cover copy.jpg

Documenta Fifteen พาทัวร์หนึ่งในเทศกาล Top 3 ของโลกศิลปะที่ความก้าวหน้าและความดราม่ามาพร้อมกัน

Post on 5 September

Documenta คืออะไร

หากในโลกของการประกวดนางงามมี 3 เวทีตัวแม่อย่าง มิสยูนิเวิร์ส มิสเวิลด์ และมิสแกรนด์ ยืนหยัดเป็นเวทีศักดิ์สิทธิ์ให้แฟนนางงามได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ ในโลกศิลปะที่มีดราม่าและการตบตีเชียร์มวยถึงพริกถึงขิงไม่แพ้กัน ก็มีมหกรรมงานอิเวนต์ที่ยืนพื้นเป็นงานบุญประจำปีที่ผู้คนในโลกศิลปะต่างดั้นด้นเดินทางมาจาริกแสวงบุญกันอยู่ 3 งาน และ 3 มหกรรมที่ว่านั้นก็คือ Biennale, Documenta และ Art Basel

ในขณะที่ Biennale (ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี) ได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลศิลปะนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ส่วน Art Besel ก็เป็นมหกรรมซื้อขายงานที่ใหญ่ที่สุดของโลกศิลปะ Documenta ก็หยัดยืนสร้างแบรนดิ้งให้ตัวเองด้วยการประกาศตัวเป็นเทศกาลศิลปะที่ยืนเคียงข้างประชาชนและเป็นพื้นที่ศิลปะที่เป็น ‘ประชาธิปไตย’ มากที่สุดในโลก

ชาว Documenta มองว่าตัวเองแตกต่างจากรุ่นพี่อย่าง Biennale ตั้งแต่ต้นกำเนิดของการจัดงาน โดยผู้จัดงาน Documenta ครั้งแรกเมื่อปี 1955 เป็นเพียงประชาชนคนธรรมดาที่ต้องการให้ประเทศเยอรมนีกลับมาฉายแสงในโลกศิลปะอีกครั้ง หลังมีภาพลักษณ์เป็นตัวร้ายป่าเถื่อนในสงครามโลกมานาน แตกต่างจากต้นกำเนิดของงาน Biennale ที่มาจากความตั้งใจของรัฐบาลที่จะจัดงานเฉลิมวันครบรอบอภิเษกสมรสของกษัตริย์

และเช่นกัน Documenta ยังวางตัวต่างจาก Art Basel ด้วยการเป็นเทศกาลศิลปะที่ไม่เน้นเชิงพานิชย์ ปลอดการซื้อขาย โดยมุ่งคัดเลือกแต่งานเชิงคอนเซปชวลและ ‘Process-based’ (งานที่มุ่งสะท้อนกระบวนการทำงานมากกว่าผลลัพธ์) มาจัดแสดง ซึ่ง Documenta ครั้งแรกยังก็ได้วางรากฐานของการเป็นเทศกาลศิลปะหัวขบถของศิลปินที่มีความคิดก้าวหน้านอกกรอบ ด้วยการนำงาน Degenerate Art หรืองานศิลปะโมเดิร์นที่เคยถูกด้อยค่าและเซนเซอร์ในช่วงกองทัพนาซีเรืองอำนาจกลับมาจัดแสดงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นผลงานของ อองรี มาติส ไปจนถึง ปาโบล ปิกัสโซ

นับแต่นั้นมา Documenta ก็ปักหลักเป็นเทศกาลศิลปะที่สำรวจพรมแดนใหม่ ๆ ที่ยังไม่ค่อยมีใครกล้าเปิด และเป็นผู้ริเริ่มบทสนทนาศิลปะที่เชื่อมโยงกับสังคม การเมือง และประชาชน แบบเข้มข้น เป็นเทศกาลศิลปะที่มุ่งทลาย ‘ศูน์กลาง’ รวมไปถึง ‘สถาบัน’ ทางศิลปะ โดยมีขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะใหม่ ๆ ที่ท้าทายขนบศิลปะและกระแสความคิดในแต่ละยุคได้มาแจ้งเกิดฉายแสงที่นี่กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Abstract Expressionism, Conceptualism หรือ Minimalism

‘ศิลปะแบบสามัคคีชุมนุม’ ธีมหลักประจำปี Documenta Fifteen

Documenta 15 ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ขณะนี้ก็ยังคงยืนหยัดความเป็นเทศกาลศิลปะระดับโลกที่ชวนผู้คนออกไปสำรวจคำถามใหม่ ๆ เกี่ยวกับสังคมและประชากรโลกผ่านงานศิลปะ และเช่นเดียวกับปีก่อน ๆ Documenta 15 หาได้เชิญคิวเรเตอร์หรือศิลปินดังระดับโลกมานั่งเป็นคณะกรรมการการจัดงานเหมือนเทศกาลศิลปะอื่น ๆ แต่พวกเขาได้ทำการเชิญ ‘กลุ่มศิลปิน’(Artist Collective) จากประเทศอินโดนีเซียที่เกิดจากการรวมตัวกันของศิลปินชาวอินโดนีเซียที่ทำงานในยุคหลังการปกครองของผู้นำเผด็จการซูฮาร์โต ภายใต้ชื่อ ‘ruangrupa’ ให้มานั่งเป็นแม่งานของ Documenta ปีนี้

