Park Chan-wook ผู้กำกับแห่งศิลปะการปรุง ‘ความพยาบาท’ รสกิมจิ
“ผมว่าหนังของผมสอนสั่งศีลธรรมให้ผู้ชมยิ่งกว่าหนังดิสนีย์เสียอีก” - ปาร์คชานวุค
ในฉากหนึ่งของ Sympathy for Mr. Vengeance (เขา! ฆ่าแบบชาติหน้าไม่ต้องเกิด, 2002) ตัวละครแฟนสาวที่รับบทโดย เบดูนา เล่าให้แฟนหนุ่มหูหนวกฟังถึงเรื่องเล่าในตำนานที่ชายคนหนึ่งเกิดมาพร้อมหัวสองหัว เมื่อทนทรมานต่ออาการปวดหัวไม่ไหวอีกต่อไป ชายสองหัวจึงตัดสินใจยิงหัวหนึ่งทิ้ง ชายหนุ่มได้ฟังดังนั้นก็ถามกลับเพียงสั้น ๆ ว่า “แล้วเขายิงหัวซ้ายหรือหัวขวา?”
ฉากสั้น ๆ แสนธรรมดานี้กลับมีความสำคัญในฐานะการนำเสนอ ‘ปรัชญา’ (?) ในโลกของผู้กำกับเกาหลีใต้ที่ชื่อว่า ปาร์คชานวุค ที่ในหนังแทบทุกเรื่องของเขาจะต้องมีตัวละครที่ถูกกำหนดชะตากรรมให้มีอันต้องยิงหัวตัวเองอยู่ร่ำไป และแม้ว่าจะมีเพียงตัวละครเดียวที่เหนี่ยวไก แต่ก็จะมีผู้ไม่เกี่ยวข้องต้องตกเป็นเหยื่อของการลั่นไกนัดนั้นอยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็คือปรัชญาในโลกของปาร์คชานวุค ทุกการกระทำล้วนนำไปสู่ความฉิบหาย ที่ ‘ถ้าทำก็ฉิบหาย หรือไม่ทำก็ฉิบหายอยู่ดี’
ก่อนที่โลกจะตื่นเต้นกับความกลัดกลุ้มที่ปะทุคลั่งของชนชั้นรากหญ้าใน Parasite โดย บงจุนโฮ โลกตะวันตกเคยตื่นตะลึงกับการสาดซัดความพยาบาทและการทวงแค้นของมนุษย์ในชนชั้นที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ซากเดนของสังคม’ ของปาร์คชานวุคมาก่อน แม้ว่าจะสร้างชื่อและประสบความสำเร็จในบ้านด้วย Joint Security Area (2000) ที่ว่าด้วยเรื่องราวมิตรภาพบนความระอุของการเมืองระหว่างทหารเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ยืนประจันหน้ากันอยู่คนละฝั่งเส้นแบ่งเขตแดน แต่หนังที่สร้างชื่อให้เขาในเวทีโลกกับเป็น ‘ไตรภาคแห่งความพยาบาท’ (Revenge Trilogy) ที่นำโดย Sympathy for Mr. Vengeance ก่อนจะตามมาด้วย Old Boy (2004) ที่ไม่เพียงพาเขาไปคว้ารางวัลแรกจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ แต่มันยังกลายเป็นหนังคัลต์คลาสสิกที่ทำให้วงการหนังทั่วโลกหันมาจับตาประเทศที่ชื่อว่า ‘เกาหลีใต้’ ในคืนวันที่เสือตัวที่สี่ของเอเชียตัวนี้เพิ่งจะเริ่มต้นส่งออกวัฒนธรรม
ภายใต้ฉากหน้าที่เปรอะไปด้วยเลือด รอยเฉือน และแผลกระสุน หนังของปาร์คชานวุคเป็นเหมือนกับการชวนให้คนดูค่อย ๆ ใช้มีดกรีดลงไปใต้ผิวหนังเพื่อเปิดเปลือยเนื้อแท้ของมนุษย์ ซึ่งหากใครที่สามารถบังคับตัวเองให้มองทะลุกองเลือดและชั้นเนื้อหนังไปได้โดยไม่เบือนหน้าหนีไปเสียก่อน สิ่งที่จะปรากฏรอให้เราเห็นอยู่ตรงหน้าก็คือสิ่งที่ปาร์คมองว่าเป็นแก่นและหัวใจของการเป็นมนุษย์ ...ความเคียดแค้น ความชิงชัง ความลุ่มหลง และด้านมืดอีกนับไม่ถ้วน
เนื่องในโอกาสที่วันที่ 23 สิงหาคมคือวันคล้ายวันเกิดของผู้กำกับสัญชาติเกาหลีผู้เสิร์ฟความพยาบาทเป็นของหวานผู้นี้ GroundControl จึงอยากชวนทุกคนไปสำรวจความงามในด้านมืดของมนุษย์ที่ถูกตีแผ่บนจอโดยปาร์คชานวุคร่วมกัน
