Gustav Klimt ศิลปินผู้เปิดเปลือยศิลปะด้วยความปรารถนา

Gustav Klimt ศิลปินผู้เปิดเปลือยศิลปะด้วยความปรารถนา

Gustav Klimt ศิลปินผู้เปิดเปลือยศิลปะด้วยความปรารถนา

“ศิลปะใด ๆ ล้วนอีโรติก” - Gustav Klimt

ปี 1900 เป็นช่วงเวลาที่ยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับทั้งการล่มสลายและการถือกำเนิดใหม่ โดยสิ่งที่กำลังสลายหายไปก็คือยุคสมัยของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (Haus de Habsburg) ที่เคยปกครองสเปนและออสเตรียยาวนานกว่าหกศตวรรษ ในขณะที่สิ่งที่กำลังผลิบานก็คือความเจริญรุดหน้าของกรุงเวียนนาในแง่ของวิทยาการและวัฒนธรรม อันเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักคิดและศิลปินในยุคนั้นให้ต้องดั้นด้นเดินทางมาชุบตัวในบรรยากาศอันเสรีของเมืองที่เพิ่งปลดแอกตัวเองจากอำนาจของสถาบันกษัตริย์

ย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้น เวียนนาคือศูนย์กลางของเหล่านักคิดหัวก้าวหน้าที่ต่างมาใช้เวลาครุ่นคิดและทดลองแนวคิดใหม่ ๆ โดยมีตัวอย่างของนักคิดและศิลปินชาวเวียนนาที่พยายามท้าทายและผลักกรอบความคิดออกไปให้กว้างไกลขึ้น ในด้านวิทยาการสมัยใหม่ เวียนนาก็มี ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งศาสตร์จิตวิเคราะห์ที่ตั้งมั่นทำการค้นคว้าทฤษฎีใหม่ ๆ เพื่อสำรวจจิตนึกคิดของมนุษย์, ในแง่ของศิลปะการดนตรี เวียนนาก็เป็นที่แจ้งเกิดของ กุสทัฟ มาเลอร์ (Gustav Mahler) คีตกวีและวาทยกรชาวโบฮีเมีย-ออสเตรีย ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของซิมโฟนียุคนีโอโรแมนติก…

...และในด้านของศิลปะ เวียนนาก็มี กุสทัฟ คลิมท์ (Gustav Klimt) ศิลปินผู้เป็นหัวขบวนการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมแบบอาวองการ์ด ที่นำสุนทรียะของศิลปะสมัยใหม่เข้าประจันหน้ากับสถาบันศิลปะอันสูงส่งแห่งกรุงเวียนนาที่อยู่ยั้งมายาวนาน จนกลายเป็นต้นกำเนิดของ “Vienna Secession” กลุ่มศิลปินหัวขบถรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะปลดแอกศิลปะจากความงามและข้อจำกัดตามขนบ

ด้วยการนำสุนทรียะของประยุกต์ศิลป์อย่าง สิ่งทอ, แฟชั่น การออกแบบ ฯลฯ อันได้ชื่อว่าเป็นศิลปะชั้นรองในสมัยนั้น เข้ามารวมกับงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปะพิสุทธิ์ คลิมท์ก็ได้ร่ายมนต์สะกดกรุงเวียนนาให้ตกอยู่ภายใต้ความงดงามและมนต์ขลังมลังเมลืองของศิลปะรูปแบบใหม่ที่ถ่ายทอดเนื้อแท้ของมนุษย์อันว่าด้วยความรัก ความปรารถนา ความต้องการทางเพศ คลิมท์ไม่เพียงปลดปล่อยกรุงเวียนนาจากข้อจำกัดทางศิลปะอันคร่ำครึ แต่เขายังชวนผู้คนแห่งเมืองสมัยใหม่แห่งนี้ไปลองปลดปล่อยอิสระทางเรื่องเพศ ซึ่งจะกลายเป็นกระแสวัฒนธรรมที่ลุกลามเข้าไปยังที่อื่น ๆ ในยุโรป

วันที่ 14 กรกฎาคมนี้จะเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 159 ของ กุสทัฟ คลิมท์ GroundControl จึงขอใช้คอลัมน์ The Art of Being An Artist นี้ในการพาทุกคนไปสำรวจตัวตนและผลงานของศิลปินที่เปิดเปลือยตัวตนและความปรารถนาของมนุษย์ผ่านงานศิลปะอันพร่างพรายร่วมกัน

