AOBA_COVER web.jpg

เหม เวชกร บรมครูช่างเขียน ผู้บันทึก ‘ความหลอน’ ของสังคมไทยหลัง 2475

Art
Post on 27 October

‘จิตรกรมือเทวดา’ ‘จิตรกรห้าแผ่นดิน’ เป็นเพียงสมญานามส่วนหนึ่งของ เหม เวชกร ศิลปินไทยผู้มีชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานที่มากกว่า 50,000 ชิ้นขึ้นมาในช่วงไทยคาบเกี่ยวของประวัติศาสตร์ไทย ทั้งความคาบเกี่ยวในเชิงศิลปะ จากศิลปะราชนิยมในรั้ววัง สู่ยุคศิลปะประชานิยม และความคาบเกี่ยวของยุคสมัยทางการเมืองการปกครอง จากยุคการปกครองสมัยเก่า ถึงยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองหลัง พ.ศ.2475

ในแง่คุณูปการด้านวรรณกรรม ครูเหม เวชกร คือผู้บุกเบิกวรรณกรรมที่เรียกว่า ‘ปีศาจนิยาย’ ด้วยเรื่องสั้นสยองขวัญพร้อมภาพประกอบกว่า 100 เรื่องที่โดดเด่นด้วยการนำเสนอบรรยากาศความหลอนของทิวทัศน์ที่เห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนในยุคนั้น ตั้งแต่ความสลัวมัวหม่นของพระนครยุคเริ่มมีไฟฟ้า จนถึงริ้วท้องทุ่งนายามสงัดของชนบทไทย

เรื่องผีของครูเหมไม่ได้ ‘น่ากลัว’ เพียงเพราะการนำเสนอเรื่องราวของผีและบรรยากาศชวนขนลุก แต่ความน่ากลัวขนหัวลุกในเรื่องผีของครูเหมยังมาจากการขุดความกลัวและความประหวั่นพรั่นพรึงของคนสยามในยุคอภิวัฒน์สยามที่กำลังเผชิญหน้ากับจุดเปลี่ยนของยุคสมัยออกมาถ่ายทอดใหม่ แล้วสร้าง ‘ผี’ ขึ้นมาจากปัจจัยแห่งความกลัวของคนในยุคนั้น ทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมหลังสงครามโลก การขยายตัวของเมืองที่รุกคืบพื้นที่ชนบทอย่างรวดเร็วและน่ากลัว ไปจนถึงการเผชิญหน้ากับการล่มสลายของคุณค่าดั้งเดิม และการท้าทายของค่านิยมใหม่ของสังคมยุคใหม่

เพื่อเป็นการต้อนรับวันแห่งการปล่อยผี GroundControl จึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปสำรวจเรื่องราวของบรมครูแห่งเรื่องสยองขวัญไทย ‘เหม เวชกร’ และย้อนดูผลงานเรื่องผีของครูเหมในฐานะภาพบันทึก ‘ความกลัว’ ของสังคมไทยหลัง พ.ศ. 2475

ชีวิตวัยเด็กของเหม เวชกร และการพบศิลปินชาวอิตาเลียน

เหม เวชกร เกิดเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2446 ที่พระนคร มารดาของคือ ม.ล.สําริด พึ่งบุญ ส่วนบิดาของเขาคือ หม่อมราชวงศ์ปฐม (หุ่น) ทินกร มหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

เมื่อเหมอายุได้ 8 ปี พ่อแม่ของเขาก็แยกทางกัน ก่อนที่แม่จะพาเขาไปฝากไว้กับพี่ชายอย่าง ม.ร.ว.แดง ทินกร ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และเป็นผู้ดูแลบ้านของเจ้าพระยายมราชที่อยู่ในซอยวัดสามพระยา ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยเหตุนี้ เหมจึงเติบโตขึ้นมาในบ้านริมน้ำแห่งนี้พร้อมกับลุง

แม้ว่าลุงของเขาจะส่งเข้าเรียนในโรงเรียนมีชื่ออย่างเทพศิรินทร์และอัสสัมชัญ แต่ด้วยความที่ชอบหนีเที่ยว เหมจึงไม่ประสบความสำเร็จทางการศึกษา แต่สิ่งหนึ่งที่เหมรักและทำมาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็คือการวาดภาพ โดยเขาร่ำเรียนการวาดภาพด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก

