People of Color in the Royal Family ประวัติศาสตร์คนผิวสีในราชสำนักอังกฤษ
ประเด็นเรื่องสีผิวในราชวงศ์อังกฤษดูจะเป็นประเด็นร้อนที่ได้รับการพูดถึงกันเป็นวงกว้าง ทั้งในโลกของจอทีวีที่ซีรีส์สุดฮอต (จริง ๆ) อย่าง The Bridgerton ได้นำร่องจุดประเด็นนี้ไปก่อนล่วงหน้า จากตัวซีรีส์ที่ได้สร้างโลกแฟนตาซีนำเสนอภาพคนผิวดำในแวดวงราชวงศ์อังกฤษ จนนำมาสู่การยกข้อสันนิษฐานในทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเชื้อชาติของ พระราชินีชาร์ล็อทเทอ ขึ้นมาคุยกันอีกครั้ง รวมไปถึงการถกเถียงกันทั้งในหมู่คนดูและนักวิจารณ์จากสื่อต่าง ๆ ว่า การใช้นักแสดงผิวดำมารับบทนำที่ในต้นฉบับเป็นคนผิวขาวนี้ ‘เพียงพอ’ ที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมได้แล้วหรือไม่ และการนำเสนอภาพของโลกแฟนตาซีที่ข้อขัดแย้งทางชาติพันธุ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้น หรือถูกทำให้หายไปแล้ว (โดยการแต่งงานระหว่าง พระเจ้าจอร์จที่ 3 และพระราชินีชาร์ล็อทเทอ) เป็นวิธีการที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ในการเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์การนำเสนอความหลากหลายทางเชื้อชาติบนหน้าจอ
เรื่องสีผิวและราชวงศ์อังกฤษก็กลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้ง หลังจากที่ เจ้าชายแฮร์รี่ และ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ได้ไปนั่งให้สัมภาษณ์ในรายการของ โอปราห์ วินฟรีย์ โดยหนึ่งในประเด็นร้อนที่เป็นที่พูดถึงอย่างมาก ก็คือการที่ดัชเชสอ้างถึงเหตุการณ์ในช่วงก่อนที่เธอจะให้กำเนิดลูกชายคนแรก ที่คนในฝ่ายราชสำนักได้แสดงความกังวลต่อสีผิวของลูกชายคนแรกของดัชเชสว่าจะ ‘เข้ม’ มากแค่ไหน
ประเด็นร้อนที่ต่อเนื่องกันมานี้ก็ดูเหมือนว่า ประเด็นเรื่องสีผิวและเชื้อชาติกับราชวงศ์อังกฤษนั้นจะไม่จางหายไปง่าย ๆ ซึ่งที่จริงแล้ว ราชวงศ์กับประเด็นเรื่องสีผิวนั้นก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กันแต่ไหนแต่ไรมา เพราะคนผิวสีก็ปรากฏตัวอยู่ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อังกฤษมาตั้งแต่โบราณแล้ว
ด้วยเหตุนี้ GroundControl จึงขอใช้โอกาสนี้พาทุกคนไปทำความรู้จักกับเหล่าคนผิวสี (ทั้งผิวดำและผิวสีอื่น ๆ) ที่เคยถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์อังกฤษด้วยกัน
Queen Charlotte
แฟน ๆ Bridgerton น่าจะจดจำภาพของราชินีองค์นี้ได้จากบทบาทความเจ้ากี้เจ้าการและการเป็น ‘ขาเผือก’ เรื่องแซ่บในแวดวงสังคมอังกฤษที่ถูกนำเสนอในซีรีส์ โดยผู้สร้างซีรีส์ก็ได้นำเสนอตัวละครนี้โดยอ้างอิงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระองค์ ทั้งเรื่องความชอบสังคมสังสรรค์ และข้อเท็จจริงที่ว่า พระองค์อาจจะเป็นราชินีผิวดำคนแรกของราชวงศ์อังกฤษ
