ในช่วงไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนที่ติดตามผู้คนในแวดวงศิลปะ น่าจะเริ่มเห็นโพสต์จากคนรู้จักและเหล่าศิลปินหลายท่าน แชร์ภาพข้อความ “Art Center is Art Center” กันอยู่บ้าง โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากโพสต์ของ ‘อาจารย์ปรมพร ศิริกุลชยานนท์’ หรือ ‘อ.เต้’ อดีตผู้อำนวยการหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรที่ออกมาบอกว่า
“หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ต้องเป็นหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ตลอดสิบปีที่ผ่านมาเราต่อสู้กับการพัฒนาหอศิลป์ในสถาบันการศึกษาที่ไม่ได้ปิดตัวเองอยู่แค่ในรั้ว แต่พยายามเชื่อมโลกภายนอกให้เข้ามาสู่โลกภายในด้วยมิติทางการศึกษา เราเป็นหอศิลป์ในสถาบันการศึกษาแห่งเดียวที่ทำกิจกรรมร่วมสมัยอย่างต่อเนื่องและยังดำรงอยู่”
ซึ่งข้อความที่ว่านี้ก็มีความนัยสื่อถึงสถานการณ์อันน่ากังวลและน่าจับตามองของ ‘หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ’ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหาร ในแง่ของการแทรกแซงการจัดแสดงศิลปะให้กลับไปเป็นสไตล์เดิม รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็นอย่างอื่นแทนที่หอศิลป์ไปเลย
ส่งผลให้เหล่าศิลปิน คิวเรเตอร์ และคนที่สนับสนุนทิศทางการจัดการของหอศิลป์ในปัจจุบัน รู้สึกกังวลใจต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีความเสี่ยง เลยตัดสินใจส่งต่อข้อความเหล่านี้ออกมา เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนมองเห็นความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ในฐานะของ ‘หอศิลป์ในมหาวิทยาลัย’ แหล่งท้าย ๆ ที่หลงเหลืออยู่
อ.เต้ บอกกับเรา เมื่อเราถามถึงสถานการณ์ความเป็นไปที่ก่อให้เกิดความกังวลในช่วงเวลานี้ว่า “ในปัจจุบันนี้น่าจะมีแค่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรเพียงแห่งเดียวที่หลงเหลืออยู่ ในฐานะหอศิลป์ในมหาวิทยาลัยที่ยังเข้มแข็งอยู่ ทั้งในเรื่องการผลิตเนื้อหาของศิลปะร่วมสมัย และความต่อเนื่องในการจัดแสดงที่ยาวนานกว่า 10 ปี”
เธอได้ชี้ให้เห็นว่า แต่เดิมพื้นที่หอศิลป์แห่งนี้ค่อนข้างเป็นระบบปิดที่สงวนไว้ให้เพียงคนใน มักจะจัดแสดงงานศิลปะแบบเก่า อย่างงานจิตรกรรมไทยที่เน้นความสมจริง หรือที่คนทั่วไปมองว่าเป็น ‘ศิลปากรนิยม’ จนในช่วงหลังเธอและทีมงานทุกคนได้พยายามปรับเปลี่ยนและล้างภาพจำของหอศิลป์แห่งนี้ใหม่ทั้งหมดให้มีความเชื่อมโยงกับโลกศิลปะภายนอกมากขึ้น เป็นหอศิลป์เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง และจัดแสดงงานร่วมสมัยที่หลากหลายมากขึ้น โดยงานล่าสุดที่จัดโดยหอศิลป์ศิลปกร วังท่าพระ ที่เพิ่งได้รับเสียงชื่นชมในแง่ของการนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในแวดวงศิลปะร่วมสมัย ก็คือ ‘นิทรรศการทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 22’ ที่โดดเด่นด้วยการรวบรวมศิลปินร่วมสมัยหลากหลายแขนงมาร่วมถ่ายทอดแง่มุมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปัญหาชาติพันธุ์ เรื่องของศาสนา และวิทยาศาสตร์ ผ่านสื่อศิลปะหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรม จิตรกรรม ภาพถ่าย วิดีโออาร์ต อินสตอลเลชันอาร์ต รวมไปถึงคอนเซปชวลอาร์ต (อ่านบทความฉบับเต็มเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ได้ที่: http://groundcontrolth.com/.../22-silpa-bhirasri...)
ตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ทุกคนในแวดวงศิลปะเลยสามารถรับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกันเป็นอย่างดีว่านิทรรศการที่หอศิลป์แห่งนี้จัดขึ้น จะมีความเป็นศิลปะร่วมสมัยสูงมาก แตกต่างจากยุคสมัยแรกอย่างเห็นได้ชัด เพราะเหล่าทีมงานสามารถลงมือทำกันได้อย่างเต็มที่ คัดเลือกผลงานกันได้แบบเต็มที่ และมุ่งมั่นที่จะทำขึ้นเพื่อการศึกษาได้อย่างเต็มขั้นจริง ๆ เนื่องจากไม่ถูกจำกัดด้วยเรื่องของเงินทุน หรือกังวลว่าถ้านำมาจัดแสดงแล้วจะสามารถขายผลงานศิลปะได้หรือไม่แบบที่องค์กรเอกชนเป็น
อ.เต้ยังเสริมอีกว่า “ถ้าไม่มีหอศิลป์ศิลปากร ก็จะไม่มีหอศิลป์ในมหา’ลัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาอีกแล้ว เพราะมันไม่เหลือที่อื่นแล้วที่จะสามารถผลิตโชว์ของตัวเองขึ้นมาจริง ๆ โดยไม่คิดเรื่องเชิงพาณิชย์เลย ดังนั้นถ้าเราจะยืนอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องแสดงทิศทางให้ชัดว่าเราทำงานขึ้นเพื่อวงการศิลปะจริง ๆ เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของวงการศิลปะที่ทำให้ระบบนิเวศศิลปะร่วมสมัยในไทยมันไปต่อได้”
เพราะฉะนั้นหากไม่มีหอศิลป์แบบนี้อยู่อีกแล้ว ก็เท่ากับว่าหอศิลป์ของรัฐจะหายไปอีกที่หนึ่งเลย จากที่แต่เดิมหอศิลป์ของภาครัฐไทยเราก็ไม่ค่อยเข้มแข็งอยู่แล้ว ก็จะยิ่งอ่อนแอลงไปอีก ในฐานะคนที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันหอศิลป์ให้มุ่งเน้นไปที่การศึกษาและสร้างงานศิลปะโดยไร้ข้อกังวลเรื่องอื่น เธอจึงอยากคงความเป็นหอศิลป์ศิลปากรแบบนี้ต่อไป เหมือนกับที่หอศิลป์ของรัฐควรจะเป็น