ไขข้อข้องใจ ทำไมหนังสมัยใหม่ถึงกลับมาใช้ภาพโมโนโครม

ไขข้อข้องใจ ทำไมหนังสมัยใหม่ถึงกลับมาใช้ภาพโมโนโครม

ไขข้อข้องใจ ทำไมหนังสมัยใหม่ถึงกลับมาใช้ภาพโมโนโครม

ภาพยนตร์ขาว-ดำ ดูเข้าถึงยากจริงหรือ?

สังเกตกันไหมว่า พักหลังมานี้ภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่องเลือกที่จะกลับมาใช้ภาพ ‘ขาว-ดำ’ เพื่อสร้างแครักเตอร์อันโดดเด่นเป็นที่จดจำ และตอบรับกับเนื้อหาเชิงการเล่าเรื่องให้มีชั้นเชิงขึ้นอีกขั้น เช่นภาพยนตร์เรื่อง C'mon C'mon โดยผู้กำกับ ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) ซึ่งเคยฝากผลงานกินใจจากเรื่อง 20th Century Women ได้จับมือกับค่ายหนังสัญชาติอเมริกัน A24 เปิดตัวภาพยนตร์สีขาว-ดำเมื่อไม่นานมานี้ หรือแม้แต่ พญาโศกพิโยคค่ำ หนังไทยกระแสรองที่ยังฉายอยู่ในตอนนี้ ก็ได้เลือกเล่าเรื่องราวผ่านจอภาพสีขาว-ดำด้วยเช่นกัน แน่นอนว่าการทำงานกับภาพโมโนโครม (Monochrome) ในยุคที่ภาพยนตร์เต็มไปด้วยภาพสีนั้นทำให้แครักเตอร์ของหนังดูมีเสน่ห์ไม่เหมือนใคร ดังนั้นจึงจะเห็นว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้กำกับมากมายได้เลือกแนวทางการออกแบบภาพโดยหันกลับไปหาภาพสีขาว-ดำแทน ซึ่งก็การันตีคุณภาพได้จากภาพยนตร์มากมายที่โลดแล่นไปคว้ารางวัลใหญ่ ๆ บนเวทีภาพยนตร์ระดับโลก

เป็นที่รู้กันว่าผู้ชมส่วนใหญ่ยังคงไม่นิยมดูภาพยนตร์ขาว-ดำเท่ากับภาพสีทั่วไป เพราะภาพทึม ๆ นี้ มักทำให้ผู้ชมตีกำแพงไว้ก่อนแล้วว่าเรื่องที่ตามมาต้องสื่อถึงอดีตและอาจมีกลิ่นอายของหนังสายศิลปะที่เข้าใจยากกว่าการดูหนังภาพสี ทำให้ที่ผ่านมา เรามักจะไม่ค่อยเห็นผ่านตากับภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์ที่ทำออกมาในเวอร์ชั่นภาพขาว-ดำ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีภาพยนตร์กระแสหลักทำออกมาในลักษณะนี้เลยซะทีเดียว เพราะ Mad Max: Fury Road เวอร์ชั่น Black and Chrome จากฝีมือการกำกับของ จอร์จ มิลเลอร์ ( George Miller) ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่าภาพยนตร์กระแสหลักเองก็สามารถเติบโตบนทางสายนี้ได้เช่นกัน

