Leonado da Vinci มนุษย์แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือ Renaissance Man

Leonado da Vinci มนุษย์แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือ Renaissance Man

Leonado da Vinci มนุษย์แห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการหรือ Renaissance Man

“ความสุขที่สูงส่งที่สุดคือความรื่นรมย์จากการได้ ‘รู้’” - Leonado da Vinci (1452 - 1519)

จาก Mona Lisa ถึง Vitruvian Man แทบไม่มีผลงานชิ้นไหนของศิลปินที่ชื่อว่า ลีโอนาโด ดาวินชี (Leonado da Vinci) ที่ไม่มีใครไม่รู้จัก แม้หลังจากมรณกาลกว่า 500 ปีของเขา ผู้คนในยุคสมัยปัจจุบันก็ยังไม่หยุดศึกษาทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวข้องกับดาวินชี มนุษย์ในยุคสมัยใหม่ยังคิดค้นประดิษฐ์เทคโนโลยีล้ำสมัยออกมาเพื่อสแกนศึกษาผลงานของเขา นักประวัติศาสตร์ยังคงแกะรอยเรื่องราวของเขาเพื่อย้อนเวลากลับไปค้นหาแง่มุมที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อนของอัจฉริยะแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ผู้นี้

แล้วอะไรกันที่ทำให้ชีวิตและผลงานของศิลปินผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 15 ยังคงส่งอิทธิพลและทำให้คนทั้งโลกหลงใหลได้จนถึงปัจจุบัน? เหตุใดกันเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน Renaissance Man หรือมนุษย์ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการผู้มีความสามารถรอบด้านที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา วิศวกร และนักคณิตศาสตร์

เนื่องในโอกาสที่สัปดาห์นี้จะเป็นวันครบรอบ 569 ปี ชาตกาลของ ลีโอนาโด ดาวินชี ผู้ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 14 (หรือ 15 ไม่แน่ชัด) เมษายน ค.ศ. 1452 GroundControlTH จึงจะขอใช้พื้นที่คอลัมน์ The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ พาผู้อ่านไปสำรวจแต่ละแง่มุมของความเป็น ‘Renaissance Man’ ของดาวินชี แต่เราจะไม่เล่าประวัติชีวิตของเขาเหมือนศิลปินคนอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพราะวันเกิดของดาวินชีทั้งที เราจึงจะขอพาทุกคนไปสำรวจความเป็นดาวินชีผ่าน 9 ผลงานในแต่ละช่วงชีวิตของเขากัน!

Landscape of the Arno Valley (1473)

ภาพลายเส้นสเกตช์ทิวทัศน์แสนเรียบง่ายนี้อาจดูไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเหนือไปกว่าภาพสเกตช์ที่เราเห็นทั่วไปในยุคปัจจุบัน แต่หากลองจินตนาการย้อนกลับไปเมื่อเกือบ 600 ปีที่แล้วที่จินตนาการความสร้างสรรค์ของมนุษย์ยังคงจำกัดอยู่ที่การสร้างสรรค์งานที่เป็นภาพแทนของเทพเจ้า สะท้อนภาพมนุษย์ หรือสะท้อนถึงสัญญะต่าง ๆ เท่านั้น การวาดภาพทิวทัศน์โดยไม่มีคนอยู่ในภาพเลยนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในสังคมตะวันตก และภาพวาดทิวทัศน์ของทิวเขาอาร์โนแห่งอิตาลีโดย ลีโอนาโด ดาวินชี ในปี 1473 นี้ ก็น่าจะเป็นภาพทิวทัศน์หรือภาพ Landspace ภาพแรกในประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ของมนุษย์

ลีโอนาโด ดาวินชี เกิดที่หมู่บ้านในหุบเขาทัสคานีที่ชื่อว่า วินชี ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำอาร์โน ซึ่งชื่อดาวินชีที่เราเรียกกันนั้นก็มาจากชื่อบ้านเกิดของเขา หาใช่นามสกุลของเขาไม่ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่านามสกุลที่แท้จริงของดาวินชีคืออะไรกันแน่

