เนิร์ดสายสถาปัตยกรรมย่อมต้องคุ้นเคยกับชื่อ ซาฮา ฮาดิด (Zaha Hadid) สถาปนิกหญิงชาวอิรักที่มีลายเซ็นเป็นบรรดาสถาปัตยกรรมสุดล้ำกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสไตล์สถาปัตยกรรมสุดเฉพาะตัวที่มีรากฐานมาจากสไตล์ Deconstructivism ที่ไม่ยึดติดกับแบบแผน หรือกรอบของรูปทรงเรขาคณิต จนทำให้เธอได้ฉายาว่าเป็น ‘เจ้าแม่เส้นโค้ง’ และทำให้เธอเป็นสถาปนิกหญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลเวทีสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่าง ‘Pritzker Architecture Prize’ มาครองในปี 2004
หลังการจากไปของเธอเมื่อปี 2016 แน่นอนว่าเหล่าผู้ชื่นชอบผลงานของเธอต่างก็เสียใจและอาลัยที่จะไม่ได้เห็นผลงานการออกแบบจากวิสัยทัศน์สุดล้ำของเธออีก แต่เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา แพทริค ชูมัคเกอร์ (Patrik Schumacher) หนึ่งในสถาปนิกภายใต้บริษัท Zaha Hadid Architects ก็ได้ออกมาเปิดเผยผ่านบทสัมภาษณ์ว่า เอกลักษณ์ในการออกแบบของผู้ก่อตั้งสตูดิโอไม่ได้หายไปไหน เพราะตอนนี้ผลงานส่วนใหญ่ของบริษัทล้วนถูกพัฒนามาจาก AI โดยมีแนวคิดและแม่แบบมาจากสไตล์การออกแบบของฮาดิด!
ชูมัคเกอร์เผยว่า พวกเขาได้ใช้เครื่องมือ AI อย่าง DALL-E 2, Midjourney และ Stable Diffusion ในขั้นตอนตั้งต้นของโปรเจกต์ต่าง ๆ เช่น การดราฟต์แบบร่างความคิดแรก ๆ เพื่อนำไปพูดคุยคอนเซปต์กับลูกค้า ซึ่งช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมองเห็นภาพงานได้รวดเร็วขึ้น โดยพวกเขามองว่า การใช้ AI ในขั้นตอนนี้ก็ไม่ต่างจากการบรีฟงานขั้นต้นให้นักออกแบบประจำสตูดิโอไปลองขึ้นไอเดียมาให้ดูก่อน เพียงแค่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้ AI แทน และยังรวดเร็วกว่าด้วย
แน่นอนว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ Zaha Hadid Architects ก็ต้องหวังที่จะได้งานอันเป็นเอกลักษณ์แบบฮาดิด ‘Promt’ หรือ ‘ชุดคำสั่ง’ ที่พวกเขาป้อนให้กับ AI จึงต้องมีคำว่า ‘Zaha Hadid’ ติดไว้ด้วยเสมอ ยกตัวอย่างเช่น “Zaha Hadid museum aerial view DDP [Dongdaemun Design Plaza], high quality” และ “Zaha Hadid eye level view, high quality.” เป็นต้น
ในระหว่างการสัมภาษณ์ ชูมัคเกอร์ยังแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้ยุติการพัฒนา AI ที่ฉลาดกว่า GPT-4 ของ Open A.I ว่า “ผมอยากให้เราลองเสี่ยงกันมากขึ้น เพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่าเดิมอีกหลายระดับ” เนื่องจากก่อนหน้านี้เหล่าผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกเทคโนโลยีหลายคน เช่น อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และ สตีฟ วอซเนียก (Steve Wozniak) เคยออกจดหมายเปิดผนึกว่า “ระบบนี้มีความเสี่ยงร้ายแรงต่อสังคมและมนุษยชาติ”
เขากล่าวต่อว่า “ผมไม่อยากให้การพัฒนา AI ต้องยุติลง ผมมองว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าใจสลาย เรื่องการเมืองพวกนี้ ทำให้เราเกิดความกังวลจนปิดกั้นนู่น ยุตินี่ ผมว่านี่ต่างหากที่เป็นหายนะ” นอกจากนี้เขายังเพิ่มเติมอีกด้วยว่าการใช้กฎระเบียบที่เคร่งครัดนั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่อง AI ได้อย่างจริงจังได้ แต่เราควรมองโลกในแง่ดี เปิดใจให้กว้าง และใช้พลังบวกในการแก้ไขปัญหานี้อย่างสร้างสรรค์จะดีกว่า
เห็นแบบนี้แล้วก็น่าจับตามองต่อไปว่า ในอนาคตทิศทางของโลก AI จะเป็นอย่างไรต่อไป จะถูกทำให้ฉลาดมากขึ้นอีกหรือไม่ หรือถูกยุติการพัฒนาไว้เพียงเท่านี้ก่อน
อ้างอิง
https://www.dezeen.com/.../zaha-hadid-architects-patrik.../