สำรวจที่มาของ ‘สีฟ้า’ ประจำตระกูลในซีรีส์ Bridgerton สีฟ้า ‘Wedgwood Blue’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องเซรามิกยุค Regency ที่ซ่อนอยู่ในฉากต่าง ๆ ของซีรีส์

สำรวจที่มาของ ‘สีฟ้า’ ประจำตระกูลในซีรีส์ Bridgerton สีฟ้า ‘Wedgwood Blue’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องเซรามิกยุค Regency ที่ซ่อนอยู่ในฉากต่าง ๆ ของซีรีส์

สำรวจที่มาของ ‘สีฟ้า’ ประจำตระกูลในซีรีส์ Bridgerton

วินาทีนี้คงไม่มีอะไรร้อนฉ่า ฮอต แซ่บ ไปกว่าซีรีส์ (และพระเอก…) ที่สำรวจเรื่องรักพัลวันของเหล่าเลดี้และลอร์ดจากสังคมชั้นสูงในศตวรรษที่ 18 อย่าง Bridgerton ซึ่งแม้ว่าจะเพิ่งลง Netflix ไปเมื่อเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา แต่ก็กำลังเก็บชั่วโมงบิน ไต่ชาร์ตขึ้นมาอยู่ในท็อป 10 ของซีรีส์ Netflix ที่มียอดวิวสูงสุด (ตัวเลขปัจจุบันคือผู้ชม 63 ล้านครัวเรือนทั่วโลก หลังจากลง Netflix ได้แค่ 28 วัน)

ปรากฏการณ์ความฮิตของซีรีส์ที่สร้างมาจากนวนิยายโรแมนซ์ขายดีของ จูเลีย ควินน์ ตัวแม่แห่งวงการนิยายโรแมนซ์ย้อนยุคเรื่องนี้ ก็มาจากเรื่องราวความรักโรแมนติกกระหว่าง เลดี้ดาฟเน่ แห่งตระกูลบริดเกอร์ตัน กับดยุคหนุ่มสุดหล่อ รวมไปถึงความแซ่บร้อนฉ่าของฉากเซอร์วิส และการพาผู้ชมไปสำรวจสภาพสังคมและวัฒนธรรมอังกฤษในช่วงปี 1813-1827 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 ซึ่งในเรื่องก็มีการปรากฏตัวของ สมเด็จพระราชินีชาร์ล็อทเทอร์ ผู้เป็นแม่งานในการจัดงานเดบูต็อง หรืองานเปิดตัวหญิงสาวจากครอบครัวขุนนางผู้ดีสู่แวดวงสังคม ซึ่งเป็นฉากไฮไลท์ของซีรีส์เรื่องนี้ด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นที่แซ่ซ้องกล่าวถึง ก็คืองานโปรดักชั่น ทั้งฉาก สถานที่ และของประกอบฉากทุกสิ่งอย่าง ที่ราวกับหลุดมาจากภาพวาดของยุคนั้น โดยเรื่องนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับ วิลล์ ฮิวจ์ส-โจนส์ (Will Hughes-Jones) โปรดักชั่นดีไซเนอร์ของซีรีส์ที่อยู่เบื้องหลังการเนรมิตรโลกของลอนดอนในยุคต้นศตวรรษที่ 19 และหนึ่งในเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ฮิวจ์ส-โจนส์และทีมประสบความสำเร็จในการนำเสนอฉากหลังที่ดูงดงามราวกับฝันนี้ก็คือการคุม ‘ธีม’ ของทุกสิ่งที่จะปรากฏในซีรีส์ไว้ใต้โทนสีหนึ่งเดียว นั่นก็คือสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำตระกูลบริดเกอร์ตัน และฮิวจ์ส-โจนส์ก็แอบหยอดสีนี้ไว้ในแทบทุกฉากที่สมาชิกตระกูลบริดเกอร์ตันปรากฏตัว โดยเฉพาะในฉากที่เป็นบ้านของครอบครัว

โดยสีฟ้าที่ฮิวจ์ส-โจนส์เลือกมาใช้นั้นก็เป็นเฉดสีฟ้าที่ถูกเลือกสรรค์มาอย่างตั้งใจ นั่นก็คือสีฟ้าโทนอ่อนซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากสีสันของเซรามิกแบรนด์ดังของสหราชอาณาจักร นั่นก็คือ สีฟ้าของเซรามิกตรา Wedgwood ซึ่งฮิวจ์ส-โจนส์ไม่เพียงแค่หยิบสีฟ้าเฉดนี้มาหยดลงในฉาก แต่เขายังตั้งใจที่จะทำให้ภาพของคฤหาสน์บริดเกอร์ตันที่ผู้ชมจะได้เห็น เป็นเหมือนกับการก้าวเข้าไปในสำรวจภายในเครื่องเซรามิก Wedgwood เลยทีเดียว!

