พาจิตไปจินตนาการถึงเหล่าเมฆที่แฝงปรัชญาพุทธใน Buddhaandz 1st time
สำหรับเรา หนึ่งในกิจกรรมฆ่าเวลาที่สนุกได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่คือการนั่งมองทองฟ้า จับอันนั้นมาชนอันนี้แล้วจินตนาการว่ากลุ่มก้อนเมฆที่เห็นนั้นมีรูปร่างเหมือนอะไรบ้าง ฟังๆ ดูเหมือนเป็นกิจกรรมที่ดูไร้สาระ แต่จะว่าไปมันก็ช่วยให้เราได้ครุ่นคิดถึงอะไรบางอย่าง
เหมือนกับที่ Buddhaandz หรือ ‘โน่–ญาโณทัย ตรีรัตน์โชติกุล’ หยิบเอาการจินตนาการก้อนเมฆเหล่านี้มาผสานรวมกับปรัชญาพุทธที่เขาได้เรียนรู้จนเกิดเป็นนิทรรศการครั้งแรก Buddhaandz 1st time
นิทรรศการครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น แต่โน่พาเราค่อยๆ ไต่ขึ้นไปชมนิทรรศการชั้นบนที่เต็มไปด้วยก้อนเมฆที่ถูกจินตนาการปรุงแต่ง ก่อนจะพาเราลงมาชมผลงานศิลปะที่ปล่อยให้เขาได้ทดลองวัสดุและสีสัน แต่ละชิ้นงานน่าสนใจและสนุกจนทำให้เราที่ค่อยๆ ถอยห่างจากพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ เพราะความเป็นพุทธพาณิชย์อันน่าเบื่อหน่าย ค่อยๆ นำใจกลับมาดูถึงแก่นแท้ของศาสนานั่นก็คือพุทธปรัชญาที่จริงๆ แล้วก็ทันสมัยใช่ย่อย
เรื่องราวของก้อนเมฆแต่ละใบของโน่จะเป็นยังไง พุทธปรัชญาจะสนุกและเข้าถึงได้ง่ายแค่ไหน เขารอเราอยู่ในพื้นที่แห่งจิตปรุงแต่งนั้นแล้ว
Buddhaandz เกิดขึ้นจากความผูกพันที่โน่มีต่อศาสนาพุทธตั้งแต่ยังเด็ก ขณะที่คนอื่นได้ไปเรียนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ พ่อของโน่ที่เลื่อมใสในศาสนาส่งเขาไปเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัด ทั้งพ่อยังเป็นนักสะสมพระตัวยง แม้โน่ในวัยเด็จะไม่อินมากนัก แต่ความทรงจำและภาพที่เห็นอยู่เสมอๆ ก็ฝังแน่นในตัวเขาจนยากสลัด
“เราเรียนเซรามิกใช่ไหม เวลาเราทำงานเราก็ปั้นเป็นพระพุทธรูปแบบดูเดิ้ลบ้าง ปั้นเป็นอ่างบัวสี่เหล่าบ้าง และงานปั้นอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับพุทธศาสนาโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับว่าเราซึมซับไปโดยธรรมชาติ” เขาเล่าแบบนั้น
นอกจากนั้น ยิ่งเขาได้เรียนด้านการออกแบบยิ่งขึ้น เขาก็กลับพบว่าที่จริงแล้ว พุทธปรัชญาที่มีมานานกว่า 2,500 กว่าปีนี้มันเจ๋งเสียยิ่งกว่าเจ๋ง
“อย่างทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถ้ามานั่งคิดดีๆ มันก็คือกระบวนการของ Design Thinking แบบหนึ่งเลยนะ เพราะทุกข์ก็คือเราจะออกแบบอะไรสักอย่างก็ต้องเริ่มจากปัญหาก่อน สมุทัยก็คือการรีเสิร์ชหาต้นตอของปัญหานั้น ส่วนนิโรธคือหาวิธีแก้ไขว่าเราจะออกแบบอะไรเพื่อแก้ปัญหา” โน่เล่าความประทับใจ