‘lumbung’ (อ่านว่า ลัมบัง) คือธีมหลักที่ ruangrupa พกพามาขยายความที่ Documenta 15 ลัมบังคือคำเรียกยุ้งข้าวประจำหมู่บ้านในวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวอินโดนีเซีย เนื่องจากเป็นยุ้งข้าวที่คนในหมู่บ้านหรือชุมชนใช้สอยร่วมกัน ทุกชุมชนที่มีลัมบังจึงต้องร่วมมือกันจัดสรรและคำนวณการเก็บและแจกจ่ายเสบียงในลัมบังเพื่อให้มีกินถึงวันข้างหน้า ซึ่งการร่วมมือร่วมใจและการทำงานร่วมกันเช่นนี้ก็คือวิถีการทำงานศิลปะที่เกิดขึ้นที่ Documenta 15 โดย ruangrupa ได้เชิญ 14 กลุ่มศิลปินและ 54 ศิลปินเดี่ยวจากทั่วโลก รวมแล้วนับพันชีวิต ให้มาร่วมกันนำเสนองานศิลปะที่สะท้อนถึงการทำงานเชื่อมโยงเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นของศิลปิน

และเช่นเดียวกันกับกลุ่ม ruangrupa ผลงานที่จัดแสดงใน Documenta 15 ล้วนเป็นผลงานที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของผู้คนจากหลากศาสตร์หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็น วิศวกร นักสิ่งแวดล้อม นักสังคมวิทยา ฯลฯ เพราะพวกเขาและชาว Documenta เชื่อว่า การทำงานศิลปะในโลกยุคปัจจุบันที่จะทอดยาวไปสู่อนาคตหาใช่การทำงานของศิลปินคนเดียวแบบโดดเดี่ยว แต่เป็นการทำงานด้วยการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ของผู้คนในสาขาที่แตกต่างกัน แล้วมาทำงานร่วมกันภายใต้ความสร้างสรรค์

Documenta 2022

Documenta 2022 จัดขึ้นที่เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมันนี และยืนหยัดจัดงานกัน 100 วันเต็ม โดยจะรูดม่านปิดกันในวันที่ 25 กันยายนนี้ และงานครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในอีก 5 ปีหลังจากนี้ ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาทุกปี
ก่อนที่จะปิดม่าน เก็บนั่งร้าน แยกย้ายกันตักแกงถุงกลับบ้านใครบ้านมัน GroundControl ที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมเทศกาลศิลปะแห่งนี้ก็ไม่พลาดที่จะเก็บตกโปรเจกต์งานที่น่าสนใจ รวมไปถึงประเด็นดราม่าระดับโลกสุดร้อนแรง และบทสนทนาในโลกศิลปะที่เกิดขึ้นในเกือบ 100 วันที่ผ่านมา มัดรวบเป็นรีพอร์ตมาให้ชาวศิลปะได้โหนกระสวย เอ๊ย! กระแสกันแบบไม่ตกเทรนด์

GC Special Route คือคอลัมน์พิเศษของ GroundControl ที่จะพาผู้สนใจในศิลปะและวัฒนธรรมไปเปิดเส้นทางสำรวจงานศิลปะ สถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในรูทท่องเที่ยวนอกประเทศ เสมือนพาผู้อ่านออกไปเที่ยวผ่านหน้ากระดาษ ประเดิมรูทแรกด้วยเส้นทาง Documenta - Vienna - Berlin ที่หลังจากปักหมุดสตาร์ทกันที่ Documenta Fifteen แล้ว ยังมีจุดปักหมุดอีกมากมายที่เราจะชวนทุกคนไปสำรวจกัน รอติดตามที่หน้าเพจ GroundControl ได้เลยจ้า

<p>(ภาพผลงานที่ถูกคลุมด้วยผ้าก่อนถูกรื้อถอนในภายหลัง เครดิตภาพจาก Uwe Zucchi/picture alliance, via Getty Images)</p>

(ภาพผลงานที่ถูกคลุมด้วยผ้าก่อนถูกรื้อถอนในภายหลัง เครดิตภาพจาก Uwe Zucchi/picture alliance, via Getty Images)

