GC_beingartist_david.jpg

8 ทศวรรษของ David Hockney ศิลปินที่สร้างงานป๊อปไม่เคยแผ่ว

Post on 12 April

สิ่งที่ศิลปินจะทำเพื่อคนอื่นได้ก็คือทำให้พวกเขาใกล้ชิดกับบางสิ่งมากขึ้น เพราะศิลปะคือการแบ่งปัน คุณจะเป็นศิลปินไม่ได้เลยหากคุณไม่ต้องการแบ่งปันประสบการณ์หรือความคิด

David Hockney คือจิตรกรชาวอังกฤษ ช่างเขียนแบบ ช่างพิมพ์ นักออกแบบเวที และช่างภาพ ผู้มีอิทธิพลต่อขบวนการศิลปะแบบ Pop Art ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ทั้งยังเป็นหนึ่งในศิลปินชาวอังกฤษที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 

งานที่โดดเด่นของเขาที่เราเชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นผ่านตามาแล้วบ้างคงเป็น A Bigger Splash ภาพสระว่ายน้ำที่ปรากฏภาพน้ำสาดกระเซ็นแต่ไร้ร่างของผู้กระทำ บ้างก็อาจจำเขาได้จากภาพวาดพอร์เทรตคู่ที่ดูสมจริงแต่น่าพิศวง และอีกหลายคนที่หลงใหลภาพทิวทัศน์สีสันสดใสที่เขาสร้างขึ้นในยุคเรา ๆ 

แต่ไม่ว่าจะเป็นภาพแบบไหนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวทางการวาดภาพของเขา ทั้งเทคนิค สีสัน และวิธีการเฉพาะตัวนั้นกระทบต่อจิตใจของคนทั่วโลกมานานกว่า 8 ทศวรรษ คำถามคืออะไรทำให้ศิลปินสูงวัยคนนี้อยู่ร่วมกับขบวนการศิลปะทุกยุคทุกสมัย เรื่องราวและผลงานของเขาในบทความนี้มีคำตอบ

อัจฉริยะศิลปะในคราบเด็กขบถ

David Hockney เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 1937 ที่เมืองแบรดฟอร์ด สหราชอาณาจักร ความทรงจำเกี่ยวกับศิลปะของเขาที่เด็กที่สุดเห็นจะเป็นครั้งที่พ่อซื้อจักรยานเก่ามาเพนต์ใหม่ ในจังหวะที่ฝีแปรงปาดสีสันสดใสลงบนจักรยาน รู้ตัวอีกที Hockney ในวัย 11 ปี ก็ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปิน

ช่วงมัธยมที่ Bradford Grammar School ซึ่งไม่ได้สนับสนุนให้เด็ก ๆ ใส่ใจวิชาศิลปะมากนัก Hockney จึงแผลงฤทธิ์เด็กขบถโดยตั้งใจสอบตกจนพ่อแม่ต้องจ้างครูมาสอนพิเศษวิชาศิลปะปลอบใจลูกชาย แต่ในที่สุดเขาก็ได้เรียนเฉพาะทางด้านศิลปะที่ Bradford School of Art แถมจบมาด้วยประกาศนียบัตรชั้นหนึ่งและเกียรตินิยม ในปีเดียวกันนั้นเอง Hockney ยังขายภาพเหมือนของพ่อเขาเองได้เป็นครั้งแรกด้วย

<p>David Hockney ขณะเรียนที่ Bradford School Of Art</p>

David Hockney ขณะเรียนที่ Bradford School Of Art

<p>ภาพพ่อที่ขายได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่</p>

ภาพพ่อที่ขายได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่

<p>ผลงานขณะเรียนที่ Bradford School Of Art</p>

ผลงานขณะเรียนที่ Bradford School Of Art

แต่เพราะ Bradford School of Art แบบดั้งเดิมนั้นสอนศิลปะที่อาจจะดูล้าสมัยไปหน่อยสำหรับ Hockney ในปี 1959 เขาจึงย้ายไปลอนดอนเพื่อเรียนต่อที่ Royal College of Art เพื่อเรียนรู้ศิลปะสมัยใหม่ที่ดูวัยรุ่น และเข้ากับยุคกว่าเดิม Hockney จึงได้สนิทสนมกับเพื่อนศิลปินชาวอเมริกันจำนวนมากที่กำลังสนใจศิลปะแบบแอปสแตร็กเอ็กเพรสชั่นนิสม์ ช่วงแรก ๆ ของวิถีวัยรุ่นหัวขบถจึงคือการสร้างงานศิลปะที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Jackson Pollock แต่เพียงไม่นานเขาก็เริ่มสนใจศิลปะที่นำเสนอหลากหลายมุมมองใน 1 ภาพเช่นแบบคิวบิสม์ของ Pablo Picasso

