Henri Matisse ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน กระดาษ การวาดรูปด้วยกรรไกร และการปฏิเสธที่จะหยุดสร้างสรรค์

Henri Matisse ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน กระดาษ การวาดรูปด้วยกรรไกร และการปฏิเสธที่จะหยุดสร้างสรรค์

Henri Matisse ชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน กระดาษ การวาดรูปด้วยกรรไกร และการปฏิเสธที่จะหยุดสร้างสรรค์

“เมื่อผมใช้สีเขียว มันไม่ใช่สีของหญ้า เมื่อผมใช้สีฟ้า มันก็ไม่ใช่สีของท้องฟ้า” - Henri Matisse

อ็องรี มาติส (Henri Matisse) คือศิลปินชาวฝรั่งเศสที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในศิลปินเจ้าแห่งสีสันแห่งศตวรรษที่ 20 ซึ่งที่มาของคำแซ่ซ้องนี้ก็มาจากความโดดเด่นของการใช้สีสันในการสร้างสรรค์ผลงานในแต่ละสื่อ ตั้งแต่ภาพวาด ภาพพิมพ์ ภาพลายเส้น ไปจนถึงการตัดกระดาษที่เรียกว่า Cut-Outs ซึ่งมาติสเองก็เคยอธิบายว่า เป้าหมายในการสร้างผลงานของเขาทุกชิ้นมีเพียงหนึ่งเดียว นั่นก็คือการสร้างสิ่งที่ปลอบประโลมจิตใจ และทำให้จิตใจสงบ โดยเขาได้เปรียบงานที่เขาทำทุกชิ้นว่าเหมือนประหนึ่งการสร้างสรรค์เก้าอี้อาร์มแชร์สักตัวหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงให้ความสำคัญกับส่วนประกอบในภาพที่จะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมได้ดีที่สุด นั่นก็คือสีสัน รูปทรง ลายเส้น และแสงกับสเปซ

ความสนใจในสีสันของมาติสเริ่มต้นมาจากการเติบโตขึ้นมาในเมืองเล็ก ๆ มาติสลืมตาดูโลกเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 1869 ที่เมือง Bohain-en-Vermandois ซึ่งเป็นเมืองชนบททางตอนเหนือของฝรั่งเศส ในครอบครัวพ่อค้าขายเมล็ดพันธุ์พืช ในที่ที่เขาเติบโตมา… ท้องฟ้าที่อยู่เหนือขึ้นไปนั้นเป็นสีเทาอยู่ตลอดเวลา บ้านของเขาก็เป็นบ้านก่ออิฐทึม ๆ ไร้สีสัน เมื่อมองออกไปยังทุ่งกว้าง สิ่งที่เห็นก็มีแต่หัวผักกาดหวานเรียงรายเป็นแถวสุดลูกหูลูกตา กล่าวง่าย ๆ ว่าโลกในวัยเด็กของมาติสมีแต่สีเทาแสนเศร้าอยู่รอบกาย โลกของเด็กชายมาติสดำเนินไปอย่างเงียบเหงาเช่นนั้น แม้เมื่อโตเป็นหนุ่ม เขาก็ใช้ชีวิตอย่างเงียบเหงา เขาย้ายเข้ากรุงปารีสเพื่อศึกษาต่อด้านกฎหมายจนได้รับใบรับรอง แล้วจึงเริ่มต้นอาชีพพนักงานในศาล

ชีวิตของมาติสน่าจะดำเนินไปอย่างเรียบง่ายเช่นนั้น หากไม่พบจังหวะสะดุดที่มาในรูปของไส้ติ่งเล็ก ๆ ที่ทำให้เขาต้องเข้ารับการผ่าตัดในปี 1889 ในช่วงระหว่างพักฟื้นจากการผ่าตัดนั่นเองที่แม่ของเขาได้ซื้อชุดอุปกรณ์วาดรูปเพื่อให้เขาได้มีกิจกรรมยามว่างคลายเบื่อ แต่กลายเป็นว่ากิจกรรมที่ควรทำเล่น ๆ นั้นกลับครอบงำและทำให้เขาหมกมุ่นหลงใหล โดยมาติสได้อธิบายถึงช่วงเวลานั้นที่เขาได้ค้นพบความสุขจากการวาดภาพว่า ‘เหมือนอยู่บนสวรรค์’