จุดเปลี่ยนแรกในชีวิตของเหมมาถึงเมื่อลุงของเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลคณะจิตรกรชาวอิตาเลียนที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เดินทางมายังพระนครเพื่อวาดจิตรกรรมเพดานของโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งนำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของกษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1-6 โดยคณะจิตรกรได้มาพำนักอาศัยอยู่ที่บ้านของพระยายมราชที่เหมอาศัยอยู่นั่นเอง

วันหนึ่งขณะที่เหมถือชอล์กและกระดานไปนั่งวาดภาพที่ริมน้ำ หัวหน้าคณะจิตรกรชาวอิตาเลียน คาร์โล ริโกลี ก็ได้มาพบกับเหมและเกิดสะดุดตาในฝีมือการวาดภาพของเด็กชายชาวสยามที่ไม่เคยร่ำเรียนวาดภาพมาก่อน เขาจึงได้ไปคุยกับลุงของเหมเพื่อขอถ่ายทอดวิชาการวาดเส้นต่าง  ๆ ให้ จนในที่สุดเหมก็ได้หัดวาดลวดลายต่าง ๆ จากครูชาวอิตาเลียนผู้นี้

เมื่องานที่พระที่นั่งอนันตสมาคมสำเร็จเรียบร้อย ริโกลีและชาวคณะก็ต้องเดินทางกลับประเทศอิตาลี แต่ด้วยความชอบพอในนิสัยและเห็นแววในตัวเหม ริโกลีจึงไปขออนุญาต ม.ร.ว. แดง ทินกรฯ เพื่อพาตัวหลานชายไปเรียนวาดภาพที่อิตาลีด้วย และแม้ว่าผู้เป็นลุงจะอนุญาตด้วยความยินดี แต่เมื่อพ่อของเหมรู้เรื่องเข้า เขาก็ได้ไปลักพาตัวเหมไว้ก่อนวันเดินทาง และนับตั้งแต่นั้นมา ไม่ใช่แค่มิสเตอร์ริโกลีเท่านั้น แต่เหมยังไม่เคยได้เห็นหน้าลุงของเขาอีกเลย

‘เหม’ ระหกระเหิน

หลังต้องพรากจากลุงผู้เป็นที่รัก อีกทั้งความฝันที่จะได้ไปเรียนศิลปะที่ต่างประเทศก็ล่มสลาย ชีวิตของเหมในวัยหนุ่มก็พบกับความระหกระเหิน พ่อของเขามีอันต้องขายบ้านหลังใหญ่ไป แถมทั่วโลกก็ถูกปกคลุมด้วยสภาวะของสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อรัชกาลที่ 6 ทรงประกาศสงครามกับเยอรมันและออสเตรีย เหมที่ไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตจึงได้ไปสมัครเป็นทหาร แต่ก็ไม่ผ่านเพราะอายุไม่ถึงเกณฑ์ สุดท้ายเขาจึงมุ่งหน้าออกจากบ้านโดยไม่บอกให้ใครรู้ หางานทำในเรือขนส่งของชาวจีน รับตำแหน่งทั้งนายท้ายเรือและช่างเครื่อง ระหกระเหินจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่แม่น้ำสายต่าง ๆ อยู่ร่วมปีจึงกลับบ้าน

เมื่อเหมกลับบ้าน เขากลับมาในฐานะ เหม เวชกร โดยนามสกุล ‘เวชกร’ ก็หยิบยืมมาจาก ขุนประสิทธิ์เวชชการ อดีตสาธารณสุข จ.เพชรบูรณ์ ที่เคยอุปการะเลี้ยงดูสมัยที่เหมยังพเนจรไปตามแม่น้ำ ความน่าสนใจก็คือในยุคแรกที่เขียนเรื่องผีเหมจะเซ็นชื่อว่า ‘เหม’ เท่านั้น แต่เมื่อเริ่มมีผลงานและชื่อเสียงมากขึ้น เขาจึงจะใช้ชื่อ เหม เวชกร ราวกับว่าเรื่องผีในยุคแรก ๆ ของเหมเป็นผลงานส่วนตัวที่สะท้อนช่วงชีวิตยามลำบากของเขา …ชีวิตที่ต้องร่อนเร่ไปตามลำน้ำและเผชิญความยากลำบากในชนบท

