Richard Linklater คนทำหนังผู้เล่าความงดงามของ ‘เวลา’
“ความทรงจำเป็นสิ่งที่วิเศษนะ ถ้าเพียงแต่คุณไม่ต้องกังวลกับอดีต” ― Richard Linklater
ใน Before Sunrise (1995) ภาพยนตร์ปฐมบทของไตรภาค ‘Before Ttilogy’ ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวแปลกซึ่งเริ่มต้นขึ้นด้วยการตัดสินใจลงจากรถไฟและใช้เวลาก่อนหนึ่งชั่วพระอาทิตย์ขึ้นด้วยกัน ‘เจสซี’ หนุ่มอเมริกันช่างฝันที่รับบทโดย อีธาน ฮอว์ค เล่าถึงไอเดียของรายการเคเบิลทีวีที่เขาอยากทำให้ ‘เซลีน’ สาวฝรั่งเศสที่เพิ่งพบฟัง ...รายการโทรทัศน์ที่ว่าด้วยการฉายภาพชีวิตตลอด 24 ชั่วโมงของชายคนหนึ่งให้คนทั้งโลกได้ดู
“เป็นรายการที่ฉายภาพชีวิตธรรมดา… ชายคนหนึ่งตื่นขึ้นมาในตอนเช้า อาบน้ำ กินข้าวเช้า ชงกาแฟ และอ่านหนังสือพิมพ์”
“เดี๋ยวก่อนนะ คือเป็นรายการที่นำเสนอภาพชีวิตประจำวันแสนน่าเบื่อที่ทุกคนต้องตื่นมาเจอทุก ๆ วันแค่นี้เองเหรอ?”
“แต่ผมเรียกมันว่า บทกวีแห่งชีวิต”
ที่จริงแล้วไอเดียเรื่องรายการโทรทัศน์ที่ฉายภาพชีวิตของคนธรรมดาหนึ่งคนตลอด 24 ชั่วโมงนั้นเป็นเค้าโครงตั้งต้นของ It’s Impossible to Learn How to Plow by Reading Books หนังยาวเรื่องแรกในชีวิตของ ริชาร์ด ลิงเคลเทอร์ ในปี 1988 โดยที่เรื่องราวในหนังก็เป็นเพียงการฉายภาพของตัวลิงเคลเทอร์ในวัย 28 ปีกำลังนั่ง กิน ทำอาหาร เอาผ้าไปซัก อาบน้ำ ขับรถ และขึ้นรถไฟ และในเวลาต่อมา ไอเดียเดียวกันนี้ก็จะถูกสำรวจต่อในโปรเจกต์หนังระยะยาวที่ลิงค์เลเทอร์ตามถ่ายภาพชีวิตของเด็กชายที่โตขึ้นมาเป็นเด็กหนุ่มเป็นระยะเวลา 12 ปี และกลายเป็นหนังที่ชื่อว่า Boyhood (2014) นั่นเอง
‘เวลา’ คือสารตั้งต้นในหนังทุกเรื่องของลิงเคลเทอร์ ตั้งแต่หนังเรื่องแรกในชีวิตของเรา, ใน Slacker (1990) ที่เล่าเรื่องราว 24 ชั่วโมงของหนุ่มสาวชาวฮิปปีในเท็กซัสบ้านเกิดของลิงเคลเทอร์ (ซึ่งตัวเขาเองก็ปรากฏในหนังเรื่องนี้ด้วย, Dazed and Confused (1993) ที่เล่าเรื่องราววันสุดท้ายในภาคเรียนของเหล่านักเรียนไฮสกูลปีสุดท้าย, ในไตรภาค Before ที่เล่าเรื่องราวผ่านโมงยามอันไม่ยั่งยืนที่หนุ่มสาวได้อยู่ด้วยกัน หรือใน Boyhood ที่เล่าช่วงเวลาในชีวิตจากเด็กชายสู่ผู้ใหญ่
ในขณะที่ผู้กำกับหนังออเตอร์คนอื่น ๆ ต่างสร้างชื่อให้ตัวเองด้วยสไตล์การถ่ายทำหรือการเล่าเรื่องอันแสนโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ลายเซ็นของลิงเคลเทอร์กลับไม่ได้ปรากฏออกมาในรูปของ ‘สไตล์’ หากแต่เป็นการนำวัตถุดิบหลักที่เรียกว่า ‘เวลา’ มาถ่ายทอดในรูปแบบของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นศิลปะที่ชวนผู้ชมไปใช้ ‘เวลา’ สำรวจและก่อร่างสร้างบทสนทนาอันว่าด้วยความหมายของ ‘เวลา’ อีกทีหนึ่ง
