การมาของกระแสที่เฉิดฉายที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ French New Wave

Post on 24 January

ในช่วงที่ผู้คนยืนอยู่กลางเมืองที่พังไปเพราะภาวะจากสงครามโลกครั้งที่2 กลุ่มนักวิจารณ์หนังหัวขบถ กำลังเริ่มแนวคิดปลุกกระแสทางภาพยนตร์ให้คึกครื้นขึ้นอีกครั้ง ด้วยวิธีการอันจัดจ้านที่แสดงออกตัวตนของพวกเขาอย่างเป็นอิสระ ไม่มีอะไรจะขวางได้! เหล่านักวิจารณ์หัวก้าวหน้าที่มาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์เต็มเปี่ยม ได้ผันตัวมาเป็นนักสร้างภาพยนตร์รุ่นใหม่ไฟแรงในนาม La nouvelle vague หรือ French New Wave 

แม้ไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาพยนตร์กระแสหลัก แต่พวกเขายังคงยืนหยัดอย่างมั่นใจกับงบที่มีอยู่จำกัด และ ‘กล้อง’ ตัวเล็ก ซึ่งเป็นเหมือนอาวุธชิ้นสำคัญที่ขาดไม่ได้ French New Wave เติบโตขึ้นไปพร้อมกับคนยุคใหม่ และความก้าวหน้าทางสังคม ที่เชื่อมโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกัน อาจเป็นเพราะความสับสนหลังสงครามที่ยังค้างเติ่งในใจผู้คน ทำให้ผลงานซึ่งเต็มไปด้วยความเป็นตัวเองแบบสุดขีดของเหล่าคลื่นลูกใหม่ในฝรั่งเศส พาพวกเขาให้ฉายแววเจิดจรัส จนกลายมาเป็นอิทธิพลสำคัญในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่นั้นมา คำว่า ‘คลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส’ เป็นจริงสมคำร่ำลือ และคลื่นที่ว่าก็ดูเหมือนจะเป็นมากกว่าคลื่นธรรมดาขึ้นไปอีกขั้น เพราะพวกเขามาพร้อมกับนิสัยกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูดถึงความสดใหม่ ความรัก ความรุนแรง เพศ ศิลปะ และการเมือง โดยไม่กลัวต่อกรอบสังคมใด.. 

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักสร้างหนังหรือไม่ เคยดูภาพยนตร์ของพวกเขาไหม กระแสภาพยนตร์ที่พวกเขาได้สร้างไว้ ยังคงเป็นเหมือนคลื่นที่ทั้งกระเพื่อมอยู่ใต้ผิวน้ำและเป็นคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ที่ซัดเข้าสู่โลกของภาพยนตร์อย่างเต็มกำลังในเวลาเดียวกัน และดูไม่มีทีท่าว่าคลื่นลูกใหม่นี้จะแผ่วไปพร้อมกาลเวลาเลย 

GroundControl ขอพาทุกคนมาตามสืบเสาะ ทำความเข้าใจกับคลื่นลูกใหม่ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสกันอีกครั้ง เพราะนอกจากความจัดจ้าน แพรวพราว ด้านการสร้างภาพยนตร์ ที่เราได้เห็นกันไปแล้ว เบื้องลึกเบื้องหลังซึ่งเกี่ยวข้องกับกระแสสังคม การเมือง และศิลปะ ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน!

การเดินทางสู่ Post-Modernism 

ผลจากสงครามโลกครั้งที่1 ส่งผลโดยตรงกับการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี รวมถึงการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายในวงกว้าง การเข้าถึงทรัพยากรจึงเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นตามไปด้วย วิวัฒนาการทางสังคมที่เกิดขึ้นจากช่วงสงคราม ชัยชนะ และความล้มเหลว ทำให้ทุกสิ่งเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อุตสาหกรรมสมัยใหม่จัดรูปร่างของสังคมให้เดินไปตามค่านิยมอย่างเป็นระเบียบแบบแผน เกิดเป็นความทันสมัยที่ได้รับแรงผลักดันจากรูปแบบทางสังคมและการเมืองโดยนิยามสิ่งนี้ด้วยคำว่า ‘โลกในอุดมคติ’ ที่มีเป้าหมายคือ ‘ความก้าวหน้า’ แม้ว่าผู้คนจะหันมาให้ความสนใจกับความเจริญ และมองหาความโดดเด่นในตัวเองกันมากขึ้น แต่สังคมสมัยใหม่ หรือที่เราเรียกว่าโลก Modern ยังคงถูกครอบด้วยความคิดแบบขั้วตรงข้าม (Binary Opposition) คือ เมื่อมีขาวก็ต้องมีดำ เพศหญิงตรงข้ามกับเพศชาย มีการแบ่งเส้นความถูกผิด และจัดระเบียบสิ่งต่าง ๆ แยกเป็นหมวดหมู่ ขับเคลื่อนสังคมใหม่ไปในทิศทางเดียวกันอย่างมั่นคง เพื่อรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเอาไว้ ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมจำนนต่อความเบ็ดเสร็จแบบสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะในประเทศแห่งเสรีภาพอย่างฝรั่งเศส 