ชื่อกำเนิดของดาวินชีคือ Leonardo di ser Piero da Vinci หรือที่แปลได้ว่า ‘ลีโอนาโด ลูกชายของปีเอโร แห่งเมืองวินชี’ พ่อของเขาที่ชื่อปีเอโรนั้นเป็นลูกชายในตระกูลขุนนางมั่งมี ส่วนแม่ของเขาชื่อว่า แคเทอรีน ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าแม่ของดาวินชีน่าจะเป็นหญิงสาวชาวบ้านธรรมดาต่างชนชั้นกับผู้เป็นพ่อ บ้างก็ว่าอาจเป็นทาส ซึ่งนักประวัติศาสตร์ก็สันนิษฐานว่า การถือกำเนิดจากพ่อแม่ต่างชนชั้นกันซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมสมัยนั้นก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ดาวินชีไม่มีนามสกุล

แม้จะเป็นลูกนอกสมรส แต่ครอบครัวของดาวินชีก็เลี้ยงดูเขาขึ้นมาเป็นอย่างดี ตามที่ดาวินชีเคยกล่าวถึงวัยเด็กไว้ในบันทึกของตนเอง เขาได้รับการศึกษาอย่างดีและเพียบพร้อม ทั้งวิชาภาษาละติน เรขาคณิต และคณิตศาสตร์ แต่เด็กชายดาวินชีก็ชอบที่จะออกนอกห้องเรียนไปสำรวจตามป่าเขาและถ้ำต่าง ๆ ในละแวกบ้าน

ดาวินชีได้เคยกล่าวถึงสามเหตุการณ์ในวัยเด็กที่ประทับอยู่ในความทรงจำของเขา ซึ่งน่าจะส่งอิทธิพลต่อความสงสัยใคร่รู้เมื่อเขาเป็นผู้ใหญ่ เหตุการณ์แรกคือเมื่อเขายังเป็นเด็กอยู่ในเปล แล้วมีว่าวตัวหนึ่งลอยเข้ามาในเปลของเขา เหตุการณ์ที่สองคือตอนที่เขาออกไปสำรวจภูเขาแล้วได้เจอกับถ้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้เขาจินตนาการถึงปีศาจร้ายที่ซ่อนอยู่ในถ้ำ และทำให้เขาอยากเข้าไปสำรวจว่ามีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น และเหตุการณ์สุดท้ายคือการที่เขาใช้เวลาไปกับการนั่งสำรวจน้ำในแม่น้ำ และคอยจดและสังเกตกระแสน้ำนั้น

ภาพ Landscape of the Arno Valley นี้ก็คือหนึ่งในหลักฐานความเป็นคนช่างสังเกตและบันทึกของดาวินชี นอกจากนี้ภาพแลนด์สเคปของแม่น้ำในแถบละแวกบ้านภาพนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในการจัดระยะของสิ่งที่อยู่ใกล้และไกลในภาพ นอกจากนี้จุดที่น่าสนใจยังเป็นการใช้เส้นที่ขีดเร็ว ๆ เพื่อแสดงถึงกระแสน้ำที่ไหลอย่างรวดเร็ว อันสะท้อนให้เห็นถึงการที่ตาของผู้วาดรับรู้ทั้งสสารของน้ำและการเคลื่อนไหวของกระแสน้ำ การใส่สิ่งเล็ก ๆ อย่างเรือหรืออาคารสิ่งก่อสร้างที่เห็นอยู่ไกล ๆ ด้วยการใช้รูปทรงสีเข้มก็สะท้อนให้เห็นถึงการสายตาที่จับรายละเอียดของทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้ามานำเสนอ

The Baptism of Christ (1472–1475)

The Baptism of Christ อาจไม่สามารถเรียกว่าเป็นผลงานของดาวินชีได้อย่างเต็มปาก เพราะที่จริงแล้วนี่คือผลงานของ อันเดรอา เดล แวร์รอกกีโอ (Andrea del Verrocchio) ศิลปินฟลอเรนซ์คนดังแห่งยุค ที่ดาวินชีได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์และทำงานในเวิร์กชอปของแวร์รอกกีโอตั้งแต่อายุได้ 14 ปี ซึ่งที่เวิร์กชอปของแวร์รอกกีโอนี้ก็ส่งอิทธิพลต่อดาวินชีอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นที่ที่เขาได้เรียนรู้ศิลปะทั้งการวาด ปั้น และขึ้นแบบแล้ว ที่นี่ยังประสิทประสาทวิชาความรู้อื่น ๆ ทั้งการเขียนแบบ วิชาสถาปัตยกรรม การทำงานกับเหล็ก วิศวกรรรม ไปจนถึงเคมี นอกจากนี้ที่ชอปของแวร์รอกกีโอยังเป็นที่ที่ดาวินชีได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะจากศิลปินรุ่นพี่รุ่นก่อน ๆ ที่ต่างก็เคยร่ำเรียนในเวิร์กชอปแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ซันโดร บอตตีเชลลี, เปียโตร เปรูจิโน หรือ โดเมนนิโค เกอร์ลันเดา

