Protozua แรปเปอร์เซลล์เดียวผู้อยากเห็นคนไทยยืนหลังตรง และไม่ต้องกลัวการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
“เหมือนต้องอมลูกอมชื่อความทุกข์เอาไว้ในปาก หลายคนยังลำบากสุดเข็ญ หนุ่มสาวก็เลยใส่ถุง ไม่อยากจะให้กำเนิด เกิดมาให้เขาเหยียบย่ำทำไม?”
นี่คือเนื้อเพลงส่วนหนึ่งของเพลง ‘อยากจะยืนหลังตรง’ บทเพลงโฟล์คฟังสบาย แต่ความหมายบาดลึก และน่าจะตรงใจใครหลาย ๆ คน โดย Protozua แรปเปอร์ และสมาชิกวง RAD (Rap Against Dictators) ผู้อยู่เบื้องหลังบทเพลงเสียดสีสังคมและการเมืองในประเทศไทยอย่างแสบ ๆ คัน ๆ มาแล้วมากมาย รวมไปถึง ‘ประเทศกูมี’ เพลงแรปเนื้อหาหนักแน่นที่ได้รับความสนใจจากผู้คนมาแล้วมากมาย
จากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากศิลปินเพลงโฟล์คสะท้อนสังคมอย่าง Bob Dylan ทำให้ในเพลงนี้ แรปเปอร์อย่าง Protozua เริ่มหันกลับมาจับกีตาร์ เพื่อร้องเพลงสื่อสารถึงทุกคนในสังคมที่ไม่เคยได้ยืนหลังตรงสักครั้งในชีวิต และเพื่อตอกย้ำว่า โครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวมีผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนแค่ไหน ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่สภาพจิตใจ
“เราสนใจเรื่องชีวิตมาโดยตลอด อย่างตอนที่เราแข่ง Rap Is Now ชนะ และเริ่มต้นทำเพลงหลังเรียนจบใหม่ ๆ เพลงที่เราทำตอนนั้นมันก็พูดเรื่องชีวิตแหละ แต่มันยังอยู่แค่ในระดับตื้น ๆ ตอนนั้นเราไม่ได้คิดว่า โครงสร้างของสังคมจะมีผลต่อชีวิตใคร อย่างตอนนั้นเราทำเพลงชื่อ ‘ภูเขาฝัน’ ที่พูดถึงเรื่องความฝัน และการทำในสิ่งที่ชอบ ตอนนั้นเรายังมองว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นการตัดสินใจของปัจเจกอยู่ เรายังไม่ได้เข้าใจว่า ที่หลายคนเขาทำมันไม่ได้ เพราะเขามีภาระหรือโดนกดทับยังไง”
“ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเราโตมากับพ่อที่เป็นข้าราชการแล้วเบิกได้ทุกอย่าง ค่าเรียนก็เบิกได้ ป่วยก็เบิกได้ เราไม่เคยต้องกังวลเรื่องพ่อแม่ พ่อแม่เองก็ไม่เคยพูดว่าเราต้องเอาเงินมาให้เขานะ เพราะเขามีบำนาญ มันเหมือนกับว่า เราได้ใช้ชีวิตแบบมีรัฐสวัสดิการเฉพาะในครอบครัวของเรา”
“แต่ความคิดของเราก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา อย่างในเพลง ‘อยากจะยืนหลังตรง’ คำว่า ‘หลังตรง’ ในที่นี้มันเป็นคำอุปมาที่หมายถึงภาพของคนที่ทำงานงก ๆ ชีวิตทั้งชีวิตอยู่แต่กับงาน มันยากมากที่จะได้พักผ่อน เราอยากจะยืนหลังตรง ไม่ต้องคิดแต่เรื่องการทำงาน การหาเลี้ยงชีพ และสามารถรู้สึกภูมิใจในตัวเองมากพอจนเรายืนหลังตรงได้ อย่างตอนเด็ก ๆ เราก็จะถูกสอนว่า เราต้องยืนให้มันสง่าผ่าเผย แต่ในเมื่อเราถูกหลาย ๆ กดทับเอาไว้ เราจะสามารถยืนอกผายไหล่ผึ่งได้ยังไง”
“นอกจากนั้น เรายังได้ไอเดียส่วนหนึ่งมาจากหนังสือชื่อ ‘Lost Connections: Why You’re Depressed and How to Find Hope’ ของ Johann Hari มันเป็นหนังสือที่พูดเรื่องโรคซึมเศร้า ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ในแง่สารเคมีในสมองอย่างเดียว แต่ยังพูดถึงในแง่บริบทของสังคมและชีวิตว่ามันมีผลกับโรคนี้เหมือนกัน มันมีบทหนึ่งที่เขาพูดถึงลิงที่อยู่เป็นฝูง อย่างลิงเองก็มีระบบชนชั้นของมัน เขาลองเอาน้ำลายของลิงที่อยู่ชนชั้นล่างสุดไปตรวจก็พบว่า มันมีสารคอร์ติซอลซึ่งเป็นสารความเครียดอยู่สูง คือถึงแม้ลิงจะไม่มีระบบเศรษฐกิจ แต่ถ้ามันแข็งแรงน้อยตัวอื่นก็จะถูกทำร้าย ถูกแย่งอาหาร ถูกแย่งตัวเมีย ถ้าเปรียบเทียบเป็นมนุษย์ก็คือคนที่ได้ทรัพยากรน้อยที่สุดนั่นแหละ แล้วลิงพวกนี้มันมักจะมีท่าเดินหลังค่อม ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ที่เป็นซึมเศร้า เขาก็เดินหลังค่อมเหมือนกัน เพราะว่าร่างกายกับสมองมันเชื่อมโยงกัน”
