Hieronymus Bosch ศิลปินผู้นำเสนอไอเดียสุดเหวอที่มาก่อนยุค

Hieronymus Bosch ศิลปินผู้นำเสนอไอเดียสุดเหวอที่มาก่อนยุค

Hieronymus Bosch ศิลปินผู้นำเสนอไอเดียสุดเหวอที่มาก่อนยุค

หอยทากที่เดินด้วยขาของมนุษย์, ปลาที่มีแขนมนุษย์ยื่นออกมาทั้งสองข้าง มนุษย์ที่มีหัวเป็นนก, มนุษย์ที่ล่องลอยผ่านหน้าผู้ชมไปในเรือผลทับทิม, มนุษย์ที่กำลังถูกหมาแทะกิน… มนุษย์ที่กำลังถูกเหล็กเสียบปิ้งเป็นเมนูเคบับ...

เหล่านี้คือบรรดาสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘คน’ ที่พบอยู่บนผลงานของศิลปินชาวดัตช์ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 15 และใช้ชื่อในการทำงานว่า Hieronymus Bosch ผู้ซึ่งได้รับการยกย่อให้เป็นศิลปินที่นำเสนอไอเดีย (หลอน) ล้ำสุดเหวอที่มาก่อนยุค จนทำให้บรรดาผลงานนำเสนอภาพฝันร้ายบนดินอันเป็นผลพวงจากบาป ได้ส่งแรงบันดาลใจและอิทธิพลให้เหล่าศิลปินเหนือจริง (Surrealism) ในอีก 5 ศตวรรษต่อมา จนทำให้เขาได้ชื่อว่าเป็นบรรพบุรุษของศิลปะเหนือจริง หรือเป็นศิลปินเหนือจริงที่มาก่อนกาล (Proto-Surrealism) ซึ่งแม้กระทั่งในปัจจุบัน เราก็ยังสามารถเห็นผลงานของ Bosch ปรากฏในหนัง แฟชั่น และสื่อต่าง ๆ อีกมากมาย

แม้ว่า Hieronymus Bosch หรือที่มีชื่อจริงว่า Jheronimus van Aken จะเป็นมาสเตอร์คนสำคัญแห่งยุคแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการในกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ (Renaissance in the Low Countries ประกอบด้วย เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ และบางส่วนของฝรั่งเศส) แต่เรื่องราวหรือประวัติของเขากลับแทบไม่เหลือร่องรอยให้สืบหาต่อ เขาจากโลกนี้ไปโดยไม่เหลือบันทึกหรือเรื่องราวใดที่เล่าขานชีวิตของเขาดังเช่นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน

เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขาที่พอจะสืบความได้ ที่แม้กระทั่งวันเกิดของเขาก็ไม่ปรากฏ มีแต่เพียงการคาดคะเนจากภาพวาดตัวเองของเขาที่วาดในช่วงปีท้าย ๆ ของชีวิต ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าตอนนั้นเขาน่าจะอายุประมาณ 60 ปี และทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานต่อได้ว่า เขาน่าจะเกิดเมื่อปี 1450 และ เกิดในครอบครัวที่มีปู่เป็นจิตรกร และพ่อกับลุงก็เป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะให้กับคริสต์จักร เขาจึงเติบโตขึ้นมาด้วยการฝึกฝันทักษะด้านศิลปะและเรียนรู้ด้านความเชื่อและศาสนาจากบรรดาสมาชิกในครอบครัวของเขา

การเติบโตขึ้นมาในเมือง 's-Hertogenbosch ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองที่คึกคักที่สุดของเนเธอร์แลนด์ในยุคนั้นก็ส่งแรงอิทธิพลต่อ Hieronymus Bosch อย่างมาก ไม่เพียงผู้คนเท่านั้นที่แน่นขนัดในเมืองนี้ แต่บรรยากาศความศรัทธาต่อศาสนาคริสต์ในเมืองแห่งนี้ก็เข้มข้นอย่างมาก ว่ากันว่าหากเราเดินบนถนนของเมืองในยุคนั้น ทุก 6 คนที่ผ่านไปจะต้องมี 1 คนที่เป็นสมาชิกผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคริสตจักร ซึ่งก็ทำให้ความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองนี้ดำเนินไปอย่างเคร่งครัด สำรวม และมีกฎระเบียบ ถึงขนาดที่การส่งยิ้มให้กับคนแปลกหน้าบนถนนนั้นถือเป็นบาปร้ายแรงถึงขั้นตกนรกเลยทีเดียว