ก่อนจะพูดถึงกระแส Post-Modernism ในฝรั่งเศส ส่ิงหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ สภาพสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามและหลังสงครามโลกครั้งที่2 (1939-1945) ความยากลำบากที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสต้องเจอในช่วงภาวะสงคราม ส่งผลให้เกิดการต่อต้านที่เรียกว่า La Résistance ในขณะที่ประชากรฝรั่งเศสส่วนหนึ่งต่อสู้กับการยึดครองของนาซี อีกส่วนหนึ่งก็ยังคงยอมรับรัฐบาล Vichy ที่สมรู้ร่วมคิดกับพวกนาซีเช่นกัน และแม้ว่าอำนาจของนาซีจะล่มสลายลงในปี 1945 แต่ร่องรอยความเสียหาย รวมถึงผลที่พ่วงมากับความโหดร้ายครั้งนั้นก็ยังคงซ่อนอยู่ในทุกมิติ ซึ่งดูเหมือนว่าสิ่งนี้ จะผลักให้นักคิดหัวก้าวหน้ามากมาย เริ่มกล้าที่จะวิพากษ์สังคมอย่างเปิดเผยมากขึ้นตามไปด้วย 

หลังตั้งตัวจากภาวะสงครามได้ กระแสแนวคิดเชิงปรัชญาก็เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้พร้อม ๆ กัน ในช่วงทศวรรษ 1950 เริ่มจากการปฏิวัติทางโครงสร้างนิยม (Structuralism) ซึ่งเป็นเหมือนการตีกลับสภาพสังคมอันไร้ความหมาย (Absurd) ที่มีกฎเกณฑ์มากมายเกินจำเป็น การเข้ามาของลัทธิหลังสมัยใหม่ (Post-Modernism) เป็นรูปแบบของวาทกรรมที่เกิดขึ้นจากความคิดและความสงสัยในโครงสร้างอันเป็นแบบแผน จนเริ่มตั้งคำถามเชิงวิพากษ์วิจารย์ ต่อความแน่นอนและความหมายโดยแท้จริงที่เหล่า Modernism ตั้งไว้ ธรรมชาติของ Postmodernism คือการประชดประชันว่าไม่มีความถูกต้องแบบเบ็ดเสร็จในโลก การมาถึงของ La nouvelle vague หรือ French New Wave นักทำหนังคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส ที่กำลังจะเจิดจรัสบนหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เอง ก็ได้แนวคิดหลักจากการปฏิเสธโครงสร้างสังคมเดิม ๆ เช่นกัน

Auteur Theory

ภาพยนตร์ กลายมาเป็นวิธีการแสดงออกที่อยู่ในระดับเดียวกับภาพวาดและนวนิยาย รูปแบบที่ศิลปินแสดงออกทางความคิด ไม่ว่าจะจับต้องได้ เป็นแนวคิดเชิงนามธรรม หรือแม้แต่การแปลภาษา ความหลงใหลของพวกเขา ต่างเป็นไปในแบบเดียวกับการสร้างนวนิยายร่วมสมัย (Contemporary Novel) ฉันจึงเรียกยุคใหม่ของภาพยนตร์นี้ว่าเป็นยุคของ Caméra-Stylo