ความประทับใจในพุทธปรัชญาผสานรวมกับความทรงจำวัยเด็กของเขาจึงทำให้โน่ทำธีสิสจบในชื่อว่า Buhhha and Jataka Tales ที่ทำให้เขาโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน และเป็นที่มาของงานนิทรรศกาลครั้งนี้
คีย์หลักสำคัญของนิทรรศการครั้งนี้คือ ‘จิตปรุงแต่ง’ เหมือนที่โน่ตั้งต้นคอนเซปต์ของนิทรรศการครั้งนี้จากการที่จิตของเขาจินตนาการว่าเมฆบนฟ้าเป็นรูปอะไรบ้าง แต่คำว่า ‘จิตปรุงแต่ง’ ตรงนี้ไม่ได้เป็นความหมายในเชิงลบ เพราะโน่บอกว่าสำหรับเขา เราสามารถหยิบเอาจิตปรุงแต่งมาส้รางโทษหรือประโชยน์ก็ได้
งานจัดแสดงแต่ละชิ้นของโน่เกิดขึ้นจากกระบวนการ 3 แบบ แบบแรกคือเกิดขึ้นจากการที่เขานำเอาพุทธปรัชญาที่ได้เรียนรู้มาตีความเป็นภาพชิ้นงาน เห็นได้ชัดๆ จากชิ้นงาน ‘อนัตตา’ ที่ตรงกลางชิ้นงานนั้นไร้ซึ่งวัสดุใดๆ เพื่อสะท้อนถึงหลักธรรมที่ว่าใดใดในโลกล้วนว่างเปล่า
แบบที่สองเกิดขึ้นจากฟอร์มที่โน่หลงใหล เขาอาจจะชอบฟอร์มของบางสิ่งบางอย่างจนนำสิ่งนั้นมาสเก็ตช์ ออกแบบ และต่อยอดเป็นชิ้นงานที่น่าสนใจ ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คงเป็นเหล่าก้อนเมฆน้อยใหญ่ที่วางตั้งบนโต๊ะกลางในห้องชั้นสอง บางชิ้นคล้ายกับกล้วนยของเจ้าพ่อป๊อปอาร์ต Andy Warhol บางชิ้นคล้ายกับควันที่ลอยฟุ้งของระเบิดปรมาณูจากน้ำมือมนุษย์
ส่วนแบบที่สามเป็นกระบวนการแบบ Found Object ของ Marcel Duchamp ที่โน่จะหยิบเอาชิ้นส่วนต่างๆ ที่เขามองว่าน่าสนใจมาต่อยอดเป็นชิ้นงานของเขา เช่น หยิบเอาพระหัตถ์ของพระพุทธรูปที่เจอในร้านขายของมือสองมาต่อยอดเป็นงาน Hand of Godz ที่น่าสนใจ เพราะเขาเอาแรงบันดาลใจจากหนังเรื่องคนเล็กหมัดเทวดามาผสมผสานด้วย
ความน่าสนใจในงานของโน่คือเมฆที่เขาปรุงแต่งนั้นก็ไม่ได้ไร้แก่นสารแต่อย่างใด แต่มันเป็นการตีความของโน่ว่าเมฆหรือ Cloud นี้ก็อาจจะเป็นที่เก็บข้อมูลของพระพุทธเจ้าในการระลึกชาติก็เป็นได้
ส่วนชิ้นที่เราชอบเป็นพิเศษเห็นจะเป็น Meka Of Invisible ซึ่งเป็นชิ้นที่พระพุทธรูปถูกห่อหุ้มไปด้วยเมฆหนาทึบ เหลือแต่เพียงพระหัตถ์และยอดพระเกศเท่านั้นที่ทอแสงทองออกมา
“ตอนทำธีสิสจบ เราพยายามเอาขยะที่เกิดในวัดมาแปรรูปเป็นวัสดุให้เกิดประโยชน์ ตอนแรกเราเลยเอาธูปมาลองทำเป็นงานโบกปูนซ่อนพระแบบพระพุทธรูปวัดไตรมิตรที่ช่างสมัยโบราณโบกปูนทับพระพทุธรูปทองคำอีกรอบหนึ่ง แต่ตอนนั้น วัสดุจากธูปไม่ค่อยคงทน ในที่สุดเราเลยได้รู้จักกับอีพ็อกซี่ที่ใช้เป็นวัสดุหลักในการทำงานทุกชิ้น
.
“งานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของแนวคิดโบกปูนซ่อนพระ เราตั้งใจสื่อสารว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เราทำมันก็เป็นเพียงเปลือกของศาสนาเท่านั้น เราอยากให้ทุกคนหันกลับมามองที่แก่นของศาสนาจริงๆ ซึ่งคือพุทธปรัชญามากกว่า
"นอกจากนั้น เมฆที่ปกคลุมตรงนี้ก็ยังสื่อถึงข่าวสารมากมายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เราจะดำรงชีวิตอยู่ได้จริงๆ ก็ด้วยยอดพระเกศที่โผล่ออกมาซึ่งสื่อถึงสติปัญญา และพระหัตถ์ซึ่งสื่อถึงการลงมือทำจริงๆ”
ความน่าสนใจอีกอย่างของผลงานแต่ละชิ้นของเขานั้นมีสีสดใสซึ่งโน่ได้แรงบันดาลใจจากธงประจำพุทธศาสนาอันเป็นธงฉัพพรรณรังสีที่ประกอบด้วย 6 สีหลัก แต่ละสีมีความหมายที่แตกต่างกัน โน่จึงหยิบเอาสีเหล่านั้นมาตีความเป็นแบบฉบับของเขาเอง นอกจากนั้น เขายังนำสีเหล่านั้นไปทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้เป็นสี 4 มิติตามแต่มุมมองของเรา เห็นได้ชัดเจนจากภาพนูนต่ำที่เขาจัดแสดงอยู่ที่ชั้นล่าง
หากมองภายนอก เราอาจคิดไปว่านี่เป็นงานล้อเลียนพุทธศาสนาฉบับศิลปะร่วมสมัยและศิลปะแบบป๊อป แต่แท้จริงแล้ว หากเราตั้งใจชมทุกชิ้นงานจริงๆ เราจะพบว่าโน่แฝงพุทธปรัชญาไว้ให้เราได้คิดเสียมากกว่า เพียงแต่มันเป็นการตีความในยุคสมัยใหม่ที่ตั้งใจให้ผู้ชมอย่างเราๆ เข้าถึงศาสนาได้ง่ายขึ้น
“เราอยากให้พุทธศาสนาเข้าถึงได้ง่าย คุณไม่จำเป็นต้องกราบไหว้บูชาก็ได้ แต่ผลงานเหล่านี้อาจทำให้คุณได้ระลึกถึงพุทธปรัชญาที่มีมายาวนานหลายพันปี”
ถ้าเรามองดีๆ โน่ก็เป็นเหมือนกับช่างปั้นคนหนึ่งในพุทธศาสนา เขาอาจจะไม่ได้ปั้นพระพุทธรูปตามแบบฉบับพุทธลักษณะ 32 ประการเช่นคนไทยในสมัยสุโขทัยที่ปั้นให้พระพุทธรูปมีใบหน้าและทรวดทรงที่งดงามอ่อนช้อย
อาจไม่ได้ปั้นพระพุทธรูปแบบชาวกรีกที่นำตำราพุทธลักษณะนั้นไปตีความและปั้นจนประพุทธองค์มีรูปร่างอย่างรูปปั้นกรีดที่เราคุ้นตา
แต่เขากำลังตีความพระพุทธองค์ในแบบฉบับของตนเอง เสมือนเขาเป็นช่างสมัยใหม่ที่พยายามทำให้คนหันกลับมาใส่ใจแก่นแกนของศาสนาจริงๆ