ดาวินชีได้มีส่วนร่วมในการสร้างผลงานของแวร์รอกกีโอหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือภาพการรับศีลจุ่มของพระคริสต์ภาพนี้ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจะนำไปประดับบนแท่นบูชาในโบสถ์ซานซัลวี ในนครฟลอเรนซ์ โดยส่วนที่ดาวินชีรับหน้าที่ดูแลก็คือส่วนของเทวทูตในภาพ โดย The Baptism of Christ นำเสนอเหตุการณ์ในพระคัมภีร์ที่ ยอห์นผู้ให้บัพติศมา (John the Baptist) ได้ทำพิธีศีลจุ่มให้พระเยซูในแม่น้ำจอร์แดน โดยมีเทวทูตลงมาเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์ครั้งนี้

เมื่อนักประวัติศาสตร์ศิลปะในยุคหลังได้ทำการศึกษาภาพนี้อย่างละเอียดขึ้นก็พบว่า ในส่วนของฉากหลังที่เป็นภาพทิวทัศน์ของกองหินและลำธารที่ไหลต่อเนื่องมาจากภูเขานั้นดูเป็นการใช้สีน้ำมันเทคนิคใหม่ที่ ไม่ใช่สไตล์ของแวร์รอกกีโอ ซึ่งก็สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นฝีมือของลูกศิษย์อย่างดาวินชี

Saint Jerome in the Wilderness (1480–149)

ในช่วงปี 1480s ดาวินชีได้กลายเป็นศิลปินอาชีพเต็มตัวและรับงานเป็นของตัวเอง เขาได้รับมอบหมายให้ทำงานสามชิ้นที่สำคัญที่สุด และกลายเป็นผลงานที่สร้างทั้งความทุกข์ใจและความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงให้กับเขา โดยสองในสามงานนั้นเป็นผลงานที่ทำไม่เสร็จ และผลงานชิ้นสุดท้ายก็ใช้เวลาทำนานจนก่อให้เกิดปัญหาเรื่องค่าจ้าง

ผลงานชิ้นแรกที่เขาได้รับในช่วงยุคนี้ก็คือ Saint Jerome in the Wilderness ที่นำเสนอภาพของ นักบุญเจอโรม ที่กำลังรอนแรมอยู่ในดินแดนทะเลทรายของซีเรีย โดยในช่วงที่ดาวินชีทำงานชิ้นนี้ เขากำลังอยู่ในมวลอารมณ์เศร้าหมองและหดหู่อย่างหนัก ซึ่งน่าจะมีสาเหตุมาจากการปรับตัวเข้ากับชีวิตใหม่ในมิลาน โดยดาวินชีก็ได้บันทึกถึงช่วงชีวิตในระหว่างที่กำลังสร้างผลงานชิ้นนี้ว่า “ฉันคิดว่าฉันกำลังเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต แต่กลับกลายเป็นว่าฉันได้แต่เรียนรู้หนทางไปสู่ความตาย”

แม้ว่าจะเป็นผลงานที่ทำไม่เสร็จ แต่ Saint Jerome in the Wilderness ก็เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ทำให้เห็นเค้าลางการเป็นมาสเตอร์ในการนำเสนอกายวิภาคของดาวินชี นี่คือช่วงที่ดาวินชีเริ่มศึกษากายภาพของมนุษย์อย่างจริงจัง ภาพนักบุญเจอโรมถูกนำเสนอออกมาในรูปของร่างกายที่ปกคลุมด้วยผิวหนัง โดยที่ใต้ผิวหนังนั้นคือรูปรอยของกล้ามเนื้อที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในขณะที่กล้ามเนื้อและตำแหน่งของแก้มและคอก็ถูกถ่ายทอดออกมาได้ถูกต้องต้ามหลักกายภาพศาสตร์ นอกจากนี้ในภาพก็ยังปรากฏเทคนิคการวาดภาพภูมิทัศน์อันเป็นเอกลักษณ์หลักของดาวินชีด้วย