แต่เริ่มเดิมที เส้นทางสู่การเป็นนักสร้างหนังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศส มักจะกระจุกตัวอยู่แค่ในแวดวงคนทำหนังหรือคนที่เคยฝึกงานคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มาก่อน ในช่วงเวลาหนึ่ง เหล่านักทำหนังหน้าใหม่ จำเป็นต้องตะเกียกตะกายบันไดทางอาชีพขึ้นไปเอง ความน่าเศร้าเกิดขึ้นตรงที่มีผู้โชคดีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่ถือว่าคู่ควรกับการเป็นนักสร้างหนัง ในตอนนั้น Centre national du cinéma et de l'image animée (CNC) ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ด้านภาพยนตร์ มีกฎรับรองการทำหนังเฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำเท่านั้น โดยยืนยันจาก ‘บัตรผู้กำกับ’ วิธีการของ CNC (ในยุคนั้น) เป็นอุปสรรคอย่างมากต่อนักสร้างหนังรุ่นใหม่ที่เปี่ยมด้วยความฝันและจินตนาการ 

แทนที่จะทำตามกฎที่ว่า นักทำหนังหัวขบถ กลับเดินในทิศทางที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง .. French New Wave เกิดขึ้นจากกลุ่มนักวิจารณ์ภาพยนตร์ในวารสาร Cahiers du Cinéma ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1951 โดย André Bazin, Jacques Doniol-Valcroze และ Joseph-Marie Lo Duca หรือที่รู้จักกันดีในกลุ่มนักเขียนที่มีชื่อเล่นว่า ‘Young Turks’ ความจริงแล้ว แนวคิดภาพยนตร์เชิงศิลปะที่มาจากศิลปิน นักเขียน หรือผู้สร้างภาพยนตร์ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1930 เห็นได้จากผลงานของ Luis Buñuel หรือ Salvador Dali แต่ท้ายที่สุดความจริงก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขาทั้งสองได้ André Bazin ผู้ร่วมก่อตั้งและนักทฤษฎีของ Cahiers du Cinéma เป็นผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อขบวนการ French New Wave ท่าทีการเย้ยหยันที่กล้าวิจารณ์โครงสร้างภาพยนตร์ฝรั่งเศสเดิม ๆ อย่างตรงไปตรงมา ได้ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่ เกิดเป็นการปฏิวัติวงการภาพยนตร์ด้วยวิธีการรื้อรากถอนโคลน และวางฐานภาพยนตร์ใหม่ในแบบของตัวเอง จนนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวอเมริกัน Andrew Sarris ได้เรียกแทนทฤษฎีของ Bazin ว่า ‘ทฤษฎีผู้เขียน - Auteur Theory’ (ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสคือ La politique des auteurs) ซึ่งว่าด้วยการให้ความสำคัญกับการแสดงออกตัวตนของผู้กำกับทั้งในด้านของรูปแบบภาพและการเขียนสคริปต์หนัง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ‘ ผู้สร้างภาพยนตร์ ถือได้ว่าเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่และเป็นผู้เขียนผลงานของตัวเอง’ 

Note: Caméra-Stylo ที่แปลว่า กล้อง-ปากกา คือวิธีการใช้กล้องเป็นเหมือนเครื่องมือในการแสดงออกทางความคิดส่วนตัว

French New Wave as an ‘Auteur’ 

Cahiers du Cinema เสนอวิธีการสร้างภาพยนตร์โดยที่ ‘ผู้เขียนบทและผู้กำกับ’ เป็นเจ้าของเรื่องราวของตัวเอง หรือถ้าจะพูดไปไกลกว่านั้นคือ การสร้างภาพยนตร์ ไม่ใช่แค่การนำเสนอเฟลมตรงหน้าหรือการจัดฉากอีกต่อไป แต่เป็นการเขียนความคิดขึ้นมาบนเฟรมแผ่นฟิล์มจริง ๆ อาจบอกได้ว่า มุมมองและอุดมการณ์ของ French New Wave เกิดขึ้นจากการชื่นชมภาพยนตร์ในฐานะที่เป็น ‘ภาษาศิลปะ’ สิ่งนี้ยังสะท้อนถึงความคิดแบบ Post-Modernism ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรูปแบบวัฒนธรรมใหม่ และแนวคิดเชิงปรัชญาที่มีอิทธิพลต่อสุนทรียะหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) รวมถึงการเล่าเรื่องที่ผสมความคลาสสิกและความทันสมัยเข้าด้วยกันชนิดที่อะไรก็เกิดขึ้นได้ 

