Edward Yang เพลงของ Elvis และความสับสนของชาวไต้หวันในยุคโลกาภิวัฒน์
> ‘ทุกคนในไต้หวันต้องเจอกับคำถามที่ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหรือการแยกตัวเป็นเอกราช ไม่มีใครอยากเจอกับคำถามแบบนี้ หนังของฉันเป็นฉากหลังของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต’
เรื่องราวสีเทาใจกลางเมืองเล็กๆ ในไต้หวัน ที่ถูกเรียงร้อยผ่านความประณีตในทุกรายละเอียด ภาพที่นิ่งช้าพาให้คนดูสังเกตการกระทำและบทสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติของตัวละคร ความจริงใจในการนำเสนอภาพสว่างไสวและมืดหม่นของเมืองที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยวัฒนธรรมที่ผสมปนเปกันอย่างหลากหลายนี้ ทำให้ เอ็ดเวิร์ด หยาง ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในผู้กำกับที่ถ่ายทอดรายละเอียดของเรื่องราวที่สลับทับซ้อนกันได้อย่างลงตัว จนนักสร้างหนังมากมายถือให้เขาเป็นผู้กำกับชั้นครูที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย ในยุคที่ประชาชนข้ามน้ำข้ามทะเลอพยพจากบ้านเกิดเพื่อหนีรัฐเผด็จการจากจีน มาอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยแนวคิดประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ชาวไต้หวันต่างอยู่ในภาวะซึมเศร้าและหวาดระแวง การหลอมรวมเรื่องราวที่แตกต่างกันของชีวิตตัวละครผ่านการสอดแทรกวัฒนธรรมตะวันตก ทุกสิ่งล้วนเกี่ยวพันกับปัญหาชีวิตของคนในเมือง หนังของหยางหมกมุ่นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครผ่านสถาปัตยกรรมและผลของวัฒนธรรมตะวันตกในโลกทุนนิยม ที่พาทุกสิ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ส่วนประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นผลของประสบการณ์ส่วนตัวที่เติบโตมาด้วยภูมิหลังของช่วงเวลาแห่งการหลบหนีการปฏิวัติจากพรรคคอมมิวนิสต์ในจีน เรื่องราวส่วนตัวของเขา ถูกผสานเข้ากับการสังเกตชีวิตคนรอบข้าง และเรียบเรียงอย่างละเมียดละไมผ่านฉากหลังประวัติศาสตร์และการเมือง The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้ GroundControl จะพาทุกคนมาสำรวจอิทธิพลสำคัญทางประวัติศาสตร์ การเมือง และสังคมที่ถูกส่งผ่านระยะเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอันฉับพลันในไต้หวัน รวมไปถึงเพลงดังของเอลวิส เพรสลีย์ ‘A Brighter Summer Day’ ที่กลายมาเป็นชื่อภาพยนตร์ระดับตำนานของหยางเลยทีเดียว
เอ็ดเวิร์ด หยาง เกิดและเติบโตในเมืองแถบตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง (เริ่มต้นในช่วงปี 1949) ครอบครัวของเขาหนีการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ และย้ายมาที่ไต้หวันเช่นเดียวกับพลเมืองกว่าสองล้านคน หยางไม่ได้เรียนจบด้านภาพยนตร์โดยตรง จริง ๆ แล้วเขาจบวิศวกรรมไฟฟ้าในไต้หวัน หลังจากนั้นก็ย้ายไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์คอมฯในอเมริกา เขาได้สมัครคอร์สเรียนภาพยนตร์สั้น ๆ เพียงหนึ่งเทอมเท่านั้น และทำงานด้านคอมพิวเตอร์ในอเมริกานานกว่า 7 ปี ก่อนจะตัดสินใจกลับไปยังไต้หวันเพื่อเริ่มต้นงานด้านภาพยนตร์ในฐานะ Taiwan New Wave Filmmaker ร่วมกับผู้กำกับรุ่นใหม่อาทิ Hou Hsiao-Hsien ด้วยเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไต้หวันที่ซบเซาอยู่นานจากผลทางการเมือง อย่างไรก็ตาม การได้ไปใช้ชีวิตในอเมริกา ทำให้หยางกล้าที่จะตั้งคำถามกับความแตกต่างระหว่างเสรีภาพทางสังคมในอเมริกาและการปราบปรามประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองในไต้หวัน หรือแม้กระทั่งตั้งคำถามกับภาพยนตร์ของเขาเอง