The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ เราขอพาทุกคนไปสำรวจสุนทรียะแห่งการเล่า ‘เวลา’ ของผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงเคลเทอร์ ผ่านภาพยนตร์ทั้งหลายของเขาร่วมกัน
Austin Film Society
ริชาร์ด ลิงเคลเทอร์ เกิดที่เมืองฮุสตัน รัฐเทกซัส ในครอบครัวชนชั้นกลางที่มีแม่เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาไม่เพียงถือกำเนิดขึ้นที่เท็กซัส แต่ในเวลาต่อมา เทกซัสจะกลายเป็นสถานที่แจ้งเกิดของเขาในฐานะคนทำหนังอินดี้น่าจับตามองแห่งยุค 90s และยังเป็นฉากหลังในหนังหลายเรื่องของเขา
ลิงเคลเทอร์รู้ตัวว่าอยากเป็นคนทำหนังมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่เขาไม่ได้เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นนักเรียนหนังหัวกะทิเหมือนผู้กำกับชื่อดังคนอื่น ๆ ในวิทยาลัย Austin Community College ที่เขาเข้าเรียนในปี 1984 ลิงเคลเทอร์เป็นเพียงนักเรียนทำหนังระดับกลาง ๆ ที่ไม่ได้โดดเด่นในชั้นเรียน แต่สิ่งที่ทำให้เขาแตกต่างไปจากนักเรียนคนอื่น ๆ ก็คือ เขาดูหนังเยอะกว่าใคร และแปลกกว่าใคร
ความที่เป็นคนดูหนังอย่างบ้าคลั่งและหลากหลาย ทำให้ในที่สุดลิงเคลเทอร์ก็พบว่าในเมืองออสตินแห่งนี้ไม่มีหนังแนวใหม่ ๆ ให้เขาดูอีกแล้ว ทั้งโรงหนังและร้านเช่าวิดีโอต่างก็มีแต่หนังแนวเดิม ๆ และหนังลับแลที่เขาอยากดูก็ไม่สามารถหาได้ในเมืองแห่งนี้ นั่นจึงเป็นที่มาของการที่นักศึกษาทำหนังอย่างลิงเคลเทอร์ลุกขึ้นมาก่อนตั้ง Austin Film Society สมาคมคนทำชอบดูหนังตัวกลั่นที่จะจะพลิกโฉมหน้าวงการหนังอินดีอเมริกันไปอย่างสิ้นเชิง
เมื่อลิงเคลเทอร์พบว่า เราสามารถหาเช่าเครื่องฉายหนัง 16 มม. จากสายหนังท้องถิ่นได้ในราคาครั้งละแค่ 150 ดอลลาร์ เขาจึงเช่าเครื่องฉายหนังมาฉายหนังที่เขาอยากดู โดยตั้งใจจะเก็บค่าเข้าชมจากผู้ชมคนอื่น ๆ ที่กระหายอยากดูหนังที่แตกต่างเช่นกัน ด้วยวิธีการนี้ ลิงเคลเทอร์จึงสามารถดูหนังเรื่องอะไรก็ได้ที่เขาอยากดูแบบสมใจอยาก