ภาพวาดในช่วงนี้มักเป็นภาพวาดแบบเด็ก ๆ ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานของ Jean Dubuffet ส่วนภาพวาดแรก ๆ ที่เขาวาดอย่างจริงจังก็คือ Adhesiveness (การยึดติด) ที่แสดงภาพร่าง 2 ร่างที่กำลังออรัลเซ็กซ์ให้กัน ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากบทกวีของ Walt Whitman ทั้งยังมีข้อความหรือคำพูดบางอย่างที่ไม่ปะติดปะต่อกันผสมผสานกับลวดลายกราฟิติที่อาจารย์ไม่ต้องการ แต่นักวิจารณ์ศิลปะได้กล่าวว่านี่คือหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เรียกว่า ‘Pop Art’ 

<p>Adhesiveness, 1960</p>

Adhesiveness, 1960

<p>Oh for a Gentle Lover, 1960</p>

Oh for a Gentle Lover, 1960

<p>The Second Tea Painting, 1961</p>

The Second Tea Painting, 1961

ความเก่งกาจนี้เองที่ทำให้เขาได้แสดงนิทรรศการกลุ่มและนิทรรศการเดี่ยวตั้งแต่วัยรุ่น แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็เกือบเรียนไม่จบ เพราะไม่เห็นด้วยที่อาจารย์บังคับให้วาดภาพนู้ดหญิงสาวและเขียนข้อสอบแทนการประเมินงานศิลปะของเขาโดยตรง Hockney จึงวาดภาพที่ชื่อว่า The Diploma บนใบประกาศนียบัตรประท้วง จนวิทยาลัยต้องเปลี่ยนกฎการจบการศึกษาเพื่อให้ Hockney เรียนจบเลยทีเดียว

ศิลปะที่แบ่งบานในดินแดนอิสรภาพ

เมื่อจบจาก Royal College of Art  งานของ Hockney ก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเขามีโอกาสไปเยือนนิวยอร์กเป็นครั้งแรก และได้พบว่าอเมริกาคือพื้นที่ที่เขาจะเป็นอิสระจากฎเกณฑ์ทั้งปวง เป็นดินแดนแห่งเสรีภาพที่เขาจะดูโทรทัศน์ตอนตี 3 ก็ย่อมได้ หรือเขาจะย้อมผมสีบลอนด์ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไปตลอดกาลก็ไม่มีใครว่า

ช่วงที่ไปนิวยอร์กนี้เอง เขาได้สเก็ตช์ภาพบรรยายถึงการเดินทางที่คล้ายค้นพบตัวเองไปด้วย เพราะเขาเล่าถึงศิลปินหนุ่มและชายรักชายทั้งหลายที่ต้องดิ้นรนหาหนทางของตัวเองในนิวยอร์กช่วงทศวรรษ 1960 เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างงานชุดนี้จากโฆษณาที่พบเห็น ในภาพของเขาจึงปรากฏสโลแกนเพื่อแสดงผลกระทบของสังคมทุนนิยมที่ Hockney ประสบกับภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและสูญเสียความเป็นตัวเองที่มหานครของอเมริกา


 

แต่เขาก็หลงรักอเมริกาอย่างมากทีเดียว เมื่อมีเงินพร้อมและอาชีพพร้อม ในปี 1964 เขาจึงย้ายไปอยู่แคลิฟอร์เนียเต็มตัวและเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์อย่างเต็มที่ จากความอิสระของสังคมและความแตกต่างด้านสภาพแวดล้อมนี้เองที่ทำให้งานของเขาเริ่มมีสีสันแบบดินแดนร้อนแห้งแล้งที่เต็มไปด้วยแดดจ้า ทั้งสไตล์การวาดก็เริ่มสมจริงมากกว่าการระบายอารมณ์แบบสมัยก่อน​ จนพัฒนาเป็นภาพวาดแบบธรรมชาตินิยมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว 