อิทธิพลจากชีวิตที่ผกผันไปตามการเวลาและความรู้สึกต่อโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้เอง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผสมผสานวัฒนธรรมของโลกสมัยเก่าและใหม่ ตะวันออกและตก รวมถึงโลกที่มีมากกว่าแค่สีขาว-ดำ ทำให้หยางกลายมาเป็นหนึ่งในนักทำหนังคนสำคัญที่สร้างประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไต้หวันตั้งแต่ช่วงที่ไต้หวันกำลังสลัดมรดกของเผด็จการ เป็นจุดเริ่มต้นของจิตวิญญาณและแนวคิดหัวสมัยใหม่ที่เปิดกว้างในการแสดงออกด้านศิลปะที่เขาได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ยุโรป ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะไม่กลัวการสร้างภาพยนตร์ที่ยากเกินไปและไม่กลัวความไม่เข้าใจของผู้ชม ผลงานของหยางมุ่งเน้นไปที่การจับความรู้สึกของชีวิตในเมืองที่ห่อหุ้มด้วยค่านิยมขงจื๊อที่เชื่อในความสามารถของผู้คน และพาทุกคนเข้าสู่สังคมทุนนิยมเต็มรูปแบบ (โดยเฉพาะในไทเป) มุมมองของหยางเจาะลึกไปยังความผิดแปลกของบ้านเมือง ที่เป็นส่วนผสมระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ ความล่องลอยของผู้คน การค้นหาตัวตนในประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ที่ด้อยกว่า คือหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดในภาพยนตร์ของเขา
Does your memory stray, to a brighter summer day?
วัฒนธรรมป็อบคัลเจอร์ทำให้ไอดอลชาวอเมริกันอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ ในช่วง 60s สร้างความคลั่งไคล้ให้แก่คนหนุ่มสาวจำนวนมาก พวกเขามักจะขึ้นไปบนเวทีเพื่อร้องเพลงร็อคแอนด์โรลในตำนาน ใคร ๆ ก็อยากเป็นเอลวิส มุมมองแบบ American Dream นี้ นำพาตัวละครหนีจากความสับสนและความกดดันจากสังคม เพื่อดำดิ่งสู่ความรู้สึกที่ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ เสียงของเอลวิสเหมือนเสียงของใครสักคนที่เราคุ้นเคยและเข้าใจโลกเป็นอย่างดี กีต้าร์คลอเบา ๆ ถ้อยคำที่ชัดเจนทุกพยางค์ และกลิ่นอายของบรรยากาศในห้องอัดเสียง อบอวลในเพลงตลอดเวลาเหมือนว่าพระเจ้าที่ชื่อเอลวิสกำลังปลอบโยนเราอยู่ใกล้ๆ ‘Are you lonesome tonight?’ บางทีประโยคนี้อาจปลุกอารมณ์สุดอ่อนไหวของตัวละครหรือแม้แต่ผู้ชมเอง คำถามดังกล่าวจะพาเราออกมาจากเงามืดได้จริงหรือ? A Brighter Summer Day คือภาพยนตร์ที่เปี่ยมไปด้วยความสับสนของตัวละครตลอดความยาวสี่ชั่วโมง ผ่านการหักเหของบริบททางการเมืองในไต้หวันช่วงทศวรรษ 1960 ภาพยนตร์เรื่องนี้คือชิ้นส่วนความทรงจำของหยาง เขาถ่ายทอดความปวดร้าวของคนหนุ่มสาว ความรุนแรงของแก๊งสเตอร์ที่แผ่ซ่านไปตามท้องถนน เรื่องราวบาดหมางที่เกิดขึ้นจากการลุกล้ำพื้นที่ฝ่ายตรงข้าม ความคึกคะนองที่แฝงด้วยความคิดสุดขั้วเดิมพันด้วยชีวิต ที่ดูเหมือนจะไร้พิษสงในตอนแรก แต่กลับก่อตัวจนปะทุขึ้นอย่างช้าๆ ไปพร้อมกับบาดแผลของครอบครัวชาวจีนที่อพยพมายังไต้หวันในยุค The White Terror (ช่วงเวลาของกฎอัยการศึกระหว่างปี 1949-1987 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งของไต้หวัน ปราบปรามผู้คัดค้านทางการเมือง) กลายเป็นฉากอันอุกอาจที่เกิดขึ้นโดยเด็กหนุ่มผู้สับสนในตัวเองและสูญเสียความหวัง หนึ่งในบทสัมภาษณ์ทีมเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้เคยเล่าไว้ว่า ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาของการอพยพ แต่เธอก็สัมผัสได้ถึงความรู้สึกนั้น การเขียนบทเริ่มต้นด้วยการรวบรวมเอกสารและหนังสือพิมพ์ในยุคนั้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นได้ง่ายขึ้น และแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างขึ้นจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในไทเป แต่เหตุการณ์นั้นเป็นเพียงเปลือกนอกของเรื่องราวทั้งหมด ซึ่งเป็นเหมือนภาชนะสำหรับการรำลึกตัวตนของหยาง .