ด้วยความที่เติบโตมาท่ามกลางสังคมที่ยึดถือและเชื่อมั่นในคำสอนของพระเจ้าอย่างแรงกล้า จึงไม่แปลกที่ผลงานของ Hieronymus Bosch แทบทั้งหมดจะเป็นงานศิลปะที่สะท้อนความเชื่อทางศาสนา อย่างไรก็ตาม ผลงานของ Hieronymus Bosch ก็แตกต่างกับศิลปะเพื่อศาสนาที่ประดับอยู่บนกำแพงในโบสถ์ของอิตาลีอย่างสุดขั้ว เพราะในขณะที่ผลงานของเพื่อร่วมยุคอย่าง Leonado Da Vinci นำเสนอภาพของมนุษย์ผู้มีปัญญาที่เป็นดังร่างทรงของพระเจ้า ภาพวาดในทางศาสนาของ Hieronymus Bosch กลับนำเสนอมนุษย์ตัณหาหนักที่ถูกลงโทษในนรกโลกันต์อย่างน่าสะพรึงกลัว

ภาพวาดที่นำเสนอความเชื่อทางศาสนาของ Hieronymus Bosch มักสะท้อนถึงความกังวลของมนุษย์ที่หวาดกลัวต่อการลงทัณฑ์ในวันพิพากษา เขาหลงใหลในภาพจินตนาการเกี่ยวกับบาปและความเลวทรามที่อยู่ในก้นบึ้งจิตใจของมนุษย์ และถ่ายทอดออกมาเป็นโลกสุดหลอนที่ความดีกับความชั่วต้องห้ำหั่นกัน โดยหากเราซูมเข้าไปในโลกแห่งจินตนาการแห่งฝันร้ายและนรกภูมิของ Hieronymus Bosch เราก็จะเห็นเหล่ามนุษย์ประหลาดและสิ่งมีชีวิตชวนเหวอมากมาย ซึ่งเหล่าบรรดาสิ่งมีชีวิตที่วนเวียนอยู่ในสวนนรกและสวรรค์ของ Hieronymus Bosch นั้นล้วนแล้วแต่ถูกถอดมาจากคำอธิบายและตำนานเรื่องเล่าถึงสัตว์นรกและการลงทัณฑ์ที่ปรากฏในศาสนาคริสต์ออร์ธอดอกซ์

ด้วยความที่เรื่องราวของศิลปินชาวดัตช์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงสมัยแห่งการฟื้นฟูศิลปวิทยาการไม่มีปรากฏให้ได้เล่าขานมากมายนัก และเนื่องจากตัวตนของ Hieronymus Bosch ปรากฏชัดแจ่มแจ้งที่สุดในจินตนาการของเขาที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาพวาดคนบาปที่หลงเหลือมาให้โลกได้ชมเพียง 24 ภาพเท่านั้น คอลัมน์ The Art of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ GroundControl จึงจะขอพาทุกคนลงนรกขึ้นสวรรคฺ์ไปตามหัวตัวตนและความคิดของศิลปินที่ใช้ชื่อว่า Hieronymus Bosch ผ่านภาพวาดบางส่วนของเขาด้วยกัน

ถ้าพร้อมจะไปลงนรกกับเราแล้ว… ก็ไปดูกันเลย!

The Garden of Earthly Delights, 1490-1500

แม้ว่าภาพที่ถูกวาดลงบนบานพับเป็น 3 ตอน 3 ฉากนี้จะวาดขึ้นในช่วงปี 1400 - 1500 แต่มันกลับได้รับการกล่าวถึงครั้งแรกในปี 1517 โดยนักบันทึกพงศาวดารชาวอิตาเลียน Antonio de Beatis ซึ่งได้เห็นผลงานชิ้นนี้ที่ปราสาทในกรุงบรัสเซลส์