 

‘น้ำ’ และพื้นที่เสรีแห่งความลื่นไหลทางเพศ

หากให้นึกถึง David Hockney เราเชื่อว่าภาพที่ผุดขึ้นในใจของหลายคนน่าจะเป็นภาพสระว่ายน้ำที่เขาวาดขึ้นในยุค 60-70 เพราะนอกจากในเชิงเทคนิคที่ต้องอาศัยประสบการณ์และความพยายามอย่างมากแล้ว น้ำก็ยังมีความหมายต่อตัวตนของเขาอย่างมาก

วัยเด็กของเขาที่เกาะอังกฤษซึ่งมีบรรยากาศแปรปรวน การมีสระว่ายน้ำไม่ใช่เรื่องที่ใครจะทำได้ง่าย ๆ ผิดกับแคลิฟอร์เนียที่เต็มไปด้วยสระน้ำสีฟ้าสดใส น้ำจึงหมายถึงพื้นที่เสรีจากความคาดหวังของสังคมที่มีต่อชายรักชาย Hockney จะเป็นอะไรก็ได้ในสระว่ายน้ำแห่งนี้ ความสัมพันธ์แบบชายรักชายซึ่งผิดแปลกในสังคมสมัยก่อนจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งสอดคล้องกับอเมริกา ดินแดนเสรีภาพที่เขาย้ายมาลงหลักปักฐาน


 

ภาพแรกสุดที่ Hockney ใช้น้ำในความหมายนี้คือภาพชายหนุ่มสองคนยืนอาบน้ำใต้ฝักบัวที่ค่อย ๆ ปล่อยสายน้ำมาชะร่างกายอย่าง Domestic Scene (1937) ซึ่งวาดขึ้นตอนที่เขายังอยู่อังกฤษ และเมื่อย้ายมาอยู่เมืองแสงแดดอันแห้งแล้งอย่างแคลิฟอร์เนีย น้ำจากฝักบัวก็ขยายกว้างขึ้นเป็นน้ำในสระที่ต้องแสงแดด 

หนึ่งในผลงานเลื่องชื่อคือ A Bigger Splash (1967) ที่ใช้สีชนิดใหม่อย่างสีอะคริลิกที่แห้งง่ายถ่ายทอดอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งของแคลิฟอร์เนียแทนสีน้ำมันที่ศิลปินคนอื่นนิยมใช้กัน

“ฉันใช้เวลาสองสัปดาห์ในการวาดภาพเหตุการณ์ที่กินเวลาเพียงสองวินาที" เขากล่าวถึงผลงานที่โด่งดังที่สุดของตนเอง ที่ Hockney ยอมลดทอนรายละเอียดของฉากหลังเพื่อให้สายน้ำที่สาดกระเซ็นเด่นขึ้น


 

<p><span style="background-color:transparent;color:#313131;">Domestic Scene, 1937</span></p>

Domestic Scene, 1937

<p><span style="background-color:transparent;color:#313131;">A Bigger Splash, 1967</span></p>

A Bigger Splash, 1967

Double Portrait 

นอกจากน้ำจะเป็นสิ่งสำคัญในภาพวาดของเขาแล้ว อีกเอกลักษณ์หนึ่งคือการวาดภาพพอร์เทรตคน 2 คนใน 1 ภาพซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสมจริง ความเที่ยงตรง และรูปแบบที่ถูกจัดขึ้นอย่างตั้งใจ เพื่อสร้างงานศิลปะที่เผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวแบบด้วยกันและการรับรู้ของ Hockney ที่มีต่อพวกเขา