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีความหมายอย่างแท้จริงในฐานะเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สอดแทรกวัฒนธรรมอันหลากหลาย เห็นได้จากรายละเอียดในภาพยนตร์ไม่ว่าจะเป็น แผ่นเสียงเพลงร็อกแอนด์โรลเถื่อน วิทยุของจีน ดาบแบบญี่ปุ่น บทสวดคริสเตียน ไฟฉายที่ขโมยมาจากโรงถ่ายหนัง หรือโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐบาลเผด็จการ ทุกสิ่งล้วนมีความหมายต่ออดีตและปัจจุบันของตัวละครที่กำลังจะส่งต่อไปยังอนาคตของพวกเขา เพื่อไม่ให้ลืมว่าพวกเขามาจากไหนและกำลังจะไปที่ไหน สำหรับคนที่อยู่ไกลออกไปเช่นพวกเรา ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นผ่านชีวิตทั้งชีวิตของคนคนหนึ่งโดยมีสังคมและภาพจำในประวัติศาสตร์เป็นตัวกำหนด หยางเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า ทุกคนในไต้หวันต้องเจอกับคำถามที่ว่า จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งหรือการแยกตัวเป็นเอกราช ไม่มีใครอยากเจอกับคำถามแบบนี้ A Brighter Summer Day เป็นฉากหลังของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับเขาแล้ว ผู้คนในปัจจุบันไม่ได้เผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางการเงิน หรือแม้กระทั่งปัญหาทางการเมือง แต่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมที่รุนแรง เหมือนความพยายามมุ่งหน้าสู่ศตวรรษที่ 21 ด้วยอุดมการณ์ในศตวรรษที่ 4 ความรักของเซอร์ (Si’r) ต่อ หมิง (Ming) ที่เต็มไปด้วยความสับสน อาจเป็นจิตวิญญาณของชาวไต้หวันที่ร้องเพลงถึงถิ่นที่เขาจากมา ตัวตนที่หลุดลอยพ่วงด้วยความรู้สึกเสียใจกับตัวเอง พวกเขาเพียงแค่ต้องการโอกาสที่สองจากโลกใบนี้ โอกาสที่จะมีใครสักคนที่ถามว่าเธอรู้สึกโดดเดี่ยวบ้างไหมในคืนนี้ เธอคิดถึงฉันไหม ใครคนนั้นที่พวกเขารักและศรัทธาหมดใจ ใครคนนั้นที่ชื่อ ‘เอลวิส’ เกร็ดความรู้เล็กๆจากภาพยนตร์ : เพลง ‘Are You Lonesome Tonight ?’ เวอร์ชันแรก เกิดขึ้นในปี 1926 โดย Charles Hart และถูกแปลงมาในหลายเวอร์ชัน โดยมีการปรับเปลี่ยนคำร้องเรื่อยมา เวอร์ชันของ Elvis Phresley ถือเป็นเวอร์ชันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
เรื่องราวความซับซ้อนของจิตใจคนคนหนึ่งที่ถูกกดทับจากสังคมไต้หวันในช่วงเวลาที่วัฒนธรรมถูกไหลเวียนเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว จนปะทุออกมาผ่านเหตุการณ์อันอุกอาจ แฝงอยู่ในภาพยนตร์ราวกับเป็นหนึ่งในลายเซ็นสำคัญของหยาง จุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจนี้เกิดจากคดีอาชญากรรมโดยเยาวชนชาวไต้หวันที่เดินทางเข้ามาทำงานในเมืองระหว่างช่วงทศวรรษที่ 1980 เขาถูกทารุณและถูกเอารัดเอาเปรียบ จนสุดท้ายลงเอยด้วยการฆาตกรรมเจ้านายและครอบครัว ในเวลานั้นผู้คนจำนวนมากออกมาสนับสนุนเขา แต่ท้ายที่สุดเขาก็ถูกตัดสินประหารชีวิต หยางติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดแม้ว่าเขาจะไม่เคยพูดอย่างชัดเจน