โซฟี ชาร์ล็อทเทอ แห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ (Sophie Charlotte von Mecklenburg-Strelitz) เกิดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 1744 โดยเป็นธิดาองค์เล็กใน Duke Carl Ludwig Friedrich of Mecklenburg-Strelitz และ Princess Elisabeth Albertine of Saxe-Hildburghausen และเมื่อเจ้าหญิงชาร์ล็อทเทออายุได้ 17 ปี พระองค์ก็เดินทางออกจากเยอรมนีบ้านเกิดเพื่อไปเข้าพิธิวิวาห์กับพระเจ้าจอร์จที่ 3 และเพียง 6 ชั่วโมงหลังจากเหยียบแผ่นดินอังกฤษ พระองค์ก็ได้กลายเป็นสมเด็จพระราชินีชาร์ล็อทเทอ
ข้อสันนิษฐานเรื่องสีผิวของพระราชินีชาร์ล็อทเทอนั้นมาจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ที่วาดโดยศิลปินในยุคนั้น โดยจะสังเกตได้ว่าสีผิวและองค์ประกอบบนพระพักตร์ของพระองค์ที่ถูกนำเสนอในงานศิลปะนั้นดูแตกต่างไปจากภาพวาดพอร์เทรตหญิงสาวทั่วไปในยุคนั้น ทั้งริมฝีปากของพระองค์ที่ดูหนา และพระเกษาหยิกและเป็นสีเข้ม
โดยปกติแล้วการวาดภาพพอร์เทรตในยุคนั้น ศิลปินมักจะวาดสีผิวของแบบให้ดูอ่อนลง และเค้าโครงใบหน้าก็ดูกระจุ๋มกระจิ๋มตามแบบค่านิยมความงามของชาวอังกฤษในยุคนั้น (อารมณ์ว่าใช้ฟิลเตอร์) แต่สาเหตุที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีชาร์ล็อทเทอดูราวกับวาดออกมาแบบ ‘ตรงปก’ นี้ ก็น่าจะเป็นเพราะศิลปินผู้วาดภาพนี้คือ Sir Allan Ramsay ศิลปินหัวก้าวหน้าแห่งยุคผู้มีแนวคิดต่อต้านการค้าทาส ด้วยเหตุนี้การนำเสนอภาพของพระราชินีผิวดำอย่างสมจริงนั้นก็น่าจะมาจากความตั้งใจที่จะส่งสารด้านการเมืองของตัว Ramsay เองด้วย เนื่องจากพระบรมฉายาลักษณ์นี้จะถูกส่งไปยังบรรดาเมืองในจักรภพอังกฤษทั่วโลก
นักประวัติศาสตร์ Mario De Valdes y Coco ยังนำเสนอข้อสันนิษฐานว่า พระราชินีชาร์ล็อทเทอน่าจะสืบทอดสายเลือดคนผิวดำมาจากราชวงศ์โปรตุเกสในช่วงศตวรรษที่ 13 ผ่านทางพระมารดาของพระองค์ โดยสืบสายไปได้ถึง พระเจ้าอัลฟอนโซมหาราช กับ Ouruana หญิงสาวชาวมัวร์ที่กลายมาเป็นสนมของพระเจ้าอัลฟอนโซมหาราชจากการที่พระองค์ไปยึดครอบเมือง Faro ก่อนที่ทั้งสองจะมีพระโอรสและธิดาร่วมกัน 3 พระองค์ ซึ่งในกาลต่อมา พระโอรสองค์หนึ่งจะไปแต่งงานกับ Margarita de Castro y Sousa ตระกูลขุนนางชาวโปรตุเกสที่ก็มีบรรพบุรุษเป็นคนผิวดำเช่นกัน
Valdes ยังค้นพบบันทึกของหมอประจำราชสำนักอย่าง Baron Christian Friedrich Stockmar ที่ได้บรรยายพระราชินีชาร์ล็อทเทอว่า ‘ตัวเล็ก หลังงุ้ม และมีใบหน้าของลูกครึ่งคนผิวขาวกับผิวดำ (mulatto)’ นอกจากนี้ Valdes ยังค้นพบบันทึกของ Sir Walter Scott ที่บรรยายถีงสีผิวของพระราชินีว่า ‘ไม่ชวนมอง’ รวมไปถึงบันทึกของนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งในช่วงรัชสมัยของพระองค์ ที่บรรยายถึงใบหน้าของพระองค์ว่า ‘พระนาสิกกว้างเกินไป และพระโอษฐ์ก็หนาเกินไป’
Dido Elizabeth Belle
Portrait of Dido Elizabeth Belle Lindsay and Lady Elizabeth Murray ของศิลปินชาวสก็อตทิช David Martin คือหนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงและก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะภาพนี้ได้นำเสนอวิถีอันผิดปกติอย่างหนึ่งที่ศิลปินในสมัยนั้นมักไม่ทำกัน นั่นก็คือ การนำเสนอภาพของหญิงผิวดำด้วยองค์ประกอบที่ทำให้เธอดู ‘เสมอชั้น’ กับหญิงสาวผิวขาว หาได้อยู่ในสถานะของทาสหรือสาวรับใช้
หญิงสาวผิวดำผู้มีท่าทีดูขี้เล่นสนุกสนานคนนี้มีชื่อว่า Dido Elizabeth Belle ลูกสาวที่เกิดจากพ่ออย่าง Sir John Lindsay และแม่ผู้เป็นทาสผิวสีที่ชื่อว่า Maria Belle ซึ่งพบกันในระหว่างที่ Sir John Lindsay ถูกส่งไปประจำการในดินแดนอาณานิคมเครือจักรภพอังกฤษ โดยหลังจากที่แม่ของ Belle เสียชีวิตในตอนที่เธออายุได้เพียงหกขวบ พ่อของเธอก็ไปรับมายังอังกฤษ โดยได้ฝากไว้ให้อยู่ในความดูแลของ the Earl of Mansfield พี่ชายของบิดาที่กลายมาเป็นลุงของเธอซึ่งเลี้ยงเธอมาร่วมกับลูกสาวอย่าง Elizabeth ที่กลายมาเป็นลูกพี่ลูกน้องคนสนิทของ Belle
ก่อนช่วงปี 1990s ภาพวาดที่นำเสนอบุคลิกที่แตกต่างกันของหญิงสาวทั้งสองนี้รู้จักกันในชื่อภาพ The Lady Elizabeth Murray เท่านั้น เพราะในตอนนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าตัวตนของหญิงสาวอีกคนคือใคร แต่ภาพนี้ก็ได้ก่อให้เกิดคำถามมากมายที่นอกเหนือไปจากประเด็นเรื่องสถานะของหญิงสาวผิวดำในภาพ เช่น เหตุใดศิลปินจึงนำเสนอให้ Belle ชี้ไปที่ใบหน้าของเธอ? และเหตุใดจึงดูเหมือนกับว่า Belle กำลังวิ่งผ่านฉากเข้ามา และกำลังจะวิ่งออกไป (จนกระทั่งลูกพี่ลูกน้องอย่าง Elizabeth ต้องจับแขนเธอไว้ให้อยู่ก่อน) นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์บางคนที่ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่นำเสนอความแตกต่างระหว่างหญิงสาวทั้งสองหาใช้สีผิวเท่านั้น แต่ศิลปินยังตั้งใจจะนำเสนอความ ‘Exotic’ ในตัว Belle ด้วยการให้เธอถือถาดที่บรรจุผลไม้เมืองร้อนชนิดต่าง ๆ และยังวาดให้เธอสวมเครื่องแต่งกายที่สะท้อนวัฒนธรรมจากแดนไกลอย่างโพกหัวประดับด้วยขนนก ซึ่งท่าทางขี้เล่นและไม่อยู่นิ่งของเธอก็นำเสนอบุคลิกที่ดูไม่เรียบร้อย ขัดกับลูกพี่ลูกน้องสาวอย่าง Elizabeth ที่นั่งอ่านหนังสือ
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่า Dido Elizabeth Belle ได้รับการเลี้ยงดูขึ้นมาในบ้านของ Earl of Mansfield ในสถานะใด เป็นคนรับใช้ของคุณหนู? หรือเป็นคุณหนูอีกคนหนึ่งของบ้าน? อย่างไรก็ตาม หลักฐานหนึ่งที่ประจักษ์ชัดก็คือ Earl of Mansfield น่าจะมีความรักความเอ็นดูในตัวหลานสาวคนนี้ไม่น้อย เพราะในช่วงบั้นปลายของชีวิต Earl of Mansfield เขาได้ทำภารกิจหนึ่งจนสำเร็จ นั่นก็คือการผลักดันให้มีการยกเลิกการค้าทาสในสหราชอาณาจักร จนการค้าทาสในสหราชอาณาจักรถูกยกเลิกไปในปี 1772
Sarah Forbes Bonetta
Sarah Forbes Bonetta Davies ถือกำเนิดขึ้นในฐานะของเจ้าหญิงแห่งเผ่า Egbado (ปัจจุบันคือหมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศไนจีเรีย) เมื่อปี 1843 และเมื่ออายุได้ห้าปี เผ่าของเธอก็ถูกรุกรานโดยการนำของ King of Dahomey ซึ่งได้นำตัวเจ้าหญิงกลับไปเป็นทาสในอาณาจักรบ้านเกิดของตนด้วย
สองปีถัดมา กัปตัน Frederick E Forbes จากกองทัพเรือเรืออังกฤษได้มาเยี่ยมเยือน King of Dahomey และเกลี้ยกล่อม King of Dahomey ให้ยกเจ้าหญิงพลัดถิ่นให้กับพระราชินีวิกตอเรียนในฐานะ ‘ของขวัญ’ จากพระราชาคนผิวสีดำ มอบให้กับพระราชินีแห่งคนผิวขาว (She would be a present from the King of the Blacks to the Queen of the Whites.”) และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นการเดินทางของ Sarah Forbes Bonetta จากแอฟริกาสู่ราชสำนักอังกฤษ