เมื่อมาติสพักฟื้นร่างกายจนหายดี เขาก็พบว่าตัวเองไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตสีทึมเทาในฐานะเจ้าพนักงานในศาลได้อีกต่อไป เขายืนยันกับครอบครัวว่า ‘ศิลปิน’ คือเป้าหมายที่เขาจะไปให้ถึง และเขาก็มุ่งมั่นที่จะไปถึงความฝันนั้นให้ได้ แม้จะทำให้พ่อของเขาต้องผิดหวังในตัวเขามากก็ตาม…

และโลกแห่งสีสันของมาติสก็เริ่มขึ้นที่ตรงนั้น

Fauvism

ในปี 1891 มาติสกลับมายังปารีสเพื่อเรียนศิลปะ ในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนศิลปะ เขาก็มุ่งมั่นกับการศึกษาผลงานของเจ้าศิลปินที่เน้นไปทางศิลปะโรโกโกและที่เน้นถ่ายทอดความสมจริงของธรรมชาติอย่าง Jean-Baptiste-Siméon Chardin, Nicolas Poussin หรือ Antoine Watteau โดยเฉพาะการวาดภาพแลนด์สเปคและภาพหุ่นนิ่ง (Still Life) นอกจากนี้เขายังได้รับอิทธิพลจากศิลปินกระแสใหม่อย่าง Édouard Manet ที่เป็นเจ้าศิลปินลัทธิประทับใจด้วย แต่คนที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปอย่างแท้จริงก็คือ วินเซนต์ แวนโกะห์ (Vincent van Gogh) โดยมาติสได้รู้จักแวนโกะห์ครั้งแรกผ่านศิลปินออสเตรเลีย จอห์น รัสเซล (John Russell) ซึ่งเป็นเพื่อนของแวนโกะห์ โดยรัสเซลได้มอบผลงานภาพวาดของแวนโกะห์ให้มาติสด้วย และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สไตล์ของมาติสก็เปลี่ยนไป จากงานที่เน้นความเหมือนจริง เปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีสันและรูปฟอร์มที่กระตุ้นความรู้สึก มากกว่าจะนำเสนอความเป็นจริงที่ตาเห็น

ในตอนนั้นมาติสยังไม่รู้ว่า การผันสไตล์ของเขาที่ถ่ายเทน้ำหนักไปสู่อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการนำเสนอความสมจริงจะกลายเป็นมูฟเมนต์สำคัญของโลกศิลปะในกาลต่อมา กระทั่งในปี 1904 มาติสก็พัฒนาความหลงใหลที่เขามีต่อแสงและสีจนถึงขั้นสุด ในปีนั้น เขาได้ไปพักผ่อนที่เมืองชายทะเล St. Tropez และได้สร้างสรรค์หนึ่งในภาพวาดที่สำคัญที่สุดในอาชีพของเขา นั่นก็คือ Luxe, Calme et Volupté ที่สะท้อนอิทธิพลที่เขาได้รับจากศิลปะลัทธิประทับใจแบบสุดขั้ว และในช่วงนี้เองที่ผลงานของเขาเริ่มสะท้อนเอกลักษณ์ของการใช้รูปทรงแบนและการผสานจุดสี (Pointillism) ที่ดูฟุ้งฝันมากขึ้น

ในปี 1905 มาติสและกลุ่มเพื่อนศิลปินที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม Fauves (ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘สัตว์ดุร้าย’) ก็ได้จัดนิทรรศการร่วมกัน ผลงานที่จัดแสดงในตอนนั้นช็อกนักวิจารณ์และสาธารณชนด้วยภาพวาดที่เน้นฝีแปรงดุดัน ปาดแบบรวดเร็ว ไร้การประนีประนอม และใช้สีตัดกันแบบสุดลิ่ม หนังสือพิมพ์ฉบับวันถัดไปตีพิมพ์คำวิจารณ์สุดเจ็บแสบของนักวิจารณ์ที่ได้ไปชมผลงาน โดยกล่าวว่านิทรรศการนี้เป็นเหมือนแค่หม้อแกงโฮะที่รวมภาพวาดเละ ๆ มาจัดแสดงให้คนดู