คดีนี้เป็นจุดเริ่มต้นของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวชีวิตอาชญากร ความจริงแล้วภาพยนตร์ A Brighter Summer Day (1991) และ Terrorizers (1986) มีแนวคิดเดียวกัน คือความคิดเกี่ยวกับสังคมที่ฆ่าพวกพ้องของตัวเอง A Brighter Summer Day คือภาพย้อนกลับและภาพจินตนาการของ ‘ผู้ร้าย’ ใน The Terrorizers เป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ทำให้เข้าใจว่าพวกเขาเติบโตมาอย่างไร หยางต้องการทำความเข้าใจกับความไม่มั่นคงและความกลัวจากสังคมที่ส่งผลต่อตัวละคร ปริศนาการปะทะกันทางประวัติศาสตร์ ความอ่อนไหว และวัฒนธรรมไต้หวันสมัยใหม่ใน The Terrorizers แสดงให้เห็นถึงความสามารถของหยางในการออกแบบเส้นชะตากรรมที่ซับซ้อนของตัวละครและเรื่องเล่าหลายเรื่องที่พัวพันกันอยู่อย่างประหลาด ทำให้เราต้องเดาอยู่ตลอดเวลาว่าชีวิตของตัวละครจะเป็นอย่างไร ช่างภาพที่หลงไหลในภาพถ่ายแคนดิดโสเภณีลูกครึ่ง สามีและภรรยาที่มีปัญหาชีวิตคู่ เราไม่สามารถรู้อนาคตของตัวละครได้ทั้งหมด ภาพสังคม Post Modern ที่ต่อต้านสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา เติบโตไปพร้อมกับ The Terrorizers ความผิดหวังและความทะเยอทะยานเป็นเหมือนเพลงบัลลาดที่แฝงไปด้วยความรู้สึกแย่ที่ผู้คนต้องเก็บซ่อนไว้ จนกระทั่งระเบิดออกมาในที่สุด
ความทรงจำทั้งหมดของหยางแผ่กิ่งก้านสาขาไปจนถึงบทสรุปของชีวิต อันเป็นมรดกตกทอดที่โด่งดังและเป็นที่พูดถึงมากที่สุดของหยางอย่าง Yi Yi (a One and a Two) เรื่องราวที่ส่วนตัวที่สุดของหยาง เปรียบเหมือนการฉลองแด่วัฒนธรรมและชีวิตที่ขมขื่นซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของครอบครัวที่มีสมาชิกหลายรุ่นตลอดระยะเวลา 1 ปี โดยเริ่มจากงานแต่งและจบลงด้วยงานศพ การสำรวจตัวละครทุกตัวผ่านประสบการณ์ที่ผูกพันกันด้วยสายสัมพันธ์ เป็นหัวใจสำคัญของผลงานชิ้นเอกชิ้นสุดท้ายที่ถ่ายทอดวัฒนธรรมอย่างวิจิตรบรรจง และสะท้อนอารมณ์ที่ลึกซึ้งกินใจ จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้ เกิดขึ้นเมื่อพ่อของเพื่อนสนิทเข้าสู่อาการโคม่า สำหรับหยางแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ‘สเปกตรัมของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย’ ไอเดียของภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเก็บไว้บนหิ้งในความคิดของเขานานกว่า 15 ปี รอวันที่เขาเติบโต ตกตะกอน และทำความเข้าใจถึงภาวะของชีวิตอย่างแท้จริง หยางใช้เวลาไม่นานในการเสนอเรื่องนี้ต่อนายทุน และทันทีที่ได้รับการอนุมัติ (อย่างรวดเร็ว) เขาก็เขียนร่างแรกเสร็จภายในหนึ่งสัปดาห์ หยางได้ให้สัมภาษณ์ว่า กระบวนการทั้งหมดในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นเหมือน ‘การเขียนจดหมายถึงเพื่อนสนิทของเขา’ เขาตั้งใจว่าจะทำหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างจริงใจและตรงไปตรงมาที่สุด ความใกล้ชิดของตัวละครกับผู้ชมไม่ว่าจะทางใดก็ตาม คือวิธีที่เขาเชื่อมโยงผู้ชมกับหนังเรื่องนี้และตัวเขา หยางใช้ชีวิตด้วยการสังเกตและเก็บรายละเอียดของผู้คน