The French Dispatch : ความหลงใหลของ เวส แอนเดอร์สัน บนฉากมรณกรรมของนิตยสาร
ดูเหมือนว่าในโลกทุกวันนี้ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างผันตัวมาสู่แพลตฟอร์มออนไลน์กันเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ ‘นิตยสาร’ จะยังไม่ล้มหายตายจาก แต่ก็นับได้ว่าหากนิตยสารเล่มนั้นยังคงยืนหยัดอยู่แค่บนแผ่นกระดาษ การจะไปต่อก็อาจเป็นเรื่องยากกว่ายุคก่อน เนื่องจากการใช้ชีวิตของผู้คนทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง ซึ่งเมื่อ The French Dispatch (2021) ภาพยนตร์โดยผู้กำกับสายตาเฉียบคมด้านงานอาร์ตอย่าง เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) พาเราเดินทางกลับไปสำรวจเบื้องหลังนิตยสารช่วงปี 1968 ภาพที่ออกมาจึงชวนให้นึกถึงยุคสื่อสิ่งพิมพ์อยู่ไม่น้อยทีเดียว
ขึ้นชื่อว่านิตยสาร The French Dispatch ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับตัวหนัง เรื่องราวทั้งหมดจึงหมุนวนอยู่ในความเป็นนิตยสาร ดังนั้นการเรียงลำดับเรื่องราวในหนัง จึงเป็นไปตามวิธีการประกอบร่าง The French Dispatch นิตยสารรายสัปดาห์สัญชาติอเมริกันที่จัดตีพิมพ์ในฝรั่งเศส ท่ีภายในได้รวมเอาหลายคอลัมน์มาไว้ในที่เดียว มีการแบ่งบทภาพยนตร์ชัดเจนตามหัวข้อเรื่องที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสไตล์และความถนัดของนักเขียนในเรื่อง ไล่เรียงตั้งแต่บทที่พูดถึงการพาผู้ชมปั่นจักรทัวร์รอบเมือง ซึ่งสะท้อนความตลกร้ายออกมาผ่านบทพูดของตัวละครที่เต็มไปด้วยการจิกกัดความผุพังของเมือง ขัดกับภาพสุดคราฟต์ที่ผู้สร้างได้ออกแบบขึ้น
ถัดมาในตอนที่สองของเรื่อง เวสได้พาผู้ชมไปรู้จักกับศิลปินในคนคุกซึ่งต้องโทษคดีอาชญากรรม ในหัวข้อนี้ เป็นเหมือนกับการตั้งคำถามต่อรูปแบบศิลปะตามขนบที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคโมเดิร์น และการให้ค่าผลงานศิลปะ ต่อด้วยบทที่บอกเล่าเรื่องราวการประท้วงของกลุ่มนักศึกษาหัวก้าวหน้า ที่นำมาสู่การประท้วงใหญ่ระดับชาติและจุดจบของคนหนุ่มสาวที่ทำให้เราได้กลับมาสะท้อนถึงภาพการเมืองในปัจจุบัน หน้านิตยสารถูกเปลี่ยนไปอีกครั้ง ผ่านการเล่าเรื่องของนักเขียนคนใหม่ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องราวก่อนหน้า ในคอลัมน์นี้มีการบอกเล่าถึงเรื่องราวบนโต๊ะอาหารของนายพลผู้บัญชาการตำรวจ ลามไปจนถึงการปะทะกันระหว่างผู้มีอำนาจสองกลุ่ม ก่อนที่ตัวหนังจะปิดท้ายสั้น ๆ ด้วยคอลัมน์อาลัยต่อ อาเธอร์ ฮาววิตเซอร์ (Arthur Howitzer Jr.) ผู้ก่อตั้ง The French Dispatch
ความจริงแล้ว ตัวหนังได้บอกถึงชะตากรรมในอนาคตของ The French Dispatch ไว้ตั้งแต่ต้นเรื่อง เรารู้ว่า อาเธอร์ ฮาววิตเซอร์ ได้จากไปแล้วก่อนที่ภาพในนิตยสารฉบับสุดท้ายนี้จะตีพิมพ์ขึ้น นั่นทำให้ผู้ชมสามารถจินตนาการได้คร่าว ๆ ว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้มีความคล้ายคลึงกับใบมรณกรรมของเขา ที่บอกเล่าเป็นนัยยะว่านี่คือ ‘มรณกรรมของนิตยสาร’ ด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะเห็นว่าแม้รูปแบบการจัดองค์ประกอบภาพในหนัง และการสอดแทรกเรื่องราวทางสังคมการเมือง จะดูอย่างไรก็เป็นตัวตนของเวสชนิดไม่ผิดโพล แต่สิ่งที่หนังเรื่องนี้ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงจากหนังเรื่องอื่น ๆ ของเวสก็คือ ‘การเล่นกับสไตล์การเล่าเรื่อง’ ที่มีกลิ่นอายของการทดลองอยู่ค่อนข้างสูง แสดงให้เห็นว่าเวสเองก็มีแนวทางในการสร้างหนังที่สุดโต่ง และถ่ายทอดความหลงใหลในความเป็นนิตยสารมาอย่างชัดเจนตามที่เขาเคยเปิดเผยว่าตัวเขามีความชื่นชอบในนิตยสาร โดยเฉพาะนิตยสารดังอย่าง The New Yorker ที่ส่งอิทธิพลสำคัญต่องานของเขาเรื่อยมา จึงไม่น่าแปลกใจที่หลังจากหลายคนชมหนังเรื่องนี้จบลง จะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ตัวบทบางส่วนมีความเผ็ดร้อนสไตล์นิตยสารอเมริกัน ฉาบอยู่ภายใต้ภาพที่สวยงามตามสไตล์เวส ซึ่งก็ไม่เพียงแค่ตัวบทจะบรรยายถึงสังคมเมืองที่ล่มสลายไปพร้อม ๆ กับการล่มสลายของนิตยสารเท่านั้น แต่หนังเรื่องนี้ยังเป็นเหมือนกับการคลี่หน้ากระดาษออกมาแยกชิ้นส่วนให้ผู้ชมได้เห็นกันชัด ๆ ว่า ตัวหนังสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของนิตยสารอย่างไรบ้าง
ตัวอย่างภาพยนตร์ The French Dispatch