GC - ICONIC Art_Cover web.jpg

รวม 8 งานศิลป์ชั้นครู ใน ICONSIAM ที่นักฮอปสายอาร์ตพลาดไม่ได้

Post on 14 October

ประติมากรรมสายน้ำพลิ้วไหวต้องแสงแดด กระจกสีริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เปลี่ยนเฉดตามท้องฟ้า แชนเดอเลียร์วิบวับเวอร์วังจากพวงมาลัย และโอ่งปั้นมือบอกเล่าเรื่องราวของชาวไทยภาคต่างๆ 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานศิลปะในไอคอนสยาม ที่ชาวเราอาจเดินผ่านไปไม่ทันสังเกต หรือเห็นว่าสวยปังแต่โนไอเดียว่านี่คือศิลปะที่ละเมียดละไมจากศิลปินนานาชาติกว่า 100 คน ! ทั้งหมดนี้เกิดจากความตั้งใจของไอคอนสยาม ที่อยากให้ชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชื่นชมและถ่ายภาพกับแลนด์มาร์คด้านสถาปัตยกรรมเจ๋งๆ ซึ่งตกแต่ง ตั้งแต่ชั้นล่างสุดอย่างสุขสยามไปจนถึงชั้น 7 ของอาคาร เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน Public Art Space ที่โดดเด่นที่สุดในกรุงเทพมหานคร และยังเป็นโกลบอลเดสติเนชั่นที่อลังการที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเลยทีเดียว 

เพราะความปังและอลังขนาดนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนออกเดินทางไปสำรวจทั่วทั้งไอคอนสยาม ค้นหาที่มาของงาน เช็กอินและแชะภาพ 8 ไฮไลท์สุดยอดผลงานศิลปะชั้นครูที่ไม่ได้แค่สวยงามชวนมอง แต่มีแนวคิดเบื้องหลังน่าสนใจและเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าค้นหา

รู้แล้วอย่ารอช้า เตรียมกล้องให้พร้อม แล้วสาวเท้าไปสแนปกันเลย!


 

‘ประตูเมือง’ บอกเล่าประวัติศาสตร์

ก่อนจะเข้าเยือนที่เมืองไหนๆ แน่นอนว่าเราต้องผ่านประตูเมืองของแต่ละที่กันก่อน เราจึงขอพาทุกคนมาเช็กอินจุดแรกที่ชั้น G โซน ICONLUXE กับผลงาน ‘จารึกสัญลักษณ์สุวรรณภูมิ คือแสงแห่งปัญญา’ เสาสูง 16 เมตร 4 ต้น โดยศิลปินแห่งชาติ ‘ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง’ ซึ่งถือเป็นประตูบานแรกของงานศิลปะแห่งเมืองไอคอนสยาม

ดูจากไกลๆ ว่าอลังแล้ว แต่ขอแนะนำให้กระเถิบเข้าไปดูผลงานใกล้ๆ เราจะพบว่าศิลปินเลือกใช้เทคนิคการลงรักปิดทองที่เราคุ้นเคยตามวัดวาอารามมานำเสนอเรื่องราวอาณาจักรสุวรรณภูมิ ดินแดนที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง ปักหมุดตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างยุคบ้านเชียงไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นงานศึกษาค้นคว้าที่อาจารย์ทำมายาวนานกว่า 50 ปี
 

ไฮไลท์เด็ดที่คนรักศิลปะไม่ควรพลาดคือทองที่กดทับลงบนเสาจะสะท้อนแสงที่ให้ความรู้สึกแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา ถ้าอยากเก็บภาพสวยๆ ไม่มีใครเหมือน แนะนำว่าต้องทดลองสแนปภาพเสาเหล่านี้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน

‘สายน้ำพลิ้วไหว’ สะท้อนความเป็นไทยในมุมตะวันตก

ถัดมาจากจุดแรกอีกเล็กน้อยในโซน ICONLUXE สายตาของเราก็ต้องจับจ้องไปที่ประติมากรรมเพดานขนาดใหญ่โดยสตูดิโอออกแบบแสงชื่อดังจากลอนดอน Haberdashery Studio ซึ่งถือเป็นงานใหญ่และเป็นงานในพื้นที่สาธารณะที่ท้าทายที่สุดในเอเชียของพวกเขา