A Self-taught Auteur
แม้ว่าลายเซ็นในการทำหนังที่เด่นชัดแบบแค่เห็นฉากเดียวก็รู้แล้วว่านี่คืองานของปาร์คชานวุค แต่ที่จริงแล้วปาร์คไม่เคยได้ร่ำเรียนด้านการทำหนังมาเลย หากแต่เป็นนักศึกษาคณะปรัชญาของมหาวิทยาลัยโซกัง ซึ่งการร่ำเรียนในคณะปรัชญาก็ส่งอิทธิพลอย่างมากต่องานการทำหนังของเขาในเวลาต่อมา เพราะนอกจากการเรียนปรัชญาจะช่วยฝึกให้เขาได้ลองศึกษาสิ่งต่าง ๆ ในหลากหลายมุมมองแล้ว การเผชิญหน้ากับความคิดคร่ำครึและการมุ่งวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ โดยยึดติดกับตำราก็ทำให้เขารู้ว่า เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร จนสุดท้ายเขาก็ค้นพบแง่มุมในการมองโลกในแบบของเขาเอง
“การเข้าเรียนในคณะปรัชญาส่งอิทธิพลต่อผมทั้งในฐานะนักวิจารณ์ภาพยนตร์และในฐานะคนทำหนัง การเรียนปรัชญาสอนให้ผมครุ่นคิดและวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ แทนที่จะหาข้อสรุปว่าเป็นขาวหรือดำ และแทนที่จะสำรวจอะไรหลาย ๆ อย่างแต่ตื้นเขิน ผมเลือกที่จะสำรวจหัวข้อเดียวในหลาย ๆ แง่มุมมากกว่า”
ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย ด้วยความเบื่อหน่ายกับการเรียนแบบยึดติดกับตำรา ปาร์คจึงเริ่มก่อตั้งชมรมภาพยนตร์ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า 'Sogang Film Community' และเริ่มตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับหนังเกาหลีร่วมสมัยมากมาย ซึ่งการได้ทดลองทำงานเขียนก็ทำให้ปาร์คตั้งมั่นที่จะเป็นนักวิจารณ์ศิลปะในตอนแรก แต่แล้วเส้นทางความมุ่งมั่นของเขาก็เปลี่ยนไปเมื่อได้ดู Vertigo (1958) ของผู้กำกับชั้นครู อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก จนในที่สุดการเขียนงานส่งวารสารภาพยนตร์ก็ทำให้เขาได้กลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับให้ ยูยองจิน และ กวักแจยง (Watercolor Painting in a Rainy Day, My Sassy Girl)
การก้าวเข้าสู่หนทางของการเป็นผุ้กำกับด้วยการครูพักลักจำนั้นก็ไม่ใช่ทางเลือกของปาร์คเสียทีเดียว เพราะย้อนกลับไปในช่วงยุค 1980s โรงเรียนสอนทำหนังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายในเกาหลี รวมไปถึงวัฒนธรรมการดูหนังในเกาหลีก็ยังไม่ได้เบ่งบานเหมือนทุกวันนี้ ชั่วโมงเรียนทำหนังของปาร์คจึงมาจากการดูเคเบิลช่อง American Forces Korea Network ที่ฉายหนังภาษาต่างประเทศขึ้นหิ้งต่าง ๆ และพอมาเรียนมหาวิทยาลัยแล้วก็อาศัยการเช่าม้วนวิดีโอมาเปิดดูที่ชมรม
