อีกหน้าหนึ่งที่สำคัญของประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียและศิลปะโลก กำลังจะถูกเขียนใหม่ใน ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ‘Centre Pompidou’ พิพิธภัณฑ์ระดับโลกในประเทศฝรั่งเศส กับนิทรรศการ ‘Non-Forms’ ที่แสดงผลงานของ ‘จ่าง แซ่ตั้ง’ ศิลปินคนสำคัญของไทย เจ้าของ ‘บทกวีรูปธรรม’ และผลงานนามธรรมที่วาดด้วยการกวัดแกว่งร่างกาย
ย้อนไปหลายสิบปีก่อนวงการศิลปะไทยและโลกกำลังตื่นตัวกับขบวนการ Modernism ซึ่งส่งออกมาจาก “โลกตะวันตก” จ่าง แซ่ตั้ง เป็นศิลปินคนหนึ่งที่ทำงานล้ำ ๆ กลางกระแสล้ำ ๆ นี้ แบบดูด้วยตาก็อาจจัดวางให้เขาไปอยู่ในหน้ากวีอาวองการ์ด หรืออยู่กับศิลปินนามธรรมที่สำแดงพลังผ่านการตวัดกวัดแกว่งร่างกายในหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะทั่วไปก็คงดูไม่แปลกนัก
แต่นิทรรศการนี้กำลังชวนให้เราไปไกลกว่ามุมมองแบบตะวันตกที่ครอบงำการเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะโมเดิร์นโลกอยู่ ด้วยการกางบริบททางความคิดและการทำงานของจ่าง แซ่ตั้งออกมาให้ดู ร่วมกับผลงานชิ้นสำคัญของเขา เช่น ภาพนามธรรมแบบ “Gestural Abstraction” ที่เราจะเห็นว่ามีรากมาจากหลัก ‘เอกัคคตา’ ในปรัชญาแบบพุทธต่างหาก หรือ ‘บทกวีรูปธรรม’ หรือภาพที่เขาวาดขึ้นมาจากการจัดวาง “คำ” ที่เขียนประกอบกัน ซึ่งได้ชื่อมาจากรากทางภาษาบาลี
เอกสาร วัตถุพยาน และภาพยนตร์ จะเป็นส่วนประกอบที่ทำให้เราเห็นปรัชญาเต๋าและฉาน รวมทั้งบริบททางการเมืองตั้งแต่ยุค 14 ตุลา - 6 ตุลา ที่ทำให้เราต้องตั้งคำถามใหม่ ว่าการหลักการตีความแบบ “นามธรรม vs รูปธรรม” หรือแบบ “ภาพ vs คำ” นั้นเข้ากันกับงานของเขาแค่ไหน หรือที่จริงคอนเซ็ปต์เหล่านี้ใช้ทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะโลกได้ดีแค่ไหน เมื่อศิลปินมากมายสร้างผลงานจากรากความคิดอีกแบบ ในบริบทอีกแบบที่ต่างจากโลกตะวันตก
นิทรรศการ ‘Non-Forms’ โดย จ่าง แซ่ตั้ง จะจัดแสดงที่ Centre Pompidou ปารีส วันที่ 20 ตุลาคม 2566 - 8 เมษายน 2567