ความน่าสนใจข้อแรกคือ Ben Rigby ครีเอทีฟไดเรกเตอร์และผู้ร่วมก่อตั้งเล่าว่าก่อนทำงานจริง ทีมงานถือโอกาสเก็บข้อมูลพร้อมๆ กับท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร​ จึงได้หยิบเอาความเปล่งประกายของกระเบื้องเซรามิกตามวัดที่เกิดจากแสงตกกระทบ ซึ่งคล้ายกับแสงระยิบระยับที่สะท้อนบนผืนน้ำอันพลิ้วไหวมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ 

ความน่าสนใจข้อที่สองคือสตูดิโอยังเอาแรงบันดาลใจนั้นมาผสมผสานกับรอยจีบบนผืนผ้าไทย ลักษณะตัวอักษรไทย และความโค้งเว้าอันอ่อนโยนของลายกนกที่ ‘ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ปรีชา เถาทอง’ นำมาใช้ในผลงาน จนได้เป็นประติมากรรมกนกเปลว 3 สี ทั้งเงิน ทอง และนาก เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะที่รวมอัตลักษณ์ของไทยไว้ในชิ้นเดียว

ถ้าเรามองผลงานชิ้นนี้จากด้านล่าง ด้านซ้าย และด้านขวา มุมถ่ายภาพที่ได้จะแตกต่างกันไป บางมุมให้ภาพของแม่น้ำทอดยาว บางมุมชวนให้นึกถึงผืนน้ำกว้างใหญ่ แถมความที่ประติมากรรมชิ้นนี้มีมากถึง 3 สี ภาพที่ถ่ายจากต่างมุมก็จะให้สีสันและความรู้สึกที่แตกต่างกัน ขอแอบบอกว่าในวันที่แสงแดดเป็นใจ ให้ลองถ่ายภาพทั้งมุมกว้างและมุมใกล้ เราจะได้ภาพประติมากรรมระยิบระยับคล้ายกับแสงที่กระทบเกลียวน้ำที่เคลื่อนไหวได้จริงๆ เลยแหละ

เมื่อ ‘ธรรมะ’ และ ‘ธรรมชาติ’ รวมเป็นหนึ่งเดียว 

ไปต่อกันที่ชั้น M และชั้น 1 เราจะพบกับเสาสีทองพิมพ์ลายใบไม้ ผลงานของ ‘ศาสตราจารย์ ถาวร โกอุดมวิทย์’ ศิลปินแห่งชาติและศิลปินสาขาภาพพิมพ์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ คีย์สำคัญของงานชิ้นนี้คือการทำให้งานศิลปะเข้าถึงชีวิตคนทั่วไปและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง ศิลปินจึงหยิบเอาคำว่า ‘ธรรมะ’ และ ‘ธรรมชาติ’ ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาสามัญแต่มีคุณค่ามาผสานรวมกัน 

อาจารย์ถาวรสะท้อน ‘ธรรมะ’ ผ่านการใช้สีทองในลวดลาย คล้ายกับเวลาที่ชาวพุทธปิดทองคำเปลวบนองค์พระพุทธรูป ส่วน ‘ธรรมชาติ’ แสดงผ่านลวดลายใบไม้ที่มาจากต้นไม้มงคลของไทยอย่างต้นประดู่และต้นคูณ เสาทุกต้นจึงเป็นตัวแทนของการเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาวไทยนั่นเอง

นอกจากความหมายของเสาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจชวนให้ไปมองงานใกล้ๆ คือกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานที่อาจารย์เริ่มจากออกแบบลวดลายบนผืนผ้าใบ ก่อนนำไปถ่ายเป็นภาพฟิล์ม แล้วจึงสกรีนลงบนพื้นผิวของเสา 


 