ชีวิตศิลปินของเหมเริ่มต้นขึ้นในค่ายทหาร หลังจากที่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เหมก็ได้รับหน้าที่ให้เป็นช่างเขียนในกรมตำราทหารบก กระทรวงกลาโหม เมื่อออกมาจากทหารมา การพิมพ์ในพระนครเฟื่องฟูมาก หนังสือนิยายราคาถูกแค่เพียงไม่กี่สตางค์จนคนทั่วไปก็ซื้อมาเสพได้ เหมเห็นดังนั้นจึงได้ร่วมกับเพื่อนเปิดร้านทำบล็อกภาพที่ชื่อว่า ‘บล็อกสถาน’ อยู่ที่บริเวณศาลาเฉลิมกรุง พร้อมรับวาดภาพปกนิยายต่าง ๆ ที่นี่เองที่เหมเริ่มได้แสดงฝีมือวาดภาพ กระทั่งใน พ.ศ. 2473 เหมก็ได้รับเชิญให้ไปวาดภาพฝาผนังของระเบียงวัดพระแก้วเรื่องรามเกียรติ์ ห้องที่ 69 ตอน แผลงศรฆ่ามังกรกรรณฐ์

ณ จุดนั้นเองที่เส้นทางชีวิตอันระหกระเหินของเหมดูจะเปลี่ยนทิศทางไป

‘ผี!’ ของเหม และคณะเหม

ในปี พ.ศ. 2475 อันเป็นช่วงที่การพิมพ์รุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เหมและเพื่อนได้ร่วมกันก่อตั้งสำนักพิมพ์เพลินจิตต์ พิมพ์นิยายราคาถูกเพียง 10 สตางค์ (สมัยนั้นนิยายส่วนใหญ่ราคาอยู่ที่ 30-40 สตางค์) โดยที่เหมรับหน้าที่เป็นผู้วาดภาพปกและภาพประกอบ

นอกจากการก่อตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองแล้ว ณ ที่นี่เองที่เหมได้ตีพิมพ์หนังสือแนวสยองขวัญเรื่องแรกของตัวเองอย่าง ‘ผี!’ ซึ่งประกอบด้วยเรื่องผีจำนวน 10 เรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ‘เลขานุการผี’ หนึ่งในเรื่องผีที่โด่งดังที่สุดของเหม (และน่าสนใจว่าผลงานเรื่องผีชิ้นแรก ๆ ของเขาชิ้นนี้เล่าเรื่องราวของชายหนุ่มที่ทำหน้าที่เป็นเลขานุการให้คุณหลวงในบ้านไทยเก่าแก่ …ซึ่งก็คล้ายคลึงกับเรื่องราวของลุงผู้เป็นเลขานุการของเจ้านายชั้นสูงของเขามาก ๆ)

ในช่วงเวลาเดียวกับที่ ‘ผี!’ ออกวางแผน เหมก็ได้ออกจากสำนักพิมพ์เพลินจิตต์เพื่อมาตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเองที่ชื่อว่า ‘คณะเหม’ ตีพิมพ์ผลงานนวนิยายของเพื่อนนักเขียนอย่าง ‘แผลเก่า’ ของไม้ เมืองเดิม โดยที่เหมยังรับหน้าที่วาดภาพปกและภาพประกอบให้กับนวนิยายเรื่องนี้ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น เหมยังแนะนำแนวทางการเขียนให้กับไม้ เมืองเดิม ด้วยแนวทางที่เหมเรียกว่าเป็นเรื่องแต่งแนว ‘ฝากสถานที่’ หรือเรื่องเล่าที่อ้างอิงสถานที่หรือเหตุการณ์จริง ตามที่เหมอธิบายวาส

“คือฝากไว้ทั้งความนึกคิดของเขาแก่ผู้อ่าน แล้วฝากวิญญาณของตัวละครให้สิงอยู่ในย่านนั้นจริง ๆ ดังวิญญาณปีศาจหรือวิญญาณเจ้าพ่อเจ้าแม่แห่งความรักสถิตอยู่กับทุ่งและลำคลองป่าไม้”

เรื่องแต่งแนว ‘ฝากสถานที่’ หรือการเล่าเหตุการณ์โดยอ้างอิงกับความเป็นจริงนี้ได้กลายเป็นเอกลักษณ์เรื่องผีของเหมในช่วงปลาย พ.ศ. 2470 - 2510 เรื่องผีของเหมวางอยู่บนการสร้างเรื่องเล่าที่ทำให้คนอ่านในยุคน้้นเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าและจินตนาการถึงความหลอนที่เหมบรรยายได้แจ่มชัด ทั้งการพรรณาบรรยากาศของบ้านเมืองของกรุงเทพฯ และชนบทสมัยนั้น และการอ้างอิงถึงสถานที่ที่มีอยู่จริง