The Adoration of the Magi (1481)

ผลงานที่นำเสนอภาพของ พระแม่มารี และพระบุตรนี้คืออีกหนึ่งผลงานที่วาดไม่เสร็จของดาวินชี โดยภาพนี้นอกจากจะนำเสนอภาพของบุคคลในพระคัมภีร์ใบเบิลแล้ว ดาวินชียังได้แอบใส่ภาพของตัวเองลงไปในฝั่งขวาของภาพ นอกจากนี้ยังมีการวาดโครงสถาปัตยกรรมในสไตล์กรีกคลาสสิก ซึ่งก็สะท้อนถึงความสนใจด้านสถาปัตยกรรมของดาวินชี

จุดที่น่าสนใจของภาพนี้อีกประการหนึ่งก็คือเค้าโครงสิ่งก่อสร้างที่กำลังพังทลายที่อยู่ทางฝั่งซ้ายของภาพที่คาดว่าน่าจะเป็น มหาวิหาร Basilica of Maxentius โดยสันนิษฐานว่าดาวินชีน่าจะอ้างอิงจากประโยคที่แพร่หลายในยุคกลางที่กล่าวกันว่า ชาวโรมันยุคโบราณเคยประกาศไว้ว่า มหาวิหารแห่งนี้จะยืนหยัดไปตลอดกาลจนกระทั่งวันที่หญิงบริสุทธิ์ให้กำเนิดลูก ซึ่งการประสูตรของพระเยซูจากพระแม่มารีผู้บริสุทธิ์ก็นำมาสู่การล่มสลายของกรุงโรมโบราณและชัยชนะของชาวคริสต์นั่นเอง (แต่ที่จริงแล้วกว่าที่มหาวิหารแห่งนี้จะถูกสร้างขึ้นก็หลังจากที่พระเยซูสิ้นพระชนม์ไปกว่า 300 ปีแล้ว)

Virgin of the Rocks (1489–1491)

อีกหนึ่งผลงานชิ้นสำคัญของดาวินชีในยุคนี้ก็คือ Virgin of the Rocks ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะใช้เป็นภาพประดับแท่นบูชา ภาพนี้เป็นผลงานชิ้นเดียวในยุคนี้ที่ดาวินชีวาดจนเสร็จ นำเสนอภาพของพระแม่มารีกับทารกพระคริสต์และนักบุญยอห์น และทูตสวรรค์เกเบรียล โดยความโดดเด่นของผลงานชิ้นนี้ก็คือการนำเสนอความงดงามชวนหลงใหลของกลุ่มคนในภาพที่ขัดแย้งกับสภาพแห้งแล้งในทะเลทรายอียิปต์ที่อยู่รายล้อม ซึ่งความขัดแย้งนั้นก็ยิ่งขับเน้นความงดงามสูงส่งของทั้งสี่คนที่ดูชดช้อยอ่อนโยนเปี่ยมด้วยความเป็นมนุษย์ ตามความเชื่อของชาวคริสต์แห่งกรุงฟลอเรนซ์ในยุคนั้น นักบุญยอห์นคือเพื่อนเล่นที่อยู่กับพระเยซูมาตั้งแต่สมัยยังเยาว์วัย โดยที่นักบุญยอห์นก็ล่วงรู้มาตลอดว่าในอนาคตข้างหน้า พระเยซูจะทำการเสียสละชีวิตของตัวเองเพื่อปวงมนุษย์ ซึ่งในภาพนี้ดาวินชีก็นำเสนอฉากที่ทั้งพระเยซูและนักบุญยอห์นต่างเป็นทารกเสมอเหมือนกัน อันเป็นความตั้งใจของดาวินชีที่จะใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปในเรื่องราวทางศาสนา

