ส่องสถาปัตยกรรมใน Loki : ความหมายของ “ช่วงเวลา” ที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวอาคารจากศตวรรษที่แล้ว

ส่องสถาปัตยกรรมใน Loki : ความหมายของ “ช่วงเวลา” ที่ซ่อนอยู่ใต้พื้นผิวอาคารจากศตวรรษที่แล้ว

ส่องสถาปัตยกรรมใน Loki

หลังจากจักรวาลมาร์เวลเปิดศักราชใหม่บน Disney+ Hotstar ด้วยเรื่องราวการเดินทางข้ามมิติเวลาของ Loki เทพแห่งความชั่วร้ายจากแอสการ์ด ที่เชื่อมมาจากหนัง Avengers: Endgame (2019) แล้ว ซีซันแรกของซีรีส์ชุดนี้ก็เดินทางมาถึงตอนจบเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งก็สร้างความคาใจและความกำหมัดให้ผู้ชมอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ระหว่างที่รอให้ผู้สร้างเขาไปปั้นซีซันใหม่ออกมา GroundControl ก็เลยถือโอกาสนี้ขอพาทุกคนเดินทางแวบไปวาปมา เพื่อไปสำรวจอีกหนึ่งตัวเอกของเรื่องที่เราอาจมองข้ามไป นั่นก็คือบรรดาพื้น เพดาน ผนัง กำแพง ที่ปรากฏในฉากต่าง ๆ นั่นเอง

หืม? พื้น กำแพง ผนัง เนี่ยนะ!

ใช่แล้วจ้า จะบอกว่าเรื่องราวใน Loki ที่ ‘เวลา’ มีความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ เหนือสิ่งอื่นใด ถึงขั้นต้องมีหน่วยพิเศษ Time Variance Authority (TVA) คอยควบคุมให้ช่วงเวลาเดินทางเป็นเส้นตรงนั้น บรรดาสิ่งก่อสร้างที่ปรากฏในฉากต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ที่ช่วยให้คนดูได้ปักหมุดคอยสังเกตว่า นี่มันช่วงเวลาไหนกันแน่ จากจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่จู่ ๆ โลกิก็เปิดตัวมาในฐานะอาชญากรที่เป็นภัยต่อไทม์ไลน์เวลาแบบงง ๆ เมื่อเรื่องดำเนินไป โลกิและคนดูก็จะค่อย ๆ ตระหนักได้ว่า ในโลกที่เส้นเวลามีความสลับสับเปลี่ยนกันอย่างยุ่งเหยิง ยังมีโลกิคนอื่นโผล่ขึ้นมาในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป! ทำให้หนึ่งในประสบการณ์ความสนุกที่คนดูจะได้สัมผัสจากซีรีส์เรื่องนี้ ก็คือการค้นหาความเชื่อมโยงของตัวเรื่องที่บอกใบ้ด้วยสถาปัตยกรรมในยุคต่าง ๆ นั่นเอง!

โดยจุดที่เป็นไฮไลต์สำคัญของเรื่องที่เราอยากชวนชาว GroundControl ไปสำรวจร่วมกันก็คือ เซ็ทอัพหลักอย่างสำนักงานของ TVA ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นองค์กรที่มีแคแรกเตอร์เหมือนพี่ใหญ่ ใจเยือกเย็น ให้ความรู้สึกถึงศูนย์รวมอำนาจที่ยิ่งใหญ่ ภาพลักษณ์แบบหน่วยงานราชการก็คงเป็นสิ่งที่บอกตัวตนของพื้นที่นี้ได้ดีที่สุด ดังนั้น ตัวอาคารของ TVA จึงได้รับแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรม Modernism และ Brutalism ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในยุโรปและโซเวียตยุคสงครามเย็น

ย้อนกลับไปช่วงปี 1950 อาคารแบบ Brutalism เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสการฟื้นฟูเมืองในยุคหลังสงคราม เพื่อต่อต้านความเวอร์วังที่ดูฟุ่มเฟือยเกินจำเป็นในอดีต สถาปัตยกรรม Brutalism จึงมีลักษณะโดดเด่นเป็นอาคารที่เผยให้เห็นโครงสร้างปูนเปลือยเปล่า มีเหลี่ยมโค้งชัดเจนซ้ำไปมาเป็นแพทเทิร์น ซึ่งตอบรับกับระบบราชการใน TVA ที่ทุกอย่างดูเป็นแบบแผนไปซะหมดได้เป็นอย่างดี

แบบอาคารอันโดดเด่นของสถาปนิกระดับตำนานมากมาย ถูกนำมาใช้เป็นภาพอ้างอิงสำหรับโลกโมเดิร์นใน Loki โดยเฉพาะภายใน Waiting Room ของ TVA ที่ถอดแบบมาจาก Breuer Building ผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวฮังการีคนดัง มาร์เซล บรีเออร์ (Marcel Breuer) และ The Time Theatre ที่มีเค้าโครงมาจากฝ้าเพดานลายวาฟเฟิลในอาคารของ ปิแอร์ ลุยจิ แนร์วี (Pier Luigi Nervi) 

