Kisho Kurokawa สถาปนิกผู้สะท้อน ‘อนาคต’ ใน ‘ปัจจุบัน’ ผ่านงานสถาปัตยกรรม
ย้อนกลับไปในปี 1952 นั่นคือปีที่ชาติญี่ปุ่นได้ถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ เมื่อกองกำลังของฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยอเมริกาได้ถอน ‘การยึดครองญี่ปุ่น’ ที่สืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 1945 หลังจากญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวญี่ปุ่นก็เริ่มมองเห็นอนาคตของชาติหลังม่านหมอกของสงครามสลายหายไป สังคมญี่ปุ่นได้กลับไปรื้อฟื้นและยึดเหนี่ยวรากเหง้าความคิดและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนชาติตนเอง ในขณะเดียวกันก็โอบรับนวัตกรรมและแนวคิดของโลกตะวันตกสมัยใหม่ ในช่วงเวลานี้ กลุ่มคนที่สะท้อนวิถีการผสานความเป็นญี่ปุ่นกับแนวคิดตะวันตกได้อย่างกลมกลืนและน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มสถาปนิกกลุ่มหนึ่งที่ประกาศแนวทางสถาปัตยกรรมที่เป็นประดิษฐกรรมทางความคิดของชาวญี่ปุ่นแท้ ๆ ที่เรียกว่า Metabolism ขบวนการเคลื่อนไหวทางสถาปัตยกรรมในญี่ปุ่นที่เชื่อว่า ‘ความยืดหยุ่น’ จะเป็นอัตลักษณ์สำคัญของชาติญี่ปุ่นที่สะท้อนผ่านสิ่งก่อสร้างซึ่งตอบรับปรับตัวกับหายนะหรือสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือสงคราม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ชนชาวญี่ปุ่นเคยเผชิญและรอดมาได้
“เรามองเห็นว่าสังคมนั้นดำรงอยู่ผ่านกระบวนการเติบโตทางชีวภาพ จากอะตอมหนึ่งแตกตัวเป็นเนบิวลาขนาดใหญ่ เหตุผลที่เราเรียกสิ่งนี้ด้วยคำศัพท์ทางชีววิทยา ก็เพราะเรามีความเชื่อว่า การออกแบบและเทคโนโลยีใด ๆ ควรเป็นเครื่องหมายที่สะท้อนการเติบโตของชีวิต มนุษย์”
คือส่วนหนึ่งของ Metabolism 1960: Proposals for a New Urbanism คำประกาศ (Manifesto) ของกลุ่ม Metabolist ที่ประกอบด้วยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นรุ่นใหม่ โดยสถาปนิกที่อายุน้อยที่สุดในกลุ่มนั้นก็คือ คิโชะ คุโรคาวะ ผู้ที่ในเวลาต่อมาจะใช้ผลงานทั้งชีวิตเพื่อพิสูจน์ความเชื่อของกลุ่ม โดยมี Nakagin Capsule Tower ยืนตระหง่านเป็นดังสิ่งก่อสร้างตัวอย่างของปรัชญา Metabolism
คุโรคาวะไม่ได้เป็นแค่สถาปนิก แต่ยังเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมการออกแบบใหม่ ๆ และที่สำคัญ… เขาเป็นดังนักพยากรณ์ที่มองเห็นความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในศาสตร์สถาปัตยกรรม ไม่ใช่แค่ในญี่ปุ่น แต่ในภาพรวมใหญ่ระดับโลก และที่สำคัญที่สุด เขาเป็นสถาปนิกที่มองเห็นภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในอนาคต และแทนที่จะรอให้ถึงอนาคต เขากลับดึงภาพนั้นมาสร้างให้เกิดขึ้นจริงในช่วงเวลาปัจจุบัน
The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ เรายังขอปักหลักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นควันหลัง Tokyo Olympics 2020 เพื่อพาชาว GroundControl ทุกคนย้อนกลับไปสำรวจปรัชญา Metabolism ของ คิโชะ คุโรคาวะ หนึ่งในผู้วางรากฐานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่ส่งต่อมรดกทางความคิดจนปรากฏเป็นบรรดาสิ่งก่อสร้างสำคัญทั่วโตเกียวที่เราได้เห็นกันตลอดการแข่งขันโอลิมปิกที่ผ่านมา
