ถ้าใครเติบโตขึ้นมาพร้อมกับการเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ ใส่เสื้อผ้าแบบบาร์บี้ และดูแอนิเมชันของบาร์บี้กันอยู่ตลอด ก็น่าจะคุ้นเคยกับบทเพลง ‘I Am A Girl Like You’ จากแอนิเมชันเรื่อง Barbie as the Princess and the Pauper ในปี 2004 กันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะท่อนฮิตติดหูอย่าง “I'm just like you” และ “You're just like me” ที่เอริก้ากับแอนนาลีสร้องรับสลับกันไป เพราะสิ่งที่ทั้งสองคนคุยกันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบอกกันและกันเท่านั้น แต่พวกเขายังบอกกับเด็ก ๆ อย่างเราด้วยว่า พวกเราต่างก็เป็น ‘ผู้หญิง’ เหมือนกัน และอะไรที่บาร์บี้ทำได้ เราก็สามารถทำได้แน่นอน
เนื่องในโอกาสที่วันที่ 20 กรกฎาคมนี้ คือวันที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘Barbie’ ที่กำกับโดย ‘เกรตา เกอร์วิก (Greta Celeste Gerwig)’ ได้เข้าฉายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เราเลยอยากจะพาทุกคนย้อนกลับไปตามรอยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของ ‘บาร์บี้’ ตุ๊กตาระดับตัวแม่ ผู้สร้างแรงบันดาลใจมากมายให้กับเด็ก ๆ ทุกคนมาตั้งแต่ยุค 50 ว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร ต้องผ่านอุปสรรคแบบไหนมาบ้าง เพื่อหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันว่า เธอกำลังสร้างภาพจำในฐานะผู้หญิงแบบไหนให้เราได้ดำเนินรอยตามกันแน่
ต้นกำเนิดของ Barbie มาจาก ‘ตุ๊กตายาง’ และของเล่นชายแท้
เคยนึกสงสัยกันหรือไม่ว่า เจ้าตุ๊กตาบาร์บี้หน้าตาน่ารัก ที่เราเคยเล่นกันตอนเด็ก ๆ มีต้นแบบมาจากอะไร? ถ้าเราลองค้นหาข้อมูลบน Google แบบเร็ว ๆ ก็จะได้ความประมาณว่า ผู้ที่คิดค้นตุ๊กตาเหล่านี้ขึ้นมา คือ รูธ แฮนด์เลอร์ (Ruth Handler) นักธุรกิจหญิงชาวอเมริกัน หนึ่งในเจ้าของบริษัทผลิตของเล่น Mattel, Inc. ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตุ๊กตาที่ลูกสาวชอบเล่นนามว่า ‘Bild Lilli’
ทว่าเมื่อเราค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ ‘Bild Lilli’ ต่อว่าเธอคือใคร ก็พบว่าเธอไม่ใช่ตุ๊กตาสามมิติธรรมดา ๆ ที่ออกแบบมาให้เด็กเล่น แต่เป็นตัวการ์ตูนสาวดาวยั่ว ต้นตำรับนักขุดทองที่ล่อลวงผู้ชายรวย ๆ ที่โลดแล่นอยู่บนหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์อย่าง ‘Bild-Zeitung’ ของเยอรมัน มาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 40 แล้ว โดยมี ไรน์ฮาร์ด บิวเทียน (Reinhard Beuthien) เป็นคนวาดเธอขึ้นมา
คาแรกเตอร์ของเธอจะเป็นหญิงสาวที่มีความก๋ากั่น หัวสมัยใหม่ กล้าต่อปากต่อคำ และมีไหวพริบในการเจรจากับผู้ชายที่เป็นเลิศ แต่ถึงกระนั้นก็ยังโดนนักวิจารณ์ค่อนขอดว่าเป็นคนสมองน้อย ไร้ยางอาย และเป็นภาพแทนของความลามกอนาจารอยู่เสมอ อย่างฉากที่เป็นภาพจำ ก็คือฉากที่เธอโดนตำรวจเข้ามาตักเตือนเรื่องใส่ชุดบิกินีระหว่างเดินอยู่ริมทางสาธารณะว่าไม่เหมาะสม ซึ่งแทนที่สาวเจ้าจะเหนียมอายหาอะไรมาปกปิดส่วนสงวน เธอก็กลับเลือกที่จะตอบกลับไปโต้ง ๆ ว่า “โอ๊ะโอ ถ้าอย่างนั้นในความคิดของคุณ ฉันควรถอดชิ้นไหนออกก่อนดีหรือคะ?”