ดราม่าเรื่องคนยิวในประเทศแห่งบาดแผลของคนยิว

แน่นอนว่าเมื่อคนมากหน้าหลายวัฒนธรรมมารวมตัวกัน ย่อมต้องเกิดดราม่าเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แต่ดราม่าที่กำลังเกิดขึ้นที่ Documenta Fifteen ณ เมืองคาสเซล ประเทศเยอรมันนี นั้นดันไปแตะประเด็นที่เปราะบางและซับซ้อนที่สุด จนทำให้ดราม่าล้ำหน้างาน และกลายเป็นว่าประเด็นความขัดแย้งนั้นถูกขยับขึ้นมาเป็นหัวข้อหลักของงานไปแล้ว

จุดเริ่มต้นของเรื่องราวไฟลุกนี้เกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน หรือตั้งแต่ในวันแรกของการเปิดม่านเทศกาล เมื่อปรากฏว่าผลงานป้ายแบนเนอร์สะท้อนการเมืองความยาว 18 เมตรของกลุ่มศิลปินจากประเทศอินโดนีเซียอย่าง Taring Padi ที่ถ่ายทอดภาพวาดการ์ตูนของเหล่านักเคลื่อนไหวทางการเมือง ดันปรากฏภาพคาแรกเตอร์นายทหารที่มีลักษณะทรงผมคล้ายชาวยิวออร์โธด็อกซ์ ตาแดงก่ำ ยิ้มแสยะเห็นฟันเขี้ยว และสวมหมวกที่มีตัวอักษร ‘SS’ อันเป็นที่รู้กันว่าย่อมาจาก ‘Schutzstaffel’ หน่วยทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญในเหตุการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวภายใต้การปกครองของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

และยังทีอีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวการ์ตูนหมูสวมหมวกกันน็อกที่เขียนคำว่า ‘Mossad’ ซึ่งเป็นชื่อหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลอิสราเอลที่ก่อตั้งมาตั้งแต่เหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายชาวปาเลสไตน์จับนักกีฬาชาวอิสราเอลในการแข่งขันโอลิมปี 1972 ที่เมืองมืวนิคเป็นตัวประกัน ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงด้วยการเสียชีวิตของนักกีฬาชาวอิสราเอล 11 ราย โดยที่ 9 รายหลังถูกลูกหลงซึ่งเป็นผลมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดและความบกพร่องในการวางแผนจับกุมคนร้ายของรัฐบาลเยอรมนี และจากนั้นเป็นต้นมา กลุ่ม Mossard ก็เริ่มเปิดสงครามตามล่าผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่โอลิมปิกเรื่อยมา

<p>Bara Solidaritas: Sekarang Mereka, Besok Kita / The Flame of Solidarity: First they came for them, then they came for us ผลงานของกลุ่ม Taring Padi ที่ยังจัดแสดงอยู่ นำเสนอป้ายแบนเนอร์และป้ายประกาศที่ประชนชนชาวอินโดนีเซียใช้ในการประท้วงในเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ</p>

Bara Solidaritas: Sekarang Mereka, Besok Kita / The Flame of Solidarity: First they came for them, then they came for us ผลงานของกลุ่ม Taring Padi ที่ยังจัดแสดงอยู่ นำเสนอป้ายแบนเนอร์และป้ายประกาศที่ประชนชนชาวอินโดนีเซียใช้ในการประท้วงในเหตุการณ์ทางการเมืองต่าง ๆ

ความฉาวของผลงานชิ้นนี้ล่วงรู้ไปถึงหูของเหล่านักการเมืองชาวเยอรมันและผู้นำกลุ่มคนยิว และลุกลามกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ระดับประเทศทันที แม้ว่าคณะกรรมการ Documenta จะออกมาแสดงความเสียใจและรีบใช้ผ้าคลุมแบนเนอร์ดังกล่าวทันที แต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ลุกลามแบบไฟลามทุ่งได้ ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นดราม่าจากป้ายแบนเนอร์ของกลุ่ม Taring Padi กลับยิ่งสุมไฟให้ข้อหา ‘Anti-Semitism’ หรือ ‘การต่อต้านยิว’ (โดยเฉพาะยิวอิสราเอล) ที่ Documenta เผชิญมาตั้งแต่ประกาศรายชื่อศิลปินที่เข้าร่วมเทศกาล โดยมีการชี้ว่า ในรายชื่อศิลปินทั้งหมดนั้นไม่ปรากฏชื่อของศิลปินจากประเทศอิสราเอลเลย แต่กลับมีศิลปินชาวปาเลสไตน์ที่ได้รับเลือก