ทองหยอด’ ประติมากรรมที่ต่อยอดจาก Venice Biennale 2013 

นี่เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ชมงานศิลปะที่เคยได้รับคัดเลือกให้แสดงในงาน Venice Biennale 2013 เพราะศิลปินเจ้าของผลงานอย่าง ‘อริญชย์ รุ่งแจ้ง’ ได้หยิบเอาผลงานในครั้งนั้นมาต่อยอดเป็นประติมากรรมทองเหลืองร่วมสมัยอย่าง ‘ทองหยอด’ บริเวณโถงทางเดินกลาง ชั้น M

อริญชย์พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสเริ่มต้นจากการค้าน้ำตาลผ่านการเดินเรือ เขาจึงหยิบเอา ‘ทองหยอด’ ของ ‘ท้าวทองกีบม้า’ ชาวโปรตุเกสที่ว่ากันว่าเป็นต้นตำรับของขนมไทยที่มีไข่เป็นส่วนผสมเป็นตัวตั้งต้น จากนั้นจึงเลือกใช้ ‘ทองเหลือง’ ซึ่งสื่อถึงศาสนาพุทธในไทยเป็นวัสดุหลักและเลือกหล่อทองเหลืองในโรงงานหล่อพระ จนได้เป็นงานประติมากรรมที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 5 เมตร 

‘ทองหยอด’ จึงไม่ได้เป็นเพียง ‘ขนม’ แต่เป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนถึงประเทศไทยจากอดีตจนปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรม การซ้อนทับทางประวัติศาสตร์และความประณีตนั่นเอง นอกจากนี้ ความพิเศษของงานอาร์ตสีทองชิ้นนี้คือถ้าเราถ่ายภาพจากมุมที่แตกต่างกัน ความหมายและรูปทรงของทองหยอดก็จะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปด้วย 


 

‘แสงสยาม’ กำแพงไทยสไตล์ตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา

จุดไฮไลต์สำคัญของไอคอนสยาม มีหลากหลายแห่ง แต่จุดที่ใครๆ ก็อยากมาเช็กอินคือ ICONSIAM Park ชั้น 2  หน้า Apple Store  เพราะได้เห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยาแบบเต็มอิ่ม แต่ทีเด็ดที่หลายคนอาจพลาดไปคือถ้าเราหันหน้าเข้าแม่น้ำเจ้าพระยา เดินเบี่ยงซ้ายจากลานด้านบนมายังลานด้านล่าง เราจะพบกับทางเดินเอียงลาดที่ตกแต่งด้วยกำแพงศิลปะ!

กำแพงศิลปะที่ว่าเป็นผลงานของศิลปินรุ่นใหม่อย่าง ‘สิทธิ์วุธ ยาวิชัย’ ผู้ที่เห็นความงดงามและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของ ‘กระจกสี’ วัสดุที่มักใช้ตกแต่งวัดวาอารามที่ปัจจุบันหาดูได้ยาก เขาจึงหยิบกระจกสีมาสร้างความหมายใหม่โดยตัดออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นำมาติดให้มีระยะห่างและชิดคล้ายฝีแปรงแบบศิลปะอิมเพรสชั่นนิสม์ แล้วประสานด้วยอีพ็อกซี่ จนได้เป็นศิลปะกระจกเกรียบร่วมสมัยสไตล์อิมเพรสชั่นนิสม์อย่าง ‘แสงสยาม’ ที่แต่ละช่วงเวลาจะสะท้อนแสงและให้ความรู้สึกที่แตกต่าง 


 

‘แสงสยาม’ มาจากคำว่า ‘แสง’ ที่สื่อถึงความรุ่งเรือง สอดคล้องกับการสะท้อนของกระจกสีผสานกับคำว่า ‘สยาม’ อันหมายถึงแผ่นดินไทยในอดีตที่รุ่งโรจน์ ซึ่งสื่อถึงความไอคอนนิกของ ‘ไอคอนสยาม’ จากคำนี้เอง สิทธิ์วุธตีความออกมาเป็นอาร์ตวอลล์ขนาด 60 เมตรที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือท้องฟ้า แผ่นดิน และสายน้ำ 