เมื่อหยิบยกเรื่องราวของภาพขาว-ดำมาพูดแล้ว จะไม่เกริ่นถึงความเป็นมาก็คงไม่ได้ .. เช่นเดียวกับที่ทุกคนเข้าใจ ก่อนการเกิดขึ้นของภาพสี ภาพยนตร์เป็นเหมือนกับนวัตกรรมภาพเคลื่อนไหวสีขาว-ดำ ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้ผู้ชมได้ไม่น้อย จากภาพบันทึกชีวิตทั่วไปคล้ายกับสารคดี เริ่มมีการพัฒนาต่อยอดมาถึงภาพที่เล่าเรื่อง มีการจัดองค์ประกอบ สะท้อนความรู้สึก ส่งต่อถึงยุคสมัยทางภาพยนตร์ที่ให้แนวทางแตกต่างกันออกไป เห็นได้ชัดจากยุคที่เรียกว่า German Expressionism ซึ่งเน้นไปที่การแสดงออกความคิดและความรู้สึกของผู้สร้าง ทำให้ตัวหนังมีความจัดจ้านแม้อยู่ในโหมดภาพขาว-ดำ หรืออย่างสไตล์ภาพแบบ Film Noir ที่โดดเด่นเรื่องการจัดแสงเงา หมอกควัน และองค์ประกอบภาพให้ดูลึกลับซับซ้อน ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นการทดลองที่นำภาพยนตร์ก้าวข้ามขอบเขตทางภาษาทั้งสิ้น ซึ่งก็น่าสนใจว่าภาพยนตร์ที่ผ่าน ๆ มา สามารถต่อยอดตัวเองจากแค่เรื่องเทคนิคมาเป็นความงามเชิงสุนทรียะที่เล่นกับพื้นผิว สัมผัส การจัดแสง และความตื้นลึกของภาพได้อย่างไร ที่สำคัญไปกว่านั้นคือภาพขาว-ดำ เหล่านี้ยังสร้างบรรยากาศ รวมถึงบอกเนื้อหาหรือธีมของเรื่องเล่าได้หมดจดและแยบยลไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธได้ยากก็คือเมื่อภาพสีเกิดขึ้น การสร้างภาพขาว-ดำกลับลดลงตามไปด้วย เพราะภาพสีมีความสดใส เป็นที่สะดุดตา แถมยังเปิดรายละเอียดมากมายจนดึงความสนใจให้ผู้ชมได้ ในขณะที่ภาพขาว-ดำ ซึ่งมีราคาการผลิตที่ถูกกว่า มักได้ใช้ในหนังทุนต่ำ หรือหนังที่มีเนื้อหาจริงจังมากกว่า

อาจบอกได้ว่าในแง่หนึ่ง ความช้ำของภาพสี ดึงดูดนักทำหนังรุ่นใหม่ที่ทะเยอทะยานจะกลับไปสนใจในวิถีทางแบบดั้งเดิม และเริ่มทดลองเล่าเรื่องใหม่ในแบบฉบับของตัวเอง ทำให้ในช่วงที่ผ่าน ๆ มา ภาพหนังสีขาว-ดำเริ่มกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง คล้ายกับว่าภาพสีกลายเป็นความซ้ำเดิม ส่วนภาพขาว-ดำที่เคยถูกลืมไปในช่วงเวลาหนึ่ง กลับกลายมาเป็นของใหม่ของดีแทน