นอกจากกลุ่ม Taring Padi แล้ว คนที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ก็คือกลุ่ม ruangrupa ที่เป็นคิวเรเตอร์หลักประจำงาน โดยมีการตั้งคำถามจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของเยอรมนีโดยตรงว่า คณะกรรทการปล่อยให้ผลงานชิ้นนี้หลุดมาสู่สายตาผู้ชมได้อย่างไร ทั้งที่มีเวลารีวิวงานตั้งมากมาย แถมกลุ่มศิลปินดังกล่าวยังเป็นศิลปินที่คณะกรรมการเลือกมาเองกับมือด้วย

ในภายหลัง กลุ่ม Taring Padi ได้ออกมาแถลงผ่านวิดีโอสัมภาษณ์ว่า ไม่มีสมาชิกคนใดในกลุ่มที่มีแนวคิดต่อต้านยิว พร้อมทั้งอธิบายถึงที่มาที่ไปของผลงานเจ้าปัญหาว่า ทางกลุ่มเพียงต้องการที่จะนำเสนอภาพของรัฐบาลอิสราเอลในฐานะหนึ่งในผู้หนุนหลังอดีตผู้นำเผด็จการของอินโดนีเซียอย่างซูฮาร์โตเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การถกเถียงนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ในหัวข้อเรื่องการต่อต้านกลุ่มชาติพันธุ์เท่านั้น แต่เหตุการณ์ปลดงานของกลุ่ม Taring Padi ยังทำให้ศิลปินหลายคนที่จัดแสดงผลงานใน Documenta Fifteen ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย โดยกล่าวว่านี่คือการเซนเซอร์โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุย ชี้แจง และทำความเข้าใจกัน ซึ่งนี่ไม่ใช่เป้าหมายหลักของการจัดงาน Documenta เทศกาลศิลปะที่ขึ้นชื่อเรื่องการเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนบทสนทนาและความคิดผ่านงานศิลปะกันไม่ใช่หรือ? ซึ่งแม้ว่าสุดท้ายแล้ว Documenta Fifteen จะยังคงเดินหน้าจัดต่อไปได้จนเกือบจบเทศกาลแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ก็มีศิลปินบางส่วนที่ออกมาเรียกร้องให้เพื่อนศิลปินทั้งหมดใช้ผ้าคลุมงานของตัวเอง เพื่อเป็นการประท้วงการเซนเซอร์งานศิลปะที่เกิดขึิน

Dematerialize Art ถ้างานศิลปะ ‘ไม่เสร็จ’ เป็นรูปธรรมล่ะ?

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Documenta แตกต่างจากเทศกาลศิลปะอื่น ๆ คือความไม่ประนีประนอมกับผู้ชม โดยเฉพาะใน Documenta Fifteen ที่ทั้งนักวิจารณ์และผู้ชมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่ไม่ใช่งานสำหรับทุกคน ซึ่งความงงในการเดินกลางดง Documenta Fifteen นั้นก็มาจากความตั้งใจของคณะผู้จัดงานที่จะนำเสนอกลวิธีหรือสุนทรียะใหม่ในการนำเสนองานศิลปะ นั่นก็คือ การให้ความสำคัญและนำเสนอ ‘กระบวนการ’ มากกว่าผลลัพธ์หรือรูปสำเร็จของงาน

ด้วยเหตุนี้เมื่อผู้เข้าชม Documenta Fifteen เดินเข้าไปในงาน พวกเขาจึงจะได้พบกับแปลงผักสวนครัวรั้วกินได้ คลาสทำอาหาร ห้องเรียน ลานสเก็ต ไปจนถึงโต๊ะนั่งเล่นกระดานหมากรุก ฯลฯ ซึ่งจุดร่วมกันของผลงานทั้งหมดก็คือการ ‘แบ่งปัน’ แนวคิด เรื่องราว และพื้นที่ ระหว่างศิลปินกับศิลปิน ศิลปินกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ ไปจนถึงศิลปินกับผู้ชม