ศิลปะสไตล์ Fauvism ที่มาติสเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญนั้นดูเหมือนจะเป็นอะไรที่ ‘ล้ำ’ และมาก่อนกาลเร็วไปหน่อย ที่สุดแล้ว Fauvism ก็ยังไม่ได้ถูกให้ค่าหรือยอมรับจากคนในแวดวงศิลปะสมัยนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้มาติสล้มเลิกหรือเปลี่ยนสไตล์ แม้ว่ากระแส Fauvism จะเริ่มแผ่วลงในปี 1906 เป็นต้นมา แต่มาติสก็ยังคงตั้งหน้าสร้างสรรค์ผลงานในแบบที่เขารักต่อไป แถมยังสำรวจและต่อยอดศิลปะในสไตล์ของตัวเองต่อไปอย่างไม่ยี่หระ โดยเขาได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อศึกษาศิลปะนอกขนบ ทั้งศิลปะแอฟริกาและศิลปะแบบบรรพศิลป์ (Primitivism) ซึ่งเป็นการนำเสนอศิลปะพื้นบ้านของพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้เขายังเดินทางไปยังประเทศสเปนและโมร็อกโกเพื่อศึกษาสีสันและลวดลายอาหรับหรือศิลปะมัวร์ด้วย ซึ่งระหว่างนี้เขาและครอบครัวก็ดำรงชีพด้วยการสนับสนุนจากเพื่อน ๆ และคนที่เห็นคุณค่าในงานศิลปะของเขา หนึ่งในนั้นก็คือ เกอร์ทรูด สเตน (Gertrude Stein) นักประพันธ์หญิงชื่อก้องชาวอเมริกันที่เห็นแววในงานศิลปะของมาติสและเป็น ‘เจ๊ดัน’ ให้มาติสแบบสุดตัว

Odalisques, Picasso และ Dance

ในช่วงปี 1906 มาติสได้พบกับ ปาโบล ปิกาสโซ (Pablo Picasso) ศิลปินหนุ่มไฟแรงที่อายุน้อยกว่าเขา 11 ปี ทั้งสองได้กลายมาเป็นทั้งเพื่อนและคู่แข่งที่มักถูกจับวางคู่กัน นั่นก็เพราะผลงานของพวกเขามีความใกล้เคียงกันในแง่ของการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการสะท้อนความจริง แต่กระนั้นทั้งคู่ก็ยังมีจุดที่แตกต่างกัน ในขณะที่ผลงานของมาติสเน้นการสะท้อนภาพที่เขาได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติภายนอก งานของปิกาสโซกลับเน้นจินตนาการและการสื่อสารโลกข้างในของศิลปิน

แต่งานที่ทั้งคู่มักถูกนำมาเปรียบเทียบกันก็คือผลงานภาพวาดผู้หญิง Odalisques ที่หมายถึงนางในฮาเร็มในวัฒนธรรมตะวันออกกลาง ซึ่งในยุคนั้นเป็นซับเจกต์ที่ศิลปินตะวันตกนิยมวาดเป็นอย่างยิ่ง และมาติสกับปิกาสโซก็คือสองศิลปินที่อยู่ร่วมยุคจักรวรรดินิยม (Colonialism) และถูกครอบงำด้วยความหลงใหลในวัฒนธรรมที่ดูลึกลับเอ็กโซติกของดินแดนตะวันออก ทั้งสองต่างก็วาดภาพนางในฮาเร็มออกมาเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงที่มาติสจะเน้นนำเสนอองค์ประกอบและฉากที่เขาอ้างอิงจากเรเฟอร์เรนซ์จริง ในขณะที่องค์ประกอบและฉากของปิกาสโซจะมีความเป็นนามธรรมและมาจากจินตนาการของตัวเองมากกว่า