ตั้งแต่วันแรกที่ผลงานสวนสวรรค์แห่งฝันร้ายภาพนี้ถูกค้นพบ มันก็ไม่เคยหยุดสร้างข้อถกเถียงทั้งในหมู่ผู้ชื่นชมงานศิลปะและเหล่านักประวัติศาสตร์ศิลป์มาจนถึงปัจจุบัน นี่คือภาพที่มีสิ่งมีชีวิตที่เราได้แต่อุทานว่า ‘อีหยังวะ’ ออกมาเดินเพ่นพ่านเต็มงาน โดยที่ทั้งผู้ชมและนักประวัติศาสตร์นักวิเคราะห์ศิลปะก็ไม่สามารถฟันธงได้เลยว่า สารที่ Hieronymus Bosch ต้องการจะส่งถึงผู้ชมนั้นคืออะไรกันแน่ เพราะเนื่องด้วยประวัติที่และเรื่องราวชีวิตที่เหลือให้เรียนรู้เพียงน้อยนิดของผู้สร้าง จึงไม่มีใครสามารถแม้แต่คาดเดาได้เลยว่า ตอนที่ Hieronymus Bosch วาดภาพชิ้นนี้ เขากำลังคิดอะไรอยู่กันแน่?!

แต่สิ่งที่ปรากฏแน่ชัดก็คือ ผลงานบานพับพาบ 3 ฉากที่ด้านนอกเป็นภาพลูกโลกขนาดใหญ่ และเมื่อเปิดออกมาจะแบ่งเป็น 3 ฉาก ซ้าย ขวา และตรงกลางชิ้นนี้คืออีกหนึ่งมาสเตอร์พีซที่นำเสนอจินตนาการของของ Hieronymus Bosch ที่มีต่อตำนานเรื่องการสร้างโลกของพระเจ้า

เริ่มตั้งแต่ด้านนอกของตัวบานพับที่เป็นรูปลูกโลก ภาพนี้สะท้อนโลกที่อยู่ในช่วงกระบวนการสร้างโดยพระเจ้า ซึ่งหากนับตามความเชื่อเรื่องการที่พระเจ้าทรงสร้างโลกใน 7 วัน โลกที่ปรากฏอยู่ด้านนอกบานพับในภาพนี้ก็น่าจะอยู่ในช่วงของวันที่ 3 อันเป็นช่วงเวลาที่พระเจ้าทรงสร้างสรรค์พืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ลงไปแล้ว แต่ยังไม่ปรากฏร่องรอยของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นทั้งคนและสัตว์

เมื่อเปิดบานพับออกมา จะพบกับ 3 ฉากที่เป็นเรื่องราวไล่เรียงกันจากซ้ายไปขวา โดยทางด้านซ้ายเป็นฉากที่ Adam และ Eve ได้มาพบกันในสวนแห่งสวรรค์โดยการนำของพระผู้เป็นเจ้าที่นำ Eve มาสู่ Adam ความน่าสนใจของฉากนี้ที่ทำให้นักวิเคราะห์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะตีความกันได้ไม่จบสิ้นก็คือสีหน้าของทั้ง Adam และ Eve โดยเฉพาะสีหน้าของ Eve ที่แสดงให้เห็นถึงการยั่วยวนขณะนำเสนอร่างกายของเธอต่อ Adam ในขณะที่สีหน้าของ Adam ก็ดูประหลาดใจคละเคล้ากับตื่นเต้น อันเป็นสัญญาณของบาปที่เรียหว่า ‘ตัณหาราคะ’ ที่จะนำมาสู่หายนะของมนุษย์ตลอดกาล ซึ่งการนำเสนอภาพชั่วขณะแรกพบที่เต็มไปด้วยความปรารถนาทางเพศระหว่าง Adam กับ Eve นี้ก็คือการนำเสนอว่า มนุษยชาตินั้นถูกสาปให้มีความ ‘ฉิบหาย’ มาตั้งแต่ในปฐมบทแรกเริ่มของมนุษย์ ซึ่งการตีความเช่นนี้ก็เป็นอะไรที่ใหม่ล้ำและแตกต่างไปจากการตีความพระคัมภีร์ของศิลปินหรือนักบวชทั่วไป เพราะส่วนใหญ่แล้วจะเชื่อว่าบาปของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นเมื่อ Eve กินผลแอปเปิลต้องห้าม แต่ในที่นี้ Hieronymus Bosch ตีความว่ามนุษย์มีบาปติดตัวตั้งแต่ครั้งแรกที่ Adam กับ Eve พบกันแล้ว