ด้วยการจัดแสดงผลงานที่เน้นการสร้างบทสนทนามากกว่าการชวนผู้ชมไปดูผลลัพธ์ของงาน  อันเป็นกระบวนท่าสามัญของการจัดแสดงงานศิลปะในแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก นักวิชาการทางศิลปะบางส่วนก็ให้ความเห็นว่า Documenta Fifteen คือความพยายามรื้อฟื้นบรรยากาศของโลกศิลปะยุค 60s ขึ้นมาใหม่ อันเป็นช่วงเวลาที่ศิลปินตั้งคำถามกับรูปแบบและฟอร์มของงานศิลปะ  พยายามหลีกหนีจากการทำงานศิลปะเป็นชิ้น ๆ เพื่อขายในแกลเลอรี  แล้วหันไปให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงาน ซึ่งตัวอย่างของขบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในยุคหลีกหนีความเป็นชิ้นงาน (object) นี้ก็คืองานศิลปะคอนเซปชวล, เพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต, มินิมอลอาร์ต ไปจนถึง ภูมิศิลป์ (Land Art) ซึ่งล้วนเป็นศิลปะที่พยายามละลายความเป็นวัตถุของศิลปะ แล้วปลดเปลื้องให้เหลือแต่ความคิด หรือที่เรียกว่าการ dematerialize นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในแถลงการเปิดงานของกลุ่ม ruangrupa จะอ้างถึงความสำคัญในการชวนผู้ชมเข้ามาสำรวจกระบวนการคิดและการทำงานของศิลปิน ประหนึ่งคนนอกที่เข้าไปดูกิจกรรมของชาวนาระหว่างหว่านเมล็ด เพื่อเฝ้าสังเกตและคิดร่วมกัน แต่ก็มีหลายฝ่ายที่ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ขาดหายไปใน Documenta ก็คือ ‘ล่าม’ หรือเครื่องแปลภาษา ซึ่งในที่นี้ก็คือรูปแบบการถ่ายทอดงานศิลปะนั่นเอง โดยนักวิจารณ์ส่วนใหญ่ลงความเห็น ว่าแนวคิดของ Documenta ในครั้งนี้น่าสนใจ และเป็นความท้าทายโลกศิลปะที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โลกตะวันตก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเมื่อขาดสุนทรียะหรือ ‘ความงาม’ ในการเป็นตัวเชื่อม เป็นภาษากลางแล้ว เราจะทำให้คนต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม  และไม่ได้รู้บริบททางการเมืองของศิลปินกลุ่มนั้น ๆ เข้าใจกันได้อย่างไร?

เอาล่ะ มาถึงจุดนี้แล้วก็ถึงเวลาเข้าไปชมงานต่าง ๆ กันจริง ๆ เสียที ต่อไปนี้เราได้คัดงานที่เราว่าน่าสนใจใน Documenta Fifteen มาให้ชมกันคร่าว ๆ ส่วนดูแล้วจะชอบหรือไม่ชอบ เก็ทหรือไม่เก็ท ก็ไม่มีถูกผิด เพราะสุดท้ายแล้วศิลปะก็เป็นเรื่องความชอบของปัจเจกบุคคลนั่นล่ะนะ

วัวไทยในเยอรมนี 

<p>(ภาพจาก Baan Noorg Collaborative Arts and Culture)</p>

(ภาพจาก Baan Noorg Collaborative Arts and Culture)

Churning Milk: the Rituals of Things คือชื่อของงานสามชิ้นที่กลุ่มศิลปินจากตำบลหนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี อย่าง Baan Noorg Collaborative Arts and Culture นำไปจัดแสดงที่ Documenta Fifteen โดยชื่องาน Churning Milk ก็มาจากการกวนนม ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญของการแปรรูปนม และยังเป็นฉากสำคัญในวรรณคดีรามายนะที่คนไทยคุ้นเคยกันดีในชื่อตอน ‘เกษียรสมุทร’ ด้วย

งานทั้งสามชิ้นของ Baan Noorg สะท้อนความเกี่ยวโยงกันระหว่างวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ประเพณี  วัฒนธรรมไทย-ฮินดู และการแบ่งปันความรู้ข้ามภูมิภาคระหว่างไทยกับเยอรมนี เนื่องด้วยวิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 1968 ชาวนาในตำบลหนองโพจึงได้เปลี่ยนจากการทำไร่นามาสู่การเลี้ยงวัวนม ซึ่งสายพันธุ์วัวนมที่เกษตรกรหนองโพเลือกก็คือสายพันธุ์จากเยอรมนี และนับตั้งแต่นั้น วัวนมจากเยอรมนีที่มาอยู่หนองโพก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมใหญ่ที่หล่อเลี้ยงประเทศ

<p>Baan Noorg, The Rituals of Things, installation view, Documenta Halle, 2022. Photo: Nicolas Wefers</p>

Baan Noorg, The Rituals of Things, installation view, Documenta Halle, 2022. Photo: Nicolas Wefers

Baan Noorg ได้เข้าไปเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรในหนองโพกับคาสเซล เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการทำฟาร์มโครมระหว่างกัน โดยนอกจากจะไปเปิดเวิร์กชอปเรื่องนมวัวและฉายภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในหนองโพและคาสเซลแล้ว ทางกลุ่มยังได้จัดการแสดงหนังใหญ่ที่นำเสนอภาพของวัวในฐานะสัตว์ที่ปรากฏอยู่ทั้งในวิถีชีวิตและความเชื่อของคนหนองโพ โดยไฮไลต์หลักของโปรเจกต์นี้ยังอยู่ที่การร่วมมือกับศิลปินเยอรมันในการสร้างลานสเก็ต ‘Skate to Milk’ ที่เปิดให้ผู้ชมที่เป็นพลเมืองชาวคาสเซลสามารถหิ้วสเก็ตบอร์ดมาไถกันได้ โดยที่มูฟเมนต์ของการเคลื่อนสเก็ตนั้นก็ล้อไปกับการกวนนม และในขณะที่การกวนนมเกิดผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์และวิถีชีวิต การไถสเก็ตในพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะก็ก่อให้เกิดเสียง มูฟเมนต์ และบรรยากาศที่ท้าทายการจัดแสดงศิลปะแบบเดิม ๆ