Austin Film Society หรือ AFS จะจัดโปรแกรมฉายเดือนละครั้ง โดยโปรแกรมแรกที่ลิงเคลเทอร์และเพื่อน ๆ ชาวซีเนไฟล์ร่วมกันจัดก็มีชื่อว่า ‘Sexuality and Blasphemy in the Avant Garde’ ที่เป็นการฉายคอลเลกชั่นหนังทดลองขนาดสั้น ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ชมมาชมกันแบบล้นหลาม ขนาดที่ว่าที่หนัง 300 กว่าที่ในโรงถูกขายหมดเกลี้ยง และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา AFS ก็กลายเป็นผู้จัดฉายหนังแบบไม่แสวงหาผลกำไรที่ดึงดูดคอหนังตัวจริงจากเมืองใกล้ไกลให้ดั้นด้นเดินทางมาเพื่อรับชมหนังหาดูยากในสมัยนั้น ตัวอย่างเช่น หนังของผู้กำกับมินิมอลลิสต์ โรเบิร์ด เบรส์ซง (Robert Bresson), พอล ชเรเดอร์ (Paul Schrader) ไปจนถึง ยาซูจิโร โอซุ (Yasujiro Ozu)
It's Impossible to Learn to Plow by Reading Books
ในระหว่างที่จัดฉายหนังหาดูยากสนองความอยากของตัวเองและซีเนไฟล์คนอื่น ๆ ลิงเคลเทอร์ก็ได้เริ่มโปรเจกต์หนังยาวเรื่องแรกของตัวเองที่เรียกได้ว่าเป็นหนัง ‘ของเขา’ แท้ ๆ เพราะเป็นหนังที่เขาทั้งกำกับ โปรดิวซ์ และแสดงเอง โดยเขามักจะตั้งกล้อง Super 8 วิ่งไปอยู่หน้ากล้อง แสดงเอง แล้ววิ่งมาเช็กหลังจอ
ใช้เวลาสองปี It’s Impossible to Learn to Plow by Reading Books หนังเรื่องแรกในชีวิตของลิงเคลเทอร์ก็สำเร็จเสร็จสิ้น ตัวหนังติดตามชีวิตของตัวละครไร้ชื่อ (ที่ลิงเคลเทอร์เป็นผู้รับบทบาท) ซึ่งเดินทางจากบ้านที่ออสตินไปเยี่ยมเพื่อนที่มอนทานา หนังดำเนินไปโดยแทบไร้บทพูด และส่วนใหญ่เป็นการตั้งกล้องจับภาพลิงเคลเทอร์ขณะกำลังทำกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ เช่น ต้มน้ำ หรือไปถอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม แต่ก็มีฉากน่าหวาดเสียวที่ลิงเคลเทอร์ในสภาพเปลือยท่อนบนยิงปืนออกนอกหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ของเขาด้วย
“ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะทำหนังคนเดียว แต่ผมแค่รู้สึกว่านี่คือวิธีการที่ผมอยากถ่ายทอด”
แม้ว่าจะไม่ได้ทำให้ลิงเคลเทอร์แจ้งเกิดแบบดังเปรี้ยงปร้าง แต่ It’s Impossible to Learn to Plow by Reading Books ก็สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมวงเล็ก ๆ ที่ได้ชม โดยหนึ่งในผู้ที่ประทับใจก็คือ ทอมมี พาลลอตทา เพื่อนร่วมรุ่นของลิงเคลเทอร์ที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นโปรดิวเซอร์หนังมืออาชีพที่ได้ทำงานร่วมกับลิงเคลเทอร์ในหนังแจ้งเกิดของลิงเคลเทอร์เรื่องถัดมา โดยพาลลอตทาได้เล่าถึงลิงเคลเทอร์ในตอนนั้นไว้ว่า