แม้จะเกริ่นไปว่า ในอดีตภาพสีขาว-ดำ ดูเป็นโปรดักชั่นราคาถูกกว่างานภาพสี แต่ก็ใช่ว่าภาพขาว-ดำจะสร้างขึ้นมาง่าย ๆ เพราะเหนือไปกว่าเงินทุนการผลิตก็คือ ความกังวลกับของผู้สร้างที่พ่วงมาด้วยข้อกังขาว่าภาพขาว-ดำทำรายได้น้อยกว่าภาพสี ในขณะเดียวกัน การเตรียมตัวสำหรับการสร้างหนังขาว-ดำเองก็มีเกร็ดยิบย่อยมากมายไม่ต่างจากภาพสี หรือเผลอ ๆ อาจมีเรื่องที่ให้คิดมากกว่าด้วย ลองจินตนาการง่าย ๆ ว่า โดยปกติแล้ว เราจะเห็นภาพเป็นสีสัน นั่นหมายความว่าหากผู้สร้างภาพยนตร์เลือกทำงานเป็นภาพขาว-ดำ พวกเขาต้องวางแผนทุกองค์ประกอบให้เป็นภาพขาว-ดำตั้งแต่ต้น อย่างเช่นในภาพยนตร์เรื่อง Roma โดยผู้กำกับ อัลฟอนโซ กัวรอน (Alfonso Cuarón) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาษาภาพออกมาได้เนี้ยบกริบจนรับคำชมไปอย่างล้นหลาม ถูกถ่ายด้วยสีก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นภาพขาว-ดำในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ ซึ่งก็ต้องบอกเลยว่าสิ่งนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนเวลาที่เราเล่นฟิลเตอร์ในโทรศัพท์ เพราะภายใต้สีขาว-ดำ มีค่าแสงสีที่ไล่ระดับกันตั้งแต่สีขาวสุดไปดำสุด ซึ่งส่งผลตรงต่อการวางตำแหน่งสิ่งของในเฟรมภาพ หากค่าสีขององค์ประกอบในหนังเมื่อปรับมาเป็นขาวดำ อยู่ระดับใกล้กันเกินไป สิ่งของเหล่านั้นก็อาจจะกลืนกันจนผู้ชมไม่สามารถแยกส่วนได้ ทุกอย่างจึงขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวก่อนถ่ายทำ เพื่อให้งานเสร็จออกมาครบถ้วนสมบูรณ์ในเฟรมภาพ

เห็นได้ชัดว่ายุคหลังมานี้ ผู้สร้างหนังขาว-ดำไม่ได้นึกถึงต้นทุนเป็นเหตุผลหลัก และไม่ได้คิดว่าหนังน้อยสีจะต้องย้อนรอยอดีตเสมอไป ทางเลือกของผู้กำกับที่มีต่อหนังขาว-ดำโดยส่วนใหญ่แล้ว เน้นไปที่การออกแบบความสวยงามและการเล่าเรื่องเป็นหลัก

ส่วนหนึ่งที่สำคัญและคิดว่าหลายคนอาจไม่ทันได้นึกถึงก็คือ หนังขาว-ดำ คอยเตือนให้ผู้ชมอย่างเรารู้ว่าตัวเองกำลังดูหนังอยู่ และสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่สิ่งที่ตาเราจะสัมผัสได้ในชีวิตจริง เมื่อตาที่เคยเห็นทุกอย่างเป็นสีสัน ถูกกลับด้านให้เป็นเพียงสีขาวดำ เราก็จะถูกดึงดูดด้วยเส้นนำสายตา รูปทรงของสิ่งต่าง ๆ แสงเงา รวมไปถึงหน้าตาและท่าทางการแสดง และสิ่งนี้ทำให้ภาพขาว-ดำ สร้างการตีความได้กว้างไกลไม่ใช่แค่เชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแก่นของเรื่องทั้งด้านความงาม การเชื่อมโยงช่วงเวลา ลึกไปถึงระดับจิตใจของตัวละคร ความนามธรรม รวมถึงเรื่องราวความขาว-ดำทางศีลธรรม เหมือนกับที่ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) เคยพูดถึงเบื้องหลังของ Schindler's List (1993) ว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบความหายนะเหมือนชีวิตที่ปราศจากแสงสว่าง” ซึ่งเมื่อได้ยินแบบนี้ก็อาจสรุปคร่าว ๆ ได้ว่าแม้ที่ผ่านมาผู้ชมจะมีความสงสัยต่อภาพสีขาว-ดำ และมองว่าภาพเหล่านี้ดูยากเกินไป แต่ภาพยนตร์ในช่วงหลัง ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเมื่อของเก่าถูกนำมาผลิตซ้ำในช่วงเวลาใหม่ สิ่งนี้สามารถสร้างความหลากหลายและความสนใจได้ไม่ต่างจากภาพสีเลยทีเดียว