และด้วยความสวยปนแซ่บ ที่สุดแสนจะเซ็กซี่ของ ‘Bild Lilli’ เธอจึงได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 1953 ทางหนังสือพิมพ์ก็ได้ตัดสินใจสร้างเธอขึ้นมาในรูปแบบสามมิติ เพื่อจัดจำหน่ายในฐานะตุ๊กตาของเล่นสำหรับผู้ใหญ่ ที่สามารถหาซื้อได้จากบาร์ ตู้จำหน่ายยาสูบ และร้านขายของเล่นสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น โดยกลุ่มลูกค้าที่มักจะซื้อเธอไป ก็จะเป็นบรรดาหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ทั้งหลาย ที่ชอบนำไปมอบเป็นของขวัญให้แก่กันและกันช่วงปาร์ตี้สละโสด หรือไม่ก็นำไปแขวนไว้ตรงกระจกมองหลัง ให้เป็นตุ๊กตาหน้ารถของแต่ละคนไป
ไม่เพียงผู้ชายในเยอรมันเท่านั้นที่หลงรัก ‘Bild Lilli’ แต่เธอยังดังไกลไปในอีกหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘ตุ๊กตายาง’ ที่เป็นดาวของทุกบาร์ และถึงแม้ว่าผู้ปกครองหลายคนจะเริ่มกังวลถึงความไม่เหมาะสมของตุ๊กตาตัวนี้ แต่พอเด็ก ๆ เห็นว่าสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าสวย ๆ ให้กับเธอได้ ทุกคนก็รู้สึกชอบเช่นกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใหญ่มากกว่าอยู่ดี
ซึ่งคนที่เข้ามาล้างภาพจำให้ ‘Bild Lilli’ กลายเป็นของเล่นเด็กฉบับสามัญประจำบ้าน ที่ทุกคนสามารถหยิบขึ้นมาเล่นได้อย่างสนิทใจ ก็คือแฮนด์เลอร์นั่นเอง โดยระหว่างที่เธอและลูกสาวกำลังท่องเที่ยวสวิสซเซอร์แลนด์ด้วยกันในปี 1956 เธอก็สะดุดตาและถูกใจตุ๊กตา ‘Bild Lilli’ เป็นอย่างมาก เพราะหลังจากที่บริษัทของเธอได้ผลิตตุ๊กตา ‘Raggedy Ann’ ที่มีลักษณะเป็นเด็กหญิงผมแดงออกมาจนได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง เธอก็พยายามที่จะผลิตตุ๊กตาแนวใหม่ที่มีรูปร่างเป็นผู้ใหญ่มาโดยตลอด เพราะเธออยากให้เด็ก ๆ ได้จินตนาการถึงสิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็นในอนาคตบ้าง นอกเหนือจากบทบาทของการเป็นแม่ที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก และทำกับข้าวให้สามีทาน ทว่าเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชายกลับไม่เห็นด้วยที่เธอจะทำตุ๊กตาแบบนั้น แถมพวกเขายังตกใจมากที่เธอคิดจะทำตุ๊กตาสำหรับเด็กให้มีหน้าอก
ดังนั้น เมื่อเธอได้เห็นตุ๊กตา ‘Bild Lilli’ ที่มีรูปร่างเป็นสาวสะพรั่ง อีกทั้งยังมีหน้าอกและทรวดทรงองค์เอวครบถ้วน เธอจึงรู้สึกตะลึงมาก ๆ และตัดสินใจซื้อกลับบ้านถึง 11 ตัว ก่อนจะสั่งให้ส่งตามหลังมาทางไปรษณีย์อีกหนึ่งโหล และทำการดีไซน์ตุ๊กตาตัวนี้ขึ้นมาใหม่ร่วมกับคนในทีมทันที โดยพวกเขาได้ออกแบบให้ตุ๊กตารุ่นใหม่มีริมฝีปากและคิ้วที่ดูอ่อนโยนมากขึ้น รวมไปถึงสีผิวก็ปรับให้ขาวขึ้นมาอีกหลายเฉด ส่วนเสื้อผ้าก็ปรับให้ดูสวยงามตามแฟชั่นนิยม
หลังจากออกแบบเสร็จแล้ว พวกเขาก็ตั้งชื่อให้กับตุ๊กตาใหม่ว่า ‘บาร์บี้’ หรือชื่อเต็ม ๆ ก็คือ 'บาร์บารา มิลลิเซนต์ โรเบิร์ตส์’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อของ ‘บาร์บารา’ ลูกสาวของแฮนด์เลอร์เอง และถัดจากนั้นไปอีกสามปี ในปี 1959 บริษัท Mattel, Inc. ก็ทำการเปิดตัว ‘ตุ๊กตาบาร์บี้’ ในงานมหกรรมของเล่นสุดยิ่งใหญ่อย่าง ‘American International Toy Fair’ และในปี 1964 พวกเขาก็สามารถซื้อลิขสิทธิ์ทั้งหมดของ ‘Bild Lilli’ มาเป็นของตัวเองได้อย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม เมื่อลองเทียบ ‘Bild Lilli’ กับตุ๊กตาบาร์บี้รุ่นแรกที่เปิดตัวออกมาแล้ว ก็ต้องบอกตามตรงว่าแทบไม่แตกต่างกันสักเท่าไร หรือถ้าจะหาจุดต่างจริง ๆ ก็คงจะเป็นเรื่องของสีผิวที่ขาวขึ้นเท่านั้น จนหลาย ๆ คนในบริษัทพากันกังวลว่าจะสามารถขายตุ๊กตารูปร่างแบบนี้ออกสู่ตลาด ในฐานะของเล่นเด็กได้จริงหรือ แล้วเหล่าผู้ปกครองจะยอมซื้อให้ลูกหรือไม่
สำหรับในส่วนนี้แฮนด์เลอร์ ก็ตัดสินใจใช้กลยุทธ์และจิตวิทยาทางการตลาด ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของผู้คนให้สลัดภาพความฉาวของ ‘Bild Lilli’ ออกไปจนหมด แล้วหลงเหลือแต่ความงดงามและสถานะไอดอลผู้เป็นแบบอย่างของเด็กผู้หญิงให้เป็นภาพจำของบาร์บี้เท่านั้น และนับจากนั้น ‘การใส่ส้นสูง’ ก็ไม่ถูกผูกอยู่ความเป็นโสเภณีหรือผู้หญิงกร้านโลก แต่เป็นลุคที่งดงามของหญิงสาวชนชั้นกลางข้างบ้านของทุกคน