Virgin of the Rocks ยังมีความโดดเด่นในแง่ของการจัดองค์ประกอบภาพแบบสามเหลี่ยมพีระมิดซึ่งเป็นสุนทรียะขั้นสูงสุดของศิลปินยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ แต่ดาวินชียังได้ยกระดับความเหนือขึ้นไปอีกด้วยการเพิ่มมิติของความเป็นหนึ่งเดียวกันในภาพด้วยการให้บุคคลในภาพต่างมองกันและกัน ซึ่งนับเป็นวิธีการที่ใหม่และล้ำมากในยุคนั้น

Lady with an Ermine (1498 - 1491)

Lady with an Ermine คือหนึ่งในผลงานภาพพอร์เทรตที่มีชื่อเสียงที่สุดของดาวินชี โดยภาพนี้คือภาพของ เซซิเลีย กัลเลรานี (Ceclia Gallerani) อนุภรรยาวัย 16 ปีของดยุคแห่งมิลาน ผู้ที่ชื่อเสียงด้านความงามขจรไกลไปทั่ว ในภาพนี้ ศีรษะของหญิงสาวเอียงหันไปด้านข้าง ราวกับว่าเธอถูกหันเหความสนใจด้วยบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นนอกเฟรมภาพ อันเป็นลักษณะการโพสท่าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในยุคนั้น สิ่งที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งก็คือใบหน้าของหญิงสาวที่แสดงความมั่นใจและความเฉลียวฉลาด สะท้อนถึงความมั่นใจในสถานะการเป็นคนโปรดของผู้มีอำนาจในราชสำนักนี้

ตัวเออร์มินหรือพังพอนหางสั้นที่หญิงสาวตระกองกลอดไว้นั้นเป็นส่วนที่ถูกขอให้ใส่เพิ่มลงไปทีหลัง ซึ่งก็กลายเป็นว่าการปรากฏตัวของเจ้าพังพอนกลับสร้างความหมายที่โดดเด่นขึ้นมาอีก เพราะพังพอนเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ การที่มันมาอยู่คู่กับหญิงสาวที่เป็นคู่รักของชายที่สูงวัยกว่ามากนั้นก็ดูเป็นอะไรที่ขัดแย้งกัน แต่ก็มีการตีความกันว่า พังพอนที่หมายถึงความบริสุทธิ์นั้นอาจแสดงถึงความซื่อสัตย์ที่เซซิเลียมีต่อท่านดยุค

ผลงานภาพวาดพอร์เทรตของหญิงสาวที่ดูเป็นผลงานแสนธรรมดานี้กลับกลายเป็นงานที่สะท้อนถึงอัจฉริยะขั้นสุดของดาวินชี ทั้งท่าโพสที่ถือว่าล้ำในยุคนั้น ไปจนถึงการนำเสนอจังหวะการเคลื่อนไหวของคนในภาพด้วยลักษณะกายภาพที่ถูกต้องทุกประการ ที่สำคัญที่สุดก็คือการนำเสนออารมณ์อันซับซ้อนผ่านรอยยิ้มบาง ๆ และดวงตาที่แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจ ซึ่งในเวลาต่อมา ภาพ Lady with an Ermine นี้ก็ได้กลายเป็นงานศิลปะที่ส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินและนักเขียนสร้างตัวละครตามเซซิเลียออกมามากมาย ตัวอย่างเช่น ตัวละครปีศาจหญิงในนวนิยายเรื่อง His Dark Materials books (1995-2000) ของ ฟิลลิป พูลแมน

The Vitruvian Man (1485)

The Vitruvian Man คือผลงานที่สะท้อนความเป็นนักมนุษย์นิยมของดาวินชีมากที่สุด โดยเป็นภาพดรอว์อิงที่ดาวินชีวาดขึ้นเพื่อที่จะศึกษากายภาพของมนุษย์ ภาพร่างของมนุษย์ผู้ชายที่ทำท่าทางสองท่าแตกต่างกันถูกวาดทับซ้อนกันในภาพเดียว ท่าหนึ่งคือท่าที่มนุษย์ผู้ชายกางแขนและขาออกจนทำให้องศาตั้งฉากของแขนและขาของเขาก่อเกิดเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ในขณะที่อีกท่าหนึ่งเป็นการวาดแขนและขาซึ่งก่อให้เกิดเป็นรูปวงกลม

