184592053_317384303238284_3841069435872042583_n.jpg

สำรวจความเป็นมาของการ ‘หมอบกราบ’ วัฒนธรรมจากอินเดียที่ ร.5 ไม่โปรด

Post on 27 May

“แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้​ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแรงนัก ไม่เหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นจึ่งจะต้องละธรรมเนียมเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสีย”

- จาก ประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ จ.ศ.1236

วัฒนธรรมการกราบไหว้ ถวายบังคม และหมอบคลานเป็นธรรมเนียมเก่าแก่มาช้านาน จนยากที่จะกล่าวได้ว่ามันเริ่มขึ้นมาจากที่ใดกันแน่ การกราบไหวทำความเคารพเป็นสิ่งที่ไทยเรารับมาจากวัฒนธรรมอินเดียที่เข้ามาพร้อมศาสนาพุทธและพราหมณ์ ในภาษาสันสกฤตเรียกการทำความเคารพกราบไหว้ว่า “ประณาม” โดย Gautam Chatterjee เขียนไว้ใน Sacred Hindu Symbols ว่า การทำความเคารพในสังคมฮินดูมีอยู่ด้วยกัน 6 ท่า คือ 1. อัษฏางคะ 2. ษัษฐางคะ 3.ปัญจางคะ 4. ทัณฑะวัต 5. นมัสการ 6. อภินันทะ ทั้ง 6 ท่านี้ก็มีบางท่าที่เราน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่างอัษฏางคะ คือการก้มกราบลงไปโดยให้ส่วนของร่างกายทั้งแปดแตะพื้น ซึ่งผู้กราบจะอยู่ในท่านอนราบลงไปกับพื้น หรือ ปัญจางคะ (เบญจางคประดิษฐ์) ก็เป็นสิ่งที่ชาวพุทธใช้ไว้พระกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ประเพณีเช่นนี้คงจะถูกนำเข้ามาพร้อมกับศาสนาตั้งแต่เมื่อพันกว่าปีก่อนแล้ว และยังคงใช้กันอยู่ถึงปัจจุบัน การทำความเคารพในธรรมเนียมฮินดูจึงมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละสถานะและชนชั้นวรรณะ หากแต่ก็ไม่ได้มีการบังคับกะเกณฑ์ว่าจะต้องไหว้บุคคลนี้ในท่านี้เท่านั้น แต่จะขึ้นอยู่กับว่าเขาเคารพบุคคลที่ถูกไหว้แค่ไหนต่างหาก

ส่วนธรรมเนียมหมอบคลานที่เมื่อผู้น้อยอยู่กับผู้ใหญ่ต้องคลานหรือต้องหมอบไม่ให้สูงกว่าผู้ใหญ่นั้นก็น่าจะเป็นส่วนที่พัฒนามาจากธรรมเนียมกราบไหว้ของอินเดีย หากแต่เพิ่มความทรมานยิ่งขึ้น เพราะไม่ใช่แค่ก้มลงกราบแล้วจบ หากผู้ใหญ่นั้นเป็นถึงขุนนางหรือกษัตริย์ ผู้น้อยนั้นจะต้องอยู่ในท่าหมอบจนกว่าจะได้รับอนุญาตให้ลุกขึ้นมาพูดคุยกัน หลักฐานในประเทศไทยที่พูดถึงเรื่องธรรมเนียมการเข้าเฝ้าหมอบคลานมีอยู่ในสมัยอยุธยา โดยหนึ่งในนั้นคือจดหมายเหตุของบาทหลวงตาชารด์ได้บันทึกถึงธรรมเนียมการเข้าเฝ้าของราชฑูตในราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์จากประเทศต่างๆ ก่อนหน้านี้ว่า