ความคิดหลายสิ่งมักวนอยู่ในหัวเขาพร้อม ๆ กับ การหยิบไอเดียในหัวมาผสมกับภาพแทนของสังคมที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ว่าจะเป็นภาพกล้องวงจรปิด ม้วนฟิล์ม หรืออาหาร Junk Food แบบอเมริกัน หยางเลือกใช้วัตถุดิบของเขาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์และศิลปิน เขาพยายามนำเสนอในส่ิงที่ทุกคนมักมองข้ามในชีวิต นั่นคือเหตุผลที่เขาไม่เลือกเล่าห้วงชีวิตของใครเพียงคนหนึ่งตั้งแต่เกิดจนตาย และหันไปบอกเล่าชีวิตของครอบครัวหนึ่งที่สมาชิกแต่ละคนมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดซึ่งกันและกัน เขาใส่บริบทของสังคมแวดล้อมในไทเป เมืองหลวงที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้หนังของเขาเป็นหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวเล็ก ๆ ที่พูดมากกว่าแค่ครอบครัว
เรื่องราวรักเก่าของนักธุรกิจวัยกลางคน ภรรยาที่พยายามประคับประคองความรู้สึกของตัวเอง ความเจ็บปวดซ้ำซากจากความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจของเด็กสาวม.ปลาย และเด็กชายที่ฉลาดเกินผู้ใหญ่รอบตัวเขา ถูกเรียงร้อยด้วยสภาพแวดล้อมที่ชวนหมองหม่น สับสน และเจ็บปวด เรื่องราวทั้งหมดนี้ เริ่มต้นในงานแต่งครอบครัวชาวจีน อาการโคม่าของยายที่เริ่มหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปถึงจุดจบของชีวิต คือสัญลักษณ์ของด้านสว่างและด้านมืด ในวัฒนธรรมจีน งานแต่งงานเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งที่ดีและความโชคดี งานศพมักเป็นด้านมืด เป็นตัวแทนของสิ่งที่เราต้องการหลีกเลี่ยง (ถึงแม้จะรู้ว่าหนีไม่พ้น) สิ่งที่เราไม่ต้องการพูดถึง แต่โดยพื้นฐานแล้ว ชีวิตคือการผสมผสานกันระหว่างด้านสว่างและด้านมืด สิ่งดี ๆ ล้วนมีด้านมืด และสิ่งที่ไม่ดีเองก็มีด้านสว่างเช่นกัน ดังนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเกี่ยวกับคนดีที่ทำสิ่งไม่ดี คนไม่ดีที่ทำสิ่งดี ๆ และธรรมชาติของคนที่ซับซ้อนเกินกว่าจะอธิบายได้ ในวันที่ทุกสิ่งหมุนไปไวกว่าเวลา ทำให้คนมากมายสับสนและตั้งคำถามกับความหมายของชีวิต ภาพยนตร์ของ เอ็ดเวิร์ด หยาง จะพาทุกคนไปหาคำตอบเหล่านี้ด้วยการใช้เวลาสังเกตภาพที่นิ่งช้าในแต่ละฉากที่ถูกออกแบบขึ้นอย่างละเมียดละไม การเผยธาตุแท้ของมนุษย์ทั้งแง่ดีและร้ายผ่านความซับซ้อนของเรื่องราวในภาพยนตร์ อาจไม่ได้ทำให้ผู้ชมรู้คำตอบเบ็ดเสร็จของชีวิต แต่ภาพยนตร์ของเขาคงทำให้ผู้ชมเข้าใจสิ่งต่างๆ และซึมซับบางอย่างที่อยู่ลึกลงไปในความรู้สึกไม่มากก็น้อย ### In Memory of Edward Yang (1947 - 2007)
อ้างอิง :http://www.chinesecinemas.org/yang.html https://www.hollywood.com/general/yi-yi-edward-yang-interview-57162616/?fbclid=IwAR2Fh5iDf41MLYBJadbpKwpGDi44Ttn-gQzDanB4nUdv5DLdCSf11zxOnCA https://www.criterion.com/current/posts/3984-talking-with-screenwriter-hung-hung-about-a-brighter-summer-day?fbclid=IwAR1gi3osV1iwKC8-V58zaM1pS2hv9_3SUyyhZ5V4NVduxWkdNMaQ58eUJaM