“เพื่อนร่วมชั้นคนอื่น ๆ ในสาขาใช้เวลาเป็นปีในการเตรียมถ่ายหนังสั้นสักเรื่อง แต่จู่ ๆ ก็มีไอ้หมอนี้ที่เดินดุ่ม ๆ มาพร้อมกับกล้อง Super 8 แล้วก็ทำเองอะไรเองคนเดียว ตอนนั้นผมคิดเลยว่า ‘ช่างมหาลัยสิฟะ ผมจะให้ไอ้หมอนี่ล่ะเป็นโรงเรียนสอนทำหนังของผม”
Slacker
ด้วยพลังของความเยาว์ ไม่นานหลังจากปิดกล้องหนังเรื่องแรก ลิงเคลเทอร์ก็เริ่มเดินหน้าถ่ายทำโปรเจกต์หนังเรื่องที่สองในชีวิตของเขาทันที โดยเขาได้ไอเดียในการทำหนังเรื่องนี้ระหว่างที่ขับรถเล่นตอนกลางคืนไปกลับออสตินกับฮุสตัน ‘ทำไมไม่ทำหนังเป็นตอนสั้น ๆ ที่แต่ละตอนจะนำไปสู่ตอนต่อไป ตัวละครหนึ่งส่งต่อหนังให้ตัวละครอีกตัวหนึ่งที่เดินผ่านกัน? ไม่เคยเห็นใครทำหนังแบบนี้เลยนี่หว่า’
ที่จริงแล้วมีคนทำหนังแบบนี้มาก่อนหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็น La Ronde (1950) ของ แม็กซ์ โอปูลส์ (Max Ophüls) หรือ The Phantom of Liberty (1974) ของ หลุยส์ บุนเยล (Luis Buñuel) แต่ Slacker ของลิงเคลเทอร์เป็นหนังในแบบที่ว่ามาที่ผู้ชมชาวอเมริกันไม่เคยพบเจอมาก่อน หนังถ่ายทำด้วยกล้อง 16 มม. บนงบแค่ 23,000 ดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งก็ต้องยกคุณูปการให้กับสายสัมพันธ์ของชาวซีเนไฟล์จาก AFS ที่ช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้ยืมอุปกรณ์ฟรีบ้าง มาช่วยถ่ายบ้าง ไปจนถึงมาช่วยแสดงบ้าง จนในที่สุดหนังที่แจ้งเกิดชื่อของลิงเคลเทอร์ในแวดวงหนังอินดี้อเมริกันเรื่องนี้ก็สำเร็จออกมาได้
Slacker ที่เล่าเรื่องราวชีวิตหนึ่งวันของคนหนุ่มสาวแสนประหลาดในเมืองออสตินเรื่องนี้ได้กลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของวงการหนังอินดี้ยุค 90s โดยลิงเคลเทอร์เรียนรู้จากความผิดพลาดในการโปรโมตหนังเรื่องแรก แล้วเดินเกมกลยุทธการโปรโมตใหม่ด้วยการนำไปฉายในวงคนดูหนังตัวกลั่น ก่อนที่จะส่งไปตามเทศกาลหนังต่าง ๆ กระทั่งหนังได้รับคำวิจารณ์ดีจากนิตยสาร Film Comment ลิงเคลเทอร์จึงส่งหนังไปให้ตัวแทนคนหนึ่งในนิวยอร์กพร้อมแนบคำวิจารณ์จากผู้ชมและ Film Comment ไปด้วย จนในที่สุด Slacker ก็ได้เดินสายไปฉายตามโรงหนังท้องถิ่นต่าง ๆ ด้วยกระแสปากต่อปากถึงความดีงามของหนัง ตั๋วหนังล้วนขายหมดเกลี้ยง และในที่สุด Slacker ในเวอร์ชั่นตัดต่อใหม่ก็ได้เข้าฉายในเทศกาล Sundance Film Festival ในปี 1990
Slacker แจ้งเกิดลิงเคลเทอร์ในฐานะนักทำหนังอินดี้รุ่นใหม่ที่ใช้กลยุทธการฉายโรงท้องถิ่นและกระแสปากต่อปากในการช่วยดันหนัง ซึ่งนับเป็นสิ่งใหม่ในยุคนั้น นอกจากนี้ตัวหนังยังเป็นที่กล่าวถึงในแง่ของการเป็นภาพสะท้อนคน Gen X ซึ่งเป็นคำที่เพิ่งถูกนิยามในปีที่หนังเข้าฉายพอดี