มาถึงตรงนี้ คำศัพท์ที่ใช้เรียกแทนความสนใจในด้านภาพยนตร์ ทฤษฎีภาพยนตร์ และการวิจารณ์ภาพยนตร์ที่ว่า Cinephilia ซึ่งเกิดจากคำว่า Cinema และ Philia (คำในภาษากรีกโบราณที่แปลว่าความรัก) จึงกลายมาเป็นชื่อแทนอิทธิพลด้านสุนทรียะหลังโครงสร้างนิยมที่ชัดเจนที่สุด! François Truffaut อธิบายถึงแนวโน้มที่แน่นอนของภาพยนตร์ฝรั่งเศส หรือ Une Certaine Tendance du Cinéma Français ในปี 1954 โดยเน้นไปที่การวิจารณ์การดัดแปลงวรรณกรรมที่ชวนจรรโลงใจ ให้เป็นภาพยนตร์ที่ไร้จินตนาการ ซึ่งเป็นท่าทีของภาพยนตร์ฝรั่งเศสกระแสหลัก (Tradition de qualité) 

Truffaut และเพื่อนร่วมงานของเขาใน Cahiers du Cinema มักจะเปิดโปงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสอยู่เป็นประจำ และพยายามที่จะล้มอำนาจเก่าด้วยวิธีที่เหมาะสมและท่าทีที่สาสมที่สุด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายามจะ ‘สร้างภาพยนตร์ของตนเอง’ ขึ้น นักวิจารณ์ที่ผันตัวมาเป็นนักสร้างภาพยนตร์ในนาม ‘คลื่นลูกใหม่’ ส่วนใหญ่ เกิดในช่วงทศวรรษที่ 1930 และเติบโตในปารีส ทำให้พวกเขาได้มีโอกาสคลุกคลีกับแฟชั่น ความทันสมัย ชีวิตการทำงานในเมือง งานปาร์ตี้ การโต้เถียงทางปรัชญา และความโรแมนติก บุคลิกหัวขบทของพวกเขา ได้ชุบชีวิตภาพยนตร์ขึ้นจากความซ้ำเดิมด้วยการหยิบจับ ทำลายตัวบทและภาษาภาพชนิดที่หาตัวจับยาก เทคนิคหนึ่งที่สำคัญคือ ‘การไม่ระบุตัวตนของตัวละคร’ เหมือนหนังคลาสสิกที่เราเคยดูกัน

ผู้บุกเบิกที่โดดเด่นที่สุดสองคนในขบวนการครั้งนี้ ได้แก่ ‘François Truffaut’ และ ‘Jean-Luc Godard’ นอกจากนี้ยังมี Jacques Rivette, Claude Chabrol รวมถึง Alain Resnais และ Agnes Varda ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในขบวนการนี้ด้วยเช่นกัน พวกเขาสร้างกระแสการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยงบที่มีจำกัด โดยมีการออกแบบภาษาภาพใหม่ เช่น ทิ้งภาพ Long Take หรืองานตัดต่อแบบฉับไว ละทิ้งกฎเกณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ไม่เว้นแม้แต่การทำลายกำแพงของภาพด้วยการให้นักแสดงหันมาพูดกับคนดู ไม่เพียงแค่ด้านภาพ แต่ตัวเรื่องยังมีการแหวกกฎเกณฑ์ทั้งหมดด้วยเช่นกัน เรื่องเพศ และความรุนแรง ซึ่งเป็นธีมในภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของพวกเขา ไม่ได้รับอนุญาตจากเหล่านักทำหนังและกรรมการด้านภาพยนตร์ในกระแสหลัก ดังนั้นการถ่ายทำแบบ ‘กองโจร’ จึงเป็นส่ิงที่เจอบ่อยที่สุดในงานของเหล่า French New Wave 

นอกจากนี้ พวกเขายังไม่ยึดติดกับตัวบท แต่ถือว่า ‘ผู้กำกับ’ เป็นเหมือน ‘ตัวบท’ เสียเอง ความจริงแล้ว การอธิบายถึงสไตล์ที่ตายตัวในกระแสคลื่นลูกใหม่คงไม่ถูกต้องซะทีเดียว เพราะการทำหนังประเภทนี้ ผูกยึดโยงกับ ‘ตัวตน’ ของผู้กำกับ ทุกคนต่างพยายามสร้างรูปแบบภาพยนตร์ที่เป็นธรรมชาติและเป็นส่วนตัว โดยพัฒนามาจากประสบการณ์ รวมถึงความรู้ด้านภาพยนตร์ที่ได้จากการเป็นนักวิจารณ์ให้กับ Cahiers du Cinéma