จากเค้าลางของบาปที่ปรากฏในภาพแรก มาสู่ฉากต่อไปที่อยู่ตรงกลางซึ่งนำเสนอภาพของสวนศรีแห่งสวรรค์ที่ดูงดงามกระจ่างตาด้วยการใช้สีชมพูและฟ้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ภาพฉากตรงกลางที่เป็นดังไคลแม็กซ์ของเรื่องนี้ก็เป็นการต่อยอดเรื่องราวจากปฐมบาปของมนุษย์ที่เกิดจาก Adam และ Eve ในภาพทางซ้าย ในฉากนี้ สวนศรีที่ดูงดงามกลับเต็มไปด้วยสัญญะแห่งบาปตัณหาราคะที่วิ่งว่อนไปทั่วภาพ

ในภาพนี้ ผู้ชมจะเห็นรูปรอยของสิ่งมหัศจรรย์สุดเซอร์เรียลมากมายที่กำลังกระทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมิได้สนใจในสภาพเปลือยเปล่าของตนเอง แต่ทุกองค์ประกอบล้วนมีจุดร่วมกันในการทำหน้าที่เป็นสัญญะที่ตีแผ่บาปต่าง ๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะความปรารถนาทางเพศอันดิบเถื่อน โดยส่วนใหญ่ถูกนำเสนอผ่านกิจกรรมการกินและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับผัสสะของมนุษย์ ตัวอย่างเช่น กลุ่มหญิงสาวเปลือยกายที่อยู่ตรงกลางของภาพ โดยที่หนึ่งในหญิงสาวมีผลเชอร์รี่อยู่บนศีรษะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ะของความหยิ่งยะโส ในขณะที่ทางขวามือของเธอ ผู้ชายคนหนึ่งกำลังดื่มน้ำอย่างกระหายและดูตะกละตะกลาม และด้านหลังของพวกเธอก็ปรากฏภาพของคนที่อยู่ในเปลือกหอยแมลงภู่ขนาดใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าหอยนั้นก็คือสัญลักษณ์ทางเพศ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ สิ่งที่ภาพองค์ 2 นำเสนอก็คือฉากหน้าอันงดงามของบาปแห่งตัณหาราคะ และความเพลิดเพลินใจที่ได้กระทำบาปต่าง ๆ ซึ่งในที่สุดแล้ว ภาพนี้จะเป็นภาพที่เชื่อมเรื่องราวกับภาพทั้งซ้ายและขวา ในขณะที่ด้านซ้ายเป็นภาพเค้าลางของหายนะของมนุษย์จากบาปแรกพบของ Adam กับ Eve ภาพตรงกลางนี้ก็เป็นการขยายความของบาปนั้นด้วยการนำเสนอภาพเหล่ามนุษย์ที่กำลังรื่นรมย์กับบาป อันจะนำมาสู่ภาพสุดท้ายทางด้านขวา… ที่เป็นชะตากรรมของมนุษย์ผู้เอ็นจอยกับบาปทั้งหลาย

หลังจากการเริงรื่นกับตัณหาราคะอย่างสุดสวิงริงโก้ ชะตากรรมของมนุษย์ก็มาสู่บทสุดท้ายในภาพขวามือของบานพับ ซึ่งเป็นฉากที่นำเสนอนรกภูมิสำหรับเหล่าผูรื่นรมย์กับบาป ในภาพนี้ Bosch นำเสนอฉากที่มีโทนแตกต่างไปจากบรรยากาศความรื่นรมย์ของสองภาพก่อนหน้าโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ภาพก่อนหน้านี้นำเสนอฉากในเวลากลางวัน ในบทสุดท้ายของมนุษย์ในภาพนี้ ความมืดของราตรีเข้าครอบงำมนุษย์ไปตลอดกาล ความงดงามของธรรมชาติพืชพันธุ์ไม้ที่เห็นได้ในสองภาพแรกอันตรธานหายไป เหลือเพียงเหล่ามนุษย์บาปหน้าและเหล่าสัตว์ที่ต้องอยู่เผชิญชะตากรรมในภาพนี้

ท่ามกลางฉากหลังที่เป็นภาพของเมืองซึ่งกำลังพังพินาศด้วยสงครามและการรุกรานจากเหล่าปีศาจร้าย คนกับมนุษย์ได้สลับบทบาทกัน และเป็นมนุษย์ที่ต้องรับการลงทัณฑ์พิพากษาจากเหล่าสัตว์ที่ได้เวลาเอาคืน ซึ่งมนุษย์ในภาพนี้ก็อยู่ในสภาพเปลือยกายไม่ต่างจากภาพตรงกลาง เพียงแต่คราวนี้ความรื่นรมย์ในการเปลือยได้อันตรธานหายไป ไม่มีอะไรที่ดูยั่วเร้าความกระสันต์อีกแล้ว และเหล่ามนุษย์ที่เปลือยกันอย่างสุขสมในภาพที่แล้วก็กลับพยายามปกปิดสภาพเปลือยเปล่าของตัวเองในภาพนี้ เป็นการตอกย้ำสภาพการร่วงหล่นจากความดีงามหรือ Fall From Grace ได้อย่างชัดเจน