บาร์บี้ โฆษณา และจิตวิทยาทางการตลาด ที่เปลี่ยนบทบาทของตุ๊กตาดาวโป๊ ให้เป็นของเล่นที่เด็กสาวทุกคนอยากมี
ตุ๊กตาบาร์บี้ไม่ได้เป็นป๊อปไอคอนและขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในตุ๊กตาที่ขายดีที่สุดในโลกภายในชั่วข้ามคืน แต่ทั้งหมดมาจากการวางแผนอย่างค่อยเป็นค่อยไปของแฮนด์เลอร์ และ เออร์เนสต์ ดิชเตอร์ (Ernest Dichter) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันคนแรก ๆ ที่นำแนวคิดและเทคนิคด้านจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค จนถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อด้านการตลาดที่คอยให้คำปรึกษากับหลาย ๆ บริษัทมาตั้งแต่ยุค 50
สำหรับคนที่สงสัยว่าจิตวิทยานั้นสำคัญกับบาร์บี้อย่างไร ก็ลองจินตนาการว่าตัวเองคือแฮนด์เลอร์ ที่กำลังตั้งใจจะเปลี่ยนโฉมวงการตุ๊กตาใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่มีแต่ตุ๊กตารูปร่างเด็ก ก็เปลี่ยนเป็นสาวงามสะพรั่งที่มาพร้อมกับหน้าอกหน้าใจแน่น ๆ แถมต้นแบบของตุ๊กตาตัวนี้ ยังมาจากการ์ตูนดาวโป๊อีกต่างหาก แน่นอนว่าถ้าเธออยากจะขายได้ ย่อมต้องหาวิธีการรีแบรนด์ที่ดีที่สุด และสร้างภาพจำใหม่ ๆ ให้กับตุ๊กตาตัวนี้ ซึ่งคนที่เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการตลาดตรงนี้ก็คือดิชเตอร์นั่นเอง
โจทย์ของแฮนด์เลอร์กับดิชเตอร์ ก็คือเปลี่ยนความคิดของเหล่าแม่ ๆ และเด็กทุกคนให้กล้าซื้อตุ๊กตาบาร์บี้กลับไปเล่นที่บ้าน และยังต้องทำให้บาร์บี้กลายเป็นไอดอลของเด็ก ๆ ที่มอบความหวังว่า สักวันเราก็สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นสาวสวยสะพรั่งแบบบาร์บี้ได้เช่นกัน และถ้าแฮนด์เลอร์กับดิชเตอร์อยากจะฝ่าด่านนี้ไปให้ได้ สิ่งที่พวกเขาต้องทำก็คือการลงไปคลุกคลีกับผู้บริโภคตัวจริง ผ่านการทำวิจัยและโฟกัสกรุ๊ปเพื่อทำความเข้าใจกับค่านิยมและความต้องการของผู้หญิงในยุค 50 เสียก่อน
ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปถึงบทบาทของผู้หญิงในสังคมอเมริกันเมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว สิ่งที่ผู้หญิงในยุคนั้นให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ครอบครัว การแต่งงาน และการมีลูก หรือจะเรียกว่ามีบทบาททางเพศของเพศหญิงแบบดั้งเดิมเลยก็ว่าได้ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองที่สงครามจบลงไปแล้ว ส่งผลให้เหล่าผู้ชายที่เคยไปรบได้กลับมาทำงานธรรมดา ๆ อีกครั้งหนึ่ง สังคมจึงเริ่มผลักดันให้ผู้หญิงที่เคยทำงานแทนผู้ชายกลับไปทำหน้าที่ตัวเองดังเดิมให้ได้มากที่สุด
ประกอบกับในช่วงนั้นกำลังอยู่ในช่วงสงครามเย็นด้วย ทางฝั่งประชาธิปไตย เลยพยายามโฆษณาชวนเชื่อถึงข้อดีของการมีครอบครัวเดี่ยว มีบ้านที่สมบูรณ์พร้อม ทุกคนมีความสุขอยู่ในโลกทุนนิยมอันแสนเสรี ผู้หญิงเลยควรอยู่ดูแลบ้าน มีลูกเยอะ ๆ มีความอ่อนหวาน ส่วนผู้ชายก็ออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวและปกป้องทุกคน โดยตัดสลับกับภาพของผู้หญิงในสังคมคอมมิวนิสต์อันชั่วร้าย ที่ต้องทำงานในโรงงานอย่างทุกข์ทรมาณ แล้วต้องทิ้งลูกไว้ไม่มีใครเลี้ยงดูอย่างถูกต้องจนบ้านแตกสาแหรกขาด ซึ่งผลผลิตของโฆษณาชวนเชื่อในยุคนั้น ก็คือเหล่า ‘เบบี้บูมเมอร์’ ในยุคของเรานี่เอง
เมื่อดิชเตอร์กับแฮนด์เลอร์เข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภคแล้วว่า ถ้าอยากปั้นให้บาร์บี้เป็นตุ๊กตาสำหรับเด็ก ๆ ที่สร้างความฝันให้เธออยากจะทำตามได้ พร้อมกับชนะใจเหล่าแม่ ๆ ได้ด้วย ก็ต้องส่งเสริมไปที่เรื่องของการแต่งงานมีครอบครัว โฆษณาตัวแรกของบาร์บี้ที่ปล่อยออกมาจึงสื่อสารไปถึงใจกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ ด้วยภาพของบาร์บี้ในชุดแต่งงานแสนสวย และคุณประโยชน์ของการเล่นตุ๊กตาตัวนี้ก็คือสอนให้เด็กสาวรู้จักวิธีการแต่งตัว ดูแลตัวเองให้สง่า และเติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าสาวผู้งดงามอย่างบาร์บี้
สังเกตจากเนื้อเพลงในโฆษณาที่ร้องว่า
Someday, I'm going to be exactly like you.
Till then I know just what I'll do...
Barbie, beautiful Barbie,
I'll make believe that I am you.