“ถ้าคุณเป็นนักเรียนทำหนังในอเมริกาหรือในฝรั่งเศส คุณก็อาจจะได้ไปเข้าชั้นเรียนที่สอนเกี่ยวกับหนัง German Expressionism โดยเอาหนังของผู้กำกับเหล่านั้นมาให้คุณดู แต่ในเกาหลีที่ไม่ได้มีระบบการเรียนการสอนทำหนังแบบจริงจัง วิธีการเรียนรู้เกี่ยวกับหนังของผมจึงกระจัดกระจายและเป็นไปตามยถากรรม และนั่นก็อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังของผมจึงมีรูปแบบที่แปลกประหลาด ทุกอย่างดูยุ่งเหยิงเหมือนเอาสิ่งนั้นกับสิ่งนี้มาผสมกัน”
อีกหนึ่งหนังที่ส่งอิทธิพลต่อปาร์คก็คือ James Bond ที่เขาได้ดูตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ๆ การดูฉากแอ็คชั่นและเรื่องราวชวนลุ้นระทึกนี้ทำให้ปาร์คเริ่มคิดภาพหนังของตัวเองในหัว ฉากนี้จะเล่าอย่างไร แสงเป็นแบบไหน และจะถ่ายจากมุมไหนบ้าง ซึ่งการดูหนังภาษาต่างประเทศโดยที่ไม่มีคำบรรยายนี้กลับทำให้ปาร์คมุ่งความสนใจไปที่การแสดงสีหน้าท่าทางของนักแสดง จนพัฒนากลายมาเป็นหนึ่งในวิธีการเล่าเรื่องของเขา โดยเขาไม่ได้มองว่าการเล่าเรื่องด้วยสีหน้าหรือการกระทำเป็นการแสดงที่ไร้ภาษา แต่สีหน้าและท่าทางของนักแสดงกลับเป็นภาษาการเล่าเรื่องที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือไปจากบทพูดด้วยซ้ำ
Joint Security Area
ย้อนกลับไปในยุคนั้น หากการเรียนทำหนังในเกาหลีเป็นเรื่องยากแล้ว การจะเป็นผู้กำกับนั้นกลับยากเย็นยิ่งกว่า ในช่วงปลายยุค 80s เมื่อปาร์คบอกกับภรรยาของเขาว่าจะตั้งมั่นเป็นผู้กำกับอาชีพ เขาก็ต้องโกหกแม่ยายตัวเองว่าเขาจะไปเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เหมือนพ่อของเขาที่เป็นอาจารย์สอนสถาปัตยกรรม
หนังเรื่องแรกของปาร์คได้รับเสียงชื่นชมอย่างเป็นเอกฉันท์ ...นั่นก็เพราะเขาเป็นเพียงคนเดียวที่ได้ดู และได้สวมรอยเป็นนักวิจารณ์หนัง เขียนบทวิจารณ์หนังของตัวเองส่งไปให้เพื่อนช่วยตีพิมพ์ในนิตยสารให้ แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จกับหนังเรื่องแรก แต่ใช่ว่าปาร์คจะถอดใจ เขาหาเลี้ยงชีพด้วยการเขียนบทความวิจารณ์ภาพยนตร์และตั้งหน้าทำหนังเรื่องต่อไป ...ก่อนที่ผลลัพธ์จะออกมาเงียบกริบเช่นเดิม จนทำให้เขาเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและอุตสาหกรรมนี้
“ผมเริ่มคิดว่า ‘นี่วงการนี้ตั้งใจจะกลั่นแกล้งผมจริง ๆ ใช่มั้ย?’ ‘หรือทุกคนรวมหัวกันและตั้งใจที่จะแกล้งฉันจนกว่าที่ฉันจะเหนื่อยตายไปเอง’”
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยาบาทอยู่ที่นั่น ในที่สุดปาร์คก็ประสบความสำเร็จในฐานะผู้กำกับเป็นครั้งแรกจากผลงานเรื่องที่สาม Joint Security Area ที่ว่าด้วยเรื่องราวของทหารสี่คนที่ประจำการอยู่คนละฝั่งของเส้นแบ่งเขตแดนเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ แล้วค่อย ๆ พัฒนามิตรภาพต้องห้าม จนนำมาสู่จุดจบอันไม่น่าอภิรมย์ หนังประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลถึงขั้นขึ้นแท่นหนังทำเงินสูงสุดในเกาหลีในช่วงเวลานั้น