“บ้านบริดเกอร์ตันสำหรับผมเป็นเหมือนกับการที่เราได้ก้าวเข้าไปข้างในเครื่องเซรามิกของ Wedgwood สักชิ้น เป็นการเดินเข้าไปในสีฟ้าอ่อนโทนสวยและสีครีมที่ใช้ประดับตกแต่งมากมาย”

สีฟ้า Wedgwood จึงเป็นอีกตัวละครหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ ในเรื่อง และก็ปรากฏอยู่ในห้องของสมาชิกบ้านบริดเกอร์ตันทุกคน รวมถึงยังมีเซรามิก Wedgwood บางชิ้นที่ถูกนำมาประกอบฉากจริง ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น โต๊ะเครื่องแป้งของดาฟเน่ หรือในห้องของ เอโลอีส น้องน้อยของบ้านบริดเกอร์ตัน

แล้วสีฟ้า Wedgwood มีที่มาอย่างไร ก่อนที่จะกลายมาเป็นสีสันในโลกของซีรีส์ Bridgerton?

GroundControl จะพาย้อนกลับไปสำรวจกัน!

Josiah Wedgwood

ในการที่จะพูดถึงเครื่องกระเบื้องแบรนด์ Wedgwood ก็ย่อมต้องพูดถึง โจเซียห์ เวดจ์วูด (Josiah Wedgwood) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Wedgwood ที่เปลี่ยนเครื่องถ้วยชามที่ใช้ในชีวิตประจำวันให้เป็นงานศิลปะ โดยตลอดชีวิตของเวดจ์วูด เขาได้ผลิตเครื่องเซรามิกที่ทำให้นักสะสมต้องดั้นด้นตามหา 3 คอลเลกชั่นด้วยกัน คือ Queen’s Ware, Black Basalt และ Jasperware ซึ่งคอลเลกชั่นแรกนั้นเป็นที่โปรดปรานในสมเด็จพระราชินีชาร์ล็อทเทอร์เป็นอย่างมาก และทรงได้แต่งตั้งเวดจ์วูดให้เป็นช่างปั้นเครื่องถ้วยชามประจำพระองค์ด้วย อีกหนึ่งแฟนพันธุ์แท้ของเวดจ์วูดก็คือ จักพรรรดินีแคเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย ผู้มีเครื่องชามคอลเลกชั่น Queen’s Ware ของเวดจ์วูดไว้ในครอบครองถึง 925 ชิ้น

โจเซียห์ เวดจ์วูด เกิดในครอบครัวช่างปั้นหม้อ และเติบโตมาด้วยการเรียนรู้ศิลปะการปั้นถ้วยชามกับพี่ชาย แต่เมื่อเขาเป็นโรคฝีดาษ พี่ชายของเขาก็ปฏิเสธที่จะให้เขาเป็นหุ้นส่วนกิจการของครอบครัว ด้วยเหตุนี้ เวดจ์วูดจึงออกไปเริ่มต้นกิจการของตัวเองใหม่ ที่ซึ่งเขาได้ทดลองเทคนิคการสร้างสรรค์ใหม่ ๆ นอกขนบมากมาย และหนึ่งในผลลัพธ์ความสำเร็จของการทดลองในยุคนั้นก็คือ เครื่องปั้นเนื้อสีครีม (Creamware) ที่เกิดจากการเคลือบเครื่องปั้นเนื้อดินด้วยกรรมวิธีพิเศษ ที่ทำให้ได้เครื่องชามเนื้อสีครีมโทนอ่อนกว่า และมีน้ำหนักเบากว่าที่วางขายทั่วไปในยุคนั้น ซึ่งในกาลต่อมา เครื่องปั้นเนื้อสีครีมนี้จะเป็นหัวใจหลักของเครื่องกระเบื้องแบรนด์ Wedgewood 

เวดจ์วูดได้นำเครื่องชามกระเบื้องเนื้อครีมละเอียดนี้ถวายต่อพระราชินีชาร์ล็อทเทอร์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงโปรดปรานเป็นอย่างมาก และพระราชทานอนุญาตให้เวดจ์วูดตั้งชื่อคอลเลกชั่นเครื่องเคลือบเนื้อครีมนี้ว่า Queen’s Ware 