สักวันหนึ่งฉันจะเป็นเหมือนกับเธอทุกอย่าง
เมื่อถึงตอนนั้นฉันรู้ว่าจะทำอะไร
บาร์บี้ บาร์บี้แสนสวย
ฉันจะทำให้ตัวเองเชื่อว่าฉันก็คือเธอ
ลองชมวิดีโอโฆษณาตัวแรกของบาร์บี้ได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=9hhjjhYGQtY
ด้วยการทำการตลาดให้เข้าถึงใจผู้บริโภคในแต่ละยุคสมัย ส่งผลให้บาร์บี้ค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่ในใจของเหล่าคุณแม่และลูก ๆ ทุกคนเรื่อยมา และภายในปีเดียวที่เปิดตัว ก็สามารถสร้างยอดขายได้สูงถึง 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10 ล้านกว่าบาทไทย (คิดตามค่าเงินในปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้เด็ก ๆ อยากแต่งงานและเป็นเจ้าสาวแสนสวย ไม่ใช่เพียงเรื่องเดียวที่แฮนด์เลอร์หยิบมาใช้ในการทำการตลาด เพราะหัวข้อนี้เป็นเพียงก้าวแรกของการเปิดประตูใจให้เหล่าผู้ปกครองยอมรับในของเล่นชิ้นใหม่นี้เท่านั้น แต่เมื่อค่านิยมของสังคมเปลี่ยนแปลง หรือมีกระแสสังคมแบบใหม่เข้ามา บาร์บี้ก็ปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบเหล่านั้นเสมอ จนเกิดเป็นบาร์บี้มากมายหลากหลายเวอร์ชันที่แทรกซึมอยู่เกือบทุกสาขาอาชีพบนโลก และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของการมอบพลังให้กับผู้หญิงทุกคนให้กล้าที่จะมีความฝันมาจนถึงทุกวันนี้
บาร์บี้สัญลักษณ์ของพลังหญิง ความหลากหลาย และการเป็นอะไรก็ได้ที่เราต้องการ
เชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยได้ยินเพลง ‘Barbie girl’ ของวง Aqua ที่เคยโด่งดังไปทั่วโลกและเคยติด Billboard Hot 100 ของอเมริกาในช่วงปลายยุค 90 กันมาบ้าง โดยเนื้อเพลงของเพลงนี้นั้น ได้เปรียบผู้หญิงคนหนึ่งว่าเป็นเหมือนกับบาร์บี้ที่ใครจะมาจับ มาเล่น หรือมาแก้ผ้าเธอตอนไหนก็ได้ จนเมื่อปี 2019 ก็ได้มีศิลปินอย่างเอวา แม็กซ์ (Ava Max) ออกมาร้องเพลงแก้ใหม่ว่า เราไม่ใช่บาร์บี้ของใคร และใครจะมาทำอะไรโดยที่เราไม่ยินยอมไม่ได้ ทว่าพอลองมาคิดตามดูแล้ว ก็น่าสงสัยจริง ๆ ว่าบาร์บี้นั้นเป็นผู้หญิงแบบไหนกันแน่?
ในฐานะของเล่น แน่นอนว่าเราสามารถจับและเปลี่ยนชุดให้กับบาร์บี้ได้อย่างอิสระตามที่บทเพลงของวง Aqua ร้องบอกจริง ๆ เพราะเธอก็เป็นตุ๊กตาตัวหนึ่ง แต่ในฐานะ ‘ผู้หญิง’ แบบบาร์บี้ เราคงต้องบอกว่าสิ่งที่วง Aqua เปรียบเปรยออกมานั้นผิดถนัด และไม่มีใครสามารถทำกับบาร์บี้แบบนั้นได้แน่นอน อย่างน้อยแนวคิดนี้ก็ไม่เคยอยู่ในความตั้งใจของแฮนด์เลอร์
แฮนด์เลอร์ตั้งใจมาตลอดที่จะสร้างบาร์บี้ให้เป็นแรงบันดาลใจของเด็กสาว เธอต้องการแสดงภาพอนาคตให้เด็กทุกคนได้มองเห็นความเป็นไปได้ว่า เธอนั้นสามารถกลายเป็นอะไรได้บ้างในอนาคต ถึงแม้ในช่วงเปิดตัวแรก ๆ แฮนด์เลอร์จะยังคงโฆษณาตามขนบความคิดยุค 50 ให้บาร์บี้เป็นแรงบันดาลใจในการอยากเป็นเจ้าสาวและแต่งงาน แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 60 ที่มีแนวความคิดใหม่ ๆ เข้ามา เธอก็เริ่มมอบบทบาทผู้หญิงสมัยใหม่ให้กับบาร์บี้อย่างตั้งใจ
ในปี 1962 คือครั้งแรกที่บาร์บี้ปรากฏตัวพร้อมกับบ้านในฝัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากนักที่ผู้หญิงคนหนึ่งในยุคนั้นจะวาดฝันถึงการซื้อบ้านเป็นของตัวเอง หรือในปี 1965 ก็มีบาร์บี้ที่ทำอาชีพเป็นนักบินอวกาศ รวมถึงอีกหลากหลายอาชีพที่มีการผลิตออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมอ นางแบบ นักแสดง ประธานบริษัทไปจนถึงประธานาธิบดี ซึ่งพอลองนับดูแล้วก็มีมากกว่า 200 อาชีพเลยทีเดียว
และรุ่นที่แสดงให้เห็นถึงพลังหญิงและความอิสระอย่างแท้จริงของบาร์บี้มากที่สุด ก็คือรุ่นปี 1985 ที่มีการออกแคมเปญโฆษณาชุด ‘We Girls Can Do Anything’ ซึ่งแคมเปญตัวนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมและแรงบันดาลใจเหล่าเด็กสาวเชื่อว่า ถ้าเรามีความพยายาม ไม่ว่าจะเป็นบทบาทไหน เราก็สามารถทำได้ทั้งนั้น เหมือนกับบาร์บี้
