรารักใครสักคน มันไม่ใช่เพราะเขามีเพียงหนึ่งเดียวบนโลกนี้ แต่การที่เขาคนนั้นเป็นหนึ่งเดียวบนโลกนี้ได้เป็นเพราะเรารักเขาต่างหาก ถึงสิ่งสิ่งนั้นจะแสนธรรมดา แต่ถ้าเราคอยดูแลเอาใจใส่มันเป็นพิเศษ สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นของของเราเพียงคนเดียว”
Little Prince ครองใจคนอ่านจากการเป็นนิทานเด็กแต่แฝงไปด้วยข้อคิด ปรัชญา และสัญญะต่าง ๆ ไว้มากมาย ทำให้เมื่อผู้อ่านหยิบมาอ่านในแต่ละช่วงวัย หรือแม้แต่ในแต่ละช่วงเวลา การตีความก็อาจจะแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์ชีวิตหรืออารมณ์ความรู้สึกในช่วงนั้น ซึ่งแซงเตกเองก็เคยอธิบายว่า ในการอ่านหนังสือคลาสสิคเล่มนี้แต่ละครั้ง ความรู้สึกหลังอ่านที่คุณจะได้นั้นล้วนไม่เหมือนกันสักครั้ง นี่อาจเป็นความมหัศจรรย์ที่ทำให้นิทานเรื่องนี้โด่งดังและยังคงถูกพูดถึงและแนะนำจนถึงปัจจุบัน
ในวันที่ 31 กรกฎาคม 1944 แซงเตกออกบินลาดตระเวนจากฐานทัพที่เกาะ Corsica ในตอนเช้า เขาไม่ได้กลับมาในตอนบ่ายอย่างที่ควรจะเป็น ในตอนนั้นทุกคนต่างทำใจแล้วว่าเขาจะไม่มีวันกลับมาปรากฏตัวที่ริมขอบฟ้า เพราะรู้ดีว่าน้ำมันที่เติมไปในเครื่องบินลำ Lockheed P-38 Lightning ไม่มีทางจะอยู่ได้เกินช่วงเวลานั้น และนั่นคือตอนจบของแซงเตก เขาสูญหายไปอย่างไร้ร่องรอยเหมือนที่เจ้าชายน้อย ตัวเอกในนิทานชื่อดังของเขาถูกงูกัดแล้วก็หายไปเฉย ๆ…
การหายตัวอันเป็นปริศนาของผู้เขียนเจ้าชายน้อยกลายเป็นเรื่องเล่าในตำนานที่ถูกเล่าขานสืบต่อกันมา กระทั่งในปี 2008 นักบินขับไล่เก่าชาวเยอรมัน Horst Rippert ก็ได้ออกมายอมรับว่า เขาเป็นคนที่ยิงเครื่องบินของแซงเตกตกจมน้ำในวันนั้น พร้อมกับเผยว่าเขาเป็นแฟนคลับงานเขียนของแซงเตกและ
“ถ้าผมรู้ว่าเป็นเขา ผมจะไม่มีวันยิง” .