ในถ้อยความที่ปรากฏอยู่เคียงข้างภาพนี้ ดาวินชีได้บรรยายถึงความตั้งใจของเขาที่จะศึกษากายภาพของมนุษย์ดังที่เคยถูกจารึกไว้ในตำรา De Architectura (On Architecture) ที่แต่งโดยสถาปนิกชาวโรมันอย่าง วิตรูวิอุส (Vitruvius ซึ่งกลายมาเป็นชื่อภาพ) ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนคริสตกาล โดยวิทยาการที่วิตรูวิอุสได้คิดค้นจนตกทอดมาสู่ดาวินชีนั้นก็คือการที่เขาใช้ร่างกายของมนุษย์ผู้มีโครงร่างสมบูรณ์ถูกต้องตามลักษณะทางอุดมคติมาใช้เป็นแบบศึกษาลักษณะทางกายภาพ เพื่อที่จะนำแบบนั้นไปต่อยอดเป็นงานออกแบบสถาปัตยกรรม โดยวิตรูวิอุสเชื่อว่า ลักษณะกายภาพอันสมมาตรของมนุษย์นั้นสามารถต้นแบบให้กับงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้

ดาวินชียึดตำราของวิตรูวิอุสเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจในการศึกษากายภาพศาสตร์ เขาลอกแบบโครงร่างกายภาพของมนุษย์ที่วิตรูวิอุสเคยวาดไว้ออกมามากมาย เพื่อศึกษาและแก้ไขแบบของวิตรูวิอุสให้มีความถูกต้องตามหลักกายภาพมากขึ้น ซึ่งความเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์ที่มีสัดส่วนอันสมบูรณ์นี้ก็มีอิทธิพลต่อศิลปินและสถาปนิกในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการเป็นอย่างมาก บรรดางานสถาปัตยกรรมในยุคนี้ต่างก็ยึดคอนเซปต์ของวิตรูวิอุสเพื่อสร้างโบสถ์และวิหารที่นำเสนอความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างมนุษย์กับพระเจ้าผู้ศักดิ์สิทธิ์ ในกาลต่อมา The Vitruvian Man จะเป็นงานที่เป็นจุดเริ่มต้นของนักประวัติศาสตร์ศิลปะในการทำความเข้าใจผลงานทั้งหมดของดาวินชี ไม่ว่าจะเป็นภาพจิตรกรรม สถาปัตยกรรม หรือความคิด สุนทรียศาสตร์ในแบบของดาวินชีทั้งหมดล้วนมีใจความสำคัญร่วมกันอยู่ที่ภาพดรอว์อิงกายวิภาคชิ้นนี้… ภาพดรอว์อิงที่สะท้อนจิตวิญญาณของและแนวคิดการสร้างสรรค์ที่ทรงพลังที่สุดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ นั่นก็คือแนวคิดมนุษยนิยมที่จัดวางมนุษย์ลงในความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งที่เชื่อมร้อยกันในธรรมชาติ

The Last Supper (1492–1498)

ในช่วงยุค 1490s ดาวินชีได้สร้างหนึ่งในผลงานที่จะเป็นผลงานสุดไอคอนิกของเขา นั่นก็คือ จิตรกรรม The Last Supper ที่อยู่ในบริเวณคอนแวนต์ของโบสถ์ซานตามารีอาเดลเลกราซีเอ (Santa Maria delle Grazie) ในกรุงมิลาน ซึ่งนำเสนอภาพฉากพระกระยาหารมื้อสุดท้ายของพระเยซูก่อนที่พระองค์จะถูกตรึงกางเขน และพระองค์ได้ตรัสขึ้นมาว่า “หนึ่งในพวกท่านจะทรยศเรา” (one of you will betray me)