ความหลงใหลในวัฒนธรรมพื้นถิ่นของดินแดนที่ห่างไกลยังสะท้อนออกมาในผลงานชิ้นสำคัญของมาติสอย่าง Dance (1910) ที่เป็นภาพวาดคนเปลือยล้อมวงเต้นระบำ โดยผลงานชิ้นนี้เป็นภาพที่มาติสวาดตามบรีฟของนักธุรกิจชาวรัสเซียที่อยากได้ภาพไปประดับแมนชั่นของตนเอง ซึ่งเมื่อผลงานชิ้นนี้ถูกนำไปจัดแสดงสู่สายตาสาธารณชนครั้งแรกที่ Salon d’Automne ในกรุงปารีส มันก็สร้างความช็อกให้กับคนดูในยุคนั้นที่ยังไม่คุ้นเคยกับการจัดแสดงภาพคนเปลือยที่หาใช่เทพธิดาหรือเทพเจ้าจากเรื่องเล่าตำนานชั้นสูง แต่เป็นภาพคนพื้นถิ่นเปลือยกายในลักษณะศิลปะบรรพศิลป์ที่ถูกเน้นให้ยิ่งดูรุนแรงด้วยการเลือกใช้สีแดงจัดตัดกับสีเขียวและสีน้ำเงินเข้ม ซึ่งในสายตาของผู้ชมหลายคน ผลงานชิ้นนี้ดู ‘ป่าเถื่อน’ เกินกว่าที่จะเป็นงานศิลปะจรรโลงจิตใจ โดยชาร์ล แคฟฟิน (Charles Caffin) เพื่อนนักวิจารณ์ศิลปะที่อยู่กับมาติสในสตูดิโอตอนที่มาติสวาดภาพนี้ก็ยืนยันว่า สีแดง เขียว น้ำเงิน ที่เห็นในภาพนั้นหาได้ผ่านการผสมใด ๆ แต่ถูกบีบออกมาจากหลอดแบบสด ๆ แล้วใช้เลยแบบดิบ ๆ

นอกจากซับเจกต์ของภาพที่ดูเป็นการระบำพื้นถิ่นของชนเผ่าในลักษณะเปลือยกาย และสีสันที่ดูจัดจ้าน ภาพ Dance นี้ยังถูกวิจารณ์ในแง่ของลายเส้นและการวาดที่คลุมเครือ กล่าวคือลายเส้นที่ก่อรูปมาเป็นภาพร่างกายของคนนั้นเป็นเพียงลายเส้นเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยน้ำหนักของความมั่นใจ แต่กระนั้นศิลปินกลับไม่ได้ใส่ใบหน้าหรือรายละเอียดของร่างกายที่บ่งชี้ชัดว่าคนในภาพเป็นเพศใด ซึ่งความดิบเถื่อนและการเปิดเปลือยอารมณ์ผ่านสีสันทั้งหมดที่ถูกนำเสนออกมาในภาพก็เป็นไปตามความตั้งใจของมาติสที่กล่าวว่า

“หากปราศจากอารมณ์ที่กระตุ้นเร้าความรู้สึกทางเพศ ก็คงไม่มีสิ่งใดกำเนิดขึ้น”

Linocuts, Lithographs และ Woodcuts

แม้จะได้ชื่อว่าเป็นศิลปินเจ้าแห่งการใช้สีสัน แต่มาติสก็พิสูจน์ตัวเองว่า แม้กระทั่งคู่สีที่ไม่สดใสอย่างสีขาวและดำ เขาก็สามารถนำเสนอเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาได้ ด้วยกระบวนการภาพพิมพ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ Linocuts (การแกะสลักลงบนวัสดุพลาสติก), Lithographs (ภาพพิมพ์หิน) และ Woodcuts (ภาพพิมพ์ไม้) มาติสได้สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ออกมาถึง 800 ชิ้น โดยภาพที่ออกมาก็มีตั้งแต่ภาพหญิงงามในฮาเร็ม, ภาพประกอบตัวละครจากตำนานกรีก และรูปทรงต่าง ๆ ซึ่งเอกลักษณ์ในงานภาพพิมพ์ของมาติสก็คือการคงรายละเอียดและลายเส้นที่เห็นมักเห็นได้ในภาพวาดของเขาไว้อย่างครบถ้วน

Cut-Outs

ในปี 1941 มาติสได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งในช่องทอง กระบวนการผ่าตัดเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายทำให้เขากลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงที่ลุกไปไหนไม่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น มาติสก็ยังไม่หยุดสร้างสรรค์ผลงาน ในเมื่อสภาพร่างกายของเขาไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างผลงานด้วยวิธีการวาดหรือทำภาพพิมพ์ เขาก็พาตัวเองไปเรียนรู้วิธีการทำงานศิลปะใหม่ ๆ ...เพื่อที่อย่างน้อยที่สุดเขาจะได้อยู่กับสิ่งที่เขาหลงรักมาตลอดชีวิต

ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ช่วยส่วนตัว มาติสจึงได้เริ่มต้นทำงานศิลปะคอลลาจกระดาษอย่างจริงจัง จากที่ก่อนหน้านี้เขาเคยเริ่มชิมลางทำงานตัดกระดาษมาแล้วจากการทำโปรดักชั่นเวทีและออกแบบคอสตูมให้กับคณะบัลเลต์จากรัสเซีย โดยในช่วงที่นอนติดเตียงแต่ยังกระหายที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะ ผู้ช่วยของเขาจะเป็นผู้เตรียมกระดาษที่ระบายสีต่าง ๆ ไว้ให้ จากนั้นเขาก็จะใช้กรรไกรตัดกระดาษเป็นรูปฟอร์มตามจินตนาการของเขา แล้วจากนั้นจึงนำชิ้นส่วนทั้งหมดมาประกอบเข้าด้วยกันจนกลายเป็นผลงาน Cut-Outs ที่โดดเด่นในเรื่องของการจัดองค์ประกอบของภาพและสีสัน ซึ่งมาติสก็หลงใหลในศิลปะแขนงนี้จนทำให้ผลงานของเขาค่อย ๆ ขยายขนาดขึ้นเรื่อย ๆ จากตอนแรกที่เป็นขนาดภาพวาดธรรมดา ก็กลายเป็นขนาดเท่าฝาผนัง หรือเท่าห้องของเขาเลยทีเดียว และในเวลาต่อมา ผลงานตัดกระดาษของเขาก็ได้รับการยอมรับในแง่ของการบุกเบิกงานสร้างสรรค์ในสื่อแขนงใหม่ที่ก้ำกึ่งระหว่างการเป็นรูปภาพกับงานประติมากรรม

อย่างไรก็ตาม มาติสก็ยังไม่ได้มองว่าการตัดกระดาษเป็นอีกหนึ่งสื่อที่เขาจะใช้สร้างสรรค์เป็นผลงานอีกแขนงแบบจริงจัง แต่มองว่าเป็นโปรเจกต์คั่นเวลามากกว่า จนกระทั่งในท้ายที่สุด มาติสก็ต้องยอมรับความจริงว่าสภาพร่างกายของเขาไม่เอื้ออำนวยให้เขาสามารถวาดรูปได้อีกต่อไป มาติสจึงปรับมุมมองและยอมรับว่าการตัดกระดาษเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เขาจะสามารถทำได้เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่เขารักต่อไป โดยเขาก็เคยกล่าวไว้ว่า

“ศิลปินต้องไม่เป็นนักโทษของตัวเอง ของสไตล์ ของชื่อเสียง และความสำเร็จของตัวเอง”

ความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่อไปก่อรูปออกมาเป็นซีรีส์ผลงานที่ชื่อว่า Blue Nude ที่มาติสต้องศึกษาและทดลองวาดแบบร่างลงในสมุดอยู่นาน ก่อนที่เขาจะเริ่มลงมือตัดกระดาษจริง ซึ่งผลงานการตัดกระดาษภาพนู้ดชุดนี้ก็ยังสะท้อนเอกลักษณ์ประจำตัวของมาติสทั้งในเรื่องการใช้ฟอร์มที่เรียบง่ายและการใช้สีโทนเดียวไว้ได้อย่างครบทุกรายละเอียด

มาติสสนุกกับการทำงานชุดนี้มาก เพราะเป็นงานที่ทำให้เขาได้กลับไปดึงความทรงจำเมื่อครั้งได้ไปท่องเที่ยวที่ประเทศตาฮีตีเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่ง 2 ปีหลังจากทำผลงานชุดนี้เสร็จสิ้น มาติสก็เสียชีวิตลงในวันที่ 3 พฤศจิกายน 1954

อ้างอิง https://en.wikipedia.org/wiki/Henri_Matisse https://mymodernmet.com/matisse-paintings/ https://www.theguardian.com/artanddesign/gallery/2019/dec/12/matisse-and-picasso-the-art-worlds-greatest-rivalry-in-pictures?fbclid=IwAR2dGivMEi9K3qbEYPmJzKX0Q_0HCdX0mNi2NX9F_TK14vivja15ZWIGFrE https://www.christies.com/features/Guide-to-Henri-Matisse-9680-1.aspx?fbclid=IwAR2I3gDePjuXDcWv0nOteNSj0Id_c2sipKxIFzS5fugc8kSUmEI-jMA3RQE