เครื่องถ้วยชามคอลเลกชั่น Queen’s Ware ได้รับความนิยามอย่างสูง และขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ไล่ไปตั้งแต่ยุโรปจนถึงอเมริกา จนกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ ‘เครื่องกระเบื้องแบบอังกฤษ’ ในช่วงนี้เองที่เครื่องกระเบื้องเนื้อครีมของเวดจ์วูดกลายเป็นต้นแบบให้โรงงานเซรามิกอื่น ๆ ทั่วยุโรปทำตาม โดยมีโรงงานที่ทำเครื่องเซรามิกในแบบ ‘เวดจ์วูดสไตล์’ อยู่ที่ฝรั่งเศสและอิตาลี

Wedgwood Blue

เอกลักษณ์เด่นของเครื่องเซรามิกแบรนด์ Wedgwood ก็ต้องเป็นคอลเลกชั่น Jasperware ซึ่งเป็นเครื่องถ้วยชามเซรามิกผิวด้านที่กรรมวิธีการผลิตและสูตรยังคงถูกเก็บเป็นความลับจนถึงทุกวันนี้ แต่หนึ่งในส่วนผสมหลักที่แน่นอนของ Jasperware ก็คือแร่แจสเปอร์ซึ่งเป็นที่มาของชื่อคอลเลกชั่น

Jasperware เป็นเครื่องถ้วยชามที่มีลักษณะพิเศษคือผิวด้านแมตเพราะไม่ผ่านการเคลือบเงาอันเป็นกรรมวิธีสุดท้ายของการทำเครื่องเซรามิกทั่วไป ส่วนสีของเครื่องถ้วยก็มาจากปฏิกิริยาออกไซด์ของธาตุเคมี โดยเครื่องเซรามิก Jasperware ก็ประกอบด้วยหลากหลายสีสัน ไม่ว่าจะเป็นสีเขียว Sage (ชื่อสีเขียวเฉพาะของเซรามิก Wedgwood) ที่เกิดจากปฏิกิริยาออกไซด์ของโครเมียม, สีม่วงไลแลกที่เกิดจากแมงกานีส, สีเหลืองที่มาจากพลวง, สีดำที่มาจากธาตุเหล็ก และที่เป็นที่ขึ้นชื่อและเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ ก็คือสีน้ำเงิน หรือ Wedgwood Blue ที่ได้จากโคบอลต์

แม้ว่าสี Wedgwood Blue จะเป็นสีที่นิยมที่สุดของเครื่องเซรามิกแบรนด์ Wedgwood แต่ว่ากันว่าสีที่ ‘แรร์’ ที่สุดและเป็นที่ต้องการในตลาดนักสะสมที่สุดก็คือสีเหลืองนั่นเอง 

 

Greek Motif 

ลักษณะโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เครื่องกระเบื้อง Wedgwood ได้รับความนิยมอย่างสูงในยุคนั้น ก็คือการที่เวดจ์วูดดึงสไตล์ศิลปะ Neo-Classicism ที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากบรรดาเครื่องปั้นและปูนปั้นประดับจากศิลปะยุคโรมันมาไว้ในผลงานเครื่องเซรามิกของเขา ซึ่งการดึงองค์ประกอบของศิลปะคลาสสิกเข้ามาใช้ในการสร้างเครื่องใช้ประจำวันอย่างถ้วยชาม ก็ทำให้เวดจ์วูดได้รับการยกย่องในฐานะผู้ที่ยกระดับข้าวของเครื่องในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นงานศิลปะได้ 

ลวดลายประดับที่มักเห็นได้จนชินตาในเครื่องเซรามิก Wedgewood ก็คือบรรดาลวดลายพรรณพฤกษา และรูปเทพยดากรีกต่าง ๆ โดนเวดจ์วูดก็ให้ความสำคัญกับลายประดับเหล่านี้มาก ถึงขนาดที่ในช่วง 1778-1794 เขาได้ไปตั้งสตูดิโอในกรุงโรม ประเทศอิตาลี และรวบรวมศิลปินสไตล์นีโอคลาสสิกรุ่นเยาว์มาช่วยกันออกแบบลายประดับที่จะอยู่บนเครื่องปั้น แล้วจึงส่งไปผลิตที่โรงงานในอังกฤษ

อ้างอิง: 
Filmandfurniture
Discoverbritainmag
Wikipedia - Wedgwood
Wikipedia - Jasperware