‘Before’
‘ไม่มีใครรู้ว่า Before Sunrise จะจบอย่างไร’
เราหมายถึง ‘ไม่มีใครรู้จริง ๆ’ แบบ ‘จริง ๆ’ เพราะในตอนที่ ลิงเคลเทอร์, จูลี เดลพี และ อีธาน ฮอว์ค ถ่ายทำ Before Sunrise กันในกรุงเวียนนา ประเทศอออสเตรียนั้น พวกเขาถ่ายทำกันแบบเรียงตามลำดับฉากกันตลอดวันจันทร์ถึงศุกร์ ก่อนที่เสาร์อาทิตย์พวกเขาทั้งสามจะไปขลุกกันอยู่ในห้องพักเพื่อช่วยกันเขียนบทสำหรับการถ่ายทำสัปดาห์ต่อไป
“เราถ่ายทำกันโดยเรียงตามลำดับเรื่องราว และพอถึงช่วงสุดสัปดาห์ก็จะไปสุมหัวกันในห้องเพื่อช่วยกันเขียนบท เป็นอย่างนี้ไปจนวันสุดท้ายของการถ่ายทำ” ลิงเคลเทอร์อธิบายถึงวิธีการทำงานในกองถ่ายหนังที่จะกลายมาเป็นหนังในดวงใจของคนเจนวายมากมาย “เราค่อนข้างแน่ใจว่าสุดท้ายแล้วพวกเขาก็คงตกลงกันว่าจะไม่เจอกันอีก แต่ในคืนก่อนที่จะถ่ายฉากนั้น พวกเราก็ลุกขึ้นมาตอนตีสามและช่วยกันเขียนฉากสุดท้ายจนถึงเช้า”
Before Sunrise คือจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกันของสามทหารเสือ ลิงเคลเทอร์, เดลพี และฮอว์ค ที่จะพาพวกเขาไปผจญภัยร่วมกันต่อใน Before Sunset (2004) และ Before Midnight (2013) โดยที่หนังภาคต้นอย่าง Before Sunrise นั้นเกิดขึ้นจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของลิงเคลเทอร์ที่เขาได้ใช้เวลาหนึ่งคืนร่วมกันหญิงสาวที่เขาพบในร้านขายของเล่นที่ฟิลาเดเฟียในปี 1989
“มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเข้ามาคุยกับผมระหว่างที่ผมกำลังรอน้องสาวซื้อของอยู่ ผมก็เลยเขียนโน้ตบอกเธอไปว่า ‘เฮ้ ผมจะอยู่ในเมืองนี้ต่ออีกหนึ่งคืนนะ เผื่อคุณสนใจอยากออกไปเที่ยวกัน’ และในคืนนั้นผมก็บอกกับเธอว่า ‘ผมอยากทำหนังเกี่ยวกับเรื่องนี้ ความรู้สึกนี้’ และนั่นคือทั้งหมดที่หนังเรื่องนี้ต้องการจะนำเสนอ การได้ทำความรู้จักใครบางคนในเวลาอันแสนสั้น และความรู้สึกหวั่นไหวและความโรแมนซ์นั้น”
ในตอนแรกลิงเคลเทอร์ตั้งใจจะถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในอเมริกา แต่ด้วยความที่หนังได้ทุนหนุนหลังจากค่ายหนัง Castle Rock Entertainment เขาจึงเลือกที่จะไปถ่ายทำในต่างประเทศ แม้ว่าที่จริงแล้วเขาจะยอมรับว่า เรื่องราวใน Before Sunrise สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้