อย่างภาพ Mr. and Mrs. Clark and Percy (1971) ที่ Hockney วาดภาพเพื่อนสนิทของเขาอย่าง Clark ดีไซน์เนอร์ชื่อดังและ Celia Birtwell นักออกแบบสิ่งทอ หลังจากทั้งคู่แต่งงานกันไม่นาน ในภาพ Clark นั่งอยู่กับแมวบนเข่า อีกฝั่งหนึ่งของหน้าต่างคือ Birtwell ในเดรสยาว กึ่งกลางของภาพคือ ฉากโอเปร่าที่ตัวละครหนึ่งได้ทิ้งคนรักของตนไป  ภาพนี้จึงกลายเป็นเหมือนคำทำนายของ Hockney ที่ตรงเผ็ง เพราะภายหลัง คู่สามีภรรยา Clark ก็ได้หย่าขาดจากกันจริง ๆ 

<p><span style="background-color:transparent;color:#313131;">Mr. and Mrs. Clark and Percy, 1971</span></p>

Mr. and Mrs. Clark and Percy, 1971

ความน่าสนใจของภาพพอร์เทรตเหล่านี้คือ Hockney จะวาดภาพขึ้นโดยพัฒนาจากภาพถ่ายของแบบจนได้ออกมาเป็นภาพของแบบที่มีใบหน้าสมจริงและดูอ่อนโยน ตรงข้ามกับความแข็งกร้าวของฉากหลังจนภาพพอร์เทรตคู่ของเขาได้รับการยกย่องว่าสวยงามและน่าพิศวงในเวลาเดียวกัน

วิวทิวทัศน์แบบ en plain air

นอกจากภาพพอร์เทรตและภาพน้ำอันเป็นเอกลักษณ์ อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้คนจำ David Hockney ได้ก็คือภาพทิวทัศน์แบบ en plain air สีสันสดใสแบบที่หลายคนยังบอกว่าเป็นพาเลตสีของ Henri Matisse ในยุคใหม่ซึ่งค่อย ๆ สดใสมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเขาได้ออกแบบโรงละครหลายแห่งด้วยเฉดสีหลากหลาย สัมพันธ์กับการเป็นโรค synesthesia ที่เห็นสีและรูปร่างออกมาจากเสียงดนตรี

ช่วงที่เขาอยู่แคลิฟอร์เนียร์ ภาพทิวทัศน์นั้นยังคงความเป็น Hockney ในยุควัยรุ่นอยู่มาก คือมีความสมจริงและพัฒนาขึ้นจากภาพถ่าย ส่วนใหญ่เขาสร้างงานเหล่านี้ขึ้นจากความชื่นชมในสภาพแวดล้อมทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนียและบ้านโมเดิร์นแบบแอลเอโดยอาศัยการมอง มอง มองและก็มองเพื่อเก็บรายละเอียดและความรู้สึกเหล่านั้นออกมามากที่สุด 

<p>&nbsp;The Arrival of Spring, 2011</p>

 The Arrival of Spring, 2011

กระทั่งในช่วง 1990 เป็นต้นมาและช่วงที่เขาย้ายกลับมาอยู่บ้านเกิด งานของเขาก็เริ่มมีความเป็นนามธรรมมากขึ้น จากภาพพอร์เทรตและภาพทิวทัศน์แสนสมจริงก็เริ่มกลายเป็นธรรมชาติที่สดใส มีการเคลื่อนไหว ด้วยแสงอาทิตย์ที่สาดส่องและสัมผัสของลมที่ฉิวผ่าน คล้ายกับงานของ  Van Gogh, Gauguin, Monet และ Vermeer 

เช่นภาพ  The Arrival of Spring (2011) ที่เขาวาดขึ้นตอนที่กลับมาอยู่ยอร์กเชียร์บ้านเกิด ซึ่งก่อนหน้านั้น เขาพยายามหลีกเลี่ยงการพรรณนาถึงภูมิทัศน์ของอังกฤษมาตลอด แต่กระทั่งทุกวันนี้ที่เขาย้ายไปอยู่แคว้นนอร์มังดี ประเทศฝรั่งเศส เขาก็ยังคงวาดภาพทิวทัศน์ที่รายล้อมเขาอยู่

Hockney ผู้ไม่จำกัดขอบเขตงานศิลปะ

เราอาจมีภาพจำว่า Hockney เป็นจิตรกรเลื่องชื่อเจ้าของภาพสีอะคริลิกสดใส แต่จริง ๆ แล้ว Hockney ทำงานศิลปะหลากหลายแขนงมาก ทั้งภาพสเกตช์ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และออกแบบโรงละคร นอกจากนั้น เขายังประยุกต์ใช้แนวทางของศิลปินรุ่นก่อน ๆ กับงานตนเองด้วย 