ลูกชายนักปิดทอง (ที่ไม่ต้องไปปิดหลังพระ)

กุสทัฟ คลิมท์ เกิดที่เมืองโบมการ์เทนที่อยู่ใกล้กับกรุงเวียนนา เขาเป็นลูกคนที่สองท่ามกลางพี่น้องเจ็ดคน พี่น้องผู้ชายสามคน และพี่น้องผู้หญิงเจ็ดคน โดยที่ลูกชายของบ้านนี้ล้วนเดินตามรอยเท้าศิลปินของพ่อและแม่ โดยพ่อของคลิมท์ เอิร์นสต์ คลิมต์ เป็นช่างแกะสลักทองชาวโบฮีเมียน ในขณะที่แม่ อันนา คลิมท์ ก็เคยมีความใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักดนตรี

แต่ถึงจะเติบโตมาในครอบครัวที่พ่อและแม่มีใจรักในศิลปะ แต่ช่วงชีวิตวัยเด็กของคลิมท์และบรรดาพี่น้องก็ต้องเผชิญกับความลำบากยากแค้น เนื่องจากในเวลานั้นสังคมยังไม่ให้การยอมรับชนกลุ่มน้อยหรือชนพื้นถิ่น ทำให้ครอบครัวเชื้อสายโบฮีเมียนต้องทนทำงานค่าแรงต่ำเนื่องจากอคติทางเชื้อชาติ

เมื่ออายุได้ 14 ปี คลิมท์ก็สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนศิลปะ Vienna School of Arts and Crafts (Kunstgewerbeschule) ได้สำเร็จ โดยความฝันของคลิมท์ในเวลานั้นก็คือการเป็นสุดยอดช่างเขียนแบบเพื่อที่จะเป็นอาจารย์สอนเขียนแบบในสถาบันศิลปะชื่อดัง ด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ คลิมท์จึงตั้งใจเก็บเกี่ยววิชาความรู้เกี่ยวกับศิลปะอย่างขยันขันแข็ง โดยไม่เคยตั้งคำถามถึงกฎเกณฑ์และความเป็นขนบของวิชาศิลปะชั้นสูงที่อาจารย์ของเขาป้อนให้

คลิมท์เป็นนักเรียนหัวกะทิของชั้นเรียนที่สร้างความประทับใจให้กับบรรดาคณาจารย์ด้วยความสามารถในการวาดภาพเหมือนได้อย่างงดงามสมจริงตามขนบศิลปะชั้นสูง และยังสามารถวาดลอกแบบผลงานของมาสเตอร์แห่งศิลปะยุคคลาสสิกอย่าง ทิเชียน (Titian) และ เปเตอร์ เปาล์ รูเบินส์ (Peter Paul Rubens) ออกมาได้แทบไม่ผิดเพี้ยน จนในที่สุดเขาก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนในชั้นเรียนพิเศษที่ทำให้เขาสามารถเข้าถึงคลังภาพวาดล้ำค่าของ Vienna Museum of Fine Arts ได้ โดยผลงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้คลิมท์อย่างสูงก็คือผลงานของจิตรกรชาวสเปน ดิเอโก เบลัซเกซ (Diego Velázquez) ถึงขนาดที่เขาเคยกล่าวว่า “ในโลกนี้มีจิตรกรอยู่เพียงสองคน คือเบลัซเกซและฉัน”

อีกหนึ่งศิลปินชั้นครูที่คลิมท์ยกย่องก็คือ ฮันส์ มาคาร์ต (Hans Makart) ศิลปินเวียนนาผู้มีชื่อเสียงจากการวาดภาพฉากประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกศิลปะเวียนนาในยุคนั้น โดยสิ่งที่ทำให้คลิมท์ประทับใจในผลงานของปรมาจารย์ผู้นี้ก็คือเทคนิคการใช้แสงแบบดรามาติกในภาพ ถึงขนาดที่มีเรื่องเล่าว่า คลิมท์ที่ตอนนั้นยังเป็นนักเรียน เคยลักลอบเข้าไปในสตูดิโอของศิลปินคนดังเพื่อที่จะศึกษาผลงานในช่วงขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่งานจะเสร็จสมบูรณ์