จุดน่าสนใจในภาพนี้อยู่ที่สิ่งที่เรียกกันว่า The Tree Man ซึ่งมีร่างกายเป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีท่อนไม้ที่กำลังเฉาตายคอยรองรับน้ำหนัก บนหัวของเขามีแผ่นจานที่รองรับปี่ชุด โดยมีเหล่าผู้บาปหนาถูกล่ามจูงให้เดินไปรอบ ๆ ด้วยความที่ปี่นั้นก็ส่อถึงสัญญะของเรื่องเพศ เหล่ามนุษย์ที่ถูกบังคับให้เดินวนรอบปี่จึงเป็นดังการลงทัณฑ์จากบาปตัณหาของตน

ความน่าสยองของจุดโฟกัสของภาพจุดนี้ก็คือการที่มนุษย์ต้นไม้หันมาสบตาและยิ้มอย่างมีเลศนัยให้ผู้ชม สีหน้าของเขาบ่งบอกถึงความเศร้าและการปลงต่อโลก โดยนักวิเคราะห์ศิลปะหลายคนก็มองว่า แท้จริงแล้ว The Tree Man ก็คือภาพวาดใบหน้าของตัวศิลปินเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการใส่ลายเซ็นของตัวเองลงไปในภาพแล้ว ยังเป็นการหันมาบอกกับผู้ชมว่า ‘ยินดีต้อนรับสู่นรกภูมิในแบบของ Hieronymus Bosch’

The Last Judgment Triptych (1500s)

อีกหนึ่งผลงานบานพับภาพชิ้นสำคัญของ Bosch ที่นำเสนอภาพวันพิพากษาตรงตัวตามชื่อภาพ แต่แม้ว่าคอนเซปต์เรื่องวันวิพากษาจะปรากฏในผลงานของศิลปินมากมาย แต่ภาพของความ ‘ฉิบหาย’ ในวันสุดท้ายของมนุษย์ในแบบของ Bosch นั้นมีเอกลักษณ์ในแง่ของจินตนาการและการนำเสนอเป็นอย่างมาก

ภาพวันชี้ชะตาของมนุษยภาพในแบบของ Bosch มีจุดเด่นอยู่ตรงที่ความน่าขนพองสยองเกล้าของการนำเสนอเหล่าปีศาจและวิธีการลงทัณฑ์อันสุดแสนครีเอท เหล่าปีศาจในภาพนี้ล้วนมีความก้ำกึ่งระหว่างการเป็นคนกับสัตว์ โดยที่บรรดาสัตว์นรกเหล่านี้ล้วนถูกสร้างสรรค์มาจากแรงบันดาลใจที่ Bosch ได้รับมาจากการพรรณาถึงสัตว์นรกและการลงททัณฑ์อันแสนโหดเหี้ยมและน่าขนลุกที่ปรากฏในจารึกจากยุคกลาง

Tondal's Vision

ภาพนี้ Bosch บอกเล่าเรื่องราวจากเรื่องเล่าของนักบวชชาวไอริชในศตวรรษที่ 12 ที่โด่งดังและแพร่หลายไปทั่วยุโรป เล่าเรื่องราวตำนานของกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เผลอหลับไปแล้วได้ไปทัวร์ชีวิตหลังความตาย จนทำให้เขาตื่นขึ้นมาแล้วตั้งมั่นว่าจะใช้ชีวิตให้มีสติและปัญญามากขึ้น

แน่นอนว่าฉากที่ Bosch เลือกที่จะนำมาเล่าก็คือฉากที่กษัตริย์องค์นั้นทรงลงไปท่องนรก และได้เห็นวิธีการทรมานอันสุดสร้างสรรค์แหวกแนวต่าง ๆ โดยฉากที่ที่ Bosch ประทับใจจนเลือกมานำเสนอก็คือ ‘ซุปนรก’ (ตรงตัวแบบที่ไม่ใช่เมนูอาหาร) ที่เหล่ามนุษย์ผู้บาปหนาถูกนำลงไปต้มเปื่อย แล้วก็มีมนุษย์หน้าใหญ่คอยสูดซุปคนบาปนี้เข้าไปทางจมูก