เช่นว่าเมื่อศึกษาอย่างละเอียดถึงเหตุผลที่ศิลปะของศิลปินในอดีตนั้นลงรายละเอียดได้อย่างงดงามลึกซึ้งเพราะศิลปินรุ่นเดอะใช้กล้องช่วยให้วาดภาพได้ละเอียดขึ้น เขาก็นำวิธีที่ร่างภาพจากภาพถ่ายมาปรับใช้กับงานตนเองด้วย แต่สิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างภาพถ่ายและภาพวาดของเขาอีกอย่างคือการที่ Hockney ใช้ภาพถ่ายมาสร้างเป็นภาพวาดอีกทีหนึ่ง

<p><span style="background-color:transparent;color:#313131;">Billy + Audrey Wilder, 1982</span></p>

Billy + Audrey Wilder, 1982

อย่างงาน Billy + Audrey Wilder (1982) เขาได้รวมภาพถ่ายโพลารอยด์หลายสิบภาพจากมุมต่างๆ เพื่อนำมาปะติดกันที่เขาเรียกว่า ‘Joiners’ โดยได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะแบบ Cubism เพื่อทดลองเวลา การเคลื่อนไหว และตำแหน่งต่าง ๆ จนได้เป็นภาพที่มีหลากหลายมุมมองใน 1 ภาพ คล้ายกับผู้ชมไปอยู่ในสถานที่เดียวกันกับเขา

ความน่ารักและความทันสมัยของ Hockney ยังไม่หยุดแค่นั้น เพราะในปี 2008 หลัง Hockney รู้จักโปรแกรม Photoshop เขาก็เริ่มทำงานด้วยปากกาสไตลัสมาโดยตลอด แถม 1 ปีหลังจากนั้น Hockney ยังหันมาใช้ iPhone และ iPad สร้างงานด้วย

David Hockney ศิลปินที่อยู่คู่วงการศิลปะมาทุกสมัย

ตลอดการเป็นศิลปินของเขา สิ่งที่เราเห็นอยู่เสมอคือการทำงานและเดินหน้าใช้ชีวิตตามหัวใจตนเองเรียกร้อง ไม่ว่าจะเป็นการพยายามเข้าเรียนด้านศิลปะโดยเฉพาะ การปฏิเสธการเขียนข้อสอบเพื่อจบการศึกษา การทดลองทำศิลปะหลากหลายประเภทแม้หลายคนจะไม่เข้าใจ กระทั่งการใช้ชีวิตแบบจัดเต็ม ปาร์ตี้ สูบบุหรี่จัด และใช้กัญชา จนหลายคนเป็นห่วงสุขภาพ แต่เขาไม่เคยแคร์แม้แต่น้อย เพราะเขาเชื่อมั่นว่านี่คือเส้นทางที่ถูกต้องสำหรับเขาแล้ว 

รางวัลที่เขาได้รับมากมายตั้งแต่วัยรุ่นจนปัจจุบัน โดยเฉพาะการที่ภาพวาด Portrait of an Artist (Pool with Two Figures) (1972)  ทำลายสถิติศิลปะที่แพงที่สุดโดยศิลปินที่มีชีวิตในราคา 90 ล้านดอลลาร์ ก็คงเป็นหนึ่งในเครื่องการันตีความยิ่งใหญ่และอิทธิพลของเขาที่มีต่อวงการศิลปะ

แม้อายุจะแตะเลข 8 แล้วก็ตาม Hockney ยังคงมีความสุขกับการใช้สีสันสดใสในพาเลตเฉพาะตัววาดภาพ พร้อม ๆ กับแต่งกายสีฉูดฉาดเป็นเอกลักษณ์​ และแม้เขาจะทดลองศิลปะมาหลากหลายประเภท สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยเลิกทำอย่างเด็ดขาดก็คือการวาดภาพนั่นเอง 

เมื่อคุณอายุมากขึ้น คุณจะรู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่มีอะไรเทียบได้กับการเขียนภาพและการวาดภาพเลย

tate
npr
theartstory
christies
thedavidhockneyfoundation