นอกจากคลิมท์แล้ว น้องชายของคลิมท์อย่าง เอิร์นสต์ คลิมท์ก็สามารถสอบเข้าโรงเรียนเดียวกับคลิมท์ได้ และหลังจากที่เรียนจบ พี่น้องคลิมท์และ ฟรานซ์ มาต์สช์ เพื่อนศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการทำงานมัณฑศิลป์สเกลใหญ่ก็ร่วมกันเช่าสตูดิโอในกรุงเวียนนาและรับงานร่วมกัน ถึงตอนนั้นคลิมท์และมาต์สช์ก็ได้กลายเป็นศิลปินคนโปรดในแวดวงกลุ่มคนไฮโซของสังคมเวียนนาที่มักหมุนเวียนกันมาจ้างพวกเขาให้ทำงานออกแบบสถาปัตยกรรม, งานวาดภาพบุคคล หรืองานราชการต่าง ๆ ถึงขนาดที่ศิลปินซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ประสิทประสาทวิชาศิลปะให้เขาอย่าง เฟอร์ดินานด์ ลัฟเบอร์เกอร์ (Ferdinand Laufberger) ก็เคยมาจ้างให้เขาวาดภาพเพื่อใช้ในโปรเจกต์ของบริษัทรับออกแบบฉากละครเวทีของตน

แต่ถึงจะเป็นที่ชื่นชมและโปรดปรานในสังคมคนชั้นสูง คลิมท์กลับพบว่าค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับก็ยังไม่สมน้ำสมเนื้ออยู่ดี ถึงขนาดที่เมื่อพวกเขาได้รับการว่าจ้างให้ไปวาดภาพประดับโรงละครบูร์กเธียเตอร์ (Burgtheater) พวกเขาก็พบว่าหากต้องจ้างนางแบบมาเป็นแบบให้พวกเขาวาด ค่าจ้างที่ได้รับมาก็แทบจะหมดไปในทันที ด้วยเหตุนี้คลิมท์จึงไปชวนพี่สาวน้องสาวของเขามานั่งเป็นแบบให้วาด โดยทุกวันนี้ ภาพสมาชิกครอบครัวของคลิมท์ก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่บริเวณโถงบันไดใหญ่ของบูร์กเธียเตอร์

เมื่อศิลปินเผชิญหน้ากับความตาย

ในปี 1892 คลิมท์ต้องสูญเสียเสาหลักในครอบครัวไปในเวลาไล่เรี่ยกัน นั่นก็คือพ่อและน้องชายของเขา การจากไปของผู้ชายสองคนในบ้านทำให้คลิมท์ต้องรับบทบาทผู้นำครอบครัวอย่างเต็มตัว โดยมีหน้าที่หลักเป็นการหาเงินมาจุนเจือเหล่าสมาชิกผู้หญิงที่เหลืออยู่ในบ้าน อันประกอบด้วย แม่, น้องสาว น้องสะใภ้ผู้เป็นม่าย รวมไปถึงหลานสาวกำพร้าพ่อที่อยู่ในวัยแบเบาะ

การประสบกับเหตุการณ์สูญเสียในครอบครัวส่งอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่องานของคลิมท์ เขาเริ่มทำงานช้าลง และเหนือสิ่งอื่นใด เขาเริ่มตั้งคำถามกับขนบศิลปะอันสูงค่าดั้งเดิมที่เขาเคยยึดถือมาตลอดชีวิต

สไตล์ของคลิมท์เปลี่ยนไปในช่วงนี้เอง ซึ่งการละทิ้งสุนทรียะของศิลปะชั้นสูงก็ทำให้เขากับเพื่อนที่ร่วมสร้างชื่อเสียงด้วยกันมาอย่างมาต์สช์มีอันต้องแยกทางกัน ก่อนที่คลิมท์จะได้พบกับ ‘เพื่อนใหม่’ ที่จะร่วมเส้นทางศิลปะกับเขาไปจนวันสุดท้ายของชีวิต นั่นก็คือ Nuda Veritas (Naked Truth) หรือภาพหญิงสาวเปลือยกายที่จะกลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในงานของคลิมท์อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ancient Greece and Egypt (1891), Pallas Athene (1898) หรือ Nuda Veritas (1899)