“ตอนนั้นผมคิดแค่ว่า ถ้าผมไม่มีเงิน ผมก็จะไปถ่ายที่สถานีรถไฟในซานอันโตนิโอ จะได้ถ่ายทำงานใกล้บ้านด้วย แต่หลังจากที่ผมได้ไปฉาย Dazed and Confused ที่เทศกาลหนังในเวียนนา และพบว่าพวกเขามีเงินช่วยสนับสนุนกองถ่ายต่างประเทศที่มาถ่ายทำในเวียนนา ผมก็เลยคิดว่านี่อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีก็ได้นะ”
บทแรกของหนังมีความยาวเพียง 35 หน้า และส่วนใหญ่เป็นเพียงไดอะล็อกคร่าว ๆ ที่ลิงเคลเทอร์อยากให้เกิดขึ้นในเรื่อง และแม้ว่าจะเป็นหนังโรแมนติก แต่ Before Sunsries ก็แตกต่างจากหนังรอมคอมที่กำลังฮิตสุด ๆ ในยุคนั้นมาก ด้วยเหตุนี้การตามหานักแสดงที่จะมาร่ายบทพูดในฝันของลิงเคลเทอร์ พร้อมถ่ายทอดเคมีที่ไม่ใช่แค่ความโรแมนติกชวนหัวจึงเป็นสิ่งที่ลิงเคลเทอร์ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในตอนนั้นยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าตัวละครหลักในเรื่องมีที่มาที่ไปจากไหน สัญชาติอะไร โดยลิงเคลเทอร์เขียนบทโดยอธิบายพวกเขาด้วยชื่อสั้น ๆ แค่ คริส กับ เทอร์รี เท่านั้น โดยที่ยังไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าตัวละครทั้งสองเป็นเพศใด และนักแสดงที่ทางทีมมองไว้ก็มีตั้งแต่ซุป’ตาร์อย่าง กวินเนธ พัลโทรว์ ไปจนถึง เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ที่ตอนนั้นยังไม่ได้มารับบทในซีรีส์ Friends
แต่กลายเป็นว่าตัวละครแรกที่ได้นักแสดงมารับบทบาทก็คือพระเอกของเรื่อง โดยตอนนั้นลิงเคลเทอร์ได้รับเชิญให้ไปดูละครเวทีที่อีธาน ฮอว์ค ร่วมแสดง ซึ่งหลังจากที่ฮอว์คลงจากเวที เขาก็ได้มาร่วมวงสนทนากับลิงเคลเทอร์ และจะแยกกันก็ปาเข้าไปตีสี่!
“เรานั่งคุยกันจนถึงตคสี่ และหลังจากนั้นริกก็ส่งบทหนังเรื่องนี้มาให้ผม ตอนนั้นผมก็คิดไปว่าเขาเสนอบทให้ผมแล้ว ผมตื่นเต้นมาก แต่ตัวแทนของผมก็มาบอกว่าไม่ใช่ เขาไม่ได้ให้บท แต่จะให้ผมไปออดิชั่นแข่งกับนักแสดงอีกเป็นหมื่นคน”
แต่สุดท้ายแล้วฮอว์คก็คว้าบทพระเอกของเรื่องมาได้ ประจวบเหมาะกับที่ลิงเคลเทอร์ได้เห็นเรซูเม่ของจูลี เดลพี และเกิดความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น โดยย้อนกลับไปตอนนั้น แม้ว่าเดลพีจะเจนจัดในแวดวงหนังยุโรป แต่เธอถือว่าเป็นหน้าใหม่มาก ๆ ในแวดวงหนังอเมริกัน และแม้ว่าจะสามารถเลือกนักแสดงหญิงดัง ๆ ได้มากมาย แต่สุดท้ายลิงเคลเทอร์ก็ตกลงปลงใจที่เดลพีเพราะชอบไอเดียที่ตัวละครนางเอกมีสำเนียงฝรั่งเศส ทำให้เธอเป็นคนที่มาจากคนละโลกกับตัวเจสซีที่เป็นคนอเมริกัน และที่สำคัญที่สุด นอกจากเคมีที่ตรงกันของพระนางแล้ว ลิงเคลเทอร์ยังต้องการคนที่จะมาเป็นผู้ร่วมแชร์ไอเดียร่วมกับเขาได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ฮอว์คกับเดลพีทำมาจนถึง Before Midnight