The Last Supper คือผลงานภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่ชิ้นแรกของดาวินชี ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาขาดและประสบการณ์ในการเลือกใช้สีที่จะติดทนนานไปตลอดกาล ดาวินชีได้ใช้โอกาสที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานจิตรกรรมขนาดใหญ่นี้ด้วยการป้ายสีลงไปบนกำแพงปูนปลาสเตอร์แห้งตรง ๆ ซึ่งก็ส่งผลให้ในอีกร้อยปีต่อมา ภาพ The Last Supper นี้จะอยู่ในสภาพที่แทบมองไม่เห็น และต้องได้รับการบูรณะอยู่เป็นประจำจนเวอร์ชั่นที่เราเห็นกันในปัจจุบันนั้นค่อนข้างห่างไกลจากเวอร์ชั่นแรกที่ดาวินชีวาดไว้มาก ๆ

แม้จะเฟลในการทดลองเทคนิคใหม่ ๆ แต่ความโดดเด่นของ The Last Supper ในแง่ของการเป็นผลงานที่สะท้อนถึง ‘นวัตกรรม’ ทางศิลปะและการเป็นผลงานที่สะท้อนความรู้รอบด้านของดาวินชีนั้นก็ยังคงอยู่ยืนยง สิ่งที่เป็นที่กล่าวถึงมากที่สุดของผลงานชิ้นนี้ก็คือการจัดองค์ประกอบภาพที่ทำให้จุดนำสายตาของภาพนี้อยู่ที่ด้านหลังขมับขวาของพระเยซู หรือส่วนที่เป็นสมองของพระองค์ ในขณะที่การจัดวางระนาบในภาพก็ล้วนเป็นแกนแนวนอนแบบสมมาตร ไม่ว่าจะเป็นเส้นตรงของโต๊ะขาวที่อยู่เบื้องหน้า หรือการจัดให้สาวกอยู่คนละฝั่งของพระเยซูอย่างสมดุลย์เท่ากัน The Last Supper ยังขึ้นชื่อในเรื่องการใส่สัญญะแอบซ่อนในส่วนต่าง ๆ ของภาพ ซึ่งเป็นการลดทอนองค์ประกอบฟุ่มเฟือยในภาพ แต่ยังคงความหมายอันศักดิ์สิทธิ์ไว้ได้ครบถ้วน เช่น การนำเสนอหน้าต่างสามบานที่อยู่เบื้องหลังของพระเยซู อันตีความหมายได้ถึงตรีเอกภาพ เป็นต้น นอกจากนี้ The Last Supper ยังเป็นผลงานที่สะท้อนความเชื่อเรื่องมนุษยนิยมของดาวินชี ด้วยการนำเสนอภาพของพระเยซูที่ปราศจากวงแหวนเหนือพระเศียร หรือ Halo เพื่อสะท้อนความเหมือนกันระหว่างพระเยซูกับมนุษย์

Mona Lisa (1503)

Mona Lisa คือผลงานในยุคศตวรรษที่ 16 ที่มีชื่อเสียงที่สุดของดาวินชี ผลงานที่กลายมาเป็นภาพวาดไอคอนิกของโลกหลังเหตุการณ์โจรกรรมสุดอื้อฉาวในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้ สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นภาพพอร์เทรตของ ลีซา เดล โจกอนดา (Lisa Gherardini) ภรรยาของพ่อค้าชาวฟลอเรนซ์ผู้มั่งคั่ง

เหตุผลที่ทำให้ Mona Lisa กลายเป็นภาพวาดที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่แสดงถึงสุนทรียะขั้นสูงสุดของดาวินชีนั้นมีมากมายหลายประการ แต่หนึ่งในเหตุผลนั้นมาจากสิ่งที่แสนเรียบง่าย… นั่นก็คือรอยยิ้ม โดยก่อนที่ Mona Lisa จะถือกำเนิดขึ้นมาบนโลก ภาพวาดพอร์เทรตที่ศิลปินวาดกันมาในแต่ละยุคสมัยล้วนมุ่งที่จะถ่ายทอดบุคลิกหรือรูปร่างหน้าตาภายนอกของผู้เป็นแบบให้เหมือนที่สุดเท่านั้น ส่วนลักษณะนิสัยหรือเรื่องราวของผู้เป็นแบบก็มักจะถูกโยกไปซ่อนไว้ในองค์ประกอบภายนอก เช่น สิ่งของที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ เสื้อผ้ส หรือท่าโพส เป็นต้น