ทั้งหมดบอกเล่าเรื่องราวพุทธศิลป์ในไทยหลากหลายแห่ง ทั้งความงามแบบล้านนาอย่าง ‘วัดภูมินทร์’ ความรุ่งเรืองของทวารวดีอย่าง ‘องค์พระปฐมเจดีย์’ ความเจริญของศิลปะอีสานอย่าง ‘พระธาตุพนม’ และความรุ่งโรจน์ของดินแดนศรีวิชัยเช่น ‘วัดพระบรมธาตุวรวิหาร’ 

ถ้าครั้งหน้าไปเช็กอินที่นี้ อย่าลืมเดินขยับลงไปอีกนิดเพื่อเก็บภาพกระจกสีที่สะท้อนน้ำและท้องฟ้าในช่วงเวลาที่แตกต่างกันนะ รับรองว่าภาพที่ได้จะถูกใจสายอิมเพรสชั่นนิสม์แน่นอน

‘โอ่ง’ และ ‘การละเล่นพื้นบ้าน’ สะท้อนวิถีไทยในอดีต

เพราะอยากถ่ายทอดความเป็นไทยในทุกมิติโดยเฉพาะมิติของอาหารการกินซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยแบบสุดๆ ชั้น G ของไอคอนสยาม อย่างโซนเมืองสุขสยาม จึงนำเสนอความเป็นไทยแบบจัดเต็ม แม้กระทั่งห้องน้ำก็ยังเต็มไปด้วยศิลปะบอกเล่าความเป็นไทย 

ห้องน้ำแต่ละโซนบอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกัน ถ้าเราถ่ายตัวเองในกระจกห้องน้ำโซนภาคใต้หรือ ‘ทักษิณหรรษา’ เราจะได้ภาพสุดเก๋ท่ามกลางผนังโทนสีฟ้า-น้ำเงินที่สื่อถึงทะเลใต้ของไทย และลวดลายอาคารบ้านเรือนแบบสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส แต่ถ้าเราส่องกล้องไปที่กระจกโซน ‘อีสานสุขสันต์’ เราจะอยู่ท่ามกลางงานจิตรกรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวอีสานอย่างตำนานผีตาโขน งานบุญบั้งไฟ  แต่หากแฉลบไปยัง ‘สวรรค์กลางกรุง’ เราจะพบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนริมฝั่งเจ้าพระยา ซึ่งงานจิตรกรรมทั้งหมดที่ว่ามาเป็นฝีมือของกลุ่มศิลปิน Hooker's Green

เพราะโอ่งนั้นอยู่คู่กับคนไทยมานานแสนนาน อีกจุดเด่นของห้องน้ำโซนภาคกลางและภาคอีสานนั้นคือ ‘โอ่งสุขสยาม’ โดยฝีมืองานปั้นของศิลปินไทยมากความสามารถ ‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’ ทายาทโรงงานเถ้า ฮง ไถ่ จังหวัดราชบุรี ที่ก่อตั้งมากว่า 80 ปี  

ความตั้งใจแรกของวศินบุรีคือการวาดลวดลายของโอ่งแต่ละภาคให้แตกต่างกันเพื่อสะท้อนวัฒนธรรมอันหลากหลาย เช่น โอ่งภาคอีสานก็วาดลวดลายดอกไม้ท้องถิ่นอย่างดอกคูนและจิตรกรรมฝาผนังที่วัดไชยศรี จังหวัดขอนแก่น ความตั้งใจต่อมาของเขาคือการปั้นโอ่งด้วยวิธีดั้งเดิมให้ได้มากที่สุดเพื่อที่วันหนึ่ง หากศิลปะการปั้นโอ่งนั้นหายไปจากไทยแล้ว ไอคอนสยามจะได้กลายเป็นพื้นที่เก็บบันทึกเรื่องราวหัตถกรรมของไทย

‘ห้องน้ำ’ ในชั้นนี้จึงไม่เพียงเป็นพื้นที่ของการปลดทุกข์แต่ยังเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสุขและถ่ายทอดวัฒนธรรม


 

จากภาพ 35,000 ชิ้น คอลลาจเป็น ‘รวมพลังความเป็นไทยหนึ่งเดียว’