“ริชาร์ด, อีธาน และฉัน เขียนบทหนังด้วยกัน แม้ว่าฉันและอีธานจะไม่ได้มีเครดิตเป็นผู้เขียนบทใน Before Sunrise แต่กระบวนการทำหนังทั้งหมดล้วนเกิดจากความร่วมมือของพวกเรา เราทั้งสามต้องเห็นตรงกันถึงจะถ่ายแต่ละฉากได้ ซึ่งใน Before Sunset กับ Before Midnight ก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ถ้าเราคนใดคนหนึ่งไม่ชอบไอเดียอะไร เราก็จะไม่ใส่เข้าไปในหนัง สองหนุ่มต้องการเสียงของผู้หญิงในหนังบ้าง นั่นจึงทำให้ฉันเข้าไปมีส่วนร่วมในการเขียนบทระหว่างที่เราอยู่ในเวียนนา ตัวอย่างฉากที่ฉันใส่ลงไปในหนังก็เช่น ฉากที่ตัวละครเซลีนทำท่าโทรศัพท์หาเพื่อนเพื่อเป็นการบอกเจสซีอ้อม ๆ ว่าเธอกำลังตกหลุมรักเขา” เดลพีอธิบาย
ตลอดการถ่ายทำ 25 วัน จากบทหนังเริ่มต้น 35 หน้า สามผู้กำกับและนักแสดงจึงช่วยกันขุดไอเดียออกมา จนกลายเป็นบทหนังความยาว 400 หน้า!
“ริกอยากทำหนังที่พูดถึงการอยู่กับช่วงเวลานั้น (Living in the Moment) ด้วยเหตุนั้นเราจึงต้องใช้เวลาอยู่ในช่วงเวลานั้นจริง ๆ ทำให้แต่ละซีนกินความยาว 17 หน้า โดยที่ไม่มีการคัตเลย” ฮอว์กย้อนความหลัง
Boyhood
“มันเป็นไอเดียอันเรียบง่าย แต่ใช้เวลานานกว่าจะได้ลงมือทำ เพราะมันแทบจะทำไม่ได้จริง”
และเมื่อลิงเคลเทอร์ได้ลงมือทำในปี 2002 ในอีก 12 ปีต่อมา มันก็จะกลายเป็นหนังที่พาเขาไปเยือนเวทีออสการ์เป็นครั้งแรกในชีวิต
ไอเดียอันแสนเรียบง่ายของลิงเคลเทอร์ที่ว่ามาก็คือการนำเสนอภาพการเติบโตจากเด็กหนุ่มสู่วัยรุ่นของ เอลลาร์ คอลเทรน (Ellar Coltrane) จากหกขวบสู่อายุ 18 ปี จนกลายเป็นหนังที่ลิงเคลเทอร์อธิบายว่า “เป็นการร่วมงานกันระหว่างเวลากับอนาคต”
Boyhood เริ่มเปิดกล้องในปี 2002 และตลอดระยะเวลา 12 ปีที่เหลือก็คือการที่ลิงเคลเทอร์ตามเก็บขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของ เมสัน จากเด็กสู่ผู้ใหญ่ โดยมีความสัมพันธ์อันล่มสลายของพ่อและแม่ (รับบทโดย ฮอว์ค และ แพทริเซีย อาร์เคตต์) เป็นฉากหลัง นี่คือหนังที่สะท้อนถึงความทะเยอทะยานบ้าดีเดือดที่สุดของลิงเคลเทอร์ในฐานะคนทำหนัง และในขณะเดียวกันมันก็พาลิงเคลเทอร์คืนสู่ความสามัญ ด้วยการพาเขายกกองกลับไปถ่ายทำที่บ้านที่ออสติน รัฐเทกซัส