ฟังเสียงแผ่นดิน อึมบอมเบลา

MADEYOULOOK คือกการจับคู่ทำงานศิลปะของสองศิลปินชาวโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ได้แก่ Molemo Moiloa และ Nare Mokgoth งานของพวกเขามุ่งความสนใจไปที่การหยิบกิจกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของคนผิวดำมานำเสนอเป็นงานศิลปะที่อยู่นอกพื้นที่แกลเลอรี กระบวนการทำงานของพวกเขาเน้นการทำรีเสิร์ชที่กินระยะเวลานาน และมักทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่น นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี เป็นต้น

Mafolofolo คือชื่องานที่ MADEYOULOOK นำมาจัดแสดงที่ Documenta Fifteen โดยพวกเขาได้เปลี่ยนพื้นที่ล็อบบี้โรงแรมเก่าแก่อย่าง Hotel Hessenland ที่ถูกปิดตายมาตั้งแต่ยุค 90s ให้กลายเป็นแผนที่ขนาดใหญ่มหึมา พร้อมเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินเข้ามาสำรวจอาณาบริเวณของดินแดนแอฟริกาใต้ก่อนการมาถึงของนักล่าอาณานิคม โดยชื่อของสถานที่และจุดต่าง ๆ มาจากชื่อของพื้นที่ที่อยู่ในจังหวัดอึมบอมเบลา ซึ่งในอดีต บริเวณนี้เคยถูกเรียกว่า Bokoni โดยเป็นแหล่งอารยธรรมโบราณที่เก่าแก่ที่สุดในพื้นที่แอฟริกาใต้

ไฮไลต์ของงานชิ้นนี้อยู่ที่การใช้เสียงเข้ามาสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ชม ซึ่งเสียงนั้นคือบทเพลงที่ขับขานโดยผู้คนที่เกิดและอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินนี้ บทเพลงของพวกเขาบอกเล่าความผูกพันที่มีต่อแผ่นดินที่เคยเป็นถิ่นที่อยู่และการต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดที่ในปัจจุบันกลับตกอยู่ในความครอบครองของคนนอก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ MADEYOULOOK ต้องการจะสื่อสารก็คือการชวนผู้คนมาศึกษาเรื่องราวของเหล่าคนท้องถิ่น Bokoni ในฐานะประวัติศาสตร์ที่ยังมีลมหายใจ แม้ว่าพวกเขาจะถูกขับไล่ออกจากที่อยู่ แต่เรื่องราวก็ยังติดตัวไปพร้อมกับพวกเขา

นอกจากเสียงเพลงขับขานของคนท้องถิ่นแล้ว เสียงที่เปิดในการจัดแสดงครั้งนี้ยังปะปนด้วยเสียงของสองศิลปินและเสียงบอกเล่าเรื่องราวจากไกด์ท้องถิ่น ซึ่งบันทึกไว้ระหว่างที่พวกเขาลงไปสำรวจพื้นที่แห่งนี้ โดยนัยของการแทรกเสียงเหล่านี้เข้าไปก็เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของผู้ชมในฐานะคนนอกชนเผ่าที่พยายามเข้าไปทำความเข้าใจเรื่องราวและชีวิตของคนท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงบทบาทในการมีส่วนช่วยสืบสานประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตต่อไป

มูเตลูเฮติในโบสถ์คริสต์เยอรมนี

Atis Rezistans หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Resistance Artists คือกลุ่มศิลปินชาวเฮติที่มีฐานการทำงานอยู่ในย่านชุมชนแออัดของปอร์โตแปรง เมืองหลวงของประเทศเฮติ ศิลปินในกลุ่มนี้มีความผสมปนเปกันระหว่างศิลปินรุ่นเก๋าที่ทำงานประติมากรรมเป็นส่วนใหญ่ ผนวกกับศิลปินรุ่นใหม่ที่ใช้สื่อใหม่ ๆ อย่างภาพถ่าย วิดีโอ ดนตรี บทกวี และการแสดงสด
ในปี 2009 กลุ่มศิลปินที่ส่วนใหญ่มาจากชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศเฮติ ได้ร่วมกันจัดเทศกาลศิลปะ Ghetto Biennale ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในย่าน Ghetto Leanne ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นย่านที่จนที่สุดของปอร์โตแปรง โดยเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่นที่ไม่เคยผ่านการร่ำเรียนศิลปะได้มาทำงานร่วมกับศิลปินระดับนานาชาติ ซึ่งผลงานที่ออกมาล้วนแล้วแต่สะท้อนบริบทของย่านนี้ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมจากเศษขยะ การพลิกอาคารร้างเป็นพื้นที่ศิลปะ หรือการกางเตนท์เพื่อใช้เป็นอนุสาวรีย์รำลึกเหตุการณ์มหันตภัยแผ่นดินไหวในปี 2021 ฯลฯ จนทำให้ Ghetto Biennale กลายเป็นแม่แบบของการจัดเทศกาลศิลปะระดับภูมิภาคในกว่า 250 เมืองเล็กทั่วโลก