นอกจากนี้ บาร์บี้ยังไม่ได้ส่งเสริมพลังหญิงให้กับเหล่าเด็กสาวผ่านอาชีพและความเป็นไปได้เท่านั้น แต่เธอยังส่งผ่านความคิดเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมออกมาด้วย เช่นในปี 1968 บริษัท Mattel ก็ได้ออกตุ๊กตารุ่นใหม่ชื่อว่า ‘Christie’ ซึ่งเป็นตุ๊กตาผิวดำตัวแรก เพื่อสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียม และในปี 1980 ก็ยังมีตุ๊กตาของเชื้อชาติอื่นปล่อยออกมาอีกเรื่อย ๆ ทั้งคนผิวดำ คนฮิสปานิก และคนเอเชียด้วย
จนกระทั่งปี 2014 บาร์บี้ก็เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในโลกออนไลน์มากขึ้น ผ่านการสร้างช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ให้คนติดตาม อีกทั้งในปี 2015 ก็มีการทำ Vlog ลงในยูทูป เพื่อพูดถึงความรู้ต่าง ๆ การดูแลตัวเอง รวมถึงการพูดเรื่องภาวะซึมเศร้า และปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกอินเทอร์เน็ตด้วย สำหรับปี 2016 - 2020 ทางบริษัท Mattel ก็เริ่มเปิดตัวบาร์บี้ที่มีรูปร่างหลากหลายมากขึ้นทั้งอ้วน ผอม มีพุง ต้นขาใหญ่ บางรุ่นก็เป็นบาร์บี้ไร้ผม หรือบาร์บี้ที่นั่งรถเข็นวีลแชร์ก็มี รวมถึงมีการนำบุคคลชื่อดังตัวจริงมาสร้างเป็นบาร์บี้อีกต่างหาก เช่น ฟรีดา คาห์โล (Frida Kahlo), แคทเธอรีน จอห์นสัน (Katherine Johnson), อมีเลีย เอียร์ฮาร์ท (Amelia Earhart), อีวา เฉิน (Eva Chen) และ คริสติน เชโนเวธ (Kristin Chenoweth) เป็นต้น
หรือแม้ในเวอร์ชันแอนิเมชันเอง เราก็ได้เห็นบทบาทของบาร์บี้ที่สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความเท่าเทียมและความหลากหลายอยู่เสมอ เช่น ในเรื่อง Barbie and the Three Musketeers (2009) ที่ว่าด้วยเรื่องของตัวเอกหญิงทั้งสี่คนอยากจะกลายเป็นทหารเสือกับเขาบ้าง แต่ในยุคสมัยนั้นอาชีพนี้มีไว้สำหรับผู้ชาย และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้หยิงจะเป็นบ้าง ซึ่งพวกเธอก็ได้ต่อสู่ฝ่าฟันจนชนะ และสามารถเป็นทหารเสือได้
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นเลยว่า ตัวตนของบาร์บี้นั้นไม่เคยถูกกำหนดจากผู้สร้างเลยว่าต้องเป็นอย่างไร เพราะทุกคนสามารถจินตนาการให้บาร์บี้เป็นแบบไหนก็ได้ตามจินตนาการของตัวเอง หรือจะเรียกว่าแล้วแต่ความฝันของเด็กคนนั้นจะนำพาไปก็ได้ ดังนั้นถ้าเราจะบอกว่าผู้หญิงแบบบาร์บี้นั้นเป็นแบบไหน ก็คงจะสรุปได้แค่ว่าผู้หญิงคนนั้นคงจะเป็นผู้หญิงที่เปี่ยมไปด้วยความฝันและความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด
บาร์บี้กับข้อถกเถียงเรื่องความงาม และการปฏิวัติของกลุ่ม Barbie Liberation Organization
หากจะบอกว่าการที่แฮนด์เลอร์ และบริษัท Mattel พยายามส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีบาร์บี้เป็นแบบอย่างนั้นเปรียบเสมือนกับ ‘ดาบสองคม’ ก็คงจะไม่เกินจริงนัก เพราะการจะเป็นเหมือนกับบาร์บี้ได้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แนวคิดเรื่องการเป็นผู้หญิงมากความสามารถที่สามารถทำได้มากกว่า 200 อาชีพ แต่ยังรวมไปถึงเรื่อง ‘รูปร่าง’ และ ‘ความสวยงาม’ ในอุดมคติ ที่สร้างความกังวลให้กับเหล่านักวิชาการ ที่มองว่าความงามอันเกินจริงของบาร์บี้เหล่านี้ กำลังปลูกฝังทัศนคติแบบผิด ๆ ให้กับเด็กทุกคนอยู่
ถ้าเรามองไปยังรูปร่างของบาร์บี้ในช่วงแรก ๆ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายมากขึ้นในปัจจุบัน เราก็จะเห็นตุ๊กตาผู้หญิงหน้าตาสะสวย ผมบลอนด์ยาว ที่มีหน้าอกคัพ F กับเอวเล็ก ๆ เพียง 18 นิ้ว พร้อมกับสะโพกผายและบั้นท้ายอันงอนงาม ซึ่งลักษณะทั้งหมดนี้ได้ขับเน้นความเป็นหญิงให้บาร์บี้ดูสวยงามกว่าใคร ทว่ารูปร่างที่เล็กบางแบบนี้ กลับเป็นรูปร่างที่ยากเกินกว่าจะมีใครในชีวิตจริงสามารถมีได้
นอกเหนือจากฐานะของเล่น บาร์บี้ยังมีอิทธิพลในฐานะตุ๊กตาของป๊อปไอคอนกับเจ้าแม่แฟชั่น ที่มีการร่วมงานกับแบรนด์เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องแต่งกายดัง ๆ อีกมากมาย รวมถึงมีการสร้างเป็นการ์ตูนแอนิเมชันอีกหลายเรื่อง ที่คอยเป็นเพื่อนและแรงบันดาลใจให้กับทุกคน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในช่วงชีวิตการเติบโตของเด็กหลาย ๆ รุ่นมานานกว่า 60 ปีแล้ว