และนอกจากผลลัพธ์ความสำเร็จด้านตัวเงินแล้ว ปาร์คยังได้รับบทเรียนในการทำหนังที่จะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จครั้งต่อไปของเขา นั่นก็คือการให้ความสำคัญกับบทสนทนาในเรื่อง โดยเขาจะคุยกับทีมนักแสดงก่อนที่จะเริ่มเขียนบท และในช่วงที่เริ่มขึ้นดราฟต์แรก ก็จะคิดถึงมุมภาพที่จะถ่าย และดนตรีที่จะอยู่ในหนังไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ ปาร์คยังมักที่จะใช้ทีมงานชุดเดิม โดยส่วนใหญ่ก็เป็นทีมงานที่ทำงานกับเขามาตั้งแต่ในหนัง Joint Security Area เรื่องนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ คังโฮซง ที่กลายมาเป็นนักแสดงคู่บุญของปาร์ค และอยู่ในหนังของปาร์คเกือบทุกเรื่อง
The Vengeance Trilogy
การมาถึงของไตรภาพชำระแค้นที่จะกลายเป็นผลงานขึ้นหิ้งของปาร์คนั้นไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เป็นการมาถึงแบบถูกที่ถูกเวลาและมาอย่างตั้งใจ ในช่วงเวลาที่สังคมเกาหลีกำลังเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งรวดเร็วและรุนแรง การผ่อนปรนกระบวนการเซนเซอร์หนังซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่ยุคคอมมิวนิสต์หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นเสมือนการเปิดประตูปลดปล่อยความกลัดกลุ้ม ความกังวล และความกดดันจากสภาพสังคมให้หลั่งไหลมาสะท้อนอยู่บนจอหนัง การมาถึงของคลื่นหนัง ‘คนเดือด สังคมคลั่ง’ ลูกแรกอย่าง Joint Security Area (2000), Peppermint Candy (1999), The Host (2006) ฯลฯ คือภาพสะท้อนความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพสังคมที่เติบโตไปพร้อมกับการพยายามผลักดันเศรษฐกิจ
และในขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้มุ่งมั่นส่งออกกระแส K-Pop ลูกแรกที่ส่งไปพร้อมกับความสดใสและสดชื่นของเหล่าไอดอล ณ อีกด้านหนึ่ง ในฟากฝั่งของโลกภาพยนตร์ ความแค้นและความเดือดดาลก็กลายเป็นสินค้าส่งออกที่ถูกส่งออกไปในรูปของบรรดาหนังต่าง ๆ โดยมีไตรภาค’ความพยาบาทคือของหวาน’ ของปาร์คชานวุคเป็นแนวหน้านำทัพหลัก กระแสโลกาภิวัฒน์, การอพยพย้ายถิ่นฐาน และความเฟื่องฟูของทุนนิยมกลายเป็นสารตั้งต้นหลักในไตรภาคความพยาบาทของปาร์ค เริ่มต้นด้วย Sympathy for Mr. Vengeance (2002) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของหนุ่มใบ้หูหนวกที่ดิ้นรนหาเงินไปเป็นค่าเปลี่ยนไตให้พี่สาว จนนำมาสู่แผนการลักพาตัวลูกคนรวยที่ผลลัพธ์คือหนทางไปสู่การแก้แค้นอันมีแต่ความฉิบหาย, Oldboy (2003) ว่าด้วยเรื่องราวของชายหนุ่มที่โดนจับไปขังไว้นานถึง 15 ปี ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวพร้อมภารกิจการตามล่าผู้อยู่เบื้องหลังแผนการนี้ และ Lady Vengeance (2005) เล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวที่ได้รับอิสรภาพหลังถูกจำคุกในคดีฆาตกรรมที่เธอไม่ได้ก่อ และเส้นทางสู่การตามล่าฆาตกรตัวจริงที่ทำให้เธอสูญเสียอิสรภาพ