พุทธสถาปัตย์
คิโชะ คุโรคาวะ เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 1934 ที่จังหวัดนาโงยา พ่อของเขาคือ มิกิ คุโรคาวะ สถาปนิกคนสำคัญของญี่ปุ่นในช่วงยุคสงครามโลก ด้วยเหตุนี้คุโรคาวะจึงคุ้นเคยและเติบโตขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศของงานสถาปัตย์และสิ่งก่อสร้าง โดยงานอดิเรกในวัยเด็กของเขาก็คือการต่อโมเดลเครื่องบินและตึกต่าง ๆ เหตุการณ์หนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตของคุโรคาวะไปตลอดกาล ก็คือในปี 1945 เมื่อพ่อของเขาพาเขาและน้องชายอีกสองคนไปดูซากของสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลือจากไฟสงครามในนาโงยา บ้านเกิดของพวกเขา หลักฐานความย่อยยับที่ปรากฏตรงหน้าทำให้ทั้งสามพี่น้องตั้งใจที่จะเป็นสถาปนิก เพื่อที่จะได้รื้อฟื้นและสร้างบ้านเกิดของพวกเขาขึ้นมาใหม่
นอกจากความสนใจในโมเดลเครื่องบินและสิ่งกอสร้าง คุโรคาวะยังเป็นเด็กที่สนใจในด้านพุทธศาสนา โดยเขาได้รับการศึกษาด้านพุทธศาสนาจากพระที่มาสอนที่โรงเรียนมัธยมต้น และในเวลาต่อมา ปรัชญาทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะเรื่องของการที่มนุษย์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลาย ก็จะเป็นหนึ่งในแกนความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานของคุโรคาวะด้วย
คุโรคาวะเข้าเรียนในคณะสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ที่นี่นอกจากจะเปิดโลกของเขาในแง่ของประวัติศาสตร์สายธารสถาปัตยกรรมและศิลปะแล้ว ยังเป็นจุดพลิกผันในชีวิตที่ทำให้เขาได้เรียนกับ ทังเงะ เคนโซ ศาสตราจารย์และสถาปนิกในตำนานผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิด Metabolism
ชีวสถาปัตย์
ในปี 1960 คุโรคาวะ พร้อมด้วยเพื่อนสถาปนิก ฟุมิฮิโกะ มากิ และ อาราตะ อิโซซากิ ได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มสถาปนิก Metabolism ขึ้น โดยสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มแบ่งปันร่วมกันก็คือความเชื่อในสุนทรียะของยุคสมัยแห่งจักรกล การมองเห็นความสำคัญของชิ้นส่วนหรือวัสดุทางสถาปัตย์ที่ถูกผลิตมาจากโรงงานอุตสาหกรรม และระบบการก่อสร้างอาคารสำเร็จรูป โดยที่คุโรคาวะได้ชื่อว่าเป็นคนที่หลงใหลในความงามของสถาปัตยกรรมแนวอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มตัว เพราะผลงานส่วนใหญ่ของเขาล้วนเป็นสถาปัตยกรรมระบบโมดูลที่สามารถถอดหรือต่อโครงสร้างหนึ่งเข้ากับอีกหนึ่งได้
แก่นหลักของ Metabolism คือความเชื่อว่าอนาคตของสถาปัตยกรรมคือความยืดหยุ่น การปรับแต่ง และการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมและพร้อมรับกับภัยพิบัติทุกอย่าง อันเป็นบทเรียนที่สมาชิกในกลุ่มเรียนรู้จากการเติบโตขึ้นมาท่ามกลางควันไฟสงคราม และนอกจากจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในธรรมชาติได้แล้ว