นักประวัติศาสตร์ศิลปะเชื่อว่า Nuda Veritas คือคำประกาศแนวคิดทางสังคมและการเมืองของคลิมท์ที่ต้องการจะสื่อไปถึงทั้งสมาชิกราชวงศ์และชนชั้นสูงในสังคมเวียนนา (ซึ่งเป็นอดีตลูกค้าของเขา) ที่ยังยึดติดกับค่านิยมโบราณดั้งเดิม โดยหาได้แคร์ว่าเวียนนากำลังก้าวไปสู่ช่วงเวลาแห่งยุคใหม่ที่ก้าวล้ำทั้งด้านความคิด วิทยาการ อุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์ กระจกที่อยู่ในมือของหญิงสาวผู้เปลือยเปล่าเป็นดังการชักชวนให้ผู้ชมได้ลองสะท้อนมองตัวเอง และแม้กระทั่งตัวหญิงสาวผู้เปลือยเปล่าเองก็คือสัญญะสะท้อนการปลดเปลื้องคุณค่าต่าง ๆ ที่สังคมยึดถือ พร้อมทั้งชักชวนให้ผู้คนหันมาสนใจ ‘เนื้อแท้’ ของความเป็นมนุษย์ที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อและความรู้สึก

ในช่วงเวลานี้ คลิมท์ไปมาหาสู่บ้านของ เฮเลน โฟลเก น้องสะใภ้ม่ายของตนบ่อย ๆ และที่บ้านของครอบครัวโฟลเกนี่เองที่คลิมท์ได้พบกับ เอมีลี โฟลเก น้องสาวของน้องสะใภ้ที่ในกาลต่อมาจะกลายเป็นทั้งคนรักและเทพธิดาแห่งแรงบันดาลใจหรือ Muse ของคลิมท์จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต โดยมีภาพ The Kiss (1907–08) เป็นหลักฐานความรักอันลึกซึ้งของทั้งคู่ที่ราวกับจะผสานร่างของทั้งคู่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

Vienna Secession

ในปี 1897 คลิมท์ได้รับการว่าจ้างจาก University of Vienna ให้วาดภาพจิตรกรรมเพื่อนำไปประดับที่ห้องโถงเอกของมหาวิทยาลัย อันเป็นที่มาของผลงานเอกสามชิ้นของคลิมท์ ได้แก่ Philosophy (1897-98), Medicine (1900-01) และ Jurisprudence (1899-1907) ที่นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคณะกรรมการของมหาวิทยาลัย ภาพผลงานทั้งสามชิ้นของคลิมท์ไม่เพียงถูกนำเสนอผ่านการใช้สัญญะอ่านยาก แต่ยังถ่ายทอดภาพเปลือยของหญิงสาวที่นำมาสู่ความอื้อฉาวที่เป็นเรื่องรับไม่ได้ของสังคมในยุคนั้น ซึ่งสุดท้ายแล้วเรื่องราวก็จบลงด้วยการที่มหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะนำผลงานของคลิมท์มาจัดแสดง ในขณะที่ตัวคลิมท์เองก็ตัดสินใจว่าจะไม่รับงานจากทางราชการอีกต่อไป

แต่กรณีพิพาทระหว่างคลิมท์กับมหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนาก็นำมาสู่การถกเถียงกันของเหล่าคนทำงานศิลปะในกรุงเวียนนา จนในที่สุดก็เกิดเป็นการรวมตัวกันของเหล่าศิลปินและนักออกแบบหัวก้าวหน้าที่ตัดสินใจขอคืนสถานะสมาชิกของสถาบันศิลปะชั้นสูงแห่งกรุงเวียนนาหรือ Kunstlerhaus ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหญ่มากของแวดวงศิลปะของกรุงเวียนนาในยุคนั้น เพราะ Kunstlerhaus เป็นสถาบันศิลปะที่ควบคุมดูแลการจัดแสดงงานศิลปะทั้งหมดในกรุงเวียนนา นั่นหมายความว่า ศิลปินที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสถาบันก็จะไม่สามารถจัดแสดงผลงานของตัวเองได้อีกต่อไป ซึ่งก็หมายถึงการตัดช่องทางในการขายผลงานของตัวเอง แต่คลิมท์และพรรคพวกก็ประกาศว่าพวกเขาไม่สนใจผลที่จะตามมา เพราะอย่างไรเสียคณะกรรมการ Kunstlerhaus ก็มักเลือกแต่ผลงานที่เดินตามขนบศิลปะชั้นสูง หาได้ไยดีผลงานที่นำเสนอความคิดใหม่ ๆ ของพวกเขาอยู่แล้ว

