จากกระแสของ Blue Period อนิเมะเปิดประตูความฝันวัยหนุ่มสาวสู่โลกศิลปะ ที่กระแทกใจผู้ชมมาอย่างต่อเนื่อง ย้อนรอยกลับไปยังต้นตอของชื่อเรื่องที่เป็นมากกว่าแค่ภาพวาดบนผืนผ้าใบ..
เรื่องราว The Blue Period ช่วงเวลาสีน้ำเงินของ Pablo Picasso ศิลปินเอกแห่งลัทธิ Cubism เริ่มต้นขึ้นราวช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในสเปน ปี 1901 ขณะตัวเขายังเป็นศิลปินที่ว้าวุ่นอยู่กับสภาวะทางอารมณ์ แถมยังล้มเหลวด้านชื่อเสียงและการเงิน ซึ่งก็นับว่าในเวลานั้น ชีวิตของเขาค่อนข้างลำบากมากทีเดียว
จุดเปลี่ยนสำคัญ เกิดขึ้นเมื่อเพื่อนคู่ใจอย่าง Carlos Casagemas กวีผู้ตกอับอาภัพรัก ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง ทำให้ Picasso ซึ่งกำลังดิ้นรนในหน้าที่การงาน เสียศูนย์อย่างหนักจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ธีมงานของ Pablo Picasso เปลี่ยนไปชัดเจนหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ผืนผ้าใบของเขาเริ่มสื่อถึงความเคร่งขรึมและมืดมนผ่านสีหลัก คือ ‘สีน้ำเงิน’ ที่เกือบจะเป็นสีเดียวในงานของเขา (อาจแซมสีเขียวไปบ้างเล็กน้อยเพื่อสร้างมิติให้กับภาพ) มีคำอธิบายจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์ว่า เหตุผลที่ใช้สีน้ำเงินเป็นธีมหลัก อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ‘ความหมาย’ ของสี ที่ถูกนิยามบนภาพวาดเชิงสัญลักษณ์ในสเปนและฝรั่งเศส ซึ่งมักสื่อถึงอารมณ์ความเศร้าโศกและความสิ้นหวัง มีการคาดเดากันว่าโดยหลักแล้ว งานของ Picasso ช่วงนี้ ได้รับอิทธิพลจากลัทธิ Fauvism โดยเฉพาะจากผลงานของ Henri Matisse จากนั้น Picasso ก็เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบและมองหาทิศทางการสร้างงานที่ไม่ซ้ำเดิม
Picasso ลงมือถ่ายทอดฉากความทุกข์ยาก และความโชคร้าย โดยใช้สีน้ำเงิน เพื่อเป็นตัวแทนของเหล่าคนที่ถูกมองข้ามในสังคมไม่ว่าจะเป็น ขอทาน คนเมา โสเภณี หรือคนง่อย พ่วงมาด้วยอาการหิวโหย ป่วย และความยากจน อาจเป็นเพราะตัว Picasso เข้าใจในสภาวะอันแร้งแค้นนี้เป็นอย่างดี ทำให้ผลงานของเขาไม่เพียงแค่ถ่ายทอดเรื่องราวของคนกลุ่มน้อยกับโชคชะตาที่ไม่เป็นใจ แต่ยังมีคุณค่าทางความงามที่เหนือกฎของสังคม ทำให้เหล่าอาสาสมัครที่มาเป็นแบบ มีตัวตนอยู่ตลอดกาลบนผืนผ้าใบของเขา Picasso ยอมรับว่า อาสาสมัครเหล่านี้ หลุดพ้นจากชะตากรรมที่พวกเขาต้องเผชิญ ด้วยภาพเชิงเปรียบเทียบซึ่งเผยให้เห็นถึงอุดมคติที่พวกเขาใฝ่ฝัน แม้บางคนจะตาบอดจากภายนอก แต่เขาก็ยังมองเห็นอยู่ภายใน นั่นทำให้ตลอดช่วงเวลาสีน้ำเงิน Picasso ได้สร้างผลงานเชิงสัญลักษณ์ที่บอกเล่าตั้งแต่ประเด็นสังคม-การเมือง ปรัชญา ไปจนถึงการถามหามนุษยธรรม
ตั้งแต่ภาพวาดชิ้นแรกที่ Picasso อุทิศให้กับเพื่อนรักของเขา มาจนถึง La Vie (1903) ภาพวาดชิ้นสุดท้ายในคอลเลคชั่นสีน้ำเงิน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ศิลป์ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่โดดเด่นและลึกลับที่สุดของเขา ที่มีนัยยะเปรียบเทียบการเกิด การตาย กับการไถ่ถอน สื่อถึงความรับผิดชอบ เรื่องราวทางเพศ หรือแม้แต่การต่อสู้กับความคิดในการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ผืนผ้าใบทั้งหมดนี้ ล้วนแต่ทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนช่วงเวลาอันยากลำบากของศิลปิน ซึ่งเต็มไปด้วยสองขั้วอารมณ์ที่ขัดแย้งกันคือ ‘ความอ้างว้าง’ และ ‘ความรู้สึกอันเปี่ยมล้น’ ที่ปะทุอยู่ลึกลงไป อีกทั้งงานของ Picasso ยังเน้นถึงความสามารถที่หาใครเปรียบได้ยาก จนผืนผ้าใบของเขา เป็นตัวแทนความอดอยากและยากลำบาก ที่ลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการศิลปะในขณะนั้น
อ้างอิง :
masterworksfineart
pablopicasso