จาก Neo-Realism ถึง French New Wave 

ผลพวงจากการรวมตัวกันของสหภาพยุโรปหลังสงคราม ทำให้กระแสทั้งด้านสังคม การเมือง รวมไปถึงรูปแบบของศิลปะจากที่ต่าง ๆ เชื่อมโยงต่อกันได้ง่ายขึ้น French New Wave ได้รับแรงบันดาลใจจากแม่แบบอย่าง Neo-Realism ในอิตาลี อีกทางหนึ่ง French New Wave เองก็เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันกับกระแสดังกล่าวด้วย แต่คงพูดไม่ได้ว่าทั้งสองกระแสนี้ ถอด DNA ถึงกันไปซะทีเดียว เพราะความเฉิดฉายของคลื่นลูกใหม่ในฝรั่งเศส พ่วงมาด้วยสไตล์อันสดสว่างที่ทั้งไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน! 

หาก L'arrivée d'un en gare de La Ciotat (The Arrival of a Train at La Ciotat Station) สารคดีสั้นปี 1895 ของสองพี่น้อง Lumière คือตำนานในหน้าประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ Les Mistons ของ François Truffaut ที่ถ่ายทำในปี 1957 ก็คงจะเป็นอีกหมุดหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน แม้ว่าสารคดีเรื่อง Night and Fog ของ Alain Resnais ในปี 1955 มักจะถูกนักประวัติศาสตร์พูดถึงว่าเป็นภาพยนตร์ที่ทำให้คลื่นลูกใหม่เริ่มต้นขึ้น เพราะเนื้อหามุ่งไปที่ความหายนะอันน่าสะพรึงกลัวหลังสงคราม และเป็นบทสรุปความรับผิดชอบของฝรั่งเศส ต่อการกำจัดพลเมืองในประเทศตัวเอง อีกทั้งตัว Les Mistons ก็ไม่ได้เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ Cahiers du Cinema แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่แสดงเอกลักษณ์ทางด้านภาพที่ไม่เน้นความจริงแท้ รวมถึงยังถ่ายทอดสไตล์ส่วนตัวของ Truffaut ในฐานะที่ผู้เขียนเรื่องราวที่เน้นไปตรงตัวบุคคลได้อย่างสมบูรณ์แบบ 

ความสำเร็จในการคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมบนเวทีภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 1959 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง The 400 Blows ก็ได้นำพาคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส ข้ามขั้นสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก รางวัลครั้งนี้ยังเป็นเหมือนหมุดสำคัญของ Truffaut ในฐานะผู้สร้างภาพยนตร์กระแสรอง ที่ประกาศชัยชนะการปฏิวัติวงการหนังในบ้านเกิดของตัวเองสำเร็จ ภายในเวลาเพียง 1 ปี หลังจากที่เขาและนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมเทศกาล ภาพยนตร์เรื่องนี้เทียบได้กับชีวิตในวัยเด็กของ Truffaut ที่มีแต่ความทุกข์ใจ เพราะครอบครัวแตกแยก อีกทั้งยังถูกส่งไปโรงเรียนดัดนิสัย สิ่งเดียวที่เป็นเหมือนที่ยึกเหนี่ยวจิตใจของเด็กชาย ซึ่งเป็นตัวแทนของ Truffaut คือ ‘การดูหนัง’ ภาษาภาพที่คล้ายกับหนังสารคดี สร้างอารมณ์ชวนหม่นหมองใจให้ผู้ชมไปพร้อม ๆ กับการเผยให้เห็นความประณีตงดงามของฉาก ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังตั้งคำถามต่อการปิดฉากแบบตัดสรุปในภาพยนตร์ ด้วยการใช้ความเวิ้งว้างของพื้นที่และฉากที่ทิ้งไว้ยาว ๆ โดยไม่มีการตัดต่อ เพื่อพาผู้ชมด่ำดิ่งสู่ความรู้สึกของตัวละคร อีกทั้งยังเปิดการตีความอย่างเป็นอิสระด้วยเช่นกัน เขาไม่ลืมที่จะแสดงความเคารพต่อ Andre Bazin บุคคลสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศสและ French New Wave ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ก่อนภาพยนตร์เรื่องนี้จะเสร็จสิ้น