ซึ่งสิ่งที่หลายคนกังวลว่าเด็ก ๆ จะเอารูปร่างแบบนี้เป็นแบบอย่าง ก็ไม่ใช่แค่เรื่องข้อกังวลลอย ๆ เพราะมีการศึกษาวิจัยออกมาแล้ววว่า เด็กที่เล่นตุ๊กตาบาร์บี้ มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคคลั่งผอม และแสดงความปรารถนาที่จะมีร่างกายผอมบาง มากกว่าเด็กที่ไม่ได้ครอบครองบาร์บี้ หรือบางคนเมื่อเติบโตขึ้นก็คิดอยากจะสวยเป๊ะ ๆ ให้ได้แบบบาร์บี้ จนไปศัลยกรรมให้มีสัดส่วนคล้ายคลึงกับบาร์บี้มากที่สุดเลยก็มี ส่งผลให้บาร์บี้ถูกวิจารณ์ในเรื่องของการเป็นภาพแทนความงามแบบผิด ๆ มาโดยตลอด
ยกตัวอย่างตุ๊กตาบาร์บี้ที่บริษัท Mattel ปล่อยออกมา แล้วต้องรีบจัดให้อยู่ในหมวดบ้งอย่างไว ก็คือ ‘บาร์บี้ไดเอต’ บาร์บี้รุ่นนี้ถูกปล่อยออกมาในปี 1963 โดยมาในรูปลักษณ์ของบาร์บี้วัยทีนผู้เตรียมตัวออกไปนอนค้างบ้านเพื่อนและจัดปาร์ตี้ชุดนอนกัน แต่สิ่งที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่าบาร์บี้รุ่นนี้กำลังปลูกฝังค่านิยมเรื่องรูปร่างหน้าตาแบบผิด ๆ ก็คือพร็อพที่เป็นตาชั่งน้ำหนัก ที่มีขีดน้ำหนักอยู่ที่ 110 lbs หรือประมาณ 50 กิโลกรัม กับหนังสือเล่มเล็ก ๆ ที่มีตัวอักษรป้ายบนปกว่า ‘How to lose weight’
และรุ่นที่กลายเป็นกระแสโด่งดัง จนทำให้กลุ่มต่อต้านบาร์บี้อย่าง ‘Barbie Liberation Organization’ หรือ ‘BLO’ ที่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 1989 ต้องออกมาตอบโต้อย่างจริงจัง ก็คือตุ๊กตาบาร์บี้พูดได้รุ่น ‘Teen Talk Barbie’ ที่ปล่อยออกมาเมื่อปี 1992 สาเหตุที่รุ่นนี้กลายเป็นประเด็นร้อน ก็มาจากบทพูดหลายประโยคที่ฟังดูแล้วช่างขัดแย้งกับสิ่งที่บริษัท Mattel พยายามสื่อสารมาตลอดเสียเหลือเกิน ซึ่งประโยคที่ว่านั้นก็คือ “วิชาคณิตศาสตร์ยากจัง”
ประโยคนี้ได้ทำให้เหล่าเฟมินิสต์ในยุคนั้น รวมถึงกลุ่ม ‘BLO’ ไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะคล้ายกับบริษัท Mattel กำลังปลูกฝังให้เด็กผู้หญิงกลัววิชาคณิตศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิม และมองว่าวิชานี้อาจจะยากเกินความสามารถของตัวเอง อีกทั้งเดิมทีเด็กผู้หญิงก็ค่อนข้างด้อยในวิชานี้อยู่แล้ว เนื่องจากไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนให้เรียนในด้านนี้ แถมโอกาสที่ผู้หญิงจะได้ประกอบอาชีพในสายวิทย์-คณิตก็น้อยกว่าผู้ชายอยู่มาก
ซึ่งการแก้เผ็ดของกลุ่ม ‘BLO’ ที่มีต่อกรณีนี้ก็ค่อนข้างแสบทรวงถึงใจพอสมควร เพราะพวกเขาได้ทำการกว้านซื้อตุ๊กตาบาร์บี้รุ่น ‘Teen Talk Barbie’ ประมาณ 300 - 500 ตัวจากประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป แล้วนำมาเปลี่ยนกล่องเสียงกับหุ่นฟิกเกอร์ ‘G.I. Joe’ หุ่นของเล่นที่มีหน้าตาเป็นทหารอเมริกันจากทั้งสี่เหล่าทัพ จากนั้นก็นำตุ๊กตาเหล่านั้นกลับไปคืนร้านค้า ซึ่งเมื่อเด็กสาวคนใหม่ ๆ มาซื้อสินค้าที่ถูกกลุ่ม BLO คืนกลับไป ก็จะได้ยินเสียงพูดของบาร์บี้เป็นเสียงของทหารเข้ม ๆ ที่เต็มไปด้วยประโยคเกรี้ยวกราดอย่าง “การล้างแค้นคือพันธกิจของข้า!” ส่วนเหล่าเด็กชายที่กำลังตื่นเต้นกับหุ่นทหารตัวใหม่ก็จะได้ยินเสียงหวานแหลม ๆ ของบาร์บี้ตะโกนชวนไปช้อปปิ้งด้วยกัน หรือไม่ก็เอ่ยชมว่า “เคนนี่ยังกับเทพบุตรในฝันเลย!” แทน
ไม่เพียงการสับเปลี่ยนกล่องเสียงจนตลาดตุ๊กตาโกลาหลเท่านั้น กลุ่ม BLO ยังทำการสร้างวิดีโอขณะที่บาร์บี้กำลังเปลื้องผ้า แล้วทำการผ่าตัดเปลี่ยนกล่องเสียงให้กับตัวเอง และในระหว่างนั้นพวกเธอก็ได้อธิบายถึงเหตุผลในการทำแบบนี้ด้วยว่า “พวกเราคือกลุ่มของเล่นเด็กระดับสากล ที่กำลังต่อต้านบริษัทที่สร้างเราขึ้นมา…เหตุผลที่พวกเราลุกขึ้นมาต่อต้านผู้สร้าง ก็เพราะว่าพวกเขาใช้เราเป็นเครื่องมือในการล้างสมองเด็ก ๆ พวกเขาสร้างเราขึ้นมาด้วยแนวทางที่ทำให้เรากลายเป็นภาพแทนทางเพศ ที่ส่งผลด้านลบต่อพัฒนาการของเด็ก”
ตุ๊กตาบาร์บี้ในวิดีโอนั้นยังพูดต่ออีกว่า “ฉันบริจาคเสียงของฉันให้กับ G.I. Joe ด้วย เพราะพวกเขาก็ต้องการอิสรภาพเช่นกัน ฉันว่าพวกเขาคงไม่อยากจะพูดถ้อยคำเกี่ยวกับสงครามอันรุนแรงอะไรนั่นหรอก ซึ่งตอนนี้พวกเขาก็ได้พูดในสิ่งที่ฉันเคยพูดแล้ว”