คาสรา ฟาราฮานี (Kasra Farahani) ผู้ออกแบบงานสร้างในซีรีส์เรื่องนี้อธิบายว่า Brutalism ให้ความรู้สึกเหมือนโลกในอุดมคติที่ดูจับต้องได้ แต่เมื่ออยู่ไปสักพักหนึ่ง เราจะพบว่าตัวอาคารที่มีแต่ทางเดินคดเคี้ยว ไม่มีหลังคา ไม่มีช่องระบายอากาศ และไม่เห็นแม้แต่ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ภายในกับภายนอก ทำให้เราเกิดอาการอึดอัดใจราวกับเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจบางอย่างตลอดเวลาโดยไม่รู้ตัว เพื่อสร้างภาพแทนขององค์กรอันทรงเกียรติที่ไม่ดูล้าหลังคร่ำครึ กลิ่นอายแบบ Neo-Futurism ของห้องโถงใหญ่ที่ทะยานขึ้นฟ้าจนสุดปลายตาในอาคาร Atlanta Marriott Marquis ซึ่งออกแบบโดย จอห์น ซี. พอร์ตแมน จูเนียร์ (John C. Portman Jr.) จึงกลายมาเป็นหนึ่งแคแรกเตอร์หลักของโลก TVA รวมถึงเป็นสถานที่ถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากทั้งหมดที่ว่ามาแล้ว องค์ประกอบในช่วงเวลาประวัติศาสตร์อื่น ๆ ต่างก็ถูกหยิบยืมมาใช้เพื่ออธิบายบริบทโดยรอบ แคแรกเตอร์ของตัวละคร และบอกใบ้เรื่องราวที่แฝงอยู่ในฉากหลังของเรื่องอย่างแนบเนียน เช่น ฉากบนรถไฟเอเลียนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปแบบของไข่ Fabergé ในยุค Art Deco อีกทั้งการปรากฏตัวครั้งยิ่งใหญ่ของผู้คุมสูงสูดในจักรวาลแห่งเวลาที่ชื่อ Time-Keepers บนแท่นคล้ายกับ ‘ซิกกุรัต’ สิ่งก่อสร้างทางศาสนาในยุคเมโสโปเตเมีย ยังแสดงให้เห็นถึงอำนาจของพวกเขาที่ยืนหยัดอยู่เหนือกาลเวลา

อาจกล่าวได้ว่า ‘เวลา’  ซึ่งเป็นหัวใจหลักของซีรีส์เรื่องนี้ ทำหน้าที่ยึดโยงยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกัน หากลองกลับไปสำรวจพื้นที่ในซีรีส์ดูใหม่อีกครั้ง ไม่แน่ว่าเราอาจจะเจอคำตอบของซีซัน 2 ก็เป็นได้...

Waiting Room ในสำนักงาน TVA ได้รับการถอดแบบมาจาก Breuer Building ผลงานของสถาปนิกชาวฮังการี Marcel Breuer โดยดัดแปลงให้ตัวเพดานด้านบนมีความมืดทึมขึ้น เพื่อเน้นให้ดวงไฟมีลักษณะเป็นเหมือนดวงตาของ Time-Keepers ที่กำลังมองเราอยู่ รวมถึงมีการลดความสูงของเพดานเพื่อเพิ่มความรู้สึกอึดอัดเวลาที่เราเฝ้ามองตัวละคร

เค้าโครงฝ้าเพดานวาฟเฟิล (Coffered / Waffle Ceiling) บนอาคารของ Pier Luigi Nervi ปรากฏขึ้นในฉาก The Time Theatre และฉากอื่น ๆ

นอกจากนี้ ผลงานดังของสถาปนิกที่มีชื่อเสียงระดับโลกมากมาย อาทิ Frank Lloyd Wright, Mies van der Rohe, Mies van der Rohe และ Paul Rudolph ก็ถูกนำมาใช้เป็นภาพอ้างอิงสำหรับโลกยุคโมเดิร์นใน Loki ด้วยเช่นกัน

ห้องโถงใหญ่สไตล์ Neo-Futurism ที่ทะยานขึ้นฟ้าจนสุดปลายตาในอาคาร Atlanta Marriott Marquis ซึ่งออกแบบโดย John C. Portman Jr. คือภาพแทนของ TVA และเป็นหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำของซีรีส์เรื่องนี้

ไข่ Fabergé ในยุค Art Deco ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายมาเป็นต้นแบบในการสร้างห้องภายในรถไฟเอเลี่ยนที่โลกิ (Tom Hiddleston) และซิลวี่ (Sophia Di Martino) อยู่ด้วยกัน

การปรากฏตัวของผู้คุมสูงสูดในจักรวาลแห่งเวลาที่ชื่อ Time-Keepers บนแท่นคล้ายกับซิกกูรัตในยุคเมโสโปเตเมีย แสดงให้เห็นถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของพวกเขาที่ยืนหยัดอยู่เหนือกาลเวลา

ฉากดังกล่าวยังได้รับแรงบันดาลใจจากทางเดินขั้นบันได (Stepwell) ในอินเดียด้วยเช่นกัน

อ้างอิง :
The Art Newspaper