Jean-Luc Godard กับอิทธิพลจาก Dadaism และ Pop Culture 

ถ้า Truffaut กำลังส่งเสียงถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในบ้านเกิด Jean-Luc Godard ก็คงเป็นเหมือนคนที่รวมเอาชะตากรรมของภาพยนตร์ฝรั่งเศสมาไว้ในหนังของเขา.. สำหรับ Godard แล้ว ไม่ใช่แค่สิ่งที่ตาเห็นเท่านั้น ที่สามารถเป็นภาพยนตร์ได้ แต่ทุกสิ่งคือภาพยนตร์ รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจเราด้วย ภาพยนตร์ของเขา ถูกเย้ยหยันว่าเป็นหนังของพวก ‘บริโภคนิยม’ และแน่นอนว่าสิ่งนี้มีรากฐานมากจากลัทธิ Dadaism และ Pop Culture การไม่ทำตามขนบศิลปะ และการเหยียดหยามชนชั้นนายทุน สะท้อนถึงจิตวิญญาณของชาว Dada กระแสศิลปะที่เกิดขึ้นมาเพื่อต่อต้านตรรกะเหตุผล และสุนทรียะของชนชั้นนำในสังคมช่วงสงครามโลกครั้งที่1 (ต้นศตวรรษที่ 20) 

สิ่งนี้เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของ Post-Modernism นำไปสู่ความพยายามในการจัดสรรวัตถุดิบที่มีอย่างจำกัด และการโต้ตอบเชิงประชดประชัน อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความเกียจคร้านด้วย ในแง่ของความงาม ศิลปะ Neo-Dada ในชื่อขบวนการ Pop Art ซึ่งต่อยอดมาจากลัทธิ Dada เดิม เกิดขึ้นเพื่อมาอุดรูโหว่ระหว่างความเป็นศิลปะกับชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมถูกผสมผสานเข้ากับความขี้เล่นและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการวิจารณ์สังคม แนวคิดนี้มีกลิ่นอาย Post-Modernism อยู่เต็มเปี่ยม 

แน่นอนว่าความงามในแบบฉบับ Neo-Dada ส่งผลต่อการแสดงออกของ French New Wave เข้าเต็ม ๆ เพราะสุนทรียะแบบใหม่นี้ มักเกี่ยวข้องกับความคลุมเครือทางศีลธรรมและความโรแมนติกที่มาชั่วครู่ชั่วคราว เห็นชัดว่าภาพยนตร์ของ Godard มักจะผูกเรื่องรัก เซ็กส์ ศิลปะ และความไม่แน่นอน เข้ากับตัวภาพยนตร์ที่เขาใช้แทนสภาวะทางการเมือง นอกจากนี้ ภาพยนตร์ของเขายังมีเนื้อหาเน้นไปที่ตัวบุคคล และการยอมรับความไร้สาระของมนุษย์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติทุกวัน 

Breathless (1960) นำเสนอรูปแบบที่สดใหม่อย่างไม่เคยมีมาก่อน ความจริงแล้ว ภาพยนตร์เรื่องน้ีและภาพยนตร์ช่วงแรก ๆ ของเขา เป็นเหมือนการผลิตซ้ำค่านิยมการสร้างหนังแบบอเมริกา เช่นการนำเอาภาพอาชญากรรม ซึ่งเป็นภาพจำของผู้กำกับชื่อดังอย่าง Alfred Hitchcock มาไว้ในเรื่อง แต่แทนที่เขาจะเล่าเรื่องโดยมีจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และตอนจบ Godard นำเสนอท่าทีใหม่ที่รุนแรงกว่า ด้วยการถ่ายทำเหมือนภาพยนตร์สารคดี อีกทั้งยังมีการบิดโครงเรื่องและตัดต่อกระโดดไปมา จนผู้ชมรู้สึกทึ่งไปตาม ๆ กัน ซึ่งก็อาจพูดได้ว่าในนัยยะหนึ่ง ภาพยนตร์ของเขา เป็นเหมือนการพลิกกลับท่าทีการสร้างหนัง Suspense แบบฮอลลีวูด 

ใน 2 or 3 Things I Know About Her (1967) และ Week-end (1967) Godard ยังคงครุ่นคิดถึงความซ้ำซากจำเจในชีวิตของชนชั้นนายทุน ตลอดภาพยนตร์เรื่อง 2 or 3 Things I Know About Her เขาขัดจังหวะการบรรยายด้วยการใส่ภาพกราฟิกการ์ตูนอเมริกันและภาพจากนิตยสารโฆษณา ส่วนฉาก Long Take รถติดใน Week-end ก็ได้กลายมาเป็นตำนานหน้าใหม่ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์จนถึงทุกวันนี้