ชื่อของกลุ่ม ‘Metabolism’ เองยังสะท้อนการผสานกันของแนวคิดตะวันตกและตะวันออก ในขณะที่รากศัพท์ของคำนี้มาจากคำว่า μεταβολή ที่หมายถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ความหมายในทางชีววิทยาที่หมายถึง ‘วัฏจักรทางชีวภาพ’ ก็ยังสะท้อนปรัชญาทางพุทธศาสนาที่กล่าวถึงวิถีทางของสรรพสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นวงจรของชีวิต ทั้งคุโรคาวะ, มากิ และ อิโซซากิ ล้วนมีความเชื่อร่วมกันว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับวิธีคิดทางสถาปัตยกรรมและการสร้างสังคมเมืองได้ โดยพวกเขามองว่า แต่ละส่วนในโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม หรือแต่ละส่วนที่อยู่บนแปลนเมืองนั้น เมื่อถูกนำมาต่อประกอบเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่รองรับการมีอยู่ของ ‘ชีวิต’ ในแง่เดียวกัน สังคมหนึ่ง ๆ ก็เกิดขึ้นมาจากคนหลาย ๆ คนมารวมตัวกัน กลายเป็นระบบโครงสร้างของสังคมขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับที่เซลหลาย ๆ เซลเมื่อรวมตัวกันก็จะได้โครงสร้างของ ‘ชีวิต’
สถาปัตยกรรมแบบ Metabolism ยังต้องสามารถปรับตัวเข้ากับการเติบโตของเมืองอันเป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้างนั้น ๆ ได้ โดยเฉพาะการเติบโตให้ทันกับความรวดเร็วทางสังคมในโตเกียวที่กำลังเข้าสู่สถานะการเป็นมหานครใหญ่ที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า ซึ่งตามมาด้วยความต้องการในด้านที่อยู่อาศัยและโครงสร้างทางสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่พุ่งทะยานขึ้น
Helix City
สถาปนิกในกลุ่ม Metabolism ยังเชื่อว่า สถาปัตยกรรมจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคสมัยใหม่ ไปจนถึงโลกของพลังนิวเคลียร์ ทำให้ในอนาคต จะไม่มีสถาปัตยกรรมที่เป็นโครงสร้างถาวร แต่จะเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถปรับแต่งและปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ไม่รู้จบ ซึ่งแนวคิดนี้ก็กลายมาเป็นรากฐานของปรัชญาการออกแบบอย่างยั่งยัน (Sustainable Design) ที่ปรากฏให้เห็นมาจนถึงปัจจุบันด้วย
“เมื่อยุค 1960s จบลง และทศวรรษ 1970s เริ่มขึ้น นั่นคือช่วงเวลาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่ทุกคนครุ่นคิดกันในตอนนั้นก็คือการเติบโตอย่างยั่งยืน” คุโรคาวะเคยกล่าวไว้ “สถาปัตยกรรมคือหนทางไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ผมสนใจก็คือ แล้วเราจะสามารถปรับทั้งสามสิ่งให้อยู่ร่วมกันได้อย่างไร”
หนึ่งในผลงานที่สะท้อนให้เห็นปรัชญาของสถาปัตยกรรม Metabolism ที่สุดก็คือ โครงการ Helix City ที่คุโรคาวะทำร่วมกับเคนโซ ที่แม้ว่าจะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาจริง ๆ แต่ก็สั่นสะเทือนแวดวงสถาปัตยกรรมในยุคนั้นด้วยแนวคิดสุดล้ำที่แม้กระทั่งโลกสถาปัตยกรรมฝั่งตะวันตกที่เคยได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานแนวคิดสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ก็ยังคิดไม่ถึง
Helix City คือแผนผังโครงสร้างของเมืองแห่งอนาคตที่แต่ละส่วนถูกเชื่อมโยงกันไว้ด้วยสะพานที่พาดผ่านเชื่อมพื้นที่บนบกกับทะเลไว้ด้วยกัน ท่ามกลางสะพานที่แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ แต่ก็เชื่อมทุกพื้นที่เข้าด้วยกัน ตรงกลางนั้นคือโครงสร้างสิ่งก่อสร้างที่ลอกแบบมาจากโครงสร้างของดีเอ็นเอมนุษย์