ชมวิดีโอของกลุ่ม ‘Barbie Liberation Organization’ ได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=eMHMf9y-27w
จะเห็นได้เลยว่าพวกเขามุ่งเป้าไปที่ของเล่นที่ส่งผลต่อบทบาททางเพศของทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย เพื่อแสดงให้สาธารณชนเห็นถึงความแปลกประหลาดที่กำลังปลูกฝังลงไปในสมองของลูกหลานเราทุกคนอยู่ แน่นอนว่าทางฝั่งบริษัท Mattel ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจและทำการเรียกคืนตุ๊กตาบาร์บี้เจ้าปัญหาทันที พร้อมเสนอว่าถ้าใครซื้อไปแล้วเสียงเปลี่ยนอีก ก็สามารถนำมาขายคืนได้เลย อีกทั้งพวกเขายังให้เหตุผลถึงการออกบาร์บี้รุ่นนี้ด้วยว่า พวกเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะนำเสนอว่าผู้หญิงไม่เก่งคณิตศาสตร์ แต่แค่ต้องการที่จะถ่ายทอดความทรมานของเด็ก ๆ ทั่วไปที่ปวดหัวกับการเรียนคณิตศาสตร์เท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตามกรณีเรื่องรูปร่างหน้าตา และการนำเสนอบทบาททางเพศที่สร้างข้อจำกัดให้กับเด็ก ๆ จนไม่สมกับสโลแกนที่สนับสนุนทุกความเป็นไปได้ก็ยังเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง เช่น ในปี 1997 บาร์บี้ได้ร่วมงานกับโอรีโอแล้วสร้าง ‘บาร์บี้โอริโอ’ ออกมาในรูปลักษณ์ของสาวผิวดำ พร้อมกับสโลแกนประจำตัว ‘Oreo Fun’ ซึ่งคำว่าโอริโอก็ดันเป็นแสลงที่ใช้เรียกคนผิวดำที่มีความคิดและทัศนคติแบบคนผิวขาว โดยเฉพาะคนผิวดำที่ปฏิเสธรากของตนเอง ยิ่งเมื่อบาร์บี้โอริโอปรากฏโฉมพร้อมกับคอสตูมลายโอริโอ สะพายกระเป๋ารูปโอริโอ ก็ยิ่งทำให้บาร์บี้โอริโอคนนี้ดูเป็นสัญลักษณ์ประชดประชันคนผิวดำยิ่งขึ้นไปอีก
หรือจะเป็น ‘บาร์บี้นั่งรถเข็น’ ที่บริษัท Mattel ก็ปล่อยออกมาในปี 1997 เหมือนกัน โดยใช้ชื่อว่า ‘Share-a-Smile Becky’ เพื่อสร้างภาพจำว่าบาร์บี้เป็นมิตรกับทุกคน แต่ถึงแม้ว่าบาร์บี้รุ่นนี้จะถูกผลิตขึ้นมาเพื่อขจัดความรู้สึกแปลกแยกของเด็ก ๆ ที่ต้องนั่งรถเข็น แต่ความตลกร้ายก็คือการที่บาร์บี้รุ่นนี้กลับขับเน้นความรู้สึกไม่เข้าพวกให้ชัดเจนขึ้น เพราะเธอเป็นบาร์บี้รุ่นเดียวที่ไม่สามารถผ่านประตูบ้านบาร์บี้หรือ ‘Barbie Dream House’ ได้! และแม้ว่าบริษัท Mattel จะออกมาแถลงว่าพวกเขากำลังหาทางให้บาร์บี้เข้าบ้านให้ได้ แต่สุดท้าย Mattel ก็เลิกผลิตบาร์บี้รุ่นนี้ไปในที่สุด
และ ‘บาร์บี้ไอทีสาว’ ที่ปรากฏตัวในสมุดภาพเรื่อง 'Barbie: I Can Be a Computer Engineer’ ในปี 2010 กระทั่งในปี 2014 มือเขียนบทของดิสนีย์อย่าง พาเมลา ไรบอน (Pamela Ribon) ได้หยิบสมุดภาพเล่มนี้มาอ่านเล่น ก่อนจะพบเนื้อหาที่ชวนให้ขมวดคิ้วอย่างยิ่ง เพราะสมุดภาพเรื่องนี้ได้เล่าเรื่องราวของบาร์บี้กับอาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ ทว่าเธอดันไม่ได้เป็นนักเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ หรือนักสร้างโปรแกรมสุดอัจฉริยะแต่อย่างใด แต่เป็นสาวไร้สมองที่โหลดไวรัสคอมพิวเตอร์ใส่เครื่องคอม แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหนุ่ม ๆ ไอทีในการแก้ปัญหา ส่วนตัวเองก็นั่งสวย ๆ และทำงานเบา ๆ อย่างการออกไอเดียการดีไซน์สำหรับเกมคอมพิวเตอร์ ส่วนเรื่องการลงมือสร้างเกมขึ้นมาจริง ๆ ก็ให้หนุ่ม ๆ เขาทำไป
การส่งเสริมสร้างภาพจำว่าผู้หญิงมักไม่เข้าใจเรื่องเกม เทคโนโลยี และคอมพิวเตอร์ และทำให้ผู้หญิงดูไร้สมอง ก็ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก จนวิศวกรคอมพิวเตอร์ตัวจริงอย่าง แคธลีน ทุยเทอ (Kathleen Tuite) ได้ปล่อยแอปฯ ออนไลน์ที่ชื่อว่า ‘Feminist Hacker Barbie’ เพื่อชวนทุกคนมาแต่งเรื่องให้บาร์บี้ใหม่ ส่วน Mattel ก็รีบออกมาขอโทษและเรียกเก็บหนังสือออกจากแผงอย่างด่วนเช่นเคย