หลังสแนปภาพงานศิลปะทุกชั้นกันเรียบร้อย เราขอพาทุกคนไปปรับโฟกัสบริเวณสุราลัยฮอลล์ ชั้น 7 เพราะที่นี่มีงานศิลปะคอลลาจขนาดใหญ่กว่า 10 x 27 เมตร ปรากฏอยู่ ความอลังของงานศิลปะชิ้นนี้คือถ้าเราซูมดูงานใกล้ๆ เราจะเห็นว่าใต้ฉากหลังและคำว่า ‘ไทย’ นั้นเต็มไปด้วยภาพขนาดเล็กกว่า 35,000 ภาพ ซึ่งรวบรวมจากคนจำนวนมากที่ร่วมส่งภาพของตัวเองเข้ามาบอกเล่าความเป็นไทยในมิติต่างๆ 

จากภาพ 35,000 ภาพที่ว่า ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประทีป สุธาทองไทย’ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้มีชื่อเสียงด้านศิลปะภาพพิมพ์และโฟโต้คอลลาจได้หยิบมารวมให้เป็นภาพหนึ่งเดียวโดยออกแบบเป็นแพทเทิร์นที่ได้รับแรงบันดาลใจจากลายผ้าไทย รูปทรงเรขาคณิตและงานประดับกระจกตู้พระธรรมสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ ณ หอสมุดแห่งชาติ


 

อาจารย์ยังเลือกใช้โทนสีเงิน ทอง และนาก ซึ่งสื่อถึงสิ่งสูงค่าเป็นฉากหลัง ตัดสลับกับสีเงินอมเขียวของตัวอักษรเพื่อสร้างมิติที่แตกต่างในแต่ละช่วงเวลา ความน่าสนใจที่อยากชวนสังเกตอีกข้อคือตัวอักษรคำว่า ‘ไทย’ ที่ศิลปินได้ออกแบบขึ้นใหม่จากโครงฟอนต์เก่าของธนบัติไทยแต่ละสมัยเพื่อส่งต่อความรู้สึกเชื่อมโยงถึงความเป็นไทยในอดีต

นอกจากการฮอปงานศิลปะครั้งนี้จะทำให้เราได้ภาพงานอาร์ตเก๋ๆ ไปลงโซเชียลกันแล้ว จะเห็นได้ว่างานศิลปะในแต่ละชั้นนั้นหลากหลายจริงๆ แถมทุกชิ้นยังผ่านกระบวนการสุดละเอียดเพื่อถ่ายทอดความเป็นไทยออกมาอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าไอคอนสยาม ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่มอบความสุขอย่างเดียว แต่ยังเป็นอีกหนึ่งอาร์ตสเปซที่รวบรวมงานอาร์ตของศิลปินชั้นแนวหน้าของไทยและศิลปินระดับโลกที่เปิดให้ทุกคนเข้าถึงงานศิลปะกันได้ไม่ยาก


 

RELATED POSTS

ยิ้มรับการเติบโตและโอบกอดความไม่สมบูรณ์ไปกับ ‘Bear with Me’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ ปูนปั้น – ภูมิพัฒน์ หนึ่งในสมาชิก Converse All Stars ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการ Converse All Star Projects เป็นคนแรกในไทย!
Advertorial
Posted on Apr 11
มัดรวมไฮไลต์นิทรรศการในงาน สถาปนิก’ 67 ภายใต้แนวคิด ‘Collective Language: สัมผัส สถาปัตย์’ เชื่อมโยงผู้คนจากทั่วโลกด้วยงานออกแบบที่ไร้ขอบเขต
Advertorial
Posted on Mar 28
SangSom MOONLAB งาน Art Landmark แห่งปีที่ชวนสายอาร์ตออกเดินทางไปเสพงานศิลปะและดนตรีบนดวงจันทร์!
Advertorial
Posted on Mar 26
ชวนรู้จักประติมากรรม ‘เจ้าจุด’ ของ WASINBUREE ที่ไปเยือนมาแล้วทั่วโลก และ ‘เจ้าจุดเบอร์ 12’ ที่กระโดดจากประติมากรรมจริง มาอยู่บนจอในรูปแบบ 3D
Advertorial
Posted on Mar 15