เมื่อตัดช่องทางการขายผลงานของตัวเองไปแล้ว คลิมท์และศิลปินหัวขบถก็ได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่ม Vienna Secession (หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า The Union of Austrian Artists) ขึ้นมาในปี 1897 โดยที่คลิมท์ได้รับการคัดเลือกจากเพื่อน ๆ ให้เป็นผู้นำของกลุ่ม

ในการจัดตั้งกลุ่มศิลปินหัวขบถเพื่องัดข้อกับสถาบันศิลปะชั้นสูง Vienna Secession ก็ได้ทำการตั้งเป้าหมายของกลุ่มขึ้นมา นั่นก็คือ 1. สร้างพื้นสำหรับจัดแสดงผลงานของศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ทำงานศิลปะนอกขนบ 2. นำเสนอผลงานชั้นเยี่ยมของศิลปินต่างประเทศให้แวดวงศิลปะเวียนนาได้รับชม (นั่นก็คือกลุ่มศิลปินลัทธิประทับใจหรือ The Impressionists จากฝรั่งเศส ที่ Kunstlerhaus ไม่เคยแยแสและไม่เคยนำเข้ามาให้ประชาชนชาวเวียนนาได้ชม) และข้อสุดท้าย จัดพิมพ์วารสารศิลปะ Ver Sacrum (Sacred Spring) ซึ่งตั้งชื่อตามประเพณีโบราณของชาวโรมันที่ส่งคนหนุ่มสาวของเผ่าตัวเองออกไปหาที่ตั้งรกรากแห่งใหม่

ด้วยความก้าวหน้าทางความคิดของสังคมเวียนนาในช่วงเวลานั้น Vienna Secession จึงกลายเป็นกลุ่มศิลปินที่ได้รับความนิยมในกลุ่มประชาชนคนเวียนนาอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็กลายเป็นผู้สร้างซีนศิลปะรูปแบบใหม่ให้กับกรุงเวียนนา นิทรรศการของกลุ่ม Vienna Secession มักเป็นการจัดแสดงผลงานของศิลปินต่างชาติร่วมสมัยและกลายเป็นผู้จุดประกายความคิดแบบสมัยใหม่ให้กับสังคม โดยที่งานแต่ละครั้งก็มักจะมีคลิมท์เป็นพ่องานใหญ่อยู่เสมอ จนกระทั่งในปี 1902 นั่นเองที่ Vienna Secession ได้จัดแสดงนิทรรศการของกลุ่มเป็นครั้งที่ 14 และคลิมท์ก็ได้เปิดตัวหนึ่งในผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขา นั่นก็คือ Beethoven Frieze ผลงานภาพจิตรกรรมขนาดใหญ่ที่คลิมท์อุทิศให้กับ ลูทวิช ฟัน เบทโฮเฟิน (Ludwig van Beethoven) แต่กลับสร้างความฉงนให้กับผู้ชมด้วยการที่ในภาพนั้นหาได้มีสิ่งใดเชื่อมโยงกับคีตกวีคนดัง กระนั้น องค์ประกอบต่าง ๆ ในภาพกลับทำหน้าที่เป็นดังมหากาพย์ที่แซ่ซ้องสรรเสริญความยิ่งใหญ่ของเบทโฮเฟินประหนึ่งพระเจ้า

Golden Phase

ช่วงปี 1989 - 1908 เป็นช่วงเวลาที่สไตล์ส่วนตัวของคลิมท์พัฒนาไปจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่เกิดจากการผสานกันระหว่างศิลปะยุคก่อนสมัยใหม่กับยุคสมัยใหม่ (Pre-modernism และ Modernism) ซึ่งในกาลต่อมา เราจะเรียกผลงานของคลิมท์ในช่วงนี้ว่า Golden Phase