นอกจากนี้เหมยังมักเปิดเรื่องด้วยการกล่าวว่า เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ได้ยินมาจากคำบอกเล่าของบุคคลผู้หนึ่ง  จนผู้อ่านในยุคนั้นมักเชื่อว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิญญาณของเหมนั้นเป็นเรื่องจริง เช่น ใน ‘หลบภัยทางอากาศ’ ที่เหมเปิดเรื่องด้วยการบอกว่า “เรื่องนี้เป็นบันทึกเหตุการณ์ของนายสุพจน์ที่พบปิศาจในตอนที่ประเทศไทยสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ ถูกบอมบ์แทบทุกวันทุกคืน มีการพรางไฟ มืดไปทั้งเมือง” 

ผีของเหมและความหลอกหลอนในสังคมไทยหลัง 2475

ความน่าสนใจในเรื่องผีของเหมยังอยู่ที่ว่า ผีของเขาไม่ได้อ้างอิงมาจากตำนานผีหรืออสุรกายที่มีอยู่แล้ว เช่น แม่นาค ปอบ เปรต หรือผีกระสือ หากแต่เป็นเรื่องแต่งเกี่ยวกับผีที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์เรื่องแต่งของไทย เรื่องผีของเหมจึงถูกปักหมุดให้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องผีแนว ‘Fiction’ เรื่องแรก ๆ ของไทยด้วย

เรื่องผีที่เกิดขึ้นใหม่ ในสภาพแวดล้อมใหม่ และมักใช้เหตุการณ์ทันสมัยเป็นเรื่องราวพื้นหลังของเรื่อง (สงครามโลกครั้งที่ 2, การปฏิวัติ 2475, เมื่อแรกเริ่มมีไฟถนน ฯลฯ) จึงกลายเป็นดังบันทึกชีวิตและภาพบรรยากาศของสังคมในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผีของเหมผุดขึ้นมาในบรรยากาศของบ้านเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเปลี่ยนแปลงทางความคิด รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตที่ความเป็นเมืองเริ่มกลืนกินพื้นที่ชนบทและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนสยาม เรื่องผีของเหมจึงมักถูกนักประวัติศาสตร์หยิบมา ‘อ่านใหม่’ ในฐานะภาพสะท้อน ‘ความกลัว’ และความกังวลที่คนในยุคนั้นมีต่อการเปลี่ยนแปลง

ในวิทยานิพนธ์เรื่อง ผีของเหม เวชกร: ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทย (พ.ศ. 2475-2513) ผู้เขียนคือ พิชยพัฒน์ นัยสุภาพ อธิบายว่า การที่เหมเริ่มเขียนเรื่องผีในช่วงช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2470 นั้นมีนัยยะสัมพันธ์กับห้วงเวลาที่เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคมไทย ทั้งในทางการเมืองและสังคมวัฒนธรรม เรื่องผีของเหมจึงมีน้ำเสียงที่
ถ่ายทอดให้เห็นความคิดของเหมต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเก่ามาสู่สิ่งใหม่ การปะทะกันของพื้นที่เมืองและชนบท การพัฒนาที่ยังกระจายไปไม่ถึงพื้นที่ชนบท จนทำให้พื้นที่ชนบทยังคงเป็นพื้นที่แก่งความกำกวม อึมครึม ไม่น่าไว้ใจ และยังเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเชื่อและตำนานที่ขัดแย้งกับความเชื่อสมัยใหม่ของคนเมือง

ตัวอย่างเช่นในเรื่อง ‘หมอจำเป็น’ ที่ตัวละคร ‘นายเชาวน์’ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาไปหาเพื่อนที่มีบ้านแพอยู่ในแถบแม่น้ำแม่กลอง โดยนายเชาวน์ได้ถ่ายทอดบรรยากาศชวนหลอนของชนบทยามกลางคืน ซึ่งสะท้อนถึงการที่ความมืดของชนบทเป็นสิ่งที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ผู้ที่คุ้นเคยกับแสงไฟสว่างจ้าในยามค่ำคืนรู้สึกหวาดกลัว