นอกจากจะนำเสนอภาพของเมืองในอนาคตแล้ว Helix City ยังเป็นต้นแบบของเมืองที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่ซึ่งคนในประเทศญี่ปุ่นกำลังต้องเผชิญในช่วงเวลานั้น และยังสะท้อนความพยายามของเคนโซและคุโรคาวะที่จะสร้างสถาปัตยกรรมที่ให้ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วย
Nakagin Capsule Tower
แต่เมื่อพูดถึงชื่อของคุโรคาวะแล้ว อีกหนึ่งผลงานที่ตามมาย่อมหนีไม่พ้น Nakagin Capsule Tower สถาปัตยกรรมแคปซูลแห่งแรกของโลกที่สะท้อนปรัชญา Metabolism ในแนวทางของคุโรคาวะอย่างเต็มเปี่ยม โดยตึกอพาร์ตเมนต์ที่ตั้งอยู่ ณ ใจกลางกรุงโตเกียวแห่งนี้เกิดจากการต่อเติมแคปซูลห้องพักเข้าไป จนกลายเป็นโครงสร้างแคปซูลขนาดใหญ่ที่ยืนหยัดเป็นอนุสรณ์สถานแห่งการปลดแอกสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นออกจากอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตก กล่าวได้ว่า Nakagin Capsule Tower นี้คือสิ่งก่อสร้างที่นำเสนอรูปแบบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่เพิ่งกำเนิดขึ้นต่อสายตาชาวโลก
Nakagin Capsule Tower ประกอบขึ้นจากอาคารคอนกรีตสองอาคารที่เชื่อมต่อกันภายใน มีทั้งหมด 140 แคปซูล 140 ห้อง แต่ละห้องมีความกว้างคูฯณยาว 2.5 x 4 เมตร แคปซูลแต่ละห้องนั้นสามารถต่อกันเพื่อขยายเพิ่มพื้นที่ได้ โดยภายในแต่ละแคปซูลจะได้รับการตกแต่งภายในและติดตั้งระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ตั้งแต่ที่โรงงานก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปประกอบกันที่โลเกชั่นที่ตั้ง และทุกแคปซูลล้วนถูกออกแบบมาให้สามารถถอดออกมาได้โดยไม่รบกวนหรือทำความเสียหายให้ห้องข้างเคียง
อพาร์ตเมนต์แคปซูลแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบปัญหาว่า การผลิตจำนวนมากหรือ Mass Production นั้นสามารถกลายเป็นคุณค่าใหม่ของงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้หรือไม่ นอกจากนี้คุโรคาวะยังต้องการที่จะสร้างพื้นที่ที่เชื่อมต่อ แต่ก็แยกตัวออกจากกัน เพื่อสะท้อนสภาวะการดำรงอยู่ของ ‘ตัวตน’ ของผู้คนในสังคม และในขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์สังคมญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่ทุกอย่างเติบโตอย่างรวดเร็วแต่กลับละเลยการให้คุณค่าของความเป็นปัจเจกของผู้คนในสังคม
แม้ว่าในปีนี้จะมีข่าวว่า เจ้าของห้องแคปซูลทั้งหมดในอาคารตกลงที่จะขายห้องคืนให้กับเจ้าของกิจการ โดยที่เจ้าของมีแพลนที่จะระดมทุนเพื่อปรับปรุงแคปซูลแต่ละห้องแล้วถอดเพื่อไปตั้งไว้ตามโรงเรียน พิพิธภัณฑ์ และสถานที่ต่าง ๆ ทั่วญี่ปุ่น อันถือเป็นจุดสิ้นสุดของ Nakagin Capsule Tower แห่งกรุงโตเกียว อย่างไรก็ตาม Nakagin Capsule Tower ก็ยังคงจะยืนหยัดต่อไปในฐานะงานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนปรัชญา Metabolism อันมีแก่นสำคัญว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ปรับเปลี่ยน และความยั่งยืน ต่อไป