แม้จะเรียกว่าไตรภาคทวงแค้นที่ว่าด้วยการเริ่มต้นเช็กบัญชีของตัวละครใดตัวละครหนึ่ง แต่ที่จริงแล้ว ทุกตัวละครในหนังของปาร์คคือผู้ถูกกระทำด้วยกันทั้งหมด โดยมีผู้ก่อกรรมทำเข็ญเป็นตัวร้ายแห่งโลกยุคสมัยใหม่ที่ชื่อว่า ‘ทุนนิยม’ เป็นผู้สร้างกฐินบาปที่มีทุกชีวิตในสังคมเป็นเจ้าของกฐินร่วม หากใน Sympathy for Mr. Vengeance มีตัวละครของเบดูนาที่ออกมาตะโกนเรียกร้องให้ผู้คนบนถนนลุกขึ้นมาต่อสู้กับ ‘ทุนนิยมเสรีใหม่’ ที่มาในรูปของธุรกิจต่างชาติ ใน Oldboy ก็มี ‘ตัวร้าย’ ที่มาปรากฏตัวต่อหน้าพระเอกในมาดนักธุรกิจหนุ่มผู้ทันสมัย หรือใน Lady Vengeance ที่ฆาตกรตัวจริงลักพาตัวเด็กไปเรียกค่าไถ่แล้วฆ่าทิ้ง เพียงเพราะต้องการนำเงินไปซื้อเรือยอทช์
...ด้วยการปรากฏตัวของ ‘ภัยคุกคาม’ ในแต่ละเรื่องที่ล้วนเชื่อมโยงเข้ากับลัทธิทุนนิยมและกระแสโลกาภิวัฒน์ ไตรภาคทวงแค้นของปาร์คจึงเป็นการพูดถึงความกลัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมเกาหลียุคใหม่ และความกังวลต่อบาดแผลที่อาจเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนั้น ที่อาจยิ่งตอกย้ำซ้ำบาดแผลเดิมที่เคยถูกทิ้งรอยไว้จากยุคการปกครองของรัฐบาลทหาร
ปาร์คอธิบายว่า สิ่งที่ทำให้เขาตั้งใจที่จะนำเสนอแก่นของเรื่องราวอันว่าด้วยความแค้นนั้นก็เป็นอะไรที่เรียบง่าย นั่นก็เพราะความแค้นเป็นสิ่งสากลที่ทุกคนในทุกสังคมล้วนเชื่อมโยงได้ และเขาก็หาได้มองว่าตัวเองเป็นผู้สอนสั่งศีลธรรมที่จะมาทิ้งข้อคิดสอนใจให้ผู้ชม แต่เขามองว่าตัวเองเป็นเพียงผู้เปิดเปลือยด้านมืดของมนุษย์และสังคมให้คนดูได้จดจ้องเท่านั้น
“ผมอยากถ่ายทอดให้คนดูได้รับรู้ว่า ความแค้นทำให้ทั้งผู้กระทำและผู้ที่เป็นเหยื่อทำลายตัวเองกันได้ขนาดไหน” ปาร์คอธิบาย “และอีกอย่างหนึ่ง ความแค้นก็เป็นเพียงภาพสะท้อนของการถ่ายโอนความรู้สึกผิดที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ ของคนที่ไม่อาจทนแบกรับความรู้สึกผิดนั้นไว้ได้”
The Handmaiden
หลังปิดท้ายไตรภาคแห่งความแค้นด้วย Lady Vengeance ปาร์คก็หันไปทำหนังรักวัยหวาน (ที่ก็ยังคงความเป็นปาร์คอยู่) อย่าง I'm a Cyborg, But That's OK (2006) ก่อนที่จะกลับมาพร้อมกับหนังสำรวจด้านมืดในใจคนอย่าง Thirst (2009) และ Stoker (2013)
แต่การมาถึงของ The Handmaiden ในปี 2016 นั่นเองที่ปักหมุดหมายใหม่ในเส้นทางการเป็นผู้กำกับของปาร์ค ในหนังที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายเลสเบียนอีโรติกปี 2002 ที่มีฉากหลังเป็นยุควิกตอเรียนอย่าง Fingersmith ของ ซาราห์ วอเตอร์ส นั้น ปาร์คหันมาสำรวจพลังขับเคลื่อนของ ‘เซ็กซ์’ แต่สำรวจมันในฐานะพลังขับเคลื่อนให้มนุษย์กระทำสิ่งต่าง ๆ ในแง่เดียวกับที่เขาเคยสำรวจความรุนแรงและความแค้น โดยปาร์คได้เปลี่ยนฉากหลังในเรื่องจากชนบทของอังกฤษให้เป็นเกาหลีในช่วงยุค 1930s ที่ยังถูกครอบครองโดยญี่ปุ่น และขยับออกมาสำรวจประเด็นการเมืองในมุมองที่เกี่ยวข้องกับอำนาจในภาพรวมที่กว้างขึ้น ต่างจากในไตรภาคความแค้นที่เป็นการสำรวจการเมืองในระดับชีวิตประจำวัน