แม้จะเปิดตัวมาด้วยสีสันสดใส แต่ใน The French Dispatch (2021) ภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดของผู้กำกับสายอาร์ตไดเรคชั่น เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ก็ได้มีการหยิบเอาสีขาว-ดำมาใช้ในหนังเพื่อสร้างความแตกต่าง ลบภาพจำของสไตล์ผู้กำกับไปด้วยในตัว ความจริงแล้วสีขาว-ดำในเรื่องมีอะไรมากกว่าแค่ความสวยงาม เพราะที่เวสเลือกความต่างนี้เข้ามาก็เพราะว่าเขาต้องการให้พาร์ตขาว-ดำในหนังเรื่องนี้ เป็นการยกย่องประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ โดยเฉพาะขบวนการ French New Wave ที่เล่นกับการทดลองทางภาษาภาพและการเล่าเรื่อง

ในหนังดังของผู้กำกับระดับตำนาน มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) เรื่อง Raging Bull (1980) ได้มีการออกแบบภาพให้เป็นสีขาว-ดำ เพื่อผู้ชมเห็นถึงความเดือดดาลบนพื้นผิวสัมผัสผ่านภาพที่ไม่มีสี โดยเฉพาะในช่วงที่หนังเล่นกับความเงียบและภาพช้า ๆ บนสังเวียน ทั้งสีหน้า แววตา และหยดเหงื่อที่ปนกับเลือดบนร่างของตัวละคร ยิ่งทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กระทบใจผู้ชมเข้าอย่างจัง

Mank (2020) ภาพยนตร์โดย เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) คือความพยายามที่จะทำให้ตัวหนังไม่ได้เป็นแค่อดีตทั่วไป แต่ยังเจาะจงถึงยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ คล้ายว่าตัวหนังเป็นการแสดงความเคารพต่อภาพยนตร์ยุคก่อน ๆ ที่ทางเลือกในการถ่ายถูกหุ้มด้วยภาพขาว-ดำ

ในหนังยาวเรื่องแรกของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ เรื่อง พญาโศกพิโยคค่ำ ได้มีการออกแบบตัวภาพให้เป็นโทนสีขาว-ดำ เพื่อลดทอนความสดใส พาผู้ชมดำดิ่งถึงอารมณ์ท่ีอยู่ภายในตัวละคร องค์ประกอบของภาพและเสียง เป็นแรงดึงดูดให้เราสัมผัสถึงภาวะความอึดอัดคล้ายถูกกดทับจากอำนาจที่มองไม่เห็น ในแง่หนึ่ง ภาพขาวดำเองก็มีทั้งความสวยงาม สดใหม่ และความน่ากลัวในเวลาเดียวกัน

จากภาพยนตร์เรื่อง 20th Century Women (2016) ที่กินใจผู้ชมไปทั่วโลก ไมค์ มิลส์ (Mike Mills) ได้ร่วมมือกับค่ายหนังไฟแรง A24 อีกครั้งพร้อมกลับมากับภาพยนตร์สีขาว-ดำเรื่อง C'mon C'mon (2021) ซึ่งนำแสดงโดย วาคิน ฟินิกซ์ (Joaquin Phoenix) แม้ว่าตัวหน้าหนังจะดูเป็นธรรมชาติ แต่การลดทอนสีภาพนี้ก็มีเหตุผลแฝงอยู่ภายในเช่นกัน นั่นคือการขยายธีมของหนังซึ่งว่าด้วยครอบครัวหนึ่งที่ย้อนกลับไปในอดีต เพื่อพยายามเข้าใจอนาคต

แสงสีเหลืองทองอร่ามของทะเลทรายสุดลูกหูลูกตาใน Mad Max: Fury Road (2015) ภาพยนตร์โดย จอร์จ มิลเลอร์ (George Miller) ถูกเปลี่ยนมาให้เป็นภาพสีขาว-ดำเพื่อให้ผู้ชมได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ซ้ำด้วยสายตาใหม่

อ้างอิง :
esquire

vox