ชื่อเรียก ‘ยุคทอง’ ของคลิมท์ก็มาจากการที่ ‘ใบไม้สีทอง’ คือหนึ่งในองค์ประกอบชิ้นสำคัญของงานคลิมท์ยุคนี้ โดยมี Field of Poppies (1907) และ The Kiss (1907-08) เป็นงานยืนพื้นยุคตื่นทองของคลิมท์ ซึ่งถึงแม้ว่าผลงานยุคนี้จะกลายเป็นงานที่ประทับใจของใครหลายคนในปัจจุบัน แต่ย้อนกลับไปสมัยนั้น งานปิดทองของคลิมท์กลับไม่เป็นที่ประทับใจของบรรดานักวิจารณ์สักเท่าไหร่ เห็นได้จากคำวิจารณ์ที่มีต่อหนึ่งในผลงานปิดทองขึ้นหิ้งของคลิมท์อย่าง Portrait of Adele Bloch-Bauer I ที่ถูกค่อนแคะว่า “ดูแบนราบ (Blech) มากกว่าจะ Bloch” (ในภาษาเยอรมัน คำว่า Blech หมายถึง แบนราบ)

ในช่วงนี้คลิมท์ยังได้แรงบันดาลใจจากศิลปะไบแซนไทน์ยุคเก่าจากการที่เขาได้ไปเยือนเมืองเวนิซและราเวนนา แล้วเกิดต้องมนต์สะกดของบรรดากระเบื้องโมเสกอันงดงาม ด้วยเหตุนี้ ในปี 1904 เขาจึงได้ฝากผลงานมัณฑนศิลป์ที่เป็นการผสานศิลปะการปิดทองและกระเบื้องโมเสกไว้ที่คฤหาสน์สตอแกลแห่งกรุงเบลเยียม จนทำให้ห้องอาหารที่เขาตกแต่งในคฤหาสน์แห่งนั้นกลายเป็นดังอนุสรณ์สุนทรียะของคลิมท์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ขนาดที่เจ้าตัวเองก็ยังเอ่ยปากว่า

“น่าจะเป็นจุดสูงสุดของงานมัณฑนะ (ornament) ในชีวิตของฉันแล้ว”

ในช่วงท้ายของชีวิต คลิมท์เริ่มหันเหความสนใจจากการใช้ทองคำและกระเบื้องโมเสกไปสู่การใช้สีสันอื่น ๆ อย่าง สีม่วง สีเทา สีส้มอ่อน และสีเหลือง และในช่วงนี้เองที่คลิมท์หลงใหลการวาดภาพนู้ดผู้หญิงและภาพที่สื่อถึงอารมณ์ความปรารถนาทางเพศอย่างจริงจัง จนทำให้เขาไม่ค่อยได้มีงานจัดแสดงในช่วงนี้ เนื่องด้วยความเปลือยและประเด็นทางเพศในภาพที่สังคมยุคนั้นอาจยังรับไม่ค่อยได้

วันที่ 11 กรกฎาคม 1918 คลิมท์ก็เกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก จนทำให้เขากลายเป็นอัมพาตที่ซีกขวาของร่างกาย ซึ่งทำให้เขาไม่สามารถวาดภาพได้อีกต่อไป อาการทุพลภาพทำให้คลิมท์หดหู่และหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ เมื่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนมากมายในยุโรปคืบคลานมาถึงตัวคลิมท์ สภาพร่างกายที่อ่อนแอด้วยสภาพใจที่ไร้กำลังใจอยู่แล้วก็ทำให้เขาทรุดลงอย่างรวดเร็ว กระทั่งเขาเสียชีวิตในวันที่ 6 กุมภาพันธ์

คลิมท์เป็นหนึ่งในศิลปินเวียนนาที่ถูกคร่าชีวิตด้วยการระบาดของไข้หวัดใหญ่ ในช่วงเวลาที่เขาเสียชีวิตนั้น โลกศิลปะในฝั่งยุโรปกำลังเผชิญหน้ากับขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะยุคก้าวหน้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Cubism, Futurism, Dada หรือ Constructivism ซึ่งในกาลต่อมา งานของคลิมท์ก็จะได้รับการยกย่องในฐานะแสงสุดท้ายของศิลปะสมัยใหม่ที่ยังคงนำเสนอมนุษย์ในรูปแบบที่เป็นมนุษย์ หรือศิลปะที่นำเสนอความงดงามของร่างกายมนุษย์ ก่อนที่ศิลปะในยุคถัดไปจะเป็นการ ‘รื้อสร้าง’ และสำรวจความหมายของมนุษย์ในรูปแบบที่ต่างออกไป

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Gustav_Klimt https://www.klimtgallery.org https://medium.com/.../an-empowering-tale-of-femme...