“ผมบอกอีธานว่า ถ้าผมตายก่อนที่หนังเสร็จ คุณต้องทำต่อให้จบนะ” ลิงเคลเทอร์พูดขำ ๆ
ที่จริงแล้ว Boyhood นับเป็นหนังลำดับที่เก้าในชีวิตของลิงเคลเทอร์ แต่กว่าที่มันจะถ่ายทำเสร็จแล้วได้ไปฉายครั้งแรกที่ Sundance Film Festival มันก็กลับกลายเป็นหนังลำดับที่ 17 ของลิงเคลเทอร์ไปเสียแล้ว ซึ่งในช่วงระหว่าง 12 ปีแห่งการถ่ายทำนั้น ก็ไม่ได้มีแค่นักแสดงนำในเรื่องที่เปลี่ยนไป แต่เทคโนโลยีการถ่ายภาพยนตร์ก็เปลี่ยนผันไปตามกาลเวลาด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอเอชดี ซึ่งการที่ลิงเคลเทอร์เลือกที่จะถ่ายทำหนังทั้งหมดด้วยกล้องฟิล์ม 35 มม. ตลอดเรื่องนับว่าเป็นตัวเลือกอันชาญฉลาดและมองการณ์ไกล
และหากหนังเรื่องก่อน ๆ คือการสะท้อนความลุ่มหลงที่ลิงเคลเทอร์มีต่อ ‘เวลา’ นับจาก Dazed and Confused (1993) ที่เล่า 24 ชั่วโมงสุดท้ายของการเป็นนักเรียนไฮสกูล หรือในหนังตระกูล ‘Before Trilogy’ ที่เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์บนพื้นฐานของชั่วพระอาทิตย์ขึ้นและตก Boyhood ก็เป็นดังมหากาพย์เล่าเรื่อง ‘เวลา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ลิงเคลเทอร์สนใจมาทั้งชีวิต
“เวลากับภาพยนตร์คือส่วนผสมอันทรงพลัง” ลิงเคลเทอร์กล่าว “ผมใช้เวลาตลอดช่วงการเป็นผู้ใหญ่ครุ่นคิดถึงมัน และผมก็ชื่นชมเหล่าคนทำหนังที่ถ่ายทอดมันออกมาได้อย่างงดงามราวบทกวี”
“ผมอยากให้หนังเรื่องนี้สะท้อนวิธีการที่เราทำความเข้าใจชีวิตขณะที่ดำเนินชีวิตไป เราทำความเข้าใจมันผ่านการสังเกตว่า คนนั้นสูงขึ้นนี่นา คนนี้สีผมเปลี่ยนไปนะ หรือคนนี้ย้ายบ้านไปแล้ว ส่วนคนนั้นแต่งงานใหม่ ภาพยนตร์คือเครื่องมือในการบันทึกช่วงเวลาที่ผ่านไปได้อย่างทรงพลัง มันบังคับให้เรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในมุมกว้าง”
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Richard_Linklater https://www.theguardian.com/.../julie-delpy-ethan-hawke... https://www.texasmonthly.com/.../richard-linklater-film.../ https://www.newyorker.com/mag.../2014/06/30/moment-to-moment hhttps://www2.bfi.org.uk/news-opinion/sight-sound-magazine/interviews/long-conversation-richard-linklater-cinema-time ttps://www.dga.org/Craft/DGAQ/All-Articles/1403-Summer-2014/Richard-Linklater.aspx https://www.rollingstone.com/.../richard-linklater-dazed.../ https://www.austinmonthly.com/how-richard-linklater.../