‘Cut & Run – 25 Years of Card Labour’ คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในรอบ 14 ปีของศิลปินแนวกราฟิตี้ผู้โด่งดังและลึกลับอย่าง ‘Banksy’ ที่ตัดสินใจเลือก Gallery of Modern Art ณ เมืองกลาสโกลว ประเทศสกอตแลนด์ เป็นโลเคชันในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่สมกับเป็นตัวเขาว่า “เพราะงานศิลปะชิ้นโปรดของผมอยู่ที่นี่”
สำหรับงานชิ้นโปรดที่ว่านั้น ก็ไม่ใช่ศิลปะชื่อดังในแกลเลอรี่ที่เราคุ้นเคยกันแต่อย่างใด แต่เป็น ‘กรวยจราจร’ ปริศนา ที่ครอบอยู่บนหัวรูปปั้นของ ‘Duke of Wellington’ หรือ อาร์เธอร์ เวลเลสลีย์ (Arthur Wellesley) ดยุกแห่งเวลลิงตันที่ 1 ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า Gallery of Modern Art มานานกว่า 40 ปี โดยสันนิษฐานกันว่าธรรมเนียมการครอบกรวยให้รูปปั้นนี้ น่าจะมาจากขี้เมาเผลอเอามาครอบไว้ ทว่าเมื่อตำรวจนำกรวยออกไปทีไร เช้าวันใหม่ก็จะมีกรวยแสนสวยสดใสที่ไฉไลกว่าเดิมมาครอบใหม่ทุกครั้ง ราวกับทุกคนจ้องจะครอบกรวยบนหัวของดยุคคนนี้อยู่ตลอด
ด้วยความที่เป็นการยื้อยุดฉุดกันระหว่างภาคประชาชนกับตำรวจอยู่นาน คล้ายกับแมวไล่ตามหนู และโจรจับผู้ร้าย แต่ไล่ตามเท่าไรก็ไม่เคยทันสักที ทุกวันนี้กรวยจราจรก็เลยได้อยู่ดีมีสุขบนหัวของท่านดยุคต่อไป แถมพอมีเทศกาลหรืออยากจะรณรงค์เรื่องอะไรสักอย่าง ก็จะมีการเปลี่ยนกรวยหรือนำกรวยที่สอดแทรกสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาครอบไว้แทน เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เลยคล้ายกับตัวตนของ Banksy เอง ที่ต้องทำงานไปหนีตำรวจไป ดังนั้นเมื่อเราเดินเข้าไปในนิทรรศการเดี่ยวครั้งนี้ของเขา เราก็จะเห็นข้อความจาก Banksy แปะไว้บนผนังแกลเลอรีให้เราได้อ่านกันว่า “ศิลปินส่วนใหญ่ล้วนมีความหลงใหลเป็นตัวกำหนดเแนวทางในการสร้างงานศิลป์” และ “โมเนต์มีแสง, ฮอกนีย์มีสี, ส่วนผมมีเวลาที่ตำรวจได้รับแจ้งเหตุและเตรียมจะเข้ามาจับ”
ในส่วนของคอนเซปต์นิทรรศการ ‘Cut & Run – 25 Years of Card Labour’ คือการอยากจัดแสดงผลงานไปพร้อม ๆ กับเปิดเผยกระบวนการเบื้องหลัง และวิธีการสร้างผลงานทั้งหมดของเขาว่าทำอย่างไรบ้าง โดยจะมีการจัดแสดงภาพสเก็ตช์ต้นฉบับ และภาพพิมพ์ลายฉลุต่าง ๆ ที่นำไปใช้ในการทำงานกราฟิตี้ ยกตัวอย่างผลงานเด่น ๆ ที่เราจะเห็นในงานนี้ เช่น ‘Kissing Coppers’ ภาพของตำรวจสองนายจูบกัน ปรากฏครั้งแรกบนผนังของผับ Prince Albert ในเมืองไบรตัน ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2004 และภาพ ‘Mobile Lovers’ ซึ่งเป็นภาพของคู่รักที่จูบกัน แต่ในระหว่างนั้นก็มองมือถือของตัวเองไปด้วย พบในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ ปี 2014
รวมไปถึงผลงานที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกอย่าง ‘Girl With Balloon’ ที่ถูกทำลายเป็นเศษกระดาษทันที หลังจากถูกประมูลไปในราคา 1 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 44 ล้านบาท แต่เนื่องจากเครื่องทำลายเอกสารทำงานผิดพลาดเลยหยุดลง หลังจากทำลายไปได้ครึ่งทาง โดย Banksy จะเฉลยให้เราเข้าใจผ่านโมเดลที่เขาทำเอาไว้ ว่าเขาทำลายภาพนี้ได้อย่างไรในงานนิทรรศการครั้งนี้
Banksy ได้เขียนถ้อยแถลงถึงการจัดงานนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “ผมเก็บแผ่นฉลุ (‘stencil’ แผ่นกระดาษที่ศิลปินกราฟิตี้ฉลุเป็นรูปหรือลวดลายที่ต้องการ ก่อนนำไปทาบและพ่นสีลงบนสถานที่ต่าง ๆ) เหล่านี้ไว้หลายปีแล้ว อย่าลืมว่าแผ่นฉลุเหล่านี้อาจใช้เป็นหลักฐานในการเอาผิดทางอาญา ฐานทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายได้ แต่เหมือนว่าช่วงเวลาแบบนั้นจะผ่านไปแล้ว เพราะตอนนี้ผมกำลังเอาพวกมันมาจัดแสดงในแกลเลอรี ในฐานะงานศิลปะ จนเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าอาชญากรรมแบบไหนกันแน่ที่ใหญ่กว่ากัน”
หากใครเป็นแฟนคลับ Banksy และอยากรู้กลเม็ดการสร้างและทำลายงานศิลป์แบบเฉพาะตัวของเขา ก็สามารถตามไปดูนิทรรศการ ‘Cut & Run – 25 Years of Card Labour’ กันได้ตั้งแต่วันนี้ - 25 สิงหาคม 2023 ณ Gallery of Modern Art เมืองกลาสโกลว ประเทศสกอตแลนด์
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/uk-scotland-glasgow-west-65908647
https://www.bigissue.com/culture/art/banksy-cut-run-is-the-closest-weve-come-to-seeing-behind-his-mask/