“อันการรับราชฑูตของพระเจ้ากรุงญวน ตังเกี๋ย กอลกองด์ มลายู กับลาวนั้น ได้กระทำกันในพระลานแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งปูลาดด้วยพรม ขุนนางผู้ใหญ่แห่งราชอาณาจักรหมอบเฝ้าอยู่ในศาลาสองหลังซึ่งอยู่ทางด้านข้าง ส่วนขุนนางชั้นผู้น้อยหมอบเฝ้าอยู่ในพระลานนั้น ส่วนตัวราชฑูตกับผู้ติดตามนั้นอยู่ในพระลานอีกแห่งหนึ่งห่างออกไป ซึ่งต้องรออยู่จนกว่าจะมีผู้เชิญพระกระแสรับสั่งให้เข้าไปเฝ้าถวายบังคมได้”

และธรรมเนียมนี้คงมีมานานมากแล้ว ด้วยบาทหลวงท่านบันทึกต่อไปว่า พระองค์ทรงเว้นธรรมเนียมเข้าเฝ้าอย่างเก่าในกับคณะราชฑูตฝรั่งเศสเป็นพิเศษ

“พระองค์ทรงเคยประกาศต่อธารกำนัลแล้วว่า ไม่มีพระราชประสงศ์จะใช้ขนบธรรมเนียมอันเก่าแก่ดังที่เคยต้อนรับราชฑูตประเทศโมกุล ประเทศเปอร์เซีย และประเทศจีน…”

จะเห็นได้ว่าธรรมเนียมเช่นนี้น่าจะใช้กันมาในราชสำนักอยุธยามาอย่างยาวนานและอาจจะก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ด้วย จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ธรรมเนียมหมอบคลานนี้ก็ไม่เคยหายไปไหน ดังเช่นบันทึกของอ็องรี มูโอต์ บรรยายถึงสังคมในสมัยร. 4 ไว้ว่า

“…ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศรัสเซียเป็นเวลา 10 ปี ข้าพเจ้ามีโอกาสพบเห็นความน่าสะพรึงกลัว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปกครองในระบบกดขี่และระบบทาส เท่าที่ข้าพเจ้าสังเกตดูผลสืบเนื่องดังกล่าวที่ปรากฎให้เห็นในประเทศสยาม ก็มิได้น่าเศร้าสลดใจน้อยไปกว่าในประเทศรัสเซียเลย ผู้ที่ด้อยฐานะแสดงความเคารพด้วยกิริยาอันน่าสังเวช สภาพสังคมโดยทั่วๆ ไป อยู่ในลักษณะที่ต้องหมอบคลานเข้าหากัน”

รัฐบาลและราชสำนักสยามเริ่มมาจัดการจริงจังกับธรรมเนียมหมอบกราบในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยได้มีประกาศเปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ลงในราชกิจจานุเบกษา จุลศักราช 1236 (2417) โดยให้ยกเลิกธรรมเนียมหมอบคลานมาเป็นการทำความเคารพอย่างสากลนิยมแทน นอกจากประกาศแล้วยังตราพระราชบัญญัติในการเข้าเฝ้าของทั้งพระราชวงศ์ ข้าราชการ และประชาชน โดยเน้นย้ำไม่ให้มีการหมอบกราบเป็นอันขาด แม้กระทั้งมีขบวนเสด็จผ่านประชาชนที่อยู่ข้างทางก็ให้ใช้การโค้งคำนับแทน การตรากฎหมายเช่นนี้ดูจะแสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการแก้ไขธรรมเนียมหมอบกราบ ซึ่งจากที่เห็นอยู่ในปัจจุบันก็พิจารณาเอาแล้วกันว่าความพยายามของรัชกาลที่ 5 นั้นสูญเปล่าแค่ไหน

อ้างอิง:
Matichonweekly
GQThailand
จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ใน รัชกาลที่ ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ – ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖

หนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑ วันจันทร์ เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ปีจอฉศก ๑๒๓๖ แผ่นที่ ๗
จดหมายเหตุการเดินทางสู่สยามประเทศของบาทหลวงตาชารด์
รายงานการวิจัยเรื่อง. "วัฒนธรรมไทยในกรุงเทพฯ จากมุมมอง ของชาวตะวันตก". โดย นางสาวเพ็ญลักษณ์ วงศ์จงใจหาญ