“พอค่ำลง ชักเกิดหมาหอนกันทั่ว ๆ ไป เรื่องชนบท ลงค่ำแล้วมันก็มืดจริง ๆ หมาหอนที่หมู่ไหน หมู่นั้นก็หนาวสะท้านกันไปทั่ว… บังเอิญบ้านหมอลือตัวเรือนมิได้อยู่บนพื้นดิน ปลูกเสาเรือนลงน้ำจึงไม่มีพวกหมาที่จะมาช่วยเห่าหอนให้น่ากลัวขึ้น ... แต่กระนั้นบนอากาศยังทำให้หวาดหวั่นอยู่บ้างจนได้ มีนกแสกบินผ่านบ่อยพอบินผ่านก็ร้องแซกกรีดหัวใจนัก”

นอกจากการปะทะกันของภาพสังคมเมืองใหม่กับชนบทที่ยังไม่พัฒนา เรื่องผีของเหมยังแฝงไว้ด้วยการนำเสนอความตึงเครียดของสังคมไทยหลัง 2475 ในสภาวะที่ ‘สิ่งเก่าไม่ตาย สิ่งใหม่ไม่ได้เกิด’ ดังเช่นในเรื่อง ‘เลขานุการผี’ ที่เล่าถึง ‘นายทองคำ’ ชายหนุ่มที่สมัครไปทำงานเป็นเลขานุการกับท่านเจ้าคุณในบ้านเก่าแก่ใหญ่โตริมน้ำ ก่อนจะพบว่าทุกคนที่อยู่ในบ้านล้วนเป็นวิญญาณติดอยู่กับบ้านเก่า ในที่นี้ ทั้งตัวบ้านและท่านเจ้าคุณเอง มักถูกตีความว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความตายของระบอบเก่าและชนชั้นเจ้านายหลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 อย่างไรก็ตาม การตายไม่ได้หมายความว่า ‘หายไป’ แต่ค่านิยมเก่าและระบอบเก่าเหล่านี้ยังคงแฝงฝังอยู่ในสังคมไทย และคอยหลอกหลอนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่อย่างนายทองคำนั่นเอง

มรดกครูเหม

นอกจากการเปิดศักราชให้เรื่องเล่าแนวสยองขวัญได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแล้ว คุณูปการสำคัญของเหม เวชกร ยังอยู่ที่การส่งต่อแรงบันดาลใจด้านสุนทรียะให้กับคนทำงานศิลปะยุคหลัง โดยเฉพาะภาพวาดประกอบเรื่องผีกว่า 100 เรื่องของเหมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นการเน้นการสร้างบรรยากาศและเรียกอารมณ์ความรู้สึก

หนึ่งในผลงานยุคปัจจุบันที่ได้รับแรงบันดาลใจจากผลงานของเหม เวชกร ก็คือหนังผีชื่อดังอย่าง ‘เปนชู้กับผี’ ที่ทั้งผู้กำกับอย่าง วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง และมือเขียนบทอย่าง ก้องเกียรติ โขมศิริ ล้วนกล่าวว่าได้แรงบันดาลใจในการสร้างโลก พ.ศ.2477 ในหนังและการสร้างบรรยากาศมาจากหนังสือเรื่องผีของครูเหม (แต่ในภายหลังมูลนิธิบรมครูในฐานะผู้ดูแลลิขสิทธิ์ผลงานของครูเหม เวชกร ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้สร้างหนังหยุดประชาสัมพันธ์ในลักษณะว่าได้แรงบันดาลใจมาจากครูเหม)

“ผมชอบหนังผี เรื่องผีของครูเหม เวชกร นี่ชอบมาก อ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ สมัยนั้นร่ำลือกันว่าเรื่องผีของแกสยองขวัญมาก มาอ่านสมัยนี้อาจจะเฉย ๆ แล้ว รูปประกอบของครูเหมก็น่ากลัว เขาไม่ได้เขียนแค่ภาพประกอบง่ายๆ แต่เขาเขียนเปนแสงเงา เหมือนกับจัดแสงให้เราเสร็จเลย” วิศิษฏิ์กล่าว

อ้างอิง

พิชยะพัฒน์ นัยสุภาพ. เรื่องผีของเหม เวชกร : ประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไทย (พ.ศ. 2475-2513)

กฤษณะ คุปตามร. สุนทรียภาพการดัดแปลงข้ามสื่อ จากวรรณกรรมเรื่องสั้นและภาพเขียนชุดภูตผีของ เหม เวชกร เป็นละครโทรทัศน์และหนังสือการ์ตูน

Hem เหม เวชกร ที่รัก  

รวมภาพวาดผี 62 เรื่อง จาก “ครูเหม เวชกร” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 24XX