“หรืออย่างบางประเทศที่เขาทดลองแจกเงินถ้วนหน้าให้ประชาชนแค่พอสำหรับใช้ซื้อปัจจัยขั้นพื้นฐาน คือประชาชนก็ยังทำงานด้วย แต่เขาไม่ต้องกังวลมาก เพราะเขารู้ว่า ถึงล้มก็ไม่ได้ล้มหมดตัว ซึ่งมันก็มีการไปติดตามการจ่ายยาต้านเศร้าของคนในกลุ่มนี้ก็พบว่า การจ่ายยาต้านเศร้าของผู้ใหญ่ก็ลดลง ของเด็กก็ลดลง เพราะพอพ่อแม่กังวลน้อยลงก็ไปลงกับเด็กน้อยลง แล้ววันหนึ่ง เมื่อนโนบายมันหมดไป ไม่มีการแจกเงินถ้วนหน้าอีก ยอดตรงนี้มันก็เด้งกลับขึ้นมาใหม่ สิ่งเหล่านี้คือมันเปิดโลกเราเลย เพราะแต่ก่อนเราถูกปลูกฝังมาว่า การแจกเงินมันไม่ดี แต่พอวันเวลาผ่านไป เราถึงเพิ่งมาเข้าใจว่า สิ่งเหล่านี้คือรัฐสวัสดิการนี่เอง”
“อย่างที่บอกไปว่า เราโตมากับครอบครัวข้าราชการที่เบิกได้ทุกอย่าง แต่ก่อนก็เราคิดแค่ว่า เขาสมควรได้รับมันแล้ว แต่พอเราก้าวเข้าสู่วัยทำงานเอง เราถึงเพิ่งเข้าใจว่า คนอื่นเขาลำบากกันมาก ๆ เลยนี่หว่า เราเพิ่งมาเข้าใจว่า ที่คนอื่นเขาคิดแบบในเพลง ‘ภูเขาฝัน’ ไม่ได้ เพราะเขาโดนโครงสร้างสังคมกดทับอยู่ ตอนนี้มันเลยกลายเป็นหน้าที่เราแล้วแหละที่จะต้องออกมาพูดถึงเรื่องนี้ เพราะพอเวลาผ่านไป สายตาที่มองโลกมันเปลี่ยนไป ตอนนั้นเรายังเป็นน้องซัว แต่ตอนนี้ที่มาดีดกีตาร์คือมันจะเป็นน้าซัวแล้ว”
“เราคิดว่า รัฐที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังคือรัฐที่ทำให้เรื่องพื้นฐานธรรมดา ๆ ของการเป็นมนุษย์อย่างการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แค่นี้เลย คนท้องจะคลอดลูกก็ไม่จำเป็นต้องถามว่าคลอดที่ไหนดี จะคลอดที่ไหนก็เหมือนกัน โรงพยาบาลใกล้บ้านก็ไปได้ หรืออยากจะส่งลูกเรียนหนังสือก็ไม่จำเป็นต้องคิดว่าจะเอาลูกไปเรียนที่ไหนดี มันต้องไม่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแบบทุกวันนี้”
“พอคนเริ่มแก่ตัวลง เราจะได้ยินคนพูดว่า เราต้องมีลูกหลานนะ เขาจะได้มาดูแลเราในอนาคต แล้วคนที่เขาไม่ได้มีเงินล่ะ จะต้องทำยังไง มันเหมือนกับว่า ทุกอย่างในชีวิตนี้มันถูกผลักให้มาเป็นภาระเราหมดเลย”
“เราคิดว่า สิ่งที่ยากที่สุดที่จะทำให้คนมาเข้าใจคือ เขาไม่คิดว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวเขา ในเพลง ‘อยากจะยืนหลังตรง’ เราเลยพยายามหยิบเอาความทุกข์ที่ทุกคนมีร่วมกันมาวางไว้กลางแจ้ง เพราะถ้าเขาได้เริ่มเอ๊ะแล้ว เขาก็จะสามารถค้นคว้าและไปต่อได้อย่างรวดเร็วเลย เพราะข้อมูลมันพร้อมที่จะไหลเข้าหัวอยู่แล้ว ขอแค่ให้เขาเลิกคิดว่ามันไม่เกี่ยวก็พอ”
“การทำเพลงของเรามันก็เหมือนกับการหย่อนเมล็ดพันธุ์เข้าไปในความคิดคนแล้วเฝ้ารอ ซึ่งถ้าเรามองกันจริง ๆ แล้ว สำหรับคน ๆ หนึ่ง มันไม่ได้ใช้แค่เมล็ดเดียวด้วยซ้ำ เราต้องการป่าในความคิดของเขาเลยต่างหาก เราในฐานะศิลปินก็มีหน้าที่คอยหย่อนมันลงไปเรื่อย ๆ”
รับชมมิวสิกวิดีโอเพลง ‘อยากจะยืนหลังตรง’ ได้ที่: