“เรือนจำรัสเซีย” สีสันของความหดหู่ภายใต้การถูกควบคุม

Post on 24 January

ในช่วงฤดูร้อนของปี 2000-2001 และฤดูหนาวปี 2001-2002 คาร์ล เดอ คีย์เซอร์ (Carl de Keyzer) ช่างภาพชาวเบลเยียม มีโอกาสเดินทางไปยังเมืองครัสโนยาสค์ (Krasnoyarsk) หลังจากได้รับอนุญาตจากกองทัพรัสเซียในการเข้าเยี่ยมเรือนจำซึ่งเคยเป็นค่ายกักกันแรงงานเก่าของ Gulag เพื่อเก็บภาพบรรยากาศภายในตลอดระยะเวลาเกือบ 7 เดือน คาร์ลได้เข้าไปสำรวจเรือนจำมากกว่า 40-50 แห่ง และถ่ายภาพชีวิตของเหล่าผู้ต้องขังซึ่งอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีการควบคุมอยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็นภาพชุดอันโด่งดังที่ชื่อ “Zona” หรือ “The Zone”

Zona: Siberian Prison Camps คือภาพชุดที่นำพาเราให้ตั้งคำถามต่อประเด็นทางจริยธรรม ภาพถ่ายของคาร์ลเป็นเหมือนโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากองค์ประกอบเบื้องหลังภาพถ่าย มักเป็นการจัดฉากขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ เพื่อทำให้ภาพออกมาดูชวนฝันและไร้ซึ่งความโหดร้าย ฉากหลังของเรือนจำถูกแต่งแต้มด้วยสีสันสดใสอย่างตั้งใจ จนใครหลายคนอาจเกิดความสงสัยถึงความน่าดึงดูดใจเกินจริงที่ปรากฏ ภาพถ่ายของคาร์ลจึงไม่ใช่แค่การสะท้อนภาพมวลรวมของสถานที่แห่งนี้เท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการเฝ้าระวังและการถูกควบคุมด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นัยยะของกดขี่ที่ถูกปิดบังอยู่ ก็ได้แสดงออกผ่านสีหน้าท่าทางของผู้ต้องขังในเรือนจำ

“เรายังคงเห็นปีที่สร้างติดอยู่ตรงประตูทางเข้าเหมือนในอดีต”

Gulag หรือ Glávnoje Upravlénije Lageréj เป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ปกครองค่ายกักกัน คำนี้ได้กลายมาเป็นชื่อเรียกค่ายแรงงานในสหภาพโซเวียตต้ังแต่ยุคของเลนิน (Vladimir Lenin) เป็นต้นมา จนกระทั่งหลังจากที่ สตาลิน (Joseph Stalin) เสียชีวิตลงในปี 1953 ระบบ Gulag อันโหดเหี้ยมจึงถือสิ้นสุดลง อดีตที่ชวนหดหู่ กระตุ้นความอยากรู้ของคาร์ลจนเขาตัดสินใจมาเยือนสถานที่แห่งประวัติศาสตร์นี้ ภาพของเขาจึงไม่เพียงแค่อธิบายถึงสภาวะในปัจจุบัน (ช่วงการทำงานของคาร์ล) แต่ยังสะท้อนความไร้ซึ่งมนุษยธรรมในอดีตด้วยเช่นกัน

ภาพถ่ายของคาร์ลแสดงออกถึงความคิดที่อยากจะรื้อโครงสร้างบางอย่างเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาพการประชุมของ NATO ภาพในเกาหลีเหนือ หรือภาพที่ Capitol Hill “โฆษณาชวนเชื่อ” จึงเป็นทั้งเครื่องมือและหัวข้อในการตีแผ่ความจริง ผลงานของเขาล้วนสะท้อนถึงการบุกรุกสถานที่หนึ่งด้วยมุมมองอันแปลกใหม่ ภาพส่วนใหญ่เผยให้เห็นฉากที่มีความย้อนแย้งทางการเมืองโดยไม่ต้องมีคำบรรยายใดเพิ่มเติม เขาอธิบายถึงการทำงานในภาพชุด Zona นี้ว่า พวกเขา (หน่วยงานรัฐและเรือนจำ) จัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า มีเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นที่เขาจะสังเกตเห็นความรู้สึกประหลาดใจจากคนในเรือนจำ บางครั้งคาร์ลต้องรอถึงหนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายทำ เขาสังเกตได้ถึงสีที่ถูกทาขึ้นใหม่บนรั้ว รวมถึงดอกไม้ที่เหมือนเพิ่งจัดขึ้น

ในค่ายส่วนใหญ่ เจ้าหน้าที่สามารถเปิดประตูทุกบานที่คาร์ลขอได้ พวกเขาจัดการทุกสิ่งตามต้องการอย่างง่ายดาย ผู้พันที่คอยคุมการเดินทางของคาร์ล เข้าใจว่าเขาชอบจับภาพที่มีการเคลื่อนไหว ดังนั้นผลลัพธ์จึงไม่ใช่แค่การยืนมองกล้องของเหล่าผู้ต้องขังในเรือนจำ คาร์ลอธิบายถึงเหตุการณ์หนึ่งเมื่อเขาถามเจ้าหน้าที่ถึงสนามเทนนิสซึ่งตั้งอยู่โดด ๆ ว่าสร้างไว้เพื่ออะไร จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็มองหานักโทษสองคนเพื่อโชว์การเล่นเกมดังกล่าว พวกเขาใช้เวลาหาอุปกรณ์นานเป็นชั่วโมง สุดท้ายสิ่งที่เขาเห็นคือภาพของนักโทษสองคนกำลังแกล้งเล่นเทนนิสโดยไม่มีลูกเทนนิส แต่พวกเขาก็ยังคงมีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่ ความจริงแล้วการที่คาร์ลถูกควบคุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อาจดูไม่ต่างจากการแสดงออกอย่างฝืน ๆ ของนักโทษในเรือนจำมากนัก สิ่งที่คาร์ลพบ นำไปสู่คำถามว่า ใครกันที่เป็นผู้ควบคุมภาพโดยแท้จริง และนักโทษมีอิสระที่จะโพสท่าตามต้องการได้หรือไม่ ความขัดแย้งนี้ดำเนินไปตลอดทั้งซีรีส์นี้ สีหน้าและท่าทางของนักโทษ คือมุมมองของผู้ถูกควบคุม ซึ่งรับรู้ได้ทันทีว่า พวกเขากำลังรู้สึกกลัว และจำเป็นต้องเชื่อฟังผู้คุม

ท้ายที่สุดแล้ว ภาพชุดที่ชื่อ Zona นี้ นำมาซึ่งคำถามต่อความถูกต้องในการดูแลคุมขังนักโทษ และอิทธิพลสื่อซึ่งมีผลต่อความคิดของผู้พบเห็นทั้งทางตรงและทางอ้อม ตัวตนของผู้ต้องขังในเรือนจำ ได้รับการถ่ายทอดผ่านภาษาภาพและตัวอักษรอีกทีหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าภาพดังกล่าวอาจไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้นอย่างเบ็ดเสร็จ อีกทั้งเรือนจำแห่งนี้ก็ไม่ได้เปิดให้ใครเข้าไปอีกแล้ว ดังนั้นภาพในเรือนจำปัจจุบันล้วนเป็นสิ่งที่เกินการรับรู้ของผู้ชมอย่างเรารวมถึงตัวของคาร์ลเองเช่นกัน การมองดูภาพชุดนี้จึงมีความละเอียดอ่อน และยากจะมองอย่างผิวเผินได้

ติดตามผลงานของ Carl de Keyzer ได้ที่ : carldekeyzer.com

อ้างอิง : Prison Propaganda