กี่เพ้านี้มี ‘ความรัก’ ใช่ไหม? ชวนย้อนดูกี่เพ้าสะท้อนอารมณ์ของ William Chan ใน In the Mood for Love
In the Mood for Love (2000) ของผู้กำกับ หว่องกาไว เล่าเรื่องราวใจสลายของรักที่มาไม่ถูกเวลาระหว่างหญิงสาวกับชายหนุ่มที่อยู่ห้องในตึกเดียวกัน แต่ในการดำเนินเรื่องราวรักต้องห้ามที่เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศอึมครึมขมุกขมัวของเกาะฮ่องกงในปี 1962 นั้น ผู้กำกับหว่องไม่เพียงพึ่งพาการแสดงอันแสนจับใจของ จางม่านอวี้ กับ เหลียงเฉาเหว่ย เท่านั้น แต่ตัวละครหลักอีกตัวในเรื่องนี้ก็คือคอสตูมชุดกี่เพ้า ที่นอกจากจะกลายเป็นภาพจำเมื่อคนนึกถึง In the Mood for Love มันยังทำหน้าที่สะท้อนอารมณ์ความรู้สึก รัก เศร้า เหงา หลง ของตัวละครในเรื่องด้วย
หากหว่องกาไวเป็นผู้สร้างเรื่องราวใน In the Mood for Love ผ่านไอเดียที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรในบทหนัง วิลเลียม ชาง (William Chang) ก็คือผู้ที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดไอเดียในหัวของหว่องให้ออกมาเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ผ่านงานโปรดักชั่นดีไซน์และการออกแบบเสื้อผ้าอาภรณ์ของตัวละครในเรื่อง ซึ่งด้วยความที่งานออกแบบวิชวลทั้งหมดอยู่ในมือของชาง ทุกสิ่งอย่างที่ปรากฏในแต่ละฉากต่าง ๆ ของ In the Mood for Love จึงทำหน้าที่ช่วยกันบอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนอารมณ์ของตัวละครในเรื่องได้อย่างสอดคล้องงดงาม
ด้วยการใช้สีส้มและสีแดงโทนอุ่นเป็นสีหลักของเรื่อง เพื่อสะท้อนถึงอารมณ์ปรารถนาของสองหนุ่มสาว ยิ่งเรื่องราวดำเนินไปเรื่อย ๆ สีโทนอุ่นร้อนที่สะท้อนอารมณ์โหยหาลึกซึ้งของสองหนุ่มสาวก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น และในช่วงเวลานั้นเองที่สีสันของเสื้อผ้าที่ตัวละครสวมใส่ได้เข้ามาทำหน้าที่เติมความหมายและขับเน้นอารมณ์อันซับซ้อนของตัวละคร กี่เพ้าสีโทนอ่อนทั้งสีเขียวและฟ้าหม่นที่คุณนายเฉินสวมใส่ สื่อความนัยน์ถึงอารมณ์อันหม่นหมองและความโศกเศร้าจากความรักที่ไม่อาจเป็นไปได้ จนกระทั่งในตอนท้าย ๆ ของเรื่อง โทนแสงสีส้มอุ่นและสีโทนเย็นบนเสื้อผ้าของตัวละครก็ยิ่งขับเน้นกันเห็นได้ชัด สะท้อนถึงความปรารถนาที่ทะยานโชติช่วงในจิตใจ… เช่นเดียวกับความเศร้าจากการตระหนักได้ว่าความรักครั้งนี้ใกล้เดินทางมาถึงจุดสิ้นสุดเต็มที
ในการสร้างสรรค์ตัวละครสำคัญอีกตัวหนึ่งของเรื่องอย่างกี่เพ้า ชางได้ออกแบบชุดกี่เพ้าออกมาเกือบ 50 ชุด เพื่อที่จะใช้ในหนังเรื่องนี้เรื่องเดียว จนสุดท้ายแล้วก็คัดเลือกเหลือเพียง 30 ชุดที่ได้ตัดออกมาจริง ๆ โดยแรงบันดาลใจของชางและหว่องก็มาจากการดูภาพถ่ายของหญิงสาวฮ่องกงในยุคนั้น ที่ต่างใส่กี่เพ้าในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะอยู่บ้าน ไปทำงาน หรือออกไปเที่ยวข้างนอก
ในประวัติศาสตร์ กี่เพ้าเป็นเครื่องแต่งกายที่สืบทอดมาจากชุดคลุมของผู้หญิงแมนจูชั้นสูง ในยุคที่แมนจูปกครองจีนในช่วงราชวงศ์ชิง (1644 - 1912) อย่างไรก็ตาม ชุดกี่เพ้าที่ในแบบที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้เพิ่งมาปรากฏในช่วงยุค 1920s - 1930s เท่านั้น โดยแตกต่างจากแบบดั้งเดิมในแง่ที่ว่าชายกระโปรงถูกทำให้สั้นลง และถูกออกแบบให้มีความรัดรูปมากขึ้น ทรงกี่เพ้ารูปแบบนี้ก็มาจากความเฟื่องฟูของบรรยากาศความบันเทิงยามค่ำคืนในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งสาว ๆ ชาวจีนในยุคนั้นก็นิยมใส่ชุดกี่เพ้ารัดรูปที่ดูหรูหราแบบนี้ออกไปเต้นรำตามคลับต่าง ๆ จนสุดท้ายความนิยมในกี่เพ้าสไตล์นี้ก็หลั่งไหลเข้ามาในฮ่องกงตามบรรดาช่างตัดเสื้อจากจีนที่อพยพย้ายไปตั้งถิ่นฐานบนเกาะแห่งนี้ และสุดท้ายชุดกี่เพ้าก็กลายมาเป็นเครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของหญิงสาวในยุคนั้นในที่สุด
ใน In the Mood for Love นอกจากสีสันที่ช่วยขับเน้นและสะท้อนอารมณ์ของตัวละคร หว่องและชางยังสนใจในคัดติ้งของกี่เพ้าที่เน้นรูปร่างและสะท้อนความเป็นหญิงของอิสตรี ซึ่งก็สอดคล้องกับกลิ่นอายความเย้ายวนและการนำเสนออารมณ์รักและความปรารถนาทางเพศที่เป็นแก่นของเรื่อง กี่เพ้าใน In the Mood for Love จึงยังสะท้อนความเป็นหญิงของคุณนายเฉินด้วยการประดับประดาด้วยลวดลายดอกไม้ นอกจากนี้ ผ้าไหมและผ้าลูกไม้ที่อยู่บนชุดก็ช่วยขับเน้นความละมุนและความละเอียดอ่อนอันเป็นอารมณ์ของหญิงสาวในห้วงรักด้วย
อ้างอิง:
CNN
Inkmagazinevcu