ปาร์คอธิบายเหตุผลเบื้องหลังการเปลี่ยนฉากหลังให้เป็นเกาหลียุคใต้การปกครองของญี่ปุ่นว่า เขาสนใจการที่คนเกาหลีในยุคนั้นโอบรับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น โดยเชื่อว่าญี่ปุ่นจะปกครองเกาหลีตลอดไป และพยายามที่จะลบอัตลักษณ์ความเป็นเกาหลีของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็สะท้อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่าง คุณหนูอิซุมิ และ สาวใช้นัมซุกฮี ที่กำกวมระหว่างความรักกับความหลงใหล และการยอมละทิ้งตัวตนไปจนถึงรากเหง้าดั้งเดิมของตัวเองเพื่อจะได้ครอบครองในสิ่งที่ตนปรารถนา
ใน The Handmaiden ปาร์คยังตั้งใจที่จะสำรวจชนชั้นทางอำนาจที่มากับการเมือง โดยใช้ญี่ปุ่นเป็นภาพแทนของชนชั้นสูงที่มาพร้อมกับพิธีกรรมและประเพณีอันรุ่มรวย ในขณะที่เกาหลีเป็นภาพแทนของความสนิทชิดใกล้และการรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ภาษาญี่ปุ่นถูกใช้ในฉากที่ฮิเดโกะต้องอ่านกวีอีโรติกต่อหน้าคนในแวดวงสมาคมของลุง ในขณะที่เมื่อหญิงสาวทั้งคู่เผยความในใจต่อกัน พวกเธอกลับเอื้อนเอ่ยเป็นภาษาเกาหลี
“ในประวัติศาสตร์เกาหลี นี่คือช่วงเวลาเดียวที่ระบบชนชั้นยังส่งอิทธิพลสำคัญในสังคมเกาหลีอย่างมาก และนี่ยังเป็นช่วงเวลาแรก ๆ ที่ผู้คนเริ่มรับรู้ถึงการมาเยือนของยุคสมัยใหม่ การให้ตัวละครหญิงคนหนึ่งเป็นญี่ปุ่น ส่วนอีกคนเป็นเกาหลี มันก็เพิ่มมิติให้กับตัวละครได้อย่างดี เพราะพวกเธอล้วนมาจากชนชาติที่ต่างกัน และเป็นสองชาติที่มีความเกลียดชังต่อกันมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เพิ่มอุปสรรคให้กับความรักของพวกเธอเข้าไปอีก
“สิ่งสำคัญก็คือ แม้จะมาจากชนชั้นที่ต่างกัน แต่ในตอนสุดท้าย พวกเธอจะต้องเท่าเทียมกัน แม้ว่าพวกเธอจะมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ถูกปกครองโดยอีกประเทศหนึ่งก็ตาม ภายใต้จักรวรรดิอาณานิคม ระบบชนชั้นถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะแบ่งแยกคนออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือคนใต้ปกครอง และอีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ปกครอง การที่ทั้งสองก้าวข้ามความแตกต่างนี้ได้คือจุดสำคัญของเรื่อง ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้น้ำหนักของตัวละครหญิงทั้งสองนั้นมีความเท่ากัน . “ในขณะที่หนังเรื่องก่อน ๆ ของผมเป็นเรื่องราวของความรุนแรง หนังเรื่องนี้คือเรื่องราวของความปรารถนาและความสุขทางเพศ นี่คือหนังที่ว่าด้วยเรื่องราวของผู้หญิงสองคนที่หลบหนีจากการกดขี่ของเพศชาย และได้ค้นพบอิสระในเพศและความสุขสม”