เมื่อมาถึงราชสำนัก Bonetta ก็ถูกส่งไปรับการศึกษากับ Church Missionary Society ก่อนที่เธอจะเดินทางกลับแอฟริกาเพื่อไปเข้าเรียนที่ Female Institution ในเซียร์ราลีโอน แต่เมื่ออายุได้ 12 ปี พระราชินีวิกตอเรียก็ทรงเรียกตัวเธอกลับมายังอังกฤษ
พระราชินีวิกตอเรียทรงประทับใจในมารยาทอันงดงามและความปราดเปรื่องในด้านวรรณกรรม ดนตรี และศิลปะของ Bonetta เป็นอย่างมาก จนพระองค์จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ Bonetta อย่างงามเพื่อให้เธอได้มีชีวิตที่ดี และ Bonetta ยังได้กลายมาเป็นแขกประจำของพระราชวังวินด์เซอร์ด้วย ซึ่งที่ราชสำนักนี้ Bonetta ก็ได้สร้างความประทับใจให้กับเหล่าสตรีในราชสำนักด้วยกิริยามารยาทอันงดงามสมความเป็นผู้ดี นอกจากนี้เธอยังสร้างความประทับใจให้เหล่าคุณครูด้วยความฉลาดปราดเปรื่องเกินอายุ
เมื่ออายุได้ 18 ปี พระราชินีก็จับคู่เธอกับ James Pinson Labulo Davies นักธุรกิจหนุ่มวัย 31 ปีที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร โดยหลังจากพิธีสมรส คู่แต่งงานใหม่ก็ได้พากันย้ายกลับไปยังแอฟริกา เมื่อ Bonetta คลอดลูกสาวคนแรก เธอก็ได้รับการอนุญาตจากพระราชินีให้ตั้งชื่อลูกสาวคนแรกว่า วิกตอเรีย โดยที่พระราชินียังเป็น ‘แม่ทูนหัว’ ให้กับทารกน้อยด้วย
เมื่อ Bonetta เสียชีวิต พระราชินีวิกตอเรียก็ทรงเศร้าโศกพระทัยมาก ในบันทึกของพระองค์ได้บันทึกถึงการสูญเสียลูกสาวบุญธรรมคนนี้ว่า “วันนี้ได้เจอกับวิกตอเรีย ลูกอุปถัมภ์ผิวดำผู้น่าสงสารของฉัน ผู้ซึ่งเพิ่งรู้ข่าวในเช้านี้ว่าแม่อันเป็นที่รักของเธอได้จากไปแล้ว” ซึ่งหลังจากการเสียชีวิตของ Bonetta พระราชินีก็ยังมอบความเอ็นดูให้กับลูกอุปถัมภ์อย่างวิกตอเรียนเรื่อยมา ถึงขนาดที่ว่าเมื่อวิกตอเรียสอบดนตรีผ่าน พระองค์ก็ถึงกับเฉลิมฉลองด้วยการประกาศให้วันนั้นเป็นวันหยุดของเหล่านักเรียนและครูเลยทีเดียว
Victoria Gouramma
Victoria Gouramma เป็นพระธิดาของ Chikka Virarajendra เจ้าผู้ครองนครคูร์กแห่งอินเดีย ซึ่งถูกรุกรานและยึดครองโดยกองทัพอังกฤษในปี 1834 ซึ่งต่อมาในปี 1852 Virarajendra ก็ได้เดินทางไปยังอังกฤษเพื่อเข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรีย เพื่อขอให้พระองค์ทรงคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดไปกลับคืนมา
ในการเยือนราชสำนักอังกฤษในครั้งนั้น พระราชินีวิกตอเรียได้ให้การต้อนรับ Virarajendra อย่างสมเกียรติในฐานะสมาชิกของราชวงศ์พระองค์หนึ่ง จนทำให้ Virarajendra ยอมยกธิดาให้อยู่ในความดูแลของพระราชินีวิกตอเรีย และเมื่อเจ้าหญิงจากต่างแดนได้เข้าพิธีรับศีลจุ่มในเวลาต่อมา พระราชินีวิกตอเรียก็ทรงรับเจ้าหญิงไว้เป็นลูกในอุปถัมภ์ และพระราชทานนามใหม่ให้ว่า วิกตอเรีย