The Temptation of St Anthony Triptych (1500)

ในช่วงสุดท้ายของชีวิต Bosch ดูจะหลงใหลในเรื่องราวของเหล่านักบุญที่ถูกล่อลวงให้เอาใจออกห่างจากพระผู้เป็นเจ้า จนทำให้เขาสร้างผลงานหลายชิ้นที่บอกเล่าเรื่องราวของเหล่าสาวกที่ถูกทดสอบจิตใจมากมาย ซึ่ง The Temptation of St Anthony Triptych ที่เป็นหนึ่งในผลงานภาพพับมาสเตอร์พีซของ Bosch ก็เป็นหนึ่งในภาพที่บอกเล่าเรื่องราวนี้

The Temptation of St Anthony Triptych นำเสนอความทุกข์ทรมานทางจิตใจและวิญญาณที่ St. Anthony Abbot ต้องเผชิญระหว่างออกจาริกในทะเลทราย ซึ่ง Bosch ก็ได้แรงบันดาลใจในการนำเสนอเรื่องราวมาจากจารึก Lives of the Fathers and The Golden Legend ซึ่งเป็นดังสารานุกรมที่รวบรวมเรื่องราวและชีวิตของเหล่านักบุญในศาสนาคริสต์

ในภาพด้านซ้ายมือ Bosch นำเสนอฉากที่เห็นได้ทั่วไปในงานศิลปะเพื่อศาสนา นั่นก็คือฉากที่ St. Anthony ถูกปีศาจเข้าจู่โจมและถูกหิ้วลอยขึ้นไปบนท้องฟ้า ก่อนที่เขาจะพ่ายแพ้และได้บรรดานักบวชคนอื่น ๆ ช่วยไว้ ในขณะที่ฉากต่อมานั้นเป็นภาพที่ไม่ค่อยปรากฏในงานศิลปะทั่วไป โดยเป็นภาพที่ St. Anthony คุกเข่าอยู่หน้าหลุมศพที่กำลังผุพัง โดยที่มือของเขาอยู่ในลักษณะที่กำลังสวดภาวนา รอบกายของเขาเต็มไปด้วยความชั่วร้ายและสิ่งล่อใจที่พยายามยั่วยวนให้เขาเอาใจออกห่างจากพระเป็นเจ้า โดยปรากฏทั้งในรูปของปีศาจครึ่งคนครึ่งสัตว์ รวมไปถึงสิ่งล่อลวงใจที่สะท้อนผ่านภาพนักบวชผิวดำที่กำลังยื่นคางคกให้กับเขา ซึ่งคางคกก็เป็นสัญญะที่สะท้อนความหมายถึงความร่ำรวยมั่งมี

ซึ่งเมื่อถูกล่อลวงใจด้วยสิ่งต่าง ๆ มากมายเช่นนี้ St Anthony จึงต้องภาวนาต่อพระเจ้าเพื่อให้พระองค์ทรงช่วยชี้ทางสว่างให้ ซึ่งตรงกึ่งกลางของภาพก็จะเห็นพระเจ้าที่ทรงปรากฏกายและชี้นิ้วไปทางไม้กางเขน อันเป็นการสื่อความหมายว่า หนทางสู่การรอดต่อความยั่วยวนใจนั้นก็คือการเสียสละนั่นเอง

ในซีรีส์ Twin Peaks ของผู้กำกับ David Lynch ปรากฏการนำองค์ประกอบในงานของ Bosch มาใช้ถ่ายทอดความหมายเรื่องการต่อสู้กันระหว่างความดีกับความชั่ว และนรกบนดินในแบบฉบับของ Lynch หนึ่งในองค์ประกอบที่เห็นได้ชัดที่สุดคือนกฮูก ซึ่งจะปรากฏตัวในดอนที่ประตูแห่งความชั่วร้ายในซีรีส์ได้เปิดออก

อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Hieronymus_Bosch https://www.theartstory.org/artist/bosch-hieronymus/life-and-legacy/?fbclid=IwAR1O6SHhCH_gbyh_rWMfmseNiPhNr_ZtQcBZBELuNI4HVEMNC5RdcTQQyw0