แต่สิ่งที่ดาวินชีตั้งใจจะทำใน Mona Lisa นี้ก็คือการนำเสนอบางสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘จิตวิญญาณ’ ของผู้เป็นแบบ หรือกล่าวโดยรวมว่าเป็นสิ่งที่อยู่ ‘ข้างใน’ ของแบบนั่นเอง ซึ่งดาวินชีก็ประสบความสำเร็จด้วยการนำเสนอสิ่งที่อยู่ภายในนั้นออกมาผ่านรอยยิ้ม และเพียงรอยยิ้มเดียวบนใบหน้าของเธอ ดาวินชีก็ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยมีศิลปินคนไหนทำมาก่อนในการวาดภาพเหมือนของบุคคล นั่นก็คือการนำเสนอว่าบุคคลนั้นมีอารมณ์ความรู้สึกรอยยิ้มที่เผยออกมาที่มุมปากเพียงเล็กน้อยของ Mona Lisa ทำให้ผู้ชมต้องครุ่นคิดสงสัยว่า เธอกำลังคิดอะไรอยู่ รอยยิ้มนั้นมีความหมายว่าอย่างไร ไปจนถึงว่า เธอผู้นี้คือใครกันหรือ? การที่ดาวินชีถ่ายทอดอารมณ์ของหญิงสาวเพียงเล็กน้อย ไม่เปิดเผยหมด กลับสร้างความเป็นมนุษย์ให้กับภาพในแบบที่ไม่เคยมีงานศิลปะชิ้นไหนเคยทำได้มาก่อน แม้กระทั่งภาพวาดทิวทัศน์ที่อยู่เบื้องหลังในภาพนั้นก็นำเสนอสิ่งที่ทรงพลังที่สุดของมนุษย์ และเป็นสิ่งที่บ่งบอกความเป็นมนุษย์มากที่สุด นั่นก็คือ ‘จินตนาการ’ โดยสันนิษฐานกันว่าภาพทิวทัศน์ที่ปรากฏเป็นฉากหลังของภาพนั้นน่าจะไม่ได้วาดมาจากแบบของสถานที่จริงแต่อย่างใด แต่เป็นทิวทัศน์ที่ดาวินชีนำเสนอจากจินตนาการ… ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในกระแสธารศิลปะ

ในอนาคตที่ขยับออกมาจากยุคสมัยของดาวินชี Mona Lisa จะกลายเป็นหนึ่งในผลงานที่ส่งอิทธิพลต่อศิลปินมากที่สุดในโลก ศิลปินคนสุดท้ายแห่งยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการอย่าง ราเฟเอล (Raphael) จะฝึกฝนความชำนาญทางศิลปะด้วยการวาดภาพที่ลอกแบบ Mona Lisa ออกมาหลายต่อหลายภาพ, กวีชาวฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 19 อย่าง เตโอฟิล เกาเธียร์ (Théophile Gautier) จะอุทิศลำนำให้เธอ โดยเรียกเธอว่า ‘สฟิงซ์ผู้มีรอยยิ้มปริศนา’ ไปจนถึงในปี 1919 ที่ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) นำเสนอภาพ Mona Lisa มีหนวด, ซัลบาโด ดาลี (Salvador Dalí) ที่จะวาดภาพพอร์เทรตของตัวเองออกมาในรูปของ Mona Lisa หรือแม้กระทั่ง แอนดี วอร์ฮอล ที่จะนำภาพ Mona Lisa มาพิม์ซิลค์สกรีนซ้ำ ๆ กัน เพื่อสร้างเป็นผลงาน Thirty are better than one (1963)

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Leonardo_da_Vinci?fbclid=IwAR1gi3osV1iwKC8-V58zaM1pS2hv9_3SUyyhZ5V4NVduxWkdNMaQ58eUJaM#cite_note-FOOTNOTEVasari1965258-56 https://www.theguardian.com/news/2019/apr/22/who-was-leonardo-da-vinci-and-what-can-we-learn-from-him?fbclid=IwAR1HuicKruAVbstzdPpr6XuOgEfJuXWiEKAuwwOgkuH1Xb2wiRvumR3ifY8 https://www.leonardodavinci.net/

หนังสือ เลโอนาร์โด ดา วินชี เขียนโดย วอลเตอร์ ไอแซกสัน แปลโดย ดร. บัญชา ธนบุญสมบัติ สำนักพิมพ์: Be(ing)