ใน Documenta Fifteen กลุ่ม Atis Rezistans ได้ยก Ghetto Biennale มาจัดแสดงไว้ที่โบสถ์ St. Kunigundis ทำให้พื้นที่ภายในโบสถ์แห่งนี้เต็มไปด้วยงานประติมากรรม การฉายภาพยนตร์ ไปจนถึงการแสดงสดที่สะท้อนวัฒนธรรมของชาวเฮติ ยิ่งไปกว่านั้น ทางกลุ่มยังได้จำลองบรรยากาศด้านในให้เหมือนกับท้องถนนในปอร์โตแปรง และดึงบรรยากาศบางส่วนมาจากผลงานของจิตรกรชาวเฮติคนสำคัญอย่าง Préfète Duffau ไปจนถึงการนำเสนอความเชื่อทางจิตวิญญาณของชาวเฮติ ไม่ว่าจะเป็นไฮไลต์สำคัญของงานที่เป็นประติมากรรมปู่เจ้าที่ Papa Legba ตั้งตะหงาานต้อนรับผู้ชมอยู่ที่ทางเข้า ไปจนถึงบรรดาโครงกระดูก ตุ๊กตาวูดู และการฉายบันทึกวิดีโอพิธีกรรมทางไสย์เวทย์ของชาวเฮติ

ศิลปะเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

Wajukuu Art Project คือองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวของศิลปินที่ทำงานอยู่ในชุมชนมุคุรุ สลัมที่ตั้งอยู่ในเมืองไนโรบิ เมืองหลวงของประเทศเคนยา  โดยเป้าหมายของ Wajukuu Art Project คือการใช้งานศิลปะมาช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับเยาวชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงอย่างการขายผลงานศิลปะ หรือทางอ้อมด้วยการเป็นลูกจ้างในกระบวนการผลิตงานศิลปะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในชุมชนแห่งนี้ที่มักจบลงด้วยการก่ออาชญกรรม ติดยา หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ด้วยความที่มุคุรุตุ้งอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักของกรุงไนโรบี เด็ก ๆ ในสลัมแห่งนี้จึงมักหาเลี้ยงชีพด้วยการหาเศษขยะที่เหลือจากกระบวนการอุตสาหกรรมไปขายต่อ ซึ่งแค่กวาดสายตามองภายนอก ผลงานที่ Wajukuu Art Project นำมาจัดแสดงที่ Documenta Fifteen ก็สะท้อนบริบทของพื้นที่อันเป็นบ้านเกิดของเยาวชนเหล่านี้ ด้วยผลงานศิลปะจัดวางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากโครงสร้างของบ้านในสลัม ซึ่งส่วนมากมักสร้างมาจากวัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือประติมากรรมที่กอปรขึ้นจากมีดนับร้อยเล่มอันสะท้อนถึงความรุนแรงในพื้นที่  แต่มากไปกว่านั้น สิ่งที่ Wajukuu Art Project นำมาไว้ที่เมืองคาสเซลด้วยก็คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ ได้ปลดปล่อยความคิดและจินตนาการของตัวเองผ่านงานศิลปะ โดยไม่มีกฎ ข้อบังคับ หรือปัจจัยเรื่องความเสี่ยงต่อชีวิตจากพื้นที่รอบนอกมาก้าวก่าย ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่ Wajukuu Art Project ได้สร้างไว้ให้กับพื้นที่สลัมมุคุรุที่เต็มไปด้วยอาชญกรรมและความรุนแรง