เมื่อถึงวัยที่จะเข้าพิธีสมรส พระราชินีวิกตอเรียก็ได้ขอให้นางสนองพระโอษฐ์ของพระองค์จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมมาให้เจ้าหญิงแห่งแดนภารตะ โดยตอนแรกเจ้าหญิงถูกจับคู่กับ ทุลีป สิงห์ (Duleep Singh) พระราชบุตรองค์สุดท้องของมหาราชารณชีต สิงห์ ซึ่งประทับและใช้ชีวิตอยู่ในกรุงลอนดอน แต่เจ้าชายสิงห์แสดงเจตจำนงค์ว่าต้องการจะแต่งงานกับผู้หญิงผิวขาวชาวอังกฤษ จนสุดท้ายเธอจึงได้แต่งงานกับ ผู้พัน John Campbell ที่มีอายุห่างจากเธอถึง 30 ปี
Gouramma เสียชีวิตในปี 1864 โดยบนหลุมศพของเธอนั้นปรากฏประติมากรรมหินอ่อนรูปของเธอซึ่งเป็นฝีมือของ Baron Marochetti ประติมากรชาวฝรั่งเศสชื่อดังของยุคด้วย
Prince Alemayehu
Dejazmatch Alemayehu Tewodros คือพระโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิ Tewodros II แห่งเอธิโอเปีย ผู้ซึ่งปลิดชีพตัวเองหลังจากพ่ายแพ้ต่อกองทัพอังกฤษในปี 1868 โดยก่อนจะสิ้นพระชนม์ พระองค์ได้สั่งเสียให้พระมเหสี Tiruwork Wube นำพระโอรสไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองของทางอังกฤษ เนื่องจากหวั่นเกรงว่าอาณาจักรใกล้เคียงจะมาทำร้ายทายาทของพระองค์ ด้วยเหตุนี้ จักรพรรดินีและพระโอรสจึงออกเดินทางร่วมกับกองทัพอังกฤษเพื่อจะนำตัวพระโอรสไปส่งที่ราชสำนักอังกฤษ โดยอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกัปตัน Tristram Speedy
อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระจักรพรรดินีกลับสิ้นพระชนม์ลงระหว่างทาง ทำให้เจ้าชาย Alemayehu กลายเป็นเด็กกำพร้า และต้องตกอยู่ภายใต้การดูแลของกัปตัน Speedy ที่ได้สั่งให้ผู้ติดตามชาวเอธิโอเปียนทั้งหมดกลับไปสู่แผ่นดินเกิด แล้วกัปตันกับเจ้าชายน้อยก็เดินทางสู่อังกฤษโดยลำพัง
Alemayehu ได้เข้าเฝ้าพระราชินีวิกตอเรียครั้งแรกที่พระตำหนัก Osborne House โดยพระองค์ก็ทรงสนพระราชหฤทัยในตัวเจ้าชายเป็นอย่างมาก และได้เป็นผู้อุปถัมภ์ด้านการศึกษาและการใช้ชีวิตของเจ้าชายมาโดยตลอด
ชีวิตของเจ้าชาย Alemayehu ต้องระหกระเหินร่อนเร่มาโดยตลอด พระองค์ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในอินเดียกับครอบครัวของ Speedy ก่อนที่จะย้ายไปเข้ารับการศึกษาในสถาบันต่าง ๆ ในอังกฤษที่ทางรัฐบาลอังกฤษเห็นว่าสมควร
ในช่วงสุดท้ายของชีวิต พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเตรียมทหาร Royal Military College แต่เข้าไปได้ไม่นานก็ต้องลาออกเนื่องจากปัญหาเรื่องความแตกต่างทางสีผิว จากนั้นพระองค์จึงย้ายไปอยู่กับ Cyril Ransome อาจารย์ที่พระองค์ทรงเคารพ ก่อนที่จะเสียชีวิตในอีก 6 สัปดาห์ต่อมาด้วยโรคเยื้อหุ้มปอดอักเสบ
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายจากเอธิโอเปียก็ทำให้พระราชินีทรงเศร้าพระทัยเป็นอย่างมาก โดยในบันทึกของพระองค์ได้กล่าวถึงการที่เจ้าชายทรงเป็นเด็กที่มีจิตใจงดงาม และความเศร้าจากการที่เจ้าชายต้องมาเสียชีวิตโดยไร้ครอบครัวเคียงข้าง นอกจากนี้พระองค์ยังทรงกล่าวถึงการที่เจ้าชายทรงรู้สึกถึงสายตาทุกคู่ที่จับจ้องพระองค์ในฐานะ ‘คนนอก’ ตลอดมา
อ้างอิง:
Theguardian
Pbs
English-heritage
Wikipedia-Victoria Gouramma
Wikipedia-Sara Forbes Bonetta
Wikipedia- Prince Alemayehu