จุดสิ้นสุดของ French New Wave ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักทำหนังรุ่นหลัง

ตลอดการเดินทางของขบวนการ French New Wave อันเฉิดฉาย Godard ได้ฝากผลงานภาพยนตร์อันโดดเด่นไว้ไม่ต่ำกว่า 15 เรื่อง Week-end (1967) ถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดทางอาชีพการงานของเขา รวมถึงเป็นสัญญาณการปิดฉากของขบวนการดังกล่าว ภาพของ Week-end เป็นเหมือนฉากสุดท้ายที่ทั้งฉุนเฉียวและสมบูรณ์แบบ ชวนให้สั่นสะท้าน แต่ก็แฝงด้วยความงามและบริบทมากมาย ไม่มีวันที่สิ้นสุดแน่ชัดในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ แต่นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าขบวนการคลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส จบลงจริง ๆ หลังเดือนพฤษภาคม 1968 เมื่อการประท้วงต่อต้านทุนนิยม บริโภคนิยม จักรวรรดินิยมอเมริกัน ของนักศึกษาและประชาชนทั่วประเทศ ทำให้ฝรั่งเศสต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ Godard เลิกสร้างภาพยนตร์สารคดี และหันไปทำงานรายการโทรทัศน์เชิงสารคดีแทน ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนขาอาชีพเขาโดยสิ้นเชิง และกินเวลานานกว่าทศวรรษ เรื่องยังไม่จบเท่านั้น .. 

หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง Day For Night ของ Truffaut ออกฉายในปี 1973 Godard ได้ประกาศว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น ‘เรื่องโกหก’ แม้ Godard จะยืนยันอยู่เสมอว่าเขาเพียงต้องการตอบกลับภาพยนตร์ของ Truffaut ตามนิสัยส่วนตัว เพื่อโต้ตอบกันทางความคิด ซึ่งเป็นธรรมชาติของ French New Wave มาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ทว่าหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทั้งสองก็ไม่พูดจากันอีก

การเกิดขึ้นของ French New Wave ส่งอิทธิพลต่อนักสร้างภาพยนตร์ทุกคนตั้งแต่นั้นมา ไม่ว่าพวกเขาจะได้ดูหนังหรือไม่ก็ตาม กระแสนี้กระเพื่อมอยู่ใต้น้ำเสมอเหมือนกับคลื่นยักษ์

- Martin Scorsese 

แม้การปิดฉากของคลื่นลูกใหม่ในฝรั่งเศสที่เราเรียกกันว่า French New Wave จะชวนให้เสียดายไปตาม ๆ กัน แต่ก็นับได้ว่าตัวภาพยนตร์ที่เหล่านักสร้างหนังทุกคนในขบวนการนี้ (ไม่ใช่แค่ Truffaut และ Godard) ได้สร้างไว้ กลายมาเป็นแม่แบบที่มีชีวิตชีวาที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เคยมีมา ผลผลิตทางสังคมและวัฒนธรรมที่ขยายไปในวงกว้าง ทำให้สุนทรียะทางศิลปะและสไตล์ของ French New Wave กลายมาเป็นตัวกำหนดทิศทางของเหล่าผู้กำกับหน้าใหม่ในอเมริกาที่ใช้ชื่อแทนว่า ‘New Hollywood’ อย่าง Martin Scorsese และ Francis Ford Coppola 

ภาพสะท้อนความคิดส่วนตัวที่ผู้กำกับมีต่อสังคม การเมือง และโลกของพวกเขาในฐานะที่เป็นนักเขียน (Auteur) ยังคงเป็นทฤษฎีที่ส่องสว่างอยู่เหนือกาลเวลาเสมอมา ซึ่งแน่นอนว่า แม้แต่ในทุกวันนี้ ผลงานของเหล่าผู้กำกับ French New Wave ก็ยังคงเป็นทั้งครูและแรงบันดาลใจให้เหล่านักทำหนังมากมายจากทั่วทุกมุมโลก

อ้างอิง : 
Essential Cinema, John Lewis The French New Wave
New Hollywood and the role of Post Modernism, James R. Hoskins
medium 
plato.stanford