แด่ศิลปินที่ ‘พวกเขา’ ไม่ยอมรับ

The Instituto de Artivismo Hannah Arendt (เรียกสั้น ๆ ว่า INSTAR) เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของศิลปินที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในฮาวานา ประเทศคิวบา จุดเริ่มต้นของกลุ่มนี้เกิดขึ้นในปี 2005 เมื่อ Tania Bruguera ศิลปินเพอร์ฟอร์มานซ์และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านศิลปะ ได้จัดกิจกรรมที่ชวนผู้คนมาอ่านงานเขียนทางการเมืองชิ้นสำคัญของนักปรัชญาการเมืองชาวเยอรมัน ฮันนา อาเรนท์ ที่มีชื่อว่า The Origins of Totalitarianism (1951) ซึ่งสะท้อนจากประสบการณ์ตรงในฐานะที่เธอเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยจากความชั่วร้าย
ของนาซี โดยตลอด 100 ชั่วโมง มีผู้แวะเวียนเข้ามาอ่านและถกถึงข้อเขียนชิ้นนี้ โดยเชื่อมโยงกับบริบทของสภาพการเมืองคิวบาในปัจจุบัน
เป้าหมายหลักของ INSTAR คือการสนับสนุนการทำงานศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยพวกเขามองว่ากระบวนการทำงานศิลปะซึ่งเป็นการแสดงความคิดนั้นหาได้ต่างจากกระบวนการต่อสู้ทางการเมือง

หนึ่งในงานชิ้นสำคัญที่ INSTAR นำมาจัดแสดงที่ Documenta Fifteen คือการนำรายชื่อและใบหน้าของศิลปินที่เคยหรือยังคงถูกจำคุกด้วยข้อหาทางการเมืองมาจัดแสดงไว้ในเทศกาลศิลปะระดับโลกแห่งนี้ โดยความสำคัญของการจัดแสดงใบหน้าของศิลปินผู้ลุกขึ้นสู้บนไม้แหลมก็มาจากถ้อยแถลงของรัฐบาลคิวบาที่ออกมาประณามเหล่าศิลปินผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยงานศิลปะเหล่านี้ว่า ‘ไม่ใช่’ ศิลปิน ทั้งยังมีความพยายามที่จะลบชื่อและผลงานของศิลปินเหล่านี้ออกไปจากประวัติศาสตร์คิวบา ซึ่งการนำใบหน้าและชื่อของพวกเขามายังเทศกาลศิลปะระดับโลกก็เป็นการตอกย้ำว่า พวกเขาไม่เคยถูกลืม และพวกเขาคือศิลปิน

พริกขี้หนูแห่งความทรงจำที่เยอรมนี

เหงียน ชิง ที คือนักทำหนังสารคดีอิสระวิดีโออาร์ตชาวเวียดนาม งานของเธอมุ่งสำรวจบทบาทหน้าที่ของความทรงจำในฐานะเครื่องมือช่วยเปิดเผยสิ่งที่ซ่อนเร้น หรือสิ่งที่ถูกบิดเบือน นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนศิลปะเชิงทดลองอย่าง NhaSan Studio และ Hanoi Doclab ที่อยู่ในเมืองฮานอย

งานของเหงียน ชิง ที มักมีองค์ประกอบของศิลปะจัดวางและเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เธอมองว่าภาพ เสียง และการเคลื่อนไหว ล้วนมีบทบาทต่อการก่อร่างสร้างความทรงจำและประวัติศาสตร์

ใน And They Die a Natural Death ที่ เหงียน ชิง ที นำมาจัดแสดงที่ Documenta Fifteen เธอนำเสนอฉากจากนวนิยายเรื่อง Tale Told in the Year 2000 ซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของ Bùi Ngọc Tấn นักเขียนชาวเวียดนามที่เคยถูกจำคุกในฐานะนักโทษการเมือง โดยที่ฉากนั้นเล่าถึงนักโทษผู้หิวโหยและอ่อนล้าจากการถูกบังคับใช้แรงงาน เขาพลัดหลงเข้าไปในสวนพริกขี้หนู ก่อนจะได้ลิ้มรสชาติความเผ็ดร้อนที่ทำให้เขาคิดถึงบ้าน และนำไปสู่ฉากที่ชนกลุ่มน้อยถูกสังหารด้วยอาวุธปืน

เมื่อผู้ชมเดินเข้าไปในห้องที่จัดแสดงงาน And They Die a Natural Death จะได้พบกับแสงและเงาที่ถูกฉายทาบทับอยู่บนกำแพง เงานั้นเปลี่ยนรูปร่างไปมา แต่ผู้ชมจะเห็นได้ว่ามันค่อย ๆ กลายรูปเป็นต้นพริกขี้หนู นอกจากการแสดงของแสงและเงาแล้ว ผู้ชมยังได้แว่วยินเสียงเพลงจากขลุ่ยไม้ไผ่ เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ในเวียดนาม โดยที่ทั้งแสงและเสียงจากขลุ่ยไม้ไผ่ล้วนถูกคอนโทรลด้วยโปรแกรมที่อ่านค่าระดับลมในช่วงเวลานั้น ๆ ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของคุกที่ผู้เขียนเคยถูกจองจำ