จากภาพรวมทั้งหมดนี้ เราก็คงจะบอกได้ว่า ‘บาร์บี้’ ก็เปรียบเสมือนกับคนคนหนึ่งที่มีทั้งข้อดีและข้อเสียปะปนกันไปในหลาย ๆ ด้าน ด้านหนึ่งเธอก็เป็นจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงกล้าจะวาดฝันอนาคตของตัวเองให้ไกลกว่าการเป็นแม่บ้าน แต่อีกด้านหนึ่งเธอก็กลายเป็นตัวแทนของความงามเหนือธรรมชาติที่ปลูกฝังค่านิยมผิด ๆ ให้กับเด็กไปหลายรุ่นเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม บนโลกนี้ใคร ๆ ต่างก็เคยพลาดพลั้ง นับประสาอะไรกับบาร์บี้ที่อยู่มานานกว่า 60 ปี และต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่เน้นอนุรักษนิยมจ๋า จนถึงสังคมสุดหลากหลายในปัจจุบัน
ในท้ายที่สุด ถึงแม้ว่าบาร์บี้และบริษัท Mattel จะปล่อยไก่ให้สังคมได้จวกเตือนสติกันอยู่บ่อยครั้ง แต่สิ่งสำคัญที่เรามองเห็นได้จากพวกเขาก็คือ การพยายามปรับตัวให้ทันกับความเป็นไปของโลกอยู่เสมอ และกลายเป็นบาร์บี้ที่มีความหลากหลายมากขึ้นในทุก ๆ วัน ซึ่งส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเพราะว่าพวกเขาคือพ่อค้าแม่ขาย ที่ต้องเปลี่ยนตัวเองตามความต้องการของลูกค้า แต่ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงนั้นก็ยังช่วยทำให้สังคมและเด็ก ๆ รุ่นต่อไปของเราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นได้ด้วย ก็น่าลุ้นกันว่าเราจะได้เห็นโลก และมุมมองทางสังคมแบบไหนจากภาพยนตร์ ‘Barbie’ ของผู้กำกับอย่างเกรตา เกอร์วิก ที่จะเข้าฉายในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้บ้างกันแน่
อ้างอิง
- “รูธ แฮนด์เลอร์ : ผู้เปลี่ยนตุ๊กตาสุดวาบหวามเป็น 'Barbie' ที่คอยเติมฝันให้เด็กผู้หญิง”. The People. 19 กรกฎาคม 2566. https://www.thepeople.co/read/37081
Maham Javaid. 2023. “Barbie’s ‘pornographic’ origin story, as told by historians”. The Washington Post. 13 July, 2023. https://www.washingtonpost.com/lifestyle/2023/05/25/barbie-trailer-creator-pornographic-origin-doll/
Janifer Latson. 2015. “The Barbie Doll's Not-for-Kids Origins”. Time. 13 July, 2023. https://time.com/3731483/barbie-history/
Messynessy. 2016. “Meet Lilli, the High-end German Call Girl Who Became Barbie”. Messynessy. 13 July, 2023. https://www.messynessychic.com/2016/01/29/meet-lilli-the-high-end-german-call-girl-who-became-americas-iconic-barbie-doll/
Kerry J. Byrne. 2023. “On this day in history, March 9, 1959, Barbie makes fashionable world debut at New York Toy Fair”. Fox News. 19 July, 2023. https://www.foxnews.com/lifestyle/this-day-history-march-9-1959-barbie-makes-fashionable-world-debut-toy-fair
Kai Ryssdal. 2009. “The evolution of Barbie”. Marketplace. 19 July, 2023. https://www.marketplace.org/2009/03/09/evolution-barbie/
The Pill. 2018. “Mrs. America: Women's Roles in the 1950s”. American Experience. https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/pill-mrs-america-womens-roles-1950s/
Barbie Media. "Timeline." Barbie. 19 July, 2023. http://www.barbiemedia.com/timeline.html.
Sara Spary. 2019. “How Mattel turned 'too perfect, unrelatable' Barbie into a symbol of female empowerment”. Campaign. 19 July, 2023. https://www.campaignlive.co.uk/article/mattel-turned-too-perfect-unrelatable-barbie-symbol-female-empowerment/1663884
Vitamin Stree. 2018. “The Barbie Effect — Dolls, Beauty Standards and Body Image Issues”. Medium. 19 July, 2023. https://vitaminstree.medium.com/the-barbie-effect-dolls-beauty-standards-and-body-image-issues-172044af336f
Sunny Sea Gold. 2021. “11 Barbie Doll Controversies You Completely Forgot About”. The Healthy. 19 July, 2023. https://www.rd.com/list/barbie-doll-controversies/
John Boone. 2014. “The 14 Most Controversial Barbies Ever”. ET. 19 July, 2023. https://www.etonline.com/news/154308_the_14_most_controversial_barbies_ever